fbpx
ผู้หญิง : ไม่ต้องบวช ไม่ต้องห่มจีวรก็เป็นสงฆ์ได้

ผู้หญิง : ไม่ต้องบวช ไม่ต้องห่มจีวรก็เป็นสงฆ์ได้

สนิทสุดา เอกชัย เรื่อง

Shin Egkantrong ภาพประกอบ

 

เคยคิดไหมว่าการที่ผู้หญิงมีฐานะต่ำต้อยในพุทธศาสนาของไทย ส่วนหนึ่งอาจมาจากการสวดมนต์ของเราเองก็ได้

ทุกครั้งที่เรากราบพระรัตนตรัย เรานึกถึงอะไร กราบครั้งแรกระลึกถึงพระพุทธเจ้า ครั้งที่สองกราบพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ ครั้งที่สามนึกถึงคุณของพระสงฆ์

แล้วเมื่อกล่าวคำว่า ‘พระสงฆ์’ เรานึกถึงอะไร

พระสงฆ์ในความคิดของเราคือนักบวชเพศชายเท่านั้น ภาพในใจเราเช่นนี้หรือเปล่าที่ทำให้พุทธศาสนาของไทยไม่มีที่ให้นักบวชที่เป็นเพศหญิงและทำให้ไม่ยอมรับภิกษุณี

แน่นอน คณะสงฆ์เถรวาทของไทยมีคำอธิบายทางวิชาการยืดยาวที่จะบอกว่าทำไมถึงให้ผู้หญิงบวชไม่ได้ ย้ำแล้วย้ำอีกว่าคณะสงฆ์ไม่ได้ใจแคบ แต่ต้องทำให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์การบรรพชาภิกษุณีที่พระพุทธองค์ทรงกำหนดไว้

คณะสงฆ์อธิบายว่าตามพระวินัยนั้น การบวชภิกษุณีนั้นต้องมีพิธีบวชสองครั้ง ครั้งแรกจากคณะสงฆ์ของฝ่ายภิกษุณีเอง ตามด้วยพิธีบวชอีกครั้งโดยพระภิกษุจึงจะเสร็จสิ้นสมบูรณ์ ในเมื่อปัจจุบันภิกษุณีในพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทได้สูญสิ้นไปนานแล้ว จึงไม่สามารถจะรื้อฟื้นการบวชภิกษุณีได้

แต่พอมีผู้ไปบวชภิกษุณีจากศรีลังกาเพราะที่นั่นฟื้นฟูได้สำเร็จ คณะสงฆ์ไทยก็โกรธเกรี้ยวอย่างหนัก นอกจากจะโจมตีต่างๆ นานาแล้ว ยังห้ามพระสงฆ์มีสังฆกรรมใดๆ กับภิกษุณี พร้อมขู่ทำโทษผู้ฝ่าฝืนคำสั่ง

เมื่อหลายปีก่อนคณะสงฆ์วัดป่าสายหนึ่งถึงกับขับไล่พระภิกษุชื่อดังรูปหนึ่งออกไปจากสายของตน เพราะสนับสนุนการบวชของสตรีอย่างเปิดเผย ระหว่างการจัดแถลงข่าวเพื่อประณามพระภิกษุรูปนั้น ได้มีโอกาสถามพระภิกษุอาวุโสรูปหนึ่งว่าทำไมถึงบวชภิกษุณีไม่ได้ ท่านตอบว่าขืนผู้หญิงบวชได้ก็มีพระผู้หญิงเต็มเมืองน่ะสิ

ซาโตริเลยคราวนั้น

เข้าใจทันทีว่าการต่อต้านภิกษุณีไม่ใช่แค่เรื่องยึดมั่นกฎเกณฑ์การบวชหรือการเลือกปฎิบัติทางเพศ แต่เกี่ยวกับผลประโยชน์มหาศาล ไม่ใช่แค่ด้านวัตถุ แต่เป็นเรื่องอำนาจ เพราะเจ้าของอำนาจและศรัทธาไม่ต้องการให้สตรีเข้ามามีส่วนร่วม

สตรีจะบวชเป็นแม่ชี หรือเป็นอุบาสิกาจำวัดก็ได้ แต่ต้องอยู่ใต้อำนาจของพระภิกษุ จะมาหวังเทียบเท่านั้น อย่าได้บังอาจ

