fbpx

คุยกับ แพท – พัชร เอี่ยมตระกูล เมื่อระบบ ‘16 ชั่วโมง’ กำลังทำร้าย ‘คนกอง’ ในวงการซีรีส์ไทย

หากว่าโลกของพนักงานบริษัทคือการตื่นมาทำงานตอน 9 โมงเช้า และเลิกงานในเวลา 5 โมงเย็นเพื่อทำงานให้ได้ครบ 8 ชั่วโมงตามที่กฎหมายแรงงานกำหนด เวลาการทำงานของมนุษย์ในแวดวงอื่นๆ อาจขยับล่วงไปมากกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นกรรมกร คนขายของ คนทำครัว ฟรีแลนซ์ รวมถึงเหล่า ‘คนกอง’ ชาวแรงงานที่โหมปั่นงานเพื่อสร้างสรรค์ภาพยนตร์ ละคร รวมทั้งซีรีส์ออกมาป้อนผู้บริโภคที่นั่งอยู่หน้าจอ

กลายเป็นว่า สำหรับพวกเขาแล้ว ตัวเลขการทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวันนั้นดูไม่เคยมีอยู่จริง ยิ่งเมื่อกับแพลตฟอร์มการเสพสื่อรูปแบบใหม่เคลื่อนตัวเข้ามาในสำนึกรู้ของคนดู ข้อเรียกร้องในการทำงานยิ่งสูง จากเมื่อก่อนเคยต้องออกกองถ่ายทำแค่ภาพยนตร์กับละคร วันนี้แบ่งย่อยออกมาเป็นซีรีส์ ซึ่งดูจะเป็นฟอร์มการเล่าเรื่องรูปแบบใหม่ที่กลายเป็นที่ต้องการของทุกแพลตฟอร์ม แน่นอนว่าด้านหนึ่งมันมอบพื้นที่การทำงานให้แก่คนกองเหล่านี้ ขณะที่อีกด้าน มันมาพร้อมระบบการทำงานอีกแบบหนึ่งที่เรียกร้องเลือดเนื้อของชาวกองมากกว่าเดิม

เรากำลังพูดถึงระบบการทำงานแบบ ’16 ชั่วโมง’ อันเป็น 16 ชั่วโมงในความหมายของการตื่นมาเตรียมฉาก เตรียมสถานที่ เช็ตไฟ ตั้งกล้อง เตรียมอาหารให้ทีมงานภาคส่วนอื่นๆ ของกองถ่าย สร้างเรื่องราวสนุกสนาน หม่นเศร้า ดราม่าให้โลดโผนอยู่ในโลกของซีรีส์สักเรื่องที่ออกฉายผ่านโทรทัศน์หรือแพลตฟอร์มอื่นใด โดยมีฉากหลังเป็นการอดหลับอดนอน เครื่องดื่มชูกำลัง กาแฟ และการกัดฟันทำงานอย่างไม่ยอมพ่ายของคนกองเหล่านี้

“เป็นคุณ คุณจะทำอย่างไรถ้าต้องทำงานตกวันละ 16 ชั่วโมง” เป็นคำถามแรกๆ ที่ แพท – พัชร เอี่ยมตระกูล โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์อิสระและผู้ก่อตั้ง ‘ด็อนท์พานิค บางกอก’ รวมไปถึง ‘สตูดิโอหนึ่งเก้าแปดหก’ บริษัทผลิตภาพยนตร์ ซีรีส์ ตลอดจนสื่อเคลื่อนไหวอื่นๆ ร่วมกับเพื่อนชาวโปรดักชันของเขา — “คุณจะทำอย่างไร จะอยู่ได้ไหม”

นั่นเป็นคำถามที่ชวนคิดต่อ และตอนนี้ดูเหมือนยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัด

เมื่อเทียบกับพนักงานบริษัทที่ทำงานวันละ 8 ชั่วโมงแล้ว ชั่วโมงการทำงานของคนกองเป็นแบบนั้นไหม

อย่างแรกเลย คนเราไม่ควรทำงานเกิน 8 หรือ 12 ชั่วโมงต่อวันอยู่แล้ว แต่คนกองทำแบบนั้นไม่ได้ ซึ่งแน่นอนว่ามีเหตุผลหลายอย่างประกอบอยู่ แล้วที่พูดกันว่า 12 ชั่วโมงนี่ก็เป็น 12 ชั่วโมงที่ปลอมด้วยนะ เพราะเอาเข้าจริงคนกองทำงานกันเกินเวลากว่านั้นมาก

