fbpx
จาก ‘ทรัมป์’ ถึง #เลือกตั้ง62 : แรงสั่นสะเทือนทางการเมืองต่อวงการศิลปะ

จาก ‘ทรัมป์’ ถึง #เลือกตั้ง62 : แรงสั่นสะเทือนทางการเมืองต่อวงการศิลปะ

คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

ช่วงที่กำลังเขียนต้นฉบับชิ้นนี้อยู่ภาพยนตร์เรื่อง Us ของ จอร์แดน พีล (เจ้าของหนังดัง Get Out) กำลังเข้าฉายในบ้านเราครับ ใครที่เป็นคอหนังดูเทรลเลอร์เรื่องนี้ปุ๊บจะเก็ททันทีว่ามันคือการล้อเลียนฉากเปิดของหนังเรื่อง Funny Games (1997) ว่าด้วยครอบครัวแสนสุขที่ขับรถไปยังบ้านพักริมทะเลสาบ ก่อนจะเจอการรังควานจากคู่หูอ้วนผอมจิตป่วยจนกลายเป็นฝันร้ายอันไม่จบสิ้น

Funny Games เป็นหนังที่ทำออกมาเพื่อเสียดสีพวกชนชั้นกลางฐานะดีแต่เต็มไปด้วยความ Ignorance (เพิกเฉย) อย่างเจ็บแสบ น่าสนใจว่ากิจกรรมประเภท ‘หนีจากตัวเมืองไปใช้เวลาพักผ่อนในหมู่บ้านชนบท’ เป็นอะไรที่สุดแสนจะ ‘ชนชั้นกลางผิวขาว’ ทว่าหนังเรื่อง Us กลับนำครอบครัวผิวสีไปอยู่ในสถานการณ์ประเภทนี้ จะเห็นจากตัวอย่างหนังว่า ฉากนอนเล่นริมชายหาด พวกเขาเป็นคนผิวสีท่ามกลางมวลหมู่คนผิวขาว

 

 

โดยปกติแล้ว ‘คนดำ’ (ขออนุญาตใช้คำแบบไม่ค่อย PC นะครับ) มักจะมีภาพจำหรือ Stereotype เด่นๆ หลายอย่าง อาทิ คนดำชอบกินไก่ทอด ต้องแต่งตัวแบบฮิปฮอป เสื้อตัวใหญ่ กางเกงหลวม สร้อยเส้นใหญ่เท่าโซ่ อยู่ในรถก็เปิดเพลงแนวแรปโย่วเสียงดังกระหึ่ม หรือในฮอลลีวู้ด หนังที่ว่าด้วยคนดำก็มักจะวนเวียนอยู่กับการตกเป็นทาสหรือผู้ถูกกดขี่ เช่น The Help (2011) หรือ 12 Years a Slave (2013)

ถามว่าการสร้างหนังคนดำในฐานะเหยื่อผิดหรือไม่ ก็คงไม่ผิด เพราะมันเป็นเรื่องจริงตามประวัติศาสตร์ แต่บางเสียงแสดงความกังวลว่าหนังประเภทนี้ยิ่งตอกย้ำ ‘ความเป็นเหยื่อ’ ของคนผิวสี แถมทุกเรื่องยังชอบมีตัวละครคนขาวจิตใจงามมาคอยช่วยเหลือคนดำด้วย (ดังที่เรียกกันว่า White savior) อย่างไรก็ดี แต่ละชาติมักมีความหมกมุ่นในการสร้างภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ของตัวเอง เหมือนที่จีนแผ่นดินใหญ่ยุค 90 สร้างหนังว่าด้วยยุคปฏิวัติวัฒนธรรมมากมาย หรือโรมาเนียในช่วงปลายยุค 00 ก็เต็มไปด้วยหนังเกี่ยวกับ นิโคไล เชาเชสกู (ส่วนไทยไม่ค่อยมีอะไรแบบนี้เพราะสร้างไม่ได้หรือคนทำไม่อยากเสี่ยง)

