fbpx
อาหารกับศาสนา : กินเพื่อบรรลุธรรม?

อาหารกับศาสนา : กินเพื่อบรรลุธรรม?

กินเป็นกิจกรรมตามธรรมชาติ เหมือนกับขี้ ปี้ และนอน เพราะมนุษย์เป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง ย่อมปฏิบัติเยี่ยงสัตว์อื่นๆ แต่มนุษย์ทำให้กิจกรรมตามธรรมชาติไม่ธรรมชาติอีกต่อไป เพราะเราเสกสรรปั้นแต่งกิจกรรมตามธรรมชาติเหล่านี้ให้ซับซ้อน ให้ความหมายใหม่ๆ แก่มันตลอดประวัติศาสตร์ของเรา

โดยพื้นฐานที่สุด เรากินเพื่อต้องการสารอาหารไปบำรุงหล่อเลี้ยงร่างกาย พูดง่ายๆ คือกินเพื่อที่จะไม่ตาย แต่เราก็หลงใหลต่อรสชาติของอาหาร สัมผัส กลิ่นหอมเย้ายวน และหน้าตาสีสันของมันด้วย นอกจากนี้เรายังใช้มันในพิธีกรรมทุกชนิด อาหารดำรงอยู่ในฐานะเครื่องพลีบวงสรวงที่สำคัญที่สุด ซึ่งแม้จะล่วงมานับพันนับหมื่นปี ความหมายนี้ก็ยังดำรงอยู่

 

ศาสนาทุกศาสนาจึงหมกมุ่นกับเรื่องอาหาร ในคัมภีร์ปฐมกาลของยูดาห์ คริสต์และอิสลาม มนุษย์ผู้ไม่ต้องเพาะปลูกถูก “ล่อลวง” ด้วย “อาหาร” พญางูส่งผลไม้ซึ่งฝรั่งเล่ากันว่าคือแอปเปิ้ล แต่นักวิเคราะห์ด้านพระคัมภีร์บอกว่ามันอาจเป็นผลมะเดื่อให้อีฟ และอีฟก็ส่งให้อดัมกิน (แซวกันว่านั่นเป็นครั้งแรกที่ผู้หญิงพอจะตัดสินใจได้ว่าจะกินอะไรดี จากนั้นผู้หญิงก็สูญเสียศักยภาพอันนี้ไปเลยจนถึงปัจจุบัน!) ผลไม้ชนิดนั้นนำสติปัญญามาสู่เราก็จริงแต่นำเราไปสู่ความตายด้วย เราจึงต้องออกจากสวนที่เราไม่ต้องเพาะปลูกไปสู่สวนที่เราต้องเพาะปลูกดูแลมันตลอดกาล

ศาสนากลุ่มอับราฮัม (คือ ยูดาย คริสต์และอิสลาม) จึงมีข้อห้ามเรื่องอาหารมากมาย ชาวยิวเป็นพวกแรกที่พยายามกำหนดกฏเกณฑ์ทางอาหาร เช่น ไม่กินหมู ไม่กินเลือดสัตว์ ไม่กินหอย ฯลฯ กฎเกณฑ์เหล่านี้จะถูกสืบทอดมาในศาสนาอิสลามแต่จะค่อยๆ ถูกยกเว้นโดยชาวคริสต์จากการเข้าไปเผยแพร่ในอาณาจักรโรมัน

กฏเกณฑ์ด้านอาหารเหล่านี้ ถ้าพูดจากแง่มุมทางศาสนาคือความต้องการ “ความบริสุทธิ์” ของกายใจ แต่หากมองจากมุมประวัติศาสตร์ คือความพยายามสร้าง “อัตลักษณ์” ของตน ที่แตกต่างจากศาสนาอื่นๆ หรือศาสนาเดิมที่เป็นปฏิปักษ์กัน

ในคริสต์ศาสนายุคกลางมองว่าการหมกมุ่นอยู่กับการกินหรือ “ความตะกละ” นั้น เป็นหนึ่งในบาปเจ็ดประการ และการกินที่มากหรือประณีตเกินไปเป็นการเอาใจใส่ต่อ “ชีวิตทางเนื้อหนัง” มากกว่า “ชีวิตฝ่ายจิต”

