fbpx
ความระทมเหลือทนของคนสอนภาพยนตร์ศึกษา

ความระทมเหลือทนของคนสอนภาพยนตร์ศึกษา

คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

[box]

คันฉัตรเป็นคนขี้บ่น คันฉัตรชื่อเล่นชื่อ ‘ต่อ’ เมื่อเขาเริ่มเอ่ยปากบ่น เพื่อนๆ จึงมักแซวว่า “ขอต้อนรับเข้าสู่ช่วง ‘ต่อว่า’ จ้าาา” …เขาจะมาบ่นเรื่องราวรอบตัวเป็นประจำทุกเดือน เริ่มจากเรื่องใกล้ตัวอย่างความทุกข์ในฐานะอาจารย์สอนภาพยนตร์ศึกษา

[/box]

ผมเป็นคนที่โดยสารไปไหนมาไหนด้วยการใช้แท็กซี่ครับ ด้วยอาชีพอาจารย์พิเศษก็ทำให้ต้องเดินทางไปมหาวิทยาลัยต่างๆ  ราว 40% ของพี่โชเฟอร์ที่พบเจอ เมื่อเลี้ยวรถเข้ามหาวิทยาลัยปุ๊บ แกจะถามทันทีว่า “เป็นอาจารย์เหรอครับ” อาห์…บทสนทนาอันน่าลำบากใจเริ่มต้นอีกแล้วสินะ

ผม : ใช่ครับ

พี่คนขับ : สอนอะไรเหรอน้อง

ผม : สอนภาพยนตร์ครับ

พี่คนขับ : โห สอนทำหนังเหรอ เก๋ไปเลย

ผม : อ่า ไม่ใช่ครับ

พี่คนขับ : อ้าว แล้วสอนอะไรล่ะ

ผม : สอนภาพยนตร์ศึกษาน่ะครับ

พี่คนขับ : อ๋อ เขียนบทไรงี้สินะ

ผม : อ่า ก็ไม่ใช่ครับ

พี่คนขับ : อ้าว แล้วตกลงสอนอะไรกันแน่

ผม : ก็พวกวิจารณ์ วิเคราะห์หนังอะครับ

พี่คนขับ : แล้วตกลงน้องไม่ได้สอนทำหนังเหรอ

ผม : !@#%$$$%&^&%^#

ช่วงหลังมาเพื่อตัดความยุ่งยากผมมักจะตอบไปเลยว่าสอนเขียนบท ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วก็ไม่ได้ตรงกับอาชีพตัวเอง ถ้าให้อธิบายอย่างย่นย่อ ภาพยนตร์ศึกษาหรือ Film Studies นั้นว่าด้วยภาพยนตร์ในเชิงวิชาการ วิชาที่ผมสอนจึงเป็นอะไรทำนอง ทฤษฎีภาพยนตร์ ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ การวิจารณ์ภาพยนตร์ สุนทรียศาสตร์ภาพยนตร์ ฯลฯ

อาชีพอาจารย์โดยทั่วไปจะมี ‘ความทุกข์’ แบบที่คุณผู้อ่านคงเคยได้ยินมา อาทิ นักเรียนคุยกัน ลอกงานมาส่ง งานเอกสารมากมายท่วมหัว ไปจนถึงสงครามการเมืองระหว่างอาจารย์ด้วยกัน แต่สิ่งที่ผมจะมาบอกเล่าวันนี้คือ ‘ความทุกข์เฉพาะตัว’ แบบที่อาจารย์ด้านภาพยนตร์ศึกษาต้องประสบ ซึ่งขอเลือกมาสัก 3 ข้อแล้วกันครับ (แน่นอนว่าที่จริงมีเยอะกว่านี้)

1. ห้องเรียนที่พังได้ทุกเทอม

นอกจากการเล็คเชอร์แล้ว หนึ่งในกิจกรรมหลักของกลุ่มวิชาภาพยนตร์ศึกษาคือการฉายหนังครับ แน่นอนว่าผู้สอนย่อมอยากได้ห้องเรียนที่เหมาะสมกับการฉาย เช่นว่า ห้องมืด แสงไม่เข้า ลำโพงมีคุณภาพ แต่โลกความเป็นจริงมันโหดร้าย ผมมักจะได้ห้องที่มีลักษณะตรงข้ามทั้งหมดที่ว่ามา ทั้งแสงเข้า ลำโพงแตก โปรเจ็คเตอร์สีเพี้ยน ชนิดที่ว่าถ้าผู้กำกับหนังมาเห็นคงอยากจะกัดลิ้นตายตรงนั้น

