fbpx

ตีโจทย์ใหญ่เศรษฐกิจไทย: เปิดนโยบายแก้ปัญหาปากท้อง 5 พรรคในสนามเลือกตั้ง

ในวาระที่ประเทศไทยเดินหน้าเข้าสู่ฤดูเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ นโยบายเศรษฐกิจเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญที่จะช่วยให้เกิดการกระจายรายได้ สร้างงานสร้างอาชีพและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้ประชาชน อันจะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้ประเทศให้รุดไปข้างหน้า

ท่ามกลางนโยบายจำนวนมาก นโยบายหลักที่สังคมให้ความสนใจและเป็นปมปัญหาใหญ่ของเศรษฐกิจไทยคือ สวัสดิการที่ช่วยเหลือคนจนและคนเปราะบาง การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนและหนี้นอกระบบ และการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจผ่านนโยบายภาคเกษตรและอุตสาหกรรม คำถามใหญ่ที่ประชาชนไทยทุกคนต้องจับตาคือ นโยบายต่างๆ ที่แต่ละพรรคนำเสนอ ตอบโจทย์ ตรงจุด และคิดครบหรือไม่ อย่างไร

101 ชวนตัวแทนด้านเศรษฐกิจจากพรรคการเมืองหลัก 5 พรรค ได้แก่ พิสิฐ ลี้อาธรรม จากพรรคประชาธิปัตย์, เผ่าภูมิ โรจนสกุล จากพรรคเพื่อไทย, ศิริกัญญา ตันสกุล จากพรรคก้าวไกล, อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี จากพรรคชาติพัฒนากล้า และสุพันธุ์ มงคลสุธี พรรคไทยสร้างไทย มาร่วมแสดงวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนประเทศในรายการ 101 Policy Forum: นโยบายเศรษฐกิจในสนามเลือกตั้ง โดยมีนักวิชาการ กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก้ (University of California San Diego) และ ฉัตร คำแสง ผู้อำนวยการ 101 Public Policy Think Tank (101 PUB) มาร่วมวงสนทนา

ร่วมสำรวจทิศทางและนโยบายด้านเศรษฐกิจของแต่ละพรรคได้ ในบรรทัดต่อไปนับจากนี้

นโยบายสวัสดิการสังคมและแรงงาน

งานวิจัยเรื่อง ‘บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ’ หรือบัตรคนจนของ 101 Pub ชี้ให้เห็นว่าตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการบัตรคนจน เมื่อเดือนตุลาคม 2560 มีการใช้งบไปแล้วเกือบ 3 แสนล้านบาท แต่เกือบ 50% ของคนจนจริงกลับไม่ได้รับบัตร ขณะที่เกือบ 80% ของผู้รับบัตรไม่ได้เป็นคนจน มิหนำซ้ำบัตร 4.2 แสนใบยังตกอยู่ในมือกลุ่มครัวเรือนรายได้สูงสุด 20% บน

ด้านนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายที่หลายพรรคใช้หาเสียง ปัจจุบันยังเป็นอัตราที่ห่างไกลจากแนวคิด living wage หรือค่าจ้างที่ทำให้แรงงานเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้แบบมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งงานของ 101 PUB คำนวณว่าอยู่ที่ 563 บาทต่อวัน ในกรณีที่เลี้ยงดูคู่ชีวิตและลูก 1 คน

แต่ละพรรคการเมืองเสนอนโยบายว่าด้วยสวัสดิการสังคมและแรงงาน เพื่อแก้ปัญหาเชิงนโยบายที่เป็นอยู่ ดังต่อไปนี้

เผ่าภูมิ โรจนสกุล จากพรรคเพื่อไทย มองว่าความล้มเหลวของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเกิดขึ้นเพราะที่ผ่านมาพยายามใช้เทคโนโลยีเก่าในการค้นหาคนจนผ่านการลงทะเบียน เนื่องจากไทยมีเศรษฐกิจนอกระบบสูง จึงแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะหารายได้ของผู้คนและคนจน พรรคเพื่อไทยจึงเสนอดิจิทัลวอลเล็ตซึ่งใช้ระบบบล็อกเชนที่สามารถกำหนดเงื่อนไขให้ถึงกลุ่มเป้าหมายได้โดยละเอียด โดยเลือกได้ว่าจะช่วยเหลือคนกลุ่มใด เพื่ออะไร และต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบไหน สำหรับข้อกังวลเรื่องการตกหล่น เผ่าภูมิยืนยันว่ามีระบบการเข้าถึงบริการทางการเงิน (financial inclusion) คนที่มีบัตรประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงได้ สิ่งที่ต้องมีคือโทรศัพท์ของผู้รับเท่านั้น ส่วนผู้สูงอายุหรือคนชนบทที่ไม่มีโทรศัพท์มือถือ ก็ต้องการแค่บัตรประชาชนและ QRcode สำหรับการซื้อของในร้าน โดยสามารถระบุเงื่อนไขเหล่านี้ลงในบล็อกเชนได้ และคนในเงื่อนไขนั้นก็จะได้รับประโยชน์โดยไม่ต้องไปหาคนมาแทน

ส่วนนโยบายค่าแรง เผ่าภูมิชี้ว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่แรงงานมีอำนาจต่อรองต่ำมากจึงถูกกดค่าแรง ฉะนั้นจำเป็นอย่างมากที่ต้องมีค่าแรงขั้นต่ำ โดยพรรคเพื่อไทยเสนอปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600 บาทในปี 2570 ซึ่งจะค่อยๆ ปรับขึ้นตามสภาวะเศรษฐกิจโดยไม่ให้กระทบผู้ประกอบการหรือกระทบน้อยที่สุด ปัจจัยในการพิจารณาปรับค่าแรงจะคิดบนฐานของ อัตราเงินเฟ้อ GDP ผลิตภาพแรงงาน และความคาดหวังต่อ GDP ในอนาคต 

