ร้อนเงิน-เงินร้อน Fargo

ร้อนเงิน-เงินร้อน Fargo

‘นรา’ เรื่อง

 

ฤทธิ์เดชของ covid-19 ส่งผลสะเทือน ทำให้เดือนมกราคมที่ผ่านมามีหนังใหม่เข้าฉายในบ้านเราจำนวนน้อยเรื่อง จนกระทั่งหนังเก่าอายุครบ 25 ปีฉบับบูรณะใหม่อย่าง Fargo (เข้าฉายที่ Bangkok Screening Room ตั้งแต่กลางเดือนมกราคม และยังอยู่ในโปรแกรมจนถึงวันที่ 7 กุมภาพันธ์) กลายเป็นงานที่โดดเด่นน่าสนใจมากสุดไปโดยไร้คู่แข่ง

 

fargo

 

Fargo เป็นผลงานปี 1996 ของสองพี่น้องโจเอลและอีธาน โคเอน ทั้งคู่ทำงานเขียนบทร่วมกัน และแบ่งแยกหน้าที่รับผิดชอบในขั้นตอนการผลิต โจเอลเป็นผู้กำกับ ส่วนอีธานเป็นโปรดิวเซอร์

ว่ากันตามเนื้อเรื่อง Fargo สมควรจัดอยู่ในหมวดหมู่หนังอาชญากรรม แต่ด้วยฝีมือการปรุงรสเฉพาะตัวของสองพี่น้องโคเอน หนังจึงแพรวพราวไปด้วยอารมณ์ขัน ตั้งแต่ตลกตามปกติทั่วไป จนถึงอารมณ์ขันร้ายๆ ที่เสียดสีเย้ยหยันกันอย่างเจ็บแสบ รวมถึงการเล่นสนุกกับการล่อหลอกคนดูตลอดเวลาตั้งแต่ต้นจนจบ

พล็อตคร่าวๆ ของหนัง เล่าถึงเซลล์แมนขายรถยนต์ชื่อเจอร์รี ซึ่งกำลังประสบปัญหาเรื่องเงินๆ ทองๆ เกิดหนี้สินรุงรัง ตรงนี้หนังละเมิดกฎพื้นฐานของการเล่าเรื่องตามครรลองปกติ โดยละเว้นไม่พูดถึงว่าเจอร์รีไปทำอย่างไรอีท่าไหนจึงต้องตกอยู่ในภาวะเดือดร้อนยุ่งยาก แต่จากรายละเอียดต่อๆ มา ซึ่งตัวละครพยายามแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ก็สะท้อนชัดว่าเขาเป็นคนมีนิสัยตลบตะแลง ทะเยอทะยาน ละโมบ คิดหวังรวยทางลัด มีวิธีทำธุรกิจอย่างไม่โปร่งใส ถนัดสันทัดในการสะสางเรื่องยุ่งยากแบบลูบหน้าปะจมูก

ทั้งหมดนี้อาจไม่ได้ตอบคำถามข้อสงสัยเบื้องต้นว่าเจอร์รีไปทำผิดพลาดอะไรมา แต่ผู้ชมก็สามารถคาดเดาได้ตามอัธยาศัย (โดยไม่มีคำตอบผิดหรือถูก) ว่า ด้วยบุคลิกนิสัยใจคอดังเช่นที่เห็น เขาจะนำพาชีวิตตนเองร่วงลงสู่ห้วงหายนะได้อย่างไร

เจอร์รีอาจจะใช้เงินสุรุ่ยสุร่ายไม่ยั้งคิด ติดการพนัน หรือยักยอกทรัพย์สินของบริษัทไปลงทุนแล้วล้มเหลว ทุกสิ่งล้วนเป็นไปได้ทั้งสิ้น

สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าเจอร์รีไปทำอะไรมา แต่อยู่ที่ว่าเมื่อเกิดสภาพร้อนเงินแล้ว เขาจะทำอย่างไรในกาลต่อไป

เจอร์รีมีพ่อตาเป็นเศรษฐีเขี้ยวลากดินเรื่องเงิน บวกกับความสัมพันธ์ต่อกันที่อยู่ในขั้นเลวร้าย (ฝ่ายพ่อตาดูแคลนลูกเขยอย่างไม่ปิดบังอำพราง) จึงเป็นเรื่องป่วยการที่จะบากหน้าไปขอความช่วยเหลือ

