ภาพปกโดย LILLIAN SUWANRUMPHA/AFP
ภัยพิบัติน้ำท่วมในหลายพื้นที่ทางภาคเหนือซึ่งเกิดขึ้นมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ถือว่าเป็นภัยพิบัติที่สร้างความเสียหายร้ายแรงอันดับสามของประเทศ รองจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 และความเสียหายจากคลื่นยักษ์สึนามิที่เข้าฝั่งไทยทางภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามันในปี 2547 เนื่องจากน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ที่มวลน้ำมหาศาลจากภาคเหนือลงมาถึงกรุงเทพมหานคร สร้างความเสียหายทั้งชีวิต ทรัพย์สิน บ้านเรือน เขตอุตสาหกรรม ไร่นา เป็นมูลค่ามากกว่า 1,500,000 ล้านบาท และสึนามิก็สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินหลายพันล้านบาท อีกทั้งสูญเสียชีวิตสูงมากถึง 5,000 กว่าคน ขณะที่ความเสียหายจากน้ำท่วมใหญ่ทางภาคเหนือครั้งนี้เป็นครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบ 80 ปี โดยมีการประเมินขั้นต้นมีมูลค่ามากกว่า 30,000 ล้านบาท และอาจจะทะลุไปถึง 50,000 ล้านบาท ไม่นับรวมผู้เสียชีวิตหลายสิบคน
ประชาชนหลายจังหวัดในภาคเหนือต่างเคยประสบน้ำท่วมมาทุกปี แต่ในปีนี้ความเสียหายใหญ่โตและรุนแรงมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา โดยข่าวที่ชาวบ้านได้รับมาตลอดคือ น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้แทบจะไม่มีการเตือนภัยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด อีกทั้งยังไม่มีแผนอพยพผู้คนว่าหากเกิดน้ำท่วมกะทันหันจะอพยพไปสถานที่ไหน พอหลังเกิดน้ำท่วม บ้านเรือนราษฎรได้รับความเสียหายยับเยิน ก็จะเห็นผู้มีอำนาจไปเยี่ยมแจกอาหาร แจกสิ่งของยังชีพ ผัดข้าวผัด ฉีดน้ำตามถนนที่ไม่มีโคลน แล้วบินกลับไป ในขณะที่หลังจากน้ำลด ชาวบ้านหลายคนต้องสิ้นเนื้อประดาตัว หลายคนต้องช่วยเหลือตัวเองในการซ่อมแซมบ้าน และที่สำคัญคือการล้างโคลนออกจากบ้านนับเป็นเรื่องที่ยากลำบากมากและใช้เวลาอีกนาน
นอกจากนี้ยังมีภาพที่ปรากฏในสื่อจะเห็นแต่บรรดาเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น อาสาสมัครจากทั่วประเทศที่มุ่งหน้าไปให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ อาทิ มูลนิธิกระจกเงา มูลนิธิเพื่อนพึ่งพา อาสาสมัครบรรเทาสาธารณภัยหลายแห่ง ฯลฯ แต่ความช่วยเหลือจากรัฐบาลกลับเบาหวิวเหลือเกิน
ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตใหญ่ขนาดนี้ถือว่าเป็นภาวะฉุกเฉินในการรับมือกับภัยพิบัติที่ยังไม่รู้จะจบสิ้นเมื่อใด รัฐบาลต้องเป็นแม่ทัพหน้าและทำให้ชาวบ้านเห็นว่า สถานการณ์น้ำท่วมครั้งนี้เป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติ จัดตั้งวอร์รูมด่วน ทุ่มเทสรรพกำลังทุกด้าน ระดมความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง สแกนทุกพื้นที่ที่มีปัญหา ติดตั้งระบบสื่อสารที่ล่มอย่างรีบด่วน เพื่อหาทางเข้าไปช่วยเหลือ และตั้งโต๊ะแถลงข่าวรายวัน ให้คนที่ประสบภัยได้รับทราบปัญหาและสถานการณ์น้ำท่วมอย่างเร่งด่วน เพื่อเรียกขวัญและกำลังใจของผู้ประสบภัยกลับคืนมาว่า “เราจะไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ไม่ใช่เป็นเพียงคำสัมภาษณ์ของผู้มีอำนาจด้วยประโยคว่า “ได้สั่งการไปแล้ว”