เผ่าภูมิย้ำว่าเพื่อไทยเชื่อในทุนนิยมที่เท่าเทียมและยืนอยู่ข้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ทั่วถึง ส่งเสริมการแข่งขันเสรีและต่อต้านการผูกขาด มุ่งรดน้ำที่รากให้คนตัวเล็กตัวน้อยมีรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น

สุพันธุ์ มงคลสุธี จากพรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่าปัจจุบันภาครัฐไม่ได้ให้ความสำคัญกับคนตัวเล็กตัวน้อยอย่างจริงจัง GDP ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดหลักในปัจจุบันไม่ได้สะท้อนการเติบโตของ SMEs ไทยสร้างไทยจึงเสนอให้มีการปรับโฟกัสดัชนีการเจริญเติบโตที่มุ่งไปที่กลุ่ม SMEs โดยให้มีการตั้งเป้าการเจริญเติบโตของ SMEs ที่อยากไปให้ถึงในแต่ละปี และให้ความสำคัญกับ GPP หรือรายได้ต่อหัวต่อคนในภูมิภาค การปรับโฟกัสตัวชี้วัดดังกล่าวจะทำให้เห็นภาพว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นกระจายไปสู่คนตัวเล็กตัวน้อย

นโยบายแรงงานของพรรคไทยสร้างไทย เน้นไปที่การลดค่าใช้จ่าย โดยให้ความสำคัญกับเงินที่ประชาชนเหลือในกระเป๋ามากกว่าการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำให้สูง เพราะต่อให้ค่าจ้างสูงขึ้นแต่เงินเหลือน้อยเพราะค่าไฟ ค่าเชื้อเพลิง และค่าอุปโภคอื่นๆ ยังแพงอยู่ ประชาชนก็ยังลำบากเหมือนเดิม นอกจากนี้ การพัฒนาทักษะแรงงานก็ควรทำไปควบคู่กัน เนื่องจากทุกวันนี้เทคโนโลยีพัฒนาอย่างรวดเร็ว เราต้องเสริมทักษะแรงงานให้ตอบโจทย์ยุคสมัย

พิสิฐ ลี้อาธรรม ตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์ เสนอนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจให้โตโดยไม่ต้องเพิ่มหนี้สาธารณะ โดยจะอัดฉีดเงินผ่านธนาคารหมู่บ้าน ตั้งกองทุน SMEs และติดตั้งอินเทอร์เน็ตหมู่บ้านเพื่อให้สะดวกต่อการทำ e-commerce การอัดฉีดเงินก็จะทำให้เศรษฐกิจขยับตัวได้ และเมื่อเศรษฐกิจไทยโตเร็วกว่านี้ ค่าแรงก็จะโตขึ้นด้วย ประชาธิปัตย์ยินดีจะเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ แต่ต้องเป็นไปตามกลไกที่ดี นอกจากนี้ยังมุ่งให้ความสนใจไปที่ภาคการเกษตรซึ่งเป็น DNA ของพรรคประชาธิปัตย์เสมอมา ดังที่คุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ (หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์) มีนโยบายผลักดันการเกษตรและชาวนา จ่ายเงินเข้าสู่ภาคการเกษตรและให้เกษตรกรเป็นจำนวนห้าแสนล้านบาท ซึ่งถึงมือประชาชนในภาคเกษตรทั้งหมดและทำมาตลอดสี่ปี ด้านการรักษาพยาบาล เสนอให้มีการตรวจโรคฟรีโดยใช้บัตรประชาชนใบเดียว ด้านการศึกษา มุ่งผลักดันเยาวชนให้ได้เรียนปริญญาตรีสาขาที่ตลาดต้องการ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสการสร้างรายได้ให้ประชาชนทั่วประเทศ

ประเด็นด้านการดูแลสวัสดิการสังคม สิ่งสำคัญคือการตั้งหลักให้ดีว่าระบบที่เป็นอยู่ตอนนี้เป็นระบบที่มีช่องโหว่อะไรและอย่างไรบ้าง เช่น การรักษาพยาบาล ประกันสังคมและเรื่องปากท้อง ที่เข้าถึงได้ยุ่งยากมาก ถือเป็นการสร้างความวุ่นวายโดยใช่เหตุ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำให้เกิดการปฏิรูประบบสวัสดิการให้ได้

ศิริกัญญา ตันสกุล จากพรรคก้าวไกล เสนอให้มีการจัดสวัสดิการทุกช่วงวัยในระบบถ้วนหน้า เพื่อป้องกันการตกหล่น ที่ผ่านมาการลงทะเบียนของคนจนไม่ได้มีการอัปเดตข้อมูลมาเป็นเวลานาน 6 ปี ซึ่งนานพอที่คนจนเปลี่ยนรุ่น-เปลี่ยนหน้าแล้ว จึงนำไปสู่ปัญหาตกหล่น ไม่เข้าเป้า และไม่บรรลุวัตถุประสงค์ที่ต้องการช่วยคนยากจน พรรคก้าวไกลเสนอสวัสดิการถ้วนหน้าตั้งแต่แรกเกิดยันชราในระยะแรก และเมื่อฐานข้อมูลเป็นระบบมากขึ้น มีระบบคัดกรองที่ประชาชนไม่ต้องสำแดงความจน จึงค่อยปรับเปลี่ยนให้เป็นระบบเฉพาะเจาะจง ในระยะที่มีการให้แบบถ้วนหน้า พรรคก้าวไกลเชื่อมั่นว่าทำได้จริงหากมีการบริหารจัดการงบใหม่ เช่น ตัดลดงบทหารลง 30-40% จัดสรรที่ราชพัสดุที่กองทัพถือครองอยู่มาจัดสรรใหม่ จะได้งบคืนมาประมาณ 5 หมื่นล้านบาท และจัดเก็บภาษีที่ดินแบบรวมแปลง และภาษีความมั่งคั่งจากคนที่มีทรัพย์สินสุทธิ 300 ล้านบาทขึ้นไป จะทำให้มีงบประมาณมาจัดสวัสดิการมากขึ้น