นึกภาพว่าพนักงานบริษัททำงาน 8 ชั่วโมงต่อวันใช่ไหม คุณตื่นเช้ามาแล้วทำอย่างไรก็ได้ให้มาตอกบัตรก่อน 9 โมงเช้า แล้วไปตอกบัตรออกตอน 5 โมงเย็น ซึ่งจะครบ 8 ชั่วโมงพอดี แต่คนกองทำสิ่งนั้นไม่ได้นะ สมมติเราบอกว่าวันนี้เริ่มถ่ายทำตอน 6 โมงเช้า แต่ไม่ได้แปลว่าเรามาถึงหน้างานจริงๆ ตอน 6 โมงไง

บางตำแหน่งในกองถ่ายอย่างพี่สวัสดิการ เขาจะมาตอน 6 โมงตรงไม่ได้ เพราะต้องจัดแจงให้คนอื่นได้กินข้าวกินน้ำ หรือทีมโลเคชันก็มา 6 โมงตรงไม่ได้ ไม่อย่างนั้นใครจะเป็นคนดูที่จอดรถ ใครจะมาจัดการเรื่องห้องน้ำ ที่กินข้าว ทุกคนต้องมาก่อนเวลานัด

ดังนั้น หากคุณนัดกองถ่าย 6 โมงเช้า คนเหล่านี้ก็จะต้องมาถึงตั้งแต่ตี 4 ต่อให้เราคิดแบบขั้นต่ำว่าเราออกกอง 12 ชั่วโมงแบบหนังหรือโฆษณา แต่สุดท้ายก็จะไปจบที่ 13-14 ชั่วโมงอยู่ดี เพราะพวกเขามาก่อนเพื่อเตรียมงานบางอย่าง และเก็บของใดๆ ซึ่งทำให้ต้องกลับทีหลังชาวบ้าน

สมมติในหนึ่งสัปดาห์ พนักงานออฟฟิศทำงาน 5 วัน วันละ 8 ชั่วโมง ตกประมาณสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง แต่สำหรับคนออกกอง เวลา 40 ชั่วโมงนี่เกิดขึ้นภายใน 3 วันเองมั้ง ยังไม่นับว่า วันอื่นๆ ที่ไม่ได้ออกกองก็ต้องออกไปเตรียมตัวถ่ายทำ ไม่ว่าจะลงไปดูโลเคชัน บล็อกช็อต (การวางมุมภาพกับสถานที่ถ่ายทำ) รวมถึงงานด้านเตรียมการถ่ายทำต่างๆ ที่ต้องทำแข่งกับเวลาอีก แต่พอมาดูที่รายได้ อาจจะได้เท่ากับหรือน้อยกว่าคนทำงานออฟฟิศที่เริ่มต้นทำงานด้วยนะ

คำถามที่เราก็ยังถามตัวเองอยู่ คือตัวสตูดิโอหรือลูกค้าเขารู้จริงๆ หรือเปล่าว่าเงินที่ลงไปนั้นทำงานได้จริงแค่ไหน

ถ้าอย่างนั้น ทำไมฝั่งโปรดักชันถึงไม่บอกกลับไปว่าเงินไม่พอ

คำถามนี้เป็นคำถามไก่กับไข่มาก มีคนตั้งคำถามเรื่องนี้เยอะ ประเด็นคือถ้าคุณตั้งคำถามทำนองนี้ไปเรื่อยๆ แต่ลูกค้ายังมีเงินเท่าเดิม และยังมีคนที่รู้สึกว่าถ้ากูไม่รับงาน กูก็ไม่มีกิน สุดท้ายแล้วคนที่สู้หรือตั้งคำถามต่อเรื่องนี้ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะลูกค้าก็ยังใช้เงินจำนวนเท่าเดิม และมีคนทำงานใหม่ๆ หรือคนทำงานอื่นๆ เข้ามารับงานอยู่ดี เพราะถึงอย่างไรเขาก็ต้องกินต้องใช้ และอาจรู้สึกว่าจำนวนเงินที่ลูกค้าให้มานั้นก็พอไปได้ ก็ดีกว่าไม่มีเลย เราเองไม่รู้หรอกว่าต้องแก้ปัญหาอย่างไรเพราะถึงที่สุด จำนวนเงินลูกค้าก็เท่าเดิมแต่ก็ยังมีคนมารับงานไปทำอยู่ดี

ประเด็นสวัสดิภาพและค่าแรงที่ไม่สมดุลกับการทำงานเกิดขึ้นช่วงไหน เมื่อก่อนมีคนประสบปัญหาเท่านี้หรือเปล่า

