fbpx

ภาพยนตร์จะไม่ตาย แต่รอการท้าทายอยู่เสมอ : ไกรวุฒิ จุลพงศธร

 

“ภาพยนตร์ตายแล้ว!” ประโยคคลาสสิกที่ถูกตะโกนขึ้นทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในโลกภาพยนตร์

และใช่ เราต่างรู้กันว่ามันยังไม่ตาย แต่เป็นแค่การเปลี่ยนแปลงอีกครั้งของโลกภาพยนตร์ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงครั้งแล้วครั้งเล่าตลอดชีวิตของภาพยนตร์นับแต่ถูกคิดค้นขึ้นเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว

ในห้วงยามนี้ก็เช่นกัน เมื่อการรับชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์พร้อมผู้คนมากหน้าหลายตาอาจไม่ใช่กิจกรรมที่มนุษย์เคยชินอีกต่อไป ขณะที่โลกเปลี่ยน ผู้ชมเปลี่ยน อุตสาหกรรมเปลี่ยน แน่นอนว่าการศึกษาภาพยนตร์ย่อมเกิดการเปลี่ยนแปลง

สำหรับ ไกรวุฒิ จุลพงศธร อาจารย์ประจำภาควิชาการภาพยนตร์และภาพนิ่ง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นความเปลี่ยนแปลงต่างๆ นี้ในฐานะการขยับอีกครั้งของโลกภาพยนตร์ แต่สิ่งสำคัญของการศึกษาภาพยนตร์คือการเข้าใจ ‘แก่น’ ว่าภาพยนตร์มีหน้าที่อย่างไรต่อสังคมมนุษย์ อันจะทำให้เห็นคำตอบว่าภาพยนตร์จะมีที่เหยียบยืนอย่างไรในก้าวต่อไปของประวัติศาสตร์

นอกจากบทบาทอาจารย์ที่สอนภาพยนตร์ศึกษา (film studies) ระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอกแล้ว ไกรวุฒิเป็นนักวิจัยภาพยนตร์ที่สนใจสำรวจมิติความสัมพันธ์ระหว่างภาพยนตร์กับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในบริบทเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“ภาพยนตร์เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่มอบโอกาสให้มนุษย์เห็นภาพเคลื่อนไหว และภาพเคลื่อนไหวทำให้มนุษย์เห็นโลก เห็นตัวเอง”

การปรับตัวของโลกภาพยนตร์เกิดขึ้นพร้อมความเปลี่ยนแปลงของโลก พัฒนาไปพร้อมกับการเติบโตของมนุษย์ และเป็นเช่นนี้ตลอดเส้นทางชีวิตกว่าร้อยปีของภาพยนตร์ ในฐานะภาพสะท้อนให้มนุษย์มองตัวเองและเห็นโลกในมุมที่ต่างไปจากเดิม กระทั่งในวันนี้ที่สื่อกลางในการรับชมภาพยนตร์เปลี่ยนแปลงไปอย่างที่ผู้คนในอดีตไม่อาจจินตนาการได้ ภาพยนตร์ก็ยังคงอยู่ในชีวิตประจำวันของมนุษย์อย่างแนบชิด

บทสนทนากับไกรวุฒิต่อจากนี้ นอกจากจะมุ่งตอบคำถามที่ว่า ภาพยนตร์คืออะไรสำหรับโลกวันนี้ ยังชวนมองถึงทิศทางการศึกษาภาพยนตร์ จนถึงสิ่งที่เขาอยากเห็นจากวงการภาพยนตร์ไทย

สำหรับคุณแล้วให้นิยามคำว่า ภาพยนตร์อย่างไร

ทุกวันนี้ในฐานะที่ผมสอนด้านวิเคราะห์ภาพยนตร์ก็จะถามนักศึกษาอยู่บ่อยครั้งว่า ตอนนี้ภาพยนตร์คืออะไร เมื่อก่อนมันคืออะไร และมันจะกลายไปเป็นอะไร สภาวะของภาพยนตร์เปลี่ยนไปเพราะตอนนี้มีภาพเคลื่อนไหวหลายประเภทมาก ทั้งในรูปแบบคลิป ภาพดิจิทัลต่างๆ หรือในแพลตฟอร์มสตรีมมิงก็ไม่ได้มีแค่ภาพยนตร์ แต่ยังมีซีรีส์ เรียลิตี้โชว์ต่างๆ อีกทั้งยังมีภาพเคลื่อนไหวในแบบอื่นๆ เช่น ภาพเคลื่อนไหวที่แสดงในมิวเซียมหรือแกลเลอรี

แล้วภาพยนตร์คืออะไร ภาพยนตร์เป็นประดิษฐกรรมของมนุษย์ที่สร้างภาพเคลื่อนไหวขึ้นมาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 จนถึงตอนนี้ เป็นประดิษฐกรรมที่มีอายุยาวนานเป็นร้อยปี ตลอดร้อยกว่าปีที่ผ่านมาก็มีการเปลี่ยนแปลง มีการขยาย มีความหลากหลายในตัวนิยามของมันอย่างมากมาย แต่โดยหลักแล้วภาพยนตร์เป็น time-based medium คือสื่อที่เราต้องใช้เวลาอยู่กับมัน การดูภาพยนตร์เรื่องหนึ่งต้องนั่งดูตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่เหมือนภาพวาดที่เราจะยืนดูแค่วินาทีเดียวหรือยืนดูทั้งชั่วโมงก็ได้

ก่อนการเกิดขึ้นของภาพยนตร์ มนุษย์ไม่เคยสัมผัสกับภาพเคลื่อนไหวมาก่อน มนุษย์สัมผัสความจริงไปเลย ต่อให้สัมผัสภาพเคลื่อนไหวแบบหนังตะลุงก็ไม่เหมือนภาพเคลื่อนไหวแบบที่ภาพยนตร์มอบให้ การเกิดขึ้นของภาพยนตร์มอบประสบการณ์ให้มนุษย์ได้เปิดวิธีคิดแบบใหม่ นี่คือสิ่งที่ภาพยนตร์มอบให้กับมนุษยชาติ ทำให้ภาพยนตร์เป็นสิ่งที่มีคุณค่าในการศึกษาต่อไป เพราะในแง่หนึ่งมันเป็นสิ่งเก่าแก่ที่เปิดวิธีคิดในเรื่องภาพเคลื่อนไหวของมนุษย์

ตอนนี้มีภาพเคลื่อนไหวอยู่เยอะมากและสังคมก็พยายามทำความเข้าใจภาพเคลื่อนไหวอันหลากหลายรูปแบบและหลากหลายมิติ ทั้งในมิติเศษฐกิจ มิติการเมือง และมิติสุนทรียศาสตร์ ขณะเดียวกันการทำความเข้าใจภาพยนตร์ก็มีมาเป็นร้อยปีแล้ว การศึกษาภาพยนตร์จึงกลายเป็นแบบแปลนหนึ่งที่สามารถปรับใช้ในการทำความเข้าใจภาพเคลื่อนไหวแบบอื่นๆ ได้

