fbpx
ถ้าไม่สู้ก็อยู่อย่างทาส: หลากเสียงจากสามัญชนพม่า หลายวิถีทางแห่งการต่อสู้

ถ้าไม่สู้ก็อยู่อย่างทาส: หลากเสียงจากสามัญชนพม่า หลายวิถีทางแห่งการต่อสู้

“คุกที่แท้จริงคือ ‘ความกลัว’ และอิสรภาพที่แท้จริงคือ 
‘อิสรภาพจากความกลัว’”

วรรคทองของวีรสตรีแห่งชาติพม่า ‘อองซานซูจี’ ยังคงดังก้องเตือนใจประชาชนทั้งผองบนแผ่นดินพม่าว่า แม้สู้แล้วพ่ายแพ้ แต่ก็ยังดีกว่า ‘กลัว’ จนไม่กล้าสู้ เช่นนั้น อิสรภาพก็ไม่มีวันเป็นไปได้ 

1 กุมภาพันธ์ 2021 บทใหม่แห่งการต่อสู้ของประชาชนอุบัติขึ้น เมื่อประชาธิปไตยในมือถูกริบคืนไปอีกครา คนพม่าต่างออกมาสู้ ด้วยไม่อยากย้อนกลับสู่กรงขังขนาดใหญ่ที่พวกเขารู้แก่ใจว่าทุกข์ทรมานเช่นไร

101 สนทนาเปิดใจคนพม่าจากหลากพื้นเพ หลากแนวคิด หลากอาชีพ ทั้งกลุ่มคนที่เลือกจับปืนสู้ทหาร นักวิชาการ สื่อมวลชน ดารา กระทั่งทหาร พูดคุยเจาะลึกให้เห็นความคิดและหัวจิตหัวใจของพวกเขาท่ามกลางการต่อสู้ครั้งใหม่

เส้นทางที่พวกเขาเลือกเดินนั้นช่างแตกต่างหลากหลาย หากแต่มุ่งหน้าสู่จุดหมายเดียวกันคือการโค่นล้มเผด็จการ  

การชุมนุมของคนพม่าในไทยเพื่อประท้วงการรัฐประหารที่หน้าสถานทูตพม่าประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021

ไม่มีอีกแล้ว ‘นารีขี่ม้าขาว’…มีแต่ ‘เรา’ ที่ต้องสู้เอง 

“ตราบใดที่กองทัพมีอำนาจอยู่ ก็ไม่มีโอกาสเลยที่คนพม่าจะสัมผัสกับสันติภาพ เสรีภาพ และประชาธิปไตยที่แท้จริง กองทัพไม่สามารถและไม่เคยคิดที่จะทำให้พม่าเป็นประชาธิปไตย”

คำพูดของหม่อง ซาร์นี (Maung Zarni) นักวิชาการชื่อดังชาวพม่า ผู้ร่วมก่อตั้งองค์กร Forces of Renewal for Southeast Asia (FORSEA) สะท้อนความจริงอันน่าหดหู่ของประชาชนบนดินแดนแห่งลุ่มน้ำอิรวดี ที่ไม่เคยหลุดพ้นจากอุ้งมือของกองทัพตัดมาดอว์ (Tatmadaw) มานาน 5-6 ทศวรรษ 

 หม่อง ซาร์นี (Maung Zarni) นักวิชาการชาวพม่า ผู้ร่วมก่อตั้งองค์กร Forces of Renewal for Southeast Asia (FORSEA)
ภาพจาก: www.maungzarni.net

เมื่อเสียงเครื่องยนต์รถถังดังขึ้นพร้อมมุ่งหน้าสู่กรุงเนปิดอว์เพื่อเข้ายึดอำนาจจากประชาชนในย่ำรุ่งวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 หม่อง ซาร์นีก็ต่อต้านรัฐประหารผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียอย่างฉับพลัน เพราะลี้ภัยอยู่ในอังกฤษ ด้วยว่าเขาคือผู้วิพากษ์วิจารณ์กองทัพอย่างเผ็ดร้อน ทั้งยังเคลื่อนไหวเรียกร้องเสรีภาพให้กับทั้งคนพม่าและชนกลุ่มน้อยต่างๆ มาตลอด 30 ปี ผ่านทั้งเอ็นจีโอต่างๆ ที่เขาร่วมจัดตั้ง งานเขียนวิชาการ และโลกออนไลน์ จนใครๆ ต่างเรียกหม่อง ซาร์นีว่า ‘Emeny of the State’ (ศัตรูแห่งรัฐ) แม้เขาจะเคยแย้งว่า “ผมไม่ใช่ศัตรูของรัฐ รัฐต่างหากคือศัตรูของประชาชน”

“พวกเขาถูกทหารปกครองมาต่อเนื่องกว่า 50 ปี พวกเขารู้ดีว่าพวกนายพลกองทัพโง่เขลา ตะกละตะกลาม โหดร้าย และทำลายประเทศชาติมากขนาดไหน พวกเขาเลยทนไม่ได้ที่จะต้องโดนคนพวกนี้ปกครองต่อไปอีก” หม่อง ซาร์นีให้ความเห็นถึงความเกลียดชังที่คนพม่ามีต่อกองทัพจนนำไปสู่ปรากฏการณ์อารยะขัดขืน (Civil Disobedience Movement) ครั้งใหญ่ต่อต้านรัฐประหาร