เจอร์รีผู้กำลังร้อนเงินจึงวางแผนแก้ปัญหา ว่าจ้างมิจฉาชีพสองคนคือ คาร์ล โชว์วอลเตอร์ กับ แกร์ กริมส์รัด (ตามคำแนะนำของนักโทษที่เพิ่งออกจากคุกชื่อ เชป พราวด์ฟุต ซึ่งทำงานในอู่ซ่อมรถ) ให้มาลักพาตัวภรรยาของเขาไปเรียกค่าไถ่ (จากพ่อตา) เป็นจำนวนเงิน 80,000 ดอลลาร์ โดยมีค่าจ้างคือเงินค่าไถ่แบ่งครึ่ง พร้อมกับรถยนต์ใหม่เอี่ยม ซึ่งเจอร์รีใช้อุบายซิกแซกยักย้ายถ่ายเทสินค้าที่เขาดูแลรับผิดชอบมาเป็นส่วนหนึ่งของการจ้างวาน

ตามแผนที่เจอร์รีกะเก็งไว้ เมื่อเกิดการลักพาตัวแล้ว เขาจะแจ้งข่าวกับพ่อตาว่าคนร้ายเรียกเงินค่าไถ่เป็นจำนวนหนึ่งล้านดอลลาร์

พูดง่ายๆ คือ เจอร์รีไม่ได้หวังอาศัยการลักพาตัวเรียกค่าไถ่เพียงเพื่อปลดล้างหนี้สินเท่านั้น แต่มุ่งหวังถึงขั้นทำให้มันประดุจดังการถูกหวยรางวัลใหญ่

 

fargo

 

แต่แล้วแผนการที่ควรจะสำเร็จลุล่วงได้โดยง่ายกลับไม่เป็นไปตามนั้น ด้วยความผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ ของสองอาชญากร เหตุบังเอิญปลีกย่อยที่ดูเหมือนจะไม่สลักสำคัญ ความเค็มและขี้ตืดของพ่อตา รวมถึงความโลภโมโทสันของเจอร์รี ทุกอย่างประกอบกันจนนำไปสู่การหักเหผิดแผน ยิ่งผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายพยายามแก้ไขสะสาง เรื่องราวก็ยิ่งลุกลามบานปลาย กระทั่งท้ายสุดก็คลาดเคลื่อนไปไกลจากที่คาดหวังในเบื้องต้น กลายเป็นเรื่องเลวร้ายรุนแรงเกินกว่าจะควบคุม

จากคดีลักพาตัวเรียกค่าไถ่ กลายเป็นคดีฆาตกรรม เป็นเหตุให้หัวหน้าสถานีตำรวจเมืองเบรนเนิร์ด ชื่อมาร์จ กันเดอร์สัน ต้องออกโรงสืบสวนสอบสวน จนนำไปสู่บทสรุปแบบที่นิยายจีนกำลังภายในนิยมกล่าวว่า ‘ตาข่ายฟ้าไม่มีรูให้เล็ดลอดสำหรับผู้กระทำความผิด’ หรือพูดอีกแบบคือ ธรรมะชนะอธรรม

ผมควรต้องรีบบอกไว้ตรงนี้กันลืม ว่าสิ่งที่เป็นอยู่และปรากฎใน Fargo ไม่ใช่การขับเคี่ยวเผชิญหน้าระหว่างตำรวจมือปราบกับเหล่าร้าย ความยียวนอย่างร้ายกาจของหนังคือการเล่าเรื่องของแต่ละฝ่ายชนิดเกือบจะแยกขาดจากกัน ตำรวจพยายามสืบสวนคลี่คลายคดีไปตามวิถีทางของตน (ควบคู่ไปกับการแสดงรายละเอียดเบ็ดเตล็ดในชีวิตประจำวันหลายๆ อย่าง ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับคดี) ขณะที่คนร้ายก็พยายามเดินหน้าให้ภารกิจผิดกฎหมายสำเร็จลุล่วง โดยที่ทั้งสองฝ่ายแทบจะไม่ข้องเกี่ยวพบเจอกันเลย

ผมจำรายละเอียดตอนที่ดู Fargo เมื่อ 25 ปีก่อนไม่ได้แล้วนะครับ แต่สิ่งหนึ่งที่จำได้แน่ชัดคือสนุกมากและมีรสบันเทิงอันประหลาด เต็มไปด้วยความสดใหม่