ภาพยนตร์เคยเป็นสื่อใหม่ของคนเมื่อ 120 ปีก่อน ลองนึกภาพว่าคนไม่เคยเห็นภาพเคลื่อนไหวมาก่อนแล้วได้เห็นก็ตื่นเต้น เกิดประสบการณ์เฉพาะตัวกับศาสตร์นี้ขึ้นมา แต่พอมาถึงตอนนี้ที่อินเทอร์เน็ตหรือโซเชียลมีเดียเป็นสื่อใหม่ ส่วนภาพยนตร์กลายเป็นสื่อเก่าไปแล้ว อินเทอร์เน็ตก็มอบวิธีคิดแบบใหม่ให้กับเราตอนนี้เช่นเดียวกับที่ภาพยนตร์มอบวิธีคิดให้กับคนเมื่อ 120 ปีก่อน วิธีคิดทั้งสองแบบนี้อยู่ด้วยกันได้และบางทีก็มาผสมกันได้ การเรียนภาพยนตร์ในตอนนี้จึงเหมือนเป็นประตูสำคัญบานหนึ่งที่ทำให้เราเข้าใจภาพเคลื่อนไหวในแบบอื่นๆ 

 

หน้าที่ของภาพยนตร์เปลี่ยนแปลงไปไหมตั้งแต่การเกิดขึ้นของภาพยนตร์เมื่อร้อยกว่าปีที่แล้วจนถึงตอนนี้

สังคมยังเปลี่ยนแปลงตลอดเลย สิ่งที่มีอายุเป็นร้อยปีก็มีประวัติศาสตร์และมีพลวัตเรื่อยมา คนที่ประดิษฐ์ภาพยนตร์เรียกมันว่า ‘an invention without a future’ คือประดิษฐกรรมที่ไม่มีอนาคต ตอนแรกภาพยนตร์เกิดมาในฐานะสิ่งประดิษฐ์หรือของเล่นที่น่าตื่นตาตื่นใจ แต่หลังจากช่วงปี 1910 เป็นต้นมาภาพยนตร์ก็เริ่มมีฟังก์ชันใหม่คือการรับใช้การเล่าเรื่อง คนเริ่มเอาวรรณกรรมยาวๆ มาทำเป็นภาพยนตร์ ขณะเดียวกันก็มีหน้าที่อื่นๆ ซ้อนกันไป

ในช่วงแรกหน้าที่สำคัญของภาพยนตร์คือ เป็นกิจกรรมทางสังคมที่มอบประสบการณ์น่าตื่นตาตื่นใจร่วมกับผู้อื่น แต่ตอนนี้โควิดยิ่งขับเน้นให้การดูภาพยนตร์ไม่ใช่ประสบการณ์ร่วมกับคนอื่น แต่เป็นประสบการณ์แบบฉันนั่งดู Netflix คนเดียวในบ้าน แค่เรื่องนี้ก็ทำให้หน้าที่ของมันเปลี่ยนแปลงไปว่าเป็นกิจกรรมร่วมของสังคมหรือเป็นกิจกรรมส่วนตัว แต่การเป็นกิจกรรมส่วนตัวในปัจจุบันก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่สัมพันธ์กับสังคม เช่น ระหว่างดูหนังก็แคปรูปเอาไปทวีตด้วย หรือดูหนังสตรีมมิงผ่าน Zoom พร้อมเพื่อน การสร้าง collective experience ก็มีรูปแบบที่เปลี่ยนไปเช่นกัน

 

ในโลกวันนี้ คุณมองว่าหน้าที่ของภาพยนตร์คืออะไร

ในแง่แรกปฏิเสธไม่ได้ว่ามันคือความบันเทิง แต่อีกแง่หนึ่งตอนนี้ภาพยนตร์กลายเป็นกรณีศึกษาให้คนทั้งสังคมมาคุยกัน เมื่อภาพยนตร์เรื่องหนึ่งเกิดขึ้นมาแล้วได้รับความสนใจก็จะกลายเป็นสนามของการพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ภาพยนตร์มีศิลปะการเล่าเรื่องที่เฉพาะตัวจนทำให้มีมิติที่จะพูดคุยกันได้เยอะมาก ฉะนั้นในแง่หนึ่งภาพยนตร์เป็นสนามให้คุยกันในทุกประเด็น

ในอีกแง่หนึ่ง หอภาพยนตร์ใช้คำว่า “ภาพยนตร์ทำให้เกิดปัญญา” มันเป็นศิลปะที่นำไปสู่ปัญญา ซึ่งคำว่า ‘ปัญญา’ มีทั้งในแง่ความคิด ความรู้ รวมถึงปัญญาในแง่ความเข้าใจมนุษย์ ความเข้าใจโลก ความเข้าใจตัวเอง ชมภาพยนตร์แล้วรู้ว่าตัวเองเป็นคนยังไง เข้าใจว่า…อ๋อ ตัวละครนี้มันอับอาย แล้วเราจะให้อภัยหรือไม่ในสิ่งที่ตัวละครทำ กระบวนการนี้ทำให้เราเกิดปัญญาในแง่ที่ว่าทำให้เราตระหนักถึงความเปราะบางของมนุษย์มากขึ้น

การเรียนการสอนสาขาภาพยนตร์ในไทยมีรูปแบบอย่างไร แต่ละมหาวิทยาลัยแตกต่างกันไหม

ในภาพรวมแล้วทิศทางในแต่ละมหาวิทยาลัยไม่น่าจะต่างกันมาก แต่วิธีการจัดการหรือปรัชญาความมุ่งหมายของแต่ละสถาบันอาจจะแตกต่างกัน เช่น สถาบันหนึ่งอาจให้เรียนด้านทฤษฎีไม่เยอะมาก แต่เน้นการปฏิบัติ ขณะที่อีกสถาบันอาจวางสมดุลระหว่างทฤษฎีและปฏิบัติ หรือบางแห่งมีชื่อสาขาวิชาเกี่ยวกับภาพยนตร์ก็จริงแต่เขาอาจสอนทำมีเดียชนิดอื่นด้วย ไม่ได้มุ่งแค่ภาพยนตร์อย่างเดียว

นอกจากจะมีภาควิชาที่สอนภาพยนตร์โดยตรงแล้วก็ยังมีภาควิชาอื่นที่สอนภาพยนตร์เป็นส่วนประกอบ เช่นคณะด้านสื่อ นวัตกรรม ศิลปกรรม หรือสถาปัตยกรรมในเอกด้าน visual ฉะนั้นจึงมีการเรียนการสอนหลากรูปแบบมาก

สำหรับสาขาวิชาที่สอนด้านภาพยนตร์โดยตรง ในแต่ละสถาบันระดับปริญญาตรีที่มีอยู่ในไทยนั้นทุกแห่งสอนโดยเน้นให้ผู้เรียนเป็นนักปฏิบัติ โดยการสอนเชิงวิเคราะห์ภาพยนตร์หรือการเป็นผู้เสพภาพยนตร์นั้นส่วนใหญ่จะถูกสอนเพื่อเสริมสถานะของการเป็นนักปฏิบัติ นอกจากนั้นก็มีการเรียนการสอนวิเคราะห์ภาพยนตร์ในคณะอักษรศาสตร์ ศิลปศาสตร์ โดยในกลุ่มนี้จากเดิมที่สอนโดยเน้นวรรณกรรมเป็นหลัก ปัจจุบันก็ขยายไปศึกษาสื่ออื่นๆ ด้วย

