fbpx
ห้าสิบปีแห่งความพยายามที่ล้มเหลวของระบอบสังคมนิยมประชาธิปไตยในชิลี

ห้าสิบปีแห่งความพยายามที่ล้มเหลวของระบอบสังคมนิยมประชาธิปไตยในชิลี

เชาวฤทธิ์ เชาว์แสงรัตน์ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

ปีพ.ศ.2563 เป็นปีที่ครบรอบ 88 ปีของการอภิวัฒน์สยาม เปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยซึ่งก็ยังคงลุ่มๆ ดอนๆ มาจนถึงทุกวันนี้ ขณะเดียวกัน ในชิลีก็ถือว่าเป็นปีที่ครบรอบ 50 ปีของความพยายามที่จะสร้างระบอบสังคมนิยมประชาธิปไตยให้เกิดขึ้น แต่ช่วงเวลาดังกล่าวของชิลีช่างสั้นนัก เพราะดำเนินไปได้เพียงแค่ 3 ปี ก็ถูกกองทัพทหารภายใต้การหนุนหลังของ CIA แห่งสหรัฐอเมริกาโค่นล้ม ในบทความครั้งนี้ ผมขอนำเสนอว่า เพราะเหตุใดความพยายามดังกล่าวถึงได้สิ้นสุดภายในระยะเวลาเพียง 3 ปี

ก่อนอื่น ผมจะขอกล่าวถึงชีวประวัติอย่างย่อของผู้นำคนสำคัญที่นำระบอบสังคมนิยมประชาธิปไตยมาสู่ชิลี คือ ซัลบาดอร์ อาเยนเด เขาเกิดปี ค.ศ.1909 ในครอบครัวที่มีบิดาเป็นนักกฎหมาย ด้วยสถานภาพทางสังคมที่ดีดังกล่าว ทำให้อาเยนเดมีโอกาสเข้าศึกษาในโรงเรียนแพทย์เฉกเช่นเดียวกับผู้นำการปฏิวัติที่สำคัญอีกท่านหนึ่งในลาตินอเมริกา คือ เช เกบาร่า การศึกษาที่โรงเรียนแพทย์ทำให้อาเยนเดตระหนักถึงความเหลื่อมล้ำที่บ่อนเซาะสังคมชิลีอย่างหนักหน่วง มีคนจำนวนน้อยนิดที่สามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุขและการดำเนินชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ ขณะที่คนที่เหลือ ซึ่งเป็นคนอีกจำนวนมาก ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้ อย่างไรก็ตาม ข้อแตกต่างที่สำคัญระหว่างอาเยนเดกับผู้นำการปฏิวัติคนสำคัญอื่นๆ ในลาตินอเมริกาคือ เขาไม่ได้ฉายแววโดดเด่น มีลักษณะดึงดูดผู้อื่น หรือมีผู้นิยมชมชอบมากมาย รวมทั้งไม่ได้มีแนวคิดการเปลี่ยนแปลงโดยอาศัยความรุนแรง แต่อาเยนเดเชื่อมั่นว่า เขาสามารถทำการเปลี่ยนแปลงสังคมการเมืองภายใต้ระบอบสถาบันทางการเมืองเดิมที่มีอยู่แล้วได้

ในปี ค.ศ.1932 อาเยนเดมีส่วนร่วมในการก่อตั้งพรรคสังคมนิยมแห่งชิลี อีก 5 ปีต่อมา ขณะที่มีอายุได้เพียง 29 ปี เขาชนะการเลือกตั้งและได้เข้าไปนั่งในรัฐสภา ในปี ค.ศ.1939 อาเยนเดได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในรัฐบาลผสม ที่มีทั้งพรรคสังคมนิยมและพรรคคอมนิวนิสต์เป็นองค์ประกอบ อาเยนเดได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้นำที่มีมนุษยธรรม โดยในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าว เขาได้ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยจากสงครามกลางเมืองในสเปนให้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในชิลีนับพันคน ในปี ค.ศ.1945 อาเยนเดได้รับเลือกตั้งเป็นวุฒิสมาชิกและอยู่ในตำแหน่งนี้ยาวนานกว่า 25 ปี เขามีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการสาธารณสุข รวมถึงบทบาทและสิทธิของสตรี ต่อมาในปี ค.ศ.1968 อาเยนเดได้รับการเลือกให้เป็นประธานวุฒิสภา และชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี ค.ศ.1970 หลังจากล้มเหลวในการลงสมัครชิงตำแหน่งมาถึง 3 ครั้งก่อนหน้า

