fbpx
Fasting Fashion – อดอาหารแล้วดี หรือที่จริงเราเกิดมาเพื่อหิวโหย

Fasting Fashion – อดอาหารแล้วดี หรือที่จริงเราเกิดมาเพื่อหิวโหย

โสภณ ศุภมั่งมี เรื่อง

 

สมัยตอนเป็นเด็กมีนิทานเรื่อง ‘กล่องข้าวน้อยฆ่าแม่’ ที่ผู้เฒ่าผู้แก่เคยเล่าให้ฟัง เป็นเรื่องของอารมณ์โมโหหิวชั่ววูบ จนเด็กคนหนึ่งทำสิ่งผิดพลาดที่ต้องเสียใจไปตลอดชีวิต ตอนนั้นยังไม่ค่อยเข้าใจหรอก แต่ตอนโตขึ้นก็เริ่มเรียนรู้ว่านิทานเรื่องนี้ก็มีเหตุผลในตัวเอง ว่าเจ้าสิ่งที่เรียกว่า ‘ความหิว’ ทำให้เราสติขาดได้ง่ายแค่ไหน

เมื่อไหร่ก็ตามที่เราต้องข้ามมื้ออาหาร ความโหยจะทำให้หน้ามืด อารมณ์เสีย หงุดหงิด สติขาดผึงและฟาดงวงฟาดงาใส่ทุกอย่างที่ขวางหน้า แต่ช่วงหลายปีที่ผ่านมาก็เริ่มมีกระแส ‘fasting’ หรือการเลือกอดอาหาร เพราะเชื่อว่าจะส่งผลดีโดยรวมต่อตัวเราในระยะยาว นอกจากน้ำหนักตัวที่ลดลง แขนขาเพรียวบางขึ้น ก็ยังทำให้สมองโล่งปลอดโปร่ง มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็ง โรคหัวใจ เบาหวานน้อยลง ทำให้สุขภาพแข็งแรงขึ้นและมีโอกาสที่จะอายุยืนขึ้นกว่าเดิม

ล่าสุดตอนนี้ก็เริ่มมีเทรนด์การอดอาหารที่มาในรูปแบบของไดเอทอย่างหนึ่ง จากรายละเอียดทางมาร์เก็ตติ้ง การอดอาหารถือเป็นสิ่งที่ดีที่สุดเลยก็ว่าได้ เพราะเราจะได้รับผลประโยชน์ทุกอย่างจากการอดอาหารโดยไม่รู้สึกหิวเลย (ซึ่งควรต้องฟังหูไว้หู) แต่ในความเป็นจริง เรารู้เรื่องผลข้างเคียงทางบวกของการตัดทอนแคลอรี่ในสัตว์ทดลองมานานหลายสิบปีแล้ว โดยการศึกษาพบว่า ตั้งแต่สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวอย่างยีสต์ไปจนถึงหนูทดลองนั้นแก่ตัวช้าลง และมีอายุยาวนานขึ้นเมื่อรับแคลอรี่น้อยลงประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ จากกลุ่มควบคุมปกติ

การอดอาหารถือเป็นพิธีกรรมทางศาสนาที่ปฎิบัติกันอย่างเคร่งครัดมานับพันๆ ปี แต่เพิ่งกลายเป็นกระแสนิยมเมื่อประมาณ 5-6 ปีก่อน จากการศึกษาที่พบในสัตว์ และการทดลองในผู้ป่วยโรคอ้วนที่บอกว่าการข้ามมื้ออาหารส่งผลดีต่อสุขภาพในหลายๆ ด้าน มีหลักฐานจากหลายแห่งที่บ่งบอกว่าการปล่อยให้หิวบ้างเป็นครั้งคราวจะทำให้ร่างกายเข้าสู่ emergency mode ที่จะทำให้ประหยัดพลังงาน ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอและสมองจะทำงานอย่างเต็มที่และคิดตอบสนองได้ดีมากขึ้น ตามสัญชาติญาณที่ต้องหาอาหารเข้าสู่ร่างกาย โดยแนวคิดนี้ได้รับการสนับสนุนโดย Stanley Ulijaszek นักมานุษยวิทยาด้านโภชนาการของมหาวิทยาลัย Oxford ที่กล่าวว่า

“เรายอมรับว่าช่วงยุคหินเก่า (Palaeolithic – ช่วงเวลาก่อนประวัติศาสตร์ของมนุษย์ มีจุดเด่นอยู่ที่การพัฒนาเครื่องมือหินยุคแรกเริ่ม) นั้นคือสภาพแวดล้อมที่การปรับตัวของมนุษย์ปัจจุบันถูกวางกรอบมา รวมไปถึงเรื่องอาหารการกิน ซึ่งในยุคที่เป็นนักล่า-เก็บของป่า (hunter-gatherers) มนุษย์คุ้นเคยกับช่วงเวลาที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์และขาดแคลน ซึ่งนี่อาจจะเป็นเรื่องธรรมชาติมากกว่าการกินอาหาร 3 มื้อต่อวันก็ได้”