สมัยก่อนเรามีระบบและตลาดค่อนข้างชัดเจน คนทำหนังและคนทำละครรู้ว่าทำแล้วจะได้เงินจากอะไรบ้าง ไม่มีตกหล่นระหว่างทาง อย่างเช่นเวลาทำหนังในสมัยก่อน ต่อให้ถ่ายฟิล์มและใช้เงินถ่ายทำหนังตกเรื่องละ 10-20 ล้าน ซึ่งก็อยู่ในค่าแรงและค่าครองชีพแบบสมัยก่อนแหละนะ แต่เรารู้ว่าหนังจะฉายโรงนี้ โดยที่โรงหนังก็ยืนระยะฉายหนังให้ด้วย หลังจากฉายโรงเสร็จก็รู้ว่าจะได้เงินจากการขายให้โทรทัศน์เท่าไหร่ ระบบโฮมเอนเตอร์เทนเมนต์เท่าไหร่ ได้จากการขายให้เคเบิลเท่าไหร่ หรือได้จากการขายหนังให้ต่างประเทศเท่าไหร่

ดังนั้น ตัวเลขและภาพต่างๆ จึงชัดมาก แต่เมื่อธุรกิจภาพยนตร์ถูกดิสรัปต์ด้วยระบบเทคโนโลยีใดๆ รวมถึงระบบ OTT (Over-The-Top หมายถึงบริการการรับชมสื่อต่างๆ ผ่านทางแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ต) เลยกลายเป็นว่า เราไม่เห็นว่าเงินทั้งหมดที่จะได้คือเท่าไหร่กันแน่ เพราะบางครั้งการฉายทางแพลตฟอร์มเหล่านี้ เขาจะกำหนดเงินมาให้คร่าวๆ เช่น ถ้าคุณจะถ่ายทำเรื่องนี้ก็เอาเงินไปเท่านี้ก่อนแล้วกัน แพลตฟอร์มเองก็มีหนังและสื่อในมือเยอะ และเขาไม่รู้ว่าหนังที่กำลังจะลงทุนสร้างนี้จะมีใครดูบ้าง

แล้วเมื่อก่อนระบบหนังไทยเขาจะกำหนดเป็นคิว 12 เรียกกันว่า ’12-6-6′ แปลว่าคิวเช้าคือ ‘6 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็น’ ถ้าคิวกลางคืนก็จะนับ ‘6 โมงเย็นถึงเที่ยงคืน’ และ ‘เที่ยงคืนถึง 6 โมงเช้า’ ดังนั้นการลงไปทำหนังแต่ละเรื่อง จึงมีการแบ่งคิวที่โอเค เพราะจะรู้ว่าเรื่องหนึ่งต้องใช้กี่คิว คนกองสามารถจัดการตารางชีวิตตัวเองได้แม่นยำ เพราะเขาเห็นภาพการทำงานที่ชัดพอประมาณ แถมงบประมาณก็เพียงพอกับการจัดการคิวถ่ายให้คนทำงานมีสวัสดิภาพที่ดี งานไม่หนักจนเกินไป

กับอีกอย่างคือ เมื่อก่อนนายทุนรู้ว่าเขาจะเอาเงินคืนจากการลงทุนทำหนังนี้ได้จากที่ไหน รู้ว่าหนังยืนระยะได้อย่างไร รู้ว่าต้องไปคุยขอยืนโรงกับใครที่ไหน และมีโรงหนังอิสระหรือพวกโรงสแตนด์อโลนเยอะมาก ที่ทั้งคนทำหนังกับนายทุนเข้าไปคุย เจรจาเรื่องราวต่างๆ ด้วยกันได้ ขณะที่ปัจจุบันทำไม่ได้เลย กลายเป็นว่าสิ่งที่นายทุนจะลงทุนแต่ละครั้ง ความน่ากลัวก็จะเกิดขึ้นเพราะเขาไม่แน่ใจว่าลงทุนไปแล้วได้ไหม คุ้มหรือเปล่า ขณะที่โรงหนังก็มีหนังที่ต้องฉายจำนวนเยอะขึ้นกว่าที่เคย และไม่มีคู่แข่ง คือประเทศไทยมีโรงหนังอยู่สองเจ้า ดังนั้นโรงจะทำอะไรก็ได้เพราะคนทำหนังต้องง้ออยู่ดี

กลับมาที่การแบ่งจำนวนคิวและการออกกอง การออกกองถ่ายทำหนึ่งวัน ใช้เงินอย่างต่ำเกือบครึ่งล้านนะ ไม่ว่าจะค่าอุปกรณ์ ค่ากิน ค่าสถานที่ ค่าทีมงานต่างๆ วันหนึ่งตก 3-5 แสนบาท และในเมื่อคุณไม่สามารถแน่ใจได้เลยว่าหนังหรือซีรีส์ที่คุณกำลังลงทุนไปนั้นจะคุ้มหรือเปล่า ฉายไปจะมีเงินกลับมาไหม คุณก็อยากได้คุณภาพแหละแต่มีเงินทุนเท่านี้นะ ฉะนั้น บางคนเขาก็จะใช้วิธีลดคิวถ่ายทำลงไปเลย สมมตินายทุนให้เงินมา 10-20 ล้านเท่าเดิมในสภาวะตอนนี้ เราก็ต้องคิดแล้วว่าจะแบ่งเงินอย่างไร ถ่ายทำกี่วัน ทำโพสต์โปรดักชันกี่วัน สุดท้ายวิธีที่ง่ายที่สุดคือการลดวันถ่าย สิ่งที่ลดตามมาคือค่าตัวของคนทำงาน ซึ่งสวนทางกับค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น

