fbpx
1.4 เปอร์เซ็นต์ : ผู้หญิงที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์

1.4 เปอร์เซ็นต์ : ผู้หญิงที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์

โตมร ศุขปรีชา เรื่อง

 

รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ปีนี้ตื่นเต้นกันมาก เพราะเป็นเวลามากกว่าครึ่งศตวรรษ (คือ 55 ปี) มาแล้ว ที่ไม่เคยมีผู้หญิงคนไหนได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์มาก่อน

 

แต่ปีนี้ ดอนน่า สตริคแลนด์ (Donna Strickland) ได้รับโทรศัพท์จากสต็อคโฮล์มตั้งแต่ตีห้า (เธออยู่ที่ออนแทริโอ แคนาดา) บอกว่าเธอได้รับรางวัลโนเบล

เรื่องน่าตลกและประหลาดอย่างยิ่งก็คือ ในวันที่ประกาศรางวัลโนเบลนั้น ชื่อของดอนนา สตริคแลนด์ ไม่มีอยู่ในเว็บวิกิพีเดีย แม้ว่าเธอจะเป็นนักฟิสิกส์ชื่อดัง และทำงานสำคัญในด้านฟิสิกส์มามากมาย

ก่อนหน้านี้ เคยมีคนพยายามใส่ข้อมูลของเธอลงไปในวิกิฯ แต่ก็ถูกปฏิเสธ โดยมีข้อความตอบกลับมาว่า “This submission’s references do not show that the subject qualifies for a Wikipedia article.” หรือ “การอ้างอิงของข้อมูลนี้ไม่ได้แสดงให้เห็นว่า บุคคลผู้นี้มีคุณสมบัติมากพอสำหรับการเป็นบทความในวิกิพีเดีย”

แต่อีกไม่กี่เดือนต่อมา เธอก็ได้รับรางวัลโนเบล และเป็นผู้หญิงคนที่ 3 เท่านั้น ที่เคยได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์

ทันทีที่ประกาศรางวัล วิกิฯ ก็มีชื่อของเธอปรากฏ พร้อมการอัพเดตข้อมูลจากทุกทิศทุกทาง จน The Atlantic บอกว่าวิกิฯ ‘Flooded with edits’ คือมีคนเข้ามาให้ข้อมูลมากมาย

วิกิพีเดียนั้น ถูกวิพากษ์วิจารณ์มานานว่าไม่ค่อยสนใจผู้หญิงเท่าไหร่นัก ข้อมูลเกี่ยวกับผู้หญิงในวิกิพีเดียน้อยกว่าผู้ชาย ยิ่งถ้าเป็นในมิติด้านวิทยาศาสตร์ก็ยิ่งน้อยเข้าไปใหญ่ แล้วถ้าหากเป็นเรื่องของ ‘ผู้หญิง’ กับ ‘ฟิสิกส์’ ก็อาจพูดได้ว่าเหลือพ้นจินตนาการของผู้คน

กระทั่งสตริคแลนด์เอง ตอนที่เธอรู้ว่าเธอเป็นผู้หญิงคนที่ 3 ที่ได้รับรางวัลนี้ เธอยังอุทานออกมาเลยว่า “มีแค่นั้นเองเหรอ ฉันคิดว่าน่าจะมีมากกว่านั้นเสียอีก” สตริคแลนด์บอกว่า เราควรจะเฉลิมฉลองนักฟิสิกส์ผู้หญิงมากกว่านี้ เพราะมีผู้หญิงทำงานด้านฟิสิกส์มากมายทีเดียว และเธอหวังว่าการให้เกียรติผู้หญิงที่ทำงานด้านฟิสิกส์จะมากขึ้นและเร็วขึ้น

ระหว่างปี 1901 ถึง 2017 มีผู้ชายได้รับรางวัลโนเบล (รวมทุกสาขา) 892 คน แต่มีผู้หญิงได้รับรางวัลโนเบลแค่ 48 คนเท่านั้น ยิ่งถ้ามาดูรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ จะพบว่ามีผู้ชายได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ถึง 206 คน แต่มีแค่ 3 คนเท่านั้นที่เป็นผู้หญิง คิดได้แค่ 1.4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง

อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงคนแรกที่ได้รับรางโนเบลสาขาฟิสิกส์ น่าจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ดังยิ่งกว่าผู้ชายหลายต่อหลายคน คนคนนั้นก็คือ มารี สโคลโดว์สกา คูรี (Marie Sklodowska Curie) หรือที่เรารู้จักเธอในชื่อ มารี คูรี ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ในปี 1903 ร่วมกับปิแอร์ คูรี (สามีของเธอ) และอองรี เบคเคอเรล ยิ่งไปกว่านั้น เธอยังได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีซ้ำอีกหน ในปี 1911 ด้วย

