fbpx
ชีวิตดีขึ้นทุกด้าน ด้วยการทานอึหลายๆ ครั้ง !

ชีวิตดีขึ้นทุกด้าน ด้วยการทานอึหลายๆ ครั้ง !

[et_pb_section admin_label=”section”] [et_pb_row admin_label=”row”] [et_pb_column type=”4_4″] [et_pb_text admin_label=”Text”]

การรักษาโรคภัยไข้เจ็บที่แปลกที่สุดที่คุณเคยได้ยินมาคืออะไร?

ถ้าไม่ใช่สูตรยาหรือวิธีรักษาโรคที่พ่อแม่ลุงป้าส่งกันผ่านทางไลน์ จนร้อนถึงคุณหมอตามโซเชียลเน็ตเวิร์กต้องออกมาชี้แจงว่าบางอันเป็นความเชื่อที่ผิดมหันต์ อย่างการใช้เข็มทิ่มนิ้วเพื่อปล่อยเลือดเพื่อปฐมพยาบาลคนเป็นโรคหลอดเลือดในสมองแตกเฉียบพลัน หรือเอาน้ำมะนาวมาหยอดตาเพื่อรักษาต้อเนื้อ (ซึ่งทำให้เราปวดหัวบ่อยๆ เวลาเห็นญาติส่งมาให้) –

หลายคนคงคิดไม่ถึงว่าวันหนึ่ง ‘อุจจาระ’ ของมนุษย์จะกลายเป็นสิ่งที่ทำให้เราหายเจ็บป่วย

 

Fecal Microbiota Transplant (การปลูกถ่ายจุลชีพประจำถิ่นในอุจจาระ) หรือที่เรียกกันในวงการแพทย์แบบย่อๆ ว่า FMT คือการรักษาโรคในทางเดินอาหารด้วยการใช้อุจจาระของคนที่มีสุขภาพดีมา ‘ปลูกถ่ายแบคทีเรีย’ เข้าสู่ร่างกายของผู้ป่วยที่ร่างกายโดนโจมตีจากแบคทีเรียชื่อ Clostridium difficile ที่มีจำนวนมากเกินไปในทางเดินอาหาร

ตามปกติแล้วพวกมันจะอาศัยอยู่ในลำไส้ใหญ่ของเราตามธรรมชาติร่วมกับแบคทีเรียประจำถิ่นอื่นๆ แต่สำหรับบางคนที่สภาพร่างกายอ่อนแอและร่างกายได้รับแบคทีเรียตัวนี้เข้าไปเพิ่มจากการไปสัมผัสกับสิ่งปนเปื้อน เชื้อ C. difficile ก็จะเข้าไปแพร่กระจาย แบ่งตัวเพิ่มขึ้นในทางเดินอาหาร จนทำให้เกิดอาหารท้องเสีย ถ่ายเป็นน้ำปนมูกเลือก ลำไส้บวม ไข้สูง หรืออาจเข้าสู่ภาวะช็อคจนเสียชีวิต

ในสหรัฐอเมริกา ห้าแสนคือตัวเลขของผู้ที่เจ็บป่วยด้วยเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ ในขณะที่สามหมื่นรายต้องเสียชีวิตจากการติดเชื้อในทางเดินอาหารและรักษาไม่หายขาด (หนึ่งในห้าของผู้ช่วยมีอาการอีกครั้งแม้จะได้รับยาปฏิชีวนะไปแล้ว) หรือรักษาได้ไม่ทันท่วงที

วิธีการรักษาทั่วๆ ไปเมื่อผู้ป่วยมีอาหารผิดปกติที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย คือการให้ยาปฏิชีวนะที่เข้าไปทำให้แบคทีเรียไม่สามารถอยู่รอดได้ในร่างกาย แต่ในเมื่อทางเดินอาหารของเราประกอบด้วยแบคทีเรียหลากหลายชนิดที่อาศัยอยู่รวมกัน การใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อกำจัดเจ้าเชื้อ C. difficile เจ้าปัญหาก็อาจกลายเป็นโทษมากกว่า เพราะยาที่ให้อาจไปทำลายแบคทีเรียที่ดีจนสมดุลของแบคทีเรียในร่างกายเสียไป จนกลายเป็นว่าเชื้อที่ต้องการกำจัดกลับเพิ่มจำนวนมากขึ้นจนยากที่อาการจะหายขาด และกลับมามีอาการป่วยอีกครั้งหนึ่ง