ที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ เราสอนเด็กทั้งการคิด การทำ และการวิเคราะห์ เพราะมันจะไปเกื้อกูลกัน ในภาควิชาที่ผมสอนอยู่ก็จะมีสายภาพนิ่งแตกออกมาด้วย การเรียนของเราจึงมีสามกิ่ง คือ การสร้างหนัง การถ่ายภาพนิ่ง และภาพยนตร์ศึกษา (การศึกษาหนังในสายวิเคราะห์) นิสิตก็จะเลือกตามสิ่งที่เขาสนใจ

 

เป้าหมายที่วางไว้ในการศึกษาสาขาภาพยนตร์ที่นิเทศศาสตร์ จุฬาฯ คืออะไร

เป้าหมายหลักของเราคือ ‘directing school’ หมายถึงเราจะทรีตให้ทุกคนเป็นผู้กำกับหรือผู้ที่ทำผลงานสร้างสรรค์ แต่ไม่ได้หมายความว่าเด็กรุ่นหนึ่งมี 30 คน แล้วจะต้องเป็นผู้กำกับทั้ง 30 คนเลย

ในภาควิชานั้นเราแบ่งวิชาออกมาเป็นสามกลุ่ม ได้แก่ การผลิตหนัง กลุ่มภาพนิ่ง และกลุ่มภาพยนตร์ศึกษา โดยเรามีวิชาบังคับอยู่ส่วนหนึ่ง นอกจากนั้นก็เป็นวิชาเลือกที่เราเปิดให้เด็กเลือกชอปปิงวิชาต่างๆ ที่เขาสนใจเอง คนที่สนใจเรื่องการกำกับก็จะเลือกเรียนเน้นด้านการกำกับหรือเน้นด้านการถ่ายทำเป็นหลัก โดยอาจไปลงวิชากำกับละครเวทีหรือวิชากำกับสื่ออื่นๆ ในภาควิชาอื่นด้วย คนที่สนใจการเป็นตากล้องก็เลือกวิชาด้านตากล้องหรือวิชาการจัดแสง การออกแบบภาพ บางคนก็อาจเลือกสายภาพยนตร์ศึกษา

ฉะนั้นพอจบปี 4 ออกมา แต่ละคนในรุ่นเดียวกันก็จะเรียนไม่เหมือนกัน แต่ละคนได้ค้นหาความชอบของตัวเองผ่านการเลือกวิชา นี่คือสิ่งที่เราออกแบบมาและทำได้เพราะจำนวนนิสิตไม่ได้เยอะมาก มีการบาลานซ์ให้ทำทั้งงานกลุ่มและงานเดี่ยว เพราะเราต้องการขับความเป็น individual ของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน

เมื่อเรียนไปแต่ละคนจะค่อยๆ รู้ว่าเขาชอบอะไร หน้าที่ของเราก็คือ หากมีเด็กสัก 7 คนที่ชอบอะไรเหมือนกัน แล้วในภาควิชาของเราไม่มีวิชาที่รองรับความชอบนั้นได้ เราก็อาจคิดกิจกรรมอื่นๆ เช่น จัดเวิร์กชอปหรือเปิดวิชาใหม่ นี่เป็นสิ่งที่เราพยายามจะทำบนเงื่อนไขต่างๆ ที่เผชิญอยู่ โดยเฉพาะในการเรียนยุคโควิด

เมื่อภาพยนตร์เรื่องหนึ่งเกิดขึ้นมาแล้วได้รับความสนใจก็จะกลายเป็นสนามของการพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ภาพยนตร์มีศิลปะการเล่าเรื่องที่เฉพาะตัวจนทำให้มีมิติที่จะพูดคุยกันได้เยอะมาก ฉะนั้นในแง่หนึ่งภาพยนตร์เป็นสนามให้คุยกันในทุกประเด็น

คนที่เข้ามาเรียนส่วนใหญ่มีความคาดหวังอย่างไร แล้วเมื่อเรียนไปความคาดหวังนั้นมีการเปลี่ยนแปลงบ้างไหม

ตอนแรกที่เข้ามาส่วนใหญ่จะบอกว่าอยากเป็นผู้กำกับ คนเขียนบท และตากล้อง อาจเพราะภาควิชาเรามีคนที่จบไปทำงานเป็นคนเขียนบทเยอะ เด็กที่เข้ามาจึงให้ความสนใจด้านนี้ แต่พอมาเรียนแล้วเจอวิชาใหม่ๆ หรือเจออะไรที่เขาไม่เคยรู้ว่ามีการเรียนการสอนมาก่อน เขาก็อาจจะค่อยๆ ขยับความสนใจ เพราะเด็กที่เพิ่งจบ ม.6 อาจไม่รู้ว่านิเวศของอุตสาหกรรมนี้มีตำแหน่งอะไรบ้าง นอกจากผู้กำกับ คนเขียนบท ตากล้อง ก็ยังมีงานตัดต่อ โพสต์โปรดักชัน คนทำงานในห้องมิกซ์เสียง บางคนอาจไม่ได้สนใจการควบคุมทิศทางทางศิลปะอย่างที่ผู้กำกับต้องทำ แต่ชอบการจัดการกองถ่าย ในวิชาที่ให้ทำหนังเขาก็จะวางบทบาทตัวเองว่าฉันจะเป็นผู้จัดการกองถ่ายนะ ฉันจะเป็นโปรดิวเซอร์นะ เหล่านี้เป็นสิ่งที่เขาค่อยๆ ค้นเจอระหว่างที่เรียน

 

ตอนนี้สิ่งที่ท้าทายในการเรียนการสอนภาพยนตร์คืออะไร

สิ่งท้าทายมากๆ ตอนนี้ หากพูดแบบแคบก็คือเรื่องโควิด ส่วนใหญ่การเรียนภาพยนตร์เป็นการเรียนปฏิบัติ แต่คุณจะเรียนปฏิบัติยังไงถ้าไม่สามารถเข้าห้องได้ การเรียนภาพยนตร์ของทุกแห่งเจอปัญหานี้ หลายๆ ที่จึงแก้ปัญหาคล้ายกัน ช่วงที่ผ่านมาบางเทอมต้องเรียนออนไลน์ทั้งเทอม เขาก็สลับเอาวิชาที่ไม่ต้องจับกล้องไปเรียนในเทอมนั้น พอสถานการณ์ดีขึ้นหน่อย เทอมนี้มีแนวโน้มว่าน่าจะได้เข้ามหาวิทยาลัยมากขึ้นก็จะเรียนวิชาปฏิบัติมากขึ้น ที่ผ่านมามีบางเดือนที่สถานการณ์สงบลงอาจารย์ก็จะรีบเรียกให้เด็กมาเรียนปฏิบัติ อาจารย์บางคนเปิดคอร์สพิเศษนอกรอบให้เด็กมาเรียนรู้เพิ่มเติมโดยที่ไม่เกี่ยวกับเกรด เราเห็นใจเด็กมาก เด็กเรียนไปหนึ่งเทอมยังไม่ได้จับกล้องเลย ช่วงปิดเทอมที่ทุกอย่างกำลังสงบก็รีบมาเจอกันก่อนจะเจอกันไม่ได้

