fbpx

ความลับ ความรัก และการหักหลัง – Fingersmith (เล่ห์รักนักล้วง)

ผมหยิบเอาวรรณกรรมหนักๆ เนื้อหาจริงจังมาเล่าสู่กันฟังหลายเรื่องแล้วนะครับ คราวนี้ขออนุญาตเปลี่ยนบรรยากาศมาพูดถึงนิยายอ่านง่าย อ่านสนุกกันบ้าง นั่นคือ Fingersmith (เล่ห์รักนักล้วง) ผลงานของซาราห์ วอเตอร์ส

Fingersmith ฉบับแปลภาษาไทยในชื่อเรื่องว่า ‘เล่ห์รักนักล้วง’ พิมพ์ครั้งแรกตั้งแต่ประมาณปี 2552-2553 โดยสำนักพิมพ์ Bliss Publishing และเพิ่งจะพิมพ์ใหม่อีกครั้งในปี 2560 โดย earnest publishing ซึ่งยังพอมีจำหน่ายและหาได้ไม่ยากนัก

นิยายเรื่องนี้มาโด่งดังเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น เมื่อมีการดัดแปลงเป็นหนังเกาหลีเรื่อง The Handmaiden 2016 โดยฝีมือการกำกับของพาร์ค ชาน วุค (ซึ่งโด่งดังและได้รับการยกย่องมากจากหนัง ‘ไตรภาคล้างแค้น’ ประกอบไปด้วย Sympathy for Mr. Vengeance, Oldboy และ Lady Vengeance)

ทั้งหนังและนิยายเล่าเรื่องแบ่งเป็น 3 ภาค แต่เนื้อหาและรายละเอียดนั้นใกล้เคียงกันเฉพาะ 2 ภาคแรก ขณะที่ภาคสุดท้ายมีบทสรุปลงเอยเหมือนกัน แต่เหตุการณ์รายละเอียดผิดแผกแตกต่างกันเป็นคนละเรื่อง ซึ่งผมคิดว่าเป็นการตัดสินใจเลือกดัดแปลงที่ฉลาดและถูกต้อง เนื่องจากฉบับนิยายนั้นมีเจตนาเด่นชัดในการวางโครงเรื่องแบบ ‘ประโลมโลกย์’ มีความลับและตัวละครเกี่ยวข้องพัวพันกันหลายซับหลายซ้อน จนสามารถนิยามว่าเป็น ‘นิยายน้ำเน่า’ ได้สบายๆ ฉบับภาพยนตร์จึงเลี่ยงไปทางอื่น ลดทอนความบังเอิญและความเกี่ยวโยงระหว่างตัวละครในแบบ ‘โลกแคบจังเลย’ ออกไป ใส่ความเป็นเหตุเป็นผลในทางสมจริง (เมื่อเทียบกับนิยาย) เพิ่มขึ้น

ที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า Fingersmith มีลักษณะแบบนิยายน้ำเน่าไม่ใช่ข้อด้อยจุดบกพร่องของนิยายเรื่องนี้นะครับ ตรงกันข้ามมันเป็นจุดเด่นที่ทำได้ดีมากๆ เลยทีเดียว

Fingersmith ได้รับคำวิจารณ์ในแง่บวก เป็นที่นิยมชมชอบในหมู่นักอ่านวงกว้าง และได้การเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Man Booker Prize รอบสุดท้ายในปี 2002 (ผู้ชนะในปีนั้นได้แก่ Life of Pi ของยานน์ มาร์เทล)

มีคนนิยามงานเขียนชิ้นนี้เอาไว้สั้นๆ แต่สรุปใจความได้ดีมากว่า Fingersmith เป็น Lesbian Dickens หรือนิยายว่าด้วยเลสเบียนที่เขียนในลีลาท่วงทำนองแบบชาลส์ ดิคเคนส์ ใกล้เคียงกับบทวิจารณ์อีกชิ้นหนึ่ง ซึ่งระบุว่าเป็น ‘Oliver Twist with a twist…’ หรือ Oliver Twist ที่มีการหักมุม

