ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมานี้ สื่อมวลชนในสหราชอาณาจักรรายงานข่าวต่อเนื่องเกี่ยวกับกิจกรรมของเครือข่ายเอ็นจีโอ ที่จัดหาอาหารให้กับคนยากคนจนในประเทศ เรียกกันว่าธนาคารอาหาร (Food Banks) ซึ่งมีหลายกลุ่มหลายเครือข่ายกระจายทั่วประเทศ และบัดนี้ได้กลายเป็นสถาบันหลักทางสังคมในภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง จึงเป็นที่พึ่งของคนจนในอังกฤษอีกสถาบันหนึ่ง
ธนาคารอาหารเหล่านี้เปิดรับบริจาคอาหารมาจากประชาชนในชุมชน บรรดาชนชั้นกลางไปซื้ออาหารในซุปเปอร์มาร์เก็ตแล้วก็ซื้ออาหารแห้งและของใช้จำเป็นบางส่วนไปแบ่งปันหย่อนในกล่อง Food Banks ใกล้ประตูทางออกของร้าน ส่วนซุปเปอร์มาร์เก็ตเอง พอตกเย็นเช็คสต็อกสินค้าต่างๆ แล้วจะจัดแบ่งอาหารที่กำลังจะหมดอายุ (sell by date/best before) มาหย่อนลงในกล่องรับบริจาคดังกล่าวเช่นกัน จากนั้นจะมีอาสาสมัครของหน่วยงาน Food Banks ประจำชุมชนมายกกล่องบริจาคไปรวมที่สำนักงานเพื่อแจกจ่ายต่อไป
ส่วนบรรดาธุรกิจรายย่อยในชุมชน เช่น ร้านเบเกอรี ร้านกาแฟ ร้านขายแซนด์วิช จะจัดอาหารที่เหลือขายในวันนั้นนำไปบริจาคเช่นกัน กลายเป็นสวัสดิการในแต่ละชุมชนนำไปหล่อเลี้ยงคนยากจน แทนที่จะนำไปทิ้งให้กลายเป็นอาหารเหลือทิ้ง (food waste) ซึ่งปีหนึ่งๆ ทั่วประเทศเททิ้งอาหารประมาณ 9.5 ล้านตัน ในขณะที่มีรายงานข่าวว่าคนยากคนจนไม่มีอาหารกินมากถึง 7-8 ล้านคน
เมื่อตอนต้นปี สื่อมวลชนแห่งหนึ่งรายงานว่าปัจจุบันจำนวนของ Food Banks ทั่วประเทศมีสาขาขยายตัวเพิ่มมากกว่าสาขาของร้านอาหารจานด่วนแบบแมคโดนัลถึงเกือบเท่าตัว กล่าวคือแมคโดนัลมีสาขาทั่วประเทศเพียง 1,463 สาขาแต่ Food Banks ขณะนี้มีมากกว่า 2,500 สาขา
ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา Independent Food Aid Network เอ็นจีโอทำงานช่วยคนยากไร้ที่มีสาขาทั่วประเทศจำนวน 194 แห่ง แถลงข่าวเมื่อเดือนพฤษภาคมว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม ความต้องการกล่องอาหารของคนยากจนเพิ่มขึ้น 93% หรือเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว
ผู้คนที่มาขอพึ่งธนาคารอาหารทั้งหลายต่างกล่าวว่า สาเหตุสำคัญคือภาวะค่าครองชีพในประเทศพุ่งสูงขึ้น เนื่องจาก 2 ปีก่อนหน้านี้มีมาตรการล็อคดาวน์ ทำให้ธุรกิจรายย่อยปิดกิจการ มีคนตกงานเพิ่ม ในบรรดาประเทศที่อยู่ในโลกทุนนิยม เมื่อเศรษฐกิจถูกบงการด้วยกลไกตลาด ภาวะล็อคดาวน์ยิ่งนานก็ยิ่งทำให้เศรษฐกิจพังและผู้คนในระดับล่างๆ ของสังคมจะได้รับผลกระทบมากที่สุด จะเห็นว่าประเทศในกลุ่มอุตสาหกรรม G7 เป็นกลุ่มประเทศที่ได้รับกระทบจากโควิดมากที่สุด โดยเฉพาะคนยากคนจนในประเทศอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ส่วนประเทศที่มีพี้นฐานทางการเกษตรจะได้รับผลกระทบน้อยกว่า