เท่ากับว่าจากคิว 12 ก็ขยับไปนานกว่าเดิมเพื่อจะได้ลดวันถ่าย ไม่ต้องไปออกกองบ่อยๆ อย่างนั้นหรือเปล่า

ตอนนี้ที่เป็นปัญหาคือระบบซีรีส์มากกว่า ความที่ธรรมชาติของการถ่ายทำภาพยนตร์ ถ่ายทำด้วยการแบ่งเป็นระบบ ‘6 เช้า’ กับ ‘6 เย็น’ แต่พอเป็นซีรีส์ มันไม่ใช่ภาพยนตร์ไง และก็ไม่ใช่ละครด้วย

อธิบายคร่าวๆ คือ ตามปกติแล้วเวลาเราถ่ายหนัง เราใช้กล้องตัวเดียว แล้วถ่ายหนึ่งช็อต ก็ต้องมีการจัดไฟต่างๆ ซึ่งต้องใช้เวลาเยอะ แต่ระบบละครก็ตั้งฉาก วางกล้องสองตัวรับหน้านักแสดงสองฝั่ง แล้วจัดไฟแบบดวงเดียว สว่างๆ เลย ขณะที่ถ้าเป็นหนัง ฉากคนคุยกันแค่ฉากเดียวอาจถ่ายกันอยู่สี่ชั่วโมงเพราะมันมีกล้องตัวเดียวไง แล้วเปลี่ยนมุมกล้องรับหน้านักแสดงทีหนึ่งก็ต้องจัดไฟ จัดแสงกันใหม่ แต่ละครอาจถ่ายฉากนี้แค่ครึ่งชั่วโมงก็ได้

แล้วด้วยธรรมชาติของละครเอง การถ่ายทำมันแข่งกับเวลาด้วย การนัดคิวละครเขาจึงไม่นัดคิวเช้ากัน คือนับเป็นระบบ 12 ชั่วโมงเหมือนกัน หรือบางทีอาจจะมี 14 ชั่วโมงบ้าง แต่จะไม่ใช่ระบบ ‘6 เช้า’ หรือ ‘6 เย็น’ แบบหนัง แต่จะนับว่าเริ่มสัก 10 โมงแล้วไปเลิก 4 ทุ่ม เพื่อจะได้ถ่ายทั้งฉากกลางวันและกลางคืนในคิวเดียวด้วยเลย ดังนั้นเลยมีวิธีการจัดคิวแบบร่นเวลาเริ่มให้ช้า ไม่ว่าจะเป็นเริ่ม 8 โมงเช้า จบ 2 ทุ่ม หรือเริ่ม 10 โมงจบ 4 ทุ่ม ขณะที่การถ่ายหนังโดยทั่วไปถ้าจะเอาฉากกลางคืนด้วยก็ต้องเพิ่มอีกคิว คือคิว ‘6 เย็น’ ซึ่งหมายถึงเงินที่เพิ่มขึ้น

ทีนี้ ทุนในการถ่ายทำละครหรือซีรีส์มันไม่ได้เยอะ อาจจะมาจากช่อง จากแพลตฟอร์ม จากลูกค้า หรือจากการขายโฆษณา การไทอินต่างๆ ซึ่งอาจไม่ได้เป็นเงินที่เยอะและไม่มีโบนัสเลย ขณะที่หนังมันมีโบนัสได้ คุณลงทุนทำหนังไป 20 ล้านบาทแต่หนังอาจทำเงินได้ 100 ล้าน เท่านี้ก็โบนัสแล้ว มันก็เดิมพันได้ไง แต่พอเป็นละคร เรารู้อยู่แล้วว่าเราจะได้เงินเท่าไหร่ มันชัด กลายเป็นว่าเรามีเงินเท่านี้และจะได้เงินเท่านี้ แต่ทำมากกว่านั้นไม่ได้ ไม่มีใครเดิมพันหรอก

ปัญหาเรื่องเงินเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ชีวิตคนกองมันยาก จากเดิมที่ถ่ายทำกันด้วยระบบ 12 ชั่วโมงก็มาเป็นระบบ 16 ซึ่งเป็นระบบที่เพิ่งเกิดเมื่อไม่นานนี้เอง หรือพูดง่ายๆ คือเมื่อเริ่มมีซีรีส์นี่แหละ

พอจะพูดได้ไหมว่า ที่จริงแล้วปัญหามาจากโครงสร้างการถ่ายทำปรับตัวตามแพลตฟอร์มใหม่ๆ ไม่ทัน

