fbpx
'Safe-Clean-Fair' นิยามใหม่เมื่อแฟชั่นถูกปฏิวัติ

‘Safe-Clean-Fair’ นิยามใหม่เมื่อแฟชั่นถูกปฏิวัติ

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ เรื่อง

Shin Egkantrong ภาพประกอบ

‘แฟชั่น’ เป็นคำซึ่งหลายคนมองว่าไกลตัว แต่แท้จริงกลับใกล้และแนบตัวเรากว่าที่คิดมาก ในทุกเช้าค่ำ ไม่ว่าคุณจะกรีดมือเลือกเสื้อสักตัวบนราวผ้าที่อัดแน่น หรือหยิบเสื้อตัวเก่าที่ปลายเตียงขึ้นมาสวมลวกๆ แฟชั่นก็ติดอยู่บนตัวคุณเสียแล้ว

มากไปกว่าความสวย เท่ และทันสมัย เบื้องหลังและต้นตอของเสื้อผ้าทุกตัว คือชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวพันกับคำว่าแฟชั่นอย่างแนบแน่น

วันที่ 24 เมษายน 2013 เกิดเหตุการณ์โรงงานผลิตเสื้อผ้า ณ ตึก Rana Plaza ในบังกลาเทศถล่ม ช่างเย็บผ้ากว่า 1,138 คนเสียชีวิต และมีผู้คนบาดเจ็บกว่าสองพันคน สาเหตุมาจากกระบวนการผลิตที่สะเพร่า จากความพยายามลดต้นทุนการผลิตของแบรนด์แฟชั่น

‘เร็ว –ไร้มาตรฐาน’ กลายเป็นคุณสมบัติของแฟชั่นที่ค่อยๆ เผยให้ผู้บริโภคเห็นบริบทที่ผูกกับเสื้อผ้า ชีวิตของคนและธรรมชาติที่สูญเสียเพื่อคำๆ นี้

หลังเหตุการณ์ดังกล่าว ดีไซน์เนอร์กลุ่มเล็กๆ ได้รวมตัวกันสร้างเครือข่าย Fashion Revolution และประกาศให้วันที่ 24 เมษายนของทุกปี เป็นวัน Fashion Revolution Day เพื่อระลึกถึงความทรงจำอันหดหู่ของประวัติศาสตร์แฟชั่น มีหมุดหมายจะปฏิวัติวงการแฟชั่น เพื่อเติมนิยามใหม่ แทนที่ความเร็วและไร้มาตรฐานด้วยคำว่า ‘รับผิดชอบ’

5 ปีผ่านไป ในปี 2018  Fashion Revolution ได้เดินทางมาถึงประเทศไทย ดำเนินการต่อเนื่องมาถึงปี 2019 และจัดงาน Fashion Revolution Week ขึ้นเป็นครั้งที่สอง พร้อมกันนั้นนิยามใหม่ของแฟชั่นก็แพร่กระจายมาถึงดังนี้

Safe #WhoMadeMyClothes  

หลังจากเหตุการณ์ตึกถล่ม ข้อมูลคุณภาพชีวิตของแรงงานถูกเปิดเผยมากขึ้น พบว่าผู้หญิงที่ทำงานโรงงานตัดเย็บในบังกลาเทศได้เงินเดือนเพียง 1,600 บาทต่อเดือน แลกกับการทำงานมากกว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน โรงงานดังกล่าวยังมีการใช้แรงงานเด็ก และไม่มีการปรับปรุงซ่อมตึกทั้งที่ได้รับคำเตือนและการแจ้งเหตุจากแรงงาน เป็นสาเหตุให้ตึกถล่มจนมีผู้เสียชีวิตมากมาย

ไม่ใช่เพียงบังกลาเทศเท่านั้น ประเทศในทวีปเอเชียที่เป็นฐานการผลิตอย่างจีน เวียดนาม และอินโดนีเซีย ก็ประสบปัญหาเช่นกัน ที่กวางตุ้ง ประเทศจีน ผู้หญิงต้องทํางานในโรงงาน 150 ชั่วโมงต่อเดือน โดย 60% ของคนงานไม่มีสัญญาจ้าง และ 90% ไม่สามารถเข้าถึงประกันสังคม ทั้งหมดนี้คือผลกระทบจาก ‘Fast Fashion’ โมเดลธุรกิจแฟชั่นที่เน้นความเร็วและกำไรมากกว่าคุณภาพชีวิตของแรงงาน

