fbpx

โลหิตหยดแรกประชาธิปไตยไทย

90 ปีที่แล้วในปฏิบัติการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อย่ำรุ่ง 24 มิถุนายน 2475 มีจุดที่เกิดการปะทะจนเกิดเลือดตกยางออกเพียงจุดเดียว ณ บ้านพักของพระยาเสนาสงคราม (ม.ร.ว.อี๋ นพวงศ์) ถนนนครไชยศรี เมื่อขุนศรีศรากร (ชลอ ศรีธนากร[1]) นำกำลังพลเข้าควบคุมตัวเจ้าของบ้าน แต่เกิดความผิดพลาดจนบังเกิด “โลหิตหยดแรกประชาธิปไตยไทย”

บทความนี้ขอนำเสนอหลักฐานชั้นต้นจากหลากหลายมุมเพื่อเติมเต็มฉากประวัติศาสตร์การเมืองครั้งสำคัญดังกล่าว


หนังสือ เลือดหยดแรกของประชาธิปไตย


“พระยาถูกยิง”

พระยาเสนาสงคราม (ม.ร.ว.อี๋ นพวงศ์ ชาตะ 2430 – มตะ 22 ธ.ค. 2506)[2]


หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล (2438-2533) ถ่ายทอดฉากระทึกจากฝ่ายผู้ถูกยิงไว้ในบันทึกสิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น ไว้ดังนี้ 

“พระยาเสนาสงครามเล่าให้ข้าพเจ้าฟังเองภายหลังว่า เวลาราวย่ำรุ่งมีโทรศัพท์ไปตามว่าทูลกระหม่อมบริพัตรฯ รับสั่งให้ไปเฝ้าเดี๋ยวนั้น ก็รีบแต่งตัวออกจากบ้าน พอพ้นประตูแลไปข้างหน้าเห็นทหารแต่งตัวยูนิฟอร์มยืนเป็นระยะไปตามทางเดิน ๒ คน ผ่านคนที่ ๑ มันไม่คำนับ ก็นึกว่ามันบ้า และจะรีบไปก็ไม่เอาใจใส่ แต่พอก้าวขาไปอีก ๒ ก้าว ก็รู้สึกตาพร่า เหมือนในหนังเล่น และรู้สึกว่าถูกตีหัวข้างหลังก็ล้มไม่รู้สึกตัว แต่พอสักครู่ก็หายค่อยๆ ลืมตาแลเห็นมีคนยืนคร่อมอยู่บนตัวถือปืนจ่อท้องอยู่ แล้วรู้สึกร้อนเหมือนบุหรี่จี้ จึงค่อยๆ หดแขนข้างหนึ่งขึ้นยันจะลุกขึ้น ก็แลไปเห็นคนปลายทางเล็งปืนมาอีกคนหนึ่ง แล้วมันก็วิ่งหนีไปตามกัน ๓ คน ออกถนนใหญ่ไป พระยาเสนาฯ ลุกขึ้นได้ก็ค่อยๆ ยันตัวกับรั้วสังกะสีกลับเข้าไปในบ้านร้องเรียกเมียว่า ‘ฉันถูกยิง’ คุณหญิงแสภรรยาก็ควักปืนออกมาจากลิ้นชักวิ่งลงบันไดมากับบ่าวไพร่ ช่วยกันประคองเจ้าคุณขึ้นวางไว้บนเก้าอี้ แล้วคุณหญิงแสก็วิ่งตามทหาร ๓ คนนั้นไปกับปืน พอถึงถนนใหญ่ก็พอดีเห็น ๓ คนนั้น อยู่บนรถกระบะของทหารกำลังออกรถไปได้แล้วหน่อยหนึ่ง คุณหญิงแสโดดขึ้นรถยนต์สีแดง ซึ่งจอดอยู่ที่นั่นคันหนึ่ง เอาปืนจ่อคนขับว่า ‘ไล่รถคันนั้นไป’ คุณหญิงแสบอกข้าพเจ้าว่า ‘มันไม่ถึงที่ พอชักลูกขึ้นกล้องก็รู้ว่าหยิบปืนผิดกระบอกเพราะไม่ได้บรรจุกระบอกนี้ไว้’ ผู้หญิงคนนี้มีชื่อว่ายิงปืนแม่นอยู่ด้วย แต่ก็ยังเอาปืนนั้นขู่คนขับรถให้ไล่ตามคันหน้าไปจนได้ เพราะอยากจะรู้ว่ามันมาจากไหนกัน พอถึงถนนลานพระบรมรูปทรงม้าก็เห็นรถกระบะนั้นหายเข้าไปในพระที่นั่งอนันต์ฯ แกก็กลับไปรับเจ้าคุณไปส่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ส่งเข้าห้องผ่าตัดแล้วก็ออกไปดูเหตุการณ์ แล้วกลับไปอยู่โรงพยาบาลกับสามี”[3]


“ท่านขุนลั่นไก”

 ขุนศรีศรากร (ชลอ ศรีธนากร 19 ก.พ. 2444 – 11 ก.ย. 2530)


ขุนศรีศรากร


ฉากปะทะเดียวกันนี้ได้รับการเขียนบรรยายจากผู้กระทำ ร.ท. ขุนศรีศรากร ที่นำคณะผู้ก่อการทั้งสิ้น 7 คนเข้าล้อมบ้านพระยาเสนาสงคราม (ม.ร.ว. อี๋ นพวงศ์) ได้หวนรำลึกเหตุการณ์อันล่วงผ่านไปแล้วกว่า 18 ปี เมื่อ พ.ศ. 2493 ว่า