ซีรีส์ต้องการการทำงานแบบภาพยนตร์ ถ่ายทำแบบภาพยนตร์ กำกับแบบภาพยนตร์ แล้วตอนนี้ก็มีการใช้ระบบ 16 ชั่วโมงหรือก็คือ 6 โมงเช้าถึง 4 ทุ่ม! ขณะที่หนังคือการถ่ายทำแบบ 6 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็น ส่วนละครก็อาจจะสัก 10 โมงถึง 4 ทุ่มเพื่อถ่ายฉากกลางคืน แต่ซีรีส์แม่งคือการควบรวมกันของการเริ่มแบบหนังและเลิกกองแบบละคร โดยที่จำนวนเงินไม่ได้เยอะอย่างที่ควรจะเป็น สมมติซีรีส์มี 10 ตอน เราได้ทุนมา 20 ล้านเท่ากับได้ตอนละ 2 ล้านบาท คือถ่ายทำซีรีส์หนึ่งตอนความยาวตอนละ 45 นาที ไม่รู้หรอกว่าต้องถ่ายกันกี่คิวแต่ต้องใช้เงินให้ได้ภายใน 2 ล้านบาทต่อการถ่ายทำในหนึ่งตอน คำถามคือมันจะถ่ายกันออกมายังไง ออกกองกันกี่คิว เงินไม่พอก็ต้องแหกคิวไปเลยไหม

อย่าลืมว่าเงิน 20 ล้านนี่เราเอาไปทำหนังได้หนึ่งเรื่องเลยนะ ซึ่งหนังหนึ่งเรื่องยาว 90 นาทีหรืออย่างเก่งก็ 120 นาที แต่ซีรีส์นี่คือ 10 ตอน แล้วตอนละ 45 นาที (หัวเราะ) มันถ่ายกันกี่คิว แล้วยังไม่นับว่าตอนละ 2 ล้านนี่เป็นเงิน 2 ล้านจริงไหม มีการหักเงินอะไรก่อนหน้านั้นไหม กลายเป็นว่าอาจจะเหลือถ่ายจริงๆ อยู่ไม่กี่แสน แล้วเงินจะไปลงคนทำงานอีกไม่รู้กี่ร้อยชีวิตในกองถ่ายให้พออยู่ได้ยังไง

ถ้าคุณเอาเงิน 20 ล้านไปใช้ถ่ายหนังที่ปกติแล้วก็ออกกองสัก 15-17 คิว ก็จะได้ออกมาเป็นหนังความยาว 2 ชั่วโมง แต่ไอ้เงิน 20 ล้านนี่ถ้าเอามาทำซีรีส์ หารยิบย่อยแล้วอาจจะเหลือเงินมาใช้เพื่อออกกองถ่ายทำไม่เท่าไหร่ เผลอๆ ในหนึ่งตอนความยาว 45 นาทีของซีรีส์นี่เหลือเงินถ่ายกันอยู่สองคิว (หัวเราะ) มันน้อยมากนะ แต่ให้ทำยังไงล่ะ ก็มีเงินเท่านี้กับคิวถ่ายทำอีกสองคิว จะเพิ่มคิวใหม่ในอีกวันเพื่อถ่ายให้ครบตอนละ 45 นาทีก็ต้องใช้เงินเพิ่ม คุณไม่มีเงินแต่มีเนื้อให้ต้องถ่ายเพิ่ม เลยจบที่การเพิ่มเวลาแต่ละคิวไป แหกไปจนเป็น 16 ชั่วโมง

มองในภาพรวม ต้นธารทั้งหมดอยู่ตรงไหน คนกองจะแก้ปัญหากันเองได้ไหม

(คิดนาน) จะพูดว่ารัฐก็เหี้ยนะ แต่ใช่ คำถามคือ คนทำงานเหล่านี้ถูกระบุเข้าไปในระบบแรงงานหรือเปล่า ถูกระบุไว้เพื่อให้ได้สิทธิขั้นพื้นฐานหรือไม่ เพราะเอาเข้าจริงกฎหมายแรงงานก็คุ้มครองแต่คนทำงานอาชีพอื่นให้ทำงานไม่เกิน 8 ชั่วโมง แต่คนกองถ่ายไม่นับว่าอยู่ในหมวดนั้นอีก เพราะคนกองถ่ายคือแรงงานที่อยู่นอกระบบ