สาเหตุของความพังเหล่านี้ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน ห้องส่วนใหญ่ถูกออกแบบเป็นห้องเอนกประสงค์ ใช้ได้ในการสอนทุกวิชา ไม่ได้มีการออกแบบสำหรับวิชาทางภาพยนตร์โดยเฉพาะ มีครั้งหนึ่งผมเคยเรียกช่างเทคนิคมาดูว่าจอมันเพี้ยนมีเส้นเขียวๆ ขึ้นมาตรงกลางนะ แต่ช่างกลับตอบกลับด้วยเสียงหงุดหงิดว่า “เอ้า ภาพมันก็ติดนิครับอาจารย์” สรุปคือถ้าฉายภาพไปบนจอแล้วติด ถือเป็นอันใช้ได้

ในเมื่อไม่สามารถเรียกร้องทุกอย่างตามใจต้องการ ผมเลยขอร้องทางคณะไปอย่างเดียวว่า ขอห้องที่มืดและแสงไม่เข้าก็พอ แต่สิ่งที่ได้มามักจะเป็นอะไรแบบนี้…

ห้องเรียนพัง

ถ้าโชคดีหน่อยก็ขอย้ายห้องได้ ถ้าไม่ได้ก็ต้องทนใช้ไปทั้งเทอม เคยถามทางคณะว่าช่วยเอาม่านมาติดได้มั้ย ได้คำตอบว่าต้องทำเรื่องทำงบ บลาๆ สงสัยถ้ารอคงจบเทอมพอดี เลยแก้ปัญหาแบบบ้านๆ ด้วยการเอาม่านไปปิด กลายเป็นต้องคอยพกผ้าดำติดกระเป๋าไว้ (นี่เอ็งเป็นแบทแมนเหรอ)

2. นักศึกษาที่ไม่อินด้วย

สิ่งที่อาจารย์สายภาพยนตร์ศึกษาคาดหวังจากนักเรียนก็คือการเป็นคนชอบดูหนัง ดูแล้วคิดตาม ไม่ใช่เพื่อความบันเทิงอย่างเดียว แต่หลายครั้งที่นักศึกษามาลงไม่ใช่เพราะสนใจในตัววิชาหรือจะมาวิคงวิเคราะห์อะไรกับหนัง บ้างก็เป็นวิชาบังคับในหลักสูตรที่ต้องลงๆ ไปเพื่อให้เรียนจบ หรือถ้าเป็นวิชาเลือกก็เป็นแนวมาลงให้หน่วยกิตครบ (ฮือ)

ปัญหาคือหนังในวิชาภาพยนตร์ศึกษาส่วนใหญ่จะไม่สนุก เป็นหนังที่อยู่ขั้วตรงข้ามกับจักรวาลมาร์เวล เช่น หนังขาวดำยุค 40 หนังทดลองที่ถ่ายท้องฟ้าสองชั่วโมง หรือหนังปาล์มทองของอภิชาติพงศ์ การดูหนังพวกนี้ต้องใช้ความอดทนพอควร บางคลาสก็ดีหน่อยที่เด็กยังตั้งใจดูหนัง แต่บางคลาสก็หลับไปครึ่งห้อง ส่วนอีกครึ่งหนึ่งก้มหน้าเล่นมือถือกันหมด

วิธีแก้ที่พอจะมีสติปัญญาคิดออกคือฉายหนังง่าย-ยากสลับกันไป บางสัปดาห์อาจจะไม่ต้องอาร์ตมาก เอาแบบฮาแต่มีประเด็นเกี่ยวกับเรื่องที่จะสอน แต่แน่นอนว่าหนังยากๆ บางเรื่องก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะพวกหนัง ‘หลักไมล์’ (เช่น การจะไม่พูดถึงหนังแบบ 2001: A Space Odyssey คงเป็นเรื่องบาปมหันต์) เคสนี้ต้องชักแม่น้ำทั้งห้ามาอธิบายให้นักศึกษาฟังว่าทำไมหนังเรื่องนี้ต้องดู สำคัญยังไง ทำไมได้ปาล์มทองคำ หรือไอ้ที่เขาถ่ายท้องฟ้าสองชั่วโมงเนี่ยเขาทำไปทำไม

