fbpx

‘การเมืองพื้นที่’ และ ‘การเมืองเวลา’ : การจัดการปัญหาไฟป่าและหมอกควันในเชียงใหม่

ฤดูนี้เป็นฤดูที่อมก๋อยต้องโดนตรวจ

นี่คือคำพูดของชาวบ้านคนหนึ่งจากตำบลยางเปียง อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ที่ได้กล่าวไว้ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2565 ด้วยรอยยิ้มและสีหน้าชินชา หลังจากที่ระหว่างช่วงปี 2562-2564 อำเภออมก๋อยติดอันดับ 5 อำเภอในจังหวัดเชียงใหม่ที่พบจุดความร้อนมากที่สุดมาโดยตลอด (1050, 2398, 817 จุด ตามลำดับ*)

ตลอดระยะเวลาตั้งแต่ต้นเดือนมกราคมถึงเมษายนของทุกปีเป็นช่วงที่จังหวัดในภาคเหนือประสบปัญหาหมอกควันและไฟป่า ดังนั้นจึงเป็นช่วงเวลาที่ ‘ควัน’ และ ‘การเผา’ ถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษ อีกทั้งการบริหารจัดการเชื้อเพลิงยังแขวนอยู่บนความไม่แน่นอนของคำสั่งจากนายอำเภอ การโคจรของดาวเทียม รวมถึงพยากรณ์อากาศ นี่คือมิติใหม่ของบรรยากาศในช่วงฤดูแล้งที่ชาวเชียงใหม่จำต้องเผชิญทุกปี

บทความนี้เชิญชวนผู้อ่านวิเคราะห์เกี่ยวกับเรื่องการเมืองพื้นที่ (spatial politics) และการเมืองเวลา (chronopolitics) ของการจัดการปัญหาหมอกควันและไฟป่าในจังหวัดเชียงใหม่ ตลอดราวสิบปีที่ผ่านมา แนวทางการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่ามีทั้งการเข้าควบคุมพื้นที่ การห้ามเผาเชื้อเพลิงชีวมวลตลอดช่วงเวลาที่กำหนด การแบ่งพื้นที่จังหวัดเป็นโซนและจัดสรรตารางการเผา รวมถึงการให้คำอนุมัติการเผาตามเงื่อนไขของสภาพอากาศที่เหมาะสม แนวทางเหล่านี้คือการทำให้พื้นที่และเวลามีความหมายของขอบเขตและอำนาจขึ้นมา

‘การเมืองพื้นที่’ และ ‘การเมืองเวลา’ คือการถามว่าพื้นที่และช่วงเวลาใดของใครมีความสำคัญหรือถูกละเลย ใครได้เปรียบและใครเสียเปรียบจากการจัดระเบียบพื้นที่และเวลาเพื่อแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า

การจัดสรรพื้นที่และเวลาและการควบคุมจุดความร้อน

การจัดการปัญหาไฟป่าและหมอกควันนั้น “…เริ่มจัดการจากมุมมองของป่าไม้ คือกรมป่าไม้จัดการแนวกันไฟ ดับไฟ และชิงเผา” สิทธิชัย (นามสมมติ) เจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเชียงใหม่กล่าวถึงแนวทางการจัดการปัญหาหมอกควันและไฟป่าตั้งแต่ราวสองทศวรรษที่แล้ว ภายใต้สมมติฐานที่ว่าไฟป่าเกิดขึ้นเพราะชาวบ้านใช้ไฟเพื่อหาของป่า ดังนั้นภาครัฐจึงต้องควบคุมการเข้าออกพื้นที่ของชาวบ้าน สถาปนาตนเองเป็นผู้แก้ปัญหาไฟป่าแทน และอาศัยภาพถ่ายทางอากาศ ภาพดาวเทียม และอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) เพื่อตรวจสอบทรัพยากรและการรุกล้ำอาณาเขต

อย่างไรก็ดี ราวปี 2550 เป็นต้นมา สถานการณ์ปัญหาหมอกควันและไฟป่าในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน มีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งในปี 2556 มีการใช้ระบบศูนย์สั่งการแบบเบ็ดเสร็จ (single command) เพื่อบังคับใช้มาตรการห้ามเผา (zero burning) ระหว่างวันที่ 1 มกราคม-30 เมษายน ในหลายจังหวัดในภาคเหนือ (ดูภาพที่ 1)

