สันติธาร เสถียรไทย เรื่อง
ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ
ตั้งแต่เมื่อไรกันที่เราเลิกเชื่อว่าอะไรก็เป็นไปได้ในโลกนี้ หากมุ่งมั่นพยายามและกระตือรือร้นการพัฒนาตนเอง? ตั้งแต่อายุเท่าไรกันที่พลังแห่งจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ของคนเราเริ่มจืดจางไป? คงจะดีไม่น้อยหากคนเราสามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่ สะสมประสบการณ์ความรู้ต่างๆ ได้ โดยยังเก็บรักษา ‘พลังบวก’ ทั้งหลายเหล่านี้ที่เคยมีในวัยเยาว์
ทุกวันนี้เราตั้งคำถามว่าจะ ‘สร้าง’ คนเตรียมคนสู่ยุคที่อนาคตเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอย่างไร แต่เป็นไปได้ไหมว่าแท้จริงแล้วคนเรามี ‘คุณสมบัติ’ หลายอย่างที่สามารถจะอยู่รอดในยุค 4.0 นี้อยู่แล้วตั้งแต่เด็ก เพียงแต่มันถูกทำลายหรือกัดกร่อนจากความเชื่อ ทัศนคติ และระบบที่มีอยู่ในสังคมปัจจุบัน ดังที่อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) เคยพูดเตือนไว้ว่า
“ทุกคนเกิดมาเป็นอัจฉริยะ แต่หากเราวัดความสามารถปลาด้วยการให้ปีนต้นไม้ ปลาเหล่านั้นย่อมเติบโตขึ้นโดยคิดว่าตัวเองโง่”
อาจเป็นพ่อแม่ที่นิยาม ‘เด็กดี’ ว่าต้องมีวินัย เชื่อฟัง และเรียนเก่งเท่านั้น ระบบการศึกษาที่กำหนดเส้นทางผู้ชนะ–แพ้ จากการสอบเน้นท่องจำ ค่านิยมสังคมที่ใช้ไม้บรรทัดมิติเดียววัดคุณค่าของคนในโลกสี่มิติ ล้วนมีส่วนทำให้คนเติบโตโดยไม่ได้ค้นพบศักยภาพตนเอง
สิงคโปร์ยังรู้ ‘พลาด’ คนเก่งยังรู้พลั้ง
นี่ไม่ใช่ปัญหาของประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นประเด็นที่แม้แต่ประเทศที่ขึ้นชื่อด้านการศึกษาอย่างสิงคโปร์ ก็กำลังตื่นตัวว่าระบบของเขาต้องได้รับการปรับปรุงครั้งใหญ่ โดยความพยายามล่าสุดคือการยกเลิกการแบ่ง ‘สาย’ ในระดับมัธยม (เทียบเท่า ม.1-ม.4) ที่ใช้มาช้านาน จากเดิมเด็กจะถูกแบ่งเป็นสาย 1.ปกติ (เทคนิค) 2.ปกติ (วิชาการ) 3.สายด่วน (Express) ตามความ ‘เก่ง’ ที่วัดจากผลการสอบที่นักเรียนจะทำตอนช่วงอายุ 12 ปี
ในอนาคตสิงคโปร์จะไม่มีการแบ่งสายแบบเหมารวมเช่นนี้อีกต่อไป เพียงแต่ในแต่ละ ‘วิชา’ จะมีสามระดับแทน แล้วแต่ความถนัดและความเร็วในการเรียนรู้ของนักเรียน ยกตัวอย่างเช่น เด็กคนหนึ่งอาจเรียนห้อง advance ในวิชาเลขที่ตัวเองถนัด แต่อาจเรียนห้อง ‘ธรรมดา’ ในวิชาวิทยาศาสตร์ที่ตัวเองไม่ค่อยถนัด
ทั้งนี้ เพื่อเปิดช่องให้คนที่อาจเก่งกันคนละด้าน สามารถเรียนในความเร็วที่เหมาะกับตนในแต่ละวิชา โดยการแบ่งกลุ่มที่ว่านี้จะไม่ได้เป็นการขีดเส้นแบบถาวร คือเด็กสามารถย้ายไปคลาสที่ยากขึ้นได้หากมีการพัฒนาตนเองในวิชานั้นๆ (mobility)
การปฏิรูปครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะสิงคโปร์คิดว่าระบบการศึกษาแบบเก่านั้นไม่เหมาะกับยุคสมัยปัจจุบันอีกต่อไป