อาเยนเดชี้ให้เห็นว่า ความเหลื่อมล้ำในสังคมชิลีจะต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยในขณะนั้น ประชากรชิลีร้อยละ 40 อยู่ในภาวะขาดสารอาหาร และ 1 ใน 3 ของผู้เสียชีวิตด้วยสาเหตุดังกล่าวเป็นเด็ก ประชากรร้อยละ 3 มีสินทรัพย์เกือบกึ่งหนึ่งของทั้งประเทศ ขณะที่คนมากกว่าร้อยละ 50 ถือครองทรัพย์สินไม่ถึงร้อยละ 10 อุปสรรคที่ท้าทายของอาเยนเดคือ จะแก้ใขปัญหาดังกล่าวอย่างไรภายใต้กติกาการเมืองที่มีอยู่เดิมของชิลี โดยไม่ไปทำลายหรือถอนรากถอนโคนสถาบันเดิมที่มีอยู่ก่อน และต้องอยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญและกระบวนการประชาธิปไตย

สำหรับอาเยนเด การจะแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ในสังคมชิลีได้สำเร็จ จะต้องหยุดการพึ่งพาทางเศรษฐกิจของชีลีกับต่างชาติ เขามองว่า โดยเนื้อแท้แล้ว ชิลีมีความมั่งคั่งทางทรัพยากรธรรมชาติและสามารถเป็นประเทศที่ร่ำรวยได้ แต่กลับเผชิญปัญหาความยากจนเนื่องจากการพึ่งพากับมหาอำนาจทางเศรษฐกิจตะวันตกมาตั้งแต่สมัยอาณานิคม คือประเทศสเปน ต่อมา เมื่อได้เอกราชในคริสต์ศตวรรษที่ 19 แล้ว ชิลีก็พึ่งพาการส่งออกปุ๋ยไนเตรทไปยังอังกฤษ พอมาถึงคริสต์ศตวรรษที่ 20 ก็เน้นแต่การส่งออกทองแดงไปยังสหรัฐอเมริกา อาเยนเดจึงต้องการให้ชิลีลดการพึ่งพาการส่งออกสินค้าทางเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียวในลักษณะที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น และหันมาพัฒนาเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานของตนเอง

ในทางการเมือง อาเยนเดเป็นสหายสนิทกับผู้นำการปฏิวัติคิวบาอย่าง ฟิเดล คาสโตร โดยอาเยนเดไม่ได้คัดค้านการใช้กำลังในการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แต่เขามองเห็นว่า ความรุนแรงไม่ใช่สิ่งที่จำเป็น และบางครั้งอาจก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบในประเทศอย่างชิลี ซึ่งมีโครงสร้างทางการเมืองแบบประชาธิปไตยที่มั่นคงเข้มแข็ง

เมื่อดูสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี ค.ศ.1970 โมเมนตัมทางการเมืองของชิลีในขณะนั้นมีลักษณะเอียงไปทางซ้าย โดยอาเยนเดลงสมัครรับเลือกตั้งในนามหัวหน้ากลุ่ม Popular Unity ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกที่มีแนวทางสังคมนิยม คอมมิวนิสต์ ฝ่ายซ้ายของของพรรค Christian Democrats รวมถึงพวกที่มีแนวคิด Christian Socialism เมื่อมีการประกาศผลการเลือกตั้งของวันที่ 4 กันยายน อาเยนเตมีคะแนนนำสูงสุดอยู่ที่ร้อยละ 36.6 เหนือกว่าคู่แข่งที่สำคัญอีกสองคน ทางพรรคฝ่ายอนุรักษนิยมพยายามที่จะกีดขวางไม่ให้อาเยนเดได้รับการแต่งตั้งจากรัฐสภาให้เป็นประธานาธิบดี เพราะตามหลักรัฐธรรมนูญของชิลีในขณะนั้น ถ้าผู้สมัครได้คะแนนเสียงไม่ถึงกี่งหนึ่งของผู้มาลงคะแนนเสียง รัฐสภาจะเป็นผู้ชี้ขาดว่าใครจะได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดี ซึ่งตามธรรมเนียมแล้ว รัฐสภาชิลีก็จะเลือกผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดให้ดำรงตำแหน่ง ซึ่งในคราวนี้คืออาเยนเด