“การปฏิวัติเมื่อ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เวลา ๐๔.๔๕ น. ข้าพเจ้าได้ทำอะไรบ้าง ข้าพเจ้าจะได้บรรยายฉะเพาะจุดของข้าพเจ้าซึ่งได้รับมอบหมายเท่านั้น จุดของข้าพเจ้าคือ การคุมตัว พล.ต.พระยาเสนาสงคราม ผู้บัญชาการกองพลที่ ๑ รักษาพระองค์ บ้านท่านนายพลอยู่ที่ถนนนครชัยศรี แต่ต้องเดินเข้าตรอกไปประมาณ ๑๕๐ เมตร หัวหน้าสายฝ่ายพลเรือน[4]  ได้นำข้าพเจ้าขึ้นรถยนต์เก๋งตอนเดียวเลขที่ ก.ท.๐๓๐๐ พาไปชี้ตรอกเข้าบ้าน แต่ไม่สามารถจะมองเห็นหลังคาบ้าน เขาได้พาข้าพเจ้าไปเมื่อเวลา ๑๖.๐๐. น.เศษของวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๔๗๕…

เมล็ดฝนแห่งเดือนมิถุนายนได้โปรยลงมาเล็กน้อย ในรุ่งอรุณแห่ง ๒๔ มิถุนายน ๗๕ พวกเราบางคนดีใจที่ได้สัมผัสกับเมล็ดฝนที่กำลังโปรยลงมาสู่พื้นพิภพ ต่างคนต่างซุบซิบพอได้ยินว่า ‘เป็นหยาดน้ำมนต์แห่งสวรรค์อันพระไทยเทวาธิราชทรงโปรยลงมา เพื่ออวยชัยให้พรแก่พวกเรา พวกเราคงชนะอย่างเด็ดขาดแน่’…สว่างมากแล้ว มองดูลายมือได้ชัดเจนแล้ว นกบินโผจากรังเพื่อมุ่งหน้าไปหากิน…เวลา ๐๗.๐๐ น. …ตรงประตูบ้านท่านนายพล…ควบคุมคนขับรถยนต์รับจ้าง ซึ่งเราได้จ้างไว้เพื่อใช้เป็นรถนำ พล.ต. พระยาเสนาสงครามไปพระที่นั่งอนันตสมาคม…ถึงเวลาประมาณ ๘ น. การสนทนาต้องหยุดลงทันที เนื่องจากพวกเราได้ยินเสียงฝีเท้า…นายทหารได้ให้ฉายาท่านนายพลว่า ‘ตัวเล็กเดินดัง’ ข้าพเจ้าจำเสียงได้จึงรีบผละออกจากวงสนทนาสาวเท้าไปยังประตูบ้านท่านนายพล แต่ข้าพเจ้ายังเดินไปไม่ถึงประตูบ้าน ท่านนายพลก็เดินผ่านประตูออกมา ๓-๔ ก้าวแล้ว ข้าพเจ้าจึงหยุดชิดเท้าแล้วยกมือขวาขึ้นกระทำวันทยาหัตถ์เพื่อจะรายงานเชิญตัว การกระทำวันทยาหัตถ์ของข้าพเจ้ายังไม่สมบูรณ์ กล่าวคือนิ้วมือของข้าพเจ้ายังไม่ทันจดกระบังหมวก และปากก็ยังมิได้ทันอ้าที่จะกล่าวรายงานแต่อย่างใดทันใดนั้นคนเฝ้าประตูก็ตีท่านนายพลด้วยพานท้ายปืน ข้าพเจ้าไม่มีโอกาสรายงาน ได้แต่ยืนตกตลึงอยู่ชั่วขณะหนึ่ง สังเกตท่านนายพลก็ยังมิได้ยกมือรับคำนับของข้าพเจ้า แต่ตัวท่านก็เซถอยหลัง สังเกตได้ว่าจะกลับเข้าไปในบ้าน ขณะเดียวกันนี้ คนใช้ในบ้านท่านนายพลได้แลเห็นเหตุการณ์ตลอด จึงรีบวิ่งลงมาพร้อมด้วยปืนยาว…พวกเราบางคนก็เริ่มปล่อยกระสุนปืนพกไปต้องตัวท่านนายพล ท่านนายพลก็ล้มลง เสียงปืนได้ดังขึ้น ๒-๓ นัดซ้อนๆ กัน เมื่อท่านนายพลล้มลงแล้วข้าพเจ้าคิดว่าท่านนายพลจะต้องถูกบาดเจ็บอย่างสาหัส…ข้าพเจ้ามิได้สั่งยิง เสียงได้ดังมาทางหลังทางขวาของข้าพเจ้า และเสียงปืนนั้นดังมาทางขุนจำนงภูมิเวท…แต่ใครจะยิงก่อนใครข้าพเจ้าไม่ทราบ…อย่างไรก็ดีข้าพเจ้าก็ได้ยกปืนขึ้นเล็งที่หลังของท่านนายพล (ไม่ได้เล็งศีร์ษะ) แล้วปล่อยกระสุนไป ๑ นัด เป็นนัดเดียวและนัดสุดท้ายของพวกเราทั้ง ๗ คน ก่อนที่พวกเราจะเดินทางไปยังพระที่นั่งอนันตสมาคม…คนที่ตีศีร์ษะท่านนายพล…เขาผู้นั้นคือนายจ้อย โอปลัก…”[5]

และอีกสำนวนย่นย่อในหนังสืองานศพของเจ้าตัวที่คัดย่อจากอัตชีวประวัติว่า

“วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ได้ร่วมทำการก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน โดยได้รับมอบหมายให้จับเป็นพลตรีพระยาเสนาสงคราม ซึ่งได้ทำการผิดพลาดทำให้เกิดเลือกตกยางออกเพียงจุดเดียวในวันก่อการ ฯ (ทั้งนี้ เพราะเมื่อพลตรีพระยาเสนาสงครามเปิดประตูบ้านออกมา ร.ท.ขุนศรีศรากร ได้ยกมือขึ้นทำ ‘วันทยหัตถ์’ แต่นายจ้อย ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาที่ไปด้วยเข้าใจผิดว่าให้สัญญาณ จึงใช้พานท้ายปืนพาบาเบลั่มตีศีรษะพระยาเสนาสงครามและได้เกิดการยิงกันขึ้น กระสุนปืนถูกหน้าท้องพลตรีพระยาเสนาสงคราม แต่ไม่ถึงแก่ชีวิต) ส่วนจุดอื่นๆ ไม่มีการเลือดตกยางออกเลย”[6]