ข้อแรก การแบ่งสายแบบเดิมไม่เปิดกว้างต่อความจริงที่ว่าแต่ละคนอาจแค่มีความถนัดต่างกัน หรืออาจยังไม่พบสิ่งที่ตัวเองชอบ หากใช้คำเปรียบเปรยของไอน์สไตน์ ก็คือเด็กอาจยังไม่รู้ตนเองเป็น ‘ปลา’ ที่ถนัดว่ายน้ำมากกว่าปีนต้นไม้ หรืออาจเป็น ‘ลิง’ ที่ถนัดปีนต้นไม้แต่ยังไม่ค้นพบตนเอง เพียงอายุ 12 ก็ต้องถูก ‘ติดป้าย’ ว่าเป็นเด็ก ‘หัวกะทิ’ หรือไม่ไปตลอดชีวิต
ข้อสอง การขีดเส้นจัดกลุ่มให้ปลาอยู่ส่วนปลา ลิงอยู่ส่วนลิง แยกกันเรียนตั้งแต่เด็ก ยังอาจทำลายความหลากหลาย (Diversity) ที่เป็นส่วนสำคัญของการสร้างนวัตกรรมในสังคม นอกจากนี้ยังอาจตอกย้ำปมความเหลื่อมล้ำอีกด้วย
ข้อสุดท้าย ระบบอาจตอกย้ำแนวคิดแบบตายตัว (Fixed Mindset) และบั่นทอนแนวคิดแบบเติบโต (Growth Mindset) ให้กับทั้ง ‘ผู้แพ้’ และ ‘ผู้ชนะ’ ในระบบ
เลิกทำลายทั้ง ‘ปลา’ ทั้ง ‘ลิง’
ผู้แพ้จากการถูกวัดด้วยไม้บรรทัดยุคปัจจุบัน กลายเป็น ‘ปลา’ ที่โดนจับปีนต้นไม้ และถูกตราหน้าว่าไม่มีความสามารถตั้งแต่เด็ก หมดความมั่นใจ จนหลายคนเติบโตไปโดยไม่ได้ค้นพบว่าตนเองเป็นปลาที่ว่ายน้ำเก่ง
การศึกษาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางสังคมในอินเดียโดย Karla Hoff ผู้เชี่ยวชาญจากธนาคารโลก ทดลองนำเด็กจากแต่ละ ‘ชนชั้น’ (caste) ของอินเดียมาทำข้อสอบร่วมกัน โดยกลุ่มแรกไม่ประกาศว่าแต่ละคนมาจากคนละชนชั้น แต่อีกกลุ่มมีการประกาศให้ทุกคนรู้ถึงชนชั้นของแต่ละคน
ผลปรากฏว่าในกลุ่มที่คนรู้ชนชั้นของตนเอง พวกที่มาจากชนชั้นที่ต่ำกว่าทำคะแนนสอบได้แย่กว่าอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเทียบกับเด็กชนชั้นเดียวกันในกลุ่มที่ทำสอบโดยไม่รู้ว่าใครเป็นใคร แสดงให้เห็นว่า ‘ความเชื่อว่าตนเองด้อยกว่า’ มีผลต่อการสอบจริงๆ
แต่ขณะเดียวกัน ‘ผู้ชนะ’ ในระบบที่เรียกได้ว่าเป็นเสมือน ‘ลิง’ ที่ปีนต้นไม้เก่งอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จเสมอไป บ้างก็เติบโตมาด้วยความประมาทที่คิดว่าตนอยู่เหนือผู้อื่น ไม่พัฒนาตนเอง บ้างก็เป็นคนเก่งที่ไม่กล้าออกนอกกรอบ ไม่กล้าทดลองสร้างสรรค์สิ่งใหม่เพราะกลัวผิดพลาดล้มเหลว เกรงจะสูญเสียฐานะทางสังคมของตนเองไปจนสุดท้ายก็ตามการเปลี่ยนแปลงของโลกไม่ทัน
โดยสรุปคือ ไม่ว่าจะเป็นปลาหรือลิง ก็อาจติดอยู่ในกับดักของ Fixed Mindset คือมองว่าความสามารถของตนเองถูกกำหนดมาแล้วอย่างตายตัว เช่น ด้วย DNA หรือด้วยฐานะทางสังคมของตน คนที่มีทัศนคติเช่นนี้มักจะคอยพยายามพิสูจน์ตนเองว่าเป็นลิง ไม่ใช่ปลา ติดอยู่ในบ่วงที่ไม่สามารถเรียนรู้พัฒนาตน
Growth mindset ช่างสำคัญนัก
ในทางกลับกัน คนที่มี Growth Mindset จะเชื่อว่าตนเองสามารถเปลี่ยนแปลงพัฒนาได้เสมอ ไม่กลัวต่อความล้มเหลว เรียนรู้จาการผิดพลาด กล้าทดลอง ท้าทายตนเองเพื่อการเติบโตและค้นพบสิ่งใหม่ หากวันนี้ทำไม่ได้วันหน้าก็อาจทำได้
