fbpx

‘มหาแฟง’ ผู้ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 ตรัสว่า ถ้าพระองค์ไปเลือกตั้ง จะทรงเลือกเขา

มูลเหตุที่นามของ ‘มหาแฟง’ พุ่งปราดเข้าจู่จับความสนใจของผมนับแต่แรกอ่านเจอในหนังสือ ‘ฅนอายุยืน’ ผลงานของ เทพ สุนทรศารทูล สมัยเพิ่งเข้าศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หมาดใหม่เมื่อ พ.ศ.2551 และยังคงตราตรึงในความคำนึงมาตราบจนปัจจุบัน นั่นเป็นเพราะถ้อยความ “นายแฟง สุขสาร ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. 13 ครั้ง จนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสว่า “ถ้าฉันไปเลือกตั้ง ฉันจะเลือกนายแฟง สุขสาร””

จำได้เลย ตอนนั้น ผมบังเกิดความสงสัยขึ้นครามครันสองประการ

ประการแรก พระมหากษัตริย์ทรงเลือกตั้งได้ด้วยหรือ?

ประการที่สอง นายแฟง สุขสาร เป็นใคร?

ตามที่เคยร่ำเรียนมา ผมย่อมเข้าใจแม่นมั่นว่าพระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะเหนือการเมือง เรื่องนี้ระบุไว้ตั้งแต่ในรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกของไทยภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 หรือ ‘รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ.2475’ อันประกาศใช้เมื่อเดือนธันวาคมปีเดียวกัน ด้วยฐานะดังกล่าว พระมหากษัตริย์จึงไม่สามารถไปเลือกตั้งได้เป็นแน่แท้ และมีการยึดถือแนวทางเช่นนี้ตลอดมาจวบปัจจุบัน

ตอนผมเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ราวต้น พ.ศ.2543 ช่วงนั้นกำลังจะจัดให้เลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ซึ่งกำหนดให้การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน (ก่อนหน้านั้น การเลือกตั้งเป็นสิทธิ) ดูเหมือนคลับคล้ายคลับคลาว่าเคยแว่วยินข่าวสารทำนอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงปรากฏพระนามในฐานะผู้มีหน้าที่ต้องไปเลือกตั้งเช่นกัน โดยจะต้องเสด็จเข้าคูหา ณ มหาวิทยาลัยศิลปากร (วังท่าพระ) คณะกรรมการการเลือกตั้งส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ท้ายที่สุด ศาลได้พิจารณาให้ยึดตามแนวทางเดิมของรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกตั้งแต่ พ.ศ.2475 นั่นคือพระองค์ทรงดำรงอยู่ในฐานะเหนือการเมือง

ชัดเจนว่า ‘ในหลวงรัชกาลที่ 9’ ทรงไม่เคยไปเลือกตั้ง การที่พระองค์ตรัส “ถ้าฉันไปเลือกตั้ง ฉันจะเลือกนายแฟง สุขสาร” น่าจะเป็นพระราชอารมณ์ขัน แต่สำหรับผมในวัยเยาวรุ่น ชื่อของ ‘นายแฟง’ หรือ ‘มหาแฟง’ ช่างน่าหลงใหลยิ่งนัก บุคคลผู้นี้มีบทบาทอย่างไรหนอ ทำไมพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเอ่ยถึงเขา

มหาแฟง หรือนายแฟง สุขสาร
ขณะสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
เขตจังหวัดพระนคร

ผมเริ่มมุมานะค้นคว้าเรื่องราวของมหาแฟงตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 20 ปี เรื่อยมาจวบจนอายุ 30 ต้นๆ แกะรอยพบข้อมูลบ้างประปรายก็ค่อยๆ ทยอยจดบันทึกสะสมไว้ หนังสืองานศพของเขามิแคล้วหลักฐานสำคัญอันปรารถนาสูงสุด ทว่าเสาะหาตามหอสมุดต่างๆ สารพัดแห่งกลับไม่พบเห็น กระทั่งราวๆ ปลายทศวรรษ 2550 สอบถามกูเกิลจนทราบความว่า มีหนังสือ ‘อนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพของนายแฟง (มหาแฟง)’ สุขสาร อยู่ที่หอสมุดศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา (Center for Southeast Asian Studies หรือ CSEAS) มหาวิทยาลัยเกียวโต (Kyoto University) แม้ผมเองจะเคยได้ไปเยือนเมืองเกียวโตช่วงปลายเมษายน พ.ศ.2559 แต่มิสบโอกาสได้ไปยังหอสมุดที่ว่านั้น

‘มหาแฟง’ โลดแล่นในความครุ่นคิดของผมเนิ่นนานหลายปี  โดยเฉพาะผ่านทางไปวัดหัวลำโพงคราใด มิวายหวนระลึกถึงชายผู้นี้ เพราะเป็นสถานฌาปนกิจศพของเขาตามที่แจ้งในหนังสืองานศพ แต่พักหลังมาชักเลือนๆ การนึกถึงบ้างเหมือนกัน