นอกจากจะทำให้ให้น้ำหนักตัวลดลง เหล่าผู้สนับสนุนยังกล่าวต่อว่าการอดอาหารเป็นครั้งคราวจะช่วยป้องกันการเกิดมะเร็ง เบาหวาน และโรคอื่นๆ อย่าง พาร์กินสันและอัลไซเมอร์ด้วย

Valter Longo แพทย์ทางชราภาพวิทยาจากมหาวิทยาลัย University of Southern California ได้สร้างไดเอทจากพื้นฐานของไอเดียอดอาหารที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก จากคำกล่าวอ้างเบื้องต้นคือการอดอาหารเพียงเดือนละครั้ง (ครั้งละ 5 วันติดกัน) สามารถทำให้เกิดผลดีต่อร่างกายชะลอความแก่เหมือนกับที่เกิดขึ้นในสัตว์ โดยเว็บไซต์ของเขา (ProLon) บอกว่าการไดเอทแบบนี้ “ได้พิสูจน์แล้วว่าจะทำให้ร่างกายเข้าสู่โหมดป้องกันและการซ่อมแซมตัวเอง” โดยที่ยังมีอาหารเพียงพอจนเราไม่เป็นลมเป็นแล้งไปซะก่อน โดยสูตรไดเอทของ Longo นั้นในหนึ่งวันจะมีซุป 2 ซอง แครกเกอร์สองสามอัน มะกอก และขนมถั่ว ซึ่งจากที่ดูแล้วถ้าเป็นผมคงหมดและหิวตั้งแต่มื้อแรก Longo กล่าวต่อว่า

“มันไม่เกี่ยวหรอกว่าคุณจะมีการควบคุมอาหารที่ดีแค่ไหน ไม่ว่าจะออกกำลังกายมากแค่ไหน ร่างกายของคุณจะแก่ตัวลงและเซลล์ในร่างกายก็จะสะสมความเสียหายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ”

ต้องขอบคุณการวิจัยในสัตว์ที่ทำให้เรารู้ว่าอะไรเกิดขึ้นบ้างในช่วงที่ร่างกายขาดอาหาร ระบบของร่างกายจะเริ่มต้นกระบวนการที่เรียกว่า ‘กระบวนการกลืนกินตัวเองของเซลล์’ (autophagy) ที่เซลล์แตกตัวและส่วนที่สึกหรอหรือเสียหายจะถูกนำกลับมารีไซเคิลและนำกลับมาใช้เป็นพลังงาน เชื่อกันว่านี่คือระบบที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตในช่วงขาดแคลนอาหาร

กระบวนการกลืนกินตัวเองของเซลล์นั้นจะมีประสิทธิภาพลดลงเรื่อยๆ เมื่อเราแก่ตัวลง และความเชื่องช้าของกระบวนการนี้จะทำให้ภายในเซลล์นั้นมีการสะสมของของเสียซึ่งมีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรคต่างๆ อย่างมะเร็งและความชราภาพ นักวิจัยหลายคนเชื่อว่าตัวเลขที่เพิ่มขึ้นของปัญหาทางสุขภาพอย่างมะเร็งหรือเบาหวานชนิด 2 นั้นมาจากการที่เราไม่มีโอกาสที่จะหิวอีกต่อไปแล้ว

ถึงแม้ว่าการค้นพบในช่วงแรกเกิดขั้นในหนูทดลอง  เมื่อปีที่แล้ว Longo และเพื่อนร่วมงานของเขาได้เขียนรายงานผลการศึกษาในคนกว่า 100 คนที่ทำการไดเอทแบบอดอาหารติดต่อกัน 5 วันในหนึ่งเดือนติดต่อกันสามเดือน หลังจากผ่านช่วงเวลานั้นไป พวกเขามีน้ำหนักตัวและไขมันลดลง ความดันโลหิตลดต่ำลงและระดับฮอร์โมนที่เรียกว่า IGF-1 ที่เชื่อว่าเป็นตัวแปรสำคัญในเรื่องของการแก่ตัวและโรคร้าย รวมไปถึงระดับคลอเรสเตอรอลและโปรตีนที่บ่งบอกการติดเชื้อ (inflammation markers) ก็ลดลงไปด้วยเช่นกัน