เมื่อผ่านช่วงมาตรการล็อกดาวน์มาได้ เศรษฐกิจเหมือนจะกลับมาฟื้นตัวได้สักระยะก็ต้องมาสะดุดอีกครั้งเมื่อเกิดสงครามยูเครน (ตั้งแต่ 24 ก.พ. 2022) ผลักดันราคาพลังงานแพงขึ้นแบบเท่าตัว ทำให้ค่าครองชีพยิ่งพุ่งทะยานซ้ำเติมมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเกิดมาก่อน
ความจริงแล้วราคาน้ำมันและแก๊สจากรัสเซียเพิ่มสูงขึ้นเป็นระยะๆ มาหลายเดือน ก่อนการส่งทหารรุกรานยูเครน เพราะประธานาธิบดีปูตินวางยุทธศาสตร์ใช้สินค้าพลังงานเป็นอาวุธทางการเมือง เพื่อกดดันและทดสอบความสามัคคีในหมู่ประเทศยุโรปก่อนการตัดสินใจบุกรุก ปูตินประเมินแล้วว่ายุโรปคงไม่กล้าโต้ตอบเนื่องจากต้องพึ่งพาซื้อน้ำมันและแก๊สจากรัสเซียถึง 40%
นับว่าเป็นการคำนวนที่ผิดพลาด เพราะการบุกรุกประเทศเพื่อนบ้านที่ไม่เคยนำปัญหาความขัดแย้งไปอภิปรายในสหประชาชาติ ถือว่าเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ สหประชาชาติลงมติประณาม หลายประเทศทั่วโลกไม่ยอมรับสงครามนี้ และทำให้ยุโรปเกิดความความหวาดกลัวว่า เมื่อรัสเซียไม่เคารพกฎหมายระหว่างประเทศ เข้าไปรุกรานยูเครนได้ ต่อไปก็อาจจะหาเหตุผลมารุกรานประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ รวมทั้งบางประเทศในสหภาพยุโรป หลายประเทศจึงประกาศจะลดทอนและยกเลิกการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย แม้ว่าจะมีผลกระทบทำให้เศรษฐกิจที่กำลังจะฟื้นตัวจากโควิด ต้องถดถอยและจะเกิดภาวะข้าวยากหมากแพงรุนแรงในหลายประเทศก็ตาม

แม้ในสหราชอาณาจักรจะมีระบบตาข่ายความปลอดภัยทางสังคม (social safety net) อันเป็นระบบสวัสดิการสังคมที่ภาครัฐดูแลผู้คนในระดับล่างๆ ไม่ให้ถึงกับต้องอดอยาก แต่ระยะหลังเริ่มเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าสวัสดิการเหล่านี้ยังไม่เพียงพอและไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะเมืองใหญ่อย่างลอนดอน ซึ่งเป็นเมืองที่มี Food Banks มากกว่าเมืองอื่น ดังนั้นเราจะเห็นการขับเคลื่อนของพลังหน่วยงานพัฒนาเอกชน เอ็นจีโอหลากหลายกระจายอยู่ทั่วประเทศ รวมๆ แล้วมีหน่วยงานแบบนี้ถึง 550 องค์กร