มารี คูรี ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ เพราะค้นพบรังสี (Radiation) แต่จริงๆ แล้ว ว่ากันว่าเธอไม่ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับรางวัลนี้ในตอนแรก เพราะสถาบันวิทยาศาสตร์ฝรั่งเศส (The French Academy of Sciences) จะส่งเฉพาะชื่อของผู้ชายเข้าชิงเท่านั้น แต่สามีของเธอยืนกรานว่าจะต้องส่งชื่อมารี คูรี ด้วย เพราะที่จริงเธอเป็นคนที่มีส่วนสำคัญในการค้นพบรังสี (จากธาตุเรเดียม – Radium)

อย่างที่เรารู้กันอยู่ เธอเป็นคนคิดศัพท์ Radioactivity ขึ้นมา และเป็นคนพัฒนาทฤษฎีเกี่ยวกับรังสี รวมไปถึงเทคนิคการแยกไอโซโทปจากสารกัมมันตรังสีออกมา แถมยังค้นพบธาตุใหม่ในตอนนั้นสองธาตุด้วย คือธาตุโพโลเนียม (Polonium) และธาตุเรเดียม โดยการค้นคว้าเกี่ยวกับธาตุเรเดียมนี้เอง ทำให้เธอได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีในเวลาต่อมา แต่กระนั้น เธอก็ต้องล้มป่วยเพราะทั้งทำงานหนักและโดนกัมมันตรังสีจากเรเดียม จนไขกระดูกถูกทำลาย พูดง่ายๆ ก็คือ เธอได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์เพราะค้นพบธาตุเรเดียม และได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีเพราะค้นคว้าหาประโยชน์จากธาตุเรเดียม ทำให้มนุษยชาติได้รับประโยชน์มหาศาล แต่ก็แลกมาด้วยชีวิตของเธอ

ที่น่าสนใจก็คือ หลังสามีของเธอเสียชีวิตไปแล้ว เธอไปมีความสัมพันธ์กับนักฟิสิกส์อีกคนหนึ่งที่มีภรรยาแล้ว เมื่อเธอได้รับรางวัลโนเบลครั้งที่สอง จึงมีผู้ขุดคุ้ยและพยายามกีดกันเธอจากการรับรางวัลโนเบล ซึ่งแสดงให้เห็นว่า สำหรับผู้หญิงแล้ว เรื่องเพศเป็นเรื่องที่ถูกจับจ้องเสมอ จนอาจกล่าวได้ว่า อคติทางเพศนั้นแฝงฝังอยู่ทุกหนแห่ง แม้กระทั่งในโลกวิทยาศาสตร์ที่ควรจะปลอดจากอคติทั้งหลาย

ผู้หญิงคนที่สองที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์คือ มาเรีย คอพเพิร์ต เมเยอร์ (Maria Goeppert-Mayer) เธอเป็นนักฟิสิกส์ทฤษฎีชาวเยอรมัน (ที่ตอนหลังเปลี่ยนสัญชาติไปเป็นอเมริกัน) ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ในปี 1963 จากผลงานการนำเสนอโมเดลที่เรียกว่า นิวเคลียร์เชล (Nuclear Shell Model) ซึ่งเป็นโมเดลของนิวเคลียสในอะตอมที่นำมาอธิบายโครงสร้างของนิวเคลียสได้ในรูปของระดับพลังงาน

แต่เมเยอร์ไม่ได้มีชีวิตทางวิทยาศาสตร์ที่ราบรื่นเท่าไหร่ หลังจากเธอแต่งงานกับสามีและย้ายไปอยู่อเมริกาแล้ว สาามีของเธอทำงานเป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮ็อพกินส์ ซึ่งเธอผู้มีความรู้ทางด้านฟิสิกส์ดี ก็สมัครเข้าไปเป็นอาจารย์ด้วย แต่กลับถูกปฏิเสธ เธอได้งานเป็นผู้ช่วยวิจัย แต่ก็ตีพิมพ์ผลงานระดับเอกอุการสลายตัวซ้อนของรังสีเบต้าออกมาในปี 1935 หลังจากนั้นก็ย้ายไปอยู่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย แต่ก็ได้ตำแหน่งที่ไม่มีเงินเดือนให้ ชีวิตเธอเริ่มลงตัวหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เพราะเธอได้ไปสอนฟิสิกส์ที่มหาวิทยาลัยชิคาโก และต่อมาก็ทำงานร่วมกับนักฟิสิกส์อีกสองคนจนได้รับรางวัลโนเบลดังที่ว่ามา

จะเห็นว่า ‘ผู้หญิง’ โนเบลสาขาฟิสิกส์นี่ไม่ใช่เรื่องง่ายดายเลย กว่าจะฝ่าฟันเข้ามาทำงานจนกระทั่งได้รับการยอมรับ