คงจะเผลอลืมเสียสนิท ถ้าวันหนึ่งช่วงต้นเดือนมีนาคม พ.ศ.2566 ‘จตุชัย สิทธิเกียรติปพัช’ ไม่เอ่ยปากถามย้ำเรื่องมหาแฟงอีกหน ผมเคยบอกเล่าวีรกรรมของบุคคลผู้นี้ให้จตุชัยฟังมาก่อน อาจจะในวงข้าวร้านอาหารอีสานที่ไหนสักแห่ง การทักมาโดยเพื่อนหนุ่มยังบันดาลความได้ปลื้มด้วยน้ำเสียงรายงานว่า พบหนังสืองานศพของมหาแฟงบนหน้าเว็บไซต์ร้านหนังสือออนไลน์เจ้าหนึ่ง ผมมิรอช้า รีบดำเนินการสั่งซื้ออย่างกระตือรือร้น

ในที่สุด ผมก็ประสบความสำเร็จในการทำความรู้จักนายแฟง สุขสาร ให้กระจ่างชัด และน่าจะได้เวลาแล้วที่จะผายมือแนะนำเขาสู่สายตาคุณผู้อ่านไปพร้อมๆ กับผม

หนังสือในงานฌาปนกิจศพนายแฟง (มหาแฟง) สุขสาร
หนังสือ ‘ฅนอายุยืน’

‘นายแฟง’ เป็นชาวละแวกย่านคลองวัดจันทร์เจริญสุข ตำบลบ้านปรก เมืองสมุทรสงคราม ลืมตาดูโลกหนแรกเมื่อวันเสาร์แรม 13 ค่ำ เดือน 10 หรือตรงกับวันที่ 15 กันยายน พ.ศ.2449 บิดาคือนายพร ครองรักกับภรรยา 2 คน ได้แก่ นางเพิ่มและนางสุ่น นายแฟงเป็นลูกนางเพิ่มเมียหลวง มีน้องชายร่วมบิดามารดาเดียวกันอีกคนชื่อนายฟัก ส่วนนางสุ่น ผู้เป็นเมียน้อยของพ่อพรและแม่เลี้ยงของนายแฟงมีลูกหลายคน ได้แก่ นางเชื้อ นายบุญ นายบัว นางสาวเลื่อน นายโพธิ์ นายพิมพ์ นายสม และนางลออง

นายแฟงถือเป็นพี่ชายคนโตสุดในบ้าน เขาเองสนิทสนมกับน้องๆ ต่างมารดา น้องชายคนหนึ่งต่อมากลายเป็นผู้เรียบเรียงประวัติของมหาแฟงลงพิมพ์ในหนังสือ ‘อนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพของนายแฟง (มหาแฟง) สุขสาร’ คือ ‘พระครูวินัยธรพิมพ์ เขมพิมฺโพ’ (พิมพ์ สุขสาร) ดังพระครูบุตรชายแม่สุ่นออกตัวว่า

ข้าพเจ้า พระครูวินัยธรพิมพ์ เขมพิมฺโพ (พิมพ์ สุขสาร) เจ้าอาวาสเขาสมุก ตำบลหนองนมวัว อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ ผู้เรียงประวัติของมหาแฟงนี้เป็นน้องคนสุดท้องซึ่งเกิดกับนางสุ่น สุขสาร ภรรยาน้อยของนายพร สุขสาร มีพี่น้องทั้งหมด 6 คน โยมพี่มหาแฟงนำมาอยู่เป็นศิษย์ด้วยที่วัดมหาธาตุฯ ตั้งแต่อายุได้ 8 ขวบปี  มหาแฟงได้สึกออกจากเพศสมณะแล้ว ก็ได้อยู่ร่วมกันตลอดมา

ส่วนน้องชายอีกคนที่เคยมาอยู่กับนายแฟงในวัดมหาธาตุฯ คือ ‘นายบัว’ ก่อนไปรับราชการทหาร เคยออกรบหลายสมรภูมิ โดยเฉพาะในสงครามอินโดจีน จนได้รับเหรียญชัยสมรภูมิ แต่น้องคนนี้อายุสั้นเพียงแค่ 27 ปี ก็มาตายจากไปด้วยโรคไตพิการและไข้หนักหน่วง

นายแฟง เริ่มเรียนหนังสือจริงจังโดยคุณตาแทนกับคุณยายลอยได้นำไปฝากให้บรรพชาเป็นสามเณรอยู่กับ ‘หลวงพ่อคง ธมฺมโชโต’ เจ้าอาวาสวัดบางกะพ้อม สมุทรสงคราม เอ่ยขานนามหลวงพ่อคงแล้ว สานุศิษย์ทั้งหลายตระหนักดีถึงความเป็นพระเกจิอาจารย์แห่งลุ่มน้ำแม่กลอง เพราะท่านสร้างวัตถุมงคลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ และเป็นที่นิยมบูชาแพร่หลาย

