fbpx
จิตใจอาวรณ์มาเล่าสู่กันฟัง

จิตใจอาวรณ์มาเล่าสู่กันฟัง

ราชอาณาจักรกรุงศรีอยุธยามีอายุยาวนาน 417 ปี การมีชีวิตที่ยืนยาวหมายถึงการผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านพบและผ่านพ้นเหตุการณ์มากมายนับไม่ถ้วน กรุงศรีอยุธยาจึงมีเรื่องราวให้ศึกษาหลายแง่มุม การค้นคว้าในแต่ละแบบต่างนำความโดดเด่นในแต่ละเรื่องแต่ละช่วงเวลาออกมา จนบ่อยครั้งความโดดเด่นเหล่านั้นถูกขับเน้นเสียจนแทบจะไม่เห็นภาพรวมหรือที่มาที่ไปของความเป็นอาณาจักร ประหนึ่งว่าถ้าหน้าชัดแล้ว หลังเบลอก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญ (ซึ่งถ้าไม่สำคัญจริง ทำไมปล่อยให้หลังชัดเท่าหน้าบ้างไม่ได้?)

ความหน้าชัดหลังเบลอนี้เองที่ทำให้ละเลยบางสิ่งที่ส่งภาพความคิดบางอย่างว่ากรุงศรีอยุธยานั้นลอยจากสวรรค์ลงมาเป็นพระนครเลย เปี่ยมบุญญาธิการแบบไม่ต้องมีที่มาที่ไป ทำให้กรุงศรีอยุธยามีแต่เรื่องราวน่าภาคภูมิใจ จนกลายเป็นความทะนงตน และท้ายที่สุดกลายเป็นประวัติศาสตร์ที่แตะต้องไม่ได้

ถ้าคุณอ่านมาถึงตรงนี้แล้วรู้สึกหงุดหงิด นั่นหมายความว่าบางสิ่งบางอย่างที่คุณเชื่อกำลังถูกท้าทาย

“เราตามลูกศรของเวลา “time’s arrow” ซึ่งวิ่งจากอดีตมาสู่ปัจจุบันเสมอ ไม่เคยย้อนกลับ เราเห็นว่าประวัติศาสตร์แบบชาตินิยมไม่ไปตามลูกศรของเวลา แต่เขียนกลับหัวกลับหาง เริ่มจากปัจจุบันเมื่อมีชาติและประเทศชาติแล้ว โคจรกลับเข้าอดีตเพื่อแสวงหารากเหง้าของชาติ ประเทศชาติ และส่วนประกอบอื่นๆ ของโลกปัจจุบัน อะไรที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับการแสวงหารากเหง้านี้จะไม่มีพื้นที่ในประวัติศาสตร์แบบนี้ นอกจากนั้นประวัติศาสตร์แบบชาตินิยมย่อมผลักดันให้หลายสิ่ง เช่น เมือง รัฐ สถาบัน แนวคิด ย้อนกลับไปไกลในอดีต เพื่อให้ชาติและประเทศชาติมีรากเหง้าที่ลึกกว่า ในทางตรงกันข้าม เราเริ่มจากอดีตเมื่อภูมิประเทศว่างเปล่า แล้วตามลูกศรของเวลา ดูว่ามนุษยชนใช้ทรัพยากรเพื่อทำมาหากิน สร้างสังคม จัดตั้ง สถาบัน ได้อย่างไร และเมื่อเราเดินทางจากอดีตตามลูกศรของเวลา ซึ่งวิ่งจากอดีตมาสู่ปัจจุบันเสมอ เราไม่สันนิษฐานว่าสิ่งใดกฎอยู่ในอดีตจนกว่าจะได้เห็นในหลักฐาน”

ข้อความในย่อหน้าที่ยกมาข้างต้นคือใจความสำคัญที่เป็นรากฐานในการค้นคว้าออกมาจนเป็น ประวัติศาสตร์อยุธยา ห้าศตวรรษสู่โลกใหม่ โดยคริส เบเคอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร ในหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนทั้งสองได้ย้อนไปสู่หลักฐานทางประวัติศาสตร์ของกรุงศรีอยุธยาจากแหล่งต่างๆ ที่เก่าแก่กว่าพงศาวดารไทย เพื่อหาจุดตั้งต้นที่แน่ชัดของการมีชื่อเรียก เพราะการถูกเอ่ยนามคือการยืนยันถึงการมีตัวตน