ในอีกด้านหนึ่งที่ฝนตกหนักจนเกิดน้ำท่วมใหญ่ ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาโลกเดือดที่ทำให้เกิดภูมิอากาศแปรปรวนวิปริตไปทั้งโลก และเกิดพายุฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องทางภาคเหนือนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ถึงเดือนสิงหาคม ซึ่งพบว่ามีปริมาณฝนมากกว่าปกติถึง 50-60% และเกินความสามารถของดินที่จะอุ้มน้ำได้จึงไหลทะลักมาท่วมบ้านเรือนราษฎร
อีกปัญหาหนึ่งก็คือ ภูเขาทางภาคเหนือและในประเทศพม่าที่เคยมีป่าปกคลุม กลายสภาพเป็นภูเขาหัวโล้นเพื่อเปลี่ยนพื้นที่เป็นไร่ข้าวโพดหลายล้านไร่ หน้าแล้งก็เผาซากไร่ เผาป่าจนเกิดหมอกควันพิษ หน้าฝนก็ไม่มีต้นไม้ใหญ่คอยซับน้ำ ผืนดินก็แห้งเป็นแผ่นเดียว น้ำไม่ซึมลงดิน เพราะตอนเกิดไฟป่าทำให้อุณหภูมิร้อนสูงถึง 700 องศาเซลเซียส จนหลอมโมเลกุลในดินกลายเป็นแผ่นเดียวกัน ไม่มีรูพรุน ทำลายฮิวมัสในดินที่เป็นตัวซับน้ำ อีกทั้งขี้เถ้าจากไฟป่าก็ทำหน้าที่เหมือนยาแนวอุดรูบนพื้นดินจนทำให้เวลาฝนตกน้ำก็ไม่ซึมลงใต้ดินได้ น้ำจากฝนที่ตกลงมาจากบนเขาเกือบทั้งหมดจึงไหลทะลักอย่างรวดเร็ว แรงและไหลลงสู่แม่น้ำ จนเอ่อมาท่วมบ้านเรือนสองฟากฝั่งที่ราบลุ่มอย่างรวดเร็ว พร้อมดินโคลนมหาศาลที่เกิดจากการพังทลายของหน้าดิน เพราะไม่มีรากต้นไม้ใหญ่ยึดเอาไว้
เมื่อสำรวจพื้นที่ภาคเหนือพบว่ามีพื้นที่ป่าไม้ในปี 2566 ประมาณ 37,976,519.37 ไร่ หรือ 63.24% ของพื้นที่ภูมิภาค ลดลงจากปี 2565 ถึง 171,143.04 ไร่ ส่วนใหญ่เกิดจากการบุกรุกเผาป่าเพื่อเปลี่ยนพื้นที่เป็นไร่ข้าวโพด ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของอุทกภัยและดินถล่มครั้งใหญ่ของจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง แพร่ น่าน และพะเยา
ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภัยพิบัติประเมินว่า ภาคเหนือได้รับความเสียหายจากอุทกภัยเทียบเท่ากับเหตุน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 และบางพื้นที่เกิดความเสียหายมากกว่าด้วยซ้ำ เช่น เชียงราย น่าน และ สุโขทัย อีกทั้งในขณะเดียวกันก็ชี้ให้เห็นว่าอุทกภัยที่เกิดขึ้นยังมีปัจจัยซับซ้อนมากกว่าปรากฏการณ์ธรรมชาติ นั่นคือกิจกรรมของมนุษย์ที่ทำให้ภูมิประเทศเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