ได้ยินพระอาวุโสซึ่งเป็นที่เคารพของลูกศิษย์ลูกหาคิดเช่นนี้ ในแง่หนึ่งเป็นสิ่งที่ดีมาก ทำให้เข้าใจว่าอคติหรือกิเลสนั้นมันซับซ้อนหลายเชิงชั้น มีเล่ห์กลหลอกลวงลึกซึ้งยิ่งนัก สำหรับนักบวชที่อยู่ในสังคมที่เบียดขับสตรีจนเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่ใครจะก้าวข้ามกับดักของอคติอันรุนแรงนี้ได้

ความเข้าใจเรื่องพระสงฆ์ของชาวพุทธในประเทศไทยเองก็เป็นแรงสนับสนุนส่งให้คณะสงฆ์ยืนยันว่าพระภิกษุเท่านั้นที่เป็นส่วนหนึ่งของพระรัตนตรัย เพราะเมื่อชาวพุทธกล่าวถึงพระสงฆ์ก็หมายถึงแต่พระภิกษุเท่านั้น

ทำให้มีคำพูดว่า “เห็นแก่ผ้าเหลือง” หรือ “ชั่วช่างชีดีช่างสงฆ์” คือถือว่าการตำหนิภิกษุเป็นเรื่องบาป ควรเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ เพราะอย่างไรท่านก็เป็นผู้สืบทอดพระพุทธศาสนา เป็นหนึ่งในรัตนตรัย

เราเข้าใจอะไรผิดไปหรือ

ในการสวดมนต์ หลังจากกล่าวสรรเสริญพระพุทธองค์และพระธรรมคำสั่งสอนแล้ว เมื่อถึงบทสรรเสริญพระสงฆ์ หมายถึงพระภิกษุเท่านั้นหรือ

เมื่อคณะสงฆ์ประสบคำครหามากมายอย่างที่รู้ๆ กัน ก็มีการตีความบทสวดตอนนี้ให้กว้างขึ้น โดยอธิบายว่าคำว่า ‘สงฆ์’ ไม่ได้หมายพระภิกษุทั่วไป แต่หมายถึงพระภิกษุที่ปฎิบัติดีปฎิบัติชอบเท่านั้น แต่ถึงอย่างไรก็ยังหมายถึงนักบวชที่เป็นเพศชายอยู่ดี

แล้วจริงๆ สงฆ์หมายถึงอะไรกันแน่

สงฆ์หรือ Sangha ในภาษาบาลี มีความสองระดับ ระดับแรกคือชุมชนนักบวชในพระพุทธศาสนา ซึ่งรวมทั้งภิกษุและภิกษุณี ระดับที่สองหมายถึงใครก็ตามไม่ว่าจะเป็นภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ที่ได้ปฎิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอน

หนังสือธรรมะแนวสนทนาธรรม ‘ธัมมานุธัมมปฎิปัตติ’ ซึ่งถือกันว่ามีความลุ่มลึกและสอดคล้องกับพระไตรปิฎก กล่าวถึงความหมายของพระสงฆ์โดยไม่ต้องตีความใดๆ ว่าพระสงฆ์หมายถึง “หมู่ผู้ฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า” ไม่ได้จำกัดอยู่ที่เพศใด และแบ่งได้เป็นสองกลุ่มคือ สมมติสงฆ์ กับ อริยสงฆ์

สมมติสงฆ์ คือนักบวชในพระศาสนาทั้งภิกษุและภิกษุณีซึ่งยังไม่บรรลุมรรคผล ส่วน อริยสาวก หรือ อริยสงฆ์ คือผู้ที่ปฏิบัติจนบรรลุธรรมตามลำดับขั้นต่างๆ จากโสดาบันขึ้นไปจนบรรลุมรรคผลนิพพาน “แม้เป็นคฤหัสถ์หรือบรรพชิต สตรี บุรุษ เทวดา อินทร พรหมก็ดี เหล่านี้คือพระอริยสงฆ์”

ทำไมต่อมาความหมายของสงฆ์จึงได้แคบลงจนหมายถึงพระภิกษุสงฆ์อย่างเดียว

คงเป็นคำตอบเดียวกันกับที่ทำไม ‘ธัมมานุธัมมปฎิปัตติ’ ซึ่งไม่ปรากฏชื่อผู้แต่งนั้น จึงเชื่อกันอย่างแพร่หลายว่าเป็นธรรมนิพนธ์ของอริยสงฆ์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ด้วยคิดว่าผู้มีภูมิธรรมระดับท่านเท่านั้นจึงจะถ่ายทอดความลุ่มลึกและแม่นยำทางธรรมะได้เช่นนี้ เป็นผลให้มีการพิมพ์แจกกันอย่างกว้างขวาง