นอกจากร่ำเรียนหนังสือขอมกับหลวงพ่อคง เณรแฟงยังแวะเวียนไปเรียนกับ ‘หลวงพ่อบ่าย’ แห่งวัดช่องลมบ้าง แวะไปเรียนที่วัดโพงพางและวัดจันทร์เจริญสุขบ้าง หัดท่องสูตรสนธิ์ ท่องบาลี “อตฺโถ อกฺขรสญฺญาโต” จนแคล่วคล่อง เรียนพระธรรมจนรอบรู้ความชำนาญ สามารถขึ้นนั่งธรรมาสน์แสดงพระธรรมเทศนาให้ญาติโยมรับฟังเนืองๆ โดยเฉพาะการเทศน์มหาชาติเรื่องมหาเวสสันดรชาดก ก็หัดเทศน์เสียทะลุปรุโปร่งทั้งทานกัณฑ์ กัณฑ์มหาพน กัณฑ์มหาราช และกัณฑ์มัทรี

นางสุ่น ผู้เป็นแม่เลี้ยง เคยเล่าให้ ‘พระครูวินัยธรพิมพ์’ ฟังถึงตอนเณรแฟงอายุประมาณ 12-13 ปีว่า “เมื่อขณะที่มหาแฟงยังเป็นสามเณรน้อยๆ นั้น เณรแฟงมีความสามารถ เทศน์ปุจฉาวิสัชนากับพระ เทศน์มหาชาติทำนองบ้าง เทศน์คู่บ้าง สวดสังคหะบ้าง ว่าเสียงเพราะและเสียงฟังชัดเจนดี บางทีก็เทศน์ปากเปล่าได้แบบไม่ต้องดูใบลาน”

ไม่น่าแปลกที่เณรแฟงจะแตกฉานทางถ้อยคำบาลีและถ้อยธรรมตั้งแต่เยาว์วัย สืบเนื่องจากบรรพบุรุษทั้งฝ่ายปู่และฝ่ายตาล้วนเป็นผู้ใฝ่รู้ในพุทธศาสนา ใส่บาตรพระเป็นประจำ ถือศีลค่อนข้างเคร่งครัด พอวันธรรมสวนะก็ไปสวดมนต์ที่วัด ทั้งวัดจันทร์เจริญสุข วัดบางกะพ้อม วัดโพงพาง วัดช่องลม และวัดอื่นๆ มิหนำซ้ำ ยังเปิดเคหสถานริมคลองวัดจันทร์เจริญสุขประหนึ่งสโมสรให้พระภิกษุสามเณร อุบาสกอุบาสิกา และคฤหัสถ์มาชุมนุมกันเรียนปริยัติธรรมแบบโบราณ คุณตาแทนก็เป็นผู้ที่ได้รับการยกย่อง เดินเหินไปไหนแต่ละทีจะมีบริวารห้อมล้อมจำนวนมากมาย ประกอบกับมีฝีมือด้านช่างทอง เณรแฟงได้คอยติดตามและซึมซาบเอาสิ่งเหล่านี้ใส่ตัวมาตั้งแต่เด็กๆ

‘คุณแม่เพิ่ม’ และ ‘คุณน้าพูน’ ยังเป็นนักสวดสังคหะทำนอง คุณผู้อ่านอย่าเพิ่งฉงน การสวดสังคหะคล้ายๆ การสวดพระอภิธรรมแบบที่เราเห็นพระสงฆ์สวดกันตามงานศพนั่นละ แต่พอพวกคฤหัสถ์เป็นผู้สวด ก็จะนำเอาคำบาลีตอนต้นและตอนท้ายของแต่ละปริเฉทในพระอภิธัมมัตถสังคหะทั้ง 9 ปริจเฉทของ ‘พระอนุรุทธาจารย์’ สาวกของพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นเอตทัคคะในทางผู้มีทิพยจักษุญาณมาสวดเรียงต่อกันเป็นทำนองสรภัญญะทอดห้วงจังหวะสั้นยาว ความช่ำชองในการสวดเช่นนี้ย่อมตกทอดมาถึงสามเณรหนุ่ม

เณรแฟงมุ่งมั่นเรียนนักธรรมหรือธรรมวินัยจนท่องจำขึ้นใจ แม่นยำจนสอบไล่นักธรรมตรีได้ที่ 1 ของจังหวัดสมุทรสงคราม น้าชายและน้าสาวเล็งเห็นหลานชายมีแววรุ่งโรจน์ อนาคตคงจะได้มีชั้นพัดยศสมณศักดิ์ กลางทศวรรษ 2460 พอเณรหนุ่มอายุย่าง 16 ปี จึงนำตัวเดินทางจากลุ่มแม่กลองมาฝากให้อยู่กับสมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กรุงเทพมหานคร ซึ่งขณะนั้น ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จเฮงได้รับมอบหมายจาก สมเด็จพระสังฆราช พระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ให้เป็นผู้จัดการวัดมหาธาตุฯ ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระวันรัต (ฑิต อุทโย) ที่ทรงชราภาพมาตั้งแต่ปี 2455

สมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี)

นายแฟง เคยย้อนความหลังให้พระครูวินัยธรพิมพ์ ผู้เป็นน้องชาย รับฟังถึงตอนแรกเข้ามาพระนคร ซึ่งท่านพระครูหยิบยกมาบอกเล่าต่อว่า

 

“การเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ ของมหาแฟงในครั้งนี้ มหาแฟงได้เล่าให้ผู้เรียงฟังว่า มากับพระชื่อพระกุนและน้าชายชื่อสุด  โดยไม่รู้จักกับใครที่วัดนี้มาก่อนเลย  และจวนจะเข้าพรรษาอยู่แล้ว ได้ตรงเข้าถวายมอบตัวแด่พระเดชพระคุณท่านเจ้าพระคุณสมเด็จพระวันรัตเขมจารี  ซึ่งในเวลานั้นเป็นพระธรรมไตรโลกาจารย์ โยมพี่มหาแฟงบอกว่า ดูลักษณะทีท่าท่านน่าเคารพเลื่อมใสในเดชบารมีเป็นอย่างยิ่ง เพราะผิดกับพระที่เคยเห็นมา แต่ด้วยอาศัยที่ท่านโอบอ้อมอารีและมี เมตตาธรรม ท่านจึงพูดขึ้นเป็นประโยคแรกซ้ำๆ กันว่า อ้อๆๆๆ เอ้อๆ มาก็จวนเข้าพรรษาเสียแล้ว กุฏิที่อยู่อาศัยก็อัดแอกันเหลือเกิน พรรษานี้พระเณรก็มาก จะอยู่กันอย่างไร เกรงจะลำบาก อือๆ น่าเห็นใจ อุตส่าห์ระหกระเหินเดินทางมาไกล อยากจะสงเคราะห์เหมือนกันแต่เสียดายว่าที่ไม่พออยู่กัน รอให้พรรษาหน้าค่อยมาอยู่ใหม่เถอะน๊ะ

พอพูดมาแค่นี้เท่านั้น โยมพี่มหาแฟงบอกว่าสะดุ้งตกใจวาบ นึกหมดหวังเสียแล้วคราวนี้  แต่อาศัยที่มีเชิงเชี่ยวชาญในการปฏิภาณตามแบบที่เคยปุจฉาวิสัชนามา เกิดกำลังใจฮึกเหิมขึ้นมาทันทีว่า ต้องโต้ตอบแบบสักรวาที ปรวาทีดูสักหน่อยเถอะ จะได้อยู่หรือไม่ได้อยู่ ก็ขอให้ได้ปรับความเข้าใจกันให้ซึ้งด้วยคารมแบบเณรน้อยบ้านนอกดูสักครั้ง เณรแฟงจึงสำรวมประนมมือ ตั้งตัวตรง ตั้งใจกล้า ตั้งเสียงอ่อนหวาน ค่อยๆ เผยขึ้นมาตามประโยคช้าและเร็วเป็นจังหวะ…”

 

ถ้อยเจรจาของ เณรแฟง อันหมายโน้มน้าวใจของ ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ มีเนื้อความว่า

เกล้าฯ ขอประทานอภัยโทษ ได้โปรดเมตตากรุณาพิจารณารับเกล้าฯ อีกสักครั้ง เพราะ เกล้าฯ ตั้งใจมาพบ เคารพและถวายตัวเป็นลูกศิษย์ ในระยะกระชั้นชิดที่จะเข้าพรรษา ซึ่งมีพระภิกษุสามเณรอยู่เต็มอัตราเช่นนี้แล้วก็จริง ถึงกระนั้นเกล้าฯ ก็สมัครใจอดทนต่อความลำบากได้ เพราะเกล้าฯ ได้ตระเตรียมบริขารอะไรๆ มาพร้อมแล้ว ทั้งยังมั่นใจในความเมตตากรุณา ซึ่งเกล้าฯ ทราบกิตติคุณมาก่อนแล้วว่า สำนักนี้อันมีพระเดชพระคุณเป็นประมุข เพียบพร้อมไปด้วย พรหมวิหาร ส่งเสริมการศึกษา อบรมมีระเบียบดีงาม เกล้าฯ ไม่เคยมาเห็นกรุงเทพฯ และไม่เคยยินสำนักใดเหมือนสำนักนี้เลย จึงมุ่งมั่นมาด้วยความสมัครใจที่จะอยู่อย่างเต็มศรัทธา ส่วนเรื่องที่อยู่อาศัยนั้น เกล้าฯ ไม่มีความรังเกียจประการใด แถวฯ หน้ากุฏิก็ได้ เพราะเกล้าฯ ถือว่าคับที่อยู่ได้ คับใจอยู่ยาก ยิ่งได้มาพบเห็นบุญบารมีที่พระเดชพระคุณ ได้กรุณาโอภาปราศรัยปฏิสันถาร ด้วยเมตตา เกล้าฯ ก็ยิ่งเพิ่มศรัทธาเคารพสมัครที่จะอยู่ด้วยอย่างยิ่ง แม้ไม่นานเพียงสัก 1 พรรษา ก็ยังดี ขอให้โปรดเมตตาปราณีรับเกล้าฯ ไว้เป็นศิษย์รับใช้เป็นพิเศษสักรูปเถิดขอรับ

