fbpx
FENTY BEAUTY : การปฏิวัติประวัติศาสตร์ความงามของสาวผิวสีครั้งใหม่

FENTY BEAUTY : การปฏิวัติประวัติศาสตร์ความงามของสาวผิวสีครั้งใหม่

ถึงจะรู้ว่าคงไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องใช้ แต่การเปิดตัวเครื่องสำอางใหม่ของนักร้องสาว ริฮานน่า ภายใต้แบรนด์ชื่อว่า FENTY BEAUTY (ที่มาจากนามสกุลจริงๆ ของเธอ) ก็ทำให้เราอดใจไม่ไหวจนต้องเดินโฉบเข้าไปชมของจริงในร้านเซโฟร่า ก่อนจะเดินออกมามือเปล่าเพราะซื้อไปก็ไม่ได้เอามาละเลงบนหน้าตัวเองแน่ๆ

 

เสียงกรีดร้องของสาวน้อยใหญ่ทั่วโลกที่อยากจับจองเครื่องสำอางยี่ห้อนี้เป็นเจ้าของ อาจมีที่มาจากชื่อเสียงของริฮานน่าด้วยส่วนหนึ่งก็จริง (ประกอบกับกระแสจากมีมที่เธอไปยืนยิงบาร์โค้ดที่แคชเชียร์ ขายเองตั้งแต่ต้นยันปลายน้ำ) แต่ถึงจะปิดชื่อไว้ไม่ให้รู้ว่าใครกันแน่ที่อยู่เบื้องหลัง ถ้าได้เห็นแคมเปญโฆษณาที่ตัดสลับไปมาระหว่างนางแบบลุคโฉบเฉี่ยว โครงหน้าชัดเป๊ะ ตัดสลับกับแพคเกจจิ้งตลับแป้งแท่งไฮไลต์ทั้งหลายแหล่ พร้อมดนตรีอิเล็กทรอนิกส์บีทตุ้บๆ เป็นแบคกราวด์ แค่นี้ก็เจ๋งพอจะทำให้พุ่งตัวไปที่ร้านแล้ว

 

https://www.youtube.com/watch?v=Ga7dKKle774

 

แต่ที่มากไปกว่านั้น สำหรับผู้หญิงหลายคน (โดยเฉพาะฝั่งตะวันตก) FENTY BEAUTY ถือเป็นเครื่องสำอางที่มา ‘ปฏิวัติ’ โลกแห่งการแต่งหน้าของพวกเธอ ด้วยผลิตภัณฑ์รองพื้น (Foundation) ที่ไล่สีไปตั้งแต่ขาวสุดๆ จนถึงสีเข้มจัดๆ รวมทั้งหมดทั้งสิ้นถึง 40 สี!

ริฮานน่าบอกเหตุผลที่ใจกล้าออกเฉดรองพื้นมาเยอะขนาดนี้ว่า “ฉันสร้าง FENTY BEAUTY ขึ้นมาเพื่อผู้หญิงทุกคน ไม่ว่าจะผิวสีไหน ตัวตน ทัศนคติ วัฒนธรรมที่พวกเธอใช้ชีวิต และเชื้อชาติกำเนิดจะเป็นแบบไหน ฉันอยากให้ทุกคนรู้สึกว่าพวกเธอไม่ได้ถูกละเลย”

สีรองพื้นคือหนึ่งในปัญหาโลกแตกสำหรับผู้หญิงหลายคน เพราะถ้าเลือกไม่ถูกเฉดกับสีผิวจริง ก็เกิดปัญหาหน้าลอยจนเดือดร้อนเพื่อนต้องไปช่วยเลือกรองพื้นให้ แต่นั่นก็ยังไม่เท่าปัญหาที่ว่า เดินหารองพื้นเฉดเดียวกับผิวเท่าไหร่ก็ไม่เจอ ซึ่งกลายเป็นสิ่งกวนใจผู้หญิงผิวสีหลายๆ คน เพราะเฉดที่เข้มที่สุดของหลายๆ แบรนด์ก็ยังสว่างกว่าผิวจริง จนต้องลำบากผสมเฉดนั้นเข้ากับเฉดนี้ เพื่อหารองพื้นที่พอจะถูไถใช้ไปได้ก่อนเริ่มแต่งหน้า

 

‘ทำสีเข้มออกมาแล้วไม่มีคนซื้อ’ คือสาเหตุที่แบรนด์เครื่องสำอางหลายแห่งบอก

เหตุผลที่ว่าอาจจะไม่จริงเสมอไป เพราะจากการสำรวจเมื่อปี 2009 ในสหรัฐอเมริกา 7.5 พันล้านเหรียญสหรัฐคือตัวเลขของเม็ดเงินที่ผู้หญิงชาวแอฟริกันอเมริกันใช้ไปกับการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ความงาม ที่น่าสนใจคือตัวเลขที่ว่านั้นมาจากการ ‘ทดลอง’ ซื้อผลิตภัณฑ์หลายๆ ตัวเพื่อดูว่าอันไหนที่พอจะใช้ได้กับสีผิวของพวกเธอมากที่สุด