ประชาชนพม่ามีประวัติศาสตร์ของการต่อสู้กับกองทัพมายาวนาน แต่น่าเศร้าที่ทุกครั้งจบลงด้วยความพ่ายแพ้ ถึงอย่างนั้นคนพม่าผู้โหยหาประชาธิปไตยก็ไม่เคยสิ้นหวัง ด้วยมีศูนย์รวมใจอันปรากฏในรูปของสตรีร่างผอมบางในชุดลองยี พร้อมดอกไม้ทัดมวยผม นาม ‘อองซานซูจี’ จนกระทั่งปี 2015 เธอก้าวขึ้นเป็นผู้นำพลเรือนคนแรกในรอบหลายทศวรรษ ก่อนจะสูญสิ้นอำนาจและอิสรภาพให้กองทัพอีกครั้งเมื่อต้นปี

“ข้อผิดพลาดใหญ่ที่สุดของซูจี คือเธอคิดแต่จะประนีประนอมกับกองทัพ จนละทิ้งหลักการเดิมของเธอที่ต้องต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ถึงขั้นที่ไปแก้ต่างคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาด้วยตัวเองถึงศาลโลก แทนที่จะปกป้องเหยื่อ” หม่อง ซาร์นีกล่าวพร้อมตอกย้ำว่า “แต่แล้วทั้งหมดที่เธอพยายามจะเอาใจกองทัพก็สูญเปล่า กองทัพไม่ได้ใจอ่อนให้กับเธอเลย”

หม่อง ซาร์นี (Maung Zarni) และอองซานซูจี (Aung San Suu Kyi)
ภาพจาก: www.maungzarni.net

“การที่เธอทิ้งอุดมการณ์เดิมของเธอ โดยไปหวังลมๆ แล้งๆ ว่าถ้าเธอร่วมมือกับกองทัพมากขึ้น เธอจะทำงานเพื่อชาติได้อย่างราบรื่น แต่เปล่าเลย ไม่มีใครที่จะทำงานเพื่อชาติได้โดยไม่ยืนอยู่บนหลักการที่ถูกต้อง” หม่อง ซาร์นีชี้ให้เพื่อนร่วมชาติเห็นความผิดพลาดของอองซานซูจี เพื่อให้บทเรียนว่านับจากนี้ ประชาธิปไตยที่คนพม่ากำลังต่อสู้เพื่อมัน ต้องเป็นประชาธิปไตยจริงๆ ไม่ใช่ประชาธิปไตยเพื่อตัวเองเพียงคนเดียว โดยเพิกเฉยชนกลุ่มอื่นอีกต่อไป 

“ภาคประชาชนต้องรวมตัวกันให้เข้มแข็ง และต้องหันมายึดถือหลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนเพื่อทุกคนอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงเรียกร้องให้ตัวเอง ถ้าทำอย่างนั้นได้ ประชาชนจะสามารถสู้ได้” เขากล่าวพร้อมให้บทเรียนสำคัญอีกข้อหนึ่งว่าถึงเวลาแล้วที่คนพม่าจะต้องก้าวข้ามไปให้ไกลกว่าอองซานซูจี

“วันนี้เราเห็นแล้วว่าซูจี คนที่ถูกเรียกว่าเป็นแม่ คนที่เคยได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ คนที่เคยเป็นสัญลักษณ์ของการเรียกร้องสิทธิมนุษยชน ไม่สามารถช่วยลูกๆ ของเธอได้อีกแล้ว เธอยังปกป้องตัวเธอเองไม่ได้เลย แล้วเธอจะมาปกป้องประชาชนได้อย่างไร ตอนนี้ไม่มีใครที่จะขี่ม้าขาวมาช่วยพวกเขาแล้ว ถึงเวลาแล้วที่ลูกๆ ของเธอจะต้องเลิกหลบอยู่ใต้กระโปรงซูจี พวกเขาจะต้องเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่พร้อมออกมายืนหยัดต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยด้วยตัวเอง”

จับปากกา ถือเลนส์กล้อง สู้ปลายกระบอกปืน 

แม้ไม่มีอองซานซูจี ไม่มีแกนนำที่โดดเด่น แต่คนพม่าได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า พวกเขาเป็นผู้ใหญ่ที่กำลังต่อสู้บนลำแข้งของตัวเองอย่างแท้จริง แต่ก็เฉกเช่นทุกครั้งบนหน้าประวัติศาสตร์ ตัดมาดอว์ไม่เคยจำนนต่อประชาชน ฉากของทหารถืออาวุธไล่จับ ทำร้าย สังหารประชาชน อันเสมือนหนังที่ฉายซ้ำแล้วซ้ำเล่าก็ฉายขึ้นมาอีกครั้ง และหนังเรื่องนี้ก็คงเงียบงัน หากปราศจากคนกลุ่มหนึ่งที่พยายามถ่ายทอดเรื่องราวสู่สายตาชาวโลกอย่างแข็งขัน นั่นคือ ‘นักข่าว’ แม้หน้าที่ของพวกเขาสุ่มเสี่ยงต้องแลกด้วยอะไรหลายอย่าง ซึ่งบางครั้งคือชีวิต 