การเริ่มพิจารณาตั้งแต่การปรากฏของชื่อเรียกคือการศึกษาเรื่องราวของพัฒนาการไปตามช่วงวัย โดยผู้เขียนได้ใช้วิธีการแบ่งยุคสมัยของปรากฏการณ์ที่ชัดเจน และศึกษาประวัติศาสตร์ของสังคมในแต่ละยุคผนวกรวมเข้าด้วยกัน การนำความสัมพันธ์ของทั้งสามสิ่งมาสร้างเป็นเงื่อนไขทำให้กรุงศรีอยุธยามีมิติความน่าสนใจมากขึ้น

ผู้เขียนเริ่มต้นตั้งแต่ภูมิประเทศของลุ่มน้ำเจ้าพระยา การอพยพย้ายถิ่น การรวมหมู่ขึ้นสร้างบ้านแปงเมืองของชนชาติ และการเกิดขึ้นของรัฐในบริเวณต่างๆ ตั้งแต่ภาคเหนือจนถึงชายฝั่งอ่าวไทย

จากเมืองท่าชื่อ “เซียน” การค้าขายที่รุ่งเรืองทำให้มีทรัพยากรกลายเป็นเมืองที่เข้มแข็งขึ้นจนขยายอาณาเขต อยุธยาได้สถาปนาขึ้นในปี พ.ศ.1893 โดยพระเจ้ารามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ซึ่งมีที่มาจากหลากหลายเรื่องเล่า การสู้รบ การสมรสเพื่อผูกมิตรและยึดครองหัวเมืองต่างๆ ทำให้ความเป็นรัฐเข้มแข็งขึ้น สังคมซับซ้อนขึ้น การบริหารเพื่อควบคุมพื้นที่ผลประโยชน์มีกลไกเป็นลำดับชั้นมากขึ้น การเมืองถูกขับเคลื่อนด้วยการต่อรอง ดุลยภาพของอาณาจักรพร้อมเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

เมื่ออาณาจักรเข้มแข็งขึ้น การสงครามเพื่อขยายอาณาเขตก็เพิ่มขึ้น ปืนไฟเข้ามามีบทบาทในการสู้รบ อยุธยาเสียกรุงครั้งแรก และกลับคืนสู่ความเป็นอาณาจักรอีกครั้งจากการต่อสู้ของพระนเรศวร สงครามทำให้เกิดเส้นแบ่งระหว่างอาณาจักรและสันติภาพ อำนาจถูกแสวงหาผ่านการค้าและความมั่งคั่ง

หลังยุคสงคราม ตำแหน่งที่ตั้งของอยุธยากลายเป็นเมืองท่าสำคัญในการค้านานาชาติ ชาวยุโรปเริ่มมาเยือนและนำพาโลกทัศน์ใหม่เข้ามาสู่ระบบเศรษฐกิจ ศาสนาและการเมืองการปกครอง อำนาจสูงสุดของกษัตริย์ที่ขยายขึ้นตามความเติบโตทางเศรษฐกิจทำให้การแย่งชิงบัลลังก์รายล้อมไปด้วยเรื่องราวสยองขวัญ เรื่องเล่าและตำนานแห่งสถานภาพความเป็นกษัตริย์เริ่มถูกปลูกฝังเพื่อสิทธิ์ในการสืบทอดและแสวงหาความจงรักภักดี การค้าทำให้อยุธยากลายเป็นเมืองท่านานาชาติเต็มรูปแบบ ความมั่งคั่งและความหลากหลายนำไปสู่ความขัดแย้งในสังคมหลายมิติ

ความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่เกิดขึ้นในยุคแห่งการค้าคือการเติบโตขึ้นของความเป็นเมืองและศิลปวัฒนธรรม ผลประโยชน์ทำให้การปกครองแนวดิ่งในทุกระดับปรากฏรูปชัดเจนขึ้น บทบาทของผู้หญิงและผู้ชายได้รับผลกระทบจากระบบมูลนาย ผู้หญิงรับบทบาทเด่นทั้งในด้านการเป็นฝ่ายกำกับระดับครอบครัว และถูกกำกับในระดับสังคม ขณะเดียวกัน ศาสนาพุทธแบบเถรวาทฝังรากลึกขึ้นในระบบการปกครอง อยุธยากำลังอยู่ในจุดที่รุ่งโรจน์ที่สุดของความเป็นอาณาจักร