หนึ่งในสื่อที่นำเสนอความเป็นอยู่ของแรงงานและความเป็นจริงในวงการแฟชั่นได้อย่างครบถ้วนและน่าสนใจ คือสารคดีเรื่อง The True Cost โดย Andrew Morgan และ Livia Fifth ที่พาไปสำรวจมูลค่าที่แท้จริงของแฟชั่น ว่าการออกเสื้อผ้าที่เน้นความรวดเร็วเพื่อส่งออกเสื้อผ้าคอลเล็กชั่นแล้วคอลเล็กชั่นเล่านั้น แลกมาด้วยต้นทุนที่แสนแพง ทั้งสุขภาพและความปลอดภัยของแรงงานต่างชาติ รวมไปถึงต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมที่สูญเสียไปกับสารเคมีในแทบทุกขั้นตอนการผลิต

จากข้อเท็จจริงเหล่านี้ กลุ่ม Fashion Revolution จึงออกแบบแคมเปญ #WhoMadeMyClothes เพื่อเรียกร้องให้แบรนด์ต่างๆ แสดงความโปร่งใสในกระบวนการผลิต โดยผู้ทักท้วงแบรนด์เหล่านั้นไม่ใช่ใครนอกจากผู้บริโภคเอง

แคมเปญนี้ชวนคนมาถ่ายรูปของตัวเองที่สวมเสื้อผ้ากลับด้าน โชว์ป้ายยี่ห้อและแบรนด์ผู้ผลิต ติดแฮชแท็ก #WhoMadeMyClothes และแท็กบัญชีโซเชียลมีเดียของแบรนด์ต่างๆ เพื่อตั้งคำถามกับที่มาและชีวิตเบื้องหลังเสื้อผ้าทุกตัว

Fashion Revolution แคมเปญ #WhoMadeMyClothes
ที่มา https://www.fashionrevolution.org/

แคมเปญนี้มีผู้เข้าร่วมกว่า 100 ประเทศทั่วโลก โดยหลังจากที่มีผู้บริโภคจำนวนมากกดดันให้แบรนด์แสดงความโปร่งใสนั้น แบรนด์ต่างๆ ก็ได้ตอบกลับคำถามที่ว่า “ใครเป็นคนทำเสื้อผ้าของพวกเรา” โดยให้เกษตรกรปลูกฝ้าย ช่างทอผ้า ย้อมสี ไปจนถึงแรงงานตัดเย็บตามโรงงาน ถือป้าย #IMadeYourClothes เพื่อให้ผู้บริโภคได้เห็นภาพจริงของแรงงานว่ามีสภาพเป็นอยู่อย่างไร

นอกจากนั้น Fashion Revolution ยังทำรายงานต่างๆ ออกมาเป็นรายงานวิจัย Transparency Index คำนวณการเปิดเผยข้อมูลของแบรนด์ต่อสาธารณะ นับคะแนนตามความมากน้อยของการเปิดเผยมาตรการที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม และผลกระทบที่แบรนด์สร้าง โดยในปี 2019 นี้ แบรนด์ที่ได้คะแนนความโปร่งใสสูงสุด คือแบรนด์เสื้อผ้ากีฬาอย่าง Adidas, Reebok และ Patagonia

หลังจากแคมเปญนี้เกิดขึ้น นอกจากเราจะได้เห็นว่ามีผู้บริโภคจำนวนมากที่ต้องการเสื้อผ้าที่มีคุณค่ามากไปกว่าความสวยงาม เรายังได้เห็นใบหน้าของแรงงานที่เริ่มได้รับความใส่ใจ และเติมความ ‘ปลอดภัย’ ให้กับชีวิตของแรงงานผลิตเสื้อผ้าด้วย

I made your clothes Fashion Revolution
ที่มา https://www.fashionrevolution.org/

Clean – Color of the River

“หากคุณอยากรู้ว่าเทรนด์เสื้อผ้าฤดูกาลนี้ สีไหนได้รับความนิยม ให้ไปดูที่แม่น้ำในประเทศจีน” คือคำกล่าวที่ทำให้ผลกระทบของแฟชั่นฉายชัดขึ้น

Fashion Revolution ประเทศไทย ร่วมกับพาร์ทเนอร์อย่าง Documentary Club ฉายสารคดีที่ชื่อว่า River Blue ที่พาไปดูสภาพแม่น้ำทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบจากโรงงานแฟชั่น โดยติดตาม Mark Angelo นักอนุรักษ์แม่น้ำคนดังไปยังแม่น้ำต่างๆ ในประเทศฐานการผลิตใหญ่ เช่น จีน อินเดีย อินโดนีเซีย โดย Mark ได้พาเรานั่งเรือล่องแม่น้ำสายที่ผู้คนจำนวนมากใช้ดื่มกิน ซักล้างทำความสะอาด สายเดียวกันกับที่โรงงานปล่อยน้ำเสียลงปะปน

