fbpx

ทำไมการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ถึงทำร้ายเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก?

กลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาเกิดเรื่องสะเทือนขวัญนักลงทุนทั่วโลก เมื่อธนาคารกลางสหรัฐฯ มีมติเกือบเป็นเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75 เปอร์เซ็นต์ นับเป็นการปรับขึ้นแบบก้าวกระโดดและนับว่าสูงที่สุดในรอบ 28 ปี แต่ฝันร้ายอาจยังไม่จบเท่านี้ เพราะกว่าจะถึงสิ้นปีอาจมีการปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มไปจนถึงระดับ 3.4 เปอร์เซ็นต์ หรือราว 2 เท่าตัวเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบัน โดยมีเป้าหมายเพื่อปรามอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นอย่างน่ากังวล

อ่านถึงตรงนี้หลายคนอาจอดไม่ได้ที่จะเบะปากพลางสงสัยว่าชีวิตเราจะไปข้องเกี่ยวอะไรกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศในอีกซีกโลกหนึ่ง แต่ทราบไหมครับว่าถึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ จะเป็นเรื่องที่ดูไกลตัว ความเป็นจริงแล้ว อาจสั่นคลอนความมั่นคงทางการเงินของประเทศกำลังพัฒนา อีกทั้งยังเป็นการสุมเชื้อไฟให้เงินเฟ้อในต่างประเทศรวมถึงไทยทวีความรุนแรงขึ้นอีกด้วย

นี่คือผลกระทบที่น้อยคนจะนึกถึงโดยมีสาเหตุสำคัญคือการที่ดอลลาร์สหรัฐเป็นสกุลเงินหลักของโลกนั่นเอง

สงครามค่าเงินแบบกลับด้าน
เมื่อทุกประเทศแข่งขันกันแข็งค่า

หลายคนอาจคุ้นเคยกับคำว่า ‘สงครามค่าเงิน’ (currency war) ซึ่งหมายถึงแทรกแซงค่าเงินของตนเองให้อ่อนค่ากว่าความเป็นจริงเพื่อให้สินค้าส่งออก ‘ราคาถูก’ กว่าที่ควรจะเป็นโดยมีเป้าหมายเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดในต่างแดน แต่สถานการณ์ในปัจจุบันนั้นกลับกัน เพราะเรากำลังเผชิญ ‘สงครามค่าเงินแบบกลับด้าน’ (reverse currency wars) โดยแต่ละประเทศพยายามทำให้เงินของตนเอง ‘แข็งค่า’ เพื่อลดผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อ

‘อัตราดอกเบี้ย’ คือผลตอบแทนจากการถือเงินสกุลใดสกุลหนึ่ง การเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายจึงเป็นวิธีการชั้นยอดที่จะสร้างอุปสงค์ต่อสกุลเงิน หากมองเงินตราเป็นสินค้า เมื่อมีความต้องการซื้อล้นเหลือ มูลค่าก็จะปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งก็คือเงินแข็งค่าขึ้นนั่นเอง

การขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ แบบก้าวกระโดดย่อมทำให้เงินสกุลดอลลาร์ ซึ่งนักลงทุนจำนวนมากมองว่ามั่นคง กลายเป็นหลุมหลบภัยชั้นเยี่ยมในช่วงที่ตลาดมีความผันผวนสูงเช่นในปัจจุบัน เม็ดเงินที่เคยกระจายตัวอยู่ทั่วทุกมุมโลกอาจไหลกลับไปอยู่ในรูปสกุลดอลลาร์สหรัฐ ผลักให้เกิดการแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว

ตลอด 1 ปีที่ผ่านมาเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นราว 13 เปอร์เซ็นต์ เมื่อธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเพื่อปรามเงินเฟ้อ เงินสกุลดอลลาร์ก็มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในทางกลับกัน ประเทศอื่นที่ไม่ได้ใช้ดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินสกุลหลักก็เผชิญภาวะอ่อนค่าอย่างรวดเร็วและรุนแรงเช่นกัน สำหรับประเทศไทยเอง อัตราแลกเปลี่ยนเมื่อเดือนมิถุนายนปีก่อนหน้าอยู่ที่ประมาณ 31 บาทต่อดอลลาร์ แต่ปัจจุบันขยับมาสูงถึง 35 บาทต่อหนึ่งดอลลาร์

มองเผินๆ การขยับขึ้นดังกล่าวดูเป็นเรื่องไกลตัว เพราะเราแทบไม่ได้หยิบจับเงินดอลลาร์สหรัฐในชีวิตประจำวัน แต่ทราบไหมครับว่าสินค้าโภคภัณฑ์ อาทิ น้ำมันดิบและสารพัดสินค้าเกษตร ต่างก็อิงราคาที่ใช้สกุลดอลลาร์สหรัฐอ้างอิง นั่นหมายความว่าราคาของสินค้าโภคภัณฑ์เหล่านี้จะขยับขึ้น เมื่อเงินบาทอ่อนค่าลง แม้ว่าราคาในตลาดโลกจะคงที่ก็ตาม

กราฟแสดงอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ระหว่างวันที่ 4 มิถุนายน 2564 – 21 มิถุนายน 2565
ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย

ตัวอย่างเช่น ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกคงตัวที่ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล แต่เงินบาทขยับจาก 31 เป็น 34 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้ต้นทุนของผู้นำเข้าเพิ่มขึ้นจาก 3,100 บาทเป็น 3,400 บาทต่อบาร์เรล หรือเพิ่มขึ้นมากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ ในภาวะปัจจุบันที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ขยับขึ้นต่อเนื่อง การแข็งค่าของสกุลดอลลาร์สหรัฐจึงไม่ต่างจากการ ‘กระทืบซ้ำ’ ให้ภาวะเงินเฟ้อทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นในประเทศที่ไม่ได้ใช้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินสกุลหลัก

ในโลกการค้าเสรี เรามีทางเลือกไม่มากนักที่จะพยุงสกุลเงินไม่ให้อ่อนค่าลงในสถานการณ์เช่นนี้ โดยหนึ่งในวิธียอดนิยมคือการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จึงไม่น่าแปลกใจนักที่หลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกาศขึ้นดอกเบี้ยแบบก้าวกระโดด ธนาคารกลางของประเทศอังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย และแคนาดา ก็ประกาศขึ้นดอกเบี้ยตามแทบจะทันทีเพื่อป้องกันเงินทุนไหลออกและเงินอ่อนค่า แต่การตัดสินใจดังกล่าวก็มีราคาที่ต้องจ่าย นั่นคือเสถียรภาพทางการเงินที่อาจสั่นคลอนเพราะอัตราดอกเบี้ยที่ขยับขึ้นนั่นเอง

เสถียรภาพทางการเงินที่สั่นคลอน

สภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันนับว่าไม่สดใสนัก แม้หลายประเทศจะถือว่าผ่านจุดที่เลวร้ายที่สุดของวิกฤตโควิด-19 มาได้แล้ว แต่การฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจซบเซาที่ต่อเนื่องยาวนานกว่า 2 ปีก็จำเป็นต้องใช้เวลา ผนวกกับตัวเลขหนี้เอกชนและหนี้สาธารณะที่บวมเป่ง หลายประเทศรวมถึงไทยจึงใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่งในการพิจารณาขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพราะการขยับอย่างไม่รอบคอบอาจกลายเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตการผิดนัดชำระหนี้ที่พาเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยยาวนาน

หลังจากธนาคารกลางสหรัฐขยับ ก็มีแนวโน้มว่าธนาคารกลางทั่วโลกจะขยับตาม เพราะหากนิ่งเฉยก็จะส่งผลให้สกุลเงินอ่อนค่าและซ้ำเติมภาวะเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับหายนะอยู่แล้วให้เลวร้ายลงไปอีก

สิ่งที่น่ากังวลที่สุดจากการขยับดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ คือหนี้ภาครัฐของประเทศกำลังพัฒนาซึ่งมีมูลค่ามหาศาล เนื่องจากรัฐบาลเหล่านั้นต้องการเงินก้อนใหญ่ไปใช้รับมือการระบาดของโควิด-19 โดยหนี้สินจำนวนหนึ่งเป็นการระดมเงินจากนอกประเทศในรูปดอลลาร์สหรัฐ อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นย่อมสร้างแรงกดดันทางการเงินต่อประเทศเหล่านั้นซึ่งอยู่ในภาวะง่อนแง่นอยู่แล้วเป็นทุนเดิม และอาจนำไปสู่การวิกฤตครั้งใหญ่ได้เช่นกัน

หลายคนอาจคิดว่าผู้เขียนมองโลกในแง่ร้ายเกินไปสักหน่อย แต่หากย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ช่วงที่อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐอเมริกาเป็นเลขสองหลักเมื่อราวทศวรรษที่ 1980s ถึงแม้สหรัฐฯ จะปรามเงินเฟ้อในประเทศให้สงบลงได้ด้วยการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายจนแตะระดับ 20 เปอร์เซ็นต์ แต่อัตราดอกเบี้ยที่สูงลิ่วกลับกลายเป็นสาเหตุของการผิดนัดชำระหนี้ของกลุ่มประเทศลาตินอเมริกาและเม็กซิโก เนื่องจากค่าเงินที่อ่อนยวบและภาระดอกเบี้ยแสนสาหัส

เหล่านายธนาคารกลางของสหรัฐเองก็ตระหนักถึงผลกระทบดังกล่าว โดยมีบทความซึ่งเผยแพร่เมื่อปีที่ผ่านมาระบุว่าโดยทั่วไปแล้วการขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐจะเป็นการ “เพิ่มภาระหนี้สิน กระตุ้นการไหลออกของเงินทุน และสร้างความตึงเครียดในตลาดการเงินซึ่งอาจนำไปสู่วิกฤต” ในประเทศกำลังพัฒนา

แก้ปัญหาต้องเริ่มที่โครงสร้าง

ผลกระทบในต่างประเทศย่อมไม่ใช่เป้าหมายของการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ แต่เปรียบเสมือน ‘ลูกหลง’ ของการจัดการเงินเฟ้อภายในอเมริกา สาเหตุก็เนื่องจากฉันทามติของนานาชาติที่จะใช้ ‘ดอลลาร์สหรัฐ’ เป็นสกุลเงินหลักสำหรับการค้าระหว่างประเทศนั่นเอง