3. ความขัดแย้งในตัวเองของหลักสูตร

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าวิชาที่ผมรับผิดชอบจะเน้นด้านวิชาการของภาพยนตร์ แต่วันดีคืนดีหัวหน้าภาคหรืออาจารย์ท่านอื่นๆ อาจจะมากระซิบว่า “อาจารย์สั่งให้เด็กทำหนังด้วยสิ” สมัยเป็นอาจารย์ใหม่ๆ ก็งงไปเลยว่า อ้าว เรื่องพวกนี้น่าจะเป็นของอาจารย์สอนทำหนัง (Film Production) นี่นา

ภายหลังมารู้ว่าทางคณะอยากให้นักศึกษาทำหนังก็เพื่อส่งประกวดจนสร้างชื่อเสียงกับมหาวิทยาลัย เพราะ ‘ผลงาน’ ของวิชาสายภาพยนตร์ศึกษาจะเป็นบทวิจารณ์หรือบทความวิชาการ ซึ่งบ้านเราไม่ค่อยมีเวทีให้ปล่อยของนัก ต่างจากโครงการประกวดหนังสั้นที่มีนับไม่ถ้วน อาทิ หนังสั้นต้านการสูบบุหรี่ สร้างความเข้าใจเรื่องโรคซึมเศร้า ไปจนถึงคลิปโปรโมทร้านปิ้งย่าง

ทั้งนี้ไม่ใช่ว่าเวลามาเรียนภาพยนตร์ศึกษาจะต้องเอาแต่ ดู ดู ดู หนังลูกเดียว จนห้ามทำหนังนะครับ แต่ผมมักบอกกับนักศึกษาว่าถ้าอยากทำหนังก็ทำเลยสิ ไม่ต้องรอให้อาจารย์สั่งหรอก แต่เพื่อประนีประนอมกับทางคณะ ผมเลยใช้วิธีให้นักศึกษาเลือกส่งงานได้สองแบบ คือส่งเป็นเปเปอร์หรือหนังสั้น เพราะนักศึกษาบางคนไม่ได้อยากทำหนัง จะบังคับให้ทุกคนทำก็ใช่เรื่อง  

แต่เอาจริงแล้ว วิชาภาพยนตร์ศึกษาก็มีจุดอ่อนตรงที่ไม่ตอบสนองตลาดแรงงานของไทยเท่าไร ประเทศนี้ไม่ได้ต้องการนักวิชาการทางภาพยนตร์หรอกครับ ผมเองบอกนักศึกษาอยู่เสมอว่าอย่าได้ริจะเป็นนักวิจารณ์หนังเชียว เงินมันแสนจะน้อยนิด ส่วนพวกเพจหนังก็เริ่มเฝือแล้ว ถึงอย่างไรงานประเภทใช้ ‘สกิล’ ก็ยังเป็นที่ต้องการอยู่ดี ไม่ว่าจะตากล้อง ตัดต่อ ฝ่ายสถานที่ เสื้อผ้า หรือที่มาแรงในช่วงนี้คือ ‘นักทำวิดีโอ’ อย่างที่เห็นว่าทุกสำนักข่าวนำเสนอด้วยวิดีโอกันหมด

เช่นนั้นแล้วในคาบสุดท้ายของการสอนผมจึงมักทิ้งท้ายว่า – วิชานี้อาจจะไม่ได้ practical อะไรมาก ชีวิตจริงคุณคงไม่มาวิเคราะห์หนังแบบมาร์กซิสต์ หรือหยิบหนังของอิงมาร์ เบิร์กแมน มาดูตอนให้นมลูก แต่อย่างน้อยการได้ดูหนังแปลกๆ ใหม่ๆ น่าจะช่วยขยายขอบเขตทางภาพยนตร์หรือมุมมองของพวกคุณได้ (แหม่ พูดแล้วหล่อเชียว…)

MOST READ

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

22 Jun 2022

อ่านประวัติศาสตร์ ‘สาธิตจุฬาฯ’ เรื่องเล่าลบเลือนของศิษย์เก่าผู้เกือบจะได้เป็นเจ้าฟ้า (?)

เรื่องเล่าการค้นหาประวัติการศึกษาที่หายไปของ หม่อมเจ้าวัชเรศร มหิดล (วัชเรศร วิวัชรวงศ์) พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในช่วงที่เคยศึกษาที่สาธิตจุฬาฯ

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

22 Jun 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save