ในตอนนั้น พรรคอนุรักษนิยมได้ยุยงให้กองทัพทำการรัฐประหารล้มผลการเลือกตั้ง ทว่าผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น คือ นายพลเรเน ชไนเดอร์ ปฏิเสธที่จะนำกองทัพเข้าไปเกี่ยวข้อง เนื่องจากตัวเขาเคารพกติกาของรัฐธรรมนูญ พรรคอนุรักษนิยมจึงได้ขอความร่วมมือจาก CIA ของสหรัฐอเมริกา โดย CIA ได้สนับสนุนให้ทหารอนุรักษนิยมจำนวนหนึ่งจับตัวนายพลชไนเดอร์ และจะปลุกระดมให้เกิดการรัฐประหาร แต่แผนการนี้กลับล้มเหลว นายพลชไนเดอร์ถูกสังหารระหว่างการถูกคุมขัง ส่งผลให้ประชาชนออกมาประท้วงกันเต็มท้องถนนเพื่อเรียกร้องให้รัฐสภาเลือกอาเยนเดขึ้นเป็นประธานาธิบดี ส่งผลให้อีกสองวันต่อมา ในวันที่ 24 ตุลาคม รัฐสภาได้ลงมติเลือกให้อาเยนเดเป็นผู้ชนะ และเขาได้สาบานตนเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 3 พฤศจิกายนในปีเดียวกัน ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ทางการเมือง ไม่แต่เฉพาะในชิลี แต่ทั้งภูมิภาคลาตินอเมริกา ที่ได้ผู้นำประเทศที่ประกาศตัวเองว่าเป็นมาร์กซิสม์ และได้รับการเลือกตั้งตามกระบวนการทางประชาธิปไตย

อย่างไรก็ตาม เสียงส่วนมากในรัฐสภายังเป็นของพวกสายกลางและสายอนุรักษนิยม การที่อาเยนเดจะนำนโยบายการเปลี่ยนแปลงของเขาที่ได้หาเสียงเอาไว้มาปรับใช้ให้เป็นรูปธรรมจึงเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก นอกจากนี้ กลุ่มชนชั้นนำในชิลีที่คุมอำนาจทางเศรษฐกิจรวมถึงสื่อ ก็ไม่พอใจในตัวอาเยนเดด้วยเช่นเดียวกัน ส่วนความคิดที่หลากหลายในกลุ่ม Popular Unity ก็ส่งผลกระทบไม่น้อยต่อความเป็นเอกภาพในนโยบายของเขา แต่อาเยนเดก็ได้เดินหน้าปฏิรูปประเทศตามที่เขาได้สัญญาไว้กับประชาชน

สิ่งแรกที่อาเยนเดทำเมื่อเข้ารับตำแหน่งได้แก่ การปรับปรุงคุณภาพชีวิตของคนยากจน โดยประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำร้อยละ 35 ส่งผลให้รายได้ของคนงานเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย การว่างงานลดลง อัตราเงินเฟ้อลดลง ภาคการผลิตโดยเฉพาะอาหารเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงการผลิตในภาคอุตสาหกรรมก็ขยับตัวเพิ่มสูงขึ้นด้วย ส่งผลให้รายได้ประชาชาติเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าในปีถัดมา นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้จัดสวัสดิการด้านสาธารณสุขให้ประชาชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย มีโครงการนมฟรีแก่เด็ก ผู้มีครรภ์ และผู้ป่วย นโยบายดังกล่าวส่งผลให้อัตราการเสียชีวิตของทารกลดลงถึงร้อยละ 11 จะเห็นได้ว่า นโยบายในช่วงดังกล่าวได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากประชาชน ส่งผลโดยตรงต่อคะแนนนิยมในตัวรัฐบาลที่เพิ่มสูงขึ้น