อีกประเด็นคือเรื่องการกำกับดูแลเรื่องราคาและมาตรฐานแรงงาน เรากล้าพูดไหมล่ะว่าภาพยนตร์เป็น ‘อุตสาหกรรมบันเทิง’ (เน้นเสียง) ก็อาจจะใช่ แต่ตัวภาพยนตร์เองเป็นอุตสาหกรรมได้หรือยัง ซีรีส์ที่ออกฉายตามโทรทัศน์นี่เป็นอุตสาหกรรมหรือเปล่า คำตอบคือมันเป็นอุตสาหกรรมไม่ได้ เพราะไม่มีใครอยู่ได้เลย ในความหมายที่ว่าเราไม่รู้หรอกว่าเด็กจบใหม่มีกี่คน คำถามคือเด็กพวกนี้จบมาแล้วสามารถทำงานเลี้ยงชีพด้วยสิ่งที่เรียนมาได้จนจบ มี career path ชัดเจน พร้อมเติบโตได้ไหม สมมติคุณเรียนจบนิเทศศาสตร์มา ถามว่าจนถึงตอนนี้ เพื่อนที่เรียนจบมาด้วยกันทำงานด้านนิเทศกี่คน เราเรียนจบด้านภาพยนตร์มา รุ่นเราทั้งภาคมีประมาณ 300 คน คิดว่าตอนนี้เหลือทำงานในวงการนี้จริงๆ หยิบมือเดียว อาจจะเหลือที่ทำงานด้านนี้จริงๆ สัก 5-10 เปอร์เซ็นต์

ถ้าอุตสาหกรรมมันแข็งแรงจริงๆ คนก็น่าจะอยู่ในอุตสาหกรรมนี้ได้สัก 50-60 เปอร์เซ็นต์หรือเปล่า ต้องมีการจ้างงาน ส่งต่องานให้คนรุ่นใหม่ มีการปรับเปลี่ยนขยายงาน มีการรองรับรวมถึงได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐสิ ย้อนกลับไปที่เราคุยกันว่า โทรทัศน์จะต้องทำเงินผ่านการขายโฆษณาหรือไทอินต่างๆ จนได้เงินหนึ่งก้อนมาผลิตงาน หรือถ้าเป็นระบบใหม่ที่เป็นแพลตฟอร์ม OTT ก็ดูจากจำนวนคนที่เข้ามาดูว่ามากน้อยแค่ไหน สมมติคุณเป็นคนทำงานแบบหนึ่ง เช่น ทำงานสารคดีมาตลอด คุณมีโอกาสที่จะเข้ามาทำงานในแพลตฟอร์ม OTT นี้ไหม เพราะสุดท้ายแล้วเขาก็ต้องการงานกระแสหลักเพื่อให้คนเข้ามาดู หรือโทรทัศน์ก็ต้องการงานที่เจาะกลุ่มตลาดเป็นวงกว้างได้เพื่อจะขายบางสิ่งบางอย่างที่มากับคอนเทนต์ เท่ากับว่าคนกลุ่มที่ไม่ได้ทำงานกระแสหลักหรือไม่ได้ทำงานที่เจาะตลาดเป็นวงกว้างมันโดนตัดขาดไปจากระบบเลยหรือเปล่า ทั้งที่พวกเขาก็อาจเป็นคนมีฝีมือหรือมีวิธีการคิดอีกแบบเท่านั้นเอง แล้วเมื่อเรารู้อยู่แล้วว่าสิ่งนี้มีคุณภาพของมัน แต่เราไม่ให้โอกาสเขาเลยเหรอ คนที่จะให้โอกาสคือใครล่ะ ถ้าในสมการจริงๆ คือรัฐก็ต้องเข้ามาอุ้มตรงส่วนนี้หรือเปล่า

รัฐมีงบลงมาผ่านกระทรวงต่างๆ อยู่หรือเปล่า

กลับไปที่เรื่องโรงหนังกับค่ายหนัง ก่อนหน้านี้มีคนออกมาพูดเรื่องระบบการจัดการเรื่องเงินของโรงหนังบางเจ้าที่แบ่งด้วยระบบ 50-50 สมมติได้เงินมา 100 บาทโรงก็ได้ไปแล้ว 50 บาท ไม่ต้องทำอะไรเลย ขณะที่เจ้าของหนังต้องไปจ่ายค่าภาษี ค่าโปรโมตหนังต่างๆ เหลือเงินเข้ากระเป๋าสักเท่าไหร่เชียว

คำถามต่อมาคือไอ้เงินภาษีก้อนนี้ไปอยู่ไหน หลายประเทศเขาก็มีระบบภาษีหนังแบบนี้นะ เช่น ประเทศฝรั่งเศสเอาเงินภาษีพวกนี้ไปให้คนทำหนังหน้าใหม่ อัดฉีดไปให้สร้างเนื้อสร้างตัว หนังมึงดีแต่ไม่มีคนดูเหรอ เดี๋ยวกูติดต่อไปที่สมาคมฝรั่งเศส (Alliance Française) ของแต่ละประเทศให้เลยว่าสนใจเอาหนังเรื่องนี้ไปฉายไหม หรือไม่ก็จ่ายให้ผู้จัดจำหน่ายหนัง (distributor) ซื้อเอาไปฉาย นี่คือการเอาภาษีหนังไปใช้ให้ถูกทาง เพราะสุดท้ายแล้วเงินก็จะวนกลับมาให้คนทำงานต่อ และเงินก้อนนี้ก็ไม่ไปไหนไง มันจะวนกลับไปกลับมาในรัฐอยู่ดีเพราะหนังได้ฉาย รัฐก็ได้ภาษี และเป็นการสนับสนุนคนทำงานหน้าใหม่ๆ ด้วย

