fbpx

คอสโมนอตคนแรกแห่งอุษาคเนย์: โซเวียตกับการช่วยสร้างชาติเวียดนาม

ย้อนกลับไปวันที่ 23 กรกฎาคม 1980 มีเหตุการณ์ที่หน้าประวัติศาสตร์โลกจารึกไว้ก็คือการขึ้นสู่ห้วงอวกาศเป็นครั้งแรกของชาวเอเชีย คือ ฟัม ต๋วน (Phạm Tuân) นักบินจากกองทัพอากาศเวียดนามที่ได้รับโอกาสเป็นคอสโมนอต (cosmonaut) หรือนักบินอวกาศโซเวียตขึ้นสู่ห้วงอวกาศเป็นคนแรกจากประเทศกำลังพัฒนาและจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ฟัม ต๋วน ได้รับการคัดเลือกจากรัฐบาลเวียดนามในปี 1979 ให้เป็นตัวแทนประเทศในโครงการอินเตอร์คอสมอสของสหภาพโซเวียตที่เปิดโอกาสให้ประเทศพันธมิตรใกล้ชิดส่งตัวแทนเพื่อมาเป็นนักบินอวกาศ ซึ่งฟัม ต๋วนได้ขึ้นบินสู่ห้วงอวกาศด้วยยานโซยุซ 37 (Soyuz 37) จากฐานยิงจรวดไบโคนูร์ คอสโมโดรม (Baikonur Cosmodrome) ในคาซัคสถานสู่สถานีอวกาศซัลยุต 6 (Salyut 6) ของโซเวียต โดยมีคอสโมนอตที่ชื่อว่า วิกเตอร์ กอร์บัตโก (Viktor Gorbatko) บินขึ้นไปด้วย

ฟัม ต๋วน ขึ้นไปสู่ห้วงอวกาศในหน้าที่ของนักวิจัยโดยใช้เวลาในสถานีอวกาศเป็นเวลา 7 วัน 20 ชั่วโมง 42 นาที โดยการขึ้นไปครั้งนั้นส่งผลให้ฟัม ต๋วนได้รับเหรียญวีรบุรุษแห่งสหภาพโซเวียต และได้รับการยกย่องให้เป็นวีรบุรุษของชาวเวียดนาม

ด้วยสถานะวีรบุรุษเวียดนามทำให้ฟัม ต๋วนกลายเป็นคนดังในเชิงการสร้างสัญญะระดับประเทศ แม้ว่าการขึ้นสู่ห้วงอวกาศของนักบินผู้นี้จะผ่านมาเป็นเวลานานแล้ว แต่ภาพวัยหนุ่มของฟัม ต๋วนก็ยังปรากฏอยู่ตามหน้าหนังสือเรียนประถม-มัธยมประดุจดั่งสัญลักษณ์ของความก้าวหน้าทางวิทยาการขั้นสูงที่เวียดนามได้มีโอกาสประสบพบเจอ

เรื่องของฟัม ต๋วนและความร่วมมือในโครงการอินเตอร์คอสมอสนับว่าเป็นหมุดหมายที่สำคัญของความสัมพันธ์โซเวียต-เวียดนามที่ไม่ได้มีเพียงแค่การสนับสนุนจากรัฐต่อรัฐจากหลายกรอบความร่วมมือที่โซเวียตเป็นแม่งาน เช่นที่เวียดนามเป็นสมาชิกสภาเพื่อความช่วยเหลือซึ่งกันและกันทางเศรษฐกิจ (Council for Mutual Economic Assistance) หรือคอมิคอน (Comecon)

ความร่วมมือผ่านโครงการอินเตอร์คอสมอสมีสำคัญกับเวียดนามในการสร้างวีรบุรุษร่วมสมัยที่จับต้องได้ ซึ่งประจวบเหมาะกับที่ในช่วงนั้นเวียดนามเพิ่งรวมประเทศมาเป็นเวลาเพียง 4 ปี อันเป็นช่วงที่เวียดนามจำเป็นต้องสร้างจินตกรรมเรื่องความเป็นชาติร่วมกันของชาวเวียดนามเหนือและใต้ผ่านเรื่องราวของวีรบุรุษแห่งชาติ