ถึงกระนั้นในช่วงสามปีมานี้ ภาพยนตร์อเมริกันที่ว่าด้วยคนผิวสีแทบจะเปลี่ยนโฉมจากหน้ามือเป็นหลังมือ เช่น หนังออสการ์อย่าง Moonlight (2016) ที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ชายรักชายของคนผิวสี ขัดกับภาพจำลูกผู้ชายแบบ Macho ของคนดำที่คุ้นชิน นอกจากนั้นสไตล์ของหนังยังเต็มไปด้วยความอ่อนหวานวูบไหว (ผู้กำกับแบร์รี่ เจนกินส์ ได้แรงบันดาลใจมาจากหนังของหว่องกาไว) ทำให้ Moonlight กลายเป็นหนังคนดำที่พิสดารเอามากๆ

ต่อมา Get Out (2017) ก็ปฏิวัติตัวละครผิวสีในหนังสยองขวัญ โดยปกติแล้วในหนังประเภทนี้คนดำต้องตายก่อนและตายอย่างไร้ประโยชน์เสียด้วย แต่ใน Get Out คนดำลุกขึ้นสู้ ไม่ยอมเป็นเหยื่ออีกต่อไป แถมสิ่งที่เขาต้องต่อสู้ด้วยคือการกดขี่ของเหล่าคนขาวที่ทำกันอย่างเป็นกระบวนการ หรือล่าสุด BlacKkKlansman (2018) ก็เป็นหนังที่ดูผิดฝาผิดตัวอย่างยิ่ง เพราะว่าด้วยคนดำที่ปลอมเสียงเป็นคนขาวเพื่อโทรไปล้วงข้อมูลจากกลุ่ม Ku Klux Klan (หนังสร้างจากเรื่องจริง)

มีการเรียกหนังคนผิวสีกลุ่มนี้อย่างเล่นๆ ว่า New Black Aesthetics หรือสุนทรียศาสตร์แบบใหม่ของหนังคนดำ (อีกครั้ง, ช่างเป็นคำที่ไม่ PC เอาเสียเลย) ซึ่งน่าสนใจว่าหนังกลุ่มนี้เกิดขึ้นมาในยุคของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์

ตั้งแต่ทรัมป์เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี หลายสำนักข่าวรายงานตรงกันว่าการเหยียดคนดำ (และคนต่างด้าวชาติอื่นๆ) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ มีหลักฐานเป็นคลิปมากมายทั้งการเหยียดบนรถไฟหรือการทะเลาะเบาะแว้งตามท้องถนน ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการเดินขบวนของกลุ่มคนขาวขวาจัดในเมืองชาร์ล็อตส์วิลล์เมื่อสิงหาคม 2017 เกิดขึ้นได้ในยุคที่มีประธานาธิบดีอย่างทรัมป์นี่แหละ

เช่นนั้นแล้วในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เราจึงเห็นแฮชแท็กต่อต้านทรัมป์และนโยบายของทรัมป์อย่าง #Resistance หรือ #BlackLivesMatter กลับมาฮิตอีกครั้ง แม้ว่าแรงต้านนี้อาจจะนำไปสู่สิ่งที่ไม่เข้าเท่านักอย่าง #OscarsSoWhite (การแสดงความไม่พอใจที่ออสการ์ปี 2016 แทบไม่มีผู้เข้าชิงเป็นคนผิวสี) แต่หนังกลุ่ม New Black Aesthetics น่าจะได้อิทธิพลมาจากสภาวะทางสังคมและการเมืองในยุคทรัมป์ไม่มากก็น้อย

ในปี 2019 ยังมีหนังที่ต่อยอดแนวทางของ New Black Aesthetics ออกมาอย่างต่อเนื่อง นอกจาก Us ที่กล่าวไปแล้ว ก็จะมี Ma ที่ ออคตาเวีย สเปนเซอร์ พลิกบทบาทจากสาวผิวสีร่างท้วมใจงามมาเป็นยัยป้าผิวดำโรคจิตไล่ฆ่าวัยรุ่นผิวขาว (ฮา) หรือ The Last Black Man in San Francisco เล่าถึงสองหนุ่มผิวสีที่พยายามอ้างสิทธิ์ความเป็นเจ้าของกับบ้านสมัยเด็กของพวกเขาในซานฟรานซิสโก ซึ่งตัวอย่างหนังทำออกมาอย่างหวานละมุนแปลกตา