คำถามหนึ่งที่สำคัญคือต้องรอนานแค่ไหนกว่าการอดอาหารจะเริ่มทำให้ระบบเหล่านี้เริ่มทำงานอย่างเต็มที่ เพราะอย่างที่รู้อยู่ว่าการหิวโหยเป็นระยะเวลานานนั้นไม่ดีต่อสุขภาพอย่างแน่นอน แต่น่าเสียดายที่คำตอบคือ ไม่มีเส้นแบ่งที่แน่นอนระหว่างการอดอาหารและความหิวโหย และการสรุปเป็นระยะเวลาที่ชัดเจนนั้นเป็นไปไม่ได้เพราะร่างกายของทุกคนนั้นไม่ได้เหมือนกันตั้งแต่แรก

สิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนหลังจากที่ร่างกายเริ่มอดอาหารคือน้ำตาลในเลือดเริ่มหมด และไกลโคลเจนในตับก็เริ่มร่อยหรอ ซึ่งนำมาถึงการเปลี่ยนแปลงของระบบเมตาบอลิซึมที่ตับเริ่มเปลี่ยนไขมันให้กลายเป็นพลังงานสำหรับกล้ามเนื้อและสมองที่เรียกว่ากระบวนการ ketosis และนั่นเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมการอดอาหารจึงทำให้น้ำหนักตัวลดลงถึง 2.5 – 8 เปอร์เซ็นต์ แต่ต้องรอนานแค่ไหนกว่ากระบวนการนี้จะเกิดขึ้น ก็ยังไม่มีช่วงเวลาที่แน่นอนเช่นกัน  Longo บอกว่าอย่างน้อยต้องใช้เวลา 3 วัน เพราะฉะนั้นการอดอาหารแบบ 5:2 (อดอาหาร 2 วันและกินธรรมดา 5 วัน) ถึงไม่ได้ผลลัพธ์อย่างที่ต้องการ

แต่ Mark Mattson จากมหาวิทยาลัย Johns Hopkins University ไม่เห็นด้วยในหัวข้อนี้สักเท่าไหร่ เขาบอกว่าโดยทั่วไปแล้วร่างกายของคนเรามีไกลโคลเจน ประมาณ 700 แคลอรี่กักเก็บเอาไว้ในตับ และในวันธรรมดาที่เราอยู่บ้าน เราใช้พลังงานประมาณ 70 แคลอรี่ต่อชั่วโมง จากคณิตศาสตร์อย่างง่าย ถ้าเราไม่กินอะไรเลยในช่วงนั้น 700 แคลอรี่ก็อยู่ได้แค่ 10 ชั่วโมงเท่านั้น ยิ่งถ้าเพิ่มการออกกำลังกายเข้าไปด้วย ร่างกายยิ่งเผาผลาญมากยิ่งขึ้น สมมุติว่าวิ่งเร็วๆ สัก 10 นาทีก็อาจจะเกือบ 100 แคลอรี่แล้ว เพราะฉะนั้นถ้าอดอาหารสัก 2-3 ชั่วโมงแล้วออกไปวิ่งหนักๆ ไม่นานกระบวนการ ketosis ต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

ผลข้างเคียงอีกอย่างหนึ่งของกระบวนการ ketosis คือการกระตุ้นการทำงานของสมอง โดยการปล่อยสารเคมีที่เรียกว่า BFNF ที่สร้างการสื่อสารระหว่างนิวรอนและกระตุ้นนิวรอนให้สร้างไมโทคอนเดรีย (mitochondria) ที่ให้กำเนิดพลังงาน ที่อาจจะเป็นเหตุผลเบื้องหลังที่อธิบายว่าทำไมสมองจึงโล่งปลอดโปร่ง แต่ขั้นตอนตรงนี้ยังเป็นเพียงทฤษฎีและได้ทดลองเพียงแค่ในหนูเท่านั้น กลุ่มของ Mattson กำลังทำการศึกษาในมนุษย์เกี่ยวกับประเด็นนี้และน่าจะได้ผลลัพธ์ในช่วงต้นปี 2019