วิกเตอร์ กอร์บัตโก และฟัม ต๋วน (ภาพจาก Ninh Binh Radio & Television Station)
หนังสือเรียนที่มีรูปของฟัม ต๋วน (ภาพจาก AN NINH THỦ ĐÔ)

อินเตอร์คอสมอสกับการสร้างรัฐบุรุษ

โครงการอินเตอร์คอสมอสที่ริเริ่มในปี 1978 เป็นเครื่องมือสำคัญทางการทูตของโซเวียต นอกเหนือจากการเสริมสร้างความสามัคคีท่ามกลางกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์และการร่วมกันพัฒนาความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะด้านฟิสิกส์ ชีววิทยาอวกาศ รวมไปถึงด้านการแพทย์แล้วก็ยังเป็นเครื่องมือในการสมานความสัมพันธ์กับฝั่งโลกทุนนิยม อย่าง สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และออสเตรีย อีกด้วย

สหภาพโซเวียตอาศัยโครงการคอสมอสในการสร้างประโยชน์ร่วมกับประเทศพันธมิตรสังคมนิยมด้านการวิจัยบนห้วงอวกาศ ไม่ว่าจะเป็นการร่วมมือกับเยอรมนีตะวันออกในการวิจัยอุปกรณ์เซ็นเซอร์ชนิดใช้แสงหรือการทดลองการโคจรของดาวเทียมร่วมกับเชโกสโลวาเกีย

แต่สำหรับโครงการคอสมอสที่โซเวียตริเริ่มทำกับประเทศชายขอบหรือประเทศโลกที่สามที่เป็นพันธมิตรอย่างคิวบา เวียดนาม หรือแม้กระทั่งอัฟกานิสถานกลับไม่ได้เป็นการวิจัยในลักษณะเดียวกันกับเหล่าพันธมิตรสังคมนิยมในยุโรป หากแต่เป็นไปเพื่อมุ่งสร้างความนิยมและกระชับความสัมพันธ์จากประเทศพันธมิตรให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

Gerard Sasges อาจารย์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore) มองว่าโครงการคอสมอสเดิมทีเป็นโครงการเน้นการวิจัยทดลองที่เวียดนามอ้างว่าได้ประโยชน์ในการจัดทำชุดข้อมูลสำหรับพัฒนาและฟื้นฟูชาติหลังจากสงครามเวียดนามสิ้นสุด ซึ่งแน่นอนว่าฝ่ายโซเวียตไม่ได้ประโยชน์จากการพัฒนาวิทยาการร่วมแบบที่เคยทำกับพันธมิตรในยุโรปตะวันออก

Gerard มองว่าอินเตอร์คอสมอสคือการเน้นย้ำแนวทางให้เวียดนามผูกติดกับโซเวียตมากขึ้น ซึ่งไม่เพียงมีแค่การดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศตามแบบฉบับโซเวียต แต่ยังรวมไปถึงการแสดงนาฏกรรม พิธีกรรม และสัญญะจากรัฐ

โครงการอินเตอร์คอสมอสเป็นเวทีนาฏกรรมที่แต่งองค์ทรงเครื่องให้ฟัม ต๋วนเป็นตัวละครหลักในการแสดงละครชาตินิยมบวกสังคมนิยมเพื่อให้คนคล้อยตามหรือมีจินตกรรมร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ประเทศเพิ่งจะรวมชาติได้ไม่นาน