 

 

 

จากยุคทรัมป์ที่ส่งผลต่อวงการภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดอย่างชัดเจน น่าขบคิดว่าสภาวะการเมืองไทยจะมีผลต่อวงการภาพยนตร์และศิลปะบ้านเราอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะช่วง #เลือกตั้ง62 ที่เต็มไปด้วยข่าวเดือดๆ แบบรายวัน

หากย้อนมองประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ระยะใกล้ในช่วงทศวรรษกว่าๆ นับหลังจากการรัฐประหารปี 2006 เป็นต้นมา สังเกตได้ว่าภาพยนตร์กระแสหลักนั้นแทบจะไม่พูดถึงเรื่องการเมืองอยู่แล้ว หนังที่ว่าด้วยเรื่องการเมืองมักจะเป็นหนังอินดี้หรือหนังสั้นเสียมากกว่า

ยกตัวอย่างเช่นหนังสั้นเรื่องดังอย่าง I’m Fine สบายดีค่ะ (2008) ของ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ (ล่าสุดกลายเป็น ส.ส. LGBT คนแรกของประเทศไทย) ว่าด้วยกะเทยใส่ชุดไทยที่ขังตัวเองอยู่ในกรงแม้ว่าจะสามารถออกไปได้ ฉากหลังมีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยตั้งกระง่าน สื่อความถึงคนไทยบางจำพวกที่พอใจจะอยู่กับประชาธิปไตยแบบปลอมๆ ต่อไป

 

 

ลักษณะสองประการที่พบในหนังอิสระเกี่ยวกับการเมืองไทยคือ หนึ่ง-ต้องใช้ระยะเวลาประมาณหนึ่งถึงทำออกมาได้ เช่น I’m Fine สบายดีค่ะ ที่เป็นปฏิกิริยาต่อรัฐประหาร 2006 ทั้งนี้อาจเพราะการรอดูท่าทีของความเสี่ยงและการตกผลึกทางความคิดของผู้สร้าง สอง-มีหลายเรื่องที่พูดถึงการเมืองอย่างคลุมเครือหรือเล่าผ่านสัญลักษณ์ อาทิ ‘เจ้านกกระจอก’ (2009) ที่มีฟุตเทจม็อบพันธมิตรใส่เข้ามาแบบเหวอๆ, ‘Snap แค่…ได้คิดถึง’ (2015) พูดถึงรัฐประการ 2014 แบบจางๆ หรือ ‘ดาวคะนอง’ (2016) หนัง 6 ตุลาฯ ที่บางคนดูจบแล้วยังไม่ทราบด้วยซ้ำว่าเกี่ยวกับ 6 ตุลาฯ แต่ทั้งหมดที่ว่ามาก็อาจจะเป็นสไตล์ของผู้กำกับด้วย

ในช่วงปลายยุค 00 จนถึงต้นยุค 10 ละครเวทีเคยเป็นสื่อศิลปะที่รีแอ็คกับประเด็นทางสังคมได้รวดเร็วมาก ในแง่ที่ว่ามันไม่ต้องผ่านกองเซ็นเซอร์แบบภาพยนตร์ อย่างเช่นคณะ B-Floor ที่เคยทำงานอย่าง ‘สันดานกา’ (2009) ที่ได้แรงบันดาลใจจากภาพวาดอื้อฉาว ‘ภิกษุสันดานกา’ หรือ Begin Again (2009) อันว่าด้วยผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา

อย่างไรก็ดี หลังจากรัฐประหารปี 2014 และการเข้ามาของรัฐบาล คสช. สถานการณ์ก็ย่ำแย่ลงทันตา ละครเวทีบางเรื่องมีทหารไปนั่งดูและคอยอัดวิดีโอ รูปถ่ายในนิทรรศการศิลปะถูกปลดออกเพราะมีเนื้อหาสุ่มเสี่ยง งานเสวนาหลายงานถูก ‘ขอความร่วมมือ’ จากทหารให้งดจัด หรือเอาให้ถึงที่สุดคนใกล้ตัวของผู้เขียนยังถูกเรียกตัวไปปรับทัศนคติด้วย เงื่อนไขเช่นนี้เองที่ทำให้เกิดภาวะสุญญากาศในวงการศิลปะไปช่วงหนึ่ง