นอกจากนี้คือความท้าทายของตัวนิสิตเอง การเป็นวัยรุ่นก็ยากอยู่แล้ว แต่การเป็นวัยรุ่นในสังคมที่เขารู้สึกว่าไม่มีอนาคตมันก็ยิ่งยากมากขึ้น วัยรุ่นสมัยนี้มีเรื่องให้สู้เยอะมาก สู้กับการเรียนช่วงโควิดยังไม่พอ ต้องสู้กับเรื่องการเมือง สู้ในเรื่องทุนนิยมที่บีบเขามากขึ้นเรื่อยๆ สู้กับความเป็นธรรมชาติของวัยรุ่นที่บางทีก็ไม่เข้าใจพ่อแม่ เรื่อง generation gap เรื่องความไม่มั่นใจ ความโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงา ความหวั่นไหวของตัวเอง ความรัก เรื่องเพื่อน มีเรื่องให้สู้เยอะมากเลย ผมพยายามจะบอกเด็กว่า you need to pick a fight คือไม่ต้องสู้กับทุกอย่างทุกเรื่องทุกเวลา มันอาจเป็นธรรมชาติของวัยรุ่นตอนนี้ที่เล่นทวิตเตอร์เยอะแล้วเข้าไปมีส่วนร่วมกับทุกเรื่อง แล้วเขาก็เครียดเอง การไปสู้ทุกเรื่องอาจทำให้โฟกัสเรื่องการเติบโตในฐานะคนทำหนังน้อยลงไปหรืออาจจะท้อใจง่าย นักศึกษาสมัยนี้เครียดเยอะ นี่ก็เป็นความท้าทายอีกแบบหนึ่ง

อีกเรื่องที่สำคัญของการเรียนภาพยนตร์ก็คือเงิน ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพยนตร์จะต้องใช้เงินในการสร้าง ทางมหาวิทยาลัยมีอุปกรณ์ให้ในระดับหนึ่ง แต่บางทีเขาก็ต้องไปเช่าอุปกรณ์เพิ่ม ออกกองถ่ายก็จะมีค่าใช้จ่ายต่างๆ กลายเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งของคนที่เรียนภาพยนตร์

สภาพของวงการภาพยนตร์ไทยเป็นอุปสรรคหรือส่งผลต่อการเรียนการสอนไหม

เอาเข้าจริงคนเรียนภาพยนตร์ส่วนใหญ่จบไปไม่ได้ไปทำหนังหรอก แต่ไปทำภาพเคลื่อนไหวในแบบต่างๆ สำหรับตัวนิสิตเองอาจมีความฝันเรื่องการได้กำกับหนังยาวในสักวันหนึ่ง แต่เขาก็แฮปปี้ที่จะทำสิ่งอื่นๆ เช่น ซีรีส์ สารคดี พอเขายืดหยุ่นก็จะมีงานเยอะขึ้น แต่ก็มีความหวั่นไหวในสภาพโควิดที่คนตกงานกันเยอะ

 

ปัจจุบันโลกวิชาชีพเชื่อมต่อกับโลกการเรียนการสอนสาขาภาพยนตร์แค่ไหน

ผมเชื่อว่าการเรียนภาพยนตร์ในหลายๆ แห่งนอกจากจะใช้ครูในมหาวิทยาลัยนั้นๆ แล้ว ส่วนใหญ่ก็จะใช้คนที่อยู่ในวิชาชีพมาร่วมสอนด้วย เพื่อเป็นการอัปเดตความรู้ ความเชี่ยวชาญ และทำให้นิสิตเห็นว่าคนในโลกการทำงานจริงๆ เป็นอย่างไร แต่ก็มีมิติที่ไม่เชื่อมโยงเหมือนกัน เช่น หลายบริษัทต้องการเด็กเก่ง เพอร์เฟ็กต์ รู้ทุกอย่างครบ เรียนจบมาใช้งานได้ทันที แต่การเรียนในระดับปริญญาตรีส่วนใหญ่พอเข้าไปสู่การปฏิบัติงานจริงๆ ก็ยังมีอะไรให้เขาเรียนรู้อีกมาก สิ่งที่เราทำได้คือสร้างพื้นฐานให้เขา ทำให้เขารู้ว่าตัวเองถนัดด้านไหน ทำให้เขามีทักษะและมีวิธีคิดในระดับหนึ่ง แต่พอทำงานจริงก็ต้องไปเรียนรู้เพิ่มเติมอีก

 

คนที่เรียนจบสาขาภาพยนตร์ออกไปแล้วทำงานไม่ตรงสายเยอะแค่ไหน

คนที่ทำงานไม่ตรงสายก็มี ส่วนใหญ่งานด้านภาพยนตร์หรือซีรีส์จะเป็นงานแบบฟรีแลนซ์ซึ่งไม่มั่นคงนัก บางคนทำไปสักพักก็ถอดใจกับชีวิตการทำงานในกองถ่าย เปลี่ยนไปทำงานสายอื่นที่ชีวิตมั่นคงมากขึ้น แต่หลายคนก็มีทักษะการเป็นฟรีแลนซ์ที่เก่งกาจมาก รับทรัพย์มากมาย

คนที่ทำงานในสายนี้ต้องมีทั้งความสามารถ ทักษะ ความถึก ขณะเดียวกันก็มีเรื่องความสัมพันธ์ คอนเนกชัน เงื่อนไขสำคัญในการทำงานฟรีแลนซ์คือเขาจะใจสู้อยู่ได้ถึงขนาดไหน เมื่อไปถึงจุดหนึ่งที่คล่องแคล่วมากขึ้นแล้วเขาอาจจะเริ่มคิดถึงการเป็นเจ้าของกิจการ ทำบริษัทเล็กๆ แต่แน่นอนว่าสิ่งเหล่านั้นต้องมาพร้อมประสบการณ์และความเสี่ยง

ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ การศึกษาในหลายสาขาวิชาเกิดดิสรัปชันจากเรื่องเทคโนโลยี สำหรับสาขาภาพยนตร์มีโจทย์ใหญ่อะไรที่ต้องปรับตัว

ในช่วงสิบปีที่ผ่านมานี้ คนที่เรียนภาพยนตร์จบออกไปก็ไม่ได้ทำภาพยนตร์ ส่วนใหญ่จะได้ไปทำภาพเคลื่อนไหวในแบบอื่นๆ การได้ทำภาพยนตร์กลายเป็นเหมือนพริวิเลจแบบหนึ่ง ฉะนั้นสิ่งที่ดิสรัปต์สำหรับผู้เรียนก็คือ คุณเรียนภาพยนตร์ก็จริงแต่จบออกไปแล้วต้องไปทำอย่างอื่นนะ

สิ่งที่การเรียนการสอนด้านภาพยนตร์จะมอบให้ได้คือการเอาความรู้ในการทำภาพยนตร์ไปปรับใช้กับการออกแบบภาพเคลื่อนไหวในแบบอื่นๆ มันเป็นศาสตร์ที่ยืดหยุ่นให้เอาปรับไปใช้ได้อยู่แล้ว เด็กเรียนภาพยนตร์ต้องทำหนังสั้นความยาวประมาณ 30 นาทีส่งครูเป็นงานจบ การที่เขาได้ทำหนังหลายๆ เรื่องตลอดการเรียนเป็นพื้นฐานอันดีในการจะไปทำโฆษณา ซีรีส์ คลิปไวรัล สารคดี แม้กระทั่งไปทำ installation ภาพเคลื่อนไหวออนไลน์ต่างๆ หรือสำนักข่าวต่างๆ ที่ตอนนี้ต้องการงานภาพแบบนี้