อาเยนเดยังคงเดินหน้าการปฏิรูปโดยไม่ได้คิดที่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสถาบันการเมืองต่างๆ ตัวเขาให้สัญญาว่า จะเคารพในกติกาของกระบวนการทางประชาธิปไตย รวมถึงสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ยิ่งไปกว่านั้น อาเยนเดยังพยายามจะยกเลิกวัฒนธรรมยกย่องเชิดชูตัวบุคคล โดยปฏิเสธที่จะแขวนรูปตนเองไว้ที่ทำเนียบประธานาธิบดี ซึ่งเหตุผลของอาเยนเดคือ นโยบายทางการเมืองของกลุ่ม Popular Unity สำคัญกว่าตัวเขาเอง นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญของชิลีในขณะนั้นอนุญาตให้ประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว (6 ปี) และไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งซ้ำได้ ซึ่งอาเยนเดได้ยึดถือแนวทางกติกานี้อย่างเคร่งครัด เขาประกาศว่าพร้อมจะวางมือจากตำแหน่งประธานาธิบดีทันทีที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีในสมัยหน้าสิ้นสุดลง

การผนวกกิจการของต่างชาติมาเป็นของรัฐถือเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของอาเยนเด ก่อนหน้าที่เขาจะเข้ามารับตำแหน่งประธานาธิบดี มีบริษัทจากสหรัฐอเมริกามากกว่า 100 บริษัทเข้ามาลงทุนในชิลี เศรษฐกิจของชีลีในขณะนั้นพึ่งพาการส่งออกทองแดงเป็นหลัก และส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดเป็นการลงทุนของต่างชาติ รัฐบาลของอาเยนเดได้ออกนโยบายขยายการเข้าไปถือครองของรัฐในภาคธุรกิจสำคัญต่าง ๆ ในวันที่ 21 ธันวาคม ค.ศ.1970 เพียงหนึ่งเดือนหลังจากเข้ารับตำแหน่ง และเสนอให้ผนวกกิจการการลงทุนเหมืองทองแดงของต่างชาติให้ตกเป็นของรัฐ ซึ่งถือเป็นรายได้ร้อยละ 75 ของการส่งออกทั้งหมดของชิลีในขณะนั้น นโยบายนี้ได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนเป็นอันมาก ส่งผลให้มีการออกกฎหมายในวันที่ 17 กรกฎาคม ค.ศ.1971 เพื่อผนวกกิจการดังกล่าวมาเป็นของรัฐโดยไม่มีการชดเชยแก่บริษัทต่างชาติ โดยอาเยนเดได้กล่าวว่า บริษัทต่างชาติเหล่านั้นได้ขูดรีดเอาผลประโยชน์ในอดีตจนมากเพียงพอแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น เขาได้เปรียบเทียบการกระทำครั้งนี้ว่า เปรียบเสมือนการปลดปล่อยทาสผิวสีให้เป็นอิสระของประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งลินคอล์นได้ปฏิเสธที่จะจ่ายค่าชดใช้ให้แก่นายทาส โดยให้เหตุผลว่า นายทาสได้ใช้แรงงานทาสมาจนคุ้มแล้ว และยังเป็นการทำผิดศีลธรรมที่มนุษย์ด้วยกันเองกดขี่ข่มเหงกันอีกด้วย อย่างไรก็ตาม แม้จะได้รับเสียงสนับสนุนจากรัฐสภา แต่ก็มีเสียงต่อต้านจากศาลและฝ่ายกฎหมาย ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว อาเยนเดก็นำพารัฐบาลให้สามารถออกกฎหมายนี้มาบังคับใช้ได้

นอกจากนั้น รัฐบาลของอาเยนเดยังได้ออกกฎหมายผนวกกิจการเหมืองถ่านหินและเหล็กของต่างชาติให้ตกเป็นของรัฐ รวมทั้งได้เข้าไปซื้อหุ้นในกิจการธนาคารและการสื่อสารเกือบทั้งหมด สหภาพแรงงานของชิลีให้การสนับสนุนการกระทำนี้ของรัฐบาลอย่างแข็งขัน พวกเขาได้บุกเข้ายึดสำนักงานและปฏิเสธที่จะออกไปจนกว่ากิจการเหล่านั้นจะตกเป็นของรัฐ เมื่อถึงปลายปี ค.ศ.1971 รัฐบาลก็ได้เข้ายึดกิจการต่างๆ มากกว่า 150 กิจการ รวมถึง 12 ใน 20 บริษัทขนาดใหญ่ในชิลี การผนวกกิจการมาเป็นของรัฐดังกล่าวส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจทั้งในและนอกประเทศ เพราะมีบริษัทจำนวนหนึ่งไม่ได้รับค่าชดเชยจากรัฐบาล ดังกรณีเหมืองทองแดงที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น