ยุคเสื่อมของอยุธยาเริ่มต้นขึ้นเพราะผลประโยชน์ที่ได้มาจากความรุ่งเรือง การเติบโตขึ้นของกลุ่มขุนนางทำให้เกิดการกระทบกระทั่งมากขึ้นกับการปกครองของกษัตริย์ การผลัดแผ่นดินในแต่ละครั้งนำมาซึ่งการอ่อนกำลังลง อยุธยาถูกโจมตีจากพม่าเพื่อกำจัดคู่แข่งทางเศรษฐกิจ ผลประโยชน์ที่ได้จากการค้าทำให้การทหารถูกละเลย อยุธยาล่มลงด้วยเหตุผลของการขาดความสามารถในการบริหารจัดการเชิงสงคราม

หลังจากนั้นสยามก็สร้างบ้านเมืองใหม่ขึ้นมาจากการสู้รบของสมเด็จพระเจ้าตากสิน และจบสิ้นรัชสมัยลงด้วยการรัฐประหารด้วยกลุ่มชนชั้นนำเดิมจากอยุธยา ก่อนสถาปนาขึ้นเป็นราชวงศ์จักรีและกรุงรัตนโกสินทร์

พระนครใหม่ทำให้อยุธยาหล่นหาย ถูกลืม ก่อนจะถูกรื้อฟื้นความทรงจำขึ้นมาอีกครั้งเมื่อต้องเผชิญหน้ากับแสนยานุภาพแห่งการล่าอาณานิคมจากชาติตะวันตก

ข้อสังเกตที่เห็นได้ชัดในประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยาจากการเรียบเรียงภายใต้วิธีวิทยาของผู้เขียนคือการไม่ปล่อยให้ “ความภูมิใจของชาติ” มาเป็นตัวเหนี่ยวรั้งการนำเสนอข้อเท็จจริง ซึ่งวิธีการแบบนี้ปะทะกับทัศนคติที่เกิดจากความเชื่อแต่ในด้านดีงามที่ถูกปลูกฝังอยู่ในสังคมโดยตรง

สมการประวัติศาสตร์ที่ปราศจากความภาคภูมิใจในชาติทำให้ความเปลี่ยนแปลงของคนทุกระดับตั้งแต่ไพร่ พระ ขุนนาง และกษัตริย์ ถูกเปิดเผยออกมาอย่างไม่ฝืนธรรมชาติ สรีระแห่งอาณาจักรที่ก่อตัวขึ้นจากการพึ่งพาและพึ่งพิงเพื่อผลประโยชน์ทำให้ความซับซ้อนของการเมืองการปกครองเข้าใจง่ายขึ้น เพราะการศึกษาที่ให้ความสำคัญกับทุกฝ่ายเท่ากันเปิดเผยให้เห็นกลไกการตัดสินใจในการดำรงชีวิตและดำรงสถานภาพของชนชั้นที่ต่อมากลายเป็นความเชื่อและวัฒนธรรมประเพณี

สิ่งที่น่าสนใจเมื่อความภูมิใจของชาติไม่มีผลต่อการศึกษาคือบทบาทของกษัตริย์ เพราะกษัตริย์ถูกเทิดไว้เหนือสิ่งใดมาเกือบจะโดยตลอดในความเป็นชาติ การนำเสนออย่างตรงไปตรงมาจากหลักฐานทำให้ทราบว่าไม่มีวรรณกรรมสรรเสริญเยินยอวีรกรรมสมเด็จพระนเรศวรในสมัยนั้น แม้แต่ในชุด เอกสารคำให้การ จากปลายสมัยอยุธยาที่มีการบรรยายเรื่องการศึกสงครามก็ปราศจากกลวิธีการประพันธ์เชิงสดุดี

อย่างนั้นแล้วการสดุดีหลั่งล้นมาจากฟากฟ้าสุราลัยเมื่อใดหนอ?