“อโหสิกรรม ใต้ร่มกาสาวพัสตร์

คู่กรณีบวชไม่สึกจนวันตาย

พระภิกษุ สนฺตฺยากโร และ พระปัญญาคุณ ปุณฺณวํโส


พระยาเสนาสงคราม (ม.ร.ว


พระยาเสนาสงคราม (ม.ร.ว.อี๋ นพวงศ์) เกิดวันที่ 1 ตุลาคม 2430 ที่วังเชิงสะพานอุบลรัตน์ ถนนราชินี จังหวัดพระนคร เป็นบุตรหม่อมเจ้าอบเชย และ ม.ร.ว.หญิงสวาสดิ์ทรวง สอบไล่ได้รับยศว่าที่ร้อยตรีเมื่อ พ.ศ. 2449 เมื่ออายุได้ 22 ปี โปรดเกล้าฯ ให้เป็นราชองครักษ์ประจำพระองค์ของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ในหลวงรัชกาลที่ 5 กรุณาพระยาเสนาสงครามมาก ตามที่เล่ากันว่า เมื่อรับสั่งกับพระยาเสนาฯ ทรงใช้คำแทนพระองค์ว่า “ปู่” และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถพระพันปีหลวงใช้คำแทนพระองค์ว่า “ย่า” เมื่อสิ้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว ยังได้รับโปรดเกล้าให้เป็นพระราชองค์รักษ์ประจำในสมัยรัชกาลที่ 6 และ 7 ตลอดมา ความก้าวหน้าด้านบรรดาศักดิ์ เริ่มด้วย หลวงนฤบาลบริรักษ์ พระเสนาสงคราม และ พระยาเสนาสงคราม (พ.ศ. 2463)

“ในวันที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ พระยาเสนาสงครามเป็นผู้บัญชาการกองพลที่ ๑ รักษาพระองค์ ดังนั้น จึงได้ถูกนายทหารบกคณะก่อการไปดักยิงที่หน้าบ้าน ถนนนครไชยศรี อาการปางตายในเช้าวันนั้น เพื่อตัดกำลังมิให้พระยาเสนาสงครามมาขัดขวางได้ ต่อมาอีกปีหนึ่ง พระยาเสนาสงครามได้ถูกคนร้ายยิงอีก แต่ก็รอดชีวิตมาได้ทั้งสองคราว ต่อมาใน พ.ศ.๒๔๗๖” ในการถูกลอบยิงครั้งที่ 2 นี้ บังเกิดขึ้นเพียงครึ่งปีต่อมาเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2475 (ปฏิทินใหม่ 2476 – ดูภาพประกอบหนังสือพิมพ์ศรีกรุง)


หนังสือพิมพ์ศรีกรุง ฉบับวันที่ 27 มกราคม 2475

เบื้องหลังการยิงครั้งนี้ ประยูร ภมรมนตรี เปิดเผยว่าเกิดจากความขัดแย้งกับพระยาทรงสุรเดช “โดยให้ ร.ท.ขุนนามนฤนาท (ร.อ.) ซึ่งไปประจำเป็นนายทหารติดต่อกับฝ่ายตำรวจจัดการให้ ส.อ.สวัสดิ์ กับ ส.อ.เทียนฟู้ เป็นคนมาดักยิงพระยาเสนาสงครามที่หน้าบ้าน บาดเจ็บสาหัสอาการปางตาย”[7]  ถัดจากเหตุการณ์ถูกยิงครั้งที่ 2 นั้นเพียง 10 เดือน เจ้าคุณเสนาได้เข้าร่วมกับคณะของพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดช ก่อการกบฏ เมื่อพ่ายแพ้ พระยาเสนาฯ ได้ลี้ภัยพำนักอยู่ที่กรุงไซ่ง่อนพักหนึ่ง แล้วย้ายมาดินแดนมลายูก่อนการอุบัติของสงครามมหาเอเชียบูรพา ครั้งนั้น พระยาเสนาฯ เคยถูกจับเป็นเชลยสงครามหลังไทยประกาศร่วมมือกับญี่ปุ่นปลายปี พ.ศ. 2484 ระยะเวลาสั้นๆ ราว 10 วัน ณ ดินแดนมลายูร่วมกับพระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ) หนึ่งใน 4 เสือคณะราษฎรที่ถูกเนรเทศหลังขัดแย้งกับหลวงพิบูลสงครามครั้งกบฏกรมขุนชัยนาทฯ (พ.ศ. 2481) แต่ได้รับการวิ่งเต้นช่วยเหลือจากพระยาศราภัยพิพัฒน์ (เลื่อน ศราภัยวานิช) อีกหนึ่งกบฏบวรเดชที่หลบหนีจากเกาะตะรุเตา[8]

พ.ศ. 2487 รัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ ออกกฎหมายนิรโทษกรรมแก่นักโทษการเมืองทั้งหมด เมื่อสงครามยุติพระยาเสนาสงครามจึงได้กลับคืนสู่มาตุภูมิ มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด รับประทานอาหารวันละมื้อมาตั้งแต่ยังไม่ได้อุปสมบท เป็นผู้ซาบซึ้งในรสพระธรรมอย่างดี เจริญวิปัสสนาธุระเป็นนิจสิน แผ่เมตตาจิตอยู่ทั่วไปแม้ในศัตรูที่ปองร้าย เชื่อมั่นในพระพุทธวจนะที่ตรัสว่า ‘เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร’ จะเห็นได้จากที่นายทหารที่ยิงท่านเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ได้ไปกราบขอโทษที่ทำร้ายท่าน พระยาเสนาสงครามได้ตบหลังเขาด้วยอารมณ์ยิ้มอโหสิกรรมให้ บอกว่าได้ลืมเรื่องเก่าหมดแล้ว มิได้ถือโทษโกรธใครอีก และไม่มีการจองเวรจองกรรมต่อผู้ใดด้วย.