ในบรรดาผู้หญิงที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์สามคน ชีวิตของสตริคแลนด์ดูจะราบรื่นกว่าเพื่อน เธอเริ่มงานเป็นผู้ช่วยวิจัยที่สภาวิจัยของแคนาดา แล้วก็ไปอยู่กับมหาวิทยาลัยอื่นๆ อีกหลายแห่ง จนสุดท้ายก็มาเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยวอเตอร์ลู โดยงานที่ทำให้เธอได้รับรางวัลโนเบล ก็คืองานวิจัยด้านเลเซอร์ คือเธอกับเพื่อนร่วมงาน (ที่ได้รับรางวัลโนเบลร่วมกัน) ค้นพบวิธีที่จะยืดขยายและกดอัดแสงเลเซอร์ ทำให้เกิดแสงเลเซอร์เป็นจังหวะๆ ที่เข้มข้น ซึ่งในปัจจุบันเป็นเทคนิคที่นำไปใช้กว้างขวางในหลากหลายด้าน ตั้งแต่การผ่าตัดที่บอบบาง จนกระทั่งถึงการแก้ปัญหาสายตา ซึ่งวิธีผ่าตัดโดยใช้มีดหมอเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้อย่างสิ้นเชิง พูดง่ายๆ ก็คือ การผ่าตัดที่โฆษณาว่าผ่าตัดโดยใช้แสงเลเซอร์ทั้งหลายที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบันนั้น ล้วนพัฒนาขึ้นจากการค้นพบของเธอและคณะทั้งสิ้น เพราะวิธีควบคุมแสงเลเซอร์แบบนี้ ทำให้สามารถผลักอนุภาคชิ้นเล็กๆ เข้าไปตรงกลางของลำแสงเลเซอร์ได้ จัดวางให้เข้าที่ได้ และหมุนไปหมุนมาได้ด้วย คนเลยเรียกเทคนิคนี้ว่า Optical Tweezer หรือเป็นเหมือนคีมคีบที่ทำจากแสง

การที่สตริคแลนด์ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ทำให้เกิดคำถามต่อคณะกรรมการรางวัลโนเบล ว่าผู้หญิงหายไปไหน ทำไมผู้หญิงถึงได้รับรางวัลนี้น้อยนัก ซึ่งคณะกรรมการก็อ้อมๆ แอ้มๆ ตอบในทำนองว่า ส่วนใหญ่แล้วรางวัลจะมอบย้อนกลับไปในอดีต เพื่อรอดูว่าผลงานนั้นๆ มีการตรวจสอบว่าถูกต้องจริงหรือเปล่า เป็นประโยชน์มากน้อยแค่ไหน ก่อนที่จะให้รางวัลได้ ซึ่งถ้าย้อนกลับไป 20-30 ปีที่แล้ว พบว่ามีผู้หญิงทำงานด้านฟิสิกส์น้อยมาก

อย่างไรก็ตาม เคยมีผู้หญิงหลายคนที่วงการฟิสิกส์เห็นว่าน่าจะได้รับรางวัลนี้ก่อนหน้าสตริคแลนด์อยู่ อย่างเช่น เวรา รูบิน (Vera Rubin) ซึ่งศึกษาเรื่อง ‘สสารมืด’ (Dark Matter) มาตั้งแต่ยุคเจ็ดศูนย์ถึงแปดศูนย์ แต่บังเอิญว่าเธอเสียชีวิตในปี 2016 แล้วรางวัลโนเบลก็มอบให้เฉพาะคนที่ยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น

นอกจากนี้ ยังมีนักวิทยาศาสตร์อังกฤษอย่าง จอยซลีน เบอร์เนลล์ (Jocelyn Burnell) ที่ได้รับรางวัลทางฟิสิกส์จากการทำงานมากมายหลายรางวัล เช่นในปี 1967 เธอกับอาจารย์ของเธอและทีมงานค้นพบเทหวัตถุที่เรียกว่าพัลซาร์ (Pulsar) หรือดาวนิวรอนที่หมุนเร็วสาดแสงและพลังงานออกมามหาศาล การค้นพบนี้ทำให้อาจารย์ของเธอได้รับรางวัลโนเบลร่วมกับทีมงาน (ชาย) อีกคนหนึ่งในปี 1974 แต่เบอร์เนลล์ไม่ได้

 

ดังนั้น การที่ผู้หญิงอย่างสตริคแลนด์มาได้รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ในปีนี้ จึงน่าจะเป็นสัญญาณบ่งบอกว่า ในอนาคต ผู้หญิงกับฟิสิกส์ไม่น่าจะเป็นเรื่องห่างไกลกันเหมือนที่มายาคติของเราบอกเรามาตลอดอีกต่อไปแล้ว

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save