ความน่าตื่นเต้นและน่าประทับใจจากการดูครั้งล่าสุดก็คือ ความรู้สึกต่างๆ ข้างต้นยังคงอยู่ครบถ้วน และสมทบเพิ่มด้วยการเพิ่งจับสังเกตได้ว่า รสบันเทิงและความแปลกใหม่นั้นเกิดจาก 3 องค์ประกอบหลักที่ยอดเยี่ยม คือ บทภาพยนตร์ การกำกับ และฝีมือการแสดง

บทหนังเรื่อง Fargo มีชั้นเชิงการบอกเล่าที่จัดเจนมาก เต็มไปด้วยบทสนทนา ‘นอกเรื่อง’ สารพัดสารพันซึ่งเขียนได้เก่งและสนุกชวนติดตาม จนกระทั่งผู้ชมลืมไปสนิทว่าเนื้อเรื่องเหตุการณ์หลักกำลังเล่าถึงตรงไหน และในจังหวะที่เหมือนจะเฉไฉออกนอกลู่นอกทางไปไกล ก็มักจะวกกลับมาเข้าประเด็นได้อย่างเฉียบขาด (รวมทั้งสร้างแรงสะเทือนทำให้ผู้ชมประหลาดใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ)

นี่ยังไม่นับรวมการเล่าตัดสลับเหตุการณ์ไปมา ระหว่างตัวละครทั้ง 3 ฝ่าย คือ โจร ผู้ว่าจ้าง และตำรวจ เป็นการผูกเงื่อนวางปมเร่งเร้าความสนใจ และกระตุ้นความอยากรู้ของผู้ชมได้ชะงัดนัก

ถัดมาคือจังหวะจะโคนอันแม่นยำในการเร้าอารมณ์ มีการผ่อนหนักผ่อนเบาแบบพอเหมาะพอดี เป็นหนังพูดเยอะพูดมาก พูดกันน้ำไหลไฟดับที่ชวนเพลินเป็นส่วนใหญ่ ส่วนฉากตื่นเต้นเร้าใจ การระเบิดปะทุของความรุนแรงที่น่าตระหนกอาจมีปริมาณไม่เยอะนัก แต่มีเกิดขึ้นทีไร หนังก็ดึงอารมณ์ไปได้ถึงขีดสุดทุกครั้งไป

จุดเด่นสุดท้าย คือการแสดงแบบเล่นดีเป็นหมู่คณะ (ตรงนี้เป็นความดีความชอบร่วมกับงานเขียนบทด้วยนะครับ ที่กำหนดแจกแจงบุคลิกนิสัยของตัวละครต่างๆ ออกมาได้โดดเด่นเปี่ยมสีสันชนิดทั่วถึง) เป็นงานแสดงอันชวนจดจำของทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในงานชิ้นนี้

การแสดงใน Fargo ไม่ได้เป็นการเล่นดีแบบมีฉากแสดงอารมณ์โชว์ฝีมือจะแจ้งเด่นชัด (พูดง่ายๆ คือ ไม่มีฉากร้องไห้หรือระเบิดอารมณ์แรงๆ ใส่กัน) แต่เป็นความยอดเยี่ยมจากการจับบุคลิกของตัวละครนั้นๆ ได้อย่างมั่นเหมาะ และปล่อยให้บุคลิกและการกระทำของตัวละคร ค่อยๆ โน้มน้าวทำให้ผู้ชมรู้สึกคล้อยตามไปด้วย

ตัวอย่างเช่น วิลเลียม เอช. เมซีย์ ในบทเจอร์รี ซึ่งแลดูเป็น ‘พวกขี้แพ้’ ที่น่าสงสารชวนเห็นอกเห็นใจ แต่แล้วต่อมากลายเป็นตัวละครที่ดูไม่น่าคบหา ลงท้ายด้วยการเป็นตัวละครที่ผู้ชมรู้สึกสมน้ำหน้าเมื่อคำนึงถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาทำลงไป หรือ สตีฟ บุชเชมี ในบทของคาร์ล โชว์วอลเตอร์ โจรเรียกค่าไถ่ช่างพูดไม่หยุดปาก ซึ่งแลดูตลกขบขัน และไม่เอาไหน (จนหลายครั้งผู้ชมต้องลุ้นเอาใจช่วยคนร้าย) รวมถึงการตัดสินใจอย่างสิ้นคิดในนาทีคอขาดบาดตายหลายๆ ครั้ง จนกลายเป็นความน่าตกใจ สยดสยอง และน่าสมเพชระคนปนกัน