แต่อย่างที่เราเห็นตามวงจรของประวัติศาสตร์โลก สิ่งใดที่ถูกกดทับไว้เป็นเวลานาน สักวันหนึ่งก็จะแข็งขืนลุกฮือขึ้น เราเห็นความอัดอั้นโกรธเกรี้ยวผ่านทางโลกโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นการไวรัลของเพลง ‘ประเทศกูมี’ หรือการที่แฮชแท็กอย่าง #เลื่อนแม่มึงสิ #ใครลูกมึง #กกตโป๊ะแตก ติดเทรนด์ขึ้นมา ดังนั้นเชื่อได้ว่าตอนนี้หลายคน (โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่) มีเรื่องอยากจะพูด เพียงแต่พวกเขายังหาวิธีที่จะถ่ายทอดมันออกมาไม่ได้

ณ ตอนที่เขียนบทความนี้ ยังไม่ทราบดีว่าบทสรุปของ #เลือกตั้ง62 จะเป็นอย่างไร ประเทศไทยจะหลุดพ้นจากการควบคุมของ คสช. ได้หรือไม่ หรือว่าศิลปินยังต้องผลิตงานศิลปะแบบอ้อมค้อมต่อไปอีก แม้จะมีคนกล่าวว่าการหลบเลี่ยงความเสี่ยงทางการเมืองถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งในการทำงานศิลปะ แต่ผู้เขียนคิดว่าประเทศเราน่าจะอยู่ในความท้าทาย (หรือที่จริงคือความท้อแท้) แบบนี้มานานมากเกินไปแล้ว

คงเป็นการเฝ้าฝันถึงโลกยูโทเปียถ้าจะมองไปถึงวันที่เราสามารถทำงานศิลปะว่าด้วย 14 ตุลาฯ, 6 ตุลาฯ, พฤษภาทมิฬ, การสลายการชุมนุมปี 2010 ฯลฯ อย่างตรงไปตรงมา แต่ต้องไม่ลืมว่าหน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งของศิลปะ (โดยเฉพาะภาพยนตร์) คือการบันทึกไว้ซึ่งประวัติศาสตร์ แม้ว่ามันจะเป็นประวัติศาสตร์ที่เลวร้าย แต่ก็เป็นเครื่องเตือนใจว่าเราไม่ควรกลับไปซ้ำรอยเช่นนั้นอีก

MOST READ

Life & Culture

1 Feb 2019

ทรมานแสนสุขสม : เปิดโลก ‘BDSM’ รสนิยมทางเพศที่ตั้งต้นจากความยินยอมพร้อมใจ

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ ชวนสำรวจรสนิยมทางเพศแบบ BDSM ผ่านการพูดคุยกับสองสาวเจ้าของเพจ Thailand BDSM : Let’s Play and Learn ว่าด้วยนิยาม รูปแบบ คำอธิบายของความสุขในความเจ็บปวด ไปจนถึงความเสี่ยงในการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อตามหาผู้มีรสนิยมแบบเดียวกัน พร้อมเก็บบรรยากาศการแสดง ‘ชิบาริ’ โดยศิลปินชาวญี่ปุ่นมาเล่าสู่กันฟังอย่างถึงเนื้อถึงหนัง

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

1 Feb 2019

Life & Culture

8 Sep 2021

คนกระโปกแห่งยุคสมัย 199x ทำไมเด็กเจนวายไม่ยอมโต

คอลัมน์ PopCapture พิมพ์ชนก พุกสุข เขียนถึงสาเหตุสำคัญว่าเพราะอะไร ‘ชาวมิลเลนเนียลส์’ ถึงไม่อาจเติบโตได้อย่างที่ใจหวัง

พิมพ์ชนก พุกสุข

8 Sep 2021

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save