ถ้าไม่ใช่เป็นเพราะการสืบค้นของนักวิชาการสองท่านคือ Dr.Martin Seeger และนริศ จรัสจรรยาวงศ์ ความจริงคงไม่ปรากฏ

ผู้เขียน ‘ธัมมานุธัมมปฎิปัตติ’ ที่แท้จริงนั้นไม่ใช่ภิกษุรูปไหนทั้งสิ้น แต่เป็นผู้หญิง เป็นผู้มีความรู้ทางปริยัติธรรมแตกฉาน มีความจำเป็นเลิศ เป็นผู้ปฎิบัติธรรมอย่างเข้มข้น คือคุณหญิงดำรงธรรมสาร (ใหญ่ วิเศษศิริ)

ความรู้ทางธรรมะคุณหญิงใหญ่ วิเศษศิริ (2425-2487) เป็นที่ยอมรับของพระเถระชั้นสูงในสมัยของท่าน แม้แต่ท่านพุทธทาสก็เคยตีพิมพ์บทความของคุณหญิงใหญ่ในหนังสือพิมพ์ ‘พุทธสาสนา’ ของสวนโมกข์ ในช่วงสุดท้ายของชีวิตคุณหญิงใหญ่เข้าสมาทานเป็นแม่ชี อุทิศตนให้แก่การปฎิบัติธรรม เชื่อว่าท่านได้บรรลุธรรมขั้นสูง จนในที่สุดสามารถกำหนดการสละสังขารของตนเองได้

หนังสือ ‘ดำรงธรรม’ โดย Dr.Martin Seeger และนริศ จรัสจรรยาวงศ์ เล่าว่าในวันที่ท่านจะสิ้น คุณหญิงใหญ่ได้ให้คนไปนิมนต์พระมาสวดมนต์ให้ท่านฟัง เป็นบทที่ท่านต้องการฟังเป็นครั้งสุดท้าย หลังสนทนาธรรมท่านได้ก้มลงกราบพระ พร้อมกล่าวลาว่า “ขอทิ้งสังขารไว้ที่นี่” กราบเสร็จท่านก็สิ้นลมในท่านั้น

สตรีที่ปฎิบัติจนมีภูมิธรรมเช่นนี้ เป็นอริยสงฆ์หรือเปล่า เป็นอริยสาวก เป็นส่วนหนึ่งของพระรัตนตรัยซึ่งเป็นที่พึ่งเพื่อการหลุดพ้นหรือไม่ ความจริงย่อมประจักษ์ชัดอยู่แล้

นอกจากคุณหญิงใหญ่ วิเศษศิริแล้ว หนังสือ ‘Gender and the Path to Awakening : Hidden Stories of Nuns in Modern Thai Buddhism’ โดย Martin Seeger ยังได้กล่าวถึงแม่ชีหรืออุบาสิกาอีกหลายท่านที่เชื่อกันว่าเป็นอริยบุคคล เพราะอัฐิกลายเป็นพระธาตุเช่นเดียวกับอริยสงฆ์หลายรูป

ถ้าผู้หญิงไม่ต้องบวชและไม่ต้องห่มจีวรพระก็เป็นพระสงฆ์ได้หากมุ่งศึกษาปฏิบัติธรรม เช่นนี้แล้วการบวชภิกษุณีจึงไม่จำเป็นใช่ไหม เพราะแค่ปฎิบัติให้เข้มข้นก็สามารถขัดเกลากิเลสและบรรลุธรรมได้

พระภิกษุหลายรูปชอบพูดเช่นนี้เพื่อปัดเรื่องการบวชให้สตรี ท่านว่ารูปแบบไม่จำเป็น ทุกอย่างอยู่ที่ใจ อยู่ที่การปฏิบัติของตนเอง แต่ถ้าการบรรพชาไม่สำคัญ การบวชเป็นภิกษุก็ไม่จำเป็น ไม่ต้องทิ้งบ้านเรือนมาอยู่วัดก็ได้ เพราะสามารถปฏิบัติธรรมเองที่บ้านได้เหมือนกัน ใช่หรือไม่