ด้านนโยบายแรงงาน พรรคก้าวไกลมองว่ามีความจำเป็นที่จะต้องทำให้อำนาจต่อรองของแรงงานมีมากขึ้น ในปัจจุบันเราเห็นว่าผลิตภาพแรงงานไทยโตเร็วกว่าค่าจ้างไปมาก เพราะอำนาจการต่อรองของแรงงานมีน้อยกว่านายจ้าง จึงเสนอให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.แรงงาน ให้ค่าจ้างขั้นต่ำปรับขึ้นทุกปี โดยใช้ฐานจากค่าครองชีพและการเติบโตของเศรษฐกิจมาคิดคำนวณในการปรับค่าแรง เพื่อให้บนโต๊ะเจรจาไตรภาคีที่ประกอบด้วยภาครัฐ เอกชน และลูกจ้างมีข้อมูลที่พร้อมในการกำหนดค่าจ้างที่สะท้อนถึงการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ ศิริกัญญาชี้ว่าหากใช้วิธีนี้ในการคำนวณโดยย้อนไปตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา ค่าแรงขั้นต่ำที่เหมาะสมจะอยู่ที่ 450 บาท ซึ่งยังน้อยกว่า living wage คือค่าจ้างที่สามารถดำรงชีวิตได้อย่างแน่นอน แต่การใช้กลไกดังกล่าวจะทำให้นายจ้างไม่ต้องมาพะวงว่าค่าจ้างจะปรับขึ้นเมื่อไหร่ และเพิ่มอำนาจการต่อรองให้ลูกจ้างเช่นกัน

อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี จากพรรคชาติพัฒนากล้า ย้ำจุดยืนเป็นพรรคเสรีนิยมประชาธิปไตย เน้นการสร้างสภาวะการแข่งขันให้เกิดขึ้นมากที่สุด แต่การแข่งขันอย่างเสรีจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อขจัดทุนผูกขาดเสียก่อน เช่นนั้นแล้วสวัสดิการในแบบชาติพัฒนากล้าจะไม่ให้เต็มรูปแบบดังที่พรรคอื่นเสนอ แต่จะให้บนฐานคิดว่าคนมีความแตกต่าง ไม่เท่ากัน จึงให้สวัสดิการไม่เท่ากัน คนตัวเล็กตัวน้อยสมควรได้รับสวัสดิการที่ทำให้เขาสามารถยืนสูงขึ้นได้ จึงมีนโยบายเงินเดือนต่ำกว่า 40,000 บาทไม่ต้องจ่ายภาษี ด้านสวัสดิการผู้สูงอายุจะให้ครัวเรือนละ 50,000 บาทสำหรับผู้พิการหรืออายุเกิน 70 ปีขึ้นไป เพื่อให้นำไปสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกในบ้านให้เหมาะสม เนื่องจากไม่สามารถสร้างบ้านพักคนชราที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันได้อย่างทั่วถึง ซึ่งเป็นนโยบายที่ทำได้จริง

ด้านนโยบายแรงงาน พรรคชาติพัฒนากล้าจะไม่พูดว่าค่าแรงควรเป็นเท่าไหร่ เพราะกังวลว่าเมื่อประกาศออกไป จะชี้นำราคาสินค้าและอัตราเงินเฟ้อให้พุ่งสูงขึ้น นโยบายของพรรคจะเน้นแก้ที่ต้นเหตุของแพง ซึ่งเป็นผลจากราคาพลังงาน โดยจะกำหนดเพดานค่าการกลั่นเพื่อให้ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงมา และจะปรับการคำนวณค่า Ft ใหม่ เพื่อให้ค่าไฟถูกลง นอกจากนี้เน้นสร้างสภาวะการแข่งขันให้คนตัวเล็กตัวน้อยแข่งได้ โดยให้ยกเลิกระบบแบล็กลิสต์เครดิตบูโร ผลักดันให้ธนาคารพาณิชย์มีการแข่งขัน

นโยบายจัดการหนี้สาธารณะและหนี้ครัวเรือน

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หนี้สาธารณะไทยเพิ่มขึ้นจาก 4.9 ล้านล้านบาท (45.5% ของ GDP) เป็น 10.3 ล้านล้านบาท (60.4% ของ GDP) แต่งานวิจัยของ 101 PUB เผยให้เห็นว่ายังมีหนี้ที่ไม่ถูกนับอยู่ในนิยามหนี้สาธารณะของทางการอีก 1.24 ล้านล้านบาท และในอนาคต ภาครัฐอาจมีภาระหนี้เพิ่มขึ้นจากมาตรการต่างๆ ของรัฐอีกเกือบ 8 แสนล้านบาท รวมหนี้ที่ซุกไว้ใต้พรมอีกประมาณ 2 ล้านล้านบาท

เมื่อพิจารณาปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทย พบว่า หนี้ครัวไทยเพิ่มขึ้นเป็น 15.1 ล้านล้านบาท คิดเป็น 86.9% ของ GDP และหากมีการดำเนินการ ‘พักหนี้’ โดยรัฐบาลจัดสรรเงินจ่ายดอกเบี้ยแทนผู้กู้เงินภาคครัวเรือน 101 PUB คำนวณว่าจะสร้างภาระทางการคลังปีละ 3 แสนล้านบาท

ตัวแทนจาก 5 พรรคการเมืองต่างมีข้อเสนอที่ต่างกันออกไปต่อประเด็นหนี้สาธารณะและหนี้ครัวเรือน

อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี จากพรรคชาติพัฒนากล้าชี้ว่า นอกจากหนี้สาธารณะที่พุ่งสูงมากในยุครัฐบาลประยุทธ์ ซึ่งเพิ่งปรับเพดานจาก 60% ไป 70% และยังขยายเพดานหนี้ทุกประเภทแล้ว ยังมีหนี้ที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงซึ่งซุกอยู่ตาม ธกส. ผ่านโครงการประกันรายได้ ปีละประมาณ 100,000 ล้านบาท การบริหารหนี้สาธารณะจึงต้องใช้ความระมัดระวัง แนวทางของพรรคคือ หนี้สาธารณะสามารถโตได้ แต่ต้องให้ GDP โตขึ้นด้วย ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือต้องสร้างบรรยากาศของการสร้างรายได้และการแข่งขัน ฉะนั้นจะต้องพิจารณาดูว่ามีปัจจัยใดที่ขวางการเติบโตทางเศรษฐกิจ อรรถวิชช์เสนอให้ลดข้อจำกัดทางกฎหมายของธุรกิจกลางคืน เช่น ยกเลิกข้อกำหนดห้ามขายสุราเวลา 14.00-17.00 น. จัด zoning ให้สามารถเปิดผับบาร์ได้ถึงตีสี่ หรือทำคาสิโนถูกกฎหมายโดยมีโมเดลจาก Marina Bay Sands ประเทศสิงคโปร์ นอกจากนี้ประเทศไทยควรปฏิรูประบบราชการให้ง่ายต่อการทำธุรกิจด้วยการสร้างแอปพลิเคชันที่สามารถเข้าถึงบริการจากหน่วยงานรัฐได้ผ่านโทรศัพท์มือถือ

สำหรับหนี้ภาคครัวเรือนที่ปัจจุบันนี้ประเทศไทยมีหนี้สูงเป็นลำดับต้นๆ ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ที่ยิ่งไปกว่านั้นคือยังไม่รวมหนี้นอกระบบ ชาติพัฒนากล้าย้ำจุดยืนว่าต้องลดรายจ่าย สร้างรายได้ และสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการแข่งขัน โดยการแก้ พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต ยกเลิกระบบแบล็กลิสต์และเปลี่ยนเป็นระบบคิดคำนวณเป็นคะแนน โดยให้เอาวินัยทางการเงินที่เก็บข้อมูลได้จากการใช้จ่ายผ่าน Mobile Banking มาคิดคำนวณด้วย แนวทางนี้จะทำให้ธนาคารพาณิชย์สู้กันด้วยอัตราดอกเบี้ยมากขึ้น ชาติพัฒนากล้ายังคิดต่อในนโยบายเพื่อผู้สูงอายุที่ไม่ใช่แค่แจกเงินแล้วจบ แต่จะอุดหนุนนายจ้างเป็นจำนวน 5,000 บาท หากจ้างงานผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุที่ยังทำงานไหวจะมีรายได้และวิธีนี้ยังเป็นการอัดฉีดผ่านนายจ้าง เพื่อให้เกิดการจ้างงานหมุนไป

ศิริกัญญา ตันสกุล จากพรรคก้าวไกล ชวนพิจารณาสถานการณ์หนี้สาธารณะจากความสามารถในการชำระหนี้ โดยดูจากดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายแต่ละปีเทียบกับรายได้ของรัฐ หากดูในช่วงสี่ปีข้างหน้าจะพบว่า ภาระดอกเบี้ยของหนี้จะค่อยๆ ไต่จาก 10% เป็น 11% ไปเรื่อยๆ กรอบวินัยการเงินการคลังด้านความสามารถในการชำระหนี้จะต้องไม่เกิน 15% ของรายได้ สะท้อนว่าเรายังมีศักยภาพในการจ่ายหนี้ ดังนั้น การมีหนี้สาธารณะ 60% ของ GDP ไม่ใช่เรื่องน่ากังวล เพราะที่ผ่านมาดอกเบี้ยไม่ได้สูงมาก อย่างไรก็ตาม หากพ้นปี 2570 ภาระดอกเบี้ยจะเริ่มไปแตะขอบวินัยการเงินการคลังที่ 14.8% ต่อรายได้ภาครัฐ ฉะนั้นทางเดียวที่จะบริหารจัดการหนี้สาธารณะที่กู้มาแล้ว และจำเป็นต้องกู้เพื่อให้พ้นจากวิกฤตโควิด จะต้องปรับปรุงการหารายได้เข้ารัฐผ่านการเก็บภาษีเพิ่มขึ้น ปัจจุบันไทยเก็บภาษีได้ต่อ GDP อยู่ที่ประมาณ 13% ซึ่งต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น พรรคก้าวไกลจึงเสนอการปฏิรูปการเก็บภาษีดังที่ได้กล่าวไปในส่วนการจัดสวัสดิการ

ประเด็นหนี้ครัวเรือน ความน่ากังวลอยู่ที่กลุ่มเกษตรกร ซึ่งมีศักยภาพในการชำระหนี้ค่อนข้างต่ำ มีเกษตรกรไม่ถึงครึ่งที่สามารถชำระหนี้คืนได้ ยิ่งไปกว่านั้นมีเกษตรกรที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปมากถึง 1.4 ล้านคน ในกลุ่มลูกหนี้สูงอายุเช่นนี้ ความเสี่ยงที่จะเป็นหนี้เสียยิ่งเพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องปรับโครงสร้างหนี้เกษตรกรอย่างเป็นระบบ พรรคก้าวไกลมีข้อเสนอปลดหนี้ให้กับเกษตรกรที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป เป็นทั้งโครงการปรับโครงสร้างหนี้โดยการเจรจาขอส่วนลดจากเจ้าหนี้แล้วปิดหนี้ และตัดหนี้ลงครึ่งหนึ่งสำหรับเกษตรกรที่ชำระหนี้ตรงเวลามาโดยตลอด และจ่ายดอกเบี้ยจนเกินเงินต้นไปแล้ว หากยังไม่สามารถจะชำระหนี้คืนได้ จะเอาหนี้ตรงนั้นเข้าสู่กิจการบริหารทรัพย์สิน หรือ asset management entity company ที่จะเข้ามาบริหารหนี้ส่วนนี้โดยการเอาสินทรัพย์เกษตรกร เช่น ที่ดิน มาบริหารจัดการใหม่