สิ้นเสียงเณรหนุ่มจากเมืองแม่กลอง สมเด็จพระวันรัตก็

…เงยผงะออกจากหมอนพนักทันทีพร้อมกิริยาอาการพอใจ ด้วยใบหน้าอันประกอบด้วยกรุณา ทั้งยิ้มสรวลหัวเราะร่า เริ่มออกจากคำว่า อ้อ อ้อ อ้อ อ้า อ้า อื้อๆ พร้อมด้วยความสนใจมาก เพราะคงนึกในใจว่า เณรน้อยตัวเท่านี้ทำไมพูดเกินตัว ในที่สุดก็มีการแสดงว่า งั้นรึ…อ้อ อ้อ อ้า อ้า เอา เอ้า เอ้อ เอ้อ ดี ดี อดทนได้ก็เอา อื้อ อื้อ (จากลำคอบ้าง) ครึมๆ ครางๆ ด้วยท่าทางกรุณา สมยอมตามที่ขอกราบเรียนวิงวอนมา

พระครูวินัยธรพิมพ์ เผยให้เห็นภาพบรรยากาศขณะนั้นเข้าสมทบ

…ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ จึงถามต่อไปว่า เณรเคยเรียนหนังสืออะไร? เณรแฟงตอบ เกล้าฯ เคยเรียนหนังสือขอมท่องสูตรสนธิ์นามได้บ้าง แต่ยังไม่ค่อยเข้าใจอะไรดีนัก เจ้าพระคุณสมเด็จฯ อ้อๆ อ้อๆ ดี ดี ยังมีเรียนกันอยู่อีกรึ? เณรแฟงตอบ เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีเรียนกันแล้วขอรับ คงเรียนแต่นักธรรม เจ้าพระคุณสมเด็จฯ อ้อๆ เรียนอยู่หลายปีไหม? เณรแฟงตอบ เกล้าฯ เรียนมาแต่เล็กเรื่อยๆ มาสัก 6-7 ปีได้ขอรับ เจ้าพระคุณสมเด็จฯ อ้อๆ เข้าทีดีเหมือนกัน กว่าจะรู้ได้ดีก็ต้องเรียนกันนานๆ รู้สึกจะยากๆ อยู่ไม่น้อย เวลานี้ใช้เรียนแบบไทยๆ ใหม่ๆ กันแล้ว ส่วนนักธรรมล่ะเรียนไปแค่ไหน? เณรแฟงตอบ เกล้าฯ สอบได้เพียงชั้นตรี ตั้งใจจะเรียนโท-เอกต่อ เจ้าพระคุณสมเด็จฯ อื้อๆ มันต้องขยันเรียนกันจริงๆจังๆ เรียนบาล่ำบาลีก็ลองเรียนกับเขาดูบ้างก็ได้ ต้องหมั่นเรียน แล้วทำวัตรไหว้พระสวดมนต์เป็นกิจวัตรประจำวัน ดูแลรักษาความสะอาดที่อยู่อาศัยบ้าง ต้องตั้งอยู่ในความสงบให้สมกับสมณะเป็นพระเป็นเณร มีความประพฤติดีปฏิบัติดีเป็นใช้ได้เท่านั้นก็สบายดีแล้ว และต้องเรียนสามเณรสิกขาด้วยก่อน เวลานี้เขากำลังเรียนกันแล้ว เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ก็หันไปเรียกเณรเวรปฏิบัติว่า ให้ไปตามท่านฉันมาที (คือพระครูสมุห์ฉัน ศรีเรือง) เอ้าท่านฉันเอาเณรนี้ไปอยู่ด้วยรูปหนึ่ง แกไม่รู้จักใคร เวลาฉันอาหารให้มาฉันกับเณรเวร