ต้องไม่ลืมว่าช่วงต้นปีเป็นช่วงเก็บเกี่ยวและเตรียมเพาะปลูก ดังนั้นจึงมีเศษเชื้อเพลิงชีวมวลที่จำเป็นต้องกำจัด จึงไม่ใช่เรื่องง่ายแต่อย่างใดสำหรับชาวบ้านเผ่าม้งในอำเภออมก๋อยที่กำลังเตรียมที่ดินสำหรับปลูกข้าวไร่

“มันจำเป็นต้องเผา เพราะทำข้าวไร่ แต่ถึงแม้ว่าจะไม่ให้เผา เขาก็เผาอยู่ดี เพราะเขาทำข้าวไร่ เขาปลูกรอฝน”

ในช่วงแรกของการบังคับใช้นโยบายห้ามเผา กลับยิ่งเร่งให้ชาวบ้าน “หลับตาจัดการให้เสร็จๆ ก่อนจะมีการห้าม ทำให้ค่าฝุ่นเพิ่มสูงตั้งแต่มกราคม ทำให้ระยะฝุ่นยาวขึ้น” สิทธิชัยกล่าว

ภาพที่ 1 ป้ายประชาสัมพันธ์ ณ อำเภออมก๋อย ‘งดการเผาในที่โล่งแจ้งเพื่อลดปัญหาหมอกควันและฝุ่นละออง PM 2.5 ระหว่างวันที่ 1 มกราคม-30 เมษายน’
ที่มา: ชยา วรรธนะภูติ

มาตรการห้ามเผาถูกบังคับใช้ควบคู่กับการนับจำนวนจุดความร้อน (hotspot) ประจำแต่ละอำเภอ

จุดความร้อน หมายถึง จุดบนพื้นผิวโลกที่มีค่าความร้อนมากผิดปกติอันมักเกิดจากการเผาไหม้ ตรวจสอบได้โดยดาวเทียมสำรวจโลก ดังนั้นโจทย์คือหากห้ามไม่ให้เผาไม่ได้ ทำอย่างไรจะไม่ให้ดาวเทียมตรวจจับได้ ตามหลักวิทยาศาสตร์ ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการเผาเชื้อเพลิงในฤดูแล้งเพื่อไม่ให้ควันกระจุกตัวนั้น ไม่ใช่ในยามบ่าย แต่คือตั้งแต่ช่วงใกล้เที่ยงวันเป็นต้นไป เพราะเป็นช่วงที่มวลอากาศยกตัวได้ดีที่สุด อย่างไรก็ตาม จากมุมมองของผู้บริหาร นี่ไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสมแต่อย่างใด เนื่องจากร่องรอยการเผาอาจถูกตรวจจับได้โดยดาวเทียมที่โคจรพาดผ่านประเทศไทยพอดี คือช่วงเวลาประมาณบ่ายสองโมง ราวหนึ่งทุ่ม หลังตีสอง และหลังเจ็ดโมงเช้า

ชาวบ้านจากอำเภออมก๋อยเล่าว่า “นายอำเภอแนะนำว่า ให้เผาหลังบ่ายสามโมง แต่ไม่ให้เกินสองทุ่ม เดี๋ยวดาวเทียมกลับมา”

สิทธิชัยเสริมข้อมูลว่า “จริงๆ ชาวบ้านไม่รู้หรอก แต่เจ้าหน้าที่รู้ เพราะรัฐมาบังคับให้ลดจุด hotspot”

 

จำนวนจุดความร้อนถือเป็นหลักฐานและตัวชี้วัดความสำเร็จของการบริหารจัดการหมอกควันและไฟป่าในเชิงพื้นที่ ในขณะที่ดาวเทียมได้จัดระเบียบตารางชีวิตและช่วงเวลาการเผาเสียใหม่ (แม้จะไม่ถูกหลักการในการเผามากนัก) พร้อมกับที่ชาวบ้านพยายามจัดการเวลาให้หลุดพ้นจากช่วงการตรวจสอบและการร้องเรียนจากเบื้องบน และรักษาชื่อเสียงพื้นที่ของตนว่าสามารถบริหารจัดการปัญหาหมอกควันและไฟป่าได้ดี

สำหรับณัฐธิดา (นามสมมติ) นักวิชาการจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มองว่าการหลบดาวเทียมเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น “มันเป็นการเอาตัวรอดแบบศรีธนญชัย แล้วราชการก็ยึดจุดความร้อนเป็น KPI เป็นการเลี่ยง หลีก ทำให้แทนที่จะบริหารดีกลับกลายเป็นปม” ณัฐธิดากล่าว