Fingersmith ใช้ฉากหลังในสมัยวิกตอเรียน ภาคแรกเริ่มต้นเรื่องด้วยการเล่าผ่านมุมมองของตัวเอก หญิงสาววัยสิบเจ็ดปีชื่อ ซูซาน ทรินเดอร์ หรือซู เธอเป็นเด็กกำพร้า ได้รับการเลี้ยงดูโดยป้าซักส์บี ในสภาพแวดล้อมของบ้านที่เป็น ‘ซ่องโจร’ มีการรับซื้อเด็กกำพร้ามาเลี้ยงดูเพื่อฝึกให้เป็นนักล้วงกระเป๋า และงานผิดกฎหมายส่วนใหญ่ในบ้านหลังนี้คือการเป็นแหล่งรับซื้อของโจรเพื่อนำไปขายต่อ

เรื่องเริ่มต้นขึ้นเมื่อชายชื่อเจ็นเทิลแมน เดินทางมาที่บ้าน ยื่นข้อเสนอให้ซูร่วมแผนฉ้อโกงที่มีเงินจำนวนมหาศาลเป็นเป้าหมาย

รายละเอียดมีอยู่ว่า เจ็นเทิลแมนในชื่อปลอมว่า ริชาร์ด ริเวอร์ส วางแผนจนได้ทำงานกับชายชราชื่อคริสโตเฟอร์ ลิลลี ที่คฤหาสน์เก่าแก่ (และมีสภาพทรุดโทรมในปัจจุบัน) นามไบรอาร์ แต่ทรัพย์สมบัติทั้งหมดไม่ใช่ของชายชรา มันระบุไว้ในพินัยกรรมว่าเป็นของหลานสาวชื่อโมด ลิลลี โดยมีเงื่อนไขว่าทุกอย่างจะตกเป็นกรรมสิทธิของเธอทันทีที่แต่งงานเมื่ออายุครบ 21 ปี

ริชาร์ดวางแผนให้ตนเองได้ใกล้ชิดโมด ทำทุกวิถีทางให้เธอตกหลุมรัก จากนั้นก็ชักชวนหญิงสาวหลบหนีไปด้วยกันและทำพิธีแต่งงาน

ในแต่ละขั้นตอนที่ตระเตรียมไว้ ริชาร์ดจำเป็นต้องมีผู้ช่วยมาทำหน้าที่เป็นสาวใช้ประจำตัวโมด ส่วนหนึ่งเพื่อคอยสอดส่องความเคลื่อนไหวของเหยื่อทุกห้วงขณะอย่างใกล้ชิด อีกส่วนหนึ่งคือหมายใจจะให้สาวใช้ช่วยโน้มน้าวหว่านล้อมให้โมดรู้สึกบวกต่อริชาร์ด

ซูได้รับมอบหมายให้ปลอมตัวไปเป็นสาวใช้ เธอเดินทางไปยังคฤหาสน์ เริ่มต้นดำเนินตามแผนล่อลวงที่นัดแนะกันไว้ ทุกอย่างเกิดขึ้นตามที่ตระเตรียมคาดการณ์ แต่สิ่งที่อยู่นอกเหนือความคาดหมายก็คือความใกล้ชิดระหว่างสาวใช้กับคุณหนู นานวันเข้าเกิดเป็นความผูกพันกันอย่างลึกซึ้ง จนนำไปสู่ความขัดแย้งในใจระหว่างทั้งคู่

ซูเกิดความลังเลระหว่างการทำตามแผนต้มตุ๋น กับความรู้สึกผิดชอบชั่วดีต่อคนที่เธอตกหลุมรัก โมดอยู่ในภาวะสับสน ระหว่างความรักเดิมที่มีต่อริชาร์ดและความรักซ้อนต้องห้าม

