fbpx
แม่น้ำ 5 สายของเศรษฐศาสตร์การเมืองยุคใหม่

แม่น้ำ 5 สายของเศรษฐศาสตร์การเมืองยุคใหม่

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เรื่อง

ผมมีโอกาสไล่เรียงดูหนังสือเศรษฐศาสตร์การเมืองที่เพิ่งตีพิมพ์ใหม่ในโลกภาษาอังกฤษ เพื่อติดตามว่างานแนวนี้กำลังมุ่งไปในทิศทางไหนบ้าง

ด้วยอัตวิสัยส่วนตัว พบว่าเราอาจแบ่งคร่าวๆ ได้เป็น 5 แนวทางที่น่าสนใจ คือ ค้นนักคิดร่วมสมัยสืบการเคลื่อนไหวของกระบวนทัศน์หาคำอธิบายอันเจนจัดประเมินนโยบายกับการวัดส่องอุปสรรคข้องขัดในความจริง

ขอนำมาสรุปแบ่งปันไว้ที่นี้ เผื่อจะเป็นประโยชน์กับนักศึกษาหรือนักวิจัยที่กำลังมองหาหัวข้อค้นคว้าใหม่ๆ และผู้ที่สนใจติดตามความเป็นไปในแวดวงเศรษฐศาสตร์การเมือง

1. ค้นนักคิดร่วมสมัย

ถึงแม้งานศึกษานักคิดระดับโลกจะไม่เคยล้าสมัย แต่ความสนใจส่วนใหญ่มักมุ่งไปที่นักคิดยุคคลาสสิกที่ฝากผลงานไว้เมื่อหลายศตวรรษก่อน ไม่ว่าจะเป็น อดัม สมิธ คาร์ล มาร์กซ์ หรือ ฟรีดริช ไฮเอค

อย่างไรก็ดี ยังมีนักคิดร่วมสมัยอีกจำนวนมากที่สร้างคุณูปการใหม่ๆ ให้กับแวดวงเศรษฐศาสตร์การเมืองและสังคมศาสตร์โดยรวม เช่น ดักกลาส นอร์ธ นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลที่ได้รับการยกย่องเป็นผู้ก่อตั้งสำนักสถาบันใหม่

ดักกลาส นอร์ธ

Institutions, Property Rights, and Economic Growth: The Legacy of Douglass North ออกมาในเวลาใกล้เคียงกับที่นอร์ธจากโลกไปด้วยวัย 95 ปี โดยหนังสือพาเราไปสำรวจเส้นทางความคิดของนอร์ธและกิ่งก้านงานวิชาการที่แตกหน่อออกไป

นอร์ธสนใจศึกษาปัญหาโลกแตกที่ว่าทำไมมีเพียงบางประเทศเท่านั้นที่ร่ำรวย ในขณะที่ประเทศส่วนใหญ่กลับยากจน และเสนอให้ “ปัจจัยทางสถาบัน” หรือกฎกติกาทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ กลับมาเป็นศูนย์กลางคำตอบอีกครั้งในห้วงเวลาที่ผู้คนเริ่มไม่เชื่อมั่นทั้งในกลไกตลาดและรัฐบาล

งานยุคแรกของนอร์ธให้ความสำคัญกับ สิทธิในทรัพย์สิน (property rights) ในฐานะกลไกทางสถาบันที่ทำให้ประเทศตะวันตกเติบโตได้ดีในระยะยาว สำนักสถาบันใหม่ที่นำโดยนอร์ธเริ่มมีอิทธิพลต่อธนาคารโลกและหน่วยงานระหว่างประเทศตั้งแต่กลางทศวรรษ 1990

แต่งานระยะหลังของเขามองสถาบันไปไกลกว่านั้น โดยมองว่าโครงสร้างทางการเมืองและเศรษฐกิจที่แตกต่างกันในแต่ละสังคมเกิดจากรูปแบบเฉพาะตัวที่สังคมนั้นใช้จัดการความรุนแรงที่ปะทุขึ้น หากในหมู่ชนชั้นนำเองไม่สามารถสร้าง rule of law ระหว่างกันได้ก่อน (เลิกฆ่าล้างตระกูลหรือล้มกระดานเวลาไม่พอใจกัน) ก็ยากที่สังคมจะมีกติกาและแรงจูงในการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