ฟัม ต๋วน ยังได้รับการสร้างให้เป็นวีรบุรุษสงครามผู้ยิ่งใหญ่ ผ่านการผลิตชุดประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ เช่นที่รัฐบาลเวียดนามอ้างว่าฟัม ต๋วนในฐานะทหารอากาศและอดีตนักเรียนโรงเรียนนักบินทหารจากโซเวียตในปี 1967 สามารถขับเครื่องบินขับไล่และยิงเครื่องบินบี 52 ของสหรัฐฯ ที่บินเข้ามาทิ้งระเบิดปูพรมที่ฮานอยและไฮฟองลงได้ แม้ว่าทางสหรัฐฯ จะออกมาบอกว่าเครื่องบินลำดังกล่าวไม่ได้ถูกยิงด้วยเครื่องบินขับไล่ แต่ถูกโจมตีด้วยขีปนาวุธต่อสู้อากาศยาน

ทั้งนี้ความร่วมมือที่โซเวียตหยิบยื่นให้เวียดนามได้กลายเป็นการสร้างชุดประวัติศาสตร์ใหม่และมีประสิทธิภาพต่อการสร้างชาติของเวียดนามที่ไม่ใช่เพียงแค่เวียดนามเป็นคนกำหนดประวัติศาสตร์ของตัวเองเท่านั้น แต่ยังได้รับความช่วยเหลือจากประเทศมหาอำนาจอีกด้วย

วิกเตอร์ กอร์บัตโก และฟัม ต๋วน (ภาพจาก Báo Tinh Hoa)

‘ฮีโร่แห่งชาติ’ ของขวัญจากพี่ใหญ่

นอกจากเรื่องโครงการคอสมอสที่เป็นสปริงบอร์ดให้กับชาติพันธมิตรสังคมนิยมในการสร้างชาติ สิ่งที่น่าสนใจคือ ฟัม ต๋วน ไม่ใช่แค่วีรบุรุษของเวียดนามเท่านั้น แต่โซเวียตซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจ และพี่ใหญ่ของฝั่งสังคมนิยมก็ยอมรับฟัม ต๋วนในฐานะวีรบุรุษเช่นเดียวกัน

การประกาศแต่งตั้งและการมอบเหรียญวีรบุรุษแห่งสหภาพโซเวียตไม่ได้เกิดขึ้นกับเฉพาะกรณีของฟัม ต๋วน เท่านั้น แต่โซเวียตได้มอบเหรียญวีรบุรุษให้กับคอสโมนอตทุกคนที่ปฏิบัติการ โดยเริ่มให้ตั้งแต่ปี 1978 ซึ่งนักบินอวกาศคนแรกที่ได้คือวลาดิมีร์ เรเมก ชาวเชโกสโลวาเกีย

สำหรับผู้ที่เข้าเงื่อนไขการได้รับเหรียญวีรบุรุษแห่งสหภาพโซเวียตจะต้องเป็นผู้ที่ทำคุณงามความดีให้กับสหภาพโซเวียตและผู้ที่ได้รับจะต้องผ่านการพิจารณาจากประธานคณะผู้บริหารสูงสุดของสภาโซเวียตสูงสุด (Presidium of the Supreme Soviet) ขณะเดียวกันประธานคณะฯ ก็มีสิทธิ์ที่จะยึดเหรียญวีรบุรุษคืนเช่นกัน

การประกาศมอบเหรียญวีรบุรุษเป็นหนึ่งในการกระชับไมตรีระหว่างประเทศ แต่อีกนัยหนึ่งคือการสะท้อนถึงการคงคุณค่าอันสำคัญของแนวสังคมนิยมของทั้งสองประเทศผ่านการกระทำเชิงสัญญะที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก ซึ่งการมีมิตรประเทศเช่นนี้มีความหมายอย่างมากแก่โซเวียตที่พยายามแข่งขันบารมีระหว่างประเทศกับสหรัฐฯ และจีนที่เป็นหอกข้างแคร่ อีกทั้งยังพยายามหาประเทศที่ฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสต์เข้ามาเป็นพวก

หลังจากที่ ฟัม ต๋วนได้รับเหรียญวีรบุรุษแห่งโซเวียต นักบินอวกาศสัญชาติเวียดนามผู้นี้ก็กลายเป็นหนึ่งในตัวละครสำคัญของเนื้อเรื่องการสร้างชาติ การสร้างภาพจำ รวมไปถึงการสร้างสำนึกร่วมกันของคนในชาติผ่านสิ่งที่เรียกว่าฮีโร่แห่งชาติที่ไม่ใช่แค่ได้รับการยอมรับในประเทศ แต่อดีตคอสโมนอตผู้นี้ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติด้วย