ในแง่หนึ่งผมคิดว่าเราไม่ได้ถูกดิสรัปต์มากนัก เพราะภาควิชาของเราสอนด้านภาพยนตร์ซึ่งมันใกล้เคียงกับสื่อภาพเคลื่อนไหวอื่นๆ อยู่แล้ว

ตอนนี้เรากำลังอยู่ในช่วงการปรับหลักสูตรครั้งใหญ่ เพื่อที่จะใช้ในปี 2566 มีการออกแบบวิชาใหม่ รื้อวิชาภาคบังคับเก่าออกหมดเลย เพราะเป็นวิชาที่ยังอยู่ในโลกเก่า เรารื้อใหม่เพื่อให้มันลื่นไหลและยืดหยุ่นกับสิ่งที่ผู้เรียนจะต้องไปเจอในอนาคต เช่น สมัยก่อนวิชาเขียนบทคือการเขียนบทหนัง แต่ต่อไปคนสอนจะต้องตระหนักว่าเด็กจบไปจะต้องไม่ใช่เขียนบทหนังเป็นอย่างเดียว ต้องยืดหยุ่นที่จะทำงานในหลายรูปแบบกระจายไปในแพลตฟอร์มต่างๆ

 

วิธีคิดในการปรับหลักสูตรคือทำให้มันกว้างขึ้นหรือเปล่า

บางมิติก็กว้างขึ้น แต่เราต้องรู้ว่าเราคือใคร ขณะที่มีภาควิชาอื่นๆ ที่สอนด้านภาพเคลื่อนไหวมากมายไปหมด แล้วภาควิชาภาพยนตร์แตกต่างจากเขายังไง คำตอบของเราก็คือ เราต้องใช้ศาสตร์ด้านภาพยนตร์ซึ่งมีมาเป็นร้อยปี ใช้ศาสตร์นี้เป็นพื้นฐานให้เขาต่อยอดไปให้ได้

 

คุณมองว่าจะมีวันที่ศาสตร์นี้จะตายลงไปไหม

มันไม่ตายแต่มันเปลี่ยนอยู่เสมอ ภาพยนตร์พบกับความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่ตอนที่เป็นภาพยนตร์เงียบแล้วก็มาเป็นภาพยนตร์เสียง ภาพยนตร์เป็นสิ่งที่มักมีคนพูดบ่อยๆ ว่ามันจะตาย (หัวเราะ) เช่น พอมีหนังเสียง หนังสี คนก็บอกว่าภาพยนตร์ตายแล้ว พอมีทีวีขึ้นมาก็บอกว่าภาพยนตร์จะตาย พอมีอินเทอร์เน็ตขึ้นมาก็บอกว่าภาพยนตร์จะตาย พอมีสตรีมมิงก็บอกว่าภาพยนตร์จะตาย แต่มันก็ไม่ตาย มันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ

สุดท้ายแล้วสิ่งที่เป็นแก่นแท้ของภาพยนตร์ก็คือ ภาพยนตร์เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่มอบโอกาสให้มนุษย์เห็นภาพเคลื่อนไหว และภาพเคลื่อนไหวทำให้มนุษย์เห็นโลก เห็นตัวเอง ลองนึกว่าคนเมื่อหนึ่งร้อยกว่าปีก่อนไม่เคยเห็นภาพสะท้อนชีวิตของตัวเอง ถ้าจะมีก็คือเห็นภาพวาด แล้ววันหนึ่งเขาเห็นตัวเองบนภาพยนตร์ เห็นคนที่คล้ายตัวเองบนภาพยนตร์ เห็นชาติของตัวเองบนภาพยนตร์จนเปิดมุมมองความคิดอีกแบบขึ้นมา สิ่งนี้จะยังอยู่ไม่ว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ไม่ว่าจะดูในโรงหนังหรือสตรีมมิง จะถ่ายเป็นดิจิทัล แอนิเมชัน หรือใช้ AI สร้าง แต่สุดท้ายแล้วแก่นของมันคือการที่เราเห็นภาพเคลื่อนไหวที่ทำงานบางอย่างกับโลกที่เราอยู่ สิ่งนี้คือความคลาสสิกของมันที่จะไม่ตายหรอก

ผมอาจจะมองโลกในแง่ดีก็ได้นะ (ยิ้ม) บางคนอาจบอกว่า โอ๊ย เดี๋ยวนี้ไม่มีใครดูหนังแล้ว เขาดูแต่ Netflix แต่ใน Netflix ก็มีหนังเต็มไปหมดเลย ซีรีส์ต่างๆ ที่คนฮิตกันพื้นฐานของมันก็มาจากหนัง หรือแม้กระทั่งยอดตั๋วโรงหนังก็ทำลายสถิติใหม่ตลอดเวลา คนยังสนใจอยู่ แต่ทุกอย่างก็ไม่ได้จีรัง วันหนึ่งหนังอาจจะเปลี่ยนสภาพเป็นวัตถุโบราณก็ได้ ไม่รู้ว่ามันจะอีกนานเท่าไหร่

สิ่งที่เป็นแก่นแท้ของภาพยนตร์ก็คือ ภาพยนตร์เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่มอบโอกาสให้มนุษย์เห็นภาพเคลื่อนไหว และภาพเคลื่อนไหวทำให้มนุษย์เห็นโลก เห็นตัวเอง …
สิ่งนี้คือความคลาสสิกของมันที่จะไม่ตายหรอก

สำหรับคนรักภาพยนตร์ถือว่าโรงภาพยนตร์เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ แต่เมื่อสตรีมมิงเข้ามา ในวันนี้โรงภาพยนตร์มีฟังก์ชันแบบไหน

ตอนนี้การไปโรงภาพยนตร์กลายเป็นอีเวนต์พิเศษมากขึ้น จากเดิมที่การไปดูหนังเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันสำหรับวัยรุ่นยุค 80 เพราะตั๋วถูก คนสมัยก่อนเข้าโรงภาพยนตร์วันหนึ่งดูหลายเรื่องเลย แต่พอเวลาต่อๆ มาภาพยนตร์ก็เป็นอีเวนต์พิเศษมากขึ้นเรื่อยๆ และพอช่วงโควิด การออกไปดูหนังแต่ละครั้งคนต้องคำนวณว่าจะเสี่ยงชีวิตไหม คำนวณในแง่การเงินว่าหนังเรื่องนี้คุ้มค่าที่จะดูในโรงไหม เริ่มมีการใส่ใจมิติเหล่านี้มากขึ้นเรื่อยๆ ภาพยนตร์เลยมีสถานะของเหตุการณ์พิเศษ มากกว่าจะเป็นชีวิตประจำวัน

ในทิศทางนี้ คนขายหนังก็ยิ่งต้องทำให้การไปดูหนังเป็นสิ่งพิเศษมากขึ้น ตอนนี้จะหวังว่าคนเดินห้างแล้วไม่มีอะไรทำเลยเดินมั่วๆ เข้าไปดูหนัง คงไม่ค่อยมีแล้ว ต้องใช้ความตั้งใจระดับหนึ่งในการไปดูหนังสักเรื่อง

 