ท้ายที่สุด ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดก็ตัดสินใจทำตามแผนที่กำหนดไว้ ซูช่วยพาโมดหลบหนีจากคฤหาสน์ ริชาร์ดลอบมาพบที่จุดนัดหมาย จากนั้นก็เดินทางไปยังแหล่งกบดานซ่อนตัว เข้าพิธีแต่งงานที่โบสถ์ในหมู่บ้านชนบทแห่งหนึ่ง

แผนดูจะสำเร็จลุล่วงด้วยดี ยกเว้นในขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งเกิดเหตุพลิกผันขนานใหญ่

นิยายเรื่องนี้แบ่งออกเป็น 3 ภาค เนื้อเรื่องคร่าวๆ ที่ผมเล่ามาเป็นเหตุการณ์ในภาคแรกเกือบจะครบถ้วน ส่วนภาค 2 และภาค 3 ไม่สามารถเปิดเผยหรือเล่าสิ่งใดได้เลย

ความยอดเยี่ยมอันดับแรกของ Fingersmith ก็คือ มันเป็นนิยายที่คิดพล็อตได้อย่างชาญฉลาด อุดมไปด้วยความลับและการหักมุมสั่นสะเทือนความรู้สึกของผู้อ่านอยู่เป็นระยะๆ

ถัดมาคือความเหนือชั้นในการใช้มุมมองของตัวละครผู้ทำหน้าที่เล่าเรื่องในแต่ละภาค ทำให้เกิดเป็นการเล่าหนึ่งเหตุการณ์เดียวกันจาก 2 มุมมองที่ให้ผลลัพธ์แตกต่าง และทำหน้าที่เสมือนกระจกเงาสะท้อนภาพให้แก่กันและกัน

แต่สิ่งที่ยังผลเป็นบวกมากสุดในการสร้างมุมมองผู้เล่าเรื่องคือ การเร่งเร้าให้เกิดรสตื่นเต้นระทึกใจ เล่นกับความกระหายใคร่รู้ของผู้อ่านว่าเหตุการณ์จะดำเนินต่อไปเช่นไร

ในแง่ของความบันเทิงแล้ว Fingersmith เป็นนิยายที่สนุกมากระดับอ่านแล้วติดหนึบวางไม่ลง นอกจากอารมณ์ตื่นเต้นเร้าใจแล้ว มันยังมีความเป็นเรื่องรักโรแมนติกที่ซาบซึ้งตรึงใจ มีความหม่นเศร้าสะเทือนความรู้สึก และที่ได้รับคำชื่นชมมากคือ เป็นงานเขียนในเชิงอีโรติกชั้นดี (แง่มุมนี้ยังเกี่ยวข้องกับประเด็นทางด้านเนื้อหาด้วย)

Fingersmith ใช้ฉากหลังเป็นช่วงยุคสมัยวิกตอเรียน นอกจากการให้รายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ในแบบนิยายพีเรียดแล้ว หลักใหญ่ใจความที่เหลือ คือการสร้างโลกจำลองฉากของยุควิกตอเรียนขึ้นมาใหม่ตามทัศนะของซาราห์ วอเตอร์ส

เป็นโลกที่กล่าวได้ว่าเต็มไปด้วยความอัปลักษณ์โสมม ทั้งสภาพบ้านเรือนในแหล่งย่านเสื่อมโทรมของชนชั้นล่าง ถนนหนทางเฉอะแฉะสกปรก ดินฟ้าอากาศอึมครึม พฤติกรรมของผู้คนในแวดวงมิจฉาชีพ ขณะเดียวกันที่คฤหาสน์ไบรอาร์ ซึ่งเป็นที่พำนักของคนอีกระดับชั้นก็ไม่ได้ดีไปกว่ากันสักเท่าไร เสื่อมโทรมรกร้างจากการถูกปล่อยปละละเลยไร้การดูแล และที่สำคัญยิ่งกว่าคือ กฏระเบียบต่างๆ ที่ถูกกำหนดขึ้นโดยนายใหญ่ผู้มีอำนาจคือคริสโตเฟอร์ ลิลลี ทำให้สภาพชีวิตความเป็นอยู่ บรรยากาศในคฤหาสน์เต็มไปด้วยความแห้งแล้งเย็นชา ไร้ชีวิตจิตใจ วันแล้ววันเล่าผ่านไปด้วยกิจวัตรซ้ำซากเป็นกลไก