เผ่าภูมิ โรจนสกุล จากพรรคเพื่อไทย เสนอต่อประเด็นหนี้สาธารณะว่าประเทศไทยมีสองทางเลือก นั่นคือไม่ก่อหนี้เพิ่ม หรือก่อหนี้แต่ทำให้ GDP โตเร็วกว่าหนี้ ซึ่งไม่ว่าจะเลือกทางใดก็จำเป็นต้องมีนโยบายที่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่ทำให้เศรษฐกิจเติบโต พรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจค่อนข้างมาก โดยเฉพาะนโยบายการลงทุนเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในอนาคต สร้างประเทศด้วยการสร้างโครงสร้างทางเศรษฐกิจ กล่าวโดยสรุป เพื่อไทยไม่ได้ปฏิเสธการสร้างหนี้ แต่หนี้นั้นต้องทำให้ GDP โตเร็ว

ด้านหนี้ครัวเรือน เผ่าภูมิมองว่าเป็นอันตรายกว่าหนี้สาธารณะ ทั้งนี้ หนี้ครัวเรือนนั้นเกิดขึ้นเพราะรายได้ครัวเรือนน้อยกว่ารายจ่าย จึงควรยกระดับรายได้ของประชาชนในทุกภาคส่วนและเข้าไปแก้ไขหนี้ โดยเสนอให้มีการพักหนี้ SMEs ที่เกิดจากโควิด-19 เป็นระยะเวลา 1 ปี และพักหนี้การเกษตรอีก 3 ปี แม้นักวิชาการหลายคนอาจไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ แต่นอกจากหลักคิดด้านเศรษฐศาสตร์แล้ว เราควรใช้มนุษยศาสตร์ในการแก้ปัญหานี้ด้วย เพราะหากไม่ได้รับการปลดหนี้ เกษตรกรจะเดือดร้อนจนเดินหน้าต่อไม่ได้ พรรคยืนยันว่าการพักหนี้จึงเป็นสิ่งจำเป็นมาก โดยควรเป็นการพักหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย เมื่อเริ่มยืนได้แล้ว ขั้นต่อไปจึงเป็นการเติมทุน

ด้าน สุพันธุ์ มงคลสุธี จากพรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่าไม่ขัดข้องหากหนี้สาธารณะสูง แล้วทำให้ GDP โตขึ้น แต่ปัจจุบันหนี้สาธารณะไทยไม่ได้มีลักษณะเช่นนั้น เรากู้ยืมเพื่อจะพัฒนาประเทศ แต่เศรษฐกิจไม่ได้ดีขึ้น ประชาชนยังยากจน หนี้ครัวเรือนสูงอีกเป็นประวัติการณ์

สำหรับหนี้ครัวเรือน สุพันธ์เห็นว่า เป็นปัญหาที่ต้องการแก้ไขโดยเร็ว แต่การแก้ไขด้วยการยกเลิกเครดิตบูโร แล้วทำระบบคะแนนเครดิต (credit scoring) เป็นการแก้ปัญหาที่ช้าและไม่ทันการ พรรคไทยสร้างไทยเสนอว่า ลูกหนี้กว่า 3.2 ล้านคนที่มีหนี้อยู่ประมาณ 4-5 แสนล้าน และติดเครดิตบูโรช่วงโควิดต้องได้รับการปลดปล่อย จึงเสนอเสนอนโยบายชำระดอกเบี้ย ซึ่งใช้งบประมาณ 20,000 ล้านบาท เพื่อให้คนกลุ่มนี้หลุดจากเครดิตบูโรและเอาทรัพย์สินไปบริหารต่อได้ ส่วนหนี้นอกระบบ พรรคไทยสร้างไทยมีนโยบายเงินด่วนประชาชน สร้างขึ้นมาแข่งกับเงินด่วนนอกระบบ ให้กู้ได้ตั้งแต่ 5,000-50,000 ในอัตราดอกเบี้ยเพียง 1% ต่อเดือน หากมีวินัยในการชำระหนี้จะค่อยๆ เพิ่มวงเงินให้ นโยบายเหล่านี้จะเอื้อให้คนตัวเล็กสามารถสร้างธุรกิจเล็กๆ ของตัวเองและมีมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ ไทยสร้างไทยยังมองไปถึงกลุ่ม SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากช่วงโควิด โดยเสนอให้ยกเว้นการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 3 ปี แต่ต้องเข้าสู่ระบบ e-tax invoice เพื่อให้สามารถกู้เงินได้ง่ายขึ้นในโอกาสต่อๆ ไปจนอยู่ในจุดที่บริษัทสามารถเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ได้

พิสิฐ ลี้อาธรรม ตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์ ชี้ให้เห็นว่า อีกไม่กี่ปีประเทศไทยจะมีปัญหาเรื่องหนี้สาธารณะ สิ่งที่ต้องคำนึงคือ ที่ผ่านมานั้น เมื่อเกิดปัญหาใดก็ตามรัฐบาลจะออก พ.ร.บ. กู้เงินสร้างหนี้จนขาดทุนอยู่เสมอ ดังนั้น รัฐต้องเปลี่ยนวิธีคิด โดยเสนอว่าต้องมีแผนการลดหนี้และทำให้ระบบงบประมาณเข้าสู่สภาวะสมดุลที่สุดให้ได้