ชีวิตทางเนื้อหนังพอกพูนมากเท่าใด ชีวิตฝ่ายจิตก็เรียวลงมากเท่านั้น

แม้คริสต์ศาสนาในทุกวันนี้จะดูเหมือนซีเรียสเรื่องข้อห้ามเกี่ยวกับการกินน้อยที่สุด แต่ชาวคริสต์รุ่นเก่าบางคนเคยบอกกับผมว่า สมัยก่อนทุกวันศุกร์ชาวคริสต์จะไม่กินเนื้อสัตว์กัน และแม้ปัจจุบันจะไม่ได้ถือกันโดยทั่วไปแต่ยังปฏิบัติในอาราม

ส่วนฝั่งศาสนาจากอินเดีย คือฮินดู พุทธและไชนะ กฏเกณฑ์ด้านอาหารดูจะซับซ้อนยิ่งขึ้นไปอีก ศาสนาเหล่านี้ซึ่งมุ่งเน้นการสละละ การกินโดยปราศจากหลักทางศีลธรรมก็อาจนำมนุษย์ไปสู่ความยึดติดมากขึ้น

ที่สำคัญศาสนาเหล่านี้รู้ว่า การกินกับการบำรุงหล่อเลี้ยงอารมณ์และเพศรสเป็นเรื่องเดียวกัน ฝ่ายฮินดูท่านเขียนไว้ในคัมภีร์อุปนิษัทว่า ร่างกายนี้ประกอบด้วย “อาหาร” (ภาษาแขกว่า อันนามัยโกศ) และเชื้อชีวิตในร่างกายเราก็เกิดจากอาหารที่เรากินเข้าไปเช่นกัน กินจึงทำให้มีเชื้อชีวิต(อสุจิ หรือเรตัสในภาษาพระเวท) และการหลั่งของเชื้อชีวิตจากร่างกายชายไปร่างกายหญิง ก็ตั้งต้นที่กระบวนการกินอาหารของเรา

ศาสนาเหล่านี้จึงมีข้อปฏิบัติเรื่องการอดอาหาร ไม่ว่าจะอาหารทุกอย่างในบางเวลา หรืออาหารบางชนิด เพื่อลดการกระตุ้นตัณหาราคะ จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของนักบวช

แม้ดูเหมือนว่าศาสนาเหล่านี้จะเห็นตรงกันอาหารเป็นที่มาของความหลงและการยึดติด นอกจากมันจะเพิ่มน้ำหนักและขนาดของพุงให้มหึมา ยังทำให้จิตเราอึดอัดมืดทึบ

กระนั้น ในอีกมุมหนึ่งของศาสนา อาหารกลายเป็นเครื่องบำรุงทั้งกายใจและทำให้เราเข้าสู่สภาวะพิเศษได้ด้วย จะว่าสอนขัดกันเองก็ไม่เชิง เพราะคงต้องพิจารณาตัวอาหารแต่ละประเภท และ “ท่าที” ต่อการกินด้วย

ในคริสต์ศาสนา ศาสนิกแนบชิดสนิทกับพระเจ้าผ่านการกินเลี้ยงของ “ศีลมหาสนิท” แผ่นปังอบแผ่นเล็กสื่อถึงพระวรกายของพระเยซู และเหล้าองุ่นคือโลหิตที่หลั่งออกเพื่อไถ่โลก

การกินดื่มพระวรกายและพระโลหิต เท่ากับรับพระเป็นเจ้าเข้ามาทางกายแต่เกิดผลทางใจ คือเป็นอาหารที่หล่อเลี้ยงใจมากกว่ากาย แม้ว่าความหมายและที่มาของพิธีนี้ยังดูเร้นลับ และเป็นไปได้ว่าอาจมีที่มาจากการสังเวยตามแบบของชาวโรมัน แต่กระนั้น แผ่นปังเล็กๆ นี้สูงค่ายิ่งต่อจิตวิญญานคริสตชน

ในศาสนาฝ่ายอินเดีย ชาวฮินดูมีคำสอนในอุปนิษัทว่า “อนฺนํ พฺรหเมติ” หมายความว่า “อาหารคือพระเจ้า” หรืออาหารคือสัจธรรม เพราะโลกทั้งโลกนี้เองคืออาหาร และตัวเราเองก็เป็นอาหาร