พระยาเสนาสงครามได้ปรารภมานานแล้วว่า อยากจะอุปสมบทซึ่งคุณหญิงแสก็อนุโมทนาสนับสนุน พระยาเสนาสงครามจึงได้อุปสมบทที่วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2499 โดย สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น นพวงศ์) ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ ประทานฉายาแก่พระภิกษุพระยาเสนาสงครามว่า สนฺตฺยากโร ภิกฺขุอันแปลว่า “บ่อเกิดแห่งสันติ” และจำพรรษาอยู่ที่วัดนี้ตลอดมา

วันที่ 21 ตุลาคม 2506 แพทย์ได้ตรวจพบว่าเป็นโรคมะเร็งที่ปอด จนถึงวันที่ 22 ธันวาคม 2506 พระภิกษุพระยาเสนาสงคราม ถึงแก่มรณภาพด้วยความสงบ คำนวณอายุได้ 76 ปี 2 เดือน 22 วัน ครองชีวิตใต้ร่มกาสาวพัสตร์มาได้ 8 พรรษากาล[9] พระภิกษุ สนฺตฺยากโร ได้เข้ารับการรักษา ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ภายใต้พระบรมราชานุเคราะห์ตลอดระยะเวลาที่อาพาธ


พระภิกษุ สนฺตฺยากโร


ด้าน ขุนศรีศรากร (ชลอ ศรีธนากร) กำเนิดเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2444 ในเรือบรรทุกข้าวขณะจอดอยู่ในแม่น้ำน่าน หมู่บ้านบางสะแก จ.พิษณุโลก เล่ากันว่าต้นตระกูลสืบเชื้อสายจาก “พระยาพิชัยดาบหัก” จบนายทหารรุ่น 2466 ได้รับบรรดาศักดิ์เป็น ขุนศรีศรากร เมื่อ พ.ศ. 2473 หนึ่งปีถัดมาเข้าเป็นครูสอนวิชาการยิงปืนใหญ่ด้วยแผนที่ตารางเมื่อ พ.ศ. 2474 มีความคุ้นเคยกับผู้ก่อการ 2475 คนสำคัญเช่นพระยาพหลพลหยุหเสนา เจ้ากรมจเรทหารปืนใหญ่ พระยาฤทธิอัคเนย์ ผู้บังคับการกรมทหารปืนใหญ่ที่ 3 (โคราช) และที่สำคัญคือ ร.อ.หลวงพิบูลสงคราม (จอมพล ป. ในเวลาต่อมา)

พ.ศ. 2475 ต้นเดือนพฤษภาคม ร.อ.หลวงพิบูลสงครามได้ชักชวนให้เข้าร่วมคณะราษฎรเพื่อก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่ระบอบประชาธิปไตยอันสมบูรณ์ โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ วันนั้นฝนตกพรำๆ ขณะเดินกลับบ้านมาตามถนนอัษฎางค์ ร.อ.หลวงพิบูลสงครามได้กล่าวชักชวนขึ้น ซึ่งก็ได้ตกลงร่วมคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วย ทั้งนี้ เพราะมีความเลื่อมใสศรัทธาในวิธีการปกครองระบอบประชาธิปไตย ประกอบกับความเคารพเลื่อมใสในตัวผู้ชักชวน ร.อ.หลวงพิบูลสงครามได้มอบหมายให้ชักชวนเพื่อนนายทหารเข้าร่วมคณะผู้ก่อการฯ ด้วย ซึ่งได้ชักชวนเพื่อนๆ จำนวน 16 คน มีผุ้เข้าร่วมก่อการฯ ด้วย 9 คน คือ

ร.ท.ขุนวิมลสรกิจ ร.ท.ขุนพิพัฒนสรการ ร.ท.ขุนเรืองวีระยุทธ ร.ท.ขุนปลดปรปักษ์ ร.ท.ขุนนิรันดรชัย ร.ท.ขุนจำนงภูมิเวท ร.ต.สมาน เทพหัสดิน ณ อยุธยา และ ร.ต.จำรูญ จิตรลักษณ์

ที่ไม่ยอมร่วมมือด้วยมี 7 คน คือ

ร.อ.หลวงวิชยวัฒน์ ร.ท.ขุนชาญวุฒิรณ ร.ท.ขุนศุกรนาคเสนีย์ ร.ท.พิชิต มฤทธิดา ร.ท.เนตร พูนวิวัฒน์ (อดีตคณะ ร.ศ.130 – ผู้เขียน[10] ) ร.ต.ท.วาศ สุนทรจามร และ ขุนวิทยาวุฒิ ทั้ง 7 คนที่ไม่ยอมร่วมมือด้วยนี้ก็มิได้นำความไปแจ้งแก่ผู้บังคับบัญชาหรือผู้อื่นทราบ ซึ่งนับได้ว่ามีบุญคุณอย่างใหญ่หลวง เพราะถ้ามีผู้ใดทราบก่อนวันก่อการฯ แล้ว โทษที่จะได้รับคือประหารชีวิต


ภาพถ่ายหมู่ คณะราษฏรสายทหารบก (ขุนศรีศรากรนั่งพื้น ระหว่าง พระยาทรงสุรเดช และพระยาพหลพลหยุหเสนา)


หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง กรณีกบฏบวรเดช พ.ศ. 2476 ขุนศรีฯ ทำหน้าที่ทูตฝ่ายรัฐบาลเข้าเจรจาจนถูกจับเป็นตัวประกันแต่ได้รับการปล่อยตัว ถัดมาหนึ่งปีโยกจากนายทหารปืนใหญ่มารับงานตำรวจในตำแหน่งสารวัตรตำรวจสันติบาล ที่มีบทบาทประหนึ่งมือขวาหลวงอดุลฯ อธิบดีกรมตำรวจ เพียงปีแรกก็ได้เดินทางไปดูงานตำรวจที่ประเทศญี่ปุ่นและกลับมาแต่งหนังสือ ตำรวจญี่ปุ่น ทั้งต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2481 ยังควบรับตำแหน่งอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ริเริ่มให้ผู้คุมขังผลิตสินค้า และยกเลิกการตีตรวน หลังจากนั้นยังรับราชการในตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพสามิต อธิบดีกรมรถไฟ มีฝีมือการตีเทนนิส และ เล่นกอล์ฟเป็นเลิศ รับหน้าที่สำคัญในการเป็นตำรวจรักษาความปลอดภัยให้กับนายควง อภัยวงศ์ ครั้งขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนสิงหาคม 2487 เพื่อเข้าเจรจากับจอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่โคกกระเทียม จ.ลพบุรี หลังจากนั้นยังได้เข้าร่วมเป็นเสรีไทยช่วงปลายจากการชักชวนของ “พูเลา (หลวงอดุลฯ)”[11] ผู้บัญชาการท่านนี้ได้แนะนำให้เขียนหนังสือสันติบาลใต้ดิน[12] จนถูกฟ้อง


หนังสือสันติบาลใต้ดิน โดย ขุนศรีศรากร


ล่วงถึงต้นปี พ.ศ. 2490 ขุนศรีฯ ถูกให้ออกจากราชการก่อนกำหนดและปลายปีเดียวกันได้รับการชักชวนให้ร่วมรัฐประหาร 8 พ.ย. 2490 แต่ปฏิเสธไปโดยให้ความเห็นว่า “เพื่อนๆ มาชวนให้ร่วมกระทำรัฐประหาร ก็ได้ปฏิเสธไป 4 ครั้ง โดยให้เหตุผลว่าไม่อยากเบียดเบียนผู้ก่อการฯ ด้วยกัน เพราะขณะนั้นนายกรัฐมนตรี (หลวงธำรงฯ – ผู้เขียน) คือ สมาชิกคณะผู้ก่อการฯ และเห็นว่าการทำรัฐประหารเป็นการฉีกรัฐธรรมนูญ ซึ่งคณะผู้ก่อการฯ ได้ร่วมกันสร้างมาด้วยความยากลำบาก”[13]

ครั้นภายหลังการกระทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 แล้ว แม่แช่ม แม่ยายจอมพล ป.พิบูลสงคราม มาชวนให้เข้าร่วมในรัฐบาลของคณะรัฐประหารด้วย ซึ่งก็ได้ปฏิเสธไปอีกครั้งโดยให้เหตุผลว่า “เราเป็นคนหารัฐธรรมนูญมาให้ แล้วจะมาทำลายรัฐธรรมนูญเสียเอง หรือไปร่วมงานกับผู้ทำลายรัฐธรรมนูญ มันจะยังไงอยู่นะ มันไม่ใช่คนธรรมดาแล้ว”[14] อนึ่ง ขุนจำนงภูมิเวท[15] ผู้เคยร่วมเข้าควบคุมตัวพระยาเสนาสงครามเมื่อเช้าวันปฏิวัติกลับปรากฎชื่อผู้ร่วมด้วยกับก่อการครั้งรัฐประหาร 2490 ที่เป็นการโค่นล้มอำนาจของคณะท่านรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์!

ขุนศรีศรากรหลังสิ้นบทบาททางการเมือง พ.ศ. 2490 เริ่มเข้าจับงานเอกชน บริหารโรงหนัง และร่วมหุ้นกับบริษัท ไบเล่คาลิฟอร์เนียโอเร็นซ์ (ประเทศไทย) ตั้งบริษัทข้าวโพดสวรรค์ จำกัด และได้เป็นผู้จัดการนำเข้าเครื่องคั่วข้าวโพดจากอเมริกาจำนวน 6 เครื่อง เพื่อติดตั้งตามโรงหนังต่างๆ 6 แห่ง คือ เฉลิมกรุง แค็ปปิตอล ศรีเยาวราช ศรีราชวงศ์ เฉลิมไทย และ โอเดี้ยน “การคั่วข้าวโพดด้วยเนยและด้วยเครื่องจักรไฟฟ้าจึงได้อุบัติขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย” ระหว่างนี้ยังคงงานเขียนไว้อย่างต่อเนื่อง พ.ศ. 2495 ขณะดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการบริษัทไบเล่คาลิฟอร์เนียโอเร็นซ์ (ประเทศไทย) จำกัด เดินทางไปญี่ปุ่น จนเกิดเป็นหนังสือสารคดีท่องเที่ยว สิบสองวันในฝัน กระทั่ง พ.ศ. 2505 ขณะเป็นผู้จัดการบริษัทเดียวกันนี้ ได้เริ่มประพันธ์หนังสือเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาไว้หลายเล่ม เช่น นรก-สวรรค์มีจริง (2505) ชาติหน้ามีจริง (2506) นิพพานมีจริง (2507)


พระปัญญาคุณ ปุณฺณวํโส (หลวงพ่อชลอ)


ขณะอายุ 66 ปี ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการบริษัทไบเล่ฯ เพื่ออุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่อ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2510 ณ อุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม โดยมีสมเด็จพระวันรัต (ปุ่น ปุณฺณสิริ) เป็นพระอุปัชฌาย์ (ต่อมาได้ดำรงตำแหน่งเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 17) ได้รับฉายาว่า ปุณฺณวํโส หลังจากอุปสมบทแล้วได้เดินทางไปพำนัก ณ วัดเต่าไหใต้ ตำบลท่าสัก อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ และจำพรรษา ณ วัดนี้ทุกฤดูกาลเข้าพรรษา[16] หนึ่งในแรงบันดาลใจในการบวชตลอดชีวิตคือบิดา ขณะขุนศรีฯ เริ่มเข้าศึกษาโรงเรียนนายร้อยเมื่อ พ.ศ. 2461 ที่ได้ออกบวชเมื่ออายุ 55 ปีตลอดชีพเป็นเวลา 25 พรรษา จนมรณภาพเมื่ออายุ 80