“เราต้องเดินหน้าทำงานเราต่อไปทุกวิถีทาง ไม่ว่าจะถูกคุกคามหนักขนาดไหน เพราะถ้าเราไม่มีนักข่าวหรือช่างภาพทำงานในพื้นที่เลย กองทัพก็จะทำร้ายประชาชนได้ง่ายๆ โดยปราศจากหลักฐาน เราไม่สามารถละทิ้งหน้าที่ของเราได้” ส่วย วิน เจ้าของสำนักข่าว Myanmar Now ผู้คร่ำหวอดวงการสื่ออย่างโชกโชนกล่าว

ไม่ใช่แค่ส่วย วินคนเดียวที่คิดเช่นนี้ นักข่าวพม่าจากหลากหลายห้องข่าวก็ไม่คิดที่จะละทิ้งหน้าที่ในการรายงานความจริงท่ามกลางสถานการณ์อันท้าทาย แต่ความจริงนั้นย่อมเป็นสิ่งที่ผู้นำเผด็จการกลัวที่สุด นักข่าวจึงเป็นเป้าหมายใหญ่ของการปราบปรามเสมอมา จนถึงตอนนี้ มีนักข่าวทั้งพม่าและต่างชาติกว่า 100 คนแล้วที่ถูกจับกุมจากเหตุรัฐประหาร รวมถึงนักข่าวจากสำนักข่าว Myanmar Now ของส่วย วินเอง

นอกจากการคุกคามทางร่างกาย นักข่าวในพม่ายังถูกล่วงล้ำจรรยาบรรณวิชาชีพ เช่นการถูกสั่งห้ามไม้ให้ใช้คำว่า ‘รัฐบาลรัฐประหาร’ โดยยกคำขู่ขึ้นมาสารพัด แต่นักข่าวพม่าก็ไม่ได้ยอมโอนอ่อนตาม 

“เพราะนี่คือความถูกต้อง นี่คือจิตวิญญาณของคนทำสื่อ เราจะไปให้ความชอบธรรมกับคนกลุ่มหนึ่งที่แย่งอำนาจไปจากมือประชาชนและยังทำร้ายประชาชนได้อย่างไร เราไม่ยอมรับให้พวกเขาเป็นรัฐบาล เพราะฉะนั้นเราถึงไม่เรียกตำแหน่งของพวกเขาบนหน้าข่าวของเรา บางคนอาจจะบอกให้เรายอมๆ เขาไปบ้าง ยอมเรียกเขาว่าเป็นรัฐมนตรีหน่อย แล้วเราจะได้เปิดสำนักข่าวทำงานกันต่อได้ แต่ผมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งเลย เพราะสื่อมีหน้าที่ต้องยืนหยัดรายงานความจริง อยู่ข้างความถูกต้อง และอยู่ข้างประชาชนเท่านั้น ถึงสำนักข่าวจะต้องถูกปิด เราก็ไม่ยอมทรยศหน้าที่ตัวเอง จะโดนปิดก็ปิดไปเลย” ส่วย วินกล่าว

ส่วย วิน (Swe Win) เจ้าของสำนักข่าว Myanmar Now
ภาพจาก ส่วย วิน

ภูมิหลังของส่วย วิน คือชายผู้เผชิญหน้าอำนาจรัฐมาตลอด เมื่อครั้งเป็นนักศึกษา เขาเข้าร่วมการประท้วงต่อต้านรัฐบาลทหารบ่อยครั้ง จนถูกคุมขังนานถึง 7 ปี ก่อนได้รับอิสรภาพในปี 2005 หลังจากนั้นเขาเปลี่ยนวิถีมาหยิบจับปากกาและเลนส์กล้องเป็นอาวุธต่อสู้ เดินเข้าสู่วิชาชีพสื่อมวลชน จนกระทั่งปี 2015 เขาได้ก่อตั้งสำนักข่าว Myanmar Now อันโดดเด่นอย่างยิ่งในงานข่าวสืบสวนที่สร้างแรงสั่นสะเทือนในสังคมพม่า ทั้งยังเปิดโปงกองทัพมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน ความหาญกล้านี้ก็ส่งให้ส่วย วินได้รับรางวัลแมกไซไซในปี 2019 แต่ก็แลกมาด้วยการที่เขาไม่อาจอยู่ในแผ่นดินเกิดได้อีกต่อไป ด้วยว่าเคยถูกพยายามลอบสังหาร จนต้องหอบครอบครัวลี้ภัยไปออสเตรเลีย โดยเขาก็มีหลักฐานเพียงพอที่จะเชื่อว่าทั้งหมดคือฝีมือกองทัพ

กระนั้นจิตวิญญาณความเป็นสื่อของเขาก็ไม่หยุดทำงาน ในช่วงเวลารัฐประหาร เขาควบคุมการทำงานของทีมข่าวจากห้องพักเขาเองในออสเตรเลียผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ส่วนทีมข่าวที่ยังทำหน้าที่ในพม่านั้น เขาเล่าว่า “พวกเราจะต้องลงไปทำงานใต้ดินกันมากขึ้น โดยไม่มีที่ทำการสำนักข่าว เราคงจะทำงานกันเป็นทีมชัดเจนไม่ได้เหมือนแต่ก่อน ตอนนี้เหมือนกับว่าเรากำลังสู้อยู่ในสงคราม นักข่าวอย่างเราๆ ก็เป็นเหมือนทหารที่กำลังต่อสู้ เราต้องทำงานกันเหมือนสายลับอะไรทำนองนั้น”