สำหรับความช่วยเหลือในรูปแบบการสร้างภาพลักษณ์ให้กับชาติพันธมิตรไม่ได้มีเพียงแค่ฝั่งโซเวียตเท่านั้นที่ทำในช่วงสงครามเย็น หากแต่ฝั่งสหรัฐฯ ก็มีการลงมือทำเช่นกัน แต่อาจจะมาในรูปแบบที่แตกต่างกันโดยมีหลายโครงการที่ริเริ่มโดยสหรัฐฯ และจบที่การเกิดขึ้นของรัฐบุรุษจากประเทศปลายทางที่มหาอำนาจยื่นมือเข้าไป

มีอยู่หลายครั้งที่สหรัฐฯ เข้าไปให้ความช่วยเหลือกับประเทศปลายทางในรูปแบบหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ แต่ผู้เขียนมองว่าสหรัฐฯ ในยุคสงครามเย็นไม่ได้มองประเทศพันธมิตรเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ แต่มีการวางตำแหน่งของประเทศต่างๆ ตามความสำคัญทางภูมิศาสตร์ เช่น การสนับสนุนด้านเทคโนโลยีที่แตกต่างกันระหว่างไทย ไต้หวัน และเกาหลีใต้ หรือกระทั่งการสนับสนุนบรรดาเผด็จการให้คงอยู่ในอำนาจในช่วงสงครามเย็น

ซึ่งความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ แตกต่างจากการช่วยเหลือของโซเวียตที่ปฏิบัติกับประเทศชายขอบในลักษณะเท่าเทียมกันกับประเทศโลกที่หนึ่ง อย่างการดึงเอาเวียดนามมาเป็นหนึ่งในโครงการอินเตอร์คอสมอสเช่นเดียวกับฝรั่งเศส ซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคมเก่าของเวียดนาม

ฟัม ต๋วนและวิกเตอร์ ในวัยเกษียณ (ภาพจาก Tiền Phong)

มรดกตกทอดสู่ความสัมพันธ์เวียดนาม-รัสเซีย

แม้ว่าโครงการอินเตอร์คอสมอสและความร่วมมือต่างๆ ระหว่างประเทศคอมมิวนิสต์ได้หายไปหลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตแล้ว แต่เวียดนามก็ยังคงรักษาความสัมพันธ์ที่ดีไว้กับประเทศรัสเซีย อย่างไรก็ตามแนวทางนโยบายต่างประเทศหรือนโยบายการดำเนินเศรษฐกิจของเวียดนามต่างเป็นไปตามแบบฉบับของโซเวียตทั้งสิ้น

การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมืองเวียดนามดำเนินรอยตามโซเวียต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปี 1980 หลังจากที่เวียดนามเพิ่งจะรวมประเทศสำเร็จ แต่หลังจากปี 1991 เวียดนามต้องตกอยู่สภาวะเคว้งคว้าง อ่อนล้าทางแนวคิดอุดมการณ์ และสูญเสียที่พึ่งพิงเมื่อสหภาพโซเวียตพันธมิตรคนสำคัญล่มสลาย

จากการล่มสลายของโซเวียตนำสู่การเกิดใหม่รัฐต่างๆ หลายรัฐ หลายประเทศเริ่มละทิ้งคอมมิวนิสต์ หันหลังแนวคิดตลาดแบบสังคมนิยมเข้าสู่ทุนนิยมเต็มตัว การเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นทำให้เวียดนามต้องปรับเปลี่ยนตัวเองเข้าสู่เพื่อนบ้านอาเซียนมากขึ้น แต่ยังคงสถานะของจีนให้เป็นผู้ร้ายแห่งชาติต่อไปแม้ว่าจะเป็นคอมมิวนิสต์เหมือนกัน รวมไปถึงมีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และประเพณีที่คล้ายคลึงกัน