หลวงพ่อชลอถึงแก่มรณภาพอย่างสงบเมื่อ 11 กันยายน 2530 รวมอายุได้ 87 ปี อายุพรรษา 20


วัดเต่าไหใต้ ตำบลท่าสัก อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ ภาพโดย นริศ จรัสจรรยาวงศ์
ศาลาศรีศรากร วัดเตาไหใต้ ภาพโดย นริศ จรัสจรรยาวงศ์
หุ่นขี้ผึ้งหลวงพ่อชลอ วัดเต่าไหใต้ ภาพโดย นริศ จรัสจรรยาวงศ์


“คนฟาดพาราเบลลัม”

จ้อย โอปั๊ก (พ.ศ. 2449 – พ.ศ. 2480)[17]


นายจ้อย โอปั๊ก


ขุนศรีศรากรบรรยายถึงลูกน้องผู้ใช้พานท้ายปืนพาบาเบลั่มฟาดศีรษะเป้าหมายไว้ว่า

“ข้าพเจ้าทราบว่านายจ้อยไม่เคยเป็นทหารหรือตำรวจหรือลูกเสือ แกเป็นลูกทุ่งอยู่ริมทุ่งจังหวัดฉะเชิงเทราซึ่งข้าพเจ้าก็เพิ่งรู้จักเขาในคืนวันนั้นเอง เขาเป็นคนที่ฝ่ายพลเรือนส่งมา (นายสงวนตุลารักษ์) เป็นโชคดีของท่านนายพลอย่างยิ่ง ที่การตีนั้นพลาดไปโดน ขอบหมวก จึงไม่เกิดบาดเจ็บมาก และเป็นโชคดีอย่างยิ่งอีกประการหนึ่ง ที่นายแพทย์ผู้สามารถได้รักษาท่านนายพล ให้รอดชีวิตจากกระสุนปืนที่ถูกท้องของท่าน เรื่องนี้อาจเป็นความผิดพลาดของคนอื่น แต่ข้าพเจ้าเป็นหัวหน้าหน่วยนี้ ข้าพเจ้าต้องรับผิดแต่ผู้เดียว หวังว่าท่านนายพลคงจะอโหสิกรรมแก่ข้าพเจ้า ในส่วนตัวแล้ว ข้าพเจ้าไม่เคยโกรธหรือเกลียดกับท่านมาเลย แต่การปฏิวัติบังคับให้ข้าพเจ้าต้องกระทำเช่นนั้น และในเหตุการณ์เช่นนั้นด้วย”[18]

เรื่องราวของผู้ก่อการท่านนี้ยังไม่ใคร่เป็นที่เปิดเผยนัก ภายในหนังสืออนุสรณ์งานศพฉายภาพชีวิตไว้เพียงหนึ่งหน้ากระดาษดังต่อไปนี้

“นายจ้อย โอปั๊ก เป็นบุตร นายไพ่ นางลุ่ม เกิดปีมะเมีย วันเสาร์ เดือน ๑๐ ณตำบลสาวฉะโงก อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา

พ.ศ. ๒๔๕๖ เข้าโรงเรียนวัดเสม็ดใต้ พออ่านออก ก็ออกมาช่วยบิดามารดา ทำนา และค้าขาย จนกระทั่งปี พ.ศ.๒๔๗๕ นายสงวน ตุลารักษ์ ได้ชักชวนเข้ามาช่วยเหลือในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง นายจ้อย โอปั๊ก ได้ทำการในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕ นั้น ในสายเดียวกันกับ นายพันตรี ขุนจำนงภูมิเวท ข้าหลวงประจำจังหวัดปราจีนบุรี และ นายพันตำรวจตรี ขุนศรีศรากร พ.ศ.๒๔๗๕ ทางการได้บรรจุให้เข้ารับราชการอยู่ในกรมตำรวจ ต้นปี พ.ศ.๒๔๗๖ ได้ย้ายไปเป็นนายตรวจฝิ่นประจำกรมสรรพสามิตต์ และได้รับพระราชทานเงินเดือน ๆ ละ ๓๐ บาท และได้ช่วยเหลือในการปราบกบฏมีความชอบ ได้รับพระราชทานเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ

พ.ศ.๒๔๘๐ ทางการได้จัดส่งไปพร้อมกับนายตรวจอื่นๆ ไปราชการ ณจังหวัดลำปาง เมื่อกลับราชการได้ ๑ เดือน นายจ้อย ได้ป่วยเป็นไข้มาลาเรียขึ้นสู่สมอง และถึงแก่กรรม ณโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๔๘๐ รวมอายุได้ ๓๒ ปี ได้รับพระราชทานเงินเดือนครั้งสุดท้ายเดือนละ ๓๐ บาท.”

ปัจจุบันนี้ บ้านเกิดนายจ้อยยังปรากฏศาสนสถานที่ประดับประดาด้วยศิลปะสมัยคณะราษฎร โดยเฉพาะพานแว่นฟ้าเทินรัฐธรรมนูญ คือ วัดแจ้งบางคล้า

อนึ่ง ปืนพาบาเบลั่ม (สะกดตามขุนศรีฯ) หรือ ที่รู้จักกันในชื่อทางการว่า ลูเกอร์ (พาราเบลลัม) Luger (Parabellum)[19] ได้รับการผลิตในปี ค.ศ.1898 และเป็นที่นิยมใช้ของทหารเยอรมันในสงครามโลกทั้งสองครั้ง แม้แต่บันทึกของท่านหญิงพูนพิศมัย ยังกล่าวถึงปืนชนิดนี้ในมือเหล่าทหารที่เข้าควบคุมตัวพระบิดาที่วังดิศกุลเมื่อเช้าวันเดียวกันว่า  “ทันใดนั้นนายทหารบก ๓ คน ถือปืนเพราเบรัมอยู่ในมือทุกคน เข้ามาทางประตูหน้า พอเห็นเสด็จพ่อก็ถอดหมวกลงหมอบกราบแล้วนั่งอยู่กับพื้นทูลว่า ‘ข้าพระพุทธเจ้ามาเชิญเสด็จให้เสด็จไปลงพระนามรับรู้ในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม’”[20] ส่วนคำว่า Parabellum เข้าใจว่ามาจากภาษาลาตินที่ว่า “Si vis pacem, para bellum” แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า If you want peace, Prepare for War หรือนิยามอย่างไพเราะเป็นภาษาไทยในพระราชนิพนธ์ของ ร.6 ว่า “แม้หวังตั้งสงบ จงเตรียมรบให้พร้อมสรรพ”[21]