แม้จะทำงานกันอย่างยากลำบาก แต่ทีมข่าว Myanmar Now ก็รายงานข่าวความเคลื่อนไหวบนแผ่นดินพม่าแบบเชิงลึกออกมาได้ไม่ขาดสาย กลายเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญให้สื่อหลายสำนักทั่วโลกยกไปอ้างอิง แต่แน่นอนว่านั่นทำให้พวกเขายิ่งเป็นที่จับตาของกองทัพ 

“แน่นอนว่างานของเราจะยากขึ้น แต่เราก็มั่นใจว่าจะทำได้ เพราะเราคุ้นเคยกับการอยู่ภายใต้เผด็จการทหารมาก่อนอยู่แล้ว เราเกิดมาก็อยู่กับมันแล้ว เพราะฉะนั้นเราปรับตัวได้” ส่วย วินพูดด้วยความมั่นใจ

“ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ตราบใดที่สื่ออย่างเรายืนข้างความถูกต้องและยึดมั่นจรรยาบรรณวิชาชีพของเรา เราจะมีที่ทางในวิชาชีพนี้อยู่เสมอ ผมยืนยันได้เลย” เขาทิ้งท้าย 

ไม่ใช่แค่ ‘คนของประชาชน’ แต่เพราะเป็น ‘คน’ ถึงต้อง ‘คอลเอาต์’

“ในฐานะสื่อ แน่นอนว่าเราต้องอยู่เคียงข้างประชาชน แล้วเราก็จะถูกบันทึกในประวัติศาสตร์ต่อไปว่า ในวันนี้เราได้เลือกยืนอยู่เคียงข้างความถูกต้องเป็นธรรม” ชายอีกคนหนึ่งพูดถึงจรรยาบรรณสื่อเช่นกัน หากแต่เขาไม่ใช่นักข่าวอย่างส่วย วิน แต่เป็นสื่ออีกแขนง นั่นคือ ‘สื่อบันเทิง’

“ดาราต้องไม่ใช่แค่สร้างสรรค์ผลงานออกมาเพื่อความบันเทิงของผู้คนเท่านั้น แต่ต้องทำตัวเหมือน ‘เพชร’ ที่ไม่ใช่แค่สวยงาม แต่ต้องมีคุณค่าด้วย คนทั้งประเทศต้องได้รับคุณค่าจากสิ่งที่เราทำหรือสื่อสารออกมา นั่นถึงจะเรียกได้ว่าเราเป็นสื่อที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง” ชายผู้ที่กล่าวประโยคนี้คือ ‘ดาง์ว’ (Daung) นักแสดงหนุ่มขวัญใจชาวพม่า ผู้เชื่อว่า ‘เสียง’ ของเขามีความหมายยิ่งในช่วงเวลาที่เพื่อนร่วมชาติต่างกำลังต่อสู้

ดาง์ว (Daung) ทัดดอกไม้ที่หู แสดงสัญลักษณ์อวยพรวันเกิด ออง ซาน ซูจี หลังจากเธอถูกคุมขังโดยคณะรัฐประหาร
ภาพจาก Facebook: DAUNG – ဒေါင်

แม้ตัวจะไม่ได้อยู่พม่า เพราะยังคงปักหลักในไทยเพื่อถ่ายทำละคร ‘จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี’ ตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ดาง์วก็ยังคงร่วมต่อสู้จากที่นี่ ทั้งร่วมกิจกรรมชุมนุมต่อต้านรัฐประหารกับคนพม่าในไทย พร้อมกับใช้เฟซบุ๊กที่มีผู้ติดตามถึง 2.1 ล้านคน ส่งเสียงไปถึงเพื่อนร่วมชาติ

“ที่ผมทำอย่างนี้เพราะผมมีความเชื่อมั่นว่าเสียงของผมไปถึงทุกคนได้ และผมก็สามารถเป็นตัวแทนที่ส่งเสียงให้กับคนพม่าได้ด้วย และยิ่งตอนนี้เกิดรัฐประหารขึ้นมาอีกครั้ง ผมก็รู้สึกว่ายิ่งต้องออกมาพูด เพื่อที่ผมจะได้ส่งเสียงให้ทุกคนรู้ว่า ผมก็ต่อสู้อยู่เคียงข้างทุกคน” ดาง์วกล่าว 

เพราะเติบโตมาในยุคเผด็จการทหารเต็มรูปแบบ ดาง์วซาบซึ้งดีว่าชีวิตแบบนั้นเลวร้ายขนาดไหน แม้แต่จะเสพงานศิลปะที่เขาชื่นชอบ เขาก็ต้องทำอย่างหลบซ่อน แต่แล้วเมื่อย่างเข้าต้นทศวรรษ 2010 แสงประกายแห่งประชาธิปไตยก็ค่อยๆ สาดแสงบนแผ่นดินพม่า วงการศิลปะบันเทิงกลับมาผลิดอก พร้อมกันนั้นยังส่องสว่างเส้นทางให้ดาง์วได้เข้าสู่วงการบันเทิง ก่อนก้าวขึ้นเป็นนักแสดงแถวหน้าจากภาพยนตร์เรื่อง The Only Mom (2019) แต่หนทางอันสว่างไสวในวงการบันเทิงของเขาก็มืดหม่นลง เมื่อกองทัพยึดอำนาจคืนอีกครั้ง 