นโยบายดังกล่าวของอาเยนเดเน้นไปที่การผนวกกิจการขนาดใหญ่เป็นสำคัญ และหลีกเลี่ยงที่จะเข้าไปยึดกิจการขนาดกลางและเล็ก เพราะหวังว่าจะได้รับเสียงสนับสนุนจากบริษัทเหล่านี้ในการดำเนินนโยบายดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่บริษัทขนาดเล็กเป็นผู้จ้างแรงงานร้อยละ 80 ของแรงงานทั้งประเทศ ทำให้แรงงานจำนวนมากไม่ได้รับผลประโยชน์จากการที่รัฐเข้าผนวกกิจการขนาดใหญ่และปรับปรุงสวัสดิการต่าง ๆ ให้ดีขึ้น ถ้าพูดให้ง่ายกว่านั้นคือ แรงงานส่วนใหญ่แทบจะไม่ได้รับผลประโยชน์จากนโยบายการผนวกกิจการของรัฐ ส่งผลให้แรงงานในบริษัทเล็กๆ รวมตัวกันลุกขึ้นมายึดกิจการจากเจ้าของกิจการ ซึ่งรัฐบาลของอาเยนเดก็ปล่อยให้แรงงานเหล่านั้นทำได้ เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นเป็นลูกโซ่บานปลายออกไปทั่วประเทศ รัฐบาลเริ่มไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ในลักษณะดังกล่าวได้ จนส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายต่อภาคเศรษฐกิจโดยทั่วไปในวงกว้าง ขณะเดียวกัน รัฐบาลสหรัฐฯ ก็ไม่พอใจที่บริษัทสัญชาติอเมริกันถูกยึดกิจการโดยไม่ได้รับค่าชดเชย จึงประกาศตัดงบความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและเพิ่มมาตรการตอบโต้ต่อชิลี

รัฐบาลของอาเยนเดยังเร่งเดินหน้าปฏิรูปที่ดิน ซึ่งได้เริ่มดำเนินการมาในรัฐบาลก่อนหน้าตั้งแต่ปี ค.ศ.1967 ในกรณีของชิลี ภาคการเกษตรมีความสำคัญค่อนข้างน้อยต่อการจ้างงานและการส่งออก เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในลาตินอเมริกา ด้วยเหตุนี้ แรงต่อต้านในการปฏิรูปที่ดินจึงมีน้อย รัฐบาลจึงเดินหน้าการปฏิรูปที่ดินขนานใหญ่ เพื่อสลายระบบการยึดถือที่ดินแปลงใหญ่ในมือเจ้าของที่ดินจำนวนน้อยซึ่งเป็นสิ่งที่ตกทอดกันมาตั้งแต่สมัยอาณานิคม ที่ดินขนาดใหญ่ถูกแบ่งย่อยให้เกษตรกรรายเล็ก และเพื่อเพิ่มปริมาณสินค้าเกษตร รัฐบาลได้จัดสรรที่ดินว่างเปล่าให้กับเกษตรกร มีการจัดตั้งระบบสหกรณ์การเกษตรขึ้นเพื่อช่วยเหลือสมาชิกในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเทคโนโลยีการเพาะปลูก การหาเมล็ดพันธุ์ เคมีภัณฑ์ รวมทั้งแหล่งเงินทุนให้เกษตรกรกู้ยืม อย่างไรก็ดี เจ้าของที่ดินขนาดใหญ่บางรายก็ขัดขืนต่อนโยบายของรัฐบาล มีการจ้างบอดี้การ์ดให้มาคุ้มครอง ต่อต้านการยึดที่ดินของรัฐบาล