คุณลักษณะเหล่านี้มีความสำคัญอย่างมากในยุค 4.0 ด้วยเหตุผลหลายประการ หนึ่งคือการมองว่าตัวเองยังไม่ได้เป็นเวอร์ชั่นสุดท้าย สามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้เสมอ จะเป็นแรงผลักดันให้ขวนขวายเรียนรู้ตลอดชีวิต สอดคล้องต่อหลักของ Life-long learning
สอง การยอมรับว่าตนเองยังมีข้อบกพร่องที่สามารถปรับปรุงได้ ทำให้ช่วยลด ‘อีโก้’ ของตน ส่งเสริมทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) ซึ่งคือการคิดวิเคราะห์จากเหตุผลและหลักฐานความเป็นจริงโดยลดความลำเอียง (bias) ส่วนตัวลง
สาม การกล้าทดลอง ไม่กลัวล้มเหลว ยังช่วยเสริมความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) โดยทั้งการคิดเชิงวิพากษ์และความคิดสร้างสรรค์นั้นเป็นสองทักษะแห่งโลกอนาคตที่สำคัญมาก ตามที่ World Economic Forum ได้ทำการศึกษาไว้
Fixed mindset ไม่ได้ถูก fixed มา – ระบบการเรียนรู้ก็เช่นกัน
การมี Growth Mindset นั้นไม่ใช่พรสวรรค์ติดตัวมาตั้งแต่เกิด (หากคิดเช่นนั้นก็แสดงว่าเรากำลังมี Fixed Mindset เกี่ยวกับ Growth Mindset) แต่เป็นสิ่งที่สร้างเสริมบ่มเพาะได้ และถูกกัดกร่อนทำลายได้เช่นกัน
แน่นอนว่าระบบการศึกษาเป็นส่วนสำคัญในการปลุกปั้นทัศนคติเหล่านี้ แต่ระบบการศึกษาในปัจจุบันก็นับเป็น ‘ปลาที่ถูกจับปีนต้นไม้’ เช่นกัน ไม่ใช่ว่าผิดพลาดทั้งหมด เพียงแต่ไม่ได้ตอบโจทย์การสร้างคนที่เปลี่ยนไปอย่างมหาศาลจากยุคก่อน
จากการเรียนเพื่อให้จบ กลายเป็นเรียนเพื่อรู้วิธีเรียนรู้ต่อ (learning how to learn) จากเรียนเพื่อให้ได้คำตอบ กลายเป็นเรียนเพื่อให้ตั้งคำถามเป็น จากเรียนเพื่อลดความผิดพลาด กลายเป็นเรียนเพื่อให้ลุกขึ้นเป็นหลังจากล้มลง
และเราต้องไม่ลืมว่าระบบการศึกษา คือโรงเรียน มหาวิทยาลัย เป็นเพียงส่วนหนึ่งของ ‘ระบบการเรียนรู้’ ของคนเท่านั้น การปลูกฝังแนวคิด ค่านิยมที่สำคัญๆ นั้นไม่ได้เริ่มและไม่ได้จบในโรงเรียน แต่เริ่มจากที่บ้านว่าพ่อแม่ผู้ปกครองมีการฝังทัศนคติแบบไหนให้กับเด็ก เมื่อเราเรียนจบแล้วได้เข้าไปทำงานในองค์กรที่มีวัฒนธรรมแบบไหน อยู่ในสังคมที่เชิดชูสิ่งใด ทั้งหมดคือส่วนหนึ่งของระบบการเรียนรู้ที่มีผลต่อการขัดเกลา mindset ของคนทั้งสิ้น
เช่นเดียวกับการที่คนเราสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ระบบการเรียนรู้ของเราก็เช่นกัน ทุกคนต่างมีบทบาทในการนำการปฏิรูปนี้ให้เกิดขึ้นโดยเริ่มจากเรื่องใกล้ตัวเรา
บางครั้งการ ‘สร้าง’ คนสำหรับยุค 4.0 อาจต้องเริ่มจากการเลิก ‘ทำลาย’ สิ่งที่เรามีอยู่แล้วแต่เดิม
มาเลิกจับปลาปีนต้นไม้กันเถอะ
fixed mindset สันติธาร เสถียรไทย industry 4.0 ระบบการศึกษา Life-long learning growth mindset
Group Chief Economist ของ Sea Limited ซึ่งมีกิจการในเครืออย่าง AirPay, Shopee และ Garena | อดีต Head of Emerging Asia Economics Research ของ Credit Suisse