แต่ระบบของ Longo ก็ใช่ว่าจะใช้ได้กับทุกคนเสมอไป มีผู้หญิงคนหนึ่งที่ทดลองการอดอาหารและรับแพคเกจของ ProLon มาทานที่บ้าน เธอจัดอยู่ในกลุ่มที่สุขภาพแข็งแรงปกติทั่วไป มีคลอเรสเตอรอลไม่สูง น้ำตาลในเลือดปกติ ไขมันไม่ได้เป็นอันตรายที่จะไปอุดตามเส้นเลือด ว่าง่ายๆ เธอจัดว่าเป็นคนที่สุขภาพปกติดีคนหนึ่ง หลังจากอดอาหาร 5 วันที่แสนทรมาน (เธอบอกว่าเธอแทบไม่มีแรงทำอะไรเลย รู้สึกตื้อตันตั้งแต่วันที่ 2 และอยากนอนตลอดเวลา) เธอกลับไปวัดผลกับแพทย์แล้วพบว่าน้ำหนักลดไป 1 กิโลกรัม ซึ่งมาจากกล้ามเนื้อถึง 584 กรัม และเพียงแค่ 168 กรัมจากไขมัน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจเพราะจุดขายอย่างหนึ่งของไดเอทแบบอดอาหารนี้คือการทำลายไขมันและรักษากล้ามเนื้อเอาไว้ แต่จากคำอธิบายของ Longo เขาบอกว่ากระบวนการ ketosis นั้นใช้ไขมันที่อยู่ตามอวัยวะภายในไม่ใช่ตามร่างกายอย่างที่เข้าใจกัน เพราะฉะนั้นถ้าไม่ได้มีไขมันส่วนนั้นเยอะอยู่แล้ว กล้ามเนื้อก็จะกลายเป็นผู้เคราะห์ร้ายแทน

คำถามต่อมาคือหรือมันอาจจะเกิดกระบวนการกลืนกินตัวเองของเซลล์แทน ซึ่งเราก็ไม่มีทางรู้ได้อยู่ดีว่าเซลล์ที่ทำลายตัวเองไปจะถูกแทนที่ใหม่ด้วยเซลล์ที่แข็งแรงกว่าหรือไม่ เพราะสุดท้ายก็ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่มายืนยันในจุดนี้ และ Longo เองก็ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ทีมเขายังต้องหาคำตอบกันต่อไป

แน่นอนว่าการทดลองครั้งนี้เพียงคนเดียวดูเล็กน้อยและไม่ได้เป็นตัวชี้วัดทุกอย่าง แต่ก็ทำให้เกิดคำถามที่ว่าถ้าเราสุขภาพดีอยู่แล้ว หมายถึงทานแต่พอเพียง ไม่ได้เป็นโรคอ้วนและน้ำหนักไม่ได้เกินเกณฑ์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ สุขภาพแข็งแรงดี เราจะได้รับประโยชน์จากการไดเอทอดอาหารแบบนี้ไหม นอกจากจะแค่ทำให้น้ำหนักลดลงเล็กน้อยเพียงเท่านั้น

นักวิจัยที่มหาวิทยาลัย Manchester University ชื่อ Michelle Harvie กล่าวว่า “การไดเอทแบบอดอาหารเป็นครั้งคราวนั้นช่วยเรื่องการลดน้ำหนักได้มาก แต่เราก็ไม่รู้ว่ามันมีประโยชน์หรือโทษสำหรับคนที่สุขภาพแข็งแรงดีหรือคนที่ผอมเกินไปรึเปล่า”

ในการทดลองของ Longo ที่ใช้อาสาสมัคร 100 คน ใน  2 ส่วน 3 มีค่า BMI มากกว่า 25 ซึ่งถือว่าจัดอยู่ในกลุ่มคนที่อ้วน เพราะฉะนั้นตัวเลขต่างๆ ที่ดีขึ้นหลังจากสามเดือนก็ไม่ได้หมายความว่ามาจากการอดอาหาร แต่อาจจะเป็นเพียงเพราะพวกเขาน้ำหนักลดลง ยิ่งการอดอาหารแบบนี้ไม่มีการกินเนื้อสัตว์หรือไขมัน ก็ยิ่งทำให้ผลลัพธ์ออกมาเด่นชัดมากยิ่งขึ้นในคนที่เริ่มต้นมีน้ำหนักเกินเกณฑ์อยู่แล้ว

สุดท้ายแล้ว เวลาเท่านั้นแหละที่จะบอกว่าได้มนุษย์จะได้รับผลประโยชน์จากการอดอาหารแบบนี้จริงๆ รึเปล่า ProLon อาจจะโฆษณาเกินจริงไปเหมือนกับหลายๆ บริษัทที่ต้องการเพียงเงินเข้ากระเป๋า เพราะตราบใดที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ทางวิทยาศาสตร์ พวกเขาก็ไม่ได้ทำผิดอะไร

สำหรับคนที่มีสุขภาพดี ทานปกติ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ตรวจสุขภาพเป็นประจำ การไดเอทแบบอดอาหารอาจจะไม่จำเป็น ส่วนตัวผมเองคงเลือกที่จะทานปกติและเสี่ยงเอาข้างหน้าแล้วกัน แน่นอนว่ามันอาจจะดีถ้าผมลดของหวานและชาไข่มุกบ้าง แต่ถ้าต้องอดอาหารแล้วหิวจนตาลาย คิดอะไรไม่ออก อารมณ์เสียและผลลัพธ์ก็ยังไม่รู้เลยว่าจริงหรือไม่จริง กินอย่างพอดีและมีความสุขกับชีวิตจะดีกว่า

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save