การขึ้นครองอำนาจนำในเวทีการค้าระหว่างประเทศของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเกิดขึ้นในการประชุมที่เมืองเบรตตันวูดส์ (Bretton Woods) สหรัฐอเมริกา หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงและเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างรุนแรง นานาชาติต่างมองหาทางเลือกใหม่ที่จะมาทดแทนระบบมาตรฐานทองคำ (Gold Standard) ก่อนได้ข้อสรุปว่าจะใช้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐสำหรับตรึงมูลค่าเงินทดแทนทองคำ

แม้ว่าปัจจุบันจะไม่มีเงื่อนไขข้อบังคับใดให้เราต้องใช้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ในการชำระราคาสินค้าระหว่างประเทศหรือถือไว้เพื่อเป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ แต่เงินสกุลดังกล่าวก็ยังเป็นที่นิยมอันดับหนึ่งโดยไม่มีใครโค่นลงได้เพราะนักลงทุนส่วนใหญ่ยังมองว่าเป็นสกุลเงินที่มีทั้งสภาพคล่องและเสถียรภาพสูง

การที่สกุลเงินหลักของประเทศใดประเทศหนึ่งกลายเป็นเงินที่ใช้ในการค้าระหว่างประเทศนับเป็นอภิมหาอภิสิทธิ์เพราะรัฐบาลสามารถระดมเงินทุนจากต่างชาติได้ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน อีกทั้งยังไม่ต้องกังวลเรื่องความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเมื่อทำธุรกรรมกับต่างประเทศ และที่สำคัญ สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐยังสามารถใช้เป็นขีปนาวุธทางการเงิน เช่น การคว่ำบาตรกลุ่มก่อการร้ายหรือในกรณีล่าสุดคือการตัดรัสเซียออกจากสารบบอีกด้วย

อำนาจทางสกุลเงินที่ล้นเหลือของสหรัฐถูกตั้งคำถามอยู่เนืองๆ จากขั้วตรงข้ามอย่างรัสเซียและจีน แต่ก็ไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมใดๆ หากการขยับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐคราวนี้นำไปสู่วิกฤตการเงินในประเทศกำลังพัฒนา ก็อาจถึงเวลาที่เราต้องทบทวนแล้วว่ายังควรใช้ดอลลาร์สหรัฐเป็นสกุลเงินหลักของโลกต่อไปหรือเปล่า

หากไม่อยากให้อำนาจทางสกุลเงินไปอยู่ในมือประเทศใดประเทศหนึ่ง เราก็คงต้องปัดฝุ่นแนวคิดของนักเศรษฐศาสตร์ชั้นบรมครูอย่าง จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ (John Maynard Keynes) ที่เคยเสนอไว้ในที่ประชุมเบรตตันวูดส์ว่าควรตั้งสกุลเงินใหม่ขึ้นมาสำหรับซื้อขายแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศโดยเฉพาะ พร้อมกับตั้งธนาคารกลางของโลกเป็นหน่วยงานกำกับดูแลและรักษาเสถียรภาพของเงินสกุลดังกล่าว

แน่นอนว่าประเทศที่เสียผลประโยชน์อย่างสหรัฐอเมริกาย่อมค้านหัวชนฝา แต่การเปลี่ยนแปลงก็เป็นเรื่องธรรมดา เพราะก่อนหน้าที่ดอลลาร์สหรัฐจะเป็นสกุลเงินหลักของโลกก็ต้องโค่นมหาอำนาจเก่าอย่างปอนด์สเตอร์ลิง หากระบบในปัจจุบันนั้นสร้างปัญหาก็อาจถึงเวลาปรับโครงสร้างเพื่อความเป็นธรรมสำหรับทุกคน


เอกสารประกอบการเขียน

As US Federal Reserve Raises Rates, Emerging Markets Brace for Impact

An aggressive Fed has global ramifications. Here are 3 ways the world could be hit

Global inflation: Five ways US rate rise will affect you

The Fed and the ECB turn on a dime

5 things to know about the Fed’s biggest interest rate increase since 1994 and how it will affect you

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

12 Dec 2018

‘รวยกระจุก จนกระจาย’ ระดับสาหัส: ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจไทยในศตวรรษที่ 21

ธนสักก์ เจนมานะ ใช้ข้อมูลและระเบียบวิธีวิจัยใหม่ล่าสุดสำรวจสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำไทยที่ ‘สาหัส’ เป็นอันดับต้นๆ ของโลก

ธนสักก์ เจนมานะ

12 Dec 2018

Economy

19 Mar 2018

ทางออกอยู่ที่ทุนนิยม

ในยามหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง ผู้คนสิ้นหวังกับปัจจุบัน หวาดหวั่นต่ออนาคต และสั่นคลอนกับอดีตของตนเอง
วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เสนอทุนนิยมให้เป็น ‘grand strategy’ ใหม่ของประเทศไทย

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

19 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save