ภาพพานท้ายปืน พาราเบลลัม


หลวงวิจิตรวาทการ ให้เกียรติเขียนคำไว้อาลัยแด่นายจ้อย พร้อมจัดพิมพ์จดหมายเหตุเรื่องเปลี่ยนแปลงการปกครองจากบันทึกส่วนตัวเพื่อเป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจเมื่อปี พ.ศ. 2480 ดังคำนำเล่มดังต่อไปนี้

“ในการฌาปนกิจ นายจ้อย โอปั๊ก ณ เมรุวัดมกุฎกษัตริยาราม ในวันจันทร์ที่ ๗ มีนาคม พ.ศ.๒๔๘๐ นี้ นายสงวน ตุลารักษ์ ผู้เป็นเจ้าภาพ ได้ร้องขอให้ข้าพเจ้าจัดหาหนังสือเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เพื่อพิมพ์แจกแก่ผู้มาร่วมงาน และโดยเหตุที่นายจ้อย โอปั๊ก เป็นหัวแรงคนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕ นายสงวน ตุลารักษ์ จึงแสดงความจำนงแก่ข้าพเจ้าว่า หนังสือที่จะพิมพ์ครั้งนี้ ใคร่จะให้เป็นเรื่องเกี่ยวแก่การเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นเอง

ข้าพเจ้าได้พยายามค้นคว้าบรรดาสารคดี ที่ข้าพเจ้าเขียนไว้ เห็นว่ามีบันทึกจดหมายเหตุเรื่องเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งข้าพเจ้าเขียนบันทึกไว้เองเป็นวันๆ ในปี พ.ศ.๒๔๗๕ พอจะตรงกับความประสงค์ของ นายสงวน ตุลารักษ์ ข้าพเจ้าจึงตกลงใจพิมพ์หนังสือเรื่องนี้

บันทึกจดหมายเหตุนี้ ข้าพเจ้าเขียนไว้ได้ตั้งแต่วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง คือวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕ เป็นต้นมา ในการพิมพ์ครั้งนี้ได้พิมพ์เพียงเดือนครึ่ง คือตั้งแต่วันเริ่มเปลี่ยนแปลงการปกครอง ถึงวันที่ ๘ สิงหาคมเท่านั้น

ถ้าหากการพิมพ์หนังสือเล่มนี้ จะบังเกิดผลเป็นคุณประโยชน์อย่างไรบ้าง ข้าพเจ้าขออุทิศผลนั้นๆ แก่นายจ้อย โอปั๊ก ผู้เป็นหัวแรงคนหนึ่งในการสร้างระบอบรัฐธรรมนูญ ขอให้ดวงวิญญาณของผู้ที่ล่วงลับแล้วนี้ จงดำรงอยู่ในสุคติทุกเมื่อเทอญ

วิจิตรวาทการ

๓ มีค. ๘๐”


คำไว้อาลัยแด่นายจ้อย โอปลั๊ก โดยหลวงวิจิตรวาทการ


ชื่อของนายจ้อย โอปั๊ก ปรากฏในรายนามผู้ก่อการคณะราษฎรในเอกสารชั้นต้น เช่น หนังสือประชานุเคราะห์ พ.ศ. 2480 และ หลักสว่าง เล่ม 2 พ.ศ. 2479 ทว่าเลือนหายไปในเอกสารชั้นหลังๆ[22] อย่างไรก็ดี อัฐิของนายจ้อยได้รับการบรรจุภายในเจดีย์วัดพระศรีมหาธาตุร่วมกับสหายผู้ร่วมก่อการในครั้งนั้น เป็นอันปิดฉากอวสานโลหิตหยดแรกของประชาธิปไตยไทยฯ


รายนามผู้ก่อการคณะราษฎรในเอกสารชั้นต้น หนังสือประชานุเคราะห์ พ.ศ. 2480
ป้ายอัฐินายจ้อย โอปลั๊ก



[1] นามสกุลแรกเดิม ตั้งชื่อโดยสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ แห่งวัดราชบพิธ ดู น.๖ หนังสืองานศพ พระปัญญาคุณ ปุณณะวังโส (พล.ต.ต.ชลอ ศรีศรากร ) ณ เมรุวัดตรีทศเทพวรมหาวิหาร ๒๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๐ ต่อมาภายหลังใช้นามสกุลตามบรรดาศักดิ์ “ศรีศรากร”

[2] ธรรมเสนานุสรณ์ ในการพระราชทานเพลิงศพ พระภิกษุ พลตรี พระยาเสนาสงคราม (ม.ร.ว.อี๋ นพวงศ์) ท.จ. ณ เมรุวัดมกุฎกษัตริยาราม ๓๐ เมษายน พ.ศ.๒๕๐๗, (โรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย).

[3] พูนพิศมัย ดิศกุล, สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น, มูลนิธิหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล และ ชมรมพระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ม.ว.ม., ท.จ.ว. ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส ๒๓ สิงหาคม ๒๕๓๓, (วัชรินทร์การพิมพ์),น.๑๖-๑๗.

[4] ใช่ “ปรีดี พนมยงค์” หรือไม่? ผู้เขียนมิได้ระบุชื่อ

[5] ขุนศรีศรากร ภาคผนวกใน จรูญ กุวานนท์, เลือดหยดแรกของประชาธิปไตย, พิมพ์ครั้งแรก ๒๔๙๓,(สหกิจ),น. ๗๗-๙๖.