ในช่วงปี 2562-2563 มีการปรับแนวทาง คือบันทึกจำนวนจุดความร้อนควบคู่กับการอนุญาตให้เผากำจัดเศษเชื้อเพลิงชีวมวลได้ แต่เพื่อไม่ให้เผาและก่อให้เกิดการกระจุกตัวของควันและฝุ่นละออง จึงมีการแบ่งพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่เป็น 3 โซนด้วยกัน คือ โซนใต้ (เช่น อำเภอแม่แจ่ม อำเภออมก๋อย ให้เผาได้เฉพาะในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์) โซนกลาง (เช่น อำเภอแม่ออน อำเภอเมือง) และโซนเหนือ (เช่น อำเภอเชียงดาว ให้เผาได้เฉพาะในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน) แม้จะเป็นแนวทางที่ยืดหยุ่นมากขึ้นกว่าเดิม แต่การใช้เขตการปกครองมากำหนดพื้นที่กลับสร้างปัญหาใหม่

“การแบ่งโซนตามเขตการเลือกตั้งทำให้เราเสียสิทธิ… ของเราอยู่โซนกลาง คือเผาเดือนกุมภาฯ แต่ถ้าเลยกุมภาฯ จะไม่ได้ เขาจะไม่ให้เผา แต่สำหรับพื้นที่แม่ทา เดือนกุมภาฯ [เชื้อเพลิงชีวมวล] ยังไม่ค่อยแห้งเท่าที่ควร ที่เหมาะสมคือเดือนมีนาคม” พนม (นามสมมติ) เจ้าหน้าที่จากองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ทา อำเภอแม่ออนกล่าว สำหรับเขา นโยบายห้ามเผาและการบังคับช่วงเวลาเผานั้น “ย้อนแย้งกับแนวทางชุมชน…เมื่อไม่ให้เผาเดือนมีนาฯ ชุมชนก็ต้องจัดการก่อน ในช่วงกุมภาฯ พอรัฐขยับตามไม่ให้เผาในเดือนกุมภาฯ เราก็ต้องไม่เผา พอห้ามเผาสองปี เชื้อเพลิงก็สะสมเยอะ ปีที่สาม ไฟไหม้รุนแรงต้นไม้ใหญ่ตาย”

ทั้งนี้ สิทธิชัยยอมรับว่า แนวทางการบริหารจัดการในขณะนั้นเน้นเพื่อให้ง่ายต่อการต่อบริหารจัดการ “ตอนนั้นเราไม่มีความรู้ ไม่มีวิทยาศาสตร์ เอามวยวัดมาหารๆ แบ่งๆ กันแบบพี่น้องอะลุ่มอล่วย” นี่คือตัวอย่างของการเมืองพื้นที่และการเมืองเวลาที่รัฐส่วนกลางแบ่งพื้นที่ สร้างกรอบเวลา โดยมิได้คำนึงถึงพื้นที่และเวลาอันหลากหลายทางของระบบนิเวศป่าผลัดใบและวิถีชีวิตที่จำเป็นต้องใช้ไฟ

การจองเวลาการเผาเชื้อเพลิงผ่านแอปพลิเคชัน ‘ไฟดี’

ด้วยมุมมองใหม่ที่เชื่อว่าการบริหารจัดการไฟในพื้นที่ป่าและพื้นที่การเกษตรเป็นสิ่งจำเป็นในวัฒนธรรมของภาคเหนือ ทำให้ในปลายปี 2563 จังหวัดเชียงใหม่มีการจัดตั้ง ‘ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์แก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าเชียงใหม่’ เพื่ออนุญาตให้ชาวบ้านร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำการลงทะเบียนการจองช่วงเวลาการเผากำจัดเชื้อเพลิงผ่านระบบ ‘ไฟดี’ (FireD) โดยมีตัวแทนจากศูนย์บัญชาการฯ เป็นผู้ทำการอนุมัติการบริหารจัดการเชื้อเพลิงภายใต้เงื่อนไขของสภาพอากาศที่เหมาะสม