“จังหวัดน่านและเชียงราย เรายอมรับว่าฝนตกหนักกว่าปกติและใกล้เคียงปี 2554 แต่ที่แพร่ฝนตกไม่หนัก กลับเสียหายหนัก แสดงให้เห็นว่ากายภาพของพื้นที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ทำให้น้ำท่วมแพร่หนักมาก แม้ว่าฝนตกไม่หนัก”
ทั้งนี้ ปัญหาการบุกรุกเผาป่าเพื่อเปลี่ยนเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดไม่เคยได้รับการแก้ไขเลย และชะตากรรมตกหนักกับคนทางเหนืออย่างน่าสงสาร หน้าแล้งคนทางเหนือก็เผชิญกับปัญหาหมอกควันพิษ PM 2.5 จากการเผาซากพืชไร่ และหน้าฝนก็เจอน้ำท่วมใหญ่ โดยในปีหน้าและปีต่อๆ ไป อากาศยิ่งแปรปรวนมากขึ้นจากปัญหาโลกเดือด ฝนจะตกหนักและเมื่อภูเขาไม่มีต้นไม้ใหญ่คอยอุ้มดินและซับน้ำ น้ำป่าก็จะไหลหลากมาท่วมบ้านเรือนชาวบ้านต่อไปทุกปี
ในขณะที่วิธีแก้ปัญหาของรัฐบาลก็ดูเหมือนจะทุ่มงบประมาณมาแก้ปัญหาปลายเหตุคือ การก่อสร้างเขื่อน หรือแนวป้องกันน้ำท่วม เห็นได้จากแต่ละปีที่รัฐบาลจะตั้งงบประมาณป้องกันน้ำท่วมสูงถึง 53,000 ล้าน แต่ร้อยละ 76 ประมาณ 41,000 ล้านบาทกลับเป็นงบประมาณด้านการก่อสร้างหรือเกือบสามในสี่ของงบประมาณทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นการก่อสร้างแนวกำแพง เขื่อนป้องกันน้ำท่วม ขณะที่งบวางแผน วิจัย เก็บข้อมูล และศึกษาต้นเหตุของปัญหา เพื่อวางแผนในการป้องกันน้ำท่วมมีเพียงร้อยละ 0.8 ของงบประมาณทั้งหมด
ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลไม่เคยให้ความสำคัญกับการเก็บข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพื่อนำไปวางแผนรับมือกับปัญหาอย่างถูกต้องและแม่นยำ แต่มุ่งมั่นในการก่อสร้างมากกว่า เราแทบไม่ได้ยินข่าวเลยว่า รัฐบาลจะแก้ปัญหาการเผาป่าเพื่อเปลี่ยนเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดอันเป็นต้นเหตุของปัญหาได้อย่างไร ทั้งที่บทเรียนที่ผ่านมาชี้ให้เห็นชัดว่าการปกป้องป่าต้นน้ำคือการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ และเป็นแนวทางในการลดความเสียหายจากน้ำท่วมกับปัญหาหมอกควันพิษที่ตรงจุดและยั่งยืนที่สุด
หากพรรคแกนนำรัฐบาลตระหนักว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเป็นเรื่องเร่งด่วน เราควรจะเห็นแกนนำพรรครัฐบาลยึดกระทรวงนี้เป็นหลัก แต่ที่ผ่านมาดูเหมือนแกนนำพรรครัฐบาลจะมุ่งเน้นเอากระทรวงด้านเศรษฐกิจที่มีงบประมาณนับแสนล้านบาทเป็นหลัก ขณะที่กระทรวงทรัพยากรสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติที่มีงบประมาณเพียงปีละหมื่นกว่าล้านบาท จึงตกเป็นของพรรคเล็กพรรคน้อยที่ไม่มีโอกาสเลือกกระทรวงใหญ่ๆ
เรื่องที่น่าเศร้าอีกประการคือ นักการเมืองที่มาเป็นรัฐมนตรี ส่วนใหญ่คัดมาจากแกนนำพรรคที่ไม่ได้เป็นผู้มีความรู้ความสามารถด้านสิ่งแวดล้อมให้เป็นที่ประจักษ์มาก่อน ทำให้ปัญหาโลกร้อน ปัญหาสิ่งแวดล้อม การทำลายป่า จึงไม่เคยอยู่ในความใส่ใจของผู้มีอำนาจมาโดยตลอด แม้กระทั่งในยุคโลกเดือดที่หายนะกำลังเข้าใกล้มนุษยชาติทุกทีแล้ว