สำหรับหนี้ครัวเรือน พิสิฐชี้ให้เห็นว่าปัญหาใหญ่คือ GDP โตช้า หลายคนขัดสนเรื่องรายได้จึงต้องไปสร้างหนี้ ดังนั้นต้องทำให้ ‘เค้ก’ มีชิ้นใหญ่ขึ้น โดยการอัดฉีดเงินเพื่อให้เศรษฐกิจโต นอกจากนี้ยังชี้ว่าเงินทุนสำรองเลี้ยงชีพไปล็อกเงินกว่า 400,000 ล้านบาทจากประชาชน ทำให้คนจนขยับตัวไม่ได้ทั้งที่มีหนี้สิน รัฐต้องหาทางปลดล็อกให้ประชาชนนำเงินก้อนนี้มาบริหารได้เอง จึงเสนอให้มีการตั้งระบบธนาคารหมู่บ้านเพื่อให้เงินสะพัดในกลุ่มคนรากหญ้า เพื่อปลดล็อกเรื่องข้อจำกัดทางการเงินของผู้คน นอกจากนี้ พรรคประชาธิปัตย์ยังผลักดันกฎหมายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ให้ลูกจ้างสามารถออมในรูปแบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ ซึ่งปัจจุบันค้างอยู่ในสภามาเป็นปีแล้ว หากกฎหมายนี้ผ่านก็จะช่วยให้คนไทยสบายในยามชรา ทุกวันนี้ประเทศไทยมีคนวัยเกษียณปีละประมาณหนึ่งล้านคน ซึ่งขาดโอกาสที่จะมีรายได้ ประชาธิปัตย์จะผลักดันกฎหมายให้การทำงานขึ้นอยู่กับสภาวะของร่างกายแต่ละคนซึ่งได้รับการตรวจโดยแพทย์ มากกว่าจะให้อายุเป็นตัวกำหนด นี่เป็นอีกวิธีปลดล็อกหนี้สาธารณะที่ต้องจ่ายให้คนชราได้ด้วย

นโยบายแก้ความเหลื่อมล้ำ การพัฒนาเศรษฐกิจในภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม

ปัจจุบัน รัฐไทยใช้จ่ายในนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรผ่านระบบเงินอุดหนุนทั้งด้านราคาและด้านรายได้ เฉลี่ยปีละ 1.5 แสนล้านบาท และ 3 ปีที่ผ่านมามีหนี้เงินกู้สะสมเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2.4 แสนล้านบาท งานวิจัยของ 101 PUB พบว่า นโยบายที่ผ่านมามีลักษณะ “ยิ่งช่วย ยิ่งจน ยิ่งจมในกับดัก ยิ่งเหลื่อมล้ำ ยิ่งไม่ตอบโจทย์อนาคต” เช่น ระบบเงินอุดหนุนราคาสินค้าเกษตรเข้ากระเป๋าครัวเรือนเกษตรกรกลุ่มบนรายใหญ่ที่สุด 57.4-68.7% ส่วนกลุ่มครัวเรือนกลุ่มล่างรายเล็กที่สุดได้ประโยชน์ 1.8-2.5% เท่านั้น

เมื่อหันมาดูที่ภาคอุตสาหกรรม การจ้างงานที่มีคุณค่าและความหมาย (decent work) ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นในการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจไทยให้แข่งขันได้มากขึ้น ยังเป็นปัญหาใหญ่ ที่ผ่านมา เราใช้เงินไปกับมาตรการ BOI กว่า 200,000 ล้านบาทต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ยังสร้างงานได้ไม่มากและสร้างได้น้อยลงเรื่อยๆ งานวิจัยของ 101 Pub ชี้ว่าภาครัฐต้องสูญเสียรายได้ภาษีถึง 2 ล้านบาท เพื่อสร้างงาน 1 ตำแหน่ง เกือบทั้งหมดยังเป็นงานที่ไม่ได้ใช้ทักษะสูง และไม่ค่อยก่อให้เกิดนวัตกรรมภายในประเทศอีกด้วย

ทั้ง 5 พรรคการเมืองนำเสนอนโยบายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้แข่งขันได้และเหลื่อมล้ำน้อยลงอย่างไร และหน้าตาของนโยบายภาคเกษตรและอุตสาหกรรมของแต่ละพรรคมีหน้าตาเป็นอย่างไร?

พิสิฐ ลี้อาธรรม ตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์ มองว่าเกษตรกรไทยมีอายุมากขึ้น สิ่งที่ต้องดูแลคือทำอย่างไรให้มีเกษตรกรรุ่นใหม่ที่เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาในภาคเกษตรกรรม โดยเฉพาะเรื่องที่ดินทำกิน ทางออกหนึ่งคือการดูแลให้มีธนาคารหมู่บ้านหรือกองทุน SMEs เพื่อแก้ไขปัญหาการเข้าไม่ถึงทุนของคนรุ่นใหม่หรือคนตัวเล็กตัวน้อย นอกจากนี้ พิสิฐยังยืนยันว่า นโยบายประกันรายได้ของพรรคประชาธิปัตย์เป็นนโยบายที่ดี เพราะตลอดสี่ปีได้ช่วยเกษตรกรราวแปดล้านครัวเรือนให้ลืมตาอ้าปากและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้ ซึ่งสะท้อนจากการที่เกษตรกรไม่เคยมาเดินขบวนประท้วงรัฐบาลเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีตเลย ดังนั้น ประชาธิปัตย์จึงยืนยันเดินหน้าต่อในการดูแลเกษตรกรรายย่อย

สำหรับภาคอุตสาหกรรม พิสิฐมองว่า ปัญหาที่กังวลประการหนึ่งคือปัญหาโลกรวน ประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐฯ หรือหลายประเทศในยุโรปต่างออกกฎหมายให้มีการผลิตภายในมากขึ้น เนื่องจากบางประเทศที่เคยเป็นพื้นที่การผลิตอาจยังไม่มีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมหรือการจัดการคาร์บอนฟุตปรินต์ (carbon footprint หมายถึงปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์) ที่แน่ชัด ดังนั้น อุตสาหกรรมไทยจึงต้องดูแลเรื่องพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อมด้วย อีกความเปลี่ยนแปลงที่ต้องให้ความสำคัญคือการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล อุตสาหกรรมไทยต้องเปลี่ยนให้เป็นระบบอัตโนมัติให้หมด ภาคอุตสาหกรรมเองต้องเร่งปรับปรุงประสิทธิภาพและต้องเพิ่มทักษะให้แรงงานเข้าใจดิจิทัลมากขึ้นด้วย พิสิฐทิ้งท้ายว่าตั้งความหวังให้เศรษฐกิจไทยโตอย่างน้อยปีละ 5% เพื่อให้ประชาชนมีงานและเงิน โดยจะทำให้เป็นจริงได้ผ่านการอัดฉีดเงินจำนวน 1 ล้านล้านบาทเข้าระบบผ่านช่องทางต่างๆ