เป็นอันว่า เณรแฟงได้มาพำนักและเรียนทางธรรม ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์สมความตั้งใจ พระผู้ใหญ่ทุกท่าน รักใคร่เมตตาและให้การอุปการะอย่างดี ตำแหน่งหนึ่งที่ได้รับมอบหมายคือเป็นเณรเวรรับใช้ สมเด็จพระวันรัต ซึ่งท่านชอบการอ่านหนังสือก่อนจะจำวัดทุกคืน เณรเวรจะต้องผลัดเปลี่ยนกันอ่านให้ท่านฟัง พอถึงคราวที่ เณรแฟง ต้องเป็นผู้อ่าน ก็พยายามอ่านตามศัพท์สำเนียง เว้นวรรคตอนและจังหวะให้ถูกต้องตามตัวหนังสือ ทอดเร็วหรือช้าตามอาการของท้องเรื่อง อาจแต่งเอาเองบ้างตามปฏิภาณของตน สร้างความถูกใจให้ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ มากโข ถึงกับเอ่ยปากประทานพรพิเศษว่า ใครๆก็อ่านไพเราะสู้เณรแฟงไม่ได้ จึงเรียกให้อ่านแทนเณรอื่นๆ เสมอๆ กลายเป็นศิษย์คนใกล้ชิดแน่นแฟ้น เณรหนุ่มชาวสมุทรสงครามประหนึ่งเลขานุการที่รู้ใจ คอยเป็นผู้อุปัฏฐากท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ นานกว่าเลขานุการรูปใดๆ

ครั้นเณรแฟง อายุครบ 20 ปีบริบูรณ์เมื่อปลายทศวรรษ 2460 สมเด็จพระวันรัตก็เป็นพระอุปัชฌาย์ทำการอุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์ให้ ณ พัทธสีมาวัดมหาธาตุฯ โดยมีสองพระเถระเป็นคู่พระธรรมวาจานุสาวนาจารย์อย่าง พระศรีสมโพธิ (ช้อย ฐานทตฺโต) ต่อมาภายหลังคือพระพิมลธรรม และพระญาณสมโพธิ (สวัสดิ์ กิตฺติสาโร) ต่อมาภายหลังคือพระธรรมรัตนากร พระราชาคณะชั้นธรรม จนที่สุดก็เลื่อนขึ้นเป็นพระธรรมปัญญาบดี พออุปสมบทเสร็จสิ้น พระภิกษุแฟงได้รับฉายา ‘นิภาธโร’ แปลว่า ผู้ทรงไว้ซึ่งรัศมี

ช่วงที่เป็นเลขานุการของท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ นั้น มหาแฟงเคยถ่ายทอดปากคำสู่พระครูวินัยธรพิมพ์

“โยมพี่มหาแฟงว่าในระยะที่อยู่ใกล้ชิดนี้เอง ไม่มีโอกาสได้ดูหนังสือเรียนเลย เคยเรียนดีสอบได้ที่ ๑ คราวนี้ได้ที่โหล่ๆ สอบนักธรรมเอกได้เมื่อตอนเป็นเณรว่าพอไปได้ แต่เข้า ป.3 ตก 3 ปี ป.4 ตก 4 ปี ป.5 ได้ ป.6 ตก 1 ปี แต่ได้ดีทางเป็นพระครูฐานา 3 ตำแหน่งเพราะท่านโปรดปรานและเมตตามากเป็นพิเศษ  ท่านก็ใช้งานมากเป็นพิเศษเช่นเดียวกัน วันหนึ่งๆเจ้าพระคุณสมเด็จฯ กดกริ่งสัญญาณเรียกใช้ไม่เว้นแต่ละชั่วโมง กว่าจะพักผ่อนหลับนอนได้บ้างก็ต่อเมื่อท่านได้จำวัดแล้ว ก็ถึง 4 ทุ่ม 22.00 น. เศษทุกๆ วัน ดำรงตำแหน่งเป็นอุปัฏฐากและเลขานุการทุกตำแหน่งนานถึง 18 ปี เป็นเณร 5 ปี เป็นพระอีก 13 ปี และยังเพิ่มภาระหน้าที่ให้เป็นเจ้าคณะสลัก 1-2-3 กับเจ้าคณะ 1 อีก…”

พระภิกษุแฟง ปฏิบัติหน้าที่ผู้อุปัฏฐากอย่างแข็งขัน คอยปรนนิบัติสารพัด ทั้งปรุงอาหารถวายและคอยดูแลถวายคิลานเภสัช (ยารักษาโรค) ติดต่อแพทย์ทั้งแผนโบราณและแผนปัจจุบันให้มารักษาอาการอาพาธของท่านสมเด็จเจ้าพระคุณฯ แพทย์คนหลักๆ ก็เช่น หลวงวิสูตรโยธาภิบาล หมอประพนธ์ (จ๋าย) หลวงมหาสิทธิเวช หลวงพิมลสมุหรักษ์ และหมอผูกบ้านแพน ทั้งยังตกแต่งประดับเครื่องโต๊ะหมู่บูชา ซึ่งท่านสมเด็จเจ้าพระคุณฯ ยกย่องว่า พระภิกษุแฟงจัดได้สวยงามดีเป็นพิเศษ พอไปประกวดก็คว้ารางวัลเสมอๆ รางวัลที่หนึ่งบ้าง รางวัลที่สองบ้าง พอพระครูธีราภินันท์ เจ้าอาวาสวัดคลองเตยใน ขอให้ท่านสมเด็จเจ้าพระคุณฯ ไปเป็นประธานในการตัดสินประกวดดอกไม้และโต๊ะหมู่บูชาในวันวิสาขบูชาแต่ละปี ท่านจึงไว้วางใจส่ง พระภิกษุแฟงไปเป็นประธานแทนท่าน