[6]อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พระปัญญาคุณ ปุณณะวังโส (พล.ต.ต.ชลอ ศรีศรากร ป.ม., ท.ช.) ณ เมรุวัดตรีทศเทพวรมหาวิหาร วันพฤหัสบดีที่ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๐, (โรงพิมพ์ราชทัณฑ์), น.๑๑.

[7] ประยูร ภมรมนตรี, ชีวิต ๕ แผ่นดินของข้าพเจ้า, พิมพ์รวมเล่มครั้งแรก พ.ศ.๒๕๑๘,(บรรณกิจ), น.๒๐๘-๒๐๙.

[8]เสทื้อน ศุภโสภณ, ชีวิตทางการเมือง ของ พ.อ.พระยาฤทธิอัคเนย์ ทหารเสือปฏิวัติ ๒๔๗๕, พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.๒๕๑๔,(วัชรินทร์การพิมพ์), น.๔๖๔.

[9] ธรรมเสนานุสรณ์ ในการพระราชทานเพลิงศพ พระภิกษุ พลตรี พระยาเสนาสงคราม (ม.ร.ว.อี๋ นพวงศ์) ท.จ. ณ เมรุวัดมกุฎกษัตริยาราม ๓๐ เมษายน พ.ศ.๒๕๐๗, (โรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย), น.ช-ฌ.

[10] นริศ จรัสจรรยาวงศ์, อนุสรณ์งานศพ คณะ “เก๊กเหม็ง” สยาม ร.ศ.๑๓๐, ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๔๒ ฉบับที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔, น.๗๐-๑๐๓.

[11] หลวงอดุลฯ อรรถาธิบายว่า ชื่อ “พูเลา” นี้คือช้างพลายตัวสำคัญของภาคพายัพ ครั้งหนึ่งขุนศรีศรากรเคยอ่านคำสะกดคำอังกฤษ “Pulao” ว่า “ปูเลา” หลวงอดุลฯ แย้งว่าผิด เพราะไปพ้องกับภาษามาลายันที่แปลว่า “ข้าวหมกไก่”

[12] ชลอ ศรีศรากร, สันติบาลใต้ดิน, พิมพ์ครั้งแรก ม.ค.๒๔๘๙, (อุดม). หนังสือเล่มนี้ผู้เขียนอุทิศให้บรรพบุรุษ “ฉะเพาะอย่างยิ่งพระยาพิชัยดาบหัก”

[13] อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พระปัญญาคุณ ปุณณะวังโส (พล.ต.ต.ชลอ ศรีศรากร ป.ม., ท.ช.) ณ เมรุวัดตรีทศเทพวรมหาวิหาร วันพฤหัสบดีที่ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๐, (โรงพิมพ์ราชทัณฑ์), น.๒๗-๒๘.

[14]อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พระปัญญาคุณ ปุณณะวังโส (พล.ต.ต.ชลอ ศรีศรากร ป.ม., ท.ช.) ณ เมรุวัดตรีทศเทพวรมหาวิหาร วันพฤหัสบดีที่ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๐, (โรงพิมพ์ราชทัณฑ์), น.๑๒๒.

[15] โหราศาสตร์ปริทรรศน์ ลัคนาวินิจฉัย อนุสรณ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ พลตรี ก้าน จำนงภูมิเวท ป.ช., ป.ม. ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๐๗ (อุตสาหกรรมการพิมพ์).

[16]อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พระปัญญาคุณ ปุณณะวังโส (พล.ต.ต.ชลอ ศรีศรากร ป.ม., ท.ช.) ณ เมรุวัดตรีทศเทพวรมหาวิหาร วันพฤหัสบดีที่ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๐, (โรงพิมพ์ราชทัณฑ์), น.๓๑.

[17] บทความนี้อ้างอิงการสะกดชื่อและปีเกิดปีตายจากหนังสืออนุสรณ์งานศพ โดยระบุเพียงว่าเกิดปีมะเมีย ซึ่งเมื่อเทียบปีปฏิทินสากล คือปี พ.ศ.๒๔๔๙ และวันตายเมื่อ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๐ ดู จดหมายเหตุเรื่องเปลี่ยนแปลงการปกครอง หลวงวิจิตรวาทการ พิมพ์แจกในงานฌาปนกิจศพ นายจ้อย โอปั๊ก ณ เมรุวัดมกุฎกษัตริยาราม วันที่ ๗ มีนาคม ๒๔๘๐, (โรงพิมพ์พระจันทร์) ซึ่งแตกต่างจากป้ายอัฐิ ณ วัดพระศรีมหาธาตุฯ ที่สะกดชื่อเป็น “นายจ้อย โอปลั๊ก” และ ชาตะ ๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๕๔- มตะ ๒๗ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๔ (คลาดเคลื่อนปีเกิด ๕ ปี และปีตาย ๔ ปี)

[18] ขุนศรีศรากร ภาคผนวกใน จรูญ กุวานนท์, เลือดหยดแรกของประชาธิปไตย, พิมพ์ครั้งแรก ๒๔๙๓,(สหกิจ),น. ๗๗-๙๖.น.๙๓.

[19] Luger Pistol https://en.wikipedia.org/wiki/Luger_pistol

[20] พูนพิศมัย ดิศกุล, สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น, มูลนิธิหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล และ ชมรมพระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ม.ว.ม., ท.จ.ว. ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส ๒๓ สิงหาคม ๒๕๓๓, (วัชรินทร์การพิมพ์),น.๖.

[21] ปืนจริง พาราเบลลัม P08 / Parabellum P08 Review + Test  ดู https://www.youtube.com/watch?v=06s6t-PLQmA

[22] นริศ จรัสจรรยาวงศ์, บัพพ์ที่ ๔ อนุสรณ์งานศพสมาชิกคณะราษฎร ใน ๒๔๗๕ ราษฎรพลิกแผ่นดิน, (มติชน), น.๑๘๗-๓๑๔.

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save