เลวร้ายกว่านั้นคือคฤหาสน์ไบรอาร์เป็นโลกแห่งความวิปริต คริสโตเฟอร์ ลิลลี หลงใหลคลั่งไคล้การสะสมหนังสือ มีห้องสมุดส่วนตัวขนาดใหญ่ วันๆ หมกมุ่นคร่ำเคร่งกับการทำหนังสือสารบรรณ จัดระบบให้แก่หนังสือที่มีอยู่ในครอบครอง โมดต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงต่อวันช่วยงานลุง ทั้งทำหน้าที่คัดลอกหนังสือ และบางครั้งเมื่อมีแขกรับเชิญ หน้าที่ของเธอคือการอ่านหนังสือที่มีอยู่ในห้องสมุดให้แขกเหรื่อฟัง (เหมือนการแสดงโชว์)

ทั้งหมดฟังดูไม่สู้กระไรหรือมีความเสียหายอันใดนะครับ ถ้าหากเป็นห้องสมุดปกติทั่วไป แต่หนังสือทั้งหมดที่มีอยู่ในคฤหาสน์หลังนี้คือหนังสือลามกทั้งสิ้น

นอกจากบ้านซ่องโจรและคฤหาสน์แล้ว ยังมีอีกฉากหลังสำคัญซึ่งผมจะไม่เปิดเผยว่าคือสถานที่เช่นไร แต่ท่านที่ได้อ่านจะทราบได้อย่างชัดเจนว่าเป็นอีกโลกหนึ่งที่เสื่อมและเลวร้ายไม่แพ้กัน

พูดอีกแบบหนึ่งได้ว่า พล็อตและเหตุการณ์ใน Fingersmith มีองค์ประกอบแบบเรื่องประโลมโลกย์หรือนิยายราคาถูกอยู่ครบครัน ไม่ว่าจะเป็นความรักที่เกิดขึ้นระหว่างคู่อริ (แบบเดียวกับละครโทรทัศน์หลังข่าวที่พระเอกนางเอกเกลียดกันเมื่อแรกเจอ แล้วรักกันในเวลาต่อมา) เหตุบังเอิญแบบผิดฝาผิดตัว การทรยศหักหลังและการอิจฉาริษยา สถานการณ์ชิงรักหักสวาท รวมถึงหลายๆ ความลับซึ่งเมื่อเฉลยออกมา น้ำเน่าระดับยุงชุม

แต่ความยอดเยี่ยมของ Fingersmith คือการใช้พล็อตและเหตุการณ์ดังกล่าวนำพาผู้อ่านไปสู่ความลึกอีกหลายระดับขั้น

อย่างแรก คือการสร้างความขัดแย้งระหว่างความสัมพันธ์ของตัวละครที่มีลักษณะพาฝันกับฉากหลังซึ่งสะท้อนภาพสังคมในด้านลบ

ถัดมา คือการวาดภาพโลกที่เลวร้าย (และแน่นอนว่าผู้ชายเป็นใหญ่) กับตัวละครหญิงสาว 2 คนที่มีสภาพชีวิตเหมือนตกอยู่ในพันธนาการโดนกักขัง (ซูกับบ้านซ่องโจร และโมดกับคฤหาสน์ที่บงการโดยลุงจอมวิปริต) และมีสภาพเหมือนเป็นวัตถุหรือทรัพย์สมบัติชิ้นหนึ่ง (ซูเป็นสมบัติที่มีราคาค่างวดของป้าซักส์บี ขณะที่โมดเป็นสมบัติที่มีประโยชน์ใช้สอยของลุงคริสโตเฟอร์)