 

fargo

 

คนที่โดดเด่นสุดคือ ฟรานเซส แม็คดอร์มานด์ ผู้ได้รับรางวัลออสการ์ดารานำหญิงจากบท มาร์จ กันเดอร์สัน ซึ่งถ้าหากนำไปเทียบเคียงกับบทบาทที่ทำให้เธอได้ออสการ์ตัวที่สองใน Three Billboards Outside Ebbing, Missouri ก็จะยิ่งเห็นวิธีการแสดงที่แตกต่างกันเด่นชัด ในเรื่องหลังเป็นบทชนิดที่ส่งกันสุดๆ เปิดโอกาสให้ถ่ายทอดอารมณ์เบื้องลึกอยู่เกือบตลอดเวลา ตรงข้ามกับใน Fargo ซึ่งเล่นด้วยการเก็บงำควบคุมอารมณ์ความรู้สึก ไม่ว่าจะดีใจ เสียใจ ขุ่นเคือง หรือรู้สึกอย่างไร ก็วางสีหน้านิ่งเฉยเหมือนๆ กันหมด ความโดดเด่นทางด้านแสดงจึงอยู่ที่รูปลักษณ์ภายนอก และการเข้าถึงบุคลิกของตัวละครได้วิเศษไม่มีที่ติ

มาร์จ กันเดอร์สันนั้นเป็นหัวหน้าสถานีตำรวจท้องแก่ 7 เดือน เดินเหินอุ้ยอ้ายเชื่องช้า พูดจาติดสำเนียงท้องถิ่นในรัฐมินเนโซต้า บุคลิกแปลกแบบ ‘ผิดที่ผิดทาง’ และฝีมือการแสดงของฟรานเซส แม็คดอร์มานด์ ก็ทำให้ตัวละครนี้ขึ้นหิ้งคลาสสิกอยู่ในความทรงจำของผู้ชม และถือเป็นหนึ่งในสารพัดรายละเอียดจำนวนนับไม่ถ้วน ที่อธิบายถึงความดีเด่นขั้นสุดของ Fargo ในแง่ว่าเป็นหนังอาชญากรรมซึ่งไม่มีตรงไหนส่วนใดดำเนินไปตามขนบคุ้นเคยของหนังแนวนี้เลย

พูดง่ายๆ คือ Fargo เป็นหนังที่ตั้งหน้าตั้งตา ‘สับขาหลอก’ กันตั้งแต่ต้นจนจบ ทำให้ผู้ชมคาดคะเนไปอย่างหนึ่ง แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นติดตามมากลับกลายเป็นอีกอย่างหนึ่งซึ่งไม่มีอะไรใกล้เคียงกัน คาแรคเตอร์ของมาร์จ กันเดอร์สันก็เป็นหนึ่งในการสับขาหลอกประดานั้น ตำรวจหญิงท้องแก่ ดูเป็นชาวบ้านและแม่บ้านมากๆ ต้องคลี่คลายคดีฆาตกรรมรุนแรง และเผชิญหน้ากับอาชญากรร่างยักษ์ผู้เหี้ยมโหด (ตัวละครแกร์ กริมส์รัด)

การนำพาผู้ชมไปพบเจอกับสิ่งที่ไม่คาดคิดเป็นหัวใจสำคัญสุดของ Fargo มันทำให้ผู้ชมรู้สึกสนุกทั้งในระหว่างดู และยังสนุกต่อเมื่อไล่เรียงนึกถึงรายละเอียดต่างๆ หลังจากดูจบ

การสับขาหลอกของหนังนั้นเริ่มต้นตั้งแต่ชื่อเรื่อง Fargo ซึ่งเป็นสถานที่อยู่ในรัฐนอร์ธ ดาโกต้า แต่จนรอดแล้วจนรอดตลอดทั้งเรื่อง เหตุการณ์ส่วนใหญ่กลับเกิดขึ้นที่เมืองทวินซิตีและเมืองเบรนเนิร์ด ซึ่งอยู่ในรัฐมินเนโซตา มีเพียงแค่ฉากสั้นๆ ตอนต้นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเมือง Fargo มิหนำซ้ำยังเกิดขึ้นในบาร์แห่งหนึ่ง ซึ่งไม่ต่างจากบาร์ทั่วๆ ไป