นั่นหมายความว่าในวงการความงาม อุปสงค์ของผลิตภัณฑ์ที่พวกเธอต้องการนั้นมีอยู่จริง คำถามคือ ทำไมถึงไม่มีแบรนด์ไหนที่พยายามจะเข้ามาช่วงชิงเค้กก้อนนี้ไป

แต่จะบอกว่า ‘ไม่มีเลย’ ก็คงจะไม่ถูกนัก เพราะช่วงหลายปีที่ผ่านมา แบรนด์ชั้นนำอย่าง M.A.C, Yves Saint Laurent หรือ Lancôme (ที่เคยพานักแสดงสาวผิวสี Lupita Nyong’o มาเป็น Beauty Ambassador พร้อมออกรองพื้นเฉดเดียวกับสีผิวของเธอมาแล้ว) ก็พยายามจะสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์สำหรับผู้หญิงผิวสี แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือเฉดสีเข้มที่มีให้เลือกน้อยเหลือเกิน แถมคุณภาพที่ได้ก็ยังไม่ดีพออีกต่างหาก

Balanda Atıs นักวิจัยจาก L’Oréal สหรัฐอเมริกาอธิบายว่าในการคิดค้นเฉดสีรองพื้นใหม่ๆ ที่เข้มขึ้นของหลายๆ แบรนด์ แต่ละแห่งประสบความสำเร็จและออกสินค้าในเฉดสีเข้มออกมาวางขายก็จริง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือสีอันเดอร์โทน (โทนสีผิวถาวรที่กำหนดจากจำนวนเมลานิน) และปริมาณความเข้มของสีที่หลายๆ แบรนด์ผสมออกมาก็ยังไม่ถูกต้องเท่าที่ควร

นั่นก็เพราะในแต่ละครั้งที่มีการคิดค้นโทนสีรองพื้นใหม่ๆ ออกมา เม็ดสีสี่ชนิดคือขาว เหลือง แดง และดำ จะถูกผสมในอัตราส่วนที่ต่างกันเพื่อออกมาเป็นเฉดสีที่ต่างกันไป ถ้าอยากได้เฉดที่เข้ม ทีมพัฒนาก็จะเพิ่มเม็ดสีดำเข้าไป ซึ่งถ้าใส่มากเกินก็ทำให้ผิวดูช้ำ หรือถ้าอยากได้สีน้ำตาลโทนคาราเมล บางแบรนด์ก็ใส่สีแดงกับเหลืองมากเกินไปจนทำให้เวลาทาลงบนผิวจริงที่เข้มมากๆ ก็กลายเป็นสีส้ม ยิ่งถ้าผสมไทเทเนี่ยมไดออกไซด์ที่ใช่เพื่อเพิ่มการปกปิด ฝันร้ายของสาวผิวสีก็จะมาถึงไวกว่าเดิม เพราะทาลงไปแล้วหน้าจะเทาขึ้นมาอย่างชัดเจน (หรือที่สาวไทยเรียกกันว่า ‘หน้าวอก’ นั่นเอง)

อีกสาเหตุหนึ่งที่รองพื้นเฉดสำหรับสาวผิวสีมีออกมาครอบคลุมไม่มากพอ (เท่ากับเฉดสำหรับผู้หญิงผิวขาวถึงเหลืองปานกลาง) คือ ‘ต้นทุน’ ของการผลิตที่มีมากกว่า เพราะเมื่อบริษัทใหญ่ๆ หันไปโฟกัสกับการผลิตรองพื้นเฉดสีอ่อนเพื่อตลาดแมส ต้นทุนการผลิตก็จะลดลงด้วยการสั่งวัตถุดิบมาผลิตเป็นจำนวนมาก ในทางตรงข้าม เมื่อพวกเขามองไม่เห็นดีมานด์จากกลุ่มผู้หญิงผิวสี การจะสั่งวัตถุดิบปริมาณน้อยๆ เพื่อผลิตรองพื้นสีเข้มก็กลายเป็นการเพิ่มภาระต้นทุนหากมองในเชิงธุรกิจ

 

ย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ สาเหตุว่าทำไมวงการความงามถึงไม่ใคร่จะใส่อกใส่ใจกับลูกค้ากลุ่มหญิงผิวสีเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1940s ที่ถึงแม้จะพอมีผลิตภัณฑ์สำหรับพวกเธออยู่บ้าง (ในบริษัทที่ทำสินค้าเฉพาะเจาะจงกับสาวผิวสี) แต่ผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดกลับเลือกที่จะโฆษณา ‘ครีมไวท์เทนนิ่ง’ ที่ทาแล้วสีผิวจะกระจ่างใส ขาวขึ้นทันใจ (แบบที่เราเห็นตามโฆษณาบ้านเราในยุคปัจจุบัน) โดยเจาะกลุ่มไปยังตลาดผู้หญิงผิวสี