มรดกที่โซเวียตทิ้งไว้ให้รัสเซียสานต่อความสัมพันธ์กับเวียดนามอาจไม่เหมือนหรือไม่หวือหวาเหมือนในช่วงสงครามเย็นอย่างการสนับสนุนอาวุธ การแลกเปลี่ยนบุคลากร การเข้าไปตั้งฐานทัพเพื่อช่วยเหลือยามเกิดเหตุวิกฤต หรือกระทั่งการส่งคนจากประเทศพันธมิตรขึ้นสู่ห้วงอวกาศ แต่ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศเป็นในรูปแบบการสานต่อสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีตและการขยายความร่วมมือทางการค้า

หนึ่งในตัวอย่างของการสานต่อความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่เคยมีร่วมกันคือ การสานต่อบริษัทสำรวจและขุดเจาะ เวียดซอฟเปโตร (Vietsovpetro) ที่เวียดนามกับโซเวียตร่วมกันก่อตั้งตั้งแต่ปี 1981 นอกจากนี้เวียดนามยังเป็นประเทศแรกนอกกลุ่มอดีตสหภาพโซเวียตที่ลงนามการค้าเสรีกับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย (Eurasian Economic Union) ที่มีกลุ่มประเทศอดีตสหภาพโซเวียตเป็นสมาชิกและมีรัสเซียเป็นผู้เล่นหลักในกรอบการค้าดังกล่าว

ทั้งนี้แม้รูปแบบของความร่วมมือระหว่างเวียดนามกับรัสเซียจะเปลี่ยนไป แต่ความแนบแน่นของทั้งสองประเทศก็ยังคงอยู่ ซึ่งนอกจากเรื่องเศรษฐกิจแล้ว บทบาทของเวียดนามต่อรัสเซียในเรื่องสงครามยูเครนก็ไม่ได้แสดงออกมาในแง่ลบเหมือนกับหลายประเทศ

แน่นอนว่าหนึ่งในมรดกสำคัญที่ยังคงอยู่คือเรื่องราวของฟัม ต๋วน ซึ่งไม่ได้ตายหายไปกับการล่มสลายของสหภาพโซเวียต และไม่ได้หายไปจากความทรงจำของผู้คน การเป็นวีรบุรุษของอดีตคอสโมนอตผู้นี้ถูกผลิตซ้ำจากฝั่งรัฐในฐานะรัฐบุรุษที่ผูกกับความเป็นชาติและแนวคิดแบบสังคมนิยมอยู่ตลอด และไม่ได้เปลี่ยนรูปแบบการผลิตซ้ำทางความคิด มากกว่านั้นความทรงจำที่รัฐปลูกฝังผ่านการนาฏกรรมทำให้ฟัม ต๋วนไม่ใช่แค่ลุงนายทหารวัยเกษียณ แต่คงยังตราตรึงเป็นฮีโร่ของชาวเวียดนามและสัญลักษณ์แห่งวิทยาการก้าวหน้าอันเป็นผลพวงจากโอกาสซึ่งเป็นของขวัญล้ำค่าจากโซเวียตผู้ล่วงลับ


อ้างอิง

– Bergess, Colin; Vis, Bert (2015). Interkosmos – The Eastern Bloc’s Early Space Program. New York: Spriger Praxis

Joint Venture “Vietsovpetro”

Phạm Tuân: Vietnamese pilot and cosmonaut.

– Sasges, Gerard(2019). Symbolizing (in)dependence Vietnam, Intercosmos, and the strategic ambiguity of late socialist ritual. The Russian Journal of Vietnamese Studies. Vol 3, No 4.

Vietnam-Russia Trade & Tourism Continues to Grow as ASEAN Nations Eye EAEU Free Trade Agreements (2019).

Vietnam Caught Between the U.S. and Russia on Ukraine (April, 2022). Council on Foreign Relations.

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save