แง่มุมนี้นำพาไปสู่เนื้อหาหลัก คือการดิ้นรนต่อสู้เพื่อมุ่งสู่อิสรภาพ ทั้งการหลบหนีให้หลุดพ้นจากสถานที่ ทั้งการปลดปล่อยตัวเองจากสถานะที่ถูกกดขี่ครอบงำมาทั้งชีวิต และการค้นพบความปรารถนาที่แท้จริงของตนเอง

ประการหลังนี้ ขยายความเพิ่มเติมได้ว่าเชื่อมโยงไปถึงเรื่องความรักระหว่างซูกับโมด ซึ่งเป็นความรักระหว่างเพศเดียวกันอันถือเป็นเรื่องต้องห้าม สั่นคลอนและท้าทายศีลธรรมอย่างยิ่งในยุคสมัยวิกตอเรียนที่ใช้เป็นฉากหลังของนิยายเรื่องนี้

อีกแง่มุมหนึ่ง ซึ่งผมคิดว่าสำคัญและได้รับการขับเน้นจนเด่นชัดก็คือ การที่นิยายผลักดันให้ตัวละครเอกของเรื่องตั้งคำถามอยู่ตลอดเวลาว่าแท้จริงแล้วตนเป็นใครกันแน่? แง่มุมนี้มีทั้งที่เล่าผ่านสถานการณ์พลิกผันไปมา ผ่านรายละเอียดเกี่ยวกับการแต่งเนื้อแต่งตัว ผ่านสถานการณ์ได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างกัน ผ่านสถานะระหว่างการเป็นผู้ล่อลวงกับผู้ตกเป็นเหยื่อ ฯลฯ

งานเขียนของซาราห์ วอเตอร์ส แลดูปกติธรรมดาในแง่ภาษาและวรรณศิลป์นะครับ ไม่มีการเปรียบเปรยที่สละสลวยคมคาย ไม่มีการสะท้อนความคิดอ่านลึกซึ้งของตัวละคร (ตรงกันข้าม ทั้งซูและโมดเป็นตัวละครที่กระเดียดไปทางคิดอะไรซื่อๆ) บทสนทนาเหมือนชาวบ้านคุยกัน ปราศจากเนื้อความเฉียบคมหลักแหลม การบรรยายพรรณนาฉากหลัง ไม่ได้สะสวยวิจิตรบรรจง แค่บอกเล่าง่ายๆ ให้ผู้อ่านสามารถนึกภาพคล้อยตามได้

พูดง่ายๆ คือถ้าเทียบเคียงกับวรรณกรรมประเภทได้รางวี่รางวัล ลีลาการเขียนของซาราห์ วอเตอร์ส แทบจะไม่มีคุณสมบัติข้อใดเข้าข่ายเลย กระทั่งว่าพล็อตเรื่องที่คิดได้อย่างชาญฉลาดก็โน้มเอียงไปทางฝั่งงานเขียนประเภทเบสต์ เซลเลอร์เสียมากกว่า

อย่างไรก็ตาม ฝีมือการเขียนของซาราห์ วอเตอร์ส ก็มีจุดเด่นที่ผมประทับใจอยู่ 2 ประการ แรกสุดคือความเป็นยอดนักเล่าเรื่องผู้เก่งกาจ มีจังหวะผ่อนหนักผ่อนเบาในการเร้าอารมณ์ที่แม่นยำ กระชับฉับไวในช่วงที่ควรจะรวดเร็ว และให้รายละเอียดถี่ถ้วนในช่วงที่ควรจะดึงให้ช้า (ผมกับเพื่อนมักเรียกจังหวะแบบนี้ว่า ‘ช่วงขยี้’)

ถัดมาคือการให้รายละเอียดเพื่อสร้างบรรยากาศให้แก่ฉากหลัง พูดง่ายๆ คือบรรยายฉาก เครื่องแต่งกาย สถานที่ได้เก่ง