งานของนอร์ธจึงมีวิวัฒนาการหลายระลอก เปิดประเด็นวิจัยใหม่มหาศาล แต่ก็ถูกโต้แย้งและทดสอบด้วยข้อมูลจากหลายประเทศทั่วโลก การศึกษาความคิดของนอร์ธและอนุสนธิจากความคิดของเขาจึงเปี่ยมคุณค่าทั้งในเชิงประวัติศาสตร์ของทฤษฎีและผลกระทบที่เกิดขึ้นในโลกแห่งความจริง

ยังมีนักคิดร่วมสมัยอีกจำนวนมากที่รอให้เราเข้าไปศึกษาค้นคว้าทั้งในแง่ที่มาที่ไป รวมถึงบริบทและสาแหรกแห่งประวัติศาสตร์ที่รายล้อมความคิดชุดนั้น

งานวิชาการที่ไร้ข้อติฉินย่อมตายตามผู้คิดไป งานวิชาการจะมีชีวิต งอกเงย และผลิบานได้ก็ต่อเมื่อถูกนำไปต่อยอดและวิพากษ์วิจารณ์ด้วยมุมมองและข้อเท็จจริงใหม่ๆ

2. สืบการเคลื่อนไหวของกระบวนทัศน์

ความคิดทางวิชาการจำนวนมากไม่ได้ถูกจองจำอยู่บนหอคอยงาช้างเหมือนที่มักถูกปรามาส ดังที่ จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ เคยกล่าวไว้ว่า “ความคิดของนักเศรษฐศาสตร์และนักปรัชญานั้น ไม่ว่าจะถูกหรือผิดก็มีพลังมากกว่าที่คนส่วนใหญ่ตระหนักกัน บรรดานักปฏิบัติที่เชื่อว่าตัวเองไม่ได้รับอิทธิพลจากใครเลยนั้น แท้จริงแล้วก็เป็นทาสความคิดของนักเศรษฐศาสตร์ที่ตายไปแล้ว”

งานศึกษาที่น่าสนใจอีกสายหนึ่งของเศรษฐศาสตร์การเมืองคือการสืบเสาะว่า ความคิดชุดหนึ่งผงาดขึ้นมามีอิทธิพลในสาธารณะได้อย่างไรและนำพาสังคมไปในทิศทางใด

 

The Institutionalist Movement in American Economics, 1918–1947: Science and Social Control

ตัวอย่างเช่น The Institutionalist Movement in American Economics, 1918–1947: Science and Social Control ที่พาเราย้อนเวลากลับไปดูบทบาทของเศรษฐศาสตร์สถาบันที่มีอิทธิพลต่อการเมืองสหรัฐอเมริกาในช่วงระหว่างสงครามโลกทั้งสองครั้ง

ก่อนจะมีเศรษฐศาสตร์สถาบันใหม่ของนอร์ธ สำนักสถาบันถือกำเนิดขึ้นแล้วก่อนหน้าตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 หลายคนขนานนามว่าเป็น “สถาบันเก่า” หรือ “สถาบันแบบดั้งเดิม

สำนักสถาบันเก่าเห็นว่ามนุษย์มีแรงจูงใจหลายระดับ และได้รับอิทธิพลจากสภาพแวดล้อมโดยเฉพาะค่านิยม จารีต และกฎระเบียบ นักคิดสายสถาบันรวมตัวกันอย่างแข็งขัน มีเวทีสัมมนาและโครงการวิจัยต่อเนื่อง พวกเขาให้ความสำคัญกับการจัดการทางสังคมอย่างเป็น “วิทยาศาสตร์” เพื่อปรับพฤติกรรมของผู้คน องค์กรธุรกิจ และตลาด

หลายคนคิดว่าเคนส์มีบทบาทสำคัญในการแก้มหาวิกฤตเศรษฐกิจแห่งทศวรรษ 1930 (Great Depression) แต่แท้จริงแล้ว เศรษฐศาสตร์สถาบันเก่าต่างหากที่เป็นแกนกลางในการออกแบบนโยบาย “นิวดีล” ที่ปฏิรูปกฎหมายการเงินและระบบประกันสังคมของสหรัฐฯ ขนานใหญ่

ในขณะที่งานศึกษาสายแรกเน้นที่ตัวนักคิด งานสายที่สองนี้จะมุ่งไปที่ตัวกระบวนทัศน์เป็นหลัก

เราสามารถนำคำถามเดียวกันนี้ไปสืบเสาะแนวคิดอื่นๆ เช่น เศรษฐศาสตร์สำนักออสเตรีย ชุมเพเทอร์ หรือพฤติกรรม ที่ต่างมีทศวรรษของตัวเองในเวทีสาธารณะทั้งสิ้น