อุปนิษัทบอกว่า เหตุที่เราแก่ชราและตายลงไปนั้น เพราะเรากำลังเป็นอาหารของ “กาละ” หรือเวลาผู้กินทุกสิ่ง ร่างกายเราจึงเหี่ยวย่นดุจถูกราดรดด้วยน้ำย่อย และสรรพสิ่งในจักรวาลนี้ก็เช่นกัน

การกินจึงเป็นกระบวนการศักดิ์สิทธิ์ของจักรวาล แต่กระบวนการนี้ก็ยากที่จะเห็นได้ เว้นแต่ได้ปฏิบัติทางจิตมาบ้างแล้ว

ในไมตรีอุปนิษัทบอกว่า หากคนเราสามารถมองการกินของตนดุจการทำพิธีบูชาไฟ ก็สามารถเข้าถึงความหลุดพ้นได้ หมายความว่า เมื่อเรานำอาหารเข้าปาก พึงคิดว่าเราทำเช่นเดียวกับการตักเนยและอาหารลงในกองไฟในพิธียัชญะหรือบูชายัญ ไฟบูชายัญคือความร้อนในร่างกายเราเองที่กำลังย่อยอาหาร ส่วนเทวดาผู้รับอาหาร คือ อาตมันหรือตัวตนเนื้อแท้ของเรา

ในทางโยคะ สรรพสิ่งในโลกถูกจำแนกด้วยคุณสมบัติสำคัญสามอย่าง เรียก “ตรีคุณะ” ได้แก่ สัตวะ ความจริง ความดี ความสว่าง ความสงบ แทนด้วยสีขาว, รชัส ความร้อน การเคลื่อนไหว การเกิด ความรุนแรง อุปมาด้วยสีแดง และ ตมัส ความมืด ความตาย ความหลง ความหยุดนิ่ง อุปมาด้วยสีดำ

อาหารแต่ละอย่างก็มีคุณสมบัติทั้งสามนี้มากน้อยแตกต่างกันไป อาหารที่เป็นพืชผักตามธรรมชาติ หรือมังสวิรัติ รสอ่อน มีสัตวะคุณมาก ส่วนของรสจัดเผ็ดร้อนมีรชัสคุณมาก อาหารเนื้อสัตว์ หมักดองและของมึนเมามีตมัสคุณมาก

กินอาหารที่มีคุณะแบบไหน คุณะแบบนั้นก็จะเพิ่มพูนในร่างกายและส่งผลต่อจิตใจ กินของเผ็ดร้อนก็ฉุนเฉียวขี้โมโห กินของมึนเมาหรือของหนักๆร่างกายก็มึนเมาอึดอัดง่วงซึม แต่หากกินของที่เป็น “สัตวิก” หรือมีคุณเป็นสัตวะย่อมทำให้ปลอดโปร่งเบาสบายทั้งกายใจ และสัตวะคุณนี้คือคุณสมบัติเดียวกันกับความหลุดพ้น

คนฝึกโยคะจึงมักจะได้รับคำแนะนำให้ทานมังสวิรัติ ไม่ใช่เหตุผลด้านบุญกุศลแต่เพื่อเพิ่มพูนคุณลักษณะที่ดีแก่กายใจของตนเอง

ในพุทธศาสนาสายเถรวาท มีพระสูตรหนึ่งที่ให้เรามีท่าทีต่อการกินอาหาร “ดุจกินเนื้อบุตรของตน” พระสูตรนี้เล่าว่า พุทธะสอนให้สาวกกินอาหารประดุจชายหญิงคู่หนึ่งที่ต้องข้ามทะเลทรายอันกันดาร จำต้องฆ่าบุตรของตนนำเนื้อมากินเพื่อไม่ให้ตนเองตาย ฉันใดก็ฉันนั้น ให้สาวกกินอาหารทั้งหลายดุจกินเนื้อบุตร คือไม่ได้เป็นไปเพื่อความเพลิดเพลินแต่เพื่อยังชีพให้รอด