“วงการบันเทิงหรือกระทั่งวงการศิลปะได้ถูกทำร้ายไปตั้งแต่ที่กองทัพเข้ามาทำรัฐประหาร มันจบสิ้นแล้ว ศิลปินไม่ได้มีความรู้สึกว่าอยากจะออกมาสร้างสรรค์ผลงานภายใต้รัฐบาลทหารอีกต่อไป เมื่อประชาชนไม่มีความสุข ศิลปินก็ไม่มีความสุขและไม่มีใจสร้างสรรค์งานไปด้วย เพราะฉะนั้น ผมว่าตราบใดที่ประเทศเรายังไม่เป็นประชาธิปไตย วงการนี้ก็ไม่มีทางอยู่ต่อไปได้แน่นอน” ดาง์วกล่าว

เป็นเช่นที่ดาง์วพูด ทันทีที่เกิดรัฐประหาร ดารานักแสดงพม่าต่างออกมาส่งเสียงขับไล่เผด็จการเคียงข้างประชาชน หากแต่พวกเขาก็มีราคาที่ต้องจ่ายมหาศาล บางคนโดนตั้งข้อหา บ้างโดนจับกุม ส่วนดาง์วนั้นก็ต้องจ่ายราคาแพงด้วยการหมดสิทธิกลับบ้านเกิด ตราบใดที่เผด็จการทหารยังคงอยู่

ดาง์ว (Daung) ขณะร่วมชุมนุมต่อต้านรัฐประหารร่วมกับคนพม่าในไทย เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2021
ภาพจาก Facebook: DAUNG – ဒေါင်

“เราไม่ควรห่วงแค่อาชีพของตัวเองอย่างเดียว แต่ต้องมองส่วนรวมในฐานะที่มนุษย์ต้องอยู่ในสังคมร่วมกัน ถ้าในภาพรวม ประเทศเราไม่ดี ไม่เป็นประชาธิปไตย อาชีพของเราก็ไม่มีทางไปรอดได้ ถ้าประชาชนไปไม่รอด วงการบันเทิงเราก็ไปไม่รอดเช่นกัน เพราะฉะนั้น การที่เราจะไปรอดได้คือทุกคนในสังคมต้องไปรอดเหมือนกัน เป็นเหตุผลว่าทำไมพวกเราถึงต้องก้าวข้ามความกลัวแล้วออกมาสู้ร่วมกัน” ดาง์วกล่าว 

“การที่ดารานักแสดงพม่าหลายคนกล้าออกมาคอลเอาต์ก็เป็นเพราะพวกเขามีจิตสำนึกเหล่านี้อยู่แล้ว มันออกมาจากใจข้างใน มันไม่ใช่ว่าคอลเอาต์เพราะเป็นหน้าที่ที่ดาราต้องทำ แต่เป็นเพราะมีสามัญสำนึกในความเป็นมนุษย์ที่ต้องทำเพื่อความถูกต้อง” ดาง์วกล่าว

โปรเจกต์การถ่ายทำละครจากเจ้าพระยาสู่อิรวดีของดาง์วยังคงเดินหน้า แต่ไม่ช้าก็เร็วที่โปรเจกต์จะสิ้นสุดลง เขาจะเอาอย่างไรต่อกับอนาคตในวงการบันเทิงพม่า ก็เป็นสิ่งที่เขาให้คำตอบไม่ได้ 

“อนาคตอย่างเดียวที่ผมมองเห็นในตอนนี้คือการต่อต้านรัฐบาลรัฐประหารชุดนี้ ถ้าถามว่าอีกหนึ่งชั่วโมงข้างหน้าจะทำอะไร ผมก็ตอบว่าผมจะต่อต้านรัฐประหาร แล้วหนึ่งชั่วโมงที่ผ่านมาผมทำอะไร ผมก็ต่อต้านรัฐประหารอยู่เหมือนกัน นี่คือสิ่งเดียวที่ผมคิดได้ตอนนี้ ถ้าเรียกร้องประชาธิปไตยกลับคืนมาได้สำเร็จ ผมถึงค่อยกลับมาสร้างสรรค์ผลงานอีกครั้ง ผมคิดแค่นี้เลยในตอนนี้” ดาง์วกล่าวด้วยความหนักแน่น

ทิ้งตำแหน่ง ทิ้งหน้าที่ ดีกว่าทิ้ง ‘ความเป็นมนุษย์’