น่าสนใจว่าแต่ละแนวคิดเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปอย่างไร ทั้งในระดับโลกและระดับประเทศ

3. หาคำอธิบายอันเจนจัด

แม้งานสายที่หนึ่งและสองจะมีจุดเน้นต่างกัน แต่ก็เป็นการศึกษาเชิงประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ ซึ่งมีจุดเด่นอยู่ที่การแสวงหาหลักฐานรอบด้านและการตีความแบบใหม่

งานสายที่สามจะมีจุดเน้นอยู่ที่การเสนอคำอธิบายที่ดีขึ้นให้กับโจทย์เศรษฐศาสตร์การเมือง เพื่อโต้แย้งข้อเสนอเก่าๆ ที่มีอิทธิพลอยู่ในปัจจุบัน

Deals and Development: The Political Dynamics of Growth Episodes

ตัวอย่างเช่น Deals and Development: The Political Dynamics of Growth Episodes ที่ผู้เขียนเริ่มต้นด้วยข้อสังเกตว่า งานศึกษาการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่มาผิดทาง เพราะล้วนวางอยู่บนสมมติฐานว่าประเทศเหล่านี้มีการเติบโตที่คงเส้นคงวา (ไม่ว่าจะโตช้าหรือโตเร็วก็ตาม)

แต่ข้อมูลเชิงประจักษ์แสดงให้เห็นว่า ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ล้วนเคยมีช่วงเวลาที่เติบโตสูงทั้งสิ้น ปัญหาหลักอยู่ที่ ความผันผวน มากกว่า เพราะไม่สามารถรักษาอัตราการเติบโตให้ต่อเนื่องได้ เราจึงควรแยกคำอธิบายสำหรับช่วงเติบโตกับช่วงถดถอยออกจากกัน เพราะเกิดจากปัจจัยคนละชุด

ผู้เขียนเสนอคำอธิบายชุดใหม่ที่วางอยู่บนตัวแปรหลักสามตัว คือ ดุลยภาพทางการเมือง (political settlement) โครงสร้างการแสวงหากำไรในระบบเศรษฐกิจ (rents space) และ รูปแบบการต่อรองในสังคม (deals space)

หนังสือนำข้อเสนอดังกล่าวไปอธิบายความผันผวนทางเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบังกลาเทศ อินเดีย รวันดา ไลบีเรีย กานา มาเลเซีย รวมถึงประเทศไทยด้วย

นี่เป็นข้อเสนอที่ซับซ้อนกว่างานเศรษฐศาสตร์ในอดีตที่เคยชู เงินทุน เทคโนโลยี การศึกษา หรือนวัตกรรม ให้เป็น “ซูเปอร์ฮีโร่” ที่จะพาประเทศยากจนก้าวกระโดดไปสู่ความร่ำรวย

วิธีคิดที่ลดทอนความจริงและทิ้งปัจจัยการเมืองไว้เบื้องหลังค่อยๆ หมดพลังไป แต่ทฤษฎีใหม่นี้จะเป็นจริงและทรงพลังได้เพียงไหนก็ยังต้องรอเวลาพิสูจน์ตัวเองเช่นกัน

ในฐานะนักเรียนเศรษฐศาสตร์การเมือง ข้อเสนอเช่นนี้สร้างความตื่นเต้นและกระตุ้นให้เราคิดอะไรต่อได้อีกหลายอย่าง

ที่สำคัญที่สุดก็คือ งานสายนี้ชวนเราแสวงหาวิธีการและข้อมูลใหม่ เพื่อตอบคำถามเก่าแก่อย่างการพัฒนาเศรษฐกิจให้คมขึ้น ชัดขึ้น และลึกขึ้น

4. ประเมินนโยบายกับการวัด

ในโลกธรรมชาติ ผู้คนจะเชื่อว่าโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์หรือไม่ก็ไม่สำคัญ เพราะโลกก็หมุนเช่นนั้นอยู่ดี

แต่ในโลกเศรษฐกิจ หากผู้คนเปลี่ยนความคิดเมื่อใด โลกเศรษฐกิจย่อมเปลี่ยนตามไปด้วย

หากผู้ฝากเงินเชื่อว่าธนาคารหนึ่งจะล้มละลายแล้วแห่กันไปถอนเงิน ธนาคารนั้นย่อมล้มละลายในที่สุด แม้ว่าความเชื่อแรกจะเป็นเท็จก็ตาม