เผ่าภูมิ โรจนสกุล จากพรรคเพื่อไทย มองว่าการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ยั่งยืนที่สุดคือ การให้คนเข้าถึงระบบการศึกษา เพื่อไทยจึงมีนโยบาย learn to earn เพื่อให้ผู้คนเข้าถึงการศึกษาได้อย่างถ้วนหน้า ด้านนโยบายการเกษตรต้องมองประกอบทั้งสี่ด้าน คือเรื่องราคา ผลิตภาพ ผลผลิตและต้นทุน โดยเฉพาะมิติด้านราคา ที่สามารถยกระดับได้ด้วยการจับคู่อุปสงค์และอุปทานในตลาด หลักการของเพื่อไทยคือใช้การตลาดนำการผลิต คิดเสียว่าภาครัฐคือโปรดิวเซอร์ที่มองภาพใหญ่ว่าเราต้องผลิตอะไร แล้วใช้งบประมาณ สร้างแรงจูงใจให้เกิดการผลิตที่สอดคล้องกับการตลาด

นโยบายต่อภาคอุตสาหกรรม เผ่าภูมิระบุว่า 8 ปีที่ผ่านมานั้น ไทยพลาดที่ดึงดูด FDI เข้ามาขณะที่มี SMEs ในภาคการผลิตเพียง 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น โจทย์หลักคือการเปิดเขตธุรกิจใหม่ 4 แห่ง และก้าวไปสู่สังคมยุคเศรษฐกิจดิจิทัลซึ่งพรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญสูงสุด สิ่งสำคัญคือต้องไม่รอให้โอกาสเข้ามาหรือเป็นฝ่ายตั้งรับให้คนมาลงทุนเพียงอย่างเดียว แต่จะตั้งเขตธุรกิจใหม่ (new business zone) เป็นการทำงานเชิงรุกเพื่อดึงดูดการลงทุน เวลานี้เราเห็นความอลหม่านของห่วงโซ่อุปทานโลก (global supply chain) อีกทั้ง 8 ปีที่ผ่านมาเราดึงดูด FDI เข้ามาแต่ไม่ได้เอามาเชื่อมกับ SMEs ภาคการผลิต และตลาดแรงงานภายในประเทศเราจึงต้องเชื่อมโยง FDI เข้ากับการจ้างงานในประเทศให้มากขึ้น อีกอุตสาหกรรมที่เพื่อไทยอยากผลักดันคือ นโยบายการสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งสอดคล้องกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นความสนใจของโลก แม้ไทยจะไม่มีแหล่งแร่ แต่ก็มี supply chain ของตลาดยานยนต์ที่เป็นข้อได้เปรียบอยู่มาก ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องทำคือกระตุ้นให้เกิดอุปสงค์และเพิ่มการตลาดในประเทศให้ได้ ก่อนจะเชื่อมต่อกับตลาดโลก ทำให้การนำเข้าแบตเตอรีถูกขึ้น หรือก็คือประเทศไทยต้องชิงความได้เปรียบด้านอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ก่อน

อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี จากพรรคชาติพัฒนากล้า เสนอว่าเกษตรไทยต้องเดินหน้าสู่เกษตรแปรรูปและเป็นเกษตรอุตสาหกรรม ซึ่งการจะทำให้เกิดเกษตรแปรรูป ต้องทำให้สหกรณ์เข้มแข็ง โดยการแปลงให้เป็นบริษัทมหาชน กล่าวคือเป็นสหกรณ์มหาชน เช่น ในนิวซีแลนด์ มี Fonterra ซึ่งเป็นการรวมอุตสาหกรรมนมทั้งหมด เมื่อรวมสหกรณ์หลายที่เข้าด้วยกันแล้วเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ เกษตรกรจะมีผู้ร่วมลงทุนใหม่เกิดขึ้น เกษตรกรยังสามารถขายหุ้นที่ถืออยู่ได้ อรรถวิชช์กล่าวว่าถ้าจะสู้กับนายทุน เราต้องเป็นนายทุน นี่คือระบบการแข่งขันแบบชาติพัฒนากล้า สิ่งหนึ่งที่สำคัญกับเกษตรไทยคือการพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตร พัฒนาให้มีระบบฐานข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับเกษตร เช่น เวลาเปิด-ปิดน้ำ สูตรผสมปุ๋ย แจ้งเตือนภัย

อรรถวิชช์มองว่าที่ผ่านมาโครงการจำนำข้าวและประกันรายได้ไม่ใช่การแก้ปัญหา เพราะไม่ได้เข้าไปแก้ไขกลไกที่เป็นปัญหา ดังนั้นการเอาสหกรณ์เข้าไประดมทุนที่ตลาดหลักทรัพย์ทำให้เกษตรกรมีโอกาสถือหุ้นที่จะเติบโตไปพร้อมนักอุตสาหกรรมได้ ซึ่งแนวทางเช่นนี้สอดคล้องกับนโยบายของชาติพัฒนากล้าตั้งอยู่บนแนวทางแบบพรรคเสรีนิยมประชาธิปไตยที่มุ่งไปสู่ตลาดแข่งขันสมบูรณ์ ไม่ใช่แนวทางประชานิยม