มูลนิธิ The Trussell Trust ซึ่งเป็นหน่วยงานเอ็นจีโอ ขนาดใหญ่มีสาขาทั่วประเทศประมาณ 1,400 สาขา รายงานว่าตลอดปี 2021-2022 ทางมูลนิธิต้องจัดหาอาหารให้กับประชากรในลอนดอนเกือบ 3 แสนคน มูลนิธิแห่งนี้จัดหอพักชั่วคราวให้กับคนไร้บ้านและมีโรงครัวจัดอาหารกลางวันให้กับคนยากจน พร้อมทั้งแจกถุงอาหารสดแห้งพร้อมด้วยสินค้าจำเป็น เช่น สบู่ ผงซักฟอก ยาสีฟัน แชมพู ผ้าอนามัย กระดาษชำระ ให้กับครอบครัวที่เดือดร้อน (หนึ่งถุงมีอาหารกินได้ 3 วัน) ซึ่งนอกจากจะมีชาวอังกฤษแล้ว ยังมีผู้ลี้ภัยจากหลายประเทศมาขอรับความช่วยเหลือ เช่น ซีเรีย อัฟกานิสถาน
ผลการสำรวจของมูลนิธิแห่งนี้ระบุว่า ระบบสวัสดิการคนจนภาครัฐที่เรียกกันว่า Universal Credits นั้นไล่ไม่ทันกับค่าครองชีพ จากตัวเลขล่าสุด ผู้ที่รับเงินสวัสดิการ 1 ใน 5 คนแจ้งว่า สวัสดิการที่ได้รับ ไม่เพียงพอที่จะซื้ออาหารมาเลี้ยงครอบครัวเนื่องจากราคาอาหารและพลังงานแพงขึ้น คนจนในกลุ่มนี้ถึง 38% ยอมรับว่าบางวันต้องอดมื้อกินมื้อ จำเป็นต้องบากหน้าไปพึ่ง Food Banks ด้วย

ฤดูหนาวในยุโรป (ช่วงธันวาคม-กุมภาพันธ์) เป็นช่วงเวลาที่คนยากคนจนเดือดร้อนมากที่สุด เนื่องจากค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเพื่ออุ่นบ้านจะเพิ่มมากขึ้น เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา มูลนิธิ Resolution Foundation ซึ่งเป็นหน่วยงานเอ็นจีโออีกแห่งหนึ่ง รายงานว่าค่าใช้จ่ายของครัวเรือนในประเทศจะสูงขึ้นเกือบ 3,000 ปอนด์ต่อปี เนื่องจากราคาพลังงาน อาหาร และดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มสูงขึ้น ในขณะเดียวกันมูลค่าจริงของรายได้ครัวเรือนจะลดลงประมาณ 7% โดยเฉลี่ย
เมื่อมูลค่าของรายได้ลดลง ขณะที่รายจ่ายของครัวเรือนกลับพุ่งสุงขึ้นทำให้ประชาชนอีกกว่า 3 ล้านคนในประเทศถูกผลักให้มีสถานะทางเศรษฐกิจต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจน (poverty line) ทางด้านมูลนิธิ End Fuel Poverty ได้ติดตามราคาพลังงาน และประเมินว่า ถ้าหากรวมเอาตัวเลขการปรับราคาสินค้าพลังงานที่เพิ่มขึ้นในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายนนี้เข้าไปด้วย คาดว่าจะทำให้คนยากจนในอังกฤษเพิ่มมากขึ้นถึง 7 ล้านคน
อีกด้านหนึ่ง ตัวเลขจากมูลนิธิ The Joseph Rowntree Foundation ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รณรงค์ขจัดความยากจนในสหราชอาณาจักรได้ระบุในช่วงเมษายนที่ผ่านมาว่า คนโสดในสหราชอาณาจักรจะต้องมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 25,000 ปอนด์ต่อปี หรือถ้าเป็นครอบครัวที่มีบุตรสองคนจะต้องมีรายได้ครัวเรือนไม่ต่ำกว่า 43,400 ปอนด์ต่อปีก่อนหักภาษี ถ้ามีรายได้ต่ำกว่านี้ถือจัดว่าเป็นผู้มีรายได้น้อย ส่วนหน่วยงานสวัสดิการภาครัฐกำหนดรายได้เส้นแบ่งความยากจนไว้เพียง 18,408 ปอนด์ต่อปีเท่านั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่แม้จะมีระบบสวัสดิการรัฐแล้วก็ยังไม่เพียงพอ