“หน้าที่ของผมคือต้องคอยตระเวนตรวจเวรยามรอบเมืองในช่วงกลางคืน ส่วนตอนกลางวัน กองทัพก็มอบหมายให้คอยควบคุมดูแลการประท้วง เราได้รับคำสั่งว่าถ้ามีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น ก็ให้เข้าไปควบคุม” บุรุษอีกคนหนึ่งนาม ‘ตุน มยัต ออง’ (Tun Myat Aung) เล่าถึงบทบาทหน้าที่ของตัวเองในช่วงเวลารัฐประหาร หากแต่เขาคนนี้คือ ‘ทหาร’ อันเป็นอาชีพที่คนพม่าล้วนตราหน้าว่าคือ ‘ศัตรู’ ของประชาชน

“กองทัพเริ่มใช้กระสุนจริงกับประชาชน มีการฆ่าทำร้ายผู้คนเกิดขึ้นมากมาย จนผมคิดว่าแบบนี้มันเกินไปแล้ว ผมทนไม่ได้ที่กองทัพทำร้ายประชาชนแบบนี้” คำพูดของนายทหารแห่งกองพลที่ 77 อันลือเลื่องเรื่องความโหดร้าย สะท้อนว่าถึงเขาจะเป็นทหาร อย่างไรเสียเขาก็ยังเป็น ‘มนุษย์’ อยู่ และความเป็นมนุษย์ที่ยังมีอยู่ในตัวสูงก็นไปสู่การตัดสินใจอย่างกล้าหาญ

“ประมาณวันที่ 3 มีนาคม ผมตัดสินใจว่าผมจะเข้าร่วมขบวนการอารยขัดขืน (Civil Disobedience Movement – CDM) ไม่อยู่ในกองทัพอีกต่อไปแล้ว จน 9 มีนาคม ผมถึงได้หลบหนีออกมา”  ตุน มยัต อองเล่าถึงการกระทำอันเด็ดเดี่ยวของตัวเอง เพราะการหนีกองทัพมีความเสี่ยงไม่น้อย หากถูกจับได้ ย่อมโดนโทษสถานหนัก และการจะหนีออกมาได้โดยเล็ดรอดสายตาของกองทัพก็ใช่ว่าจะง่าย ด้วยต้องคิดเตรียมความพร้อมรอบคอบ ทั้งการหาเซฟเฮาส์ไว้รองรับ เงินเก็บที่ต้องเพียงพอ รวมถึงเส้นทางหลบหนีที่จะใช้

“สิ่งที่ยากที่สุดสำหรับผมในการหลบหนี ไม่ใช่เรื่องเงิน เซฟเฮาส์หรือสถานที่ แต่คือสิ่งที่เราผูกพัน นั่นคือครอบครัวและคนรัก นี่คือเรื่องที่ยากที่สุดสำหรับผมในการตัดสินใจหนีออกมา และทหารอีกหลายคนก็ติดที่เรื่องนี้เหมือนกัน” แต่ที่สุดเขาก็หนีออกมาได้ด้วยการอ้างขอไปพบหมอ ก่อนใช้จังหวะนั้นหลบหนี 

นอกจากตุน มยัต ออง ยังมีนายทหารอีกกว่า 1,500 คนที่ทยอยหนีออกมาจากกองทัพ ด้วยไม่อยากให้มือของตัวเองต้องเปื้อนเลือดของเพื่อนร่วมชาติ อันเป็นคนที่แท้จริงแล้วพวกเขาควรจะปกป้อง

“ในกองทัพเองก็มีคนคิดแบบผมเยอะมาก เรามีศัพท์เรียกทหารกลุ่มนี้ว่า ‘ทหารแตงโม’… และหลายคนก็กล้าตัดสินใจออกมาจากกองทัพ ไม่ใช่แค่ผมคนเดียว” ตุน มยัต อองเล่า พร้อมบอกว่าตัวเขาเองก็เช่นกันที่แม้จะอยู่กองทัพ แต่ก็รักความถูกต้องเสมอมา หาใช่เพิ่งจะตาสว่างในตอนนี้ 

ตุน มยัต ออง (Tun Myat Aung) ขณะยังเป็นทหาร
ภาพจากตุน มยัต ออง

จำนวนทหาร 1,500 คนที่หนีออกมานั้น หากเทียบกับกำลังพลตัดมาดอว์ทั้งหมดที่มีเป็นหลักแสนนาย อาจเป็นสัดส่วนที่ยังน้อยมาก ตุน มยัต อองบอกว่าสิ่งที่ทำให้นายทหารอีกหลายคนยังคงอยู่รับใช้กองทัพต่อ เป็นเพราะจำนวนมากไม่ได้มีการศึกษา ขาดความรู้ความเข้าใจที่ดีพอที่จะเลือกยืนข้างความถูกต้อง และการมีชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกองทัพก็เป็นส่วนที่หล่อหลอมให้พวกเขาขาดความคิดบางอย่างเป็นของตัวเอง

“ตัดมาดอว์ไม่ได้มีหลักสูตรที่ล้างสมองชัดเจนขนาดนั้น แต่สิ่งที่ปลูกฝังทหารมาตลอดคือ ‘ความกลัว’ มากกว่า ทหารมักจะรู้สึกว่า ไม่ว่าจะได้รับคำสั่งอะไร ก็ต้องทำตาม จริงๆ ข้างบนก็ไม่สั่งอะไรด้วยความขู่เข็ญขนาดนั้น แต่การที่มันเป็นคำสั่ง ทำให้รู้สึกว่าไม่ปฏิบัติตามไม่ได้ นี่คือความกลัว” ตุน มยัต อองกล่าว