ตัวอย่างเช่นในกรณีของปี 2565 เป็นต้นมา หากชาวบ้านคนหนึ่งมีเศษใบไม้จำนวนหนึ่งที่จำเป็นต้องเผากำจัด สิ่งที่เธอ/เขาจะต้องทำคือเข้าพบผู้ใหญ่บ้านหรือเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ผู้ที่ได้รับตำแหน่งเป็น ‘แอดมินระดับตำบล’ ของระบบการจัดการ ‘ไฟดี’ เพื่อแจ้งวันเวลาและขนาดของแปลงที่ต้องการจะชิงเผา ข้อมูลจะถูกบันทึกผ่านเว็บไซต์ https://fired.soc.cmu.ac.th และส่งต่อไปยังเจ้าหน้าที่ประจำอำเภอผู้ที่ได้รับตำแหน่ง ‘แอดมินระดับอำเภอ’ เพื่อทำการตัดสินใจอนุมัติหรือไม่อนุมัติการเผา

ทุกๆ ชั่วโมง ระบบ ‘ไฟดี’ จะอัปเดตข้อมูลจำนวน 2 ชุดเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจ ได้แก่ แผนที่ดรรชนีการระบายอากาศ และแผนที่ระดับความเข้มข้นค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก หากแอดมินระดับอำเภอพิจารณาแล้วเห็นว่าสภาพอากาศเหนือพิกัดของแปลงที่ส่งคำร้องมีลมพัดแรง และไม่มีมลพิษในอากาศมากนัก จึงจะอนุมัติให้เผาได้ แต่หากสภาพอากาศนิ่งและมีฝุ่นละอองขนาดเล็กสะสมมากกว่า 250 µg/m3 (250 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ก็อาจไม่อนุมัติให้เผา และให้ชะลอการเผาไปจนกว่าสภาพอากาศจะเหมาะสม

คุณโชคชัย (นามสมมติ) เจ้าหน้าที่แอดมินระดับตำบลของตำบลแม่นะ อำเภอเชียงดาว กล่าวชื่นชมแนวทางและข้อมูลภูมิสารสนเทศในระบบ ‘ไฟดี’ ว่า “ระบบทำให้มีสถิติ จัดการปีหน้า ปีถัดไปดีขึ้น อธิบายความสัมพันธ์ของการเผากับ PM 2.5 อย่างไร การเผาเกิดจากชาวบ้านจริงไหม เผาจากขยะจากประเทศเพื่อนบ้านหรือจากไฟป่า…ถ้าไม่มีระบบก็เผากันทุกคน ใครจะอยากเผาเลยก็เผา เกิดมลพิษ ควบคุมจัดการไม่ได้ ไม่มีข้อมูลสถิติ”

การเผาเป็นสิ่งจำเป็น ไม่ว่าเพื่อเตรียมดินสำหรับเพาะปลูกหรือเพื่อเก็บของป่า เพียงแต่ต้องทำให้อยู่ในระบบเพื่อให้สามารถตรวจสอบได้

เนื่องจากจุดความร้อน (hotspot) ที่เกิดขึ้นจากการ(ชิง)เผาในพื้นที่ภาคการเกษตรมีสัดส่วนที่น้อยมากเทียบกับจากในพื้นที่ป่า ชาวบ้านในอำเภอเชียงดาวและอมก๋อยรวมถึงโชคชัยจึงเชื่อว่า “อย่างไรชาวบ้านก็ต้องได้เผา” ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องปฏิเสธการขออนุมัติการบริหารจัดการเชื้อเพลิงจากพื้นที่เกษตรกร อย่างไรก็ดี เหตุผลเรื่องของสิทธิในการเผาอาจขัดแย้งกับข้อมูลวิทยาศาสตร์ ดังที่ณัฐ (นามสมมติ) ผู้เป็น ‘แอดมินระดับอำเภอ’ ประจำอำเภอเชียงดาว กล่าวไว้ว่า “ดูสิ ขออนุมัติมาตั้งเยอะ แต่ไม่ได้รับการอนุมัติเลย ดูตามแผนที่ [ดรรชนีการระบายอากาศและระดับความเข้มข้นค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก] ปรากฏว่าไม่มีที่ไหนที่อากาศดีเลย แล้วจะให้อนุมัติทำไม”

คำพูดของณัฐแสดงถึงความยากลำบากในการตัดสินใจอนุมัติการเผาในช่วงสัปดาห์ที่สามของเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2565 ซึ่งมีเชื้อเพลิงที่จำเป็นต้องเผาจำนวนมาก แต่สภาพอากาศไม่อำนวย (ดูภาพที่ 2)