(ไหนใครตอบว่าเมื่อมีการใช้ propaganda ยกมือขึ้น?)

การค้นคว้าทางหลักฐานของผู้เขียนแสดงให้เห็นว่าบทบาทของกษัตริย์อยุธยามีความซับซ้อนขึ้นเมื่อสิ้นยุคสงคราม ศาสนาพุทธมีบทบาทอย่างมากในการขึ้นรูปของสถาบันกษัตริย์ วิธีการเริ่มต้นที่ถูกนำมาใช้ได้แก่การนำตัวตนกษัตริย์ไปผูกกับตำนานพระโพธิสัตว์ หลังจากนั้นจึงพัฒนาไปสู่การสร้างความลี้ลับและความศักดิ์สิทธิ์ด้วยการซ่อนเร้นวรกายกษัตริย์ให้พ้นจากสายตาไพร่ฟ้า หรือแม้แต่ขุนนางในระดับล่าง พิธีกรรมแบบพราหมณ์เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการยกระดับขึ้นเหนือคน ทั้งหมดนี้วางอยู่บนหลักการของการบริหารอำนาจและบริหารผลประโยชน์แก่ราชวงศ์

นี่เป็นเพียงแง่มุมบางส่วนที่พลวัตของวิธีวิทยาซึ่งไม่ให้กลุ่มคนใดมีอิทธิพลต่อการเล่าเรื่องเปิดเผยออกมาให้เห็น นอกจากนี้ยังมีบทบาทของสงฆ์ ชาวต่างชาติ พ่อค้า ขุนนาง และคนธรรมดาที่ถูกนำมาร้อยเรียงไว้บนเส้นทางของการทำมาหากินและการดำรงชีวิต ผู้ที่สนใจในบทบาทเฉพาะของแต่ละกลุ่มสามารถเห็นรูปแบบวิถีชีวิตได้อย่างมีชีวิตชีวา ในทางวิชาการแล้ววิธีการเหล่านี้อาจถูกเรียกว่าการศึกษาประวัติศาสตร์เชิงเศรษฐกิจ แต่ผมคิดว่าไหนๆ ก็จะท้าทายเรื่องเล่าเพื่อทำให้ทุกฝ่ายเท่ากันแล้ว ก็ให้เรียกมันตรงๆ ไปเลยว่าการศึกษาประวัติศาสตร์เชิงผลประโยชน์

ผมมีความสนใจเฉพาะตัวเรื่องของความทรงจำส่วนบุคคล มีเกมอยู่เกมหนึ่งที่ผมมักจะเล่นกับตัวเองอยู่เสมอคือ ครั้งแรกเมื่อไหร่?  วิธีการเล่นคือไม่ว่าเห็นสิ่งใดก็ตามที่น่าสนใจ ประทับใจ ชวนสงสัย ผมจะพยายามคิดย้อนกลับไปว่าความทรงจำแรกสุดที่คิดออกของสิ่งนั้นเกิดขึ้นเมื่อไหร่และคืออะไร หลายครั้งที่หลายสิ่งไม่มีคำตอบตายตัว ไม่แน่ใจ หรือมีคำตอบมากกว่าหนึ่ง ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาของความทรงจำ

เมื่ออ่านจบ หนังสือเล่มนี้ชวนผมให้เล่นเกมเหมือนกัน คำตอบของผมคือ อยุธยาเมืองเก่า ชื่อเพลงที่ถูกสอนให้ขับร้องตั้งแต่ชั้นอนุบาล ท่อนที่จำขึ้นใจคือท่อนที่ว่า

“อยุธยาเมืองเก่าของเราแต่ก่อน จิตใจอาวรณ์มาเล่าสู่กันฟัง…”

และด้วยความอาวรณ์ผมจึงมาเขียนถึงหนังสือเล่มนี้ให้คุณอ่าน ทว่าเป็นความอาวรณ์คนละแบบกับที่เนื้อเพลงปลูกฝัง สิ่งที่ผมอาวรณ์คือวันเวลาที่เราต้องสูญเปล่าไปกับประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยม

แล้วคุณล่ะครับ อยุธยาในความทรงจำแรกสุดของคุณคืออะไร?

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save