แต่ที่พิเศษกว่านั้น ตรงนี้ขออนุญาตเทียบเคียงเป็นหนังก็แล้วกันนะครับ หากเปรียบเป็นการสร้างหนังสักเรื่อง นิยายของซาราห์ วอเตอร์ส เหมือนหนังที่ผู้กำกับเก่งด้านการจัดองค์ประกอบภาพ และเก่งในการจัดสรรสิ่งของต่างๆ มาประกอบฉาก

ตลอดทั่วทั้งเรื่อง ทั้งซูและโมดปรากฏตัวผ่านการยืนที่กระจกหน้าต่าง กรงรั้ว บานประตู รวมถึงการแอบมองผ่านการเจาะรูผนัง หรือการเงี่ยหูฟังเสียงจากอีกห้องผ่านผนัง ฯลฯ มีอะไรทำนองนี้อยู่เต็มไปหมด เมื่อประกอบรวมกับเนื้อเรื่องแล้ว ผมคิดว่ามันตอกย้ำ (หรืออย่างน้อยที่สุดก็สอดคล้องกับ) สภาพการถูกจองจำกักขัง เป็นนกน้อยในกรงทอง การมีชีวิตเหมือนถูกพันธนาการล่ามด้วยโซ่ที่มองไม่เห็น

นอกจากรายละเอียดดังกล่าวข้างต้นแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ใช้อย่างโดดเด่นมากในงานเขียนชิ้นนี้ก็คือกระจกเงา ในความหมายตรงตัว มันพูดถึงการสะท้อนภาพของตัวละคร แต่เลยไกลไปอีก มันเชื่อมโยงไปถึงการที่ซูกับโมดต่างเป็นภาพสะท้อนของกันและกัน นี่ยังไม่นับรวมความหมายในแง่การเป็นผู้เฝ้ามองและการเป็นฝ่ายถูกลอบมอง ซึ่งปรากฏอย่างมีนัยยะทางลึกอยู่หลายต่อหลายครั้ง

รายละเอียดสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือมือและถุงมือ ซึ่งมีให้เห็นกันตั้งแต่ชื่อเรื่อง (ความหมายผิวเผินสุดน่าจะหมายถึง ‘นักล้วงกระเป๋า’ หรือซู แต่ก็มีข้อน่าสังเกตว่าเกือบจะตลอดทั้งเรื่อง ซูแทบจะไม่ได้แสดงทักษะด้านนี้เลย และเมื่อถึงคราวต้องใช้จริงๆ ก็ไม่ได้ทำไปเพื่อเจตนาลักทรัพย์ แต่ทำเพื่อเอาตัวรอดจากสถานการณ์คับขันเสียมากกว่า) การพรรณนาสาธยายมือของซูและโมดหลายครั้งหลายครา การที่โมดถูกลุงบังคับให้สวมถุงมือตลอดเวลา

ตรงนี้มีการตีความกันไปได้ต่างๆ นานา เหมือนเดิมนะครับว่า ขณะเขียนต้นฉบับชิ้นนี้ ผมยังไม่มีโอกาสครุ่นคิดโดยละเอียด แต่ไปอ่านเจอบทวิจารณ์ชิ้นหนึ่งตีความเรื่องมือและถุงมือ (รวมถึงชื่อเรื่อง Fingersmith) ว่ามันสะท้อนความหมายไปถึงเรื่องเซ็กซ์และแง่มุมอีโรติก โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับเรื่องเลสเบียน

ผมอ่านดูก็คิดว่าเข้าเค้าและเห็นด้วยคล้อยตามนะครับ

ประการสุดท้ายที่ทำให้ผมชอบนิยายเรื่องนี้มากก็คือ ภายใต้ความเป็นนิยายรักแบบ ‘ลับ ลวง พราง’ อาจกล่าวได้ว่ามันเป็นนิยายการเมืองเกี่ยวกับการต่อสู้ เพื่อให้หลุดพ้นจากการถูกปกครองอย่างกดขี่ข่มเหงได้เหมือนกัน

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save