ภาพที่ 2 ข้อมูลภูมิสารสนเทศในระบบ ‘ไฟดี’ เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจการอนุมัติการเผาในอำเภอเชียงดาว ประจำวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ปี 2565. บริเวณสีแดงบนแผนที่แสดงถึงดัชนีการระบายอากาศที่ ‘แย่’, สีส้ม ‘ไม่ดี’, สีเหลือง ‘ปานกลาง’
ที่มา: ชยา วรรธนะภูติ

สิ่งที่สำคัญกว่าคือ เมื่อไม่ให้เผาแล้วจะทำอย่างไร พนมเล่าให้ฟังด้วยความหงุดหงิดใจว่า “จนกว่าจะถึงวันที่กำหนดเผา อีกสามวันก็ไม่อนุญาต เหลืออีกสองวันก็ไม่อนุญาต แต่คนเขาเตรียมเผาแล้ว พอไม่อนุญาต ผมก็ต้องขอแอดมินระดับอำเภอ เลื่อนไปเป็นวันที่ห้า หก เจ็ด…ก็ต้องขยับไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายต้องแอบเผา” การแอบเผาเป็นสิ่งที่ตัวแทนของชาวบ้านและเจ้าหน้าระดับตำบลและอำเภอทุกคนที่ให้สัมภาษณ์ยอมรับว่าเกิดขึ้นจริง

จังหวะเวลาของฝนเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ ‘แอดมินระดับตำบล’ ต้องบริหารจัดคิวการเผา เดือนมีนาคม ปี 2565 ถือเป็นเดือนที่ฝนตกมากเป็นพิเศษ ข้อดีของฝนจากมุมมองของภาครัฐคือ ช่วยลดจุดความร้อนและฝุ่นละอองได้อย่างฉับพลัน แต่ข้อเสียคือ ชาวบ้านที่จำเป็นต้องเผากลับไม่ได้เผา

ที่ยางเปียง ชุมชนม้งที่ได้ลงทะเบียนจองเผาเพื่อเตรียมที่ดินสำหรับปลูกข้าวไร่สำหรับวันที่ 16 มีนาคมต้องผิดหวัง เพราะเกิดฝนตกหนักตั้งแต่คืนวันที่ 15 ทำให้ต้องเลื่อนการเผาออกไปอีกหนึ่งสัปดาห์เพื่อรอให้เชื้อเพลิงแห้งเสียก่อน แต่แล้วในช่วงวันที่ 20 และ 21 มีนาคม กลับมีฝนตกหนักอีกรอบ ก็ทำให้ต้องเลื่อนการเผาไปเรื่อยๆ จนถึงปลายเดือน

ตรงนี้จะเห็นว่า การเข้ามาของระบบ ‘ไฟดี’ และการนับจุดความร้อน ได้สร้างข้อจำกัดทางพื้นที่และเวลาสำหรับผู้ที่จำเป็นต้องใช้ไฟ ชาวบ้านที่ยางเปียงเล่าต่อว่า ในอดีต พวกเขาสามารถเข้าไปจัดการบริหารเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่าสงวนหรือป่าอนุรักษ์เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า แต่ในปัจจุบัน ภายใต้ระบบ ‘ไฟดี’ พวกเขาไม่สามารถทำได้แล้ว เนื่องจากหน่วยงานของกรมป่าไม้ ไม่อนุมัติผ่านระบบ ‘ไฟดี’ ด้วยเหตุผลเพื่อป้องกันมิให้เกิดจุดความร้อนในพื้นที่ของตน

พวกเขาเล่าว่า “การทำแนวกันไฟที่ดี อย่างไรก็ต้องทำในเขตพื้นที่ป่า และแนวกันไฟจะไม่มีประโยชน์ ถ้าไม่เผาไปด้วย แต่มันกลายเป็นปัญหาเพราะ hotspot จับว่าอยู่ในเขตป่า” ในที่สุด ไม่ว่าฝ่ายใดก็ไม่อยากให้พื้นที่ของตนเกิดจุดความร้อน