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่มีทฤษฏีเศรษฐศาสตร์ใดที่เป็นสัจนิรันดร์ เพราะมนุษย์ไม่ใช่โมเลกุล และสังคมไม่เคยหยุดนิ่ง นโยบายที่เคยได้ผลในสังคมหนึ่ง ณ เวลาหนึ่ง จึงอาจล้มเหลวหรือก่อหายนะได้เมื่อเวลาเปลี่ยนไป การตรวจสอบและปรับปรุงนโยบายเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องจึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่งยวด

Macroeconomic Paradigms and Economic Policy: From the Great Depression to the Great Recession

หนังสือเช่น Macroeconomic Paradigms and Economic Policy: From the Great Depression to the Great Recession เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจของงานสายนี้

ผู้เขียนพาเราออกไปท่องโลกเศรษฐกิจมหภาค ผ่านการต่อสู้แพ้ชนะระหว่างนักคิดนักนโยบายสายตลาดเสรีกับสายล้วงลูก ทั้งยังวิพากษ์การวัดและประเมินผลของนโยบายผ่านกรณีศึกษาประเทศต่างๆ

นโยบายที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ต่างเป็นมรดกตกทอดที่ต่อยอดมาจากนักคิดในอดีต เช่น ข้อเสนอเชิงนโยบายของเคนส์ที่เคยใช้ได้เมื่อกลางศตวรรษก่อน ก็ได้รับการปรับปรุงใหม่ให้เป็นสำนัก New Keynesian ที่สนใจการแข่งขันไม่สมบูรณ์ด้านราคาและค่าจ้าง

มาตรการรัดเข็มขัด (austerity) ที่เคยเป็นเครื่องมือหลักในการแก้วิกฤตเศรษฐกิจสูญเสียเครดิตไปมากหลังวิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ การกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อ (inflation targeting) ที่ประเทศกำลังพัฒนาได้รับคำแนะนำให้วางเป็นเป้าหมายหลักเริ่มถูกตั้งคำถามมากขึ้น

เราจึงต้องหมั่นตรวจสอบทั้งในระดับกระบวนทัศน์และรายละเอียดว่า การขาดดุลการคลังหรือเงินเฟ้อระดับใดกันแน่ที่จะเป็นอันตรายต่อประเทศ เมื่อพิจารณาประกอบกับตัวเลขอื่น เช่น การเติบโต การจ้างงาน ผลผลิต หรือการส่งออก

จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้อยู่ที่การนำเอาปัจจัยการเมืองเช่น บทบาทของสหภาพแรงงานกับการต่อรองค่าจ้าง เข้ามาใส่ในโมเดลเศรษฐศาสตร์เพื่อพิจารณานโยบายการเงินการคลังที่เหมาะสมด้วย ทั้งบอกเราว่านโยบายแต่ละชุดมีตำแหน่งแห่งที่อย่างไรในบริบทของเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศขณะนั้น

นี่เป็นอีกสายธารการศึกษาเศรษฐศาสตร์ที่น่าติดตามเพื่อถอดบทเรียนเชิงนโยบาย

5. ส่องอุปสรรคข้องขัดในความจริง

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าทฤษฎีจะแหลมคมหรือนโยบายจะถูกออกแบบอย่างละเอียดละออเพียงใด หนทางจากนโยบายสู่ผลลัพธ์ในสังคมก็ยังแสนไกลอยู่ดี งานเศรษฐศาสตร์การเมืองอีกสายหนึ่งจึงสนใจศึกษาปัญหาในทางปฏิบัติ

Understanding the Policymaking Process in Developing Countries

Understanding the Policymaking Process in Developing Countries เป็นหนังสือที่มุ่งหาคำตอบให้กับผู้กำหนดนโยบายและนักปฏิบัติ ว่าเหตุใดผลลัพธ์สุดท้ายมักคลาดเคลื่อนไปจากความคาดหวังแรกเริ่ม โดยเฉพาะในหมู่ประเทศกำลังพัฒนา

ผู้เขียนวิเคราะห์ปัญหาหลายระดับ ไล่เรียงมาตั้งแต่ (1) กระบวนการกำหนดนโยบาย (2) เนื้อหาของนโยบาย (3) พฤติกรรมของเจ้าหน้าที่รัฐ (4) แรงจูงใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และ (5) ความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานระดับชาติ–ระดับท้องถิ่น

งานประเมินผลนโยบายอาจมีอยู่แล้วเป็นจำนวนมากและถูกวิเคราะห์ด้วยศาสตร์อันหลากหลาย แต่กรอบเศรษฐศาสตร์การเมืองสามารถช่วยจัดวางประเด็นหลายอย่างให้คมชัดขึ้น