แล้วภาษีหนังในไทยที่จ่ายๆ กันนี่ไปอยู่ไหน

ไม่รู้ อยากรู้เหมือนกัน (ถอนหายใจ) มันไม่ถูกวนกลับมาใช้ในอุตสาหกรรมด้วยซ้ำ คือเข้าใจว่าหนังไทยอาจไม่ได้มีคนดูเยอะขนาดนั้นหรอก แต่โรงหนังก็ไม่ได้ฉายแค่หนังไทยไง เงินภาษีที่ได้จากการจ่ายภาษีตั๋วหนังควรจะกลับมาเข้าสู่อุตสาหกรรมภาพยนตร์เพื่อพัฒนาบุคลากรหรือการทำให้หนังไปได้ไกล ให้คนทำหนังสามารถมีชีวิตอยู่ได้

คนทำงานในระบบนี้สามารถตั้งสหภาพกันเองเพื่อเรียกร้องสวัสดิการต่างๆ ได้ไหม

ทำได้ แต่ก็จะกลับไปที่ประเด็นเดิมอีก คือสหภาพจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราต้องแก้กฎหมายแรงงานให้คนทำงานกองถ่ายเป็นแรงงานในระบบกันให้ได้ก่อน หลังจากนั้นคนทำงานทุกคนร่วมมือ จับมือกัน โดยมีรัฐช่วยผลักดันและกำกับดูแลคนในระบบได้

ถ้ามองโลกในแง่ดีมากๆ เราว่ามันก็ทำได้นะ แต่เราไว้ใจรัฐไหม เพราะสิ่งเหล่านี้อยู่นอกเหนือจากเราแล้ว มันคือการร่วมมือกันระหว่างหลายกระทรวง ไม่ว่าจะกระทรวงแรงงาน กระทรวงวัฒนธรรม หรือกระทรวงพาณิชย์ สุดท้ายก็จะเป็นเรื่องการกำกับราคาคนทำงานในแวดวงนี้ รวมไปถึงการรับรองมาตรฐานต่างๆ ต้องเป็นการรับประกันคุณภาพของคนที่อยู่ในสหภาพให้ได้ เพื่อที่ว่าลูกค้ามาจ้างงานแล้วตัวลูกค้าก็รู้สึกสบายใจว่าทีมที่เราจะจ้างนี้ผ่านมาตรฐาน ผ่านเกณฑ์นะ

พอโควิด-19 มามีคนล้มหายตายจากจากวงการนี้ไปเยอะมาก เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรไหม

ตัดเรื่องการต้องมีวิธีการป้องกัน การสร้างความปลอดภัยในการแพร่เชื้อใดๆ ไปก่อนนะ แต่ส่วนหนึ่งเรารู้สึกว่า คนในวงการนี้พบข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งว่า การกลับไปอยู่บ้านแล้วทำอย่างอื่นอาจจะได้เงินมากกว่าหรือเปล่า เรามีสวัสดิภาพมากกว่าเดิม สามารถตื่นนอนตอน 8 โมงเช้า ทำงาน 9 โมง เลิกงาน 5 โมงเย็นได้เหมือนกันนี่หว่า มีเวลาอยู่กับครอบครัวด้วย ดูแลพ่อแม่ก็ได้ หรือถ้ามีลูกก็มีเวลาไปรับลูกที่โรงเรียนด้วย ซึ่งถ้าคุณทำงานในกองถ่ายคุณแทบไม่มีอะไรแบบนี้เลยนะครับ ยังไม่นับเรื่องคนที่ทำงานในกองถ่ายแล้วไม่มีเวลาเจอหน้าพ่อแม่เป็นปีๆ รู้ตัวอีกทีคือพ่อแม่ตายไปแล้ว นี่เป็นเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานมากๆ เลยนะ

สมมติเราอยาก work life-balance มากเลย เราเป็นฟรีแลนซ์รับเงินเป็นรายวันที่ตั้งใจว่าเดือนนี้จะรับงานแค่ 15 คิวแล้วจบ ตั้งใจมากว่าจะกลับบ้านไปหาพ่อแม่ แต่ปรากฏว่าถึงเวลาจริงมียกเลิกงานเราไปสองคิว เงินหายไปแล้วเต็มๆ แล้วพอจะกลับบ้าน ไอ้วันที่จะกลับก็ดันมีงานเข้ามาพอดี เป็นคุณจะรับไหมล่ะ มันเลือกได้ไหม พอเราอยู่ในประเทศที่ไม่สามารถทำให้เราใช้ชีวิตและมีทางเลือกมากขนาดนั้น เท่ากับเราโดนบีบให้ไม่มีทางเลือกไปโดยปริยาย สุดท้ายแล้วคนที่เข้ามาอยู่ในวงการนี้ก็ไม่มีทางเลือกมากนักหรอก มีแค่ทำกับออก ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่านั้น