การใช้อุจจาระมาปลูกถ่ายแบคทีเรียจากคนหนึ่งสู่อีกคนหนึ่งจึงกลายมาเป็นการรักษาทางเลือกที่เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยแนวคิดที่ว่าของเสียจากร่างกายที่เราขับถ่ายออกมานี่ล่ะ เป็นขุมทรัพย์ของแบคทีเรีย (แบบเดียวกับในทางเดินอาหาร) ชั้นดี ถ้าเอามาใส่เข้าไปในร่างกายของผู้ป่วย แบคทีเรียในอุจจาระที่ปลูกถ่ายเข้าไปก็น่าจะ ‘คืนสมดุล’ และควบคุมแบคทีเรียตัวร้ายให้อยู่กับที่กับทางได้เหมือนเดิม

ภาพ: VICE on HBO

แต่ก่อนที่โลกตะวันตกจะเริ่มศึกษาวิธีรักษาแบบ Fecal Microbiota Transplant อย่างจริงจัง และเริ่มเป็นที่รู้จักในการแพทย์สหรัฐอเมริกาเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา (ที่จริงแล้วเริ่มมาตั้งแต่ปี 1958 แต่ไม่บูมเท่าปัจจุบัน) ย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ การใช้อุจจาระมนุษย์มาเป็นยารักษาโรคถูกบันทึกไว้ครั้งแรกในตำราแพทย์จีนโบราณเมื่อคริสต์ศตวรรษที่สี่ เพื่อเอาไว้ใช้รักษาผู้ที่ถูกวางยาพิษในอาหาร และคนที่ท้องเสียขั้นรุนแรง

จนเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 16 หลี่ซื่อเจิน แพทย์ชาวจีนผู้โด่งดังในช่วงกลางสมัยราชวงศ์หมิงก็นำเอาอุจจาระที่มีทั้งแบบสดๆ แบบตากแห้ง และแบบที่หมักเอาไว้ มาใช้รักษาอาการเจ็บป่วยที่เกิดในช่องท้อง ด้วยชื่อยาที่เรียกว่า ‘ซุปเหลือง’ หรือ ‘น้ำเชื่อมสีทอง’ ที่นำเอาอุจจาระมาผสมกับน้ำ แล้วให้คนไข้ดื่มเข้าไปเพื่อรักษาอาการให้ดีขึ้น

ปัจจุบันการใช้อุจจาระมารักษาไม่ได้ฟังดูเหม็นโฉ่เท่าสมัยก่อนอีกต่อไป ด้วยวิทยาการทางการแพทย์ที่พัฒนาไปอย่างมาก ทำให้ทั้งการรักษาไปจนถึงการรับบริจาคทำได้ง่ายและรวดเร็ว ในฝั่งผู้ป่วย มีสองวิธีในการนำอุจจาระเข้าไปในร่างกาย นั่นคือการสอดท่อทางช่องจมูกลงไปยังหลอดอาหารจนถึงลำไส้เล็กส่วนต้น แล้วฉีดสารละลายอุจจาระที่ผสมกับน้ำเกลือฉีดเข้าไปบริเวณลำไส้ หรืออีกวิธีหนึ่งคือการสอดท่อผ่านทางทวารหนัก ก่อนจะปฏิบัติการฉีดสารละลายอุจจาระในแบบเดียวกัน

เมื่อมีผู้รับ ก็ต้องมีผู้ให้ – การรักษาด้วยวิธี FMT จริงๆ แล้วมีความใกล้เคียงกันกับการบริจาคเลือด แต่สิ่งที่น่าดึงดูดใจกว่าคือเพียงแค่การบริจาคอุจจาระของตัวเองก็สามารถทำเงินได้ถึง 1,400 บาทต่อครั้ง!