และแน่นอนว่าโฆษณาที่ว่ามาพร้อมกับภาพของผิวสีเข้มที่เป็นตัวแทนของความ ‘น่าเกลียด’ และ ‘ไม่เป็นที่น่าปรารถนา’ สำหรับผู้หญิงในยุคนั้น

Susanna Walker ผู้เขียนหนังสือ Style and Status: Selling Beauty to African American Women, 1920-1975 ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าในยุคสมัยนั้น วงการความงามของผู้หญิงผิวสีเกี่ยวพันกับสภาพสังคมและการเคลื่อนไหวทางสังคมในประเด็นสิทธิของคนผิวสีอย่างแยกกันไม่ออก เพราะในช่วงเวลานั้น ในสายตาของนักการตลาด (ผิวขาว) มองว่าผู้หญิงผิวสีไม่ได้ ‘ร่ำรวย’ พอที่จะจับจ่ายซื้อหาผลิตภัณฑ์ความงามแบบอื่นๆ จนต้องออกแคมเปญมาเรียกยอดขายเฉพาะกลุ่ม แถมยังมองว่าพวกเธอไม่ใช่พวกที่ ‘โซฟิสธิเคต’ มากพอที่จะมาสนอกสนใจเรื่องของความงามด้วย

จนกระทั่งหลังความสูญเสียและชัยชนะจากการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิพลเมืองของคนผิวสีจบลงในปี 1958 โลกของความงาม (ที่ครอบครองโดยธุรกิจของคนผิวขาว) ก็เริ่มเข้ามาสนอกสนใจกับตลาดของผู้หญิงผิวสีมากขึ้น แต่ไม่ใช่เพื่อเป้าหมายในการสร้างการหลอมรวมของผู้คนในทุกเชื้อชาติเข้าด้วยกัน แต่เป็นการออกสินค้าเพื่อ ‘เงิน’ ในกระเป๋าของพวกเธอเสียมากกว่า

จาก Revlon ที่ส่งผลิตภัณฑ์แต่งหน้าเพื่อผู้หญิงผิวสีออกสู้ตลาดด้วยเฉดสีที่เพิ่มมาใหม่แค่สองสีในปี 1975 จนถึงปี 2015 ที่ Lupita Nyong’o มาถ่ายรูปโฆษณาให้กับ Lancôme สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนไปของวงการผลิตภัณฑ์ความงาม คือความพยายามที่จะบอกว่า ‘เราทำดีกว่าเมื่อก่อนแล้วนะ’ ในขณะที่สินค้าที่ออกมาจริงๆ กลับไม่ตอบโจทย์ผู้หญิงผิวสีที่มีสีผิวต่างกันไปหลากหลายเฉด

ซึ่งใช่ว่าผู้หญิงทุกคนจะมีผิวสีเดียวกับลูปิตา และใช้รองพื้นสีเดียวกับเธอได้

นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมในไม่กี่วันแรกที่รองพื้นของ FENTY BEAUTY ออกวางจำหน่าย เฉดสีเข้มแทบทุกเฉดจึงหมดจากชั้นวางของที่ร้านเซโฟร่า และเป็นการตอกหน้าแบรนด์ดังๆ อีกหลายแบรนด์ที่แหย่เท้าเข้ามาอย่างเก้ๆ กังๆ ว่าถ้าทำออกมาอย่างตั้งใจ หวังจะสร้างผลิตภัณฑ์ที่ inclusive จริงๆ ดีมานด์ที่พวกเขาทำเป็นมองไม่เห็นก็พร้อมปรากฏตัวออกมาเหมาไปใช้จนริฮานน่าเติมของแทบไม่ทัน

 

“การแต่งหน้าก็เหมือนการลองเล่นอะไรซักอย่าง จงแต่งหน้าเพื่อหาความสนุกให้กับตัวเอง อย่าไปกดดัน อย่าไปคิดว่ามันต้องมีกฎระเบียบเป๊ะๆ ต้องกล้าที่จะเสี่ยง กล้าจะสร้างสิ่งใหม่ๆ ที่แตกต่าง”

คำพูดของนักร้องสาวผิวเข้มคนนี้ อาจไม่ได้ตั้งใจบอกแค่ผู้หญิงทุกคน

แต่เราเชื่อว่าเธอกำลังส่งสารท้าทายทัศนคติด้านความงามในสายตาเหล่าธุรกิจยักษ์ใหญ่ด้วยเช่นกัน

 

อ่านเพิ่มเติม

เว็บไซต์ Fenty Beauty by Rihanna

บทความเรื่อง Why Are Women of Color Still Having Trouble Finding Foundation? โดย Andrea Arterberry จาก Cosmopolitan

บทความเรื่อง The Makeup Industry’s Frustrating Cycle of Struggle and Progress for Women of Color โดย Clover Hope จาก Jezebel

บทความเรื่อง A BLACK MAKEUP SCIENTIST ON WHY MAKEUP FOR WOC IS OVERLOOKED โดย Gabrielle Noel จาก Galoremag

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save