พุทธศาสนาฝ่ายวัชรยานดูจะมีท่าทีหลายอย่างต่ออาหารการกิน เนื่องด้วยทัศนะแบบตันตระ ซึ่งเป็นเทคนิคพื้นบ้านที่แพร่หลายก่อนวัฒนธรรมฮินดู –พุทธ โดยเห็นว่าสรรพสิ่งทั้งปวงนั้นใช้การได้และสมบูรณ์ดีอยู่แล้ว แนวคิดแบบตันตระไม่ผลักไสและต่อต้านสิ่งใด ในแง่นี้อะไรก็ตามที่ดูเหมือนมีมลทินและไม่บริสุทธิ์ ถ้าเราเข้าสัมพันธ์กับมันอย่างถูกต้อง มันจะกลับกลายเป็นสิ่งเกื้อหนุนต่อหนทางปฏิบัติได้ ดั่งคำพูดที่ว่า เปลี่ยน “ยาพิษ”ให้เป็น “อมฤต”

ตันตระจึงไม่รังเกียจต่อเพศรสและสุรามังสาหาร ดังนั้นจึงมีการใช้สุรามังสาหารในพิธี โดยเฉพาะการปฏิบัติของพวกโยคิน ท่านเหล่านี้อาจใช้เนื้อสัตว์เพื่อเป็นอุบายให้ศิษย์ถ่ายถอนต่อการรังเกียจเนื้อสัตว์ (ซึ่งมาพร้อมอติมานะความถือตัวว่าดี บริสุทธิ์) และใช้สุราในฐานะ “น้ำอมฤต” ไม่ใช่เพื่อความเมามาย ทว่าเป็นรสยานเวทเพื่อการเข้าถึงสภาวะบางอย่างของจิต

การจะทำเช่นนี้ดูสุ่มเสี่ยง หมิ่นเหม่ต่อศีลธรรมและอันตรายมาก ดังนั้นก่อนการปฏิบัติดังกล่าว จิตใจจะถูกเตรียมพร้อมมาอย่างเต็มที่ และอยู่ในความดูแลของครูอาจารย์เสมอ

หลักสำคัญของตันตระต่างออกไปจากสายธรรมและศาสนาอื่นๆ ตรงที่เน้นความสำคัญของ กายพอๆ กับจิต เพราะถือว่ากายเป็นฐานของ “ปัญญากาย” การบำรุงรักษาร่างกายให้ดีจึงสำคัญเท่ากับการดูแลหล่อเลี้ยงจิต วัชรยานซึ่งใช้เทคนิคตันตระจึงไม่ได้สอนให้ละทิ้งร่างกายและให้ความสำคัญแก่จิต แต่ให้ดูแลทั้งสองอย่างไปด้วยกัน ในแง่นี้อาหารจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญมากๆ ในวิถีทาง

นอกจากนี้ พุทธศาสนาฝ่ายวัชรยานมีการใช้ “ตอร์มา” หรือ “เครื่องพลี” ในการบูชาพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ เทพธรรมบาล ไปจนถึงภูตผี ตอร์มาโดยประเพณีปฏิบัติจะใช้แป้งซัมปาหรือแป้งข้าวสาลีคั่ว คลุกด้วยส่วนผสมต่างๆ เช่น เนย สุรา ฯลฯ ปั้นเป็นแท่งคล้ายแจกัน ประดับด้วยเนยและชีส

มีผู้รู้อธิบายว่า ที่จริงตอร์มาคือสัญลักษณ์แทนคนหรือมนุษย์ในพิธีบูชายัญสมัยโบราณ แต่พุทธศาสนาได้ให้ความหมายใหม่แก่เครื่องมนุษยพลีอันนี้ว่าเป็นตัวแทนหรือสัญลักษณ์ของ “อัตตา” ซึ่งพระโยคาวจรหรือผู้ปฏิบัติจะต้องเคี้ยวกินเสียให้สูญสิ้น

การสังเวยและกินตอร์มา คือการสลายของอัตตาของเราซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของการปฏิบัติธรรม

 

จากมุมมองทางศาสนา อาหารจึงเป็นทั้งหนทางและขวากหนาม เราอาจเวียนว่ายอยู่ในสังสารวัฏเพียงเพราะตามใจปาก หรือเราอาจเข้าใกล้การบรรลุธรรมเพราะบางสิ่งบนปลายลิ้นของเราเช่นกัน

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save