สีสันของของน้ำ เริ่มต้นที่โรงงานย้อมและฟอกสีผ้า โดยเฉพาะการผลิตเสื้อผ้ายอดฮิตอย่าง ‘กางเกงยีนส์’ และ ‘เครื่องหนัง’ ที่มักระบายน้ำที่ปนเปื้อนสารเคมีจากการฟอกสีปีแล้วปีเล่า ทำให้น้ำค่อยๆ เสียจนถึงขั้นวิกฤต ทั้งสี กลิ่น และออกซิเจนในน้ำเริ่มเปลี่ยนแปลงไป จากกระบวนการผลิตที่ไม่ปลอดภัย สารเคมีจากสีย้อมไม่เพียงทำลายแม่น้ำ แต่ยังส่งผลกระทบต่อแรงงานในโรงงาน หลายคนเริ่มมีปัญหาที่ระบบหายใจ ผิวหนัง และเรื้อรังจนเป็นโรคมะเร็ง

ระบายน้ำที่ปนเปื้อนสารเคมีจากการฟอกสี

สารพิษ คนงาน ทำเสื้อผ้า
ที่มา greenpeace.org

ศูนย์คุณภาพสิ่งแวดล้อม (Center for Environmental Health) ระบุว่า แม้จะมีการลงนามในข้อตกลงจำกัดการใช้โลหะหนักและสารเคมีในผลิตภัณฑ์ แบรนด์ fast-fashion จำนวนมากก็ยังคงจำหน่ายสินค้าที่ปนเปื้อนสารตะกั่วในปริมาณเกินมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋าสตางค์ เข็มขัด หรือรองเท้า

หนึ่งในประเทศที่สารคดีพาเราไปสำรวจคือ ประเทศจีน ภายในโรงงานย้อมสี แรงงานหลายคนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ใช้มือเปล่าสัมผัสกับสารเคมีย้อมผ้า และเมื่อถึงเวลาพัก มือเดียวกันนี้ก็หยิบจับอาหารเข้าปาก และกลับไปทำงานย้อมผ้าใหม่

Ma Jun นักข่าวที่ทำงานเรื่องสิ่งแวดล้อม ได้นำผู้ชมเดินเลาะพื้นที่ไปยังริมแม่น้ำซึ่งเชื่อมต่อกับท่อระบายน้ำเสียของโรงงาน ภาพน้ำที่ถูกปล่อยจากโรงงานปนเปื้อนด้วยสีเข้มอย่างเห็นได้ชัด ซ้ำยังมีฟองที่เกิดจากเคมีด้วย ที่ผ่านมา Ma Jun ได้พยายามสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นไปยังโรงงานที่มีฐานผลิตในจีน เช่น Gap หรือ H&M

“พวกเราไม่สามารถร้องเรียนกับศาลในประเทศ ดังนั้นพวกเราจึงต้องหาทางเลือกอื่น เช่น การสื่อสารกับแบรนด์ต่างๆ เพื่อหาทางที่จะสร้างมาตรฐานการปล่อยมลพิษสู่ธรรมชาติเหล่านี้” Ma Jun กล่าว

ขยะ น้ำเสียจากโรงงาน

Fair – Circular Economy

ในงานฉายสารคดีเรื่องนี้ Janet Salem จาก United Nations Environment Program วิทยากรที่เข้าร่วมได้นำเสนอทางสะอาดของอุตสาหกรรมแฟชั่น โดยเครื่องมือที่เรียกว่า ‘Circular Economy’ หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน เธอได้ชี้ให้เห็นเส้นทางของอุตสาหกรรมแฟชั่นที่สร้างปัญหามากมายให้โลกไว้ว่า

“อุตสาหกรรมแฟชั่นเริ่มต้นที่วัสดุที่เป็น Abiotic จากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการผลิตที่ไม่มีการบำบัด และใช้สารเคมีที่ก่อให้เกิดความสิ้นเปลือง วัสดุเหล่านี้จะกระจายไปยังโลกของเราทั้งทางน้ำและเสื้อผ้าที่เราสวมใส่ เมื่อไปถึง retail ซึ่งทำงานตามโมเดลแบบ fast fashion ผู้บริโภคก็ถูกกระตุ้นให้ใช้จ่ายอย่างรวดเร็วผ่านขั้นตอนนี้