หลายชุมชนมีกลุ่มคนอาสาสมัครเปิดบริการอาหารร้อน Lunch Club ช่วยเหลือคนที่ตกหล่นจากระบบตาข่ายความปลอดภัยทางสังคม และเกิดความเดือดร้อนแบบไม่ทันตั้งตัว อย่างเช่น นิตยสารด้านเศรษฐกิจฉบับหนึ่ง รายงานเมื่อเร็วๆ นี้ว่า บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดอย่าง นิก (Nick) พ่อลูกสาม ไม่เคยนึกเลยว่าตนเองและครอบครัวจะต้องบากหน้ามาขอรับอาหารจากหน่วยงานการกุศล
นิกเคยเป็นนักเขียนและผู้พิมพ์ผู้โฆษณา เปิดธุรกิจของตนเองในประเทศไทย แต่ธุรกิจล้มละลาย ต้องพาครอบครัวกลับมาอังกฤษ และขณะนี้ต้องอาศัยในที่พักพิงชั่วคราว ตอนนี้โชคดีเพิ่งได้งานทำในซุปเปอร์มาร์เก็ตใกล้บ้าน แต่รายได้ไม่พอรายจ่าย ตนเองก็ไม่เคยคิดว่าต้องมาทำงานแบบนั้นเมื่อตอนที่เขาอายุเกิน 50 ปีแล้ว เมื่อให้สัมภาษณ์จบเขาก็เข้าไปรับอาหารใส่ถุงกลับบ้านไปเลี้ยงลูก 3 คน

สำหรับประวัติที่มาของกิจกรรมธนาคารอาหาร เริ่มต้นมาจาก St. Mary’s Food Bank เป็นธนาคารอาหารแห่งแรกของโลกเปิดบริการในปี 1967 ในสหรัฐอเมริกา หลังจากนั้นแนวคิดนี้ก็กระจายไปทั่วโลก ส่วนในยุโรปมีการเปิดธนาคารอาหารแห่งแรกที่ปารีสในปี 1984 และขยายตัวอย่างรวดเร็วหลังจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2007-2008 เมื่อมีธุรกิจการเงินและธนาคารขนาดใหญ่ๆ ของโลกหลายแห่งล้มละลาย คนตกงานจำนวนมาก เกิดภาวะเงินเฟ้อรุนแรง ข้าวยากหมากแพงทั่วทั้งยุโรป
เวลานั้นสหภาพยุโรปจัดตั้งกองทุนสนับสนุนธนาคารอาหารเรียกว่าโครงการ Most deprived persons programme (MDP) โดยใช้หน่วยงานทางศาสนาช่วยกระจายความช่วยเหลือ ทั้งนี้ เพราะมีผู้คนจำนวนมากไม่ไว้ใจหน่วยงานสวัสดิการของรัฐ เพราะจะโดนเจ้าหน้าที่ตั้งคำถามจุกจิกมาก ผู้หลบหนีเข้าเมืองที่อดอยากจึงไม่กล้าไปใช้บริการ
สำหรับในสหราชอาณาจักรก่อนเกิดภาวะวิกฤติการเงินในปี 2007-2008 แทบไม่ค่อยมีใครพูดถึง Food banks กันมากนัก และตอนนั้นมูลนิธิ The Trussell Trust เปิดธนาคารอาหารบริการคนจนเพียง 2 สาขาเท่านั้น พอมาถึงปี 2022 ได้ขยายสาขาทั่วประเทศถึง 1,400 สาขา โดยปีนี้นับว่าหนักหนาที่สุดเพราะว่าต้องเปิดสาขาแห่งใหม่ทุกสัปดาห์ แสดงให้เห็นถึงภาวะเศรษฐกิจของอังกฤษที่ฝืดเคืองอย่างหนักและกระทบกับความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างมาก