ถึงแม้ว่ารัฐบาลอาเยนเดจะดำเนินการตามแนวทางสังคมนิยมตามที่ได้ประกาศหาเสียงไว้ ไม่ว่าจะเป็นการยึดกิจการต่างชาติมาเป็นของรัฐ หรือการปฏิรูปที่ดินก็ตาม แต่ก็ยังมีเสียงต่อต้านจากฝ่ายซ้ายในกลุ่ม Popular Unity ที่มองว่า นโยบายของรัฐบาลยังไม่เข้มข้นและเชื่องช้าเกินไป แรงงานเรียกร้องค่าจ้างแรงงานเพิ่มสูงขึ้น เกษตรกรบุกยึดที่ดินทำกินโดยผิดกฎหมาย ฝ่ายซ้ายต้องการให้รัฐบาลดำเนินการยึดกิจการมาเป็นของรัฐให้เพิ่มมากขึ้น ให้ออกนโยบายควบคุมราคาสินค้า พร้อมๆ กับขึ้นค่าจ้างเพื่อเอาใจแรงงาน แต่การดำเนินการตามนโยบายในลักษณะดังกล่าว แม้จะให้ผลดีในระยะสั้น แต่ในระยะยาว ประสิทธิภาพการผลิตจะลดลง เนื่องจากภาคเอกชนขาดแรงจูงใจในการผลิต ประกอบกับต้นทุนค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้น ส่งผลให้ในปี ค.ศ. 1972 เกิดปัญหาเงินเฟ้อ การขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงการลดลงของแหล่งเงินลงทุนจากภายนอกประเทศ รัฐบาลยังคงไม่กล้าที่จะขึ้นภาษี เพราะกลัวจะส่งผลกระทบต่อประชาชน โดยหันไปใช้การกู้ยืมเงินเพื่อเอามาใช้ในการลงทุนของภาครัฐ เพื่อหวังให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนต่อไปได้[1] จากนโยบายดังกล่าวส่งผลให้เงินเฟ้อถีบตัวสูงขึ้นเป็นอันมาก และส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพ โดยเฉพาะคนชั้นกลางที่มีรายได้ประจำ

ขณะเดียวกัน กลุ่มกบฏฝ่ายซ้ายที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคนโดยอาศัยกำลังอาวุธ ก็รู้สึกไม่มั่นใจในแนวทางสังคมนิยมประชาธิปไตยของอาเยนเด พวกเขาจึงเรียกร้องให้อาเยนเดประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ ยุบสภา และติดอาวุธให้กับประชาชน เพื่อเปลี่ยนแปลงชิลีให้เป็นคอมมิวนิสต์โดยสมบูรณ์ กลุ่มกบฏเหล่านี้มองว่า การดำเนินการเปลี่ยนแปลงตามนโยบายของอาเยนเดถูกขัดขวางด้วยสถาบันทางการเมืองแบบเดิมๆ ดังนั้นเพื่อความรวดเร็ว จำเป็นจะต้องใช้ความรุนแรงถึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงได้

สำหรับพวกทางสายกลางในกลุ่ม Popular Unity เสนอให้รัฐบาลชะลอการเปลี่ยนแปลงที่เร็วเกินไป เพราะจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจค่อนข้างมาก ขณะเดียวกัน ภาคธุรกิจขนาดกลางและเล็กก็ยังไม่มีประสิทธิภาพในการดำเนินการด้วยตัวเองอย่างมั่นคง พวกทางสายกลางยังมองว่า การปฏิรูปเศรษฐกิจจะสำเร็จได้จะต้องได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นกลาง ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงมาตรการใดๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกับกลุ่มคนเหล่านี้

ถึงแม้จะมีความแตกแยกทางความคิดเห็นภายในกลุ่ม Popular Unity แต่ประชาชนส่วนใหญ่ก็ยังให้การสนับสนุนรัฐบาลของอาเยนเดอยู่ เห็นได้จากการเลือกตั้งท้องถิ่นในเดือนเมษายน ค.ศ.1971 ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นการทดสอบคะแนนนิยมในรัฐบาลว่าเป็นไปในทิศทางใด ปรากฏว่ากลุ่ม Popular Unity ได้ที่นั่งไปเกือบครึ่งหนึ่งของที่นั่งทั้งหมด ต่อมา ในเดือนมีนาคม ค.ศ.1973 ในการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา ก็ได้รับคะแนนเสียงเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 10 จากที่เคยได้ในคราวเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี ค.ศ.1970 อย่างไรก็ตาม คะแนนเสียงที่ได้เพิ่มขึ้น ก็ยังไม่เพียงพอต่อการที่กลุ่ม Popular Unity จะครองเสียงข้างมากในสภา เพื่อที่จะได้ผ่านกฎหมายต่างๆ ได้โดยสะดวก ขณะเดียวกัน พรรคฝ่ายค้านก็มีเสียงรวมกันไม่ถึงสองในสามของที่นั่งในรัฐสภาทั้งหมด ทำให้ไม่สามารถยื่นมติเพื่อขอถอดถอนอาเยนเดได้ สภาพการณ์เช่นนี้ไม่ส่งผลดีต่อบรรยากาศทางการเมืองในชิลีขณะนั้น เพราะต่างฝ่ายต่างก็มีเสียงก่ำกึ่งกัน โอกาสที่การเมืองจะพลิกผันจึงเกิดขึ้นได้ง่าย

กระแสฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาลที่สำคัญ นอกจากกลุ่มอนุรักษนิยมแล้ว ยังมีกองทัพ บริษัทลงทุนข้ามชาติ และสื่อต่าง ๆ โดยกลุ่มต่อต้านดังกล่าวได้รวมตัวกันจัดตั้งกองกำลังกึ่งทหารนอกกฎหมายฝ่ายขวาเพื่อใช้ความรุนแรงกับรัฐบาล ต่อมา ศาสนจักรคาทอลิกก็ได้เข้าร่วมการต่อต้านรัฐบาลอาเยนเดด้วย หลังจากที่มีการออกกฎหมายปฏิรูปการศึกษา ดึงอำนาจการควบคุมจากศาสนจักรมาสู่รัฐบาล

นอกจากนี้ กลุ่มสตรีก็ถือว่าเป็นกลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาลอาเยนเดมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากโดยพื้นฐานแล้ว สตรีมีความเป็นอนุรักษนิยมสูงกว่าบุรุษ กลุ่มสตรีชั้นสูงไม่พอใจในนโยบายของอาเยนเดเป็นอย่างมาก เพราะทำให้พวกเธอไม่สามารถเข้าถึงสินค้าฟุ่มเฟือยที่ใช้ส่งเสริมภาพลักษณ์ของตัวเองได้ เนื่องจากรัฐบาลส่งเสริมการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นเท่านั้น ภรรยานายทหารชั้นสูงจึงเรียกร้องให้สามีของตนทำการรัฐประหารล้มรัฐบาล นอกจากนั้น พวกเธอยังรวมตัวกันเดินขบวนประท้วง เคาะหม้อตามท้องถนน เพราะราคาสินค้าแพงขึ้นเนื่องจากปัญหาเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นในระหว่างปี ค.ศ.1972 -1973 ส่งผลให้สินค้าขาดแคลนและไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนทั่วไป ต่อมา ชนชั้นแรงงานรวมถึงกลุ่มสตรีในชนบทก็เข้าร่วมการประท้วงครั้งนี้ จนเกิดการลุกลามไปทั่วชิลี

ท้ายที่สุดแล้ว จากสภาพความวุ่นวายอันเนื่องมาจากปัญหาต่าง ๆ ที่กล่าวไปข้างต้น ทำให้ในวันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 1973 นายพลออกุสโต ปิโนเชต์ ได้นำกองทัพเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลของอาเยนเด โดยอาเยนเดถูกปลิดชีพคาทำเนียบประธานาธิบดี ถือเป็นการปิดฉากหน้าหนึ่งในประวัติศาสตร์ของชิลีที่พยายามนำระบอบสังคมนิยมประชาธิปไตยมาประยุกต์ใช้ แต่ต้องสิ้นสุดภายในระยะเวลาอันสั้น พร้อมกับชีวิตของผู้นำอย่างซัลบาดอร์ อาเยนเด

 


[1] นโยบายเช่นนี้ถูกขนานนามในภายหลังว่าเป็น “นโยบายประชานิยมทางเศรษฐกิจ” กล่าวคือ รัฐเน้นส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เน้นการกระจายรายได้ให้แก่คนยากจน มีการทุ่มงบประมาณมหาศาลจากภาครัฐบาล โดยไม่คำนึงว่าจะมีรายได้เพียงพอต่อการใช้จ่ายเพื่อเป้าหมายข้างต้นหรือไม่ รัฐบาลยังอาศัยเงินกู้ยืมมาใช้ในการบริหารประเทศ ส่งผลให้เกิดภาวะหนึ้สินท่วมรัฐบาล ท้ายที่สุดก็นำไปสู่การล้มละลายของประเทศ รัฐบาลประกาศพักการชำระหนี้ต่อเจ้าหนี้ ต้องขอรับความช่วยเหลือการปฏิรูประบบเศรษฐกิจจากองค์การโลกบาลทางการเงินระหว่างประเทศ อาทิ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save