ไม่รู้ว่าพอหลังจากโควิด-19 ซาลงไปหน่อยแล้วและเปิดให้มีการออกกองถ่ายทำอีกครั้ง คนในกองจะหายไปมากน้อยแค่ไหน แต่หลายๆ คนเขามีงานเสริมเข้ามานอกเหนือจากงานกองถ่าย และการกลับมาทำงานกองถ่ายก็เป็นแพสชันของเขา แต่มันไม่ใช่สิ่งที่เลี้ยงดูชีวิตเขาอีกแล้ว

สิ่งที่น่าประหลาดใจคือเวลาเราคุยกันเรื่องวงการซีรีส์ซึ่งต้องใช้ความสร้างสรรค์ แต่ฉากหลังมันแห้งแล้งมากเลย

สุดท้ายแล้วเรื่อง 12 ชั่วโมงหรือ 16 ชั่วโมงต่างๆ คือเรื่องของการที่เขาไม่ได้ทรีตคุณเป็นคน แต่เขาทรีตว่างานสำคัญกว่าชีวิตมนุษย์ ทุกคนที่อยู่หน้าจอโทรทัศน์ต้องมีความสุขมากกว่าคนที่อยู่ในกอง โดยที่ไม่ได้แคร์ว่าสิ่งนี้มันบาลานซ์กันได้ไหม มันเป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบหรอก เราจะไปเอาคำตอบมาจากไหน เราจะไปขอเงินจากลูกค้าเพิ่มซึ่งลูกค้าก็ไม่มีเงิน แล้วเราต้องทำยังไง จับมือกันทั้งวงการแล้วสไตรค์ไม่รับงานไหม ก็กลับไปจุดที่เดิมว่าทุกคนพร้อมใจกันไม่รับงานได้ไหมล่ะ

กลับมาสู่ความจริงคือ ถ้ามองว่าการแก้ปัญหาต่างๆ เป็นความสร้างสรรค์ เราว่าก็ใช่นะ (หัวเราะ) คำว่าความสร้างสรรค์มันอาจไปอยู่ในรายละเอียดเสียมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นงานอาร์ต มีงบมาเท่านี้ ก็ไปคิดว่าต้องทำยังไงให้ตอบโจทย์กับเรื่องและได้งานที่ออกมาดีในงบที่เราทำได้ รวมถึงการคิดบทหรือการสร้างใดๆ ก็แล้วแต่ มันต้องออกแบบมาตั้งแต่แรกเลย พอมีข้อจำกัดเยอะก็บีบให้เราต้องคิดอะไรเยอะมาก เช่นเราจะเล่าเรื่องแบบไหนได้บ้างในข้อจำกัดที่เรามี แต่ในอีกด้าน ถ้าเรามองในเชิงความคิดที่มันฟุ้งออกไปได้ แล้วมีทรัพยากรให้เราเพียงพอ เราว่าวงการนี้ก็อาจยังไม่ตอบโจทย์ขนาดนี้

วงการนี้มันเป็นวงการที่ถ้าเรามีแพสชันและมีความสามารถ ทุกคนพร้อมจะให้โอกาส เป็นวงการที่โตเร็วและก้าวกระโดดอย่างมากเหมือนกันนะ เรามีตากล้องระดับประเทศที่อายุไม่ถึง 30 พร้อมกันหลายคนมากๆ เพราะมีสนามให้คุณได้ประลองฝีมือเยอะ ไม่ว่าจะเป็นงานเอ็มวี โฆษณาใดๆ คนตัดต่อเก่งๆ ก็มีเยอะ ถ้าเด็กจบใหม่อยากโตในวงการนี้ เราว่าทุกจ็อบที่อยู่ในระบบโปรดักชันมันมีพื้นที่เพื่อรับคนที่มีความสามารถและแพสชัน แต่คำถามนี้ก็กลับมาอีกว่า มันพร้อมจะเป็นพื้นที่ให้ทุกคนหรือเปล่า ซึ่งเราว่าไม่ เพราะบางคนพร้อมมาก เก่งมาก แต่ไม่มีโอกาสก็จบ มีปัจจัยที่เรามองไม่เห็นเยอะเกินไปในการที่เราจะเติบโต แต่ถามว่าวงการนี้พร้อมจะเติบโตไหม มันพร้อม พร้อมอย่างมากด้วย

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save