เขายังส่งคำเตือนถึงเพื่อนๆ ทหารที่ยังอยู่ในตัดมาดอว์ว่า “ตอนนี้ตัดมาดอว์ก็เหมือนบ้านหลังหนึ่งที่เก่ามาก มีโครงสร้างผุพังทรุดโทรม แล้ววันดีคืนดีก็อาจจะถล่มลงมาทับตัวเรา ทางที่ดีควรจะรีบออกมาจากบ้านหลังนั้น ก่อนที่มันจะพังครืนลงมาทำร้ายตัวคุณเอง”

ทหารที่ทยอยแปรพักตร์ออกมามีเส้นทางที่ต่างกันไป บ้างยังหลบซ่อนอยู่ในเซฟเฮาส์ บ้างหลบหนีไปยังประเทศที่สาม ส่วนตุน มยัต อองนั้นยังคงอยู่บนแผ่นดินพม่า แต่ก็ต้องอยู่อย่างหลบซ่อนๆ ถึงอย่างนั้น เขาก็ไม่ได้อยู่พม่าเพียงเพื่อซ่อนตัว แต่เขามีภารกิจสำคัญเช่นเดียวกับนายทหารแปรพักตร์คนอื่นๆ อีกหลายร้อยคน นั่นคือการมุ่งหน้าสู่ป่า นำทักษะความรู้ทางการทหารที่มีอยู่ไปฝึกฝนให้กับประชาชน

เข้าป่าจับปืน สู้เพื่อฝัน ปฏิวัติประเทศ

ลึกเข้าไปในป่าเขาอันระบุไม่ได้ว่าคือพิกัดใดบ้างบนแผนที่ของประเทศพม่า ค่ายขนาดย่อมๆ ถูกตั้งขึ้นกระจัดกระจาย ในนั้นเต็มไปด้วยคนหนุ่มสาวที่กำลังฝึกสมรรถภาพร่างกาย พร้อมหยิบจับอาวุธมาฝึกซ้อม 

“กองทัพใช้ความรุนแรงกับประชาชนที่นี่เสมอ หลายคนถูกจับกุมหรือลักพาตัวไปโดยไม่มีเหตุผล มีการเรียกค่าไถ่จากครอบครัวของคนถูกจับ หลายครั้งกองทัพก็ยิงชาวบ้านที่เดินตามท้องถนนสุ่มสี่สุ่มห้า บางคนก็โดนยัดข้อหาว่าแอบผลิตอาวุธขึ้นมาเอง เราถึงต้องมีกองกำลังขึ้นมาปกป้องประชาชน” บุรุษผู้ไม่เปิดเผยนามและใบหน้าเล่าถึงจุดกำเนิดของ ‘กลุ่มรักษาความปลอดภัยแห่งเมืองตามู’ (Tamu Security Group – TSG) ในเขตสะไกง์ (Sagaing) โดยบุรุษผู้นั้นบอกเพียงว่าเขาคือบุคคลระดับสูงของกองกำลัง

TSG ถือกำเนิดขึ้นเมื่อ 15 กุมภาพันธ์หรือเพียง 2 สัปดาห์หลังรัฐประหาร ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน กองกำลังใหม่ๆ ก็ผุดขึ้นในอีกหลายหัวเมืองของพม่า พร้อมด้วยประชาชนทั่วสารทิศที่ตบเท้าเข้าร่วมพร้อมรับการฝึกฝน ทั้งกองกำลังป้องกันตนเองรัฐฉิ่น (Chinland Defense Force – CDF) กองกำลังป้องกันประชาชนชาวกะเรนนี (Karenni People’s Defence Force – KPDF) กองกำลังป้องกันประชาชนแห่งมัณฑะเลย์ (People’s Defense Force Mandalay) และอีกมาก ด้วยจุดเริ่มต้นคล้ายกันคือเพื่อปกป้องประชาชน

กองกำลัง Tamu Security Group (TSG)
ภาพจาก: Facebook People’s Defense Force – Tamu တပ္ရင္း-၂

นานวันเข้าเมื่อกองกำลังเริ่มเป็นระบบระเบียบแข็งแกร่งขึ้น เป้าหมายก็เริ่มขยับจากเพียงการปกป้องประชาชน สู่การเป็น ‘กองกำลังปฏิวัติ’มุ่งโค่นตัดมาดอว์ คืนอำนาจประชาชน ปฏิบัติการเปิดฉากโจมตีตัดมาดอว์จึงเริ่มขึ้นประปรายในหลายเมือง และในที่สุดกลุ่มกองกำลังที่กระจัดกระจายทั่วประเทศก็เดินหน้าต่อสู้ใต้ร่มเดียวกันในนาม ‘กองกำลังป้องกันประชาชน’ (People’s Defense Force – PDF) ที่ตั้งโดย‘รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ’ (National Unity Government – NUG) ซึ่งประกาศตนว่าเป็นรัฐบาลที่ชอบธรรม