การหลอกถัดมาคือ ข้อความก่อนเริ่มเรื่อง ระบุว่าหนังสร้างขึ้นจากเหตุการณ์จริง มีการเปลี่ยนชื่อบุคคลผู้เกี่ยวข้องเพื่อป้องกันความเสื่อมเสียหรือผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด แต่เรื่องราวยังคงยึดกุมตามที่เกิดขึ้นจริงโดยเคร่งครัด

จนกระทั่งหนังจบ เครดิตท้ายเรื่องก็ชี้แจงว่า ชื่อตัวละคร และเหตุการณ์ทั้งหมด เป็นเพียงการสมมติ แต่งขึ้นใหม่เพื่อความบันเทิงเท่านั้น หากไปพ้องพานหรือตรงกับชีวิตผู้ใดก็ถือเป็นความบังเอิญ มิใช่เจตนาของผู้สร้าง

Fargo มีรายละเอียดปลีกย่อยทำนองนี้อยู่ตลอดทั้งเรื่องนะครับ แทบว่าหยิบจับตรงไหนขึ้นมาก็เจอ แต่พูดโดยรวมกว้างๆ ผมคิดว่าการสับขาหลอกซึ่งมีอยู่แยะนับไม่ถ้วนนั้น หน้าที่สำคัญเบื้องต้นคือนำเสนอพล็อตเดิมๆ ที่ผู้ชมคุ้นเคย แล้วพลิกแพลงยักย้ายถ่ายเทกลายเป็นอีกรูปโฉมหนึ่ง ยังผลให้เกิดความแปลกใหม่ แม้กระทั่งผ่านไปแล้ว 25 ปี กลับมาดูในปัจจุบัน ก็ยังเปี่ยมด้วยความสดและอุดมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ (มากเท่า ๆ กับความยียวน)

แต่ที่เหนือกว่านั้นคือ พี่น้องโคเอนทำให้ Fargo ละเมิดขนบของหนังอาชญากรรม ตำรวจจับผู้ร้ายในทุกๆ ด้าน ตั้งแต่เค้าโครงเรื่อง ขั้นตอนลำดับเหตุการณ์ การกำหนดบุคลิกของตัวละครแต่ละฝ่าย ที่สำคัญคือขั้นตอนวิธีการสืบสวนคลี่คลายคดี

เบื้องต้นเลยคือมุมมองการเล่าแบบแจกแจงให้เห็นถึงพฤติกรรมของตัวละครทุกฝ่ายโดยไม่ปกปิดเป็นความลับ วิธีนี้ทำให้ตัดประเด็นเรื่องใครเป็นคนร้าย และความซับซ้อนซ่อนเงื่อนออกไปจนหมดสิ้น เหลือเพียงแค่จุดเร้าอย่างเดียว ตำรวจจะสืบพบคนร้ายได้อย่างไร?

ตามเงื่อนไขนี้ หนังอาชญากรรมส่วนใหญ่จะแสดงให้เห็นถึงเล่ห์เพทุบายอันแยบยลชาญฉลาดในการลงมือและกลบเกลื่อนหลักฐานของฝ่ายผู้ร้าย จนกระทั่งฝ่ายตำรวจต้องใช้สติปัญญาความสามารถและความมุ่งมั่นพากเพียรเป็นพิเศษกว่าจะแกะรอยสำเร็จ แต่สิ่งที่เกิดใน Fargo ก็คือ โจรทิ้งหลักฐานผูกมัดเล่นงานตนเองเกลื่อนกลาดไปหมด เฟอะฟะทำอะไรต่อมิอะไรผิดพลาดและทุลักทุเลทุกขั้นตอน ขณะที่ฝ่ายตำรวจก็ไม่มีอันใดใกล้เคียงกับภาพ ‘ยอดมือปราบ’ ในแบบฉบับที่เราท่านคุ้นเคย เป็นตำรวจที่ดูบ้านๆ อย่างยิ่ง การสืบสวนสอบสวนก็เป็นไปตามขั้นตอน ช่างสังเกตและสันนิษฐานตามร่องรอยหลักฐานเก่งแต่พอประมาณ