เมื่อการรักษาแบบนี้เริ่มได้รับความนิยมและให้ผลการรักษาที่ดี (จากสถิติพบว่ามีผู้ป่วยหายขาดจากโรค 81% หลังการปลูกถ่ายครั้งแรก และ 12.5% หายหลังการปลูกถ่ายครั้งที่สอง) ความต้องการใช้อุจจาระจึงเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ใช่ว่าจะเอาของใครมาใช้ก็ได้ หน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็น ‘ธนาคารอุจจาระ’ จึงเกิดขึ้นเพื่อรับบริจาค ตรวจคุณภาพ และเตรียมสารละลายเตรียมพร้อมส่งให้โรงพยาบาลและคลินิกต่างๆ นำไปใช้ในการรักษา

OpenBiome คือหนึ่งในธนาคารอุจจาระในกรุงบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ ที่จ่ายเงินให้กับผู้บริจาคทุกครั้งที่มาเข้าห้องน้ำ แต่กว่าจะได้เป็นหนึ่งในผู้โชคดี (แถมได้ช่วยชีวิตคน) ก็ต้องผ่านการตรวจสุขภาพกาย สุขภาพเลือด และสุขภาพอึ เมื่อดูแล้วว่าไม่มีโรคติดเชื้อหรือพยาธิอยู่ในอุจจาระ (ที่ผ่านมามีเพียง 3% จากผู้สมัครทั้งหมดเท่านั้นที่ผ่านเกณฑ์) ก็จะได้เข้ามาอึอย่างน้อยสามครั้งต่อสัปดาห์ เป็นเวลา 60 วัน

คำนวณคร่าวๆ ตลอดระยะเวลาสองเดือน ค่าตอบแทนที่ได้จากการอึจะอยู่ที่ 960 ดอลล่าร์สหรัฐ หรือประมาณ 32,000 บาท!

ภาพ: VICE on HBO

อย่างไรก็ตาม แม้การใช้อุจจาระเพื่อรักษาโรคจะฟังดูมีอนาคตและได้ผลดี แต่คำถามที่ทีมแพทย์และนักวิจัยกลุ่มที่เลือกใช้อุจจาระทั้งก้อนเพื่อรักษายังหาคำตอบไม่ได้คือ แท้จริงแล้วแบคทีเรียตัวไหนในนั้นที่เข้าไปควบคุม C. difficile กันแน่

เมื่อยังคงหาคำตอบไม่ได้ และองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ FDA ก็บอกว่าวิธีรักษาแบบ FMT นั้นจัดเป็น ‘ยา’ ชนิดหนึ่ง วิธีการใช้อุจจาระสดแบบเพียวๆ ฉีดเข้าไปจึงเริ่มถูกท้าทายจากนักวิจัยอีกกลุ่มที่เชื่อว่าพวกเขาสามารถสกัดเอาแบคทีเรียชนิดดีที่ทำหน้าที่ควบคุม C. difficile มาเป็นยาสำหรับกินได้ (จะได้เข้ากับมาตรการของ FDA) เพราะอย่างไรก็ตาม การใช้อุจจาระฉีดเข้าไปในร่างของผู้ป่วยแม้จะคัดแล้วคัดอีกแค่ไหน ก็อาจเกิดข้อผิดพลาดได้อยู่ และแบคทีเรียในทางเดินอาหารของคนสองคนก็อาจต่างกันได้ถึงร้อยละ 90 ซึ่งอาจทำให้มีผลข้างเคียงตามมา (ซึ่งยังไม่พบในขณะนี้) ได้