“และเส้นทางสุดท้ายก็คือพวกเราเอง เสื้อผ้าและวัสดุที่สิ้นเปลืองทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมากถูกส่งต่อมาอยู่ในตู้เสื้อผ้าของพวกเรา เราซื้อเสื้อผ้า มีตู้ขนาดใหญ่ เต็มไปด้วยของมากมายที่ไม่เป็นระเบียบ จนบางทีคุณแทบไม่รู้ว่ามีเสื้อตัวไหนอยู่บ้าง นี่แหละเป็นอีกขั้นตอนที่เราบริโภคกันอย่างสูญเปล่า” Janet กล่าว

Linear Economy

จากเส้นสายเดียวกันนี้ เธอเสนอทางเลือกที่จะทำให้วงการแฟชั่นเปลี่ยนแปลง เริ่มต้นจากผู้ผลิตไปจนถึงผู้บริโภค

“อย่างแรก เปลี่ยนวัสดุ Abiotic เป็นวัสดุ Biotic ที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาทุกอย่างอย่างมากทีเดียว เมื่อถึงขั้นตอนการผลิตก็ใช้กระบวนการ Upcycle (นำวัสดุมาใช้ในรูปแบบหรือวิธีการใหม่ๆ) Recycle (นำวัสดุมาใช้ใหม่ในรูปแบบเดิมซ้ำๆ โดยคุณภาพไม่ลด) และ Downcycle (นำวัสดุมาใช้ใหม่เรื่อยๆ จนคุณภาพลด)

“ส่วนของการขาย ก็เปลี่ยนเป็นการขายแบบเช่ายืม หรือแชร์ เช่น ธุรกิจเช่าเสื้อผ้า หรือเสื้อผ้ามือสอง และเส้นทางสุดท้าย ผู้บริโภค สิ่งที่เราต้องทำคือ ใช้สิ่งที่มีอยู่ให้บ่อยที่สุด ซื้อเพียงแต่น้อย ใช้ให้มาก และจัดการสิ่งที่มีอยู่ให้เป็นระเบียบเพื่อหยิบมาใส่ได้บ่อยขึ้น คุณควรจะเห็นทุกอย่างที่มีในตู้เสื้อผ้า นอกจากนั้นเราก็ควรจะรู้ลู่ทางในการซ่อมเมื่อเสื้อผ้าชำรุด ขั้นตอนนี้รวมไปถึงพาร์ทธุรกิจซ่อมหรือปรับเสื้อผ้าด้วย เช่น คุณเปลี่ยนของเดิมที่มีอยู่ให้กลายเป็นสิ่งใหม่ ซ่อมแซมหรือตัดแต่งของที่ชำรุดจนใช้ได้”

ขั้นตอนที่ Janet บอกนั้น เห็นได้ชัดว่าต้องอาศัยความร่วมมือกันจากทั้งฝั่งคนผลิตและผู้บริโภคอย่างเรา แม้รายชื่อของแบรนด์ที่ลงนามในสนธิสัญญาสิ่งแวดล้อมต่างๆ จะมีน้อยจนน่าหวั่นใจ และแบรนด์ระดับ Global จำนวนมากยังไม่ออกมาแสดงความโปร่งใส่ในการผลิต แต่อีกด้านก็ยังมีดีไซเนอร์จำนวนหนึ่งที่แสดงความรับผิดชอบต่อโลก โดยการคิดค้นวิธีการผลิตที่ปลอดภัยขึ้นมาได้ เช่น Jeanologia แบรนด์เสื้อผ้ายีนส์ที่คิดค้นวิธีทำลายยีนส์โดยไม่ต้องฟอก และใช้แสงเลเซอร์สร้างลวดลาย รอยพับ และสีที่แตกต่างบนยีนส์แทน หรือแบรนด์ Italedenim ที่คิดค้นการใช้วัสดุธรรมชาติเพื่อใช้ฟอกยีนส์ เช่น ใช้เปลือกหอย ซึ่งวิธีการผลิตเหล่านี้ไม่ทำลายธรรมชาติแม้แต่น้อย ทั้งยังประหยัดต้นทุนการผลิตอีกด้วย

ในส่วนของผู้บริโภคอย่างเราๆ นอกจากการปรับชีวิตประจำวันและการใช้เสื้อผ้าให้เกิดการหมุนเวียนมากที่สุดแล้ว อำนาจการติดสินใจว่าจะสนับสนุนแบรนด์ใด ก็ขึ้นอยู่กับเราด้วย

หากนิยามใหม่ของแฟชั่นคือ ความปลอดภัย-รู้ว่าใคร Made my clothes, สะอาด-รู้ว่าน้ำในแม่น้ำเป็นอย่างไร แฟร์-ซื้อและใช้ให้คุ้มค่า การปฏิวัติแฟชั่นอย่างเห็นผลก็อาจไม่ได้อยู่ไกลอย่างที่คิด

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save