สุพันธ์ มงคลสุธี พรรคไทยสร้างไทย เสนอให้สร้างแต้มต่อให้อุตสาหกรรมไทย ด้วยการสร้างคลัสเตอร์ให้ SMEs โดยมีหน่วยงานเฉพาะที่คอยหนุนเสริมอุตสาหกรรมภายใน Cluster นั้นด้วย เช่น แผนกตรวจสอบมาตรฐาน แผนกการวิจัยและพัฒนา (research and development: R&D) หน่วยงานที่ดูแลเรื่องการขนส่ง ทั้งนี้ ไทยควรสร้างคลัสเตอร์อุตสาหกรรมขนาดกลางและเล็กให้แข็งแกร่ง เมื่อนักลงทุนต่างชาติเข้ามาจะได้มีพื้นที่แสดงสินค้าและศักยภาพการผลิต  นอกจากนี้พรรคไทยสร้างไทยยังผลักดันให้ SMEs มีแต้มต่อในการเข้าขอ BOI ได้ง่ายขึ้น และในจำนวนปีที่มากขึ้น ทุกองคาพยพต้องช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมไทยไปไกลสู่ตลาดโลก  

ด้านการเกษตร มีแนวทางคล้ายกับภาคอุตสาหกรรมคือให้มีการจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (zoning) ว่าพื้นที่ไหนปลูกอะไรได้มีประสิทธิภาพที่สุด เพื่อให้รัฐสามารถให้การสนับสนุนพุ่งเป้าไปที่พื้นที่นั้นๆ ได้ วันนี้เรามีดาวเทียมซึ่งสามารถดูได้ว่าส่วนไหนอยู่ตรงไหน ควรนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ เราจะได้ให้ความช่วยเหลือถูก เจาะจงมาที่การผลิตข้าว ไทยสร้างไทยเสนอ ‘นโยบายเกษตรแม่นยำ’ สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นและระบบชลประทานให้พร้อม ควบคุมพื้นที่ เวลา และจำนวนการเพาะปลูกให้เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภค อีกทั้งมุ่งสู่การเป็นเกษตรแปรรูป สิ่งสำคัญคือการหาตลาดให้กับเกษตรกร เสริมพลังให้ถาคเกษตรชนกับภาคอุตสาหกรรมได้ เราอาจมองไกลได้มากกว่านั้นคือการร่วมมือกับสหกรณ์การเกษตรประเทศต่างๆ ในการกำหนดราคาสินค้าเกษตร สุพันธุ์ปิดท้ายด้วยการเน้นย้ำถึงจุดยืนของพรรคที่มุ่งสร้างแต้มต่อให้คนตัวเล็กในทุกภาคส่วน

ศิริกัญญา ตันสกุล กล่าวว่า พรรคก้าวไกลมีนโยบาย ‘หยุดแช่แข็งชนบทไทย’ ที่ขจัดวิถีเดิมที่ครอบครัวใดอยู่ในภาคเกษตรก็ควรจะต้องทำเกษตรกันไปชั่วลูกชั่วหลาน การหยุดแช่แข็งนี้ทำได้ผ่านการปลดล็อกหนี้สินให้เกษตรกรมีทางเลือกที่จะออก (option to exit) ที่ผ่านมาแทนที่นโยบายรัฐจะปูทางให้คนเลือกออกจากภาคเกษตรได้ แต่กลับยิ่งดึงดูดเข้าสู่ภาคเกษตรมากขึ้น เห็นได้จากจำนวนเกษตรกรที่มาลงทะเบียนโครงการประกันรายได้ นอกจากนี้พรรคก้าวไกลจะผลักดันให้เกษตรกรที่ผลิตในแบบดั้งเดิมเปลี่ยนมาขายสินค้าแปรรูปในตลาดที่แข่งขันได้มากขึ้น เช่น มีความพยายามผลักดัน พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ที่จะช่วยปลดล็อกหนทางเพิ่มมูลค่าให้เกษตรกรได้ ด้านการแปรรูปขั้นสูง จำเป็นที่จะต้องมีการสนับสนุนเม็ดเงินลงไปในแต่ละท้องถิ่น ซึ่งมีความต้องการแตกต่างกันไป รวมถึงการสร้างกลไกที่สามารถดึงเอาอุปทานส่วนเกินออกในระยะสั้นๆ ได้ เพื่อยกระดับราคาให้สูงขึ้น รวมไปถึงการสนับสนุนตลาดท้องถิ่น เช่น การจัดซื้อข้าวหรือผักสำหรับหน่วยงานภาครัฐ นโยบายเหล่านี้จะเป็นกลไกให้เกษตรกรสามารถลืมตาอ้าปากได้

ส่วนนโยบายอุตสาหกรรม ปัจจุบันความสามารถในการแข่งขันของไทยกำลังลดลงเรื่อยๆ เห็นได้จากการควบรวม และการย้ายฐานการลงทุน จากนี้ไปไทยจำเป็นต้องดึงดูด FDI โดยมีกลยุทธ์แบบพุ่งเป้ามากขึ้น ไม่ใช่แจกแบบหว่านแหเหมือนที่ผ่านมา ดังที่งานวิจัยของ 101 PUB เผยให้เห็นว่าการลดหย่อนภาษีของ BOI แบบที่ผ่านมานั้นหมดไปโดยสิ้นเปลือง ไทยต้องปรับกลยุทธ์ให้เฉพาะเจาะจงไปที่อุตสาหกรรมที่อยากดึงดูด และสร้างเงื่อนไขว่าต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยี ประโยชน์จึงจะตกมาถึงอุตสาหกรรมไทยอย่างทั่วถึง ศิริกัญญาทิ้งท้ายว่านโยบายเศรษฐกิจปากท้องของพรรคก้าวไกลมีเป้าหมายคือการพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างเป็นธรรมและมีการกระจายความมั่งคั่งให้ทุกคนในประเทศ

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save