“PDF ยังสามารถสร้างความร่วมมือกับกองกำลังชาติพันธุ์ต่างๆ โดยที่กองกำลังเหล่านั้นช่วยฝึกฝนทักษะทางการทหารให้กับกำลังพลของเรา และเรายังได้ร่วมมือกันจนเกิดปฏิบัติการทางการทหารร่วมกันในหลายพื้นที่ของพม่ามาแล้ว” หัวหน้าฝ่ายสื่อและข้อมูลข่าวสารของกองกำลังป้องกันประชาชน (People’s Defense Force – PDF) กล่าว โดยใช้นามแฝงว่า ‘ฉ่วย อู’ (Shwe Oo) เพื่อปิดบังตัวตน

สำหรับ PDF ความร่วมมือที่เกิดขึ้นระหว่างกองกำลังจากหลากเมืองหลากชาติพันธุ์ไม่ใช่เพียงเรื่องเฉพาะกิจ แต่คือปฐมบทอันจะนำไปสู่ความฝันสูงสุดในการก่อตั้ง ‘กองทัพสหพันธรัฐ’ (Federal Tatmadaw) อันเป็นกองทัพที่ฉ่วย อูบอกว่าเป็น “กองทัพที่มาจากการรวมตัวกันของทุกกองกำลังชาติพันธุ์ในพม่า” ภายใต้ประเทศที่จะต้องเป็นของประชาชนทุกคนอันรวมถึง ‘ชนชาติพันธุ์’ กว่า 100 กลุ่มบนแผ่นดินอย่างแท้จริง

“เราสู้เพื่อให้มีรัฐบาลที่เป็นของประชาชน (People’s Government) อย่างแท้จริง และที่สำคัญ เป้าหมายสูงสุดของเราคือการสร้าง ‘สหพันธรัฐพม่า’ ซึ่งเป็นประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีกองทัพที่เป็น ‘กองทัพสหพันธรัฐ’ เรายอมเสี่ยงเอาชีวิตเข้าแลกเพื่อไปถึงความฝันนี้ให้ได้” กลุ่ม TSG กล่าว

กองกำลัง Tamu Security Group (TSG)
ภาพจาก: Facebook People’s Defense Force – Tamu တပ္ရင္း-၂

กระนั้น PDF ก็เจอความขลุกขลักไม่น้อย ด้วยมีกำลังพลจำนวนมากเป็นผู้ไร้ซึ่งทักษะการทหาร การฝึกฝนที่ทุลักทุเลด้วยสภาพพื้นที่และพิษไข้ป่า อาวุธและเสบียงอาหารที่เริ่มไม่เพียงพอ รวมถึงความร่วมมือระหว่างกองกำลังย่อยต่างๆ ที่ยังดูคลุมเครือไม่เป็นเอกภาพ จึงนับว่ายากหากจะล้มช้างอย่างตัดมาดอว์

“ผมคงไม่สามารถไปเปรียบเทียบศักยภาพของกองกำลังเรากับตัดมาดอว์ได้ แต่บอกได้อย่างหนึ่งว่า สิ่งที่เรามีต่างกันคืออุดมการณ์ ฝั่งนั้นคอยแต่ทำงานใต้คำสั่งเผด็จการ ทำเพียงเพื่อรักษาอำนาจให้พวกเผด็จการเท่านั้น แต่เราไม่ใช่อย่างนั้น เราสู้เพื่อเสรีภาพของประชาชนกว่า 50 ล้านคน ผมเลยไม่อยากให้มองการต่อสู้ครั้งนี้เพียงในมุมของการวัดกำลังทหาร แต่อยากให้มองว่านี่คือการต่อสู้ด้านพลังศรัทธา” ฉ่วย อู กล่าว

เช่นเดียวกับกลุ่ม TSG ที่ก็มีความเชื่อมั่นเต็มเปี่ยม “เรายืนอยู่บนศรัทธาอย่างแรงกล้าว่าเราต้องชนะ เรามีจุดแข็งสำคัญคือการได้รับศรัทธาและแรงสนับสนุนจากประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งที่ตัดมาดอว์ไม่มี”

วันนี้ เสียงปืนเสียงระเบิดจากการปะทะระหว่างกองกำลังประชาชนและกองทัพตัดมาดอว์ ดังสนั่นหวั่นไหวในหลายพื้นที่บนแผ่นดินพม่า จนใครๆ ก็หวาดเกรงว่าภาพของ ‘สงครามกลางเมือง’ เต็มรูปแบบกำลังใกล้เข้ามาทุกขณะ แม้การเลือกใช้วิธีรุนแรงเข้าปะทะความรุนแรงจะก่อให้เกิดเครื่องหมายคำถามต่อใครหลายคนที่ยึดมั่นในสันติวิธี แต่สำหรับผู้ร่วมกองกำลังประชาชน พวกเขาอาจรู้สึกว่าทางเลือกไม่ได้มีมากนัก 

การต่อสู้ของคนพม่าทั้งด้วยอหิงสาและด้วยกำลังยังคงคลอคู่กันไป หากไม่ว่าด้วยวิธีไหน พวกเขาล้วนแต่กำลังต่อสู้ แม้จะยังไม่เห็นปลายอุโมงค์ แต่ก็ไม่อาจหยุดสู้ได้ เพราะถ้าไม่สู้ พวกเขาก็ต้อง ‘อยู่อย่างทาส’

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save