Seres Therapeutics คือบริษัทยาที่เกิดขึ้นเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้แบคทีเรียเฉพาะเจาะจงจากอุจจาระของมนุษย์ นำมาสกัดแล้วยัดลงเม็ดยา เพื่อทำการรักษาในแบบเดียวกัน สมมติฐานของพวกเขาคือเจ้า C. difficile ที่ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยนั้นกินกรดน้ำดีในลำไส้เป็นอาหาร ยิ่งกินมากเท่าไหร่ผู้ป่วยก็ยิ่งท้องเสียมาขึ้นเท่านั้น ซึ่งถ้าพวกเขาหาแบคทีเรียพระเอก (ที่เป็นแบคทีเรียชนิดที่สร้างสปอร์) ที่กินกรดน้ำดีเป็นอาหารได้ถูกสายพันธุ์ และสกัดเอาพวกมันลงเม็ดยาให้กินเข้าไปในร่างกายได้ พวกมันก็จะแย่งอาหารจาก C. difficile จนแพร่กระจายไม่ได้อีกในที่สุด

ภาพ: VICE on HBO

แต่เมื่อนำตัวยาไปลองทดสอบกับผู้ป่วย ผลที่ได้คือกว่าครึ่งของผู้เข้าร่วมการทดสอบมีอาการติดเชื้อกลับมาอีกครั้ง ซึ่งแทบไม่ต่างกับกลุ่มที่ไม่ได้กินยาเลย

ตัวเลือกที่เป็นไปได้ที่จะนำวิธีการ FMT มาทำเป็นยาในขณะนี้ ยังคงเป็นการนำอุจจาระที่ได้รับบริจาคมาแช่แข็ง จากนั้นจับใส่แคปซูล (ซึ่งต้องทนต่อกรดในกระเพาะอาหาร – และในตอนนี้ยังมีแต่สีใส ทำให้เวลาทานยังต้องเห็นอึที่อยู่ด้านใน) เพื่อให้ผู้ป่วยกินเข้าไป ความคิดนี้เป็นของทีมนักวิจัยจาก Harvard Medical School และผลที่ได้จากคนไข้ 14 รายก็เป็นที่น่าพึงพอใจเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในวิธี FMT แบบดั้งเดิม

 

ถึงแม้ว่าการรักษาด้วยการปลูกถ่ายแบคทีเรียในอุจจาระจะได้ผลดีแค่ไหนก็ตาม แต่อย่าลืมว่าขั้นตอนในการรักษาก็ยังจำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบและทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอยู่ เพราะอุจจาระก็ยังถือเป็นของเสียจากร่างกายที่ปนเปื้อนเชื้อโรคได้หากไม่ตรวจสอบและเตรียมให้ถูกต้อง (เผลอๆ เสี่ยงกว่าอาการช็อคจากท้องร่วงอีกนะ)

เพราะฉะนั้น ก่อนจะแชร์บทความนี้ต่อในกรุ๊ปไลน์ให้พ่อแม่หรือลุงๆ ป้าๆ อ่าน อย่าลืมพิมพ์หมายเหตุตัวโตๆ ไปด้วยล่ะว่า ‘โปรดอ่านให้จบ!’

 

อ่านเพิ่มเติม

บทความเรื่อง Ask an Expert: Does Fecal Transplantation Hold the Secret to Future Cures? โดย Henning Gerke, MD จาก University of Iowa Hospitals and Clinics

บทความเรื่อง Are You Ready to Swallow a Pill Full of Poop? โดย Katie M. Palmer จาก Wired

รายละเอียดเกี่ยวกับ OpenBiome 

คลิป เกี่ยวกับ Fecal Medicine

ข่าวเรื่อง An Easier Pill to Swallow โดย SUE McGREEVEY จาก Harvard Medical School

บทความเรื่อง อุจจาระ รักษาโรค ??? Fecal Microbiota Transplantation (FMT) โดย รศ.แม้นสรวง วุฒิอุดมเลิศ จาก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

บทความเรื่อง การปลูกถ่ายอุจจาระ จาก bangkokhealth

[/et_pb_text] [/et_pb_column] [/et_pb_row] [/et_pb_section]

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save