เมื่อการดูภาพยนตร์เริ่มย้ายไปอยู่บนสตรีมมิงแล้วมันเปลี่ยนวิธีคิดของคนทำภาพยนตร์ไหม

เปลี่ยนนะ ตั้งแต่เรื่องรูปแบบ หนังกับซีรีส์ก็ไม่เหมือนกันในแง่การเล่าเรื่อง การเล่าเรื่องให้จบภายใน 2 ชั่วโมงกับการเล่าเรื่องให้จบใน 8 ตอน ลีลาก็ไม่เหมือนกันแล้ว วิธีการถ่ายให้เหมาะกับจอคอมพิวเตอร์หรือจอทีวีกับวิธีการถ่ายสำหรับจอใหญ่ก็ไม่เหมือนกัน จึงไม่น่าแปลกใจหากหนังเรื่อง Dune มาฉายในทีวีเราก็ไม่อยากดูเพราะมันต้องดูจอใหญ่ หรือหนังของเจ้ย อภิชาติพงศ์ เรื่อง Memoria ก็ไม่เหมาะกับการดูในจอเล็กเลย เพราะเป็นหนังที่เน้นเสียงมากๆ ต้องได้ยินเสียง surround เพราะเป็นเรื่องของตัวละครที่ได้ยินเสียงประหลาดในหัวตัวเองและทั้งเรื่องจะเล่นกับเสียง ซึ่งต้องเข้าไปฟังในโรง สำหรับคนที่ยังอยากจะทำหนังเพื่อให้มันอยู่ในโรง ก็จะยิ่งต้องใช้ศักยภาพของเทคโนโลยีที่อยู่ในโรงขับเน้นออกมาให้มากสุดเพื่อให้คนอยากดูในโรง

ส่วนวิธีคิดของสตรีมมิงคือ การมีอัลกอริทึมที่อาจจะคำนวณทางเลือกมา 7 แบบ แต่ละคนอาจเจอทางเลือกที่ไม่ได้แตกต่างกันนัก ทำให้เวลา Netflix สร้างอะไรออกมาคนก็ดูกันหมด เพราะอัลกอริทึมบอกเราว่าเรื่องนี้คืออันดับ 1 ของเมืองไทย ในฐานะคนดูก็ไม่ใช่ข้อเสียหายอะไร แต่ในฐานะคนเรียนภาพยนตร์แล้ว นอกจากจะดูหนังตามอัลกอริทึมแล้วจะต้องพยายามแย้งกับอัลกอริทึมด้วย มีขุมทรัพย์มากมายใน Netflix ที่ไม่โชว์ในอัลกอริทึม คนเรียนภาพยนตร์ต้องสร้าง individual ของตนเองขึ้นมา ต้องเสพงานนำคนดูไปก้าวหนึ่งด้วย ถ้าใครทำสิ่งนี้ได้ก็จะเป็นหนทางนำไปสู่ปัญญาที่มากขึ้น ซึ่งครู สื่อหรือเพจหนังจะช่วยให้เขาเห็นว่ามีสิ่งนี้อยู่นะ

 

มองพลังของภาพยนตร์อย่างไร ภาพยนตร์ยังสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในเชิงไหนได้บ้าง

น่าสนใจว่าภาพยนตร์เป็นพื้นที่ของการต่อสู้บางอย่าง เราคิดว่าโรงภาพยนตร์อยู่ในพื้นที่ของความเป็นอนุรักษนิยม เช่นที่เราได้ยินกันบ่อยๆ ว่าหนังเรื่องนั้นโดนตรวจ โดนแบน โดนห้ามโน่นนี่ ขณะที่อินเทอร์เน็ตเป็นพื้นที่ของเสรีนิยม อะไรที่ถูกแบนในโรงหนังกลับดูได้สบายในอินเทอร์เน็ต ตรรกะแบบนี้แสดงว่าพลังของความเป็นอนุรักษนิยมครอบคลุมพื้นที่โรงภาพยนตร์อย่างมาก

คำถามคือทำไมจึงต้องห้ามโน่นนี่เฉพาะกับในโรงภาพยนตร์ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเรื่องกฎหมายที่ล้าหลัง แต่อีกส่วนหนึ่งคือเวลาภาพยนตร์สร้างปรากฏการณ์มันมีพลังมากนะ การที่มีคนจำนวนมากมาดูจอใหญ่ๆ สองชั่วโมง มันมีพลังในการเขย่าความคิด สร้างความฮึกเหิม สร้างอารมณ์ร่วมสูงมาก เมื่อมีศักยภาพสูงขนาดนี้ พลังของอนุรักษนิยมจึงเข้ามาครอบคลุมมันอยู่

ฉะนั้นในแง่นี้ภาพยนตร์จึงเป็นพื้นที่ที่น่าสนใจว่า เราจะทลายบ่อนเซาะความเป็นอนุรักษนิยมลงไปได้อย่างไร ยิ่งพื้นที่ของโรงภาพยนตร์มีความเป็นอนุรักษนิยมมากเท่าไร คนทำหนังยิ่งควรจะเข้าไปปลดปล่อยให้มันพูดอะไรได้มากขึ้นเรื่อยๆ คนเจเนอเรชันใหม่ควรจะไปท้าทายมัน

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้คนในสังคมมีการเปลี่ยนแปลงทางความคิด ทั้งเรื่องการเมืองและสังคม ปรากฏการณ์เหล่านี้ส่งผลถึงวงการภาพยนตร์ไทยไหม มันนำไปสู่คำถามใหม่ๆ ให้แก่วงการบ้างไหม

ผมคิดว่าส่งผล แต่มันกำลังรออยู่ กว่าหนังเรื่องหนึ่งจะทำได้สำเร็จ อย่างเร็วก็ใช้เวลาหนึ่งปี จึงมีสื่ออื่นไปตอบรับการเคลื่อนไหวของวัยรุ่นได้เร็วกว่า เชื่อว่ายังไม่มีหนังที่พูดกับสปิริตของคนรุ่นเขาจริงๆ เรื่องที่ใกล้เคียงที่สุดคือ School Town King ของ เบสท์-วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย เป็นหนังที่ใกล้เคียงกับดีกรีอารมณ์ของคนรุ่นนี้ แต่ยังไม่เป็นตัวแทนแบบเต็มที่ ผมรอดูอยู่ว่าจะมีหนังที่แสดงออกถึงความโกรธ แพสชัน ความโรแมนติกของคนรุ่นนี้ไหม

แม้ว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมจะยังไม่ทันเข้าไปกระแทกในเชิงการสร้างภาพยนตร์ แต่มันเข้าไปกระแทกเรื่องการเข้าใจหนัง รสนิยมหนัง อันนี้เห็นความเปลี่ยนแปลงชัด เช่น สมัยก่อนฉายหนังโรแมนติกที่เล่นโดย ออเดรย์ เฮปเบิร์น พระเอกมาแกล้งนางเอก แอบหอมแก้มนางเอก แล้วนางเอกก็ทำเป็นเขิน อุ๊ย…บ้าบอ คนดูสมัยก่อนจะทรีตว่าสิ่งนี้คือความน่ารัก แต่หากเด็กสมัยนี้ดูเขาจะรู้สึกว่ามันไม่ใช่สิ่งที่น่ารักอีกต่อไป เขาจะบอกว่า cringe มากเลยอาจารย์ ผมก็สอนหนังสือมานาน เห็นชัดเจนเลยว่าความเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมามีความเคลื่อนไหวเรื่อง gender ชัดเจนมาก จึงส่งผลมายังการดูหนังโดยตรง