จังหวัดที่อากาศสะอาดปราศจากจุดความร้อน เป็นตัวชี้วัดถึงความสามารถในการบริหารจัดการปัญหาหมอกควันและไฟป่า ตลอดราวสิบปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการห้ามเผาโดยเด็ดขาด แบ่งโซนและลำดับเวลาการเผาเชื้อเพลิงชีวมวล การนับจุดความร้อนจากดาวเทียม หรือการจองเผาผ่านระบบ ‘ไฟดี’ สะท้อนให้เห็นว่าป่ายังคงเป็นทรัพยากรปิดที่ถูกบริหารจัดการโดยระบอบที่ชี้นำโดยผู้เชี่ยวชาญและความรู้เทคนิค เห็นได้จากการพึ่งพาบทบาทของดาวเทียมและอุปกรณ์ตรวจวัดอย่างหนักในการอ่านค่าจำนวนจุดความร้อนและค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจของผู้เชี่ยวชาญในการอนุมัติการเผาตามเงื่อนไขสภาพอากาศ

ในปี 2565 จำนวนจุดความร้อนสะสมในจังหวัดเชียงใหม่ระหว่างช่วงวันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่18 เมษายน มีเพียง 2,369 จุด ซึ่งน้อยกว่าที่พบในปี 2562-2564 หลายเท่าตัว คือ 16,871 21,685 และ 8,066 จุด ตามลำดับ** จำนวนจุดความร้อนในปีปัจจุบันที่ลดลงนี้มีสาเหตุมาจากการที่ปีนี้เข้าสู่ช่วงปีลานีญา (La Niña) จึงมีฝนตกมากเป็นพิเศษ ทำให้เชื้อเพลิงไม่แห้งพอสำหรับการเผา และเพราะการจัดระเบียบพื้นที่และเวลาในระบบ ‘ไฟดี’ ที่เพิ่มความยืดหยุ่นและมอบบทบาทให้ อบต. กับชาวบ้านได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ อย่างไรก็ดี ‘ไฟดี’ ก็ยังคงเป็นระบบที่ลดทอนความจำเป็นในการใช้ไฟในวิถีชีวิตประจำวัน – ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นเรื่องปากท้อง – ให้เหลือเพียงตำแหน่งพิกัดและขนาดของพื้นที่การเผาเท่านั้น 

เมื่อพื้นที่และเวลาอันหลากหลายของพวกเขาถูกลดความสำคัญ และเมื่อพวกเขาขาดความรู้และขาดอำนาจในการตรวจสอบข้อมูล การดำเนินชีวิตของพวกเขาจึงตั้งอยู่บนความไม่แน่นอน บางคนยินดีอยู่ในระบบ รอคอยคำสั่งอนุมัติการเผา บางคนอาจจำต้องหลบหรือเลื่อนเวลาการเผา บ้างไม่เชื่อมั่นในระบบ ต่อต้านด้วยการบุกรุกพื้นที่ หรือละเมิดกรอบเวลาที่กำหนด ทั้งหมดนี้เพราะพวกเขาเองก็พยายามรักษาพื้นที่และเวลาของพวกเขาเพื่อตอบโจทย์ความมั่นคงทางอาหารและเศรษฐกิจท้องถิ่น

คำถามสำคัญคือ ก่อนจะถึงฤดูหมอกควันไฟป่าปีถัดไป ใครจะสามารถทำอะไรเพื่อเตรียมพร้อมและรับมือกับปัญหาบ้าง และเมื่อในฤดูหมอกควันไฟป่ามาเยือนอีกครั้ง ระบบ ‘ไฟดี’ จะยืดหยุ่นกับวิถีชีวิต พื้นที่และเวลาอันหลากหลายได้มากน้อยเพียงใด และชาวบ้านเองจะมีส่วนในการร่วมตรวจสอบข้อมูลตำแหน่งจุดความร้อนและร่วมสร้างและบันทึกข้อมูลการเผาอย่างไร

*ข้อมูลจาก สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่

**จุดความร้อนสะสมในจังหวัดเชียงใหม่ระหว่างช่วงวันที่ 1 มกราคม ถึง 31 พฤษภาคม ข้อมูลจากสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่


บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรื่อง ‘หมอกควันเชียงใหม่ ความเลื่อนไหลในความไม่แน่นอน : มุมมองเชิงประสบการณ์ ความรู้ และเรื่องเล่า’ ภายใต้โครงการวิจัย ‘ฝ่าภาวะความไม่แน่นอน: การดำรงอยู่ในห้วงเปลี่ยนผ่านของสังคมไทย‘ โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประเภททุนส่งเสริมกลุ่มวิจัย (เมธีวิจัยอาวุโส) โดยมี รศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี เป็นหัวหน้าโครงการ

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save