เช่นในหนังสือเล่มนี้ ที่ผู้เขียนไม่ได้มองการแก้ปัญหาสังคมเพียงระดับปัจเจกหรือความดีไม่ดีของนโยบาย แต่ให้ความสำคัญกับองค์ประกอบอื่นเช่น ความเข้ากันได้ทางการเมือง (political compatibility) ระหว่างตัวระบอบกับวิธีคิดเบื้องหลังนโยบาย รวมถึง ข้อจำกัดทางโครงสร้าง (structural constraints) เช่น ระบบราชการและความขัดแย้งในสังคม ที่ล้วนส่งผลต่อความสำเร็จของนโยบายทั้งทางตรงและทางอ้อม

งานสายที่ห้านี้จึงเป็นแนวทางที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่สงสัยว่าเหตุใดนโยบายที่ดีจำนวนมากกลับไม่ได้เปลี่ยนแปลงประเทศให้ก้าวหน้า หรือเหตุใดวิสัยทัศน์ที่สวยหรูบนกระดาษจึงมักเป็นฝันลมแล้ง

แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ เราจะแก้ไขต่อกรกับอุปสรรคเหล่านี้อย่างไร โดยใช้เศรษฐศาสตร์การเมืองเป็นทั้งแว่นตาในการประเมินสถานการณ์ และเป็นอาวุธในการต่อสู้กับปัญหา

ทั้งหมดนี้คือแม่น้ำห้าสายของเศรษฐศาสตร์การเมืองที่น่าจับตา ทั้งเพื่อการไล่กวดองค์ความรู้ใหม่ๆ ในโลกภาษาอังกฤษ และเพื่อนำมาพัฒนาต่อเติมสายธารเศรษฐศาสตร์การเมืองของไทยเองด้วย.

หมายเหตุ/ อ้างอิง

  • ตัวอย่างหนังสือข้างต้นเป็นการสุ่มด้วยอัตวิสัยส่วนตัวของผู้เขียนที่สนใจเศรษฐศาสตร์สำนักสถาบันเป็นหลัก ทั้งยังจำกัดในแง่สำนักพิมพ์ ยังมีหนังสืออีกมากของสำนักพิมพ์เช่น Verso, Polity, Anthem, Zed ที่ตีพิมพ์งานน่าสนใจจากหลากหลายกรอบ
  • Sebastián Galiani and Itai Sened (eds) Institutions, Property Rights, and Economic Growth: The Legacy of Douglass North. Cambridge University Press, 2014
  • Malcolm Rutherford. The Institutionalist Movement in American Economics, 1918–1947: Science and Social Control. Cambridge University Press, 2013
  • Lant Pritchett, Kunal Sen, and Eric Werker (eds) Deals and Development: The Political Dynamics of Growth Episodes. Oxford University Press, 2018.
  • Acocella, Nicola, Giovanni Di Bartolomeo, and Andrew Hughes Hallett. Macroeconomic Paradigms and Economic Policy: From the Great Depression to the Great Recession. Cambridge University Press, 2016.
  • Ascher, William. Understanding the Policymaking Process in Developing Countries. Cambridge University Press, 2017.

MOST READ

Political Economy

17 Aug 2023

มือที่มองไม่เห็นของ อดัม สมิธ: คำถามใหญ่ว่าด้วย ‘ธรรมชาติของมนุษย์’  

อั๊บ สิร นุกูลกิจ กะเทาะแนวคิด ‘มือที่มองไม่เห็น’ ของบิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์ อดัม สมิธ ซึ่งพบว่ายึดโยงถึงความเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์

อั๊บ สิร นุกูลกิจ

17 Aug 2023

Political Economy

12 Feb 2021

Marxism ตายแล้ว? : เราจะคืนชีพใหม่ให้ ‘มาร์กซ์’ ในศตวรรษที่ 21 ได้หรือไม่?

101 ถอดรหัสความคิดและมรดกของ ‘มาร์กซ์’ ผู้เสนอแนวคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ผ่าน 3 มุมมองจาก เกษียร เตชะพีระ, พิชิต ลิขิตสมบูรณ์ และสรวิศ ชัยนาม ในสรุปความจากงานเสวนา “อ่านมาร์กซ์ อ่านเศรษฐกิจการเมืองไทย” เพื่อหาคำตอบว่า มาร์กซ์คิดอะไร? มาร์กซ์ยังมีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 21 หรือไม่? และเราจะมองมาร์กซ์กับการเมืองไทยได้อย่างไรบ้าง

ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

12 Feb 2021

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save