 

หากพูดถึงในเชิงแมส อะไรจะทำให้วัฒนธรรมการชมภาพยนตร์ในไทยแข็งแรงขึ้น ทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงไปบ้างไหม

อันนี้ก็เป็นเรื่องน่าหนักใจ ไม่ใช่แค่ในไทยแต่เป็นในระดับโลก ตอนนี้การสร้างภาพยนตร์มีแค่สองสเกลเท่านั้น คือ สเกลที่ใช้ทุนต่ำสุดๆ กับสเกลที่ใช้ทุนสูงสุดๆ ซึ่งโดยปกติแล้วสเกลตรงกลางจะเป็นพวกหนังชีวิต หนังดราม่า หนังในลักษณะปัญญาชน หนังที่มีเมสเสจทางสังคมมักจะอยู่ในสเกลตรงกลาง หนังกลุ่มนี้มีพื้นที่ในโรงหนังน้อยลงมากๆ ทั้งในเมืองไทยและเมืองนอก มันจะไปอยู่ในสตรีมมิงแทน เพราะเขารู้สึกว่าการลงทุนมันไม่คุ้ม ถ้าไม่ใช่หนังซูเปอร์ฮีโร่ระเบิดตู้มต้าม

ถามว่าหนังซูเปอร์ฮีโร่มีเมสเสจทางสังคมไหม มันก็มีเหมือนกัน เป็นเมสเสจแบบหนึ่ง แต่เราก็จะมีแต่หนังแบบนั้น ยกเว้นหนังเฉพาะกลุ่มบางเรื่องที่แหกคอกออกมาได้ อย่างหนังสารคดีของ ไก่-ณฐพล บุญประกอบ เรื่องเอหิปัสสิโก (Come and See) เป็นหนังไซส์เล็กมาก แต่พอมาอยู่บน Netflix ปรากฏว่าทะลุไปเป็นหนังที่แมสได้ ถ้าเรามีหนังแบบนี้เยอะขึ้นก็น่าจะสร้างฐานคนดูใหม่ๆ ขึ้นมา

 

อะไรจะเป็นปัจจัยที่ทำให้วงการภาพยนตร์แข็งแรงขึ้นทั้งในแง่คนทำและคนดู

ในแง่ของคนทำ เราต้องการเลือดใหม่เข้ามามากๆ คิดดูสิว่าวัยรุ่นเจเนอเรชันนี้เปลี่ยนแปลงความคิดของสังคมอย่างถอนรากถอนโคนขนาดไหน ถ้าคนเจเนอเรชันนี้ทำหนังก็น่าจะมีอะไรที่ใหม่มากๆ แต่เขาจะได้ทำไหมหรือจะมีคนรุ่นเก่าเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงได้แค่ไหน ทั้งในแง่การสนับสนุนเงินทุนและการแนะนำให้สำเร็จไปได้ ตรงนี้เป็นจุดสำคัญ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะเป็นไปได้ยังไง เพราะตอนนี้ส่วนใหญ่คนรุ่นเก่ายังยึดหัวหมุดสุนทรียะทางการเล่าเรื่องอยู่ ถ้าจะเปลี่ยนวงการหนังก็ต้องให้คนรุ่นใหม่เข้ามา แล้วคนรุ่นเก่าเป็นพี่เลี้ยงเขา

ในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์โลก มีแต่คนหนุ่มสาวที่ปฏิวัติภาพยนตร์กันนะ ออร์สัน เวลส์ ปฏิวัติภาพยนตร์ตอนอายุ 25 ฌอง-ลุค โกดาร์ สร้างหนัง Breathless ตอนอายุ 30 สตีเวน สปีลเบิร์ก สร้าง Jaws ตอนอายุ 27 ฌองตาล เอเคอร์มาน สร้างหนังเฟมินิสต์อันโด่งดังตอนอายุ 25 เจ้ย อภิชาติพงศ์ ทำ สุดเสน่หา ตอนอายุ 32 เป็นเอก รัตนเรือง สร้าง ฝัน บ้า คาราโอเกะ ตอนอายุ 35 หว่องกาไวทำ Chunking Express ตอนอายุ 36 ตามสถิติในประวัติศาสตร์ คนอายุ 25-40 ปีคือแรงสำคัญที่ปฏิวัติให้หนังเดินหน้าต่อไป

ในแง่ของคนทำ เราต้องการเลือดใหม่เข้ามามากๆ คิดดูสิว่าวัยรุ่นเจเนอเรชันนี้เปลี่ยนแปลงความคิดของสังคมอย่างถอนรากถอนโคนขนาดไหน ถ้าคนเจเนอเรชันนี้ทำหนังก็น่าจะมีอะไรที่ใหม่มากๆ

คุณมีเป้าหมายส่วนตัวเรื่องการสอนอย่างไร อยากเห็นการศึกษาภาพยนตร์ในไทยไปในทิศทางไหน

ผมก็สอนหนังสือมานานมากแล้ว เมื่อก่อนสอนเป็นฟรีแลนซ์ พอเรียนจบก็มาสอนประจำ เป้าหมายส่วนตัวคือให้นิสิตเรียนรู้ด้วยตัวเองได้หลังจบจากชั้นเรียนไป การเป็นนักเรียนภาพยนตร์เขาเรียนแค่ปี 2 ถึงปี 4 แล้วก็จบ แต่เราจะให้เครื่องมืออะไร เราจะเปลี่ยนวิธีคิดหรือจะฝึกนิสัยเขาอย่างไร เราจะทำให้เขารักหนังได้แค่ไหนเพื่อที่เวลาไม่อยู่ในห้องเรียนแล้วเขาก็ยังหาหนังมาดูเอง ขบคิดเอง ตกตะกอนเอง สังเคราะห์หนังออกมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในวิชาชีพของเขา

เราจะทำยังไงให้ความอยากเรียนรู้ด้วยตนเองคงอยู่ต่อไปในวันที่เขาไม่ได้อยู่กับเราแล้ว ซึ่งแทบจะไม่มีคู่มืออะไรมาบอกได้เลยว่าเราจะทำอย่างนั้นได้อย่างไร เคยมีคนพูดไว้ว่า เขาชอบหนังมาก เพราะเขาประทับใจที่ครูของเขาชอบหนังมาก การที่เราเห็นว่าหนังเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตคนๆ หนึ่งได้ขนาดไหนมันบันดาลใจให้วัยรุ่นซึ่งกำลังประกอบสร้างความเป็นตัวเองได้ตระหนักสิ่งนี้ แล้วเขาก็จะเอาไปใช้ต่อได้

ในฐานะครู เราอยากให้เขาได้เรียนรู้ด้วยตนเองได้ หลังจากที่เขาไม่อยู่กับเรา

นอกจากนี้ผมอยากเห็นการร่วมมือกันข้ามสถาบันมากขึ้น อยากเห็นความเป็นคณะลดลงไป หนังมีความเป็นสากลอยู่แล้ว ไม่เห็นจะต้องคิดเลยว่าหนังคณะฉันต้องเป็นแบบนี้ หนังคณะเธอต้องเป็นแบบนั้น สมมติว่ามีคนที่ชอบหนังของเจ้ยมากแล้วรู้ว่ามีอีกคนหนึ่งในคณะอื่นที่ชอบเหมือนกัน ถ้าสองคนนี้มาเจอกันในโรงหนังแล้วเป็นเพื่อนกัน อยากทำอะไรขึ้นมาร่วมกันก็คงเป็นเรื่องน่าสนใจ