ยังไงก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการบวชจำเป็นต่อการจรรโลงศาสนา เป็นระบบสังคมที่จะเกื้อหนุนให้คนที่มีศรัทธาได้มีโอกาสใช้ชีวิตเป็นนักบวชโดยไม่ต้องกังวลกับความจำเป็นต่างๆ ในทางโลก สามารถอุทิศชีวิตศึกษาพระธรรมและการปฏิบัติธรรมได้เต็มที่ เพื่อพิสูจน์ให้เราเห็นว่าการปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนช่วยให้เราได้หลุดพ้นจากทุกข์ได้จริง เพื่อเป็นครู เป็นผู้นำทาง เป็นแรงบันดาลใจให้เราได้มุ่งมั่นต่อไปในทางธรรมได้

แต่บุรุษเท่านั้นที่จะมีโอกาสเช่นนี้

การที่สังคมไม่มีระบบรองรับการบวชของสตรี ทำให้การใช้ชีวิตเป็นนักบวชเพื่อพ้นทุกข์หรือเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นเป็นไปได้ยากมาก มีเพียงสตรีกลุ่มเล็กๆ ที่สถานะทางเศรษฐกิจดีเท่านั้นที่จะใช้ชีวิตเป็นแม่ชีหรือภิกษุณีได้โดยไม่ต้องกังวล สตรีที่ยากจนหรือขาดที่พึ่งส่วนใหญ่จำเป็นต้องเป็นแรงงานให้วัด เช่น ทำกับข้าว ทำความสะอาด หรือช่วยขายดอกไม้ธูปเทียน อย่างที่เราเห็นกัน

สถาบันสงฆ์ช่วยให้เด็กชายหรือบุรุษที่มีฐานะยากจนได้มีโอกาสเล่าเรียน มีอนาคต ไม่ต้องผจญความยากลำบาก ในขณะที่พี่สาวน้องสาวต้องออกจากโรงเรียนหรือต้องทำงานส่งเสียครอบครัว หลายคนต้องเป็นเหยื่อธุรกิจทางเพศ และเป็นเรื่องปกติมากที่คนงานหญิงต้องเก็บเงินหรือกู้หนี้ยืมสินเพื่อส่งเงินให้พ่อแม่จัดงานบวชให้ลูกชายอย่างใหญ่โต เพราะความเชื่อเรื่องเกาะชายผ้าเหลืองขึ้นสวรรค์

ถ้ามีสถาบันภิกษุณีสงฆ์และถ้าสังคมมีศรัทธาว่านักบวชหญิงก็เป็นเนื้อนาบุญได้ เด็กผู้หญิงที่ยากจนจะได้มีโอกาสเหมือนพี่ชายน้องชายตัวเองเสียที สตรีจะใช้ชีวิตเป็นนักบวชได้ง่ายขึ้น การมีสตรีเป็นอริยสงฆ์จะไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไป และเมื่ออุบาสิกาต้องการคำปรึกษา พระผู้หญิงก็จะเข้าใจปัญหาของผู้หญิงได้ดีกว่าแน่นอน

หนทางนี้จะเริ่มต้นได้อย่างไร

เห็นทีจะต้องเริ่มด้วยการสวดมนต์ใหม่ เข้าใจความหมายของพระสงฆ์เสียใหม่ ปรับภาพในใจเมื่อสวดถึงพระสงฆ์ให้ถูกต้อง

พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์คือรัตนตรัย เป็นที่พึ่งเพื่อการหลุดพ้นของชาวพุทธ แต่พระสงฆ์ไม่ได้หมายถึงพระภิกษุเท่านั้น แต่แต่รวมถึงภิกษุณี และชาวพุทธทุกคนที่มุ่งปฏิบัติตามพระธรรมคำสอน

ความเข้าใจที่ถูกต้องนี้ไม่ใช่แค่จะช่วยให้ผู้หญิงมีบทบาทและพื้นที่ในศาสนามากขึ้น แต่ช่วยให้ชาวพุทธทุกคนตระหนักถึงพุทธพจน์ที่ว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ไม่มีใครช่วยเราให้พ้นทุกข์ได้ เราต้องปฏิบัติเอง ไม่จำเป็นต้องมีเครื่องแบบ ไม่จำเป็นต้องผ่านพิธีกรรม เพราะถ้าเราดำเนินชีวิตตามธรรมะ ตัวเรานั่นแหละคือพระสงฆ์

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save