พูดอีกแบบ Fargo ละเมิดขนบของหนังอาชญากรรมอย่างถึงที่สุด ด้วยการนำเสนอให้ทั้งฝ่ายอาชญากรและผู้รักษากฎหมายแลดูมีสภาพน่าเป็นห่วง น่าเอาใจช่วยอย่างเท่าเทียม และประสบความสำเร็จในการสลับกันเชียร์แต่ละฝ่ายไปมาอยู่ตลอดเวลา ยิ่งไปกว่านั้น ยังทำให้ผู้ชมคาดเดาว่าในบั้นปลายท้ายสุด ขั้วตรงข้ามทั้งสองฝ่ายจะมาบรรจบพบเจอกันได้อย่างไร และเมื่อเกิดขึ้นจริง ทุกอย่างก็เรียบง่าย ธรรมดา หมูตู้มากๆ จนกลายเป็นบิ๊กเซอร์ไพรส์ไปได้อย่างน่าทึ่ง

ผลบวกอย่างหนึ่งที่ติดพ่วงตามมาในการทำหนังตาม genre หรือประเภทหนังที่แน่ชัด มีขนบและองค์ประกอบหลักๆ จำนวนมากที่ผู้ชมคุ้นเคย แล้วปรับแต่งแปลงโฉมจนกระทั่งไม่หลงเหลือเค้าเดิม หรือเรียกอีกอย่างตามศัพท์ที่คุ้นเคยกันดีในหมู่ผู้ชมหนังประเภทต้องแอบดูไม่ให้ใครรู้เห็นว่า ‘ไม่ตรงปก’ ก็คือ ทำให้เรื่องราวเพี้ยนพิลึก เกิดแง่มุมเสียดสีเย้ยหยันที่แหลมคม ตัวละครเปี่ยมสีสันฉูดฉาดจัดจ้าน มีความลึกความสมจริง

 

fargo

 

ประเด็นสาระสำคัญของ Fargo นั้นง่าย ชัดเจน และซื่อตรง มันพูดถึงผลลัพธ์ของอาชญากรรมที่ไม่เคยให้คุณประโยชน์แก่ผู้ใด ผู้ก่อกรรมทำเข็ญย่อมได้รับผลตอบสนองจากการกระทำนั้น

แต่ภายในประเด็นเนื้อหาสาระง่ายๆ ขั้นต้น Fargo ไปได้ไกลและลึกในการสะท้อนนิสัยละพฤติกรรมด้านอ่อนแอของมนุษย์อย่างหลากหลาย จนกระทั่งมีบทวิจารณ์ต่างประเทศวิเคราะห์ตีความกันอย่างละเอียดถี่ยิบ (ถึงขั้นหยิบจับทุกอย่างในหนังเป็นสัญลักษณ์ได้เกือบหมด ตั้งแต่ หิมะ โทรทัศน์ ภูมิประเทศ การพูดถึง หรือแสดงภาพของสัตว์หลายชนิด รวมกระทั่งการตั้งครรภ์ของนางเอก)

ในการตีความสัญลักษณ์ทั้งหมดที่ผมอ่านเจอ แง่มุมที่ผมคิดว่าน่าสนใจและเห็นพ้องคล้อยตามคือตัวละครชื่อ ไมค์ ยานางิตะ อดีตเพื่อนเก่าสมัยเรียนของมาร์จ กันเดอร์สัน ซึ่งเธอพบเจอเมื่อเดินทางมาสืบคดีที่ทวินซิตี และมีโอกาสได้พูดคุยกัน

ฉากดังกล่าว ‘ไม่เกี่ยว’ กับการเดินเรื่อง หลุดออกจากเหตุการณ์หลักของหนังอย่างเด่นชัดมากสุด แต่เนื้อความที่บอกเล่าในฉากนี้คือ ไมค์เล่าให้มาร์จฟังถึง อดีตภรรยาที่เสียชีวิต และคร่ำครวญถึงความโศกเศร้าอาลัยของเขาเป็นวรรคเป็นเวร เพื่อเรียกร้องความสนใจและถือโอกาสจีบมาร์จ ก่อนที่ความจริงจะเฉลยในฉากต่อมาว่า ทั้งหมดนั้นเป็นคำโกหกของไมค์ล้วนๆ และเขามีอาการป่วยทางจิต

ผมคิดว่าการโกหกหลอกลวงและหน้าฉากเป็นอย่างหนึ่ง ความจริงเป็นอีกอย่างหนึ่ง คือแก่นเรื่องหลักของ Fargo ซึ่งปรากฎให้เห็นในทุกรายละเอียดและทุกการสับขาหลอกในหนัง

 

MOST READ

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save