หน้าที่ของสถาบันไม่ควรเป็นยี่ห้อทางสุนทรียศาสตร์ อยากเห็นการร่วมมือกัน การมาพบเจอกันของคนที่ชอบอะไรเหมือนกันมากกว่าเป็นแค่คนที่สอบติดที่เดียวกัน

 

แล้วสำหรับวงการภาพยนตร์ไทย สิ่งที่อยากเห็นคืออะไร

อยากเห็นเรื่องการเปิดพื้นที่ อยากเห็นชื่อผู้กำกับที่เราไม่รู้จักเยอะๆ มันเป็นธรรมชาติสำหรับประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ การเปลี่ยนแปลงจะเกิดได้จากการที่คนรุ่นใหม่เข้าไปเขย่า ขบถ แล้วเปลี่ยนแปลงมัน หน้าที่ของคนรุ่นเก่าคือ การเป็นพี่เลี้ยงและการแสดงความเป็นมาสเตอร์ของตนเองขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง ทำให้เห็นว่าคนที่เคยทำหนังเขย่าวงการเมื่อสิบปีก่อน มาถึงตอนนี้เขาเป็นพี่เลี้ยงคนอื่นและงานของเขาก็มีวุฒิภาวะขึ้นด้วย นี่เป็นภาพฝันที่ผมอยากเห็นและเราต้องเชื่อมั่นว่าจะไปถึงตรงนั้นได้

What’s in film researcher bag?

 

เปิดกระเป๋านักวิจัยภาพยนตร์ อุปกรณ์แบบไหนที่ต้องพกพา วิธีการแบบไหนและเครื่องมืออะไรที่จะช่วยเปิดโลกของผู้ที่ศึกษาภาพยนตร์ และนี่คือคำแนะนำจากไกรวุฒิ จุลพงศธร

ของชิ้นที่ 1 

“ปากกาและสมุดโน้ต”

“ผมมีเทคนิคส่วนตัวเวลาที่ต้องวิเคราะห์หนังอย่างเข้มข้น ตอนเรียนปริญญาโทคลาสแรก อาจารย์ให้ไปดูหนังและบอกว่าทุกคนต้องเอาปากกาและสมุดไปด้วย แล้วคุณจะต้องจดในความมืด เวลาดูหนังแล้วมีฉากที่น่าสนใจทำให้เราฉุกคิดอะไรขึ้นมาก็จดไว้ ถ้าเราทิ้งไปพอหนังจบเราก็ลืมแล้ว แต่ละขณะของหนังจะทำให้ความคิดเราวูบไหว หากผมจะศึกษาหนังเรื่องไหนอย่างเฉพาะเจาะจงก็ต้องดูหลายครั้ง ครั้งแรกอาจดูยาวจนจบไม่จดอะไรเลย แต่ครั้งต่อไปต้องดูแล้วจดไปด้วยในความมืด ซึ่งเป็นการจดโดยไม่กด pause และจดแล้วต้องกลับมาอ่านรู้เรื่อง

“การจดในความมืดจะใช้หน้ากระดาษเยอะมากเพราะเราจะเล็งบรรทัดไม่ค่อยถูก ถ้ามัวงกหน้ากระดาษมันจะซ้อนกันไปเรื่อยๆ ระหว่างที่ตาเราดูไปก็ใช้สันมือเทียบขอบกระดาษว่าจดถึงไหนแล้ว มันเป็นสกิลแบบหนึ่ง (หัวเราะ) บ่อยครั้งที่กลับมาเปิดดูก็พบจุดที่เราลืมไป เพราะการศึกษาหนังสักเรื่องหนึ่งไม่ใช่ว่าดูเสร็จแล้วเราจะเขียนถึงมันทันที”

ของชิ้นที่ 2 

แพลตฟอร์มสตรีมมิงหนังทางเลือก” 

“มีสตรีมมิง MUBI ที่ฉายหนังทางเลือกล้วนๆ เป็นหนังแปลกใหม่ มีทั้งหนังมาสเตอร์พีซระดับครู หนังอาร์ตคูลๆ แล้วก็หนังใหม่ นอกจากนี้ยังมีสตรีมมิงแบบใหม่ๆ เช่น Le Cinéma Clubเป็นสตรีมมิงที่เลือกเอาหนังสั้นน่าสนใจมาฉายสัปดาห์ละหนึ่งเรื่อง โดยเขาจะบอกด้วยว่าหนังเรื่องนี้น่าสนใจยังไง”

ของชิ้นที่ 3 

การเอาชนะอัลกอริทึมของแพลตฟอร์มสตรีมมิง” 

“อย่าให้อัลกอริทึมใน Netflix มาหลอกเรา ต้องเอาชนะอัลกอริทึมให้ได้ ใน Netflix มีหนังผีมาเลเซียชื่อว่า Roh ซึ่งเป็นหนังผีที่ตื่นเต้นสนุก ทำเงินถล่มทลายในมาเลเซีย และอยู่ใน Netflix ตั้งนานแล้วแต่คนส่วนใหญ่อาจจะไม่เคยดู อยากเชิญชวนให้สำรวจดูว่าในสตรีมมิงต่างๆ มีอะไรซ่อนอยู่”

ของชิ้นที่ 4 

ภาพยนตร์เรื่อง The Mourning Forest (2007) โดย Naomi Kawase” 

“เรื่องนี้เป็นหนังที่ผมชอบเอง หนังญี่ปุ่นปี 2007 พูดถึงมนุษย์กับธรรมชาติ ความเปราะบางของมนุษย์ ความเป็นบทกวีของชีวิต”

ของชิ้นที่ 5 

ผลงานของผู้กำกับ Chantal Akerman และ Agnès Varda” 

“ผลงานของผู้กำกับที่อยากแนะนำคือ Chantal Akerman และ Agnès Varda เป็นผู้กำกับหญิงที่เริ่มต้นจากการทำหนังก่อน แล้วต่อมาค่อยๆ ผสม installation ขึ้นเรื่อยๆ”

เรื่อง: วจนา วรรลยางกูร

บรรณาธิการ The101.world อดีตนักข่าวหนังสือพิมพ์ อดีตนักเรียนการละครและปรัชญา

ภาพถ่าย: กมลชนก คัชมาตย์

จบการศึกษาจากคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รักแมว ภาพถ่าย และภาพเคลื่อนไหวทุกชนิด สนใจการนำประเด็นทางสังคมมาทำเป็นสื่อสร้างสรรค์ชนิดใหม่ๆ

ภาพถ่าย: เมธิชัย เตียวนะ

เรียนจบนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ สนใจวิถีชีวิตผู้คน ดนตรี สิทธิมนุษยชน และความเหลื่อมล้ำ ชอบเล่าเรื่องผ่านงานภาพถ่ายและวิดีโอ

101 thumbnail

ครีเอทีฟ: ธนกร เนตรจอมไพร

101 thumbnail

ภาพถ่าย: ธเนศ รัตนกุล

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save