มหาแฟง เมื่อยังเป็นพระภิกษุสงฆ์

แม้การอยู่โยงรับใช้สมเด็จพระวันรัต จะทำให้พระภิกษุแฟงไม่มีเวลาของตนเองเพื่อจดจ่อเอาใจใส่ต่อการสอบเปรียญธรรม แต่ก็เปิดโอกาสให้ได้ฝึกฝนความสามารถในอีกรูปแบบหนึ่ง กล่าวคือ เมื่อท่านสมเด็จเจ้าพระคุณฯ ได้รับนิมนต์ให้ไปแสดงพระธรรมเทศนาที่ใด ท่านจะประพันธ์บทเทศน์โดยคิดแล้วเอ่ยปากออกมาทีละบทให้พระภิกษุแฟงเขียนตามคำบอก พอท่านไปแสดงพระธรรมเทศนาจะพาเลขานุการส่วนตัวผู้นี้ติดตามไปด้วย เฉกเช่น คราวหนึ่งท่านสมเด็จเจ้าพระคุณฯ ไปเทศน์ ณ หอพระธาตุมณเฑียร สถานที่ซึ่งประดิษฐานพระบรมโกศพระบรมอัฐิสมเด็จพระบูรพกษัตริยาธิราชในพระบรมมหาราชวัง พระภิกษุแฟงก็ได้เข้าวังหลวง หรือคราวหนึ่งท่านสมเด็จเจ้าพระคุณฯ ไปเทศน์เรื่อง ‘สติปัฏฐาน 4’ ถวายพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภา พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระภิกษุแฟงต้องติดตามไปนั่งฟังแล้วจดจำถ้อยคำทั้งหมดเพื่อกลับมาเขียนแต่งเป็นกัณฑ์เทศน์ 

ความที่พระภิกษุแฟงคลุกคลีและพิถีพิถันกับการช่วยแต่งบทพระธรรมเทศนา ท่านสมเด็จเจ้าพระคุณฯ คงเล็งเห็นว่าพระหนุ่มชาวแม่กลองมีทั้งปฏิภาณไหวพริบและความสุขุมลุ่มลึก จึงมักใช้ให้ไปเทศน์แทนท่านหลายงาน ใช่เพียงแค่เรื่องบทเทศน์ พระภิกษุแฟงยังได้ช่วยเรียงแต่งวินิจฉัยอธิกรณ์ถวายท่านสมเด็จเจ้าพระคุณฯเพื่อนำไปตัดสินข้ออธิกรณ์ต่างๆ ในหมู่พระสงฆ์ให้มีความเด็ดขาดและเที่ยงธรรม

อีกภารกิจสำคัญที่พระภิกษุแฟงทำงานเบื้องหลังมาตั้งแต่ครั้งครองฐานะสามเณร และเป็นที่โปรดปรานอย่างมากของสมเด็จพระวันรัต นั่นคือในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์ ‘พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ’ หรือ ‘สฺยามรฏฐสฺสเตปิฏกํ’ ตลอดช่วงระหว่างปี 2468-2473 เพื่อชำระตรวจสอบแก้ไขให้ถูกต้องสมบูรณ์ ทั้งจะจัดส่งไปเผยแพร่ยังต่างประเทศ

ในการนี้ ท่านสมเด็จเจ้าพระคุณฯ รับหน้าที่ตรวจสอบการชำระพระไตรปิฎกฉบับดังกล่าว ซึ่งหมวดพระอภิธรรมปิฎกนั้น มีพระเถรานุเถระ พระราชาคณะ และครูบาอาจารย์เป็นกรรมการช่วยตรวจ ครั้นตรวจแก้ดีแล้วก็ถวายให้ท่านสมเด็จเจ้าพระคุณฯ ตรวจเพื่อเซ็นสั่งพิมพ์ ทว่าก่อนจะส่งตีพิมพ์ ท่านฉุกนึกบางอย่างขึ้นมา จึงบัญชาเรียกให้เณรแฟงมาลองตรวจปรู๊ฟดูให้ละเอียด เพราะเคยเรียนท่องพระอภิธรรมมาจนชำนาญ ถ้าเณรจับจุดผิดได้จะให้รางวัล หากพบคำผิดตรงไหนให้ทำเครื่องหมายไว้ก่อน อย่าเพิ่งแก้ไขเอง เณรแฟงรับไปปฏิบัติตามบัญชา หลังตรวจดูปรู๊ฟบังเอิญพบจุดผิดพลาดถึง 3 แห่ง ทั้งๆ ที่เป็นปรู๊ฟซึ่งผ่านตาคณะกรรมการมาแล้ว ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ก็ตรวจแล้ว ลงลายเซ็นสั่งตีพิมพ์แล้ว เมื่อเณรแฟงมารายงานว่ามีจุดผิด ท่านตกใจไม่น้อย

“ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ผงะเงยเผยสดุ้ง เออยังงั้นรึ! อื้อ อื้อ นี่ นี่ ช๊ะ ช๊ะ อ้า หาๆ หัวเราะ ว่า ตรวจให้ดีได้บุญมาก เท่ากับสร้างพระพุทธอักขระตัวละ 1 พระองค์ มีอานิสงส์ล้ำเลิศ ได้ 3 ตัว เท่ากับสร้างพระ 3 องค์  คอยช่วยกันตรวจทุกๆ คราวน๊ะ อื้อ อื้อ เอ้าๆ เอารางวัล พร้อมกับเอื้อม มือไปเปิดฝากล่องบุหรี่สี่กั๊ก นึกว่าอะไร นับไปนับมา 3 มวน เอ้าเอ้อยิ้มแป้นแล้วส่งมาพร้อมกับว่า รางวัล รางวัล เอาไปดีดี”

สมเด็จพระวันรัต ไม่เพียงมอบหมายให้พระภิกษุแฟงเป็นเลขานุการเฉพาะวัดมหาธาตุฯ เท่านั้น แต่ยังให้เป็นเลขานุการดูแลทั้งมณฑลอยุธยา มณฑลนครสวรค์ แขวงในพระนคร แขวงนอก แขวงล่าง ตลอดจนพระโขนง บางกะปิ มีนบุรี ลาดกระบัง และหนองจอก พระภิกษุแฟงจึงต้องไปติดต่อเชื่อมสัมพันธ์กับคณะพระสงฆ์แบบขยายวงกว้างขวาง ในงานนี้ พระภิกษุแฟง ยังมีส่วนช่วยตรวจแก้ปรับปรุงหนังสือสุทธิของพระสงฆ์ทั่วราชอาณาจักร เป็นเลขานุการบาลีสนามหลวง โดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงประทานตราตั้งเป็นพิเศษ

ต้นทศวรรษ 2470 พระภิกษุแฟงได้รับแต่งตั้งเป็น ‘พระครูธรรมบาล’ ตอนนั้น ได้เรียบเรียงเขียนหนังสือออกมาเผยแพร่หลายเล่ม หลายชิ้น เช่น เรื่อง ‘การบรรพชาอุปสมบท’ เขียนเมื่อ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2473 และ ‘มหาธรรมบาลชาดก’ พิมพ์แจกเป็นที่ระลึกในงานอุปสมบทของน้องชายคือนายฟัก สุขสาร และงานทำบุญอายุครบสองรอบของมหาแฟง เมื่อราวๆ เดือนกันยายน พ.ศ.2473

ในตอนนั้น เป็นห้วงเวลาเดียวกับที่พระภิกษุแฟงค่อยๆ ทวีความมีชื่อเสียงเลื่องลือโดดเด่นในด้านการเป็นพระนักเทศน์ ดังกล่าวแล้วว่า สมเด็จพระวันรัตมักใช้ให้พระภิกษุหนุ่มผู้นี้ไปเทศน์แทนท่านหลายงาน ล้วนแต่เป็นงานใหญ่โตแทบทั้งสิ้น เฉกเช่น หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ใหม่ๆ ‘พระยาเทพหัสดิน’ (ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) นิมนต์ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ไปแสดงพระธรรมเทศนาที่บ้าน แต่ท่านอาพาธ จึงให้พระภิกษุแฟงไปแทน และก็เทศน์ได้ดีเยี่ยม กลายเป็นที่ชื่นชมกล่าวขวัญในหมู่ญาติโยมผู้มาฟัง

ในการเทศน์มหาชาติคราวหนึ่ง พระภิกษุแฟงขึ้นธรรมาสน์เทศน์กัณฑ์ที่ตนถนัดคือ ทานกัณฑ์ ญาติโยมชั้นสูงผู้มารับฟังคือ ‘พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพงษาดิศรมหิป’ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พอเทศน์จบ กรมหมื่นพงษาฯ ประสงค์จะนิมนต์พระภิกษุหนุ่มนักเทศน์เข้าไปฝึกซ้อมเพิ่มเติมในวัง แต่ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ห้ามไว้และกล่าวว่า “แค่นี้ก็พอฟังดีแล้ว ไม่ต้องไปซ้อมอะไรอีกหรอก” เอ่ยติดตลกพร้อมสวดทำนองกัณฑ์ชูชกที่ท่านกำลังแต่งบทอยู่ “ฉันก็ซ้อมให้ได้ มาเอ้าว่าไปเลยโสชชะโกโอ่โอ๋โอๆ” ส่วนเหตุที่ไม่อนุญาตให้พระภิกษุแฟงไปซ้อมเทศน์ในวัง เพราะหวั่นเกรงว่าพอเข้านอกออกวังบ่อยๆ จิตใจจะไม่มั่นคงอยากลาสิกขา ท่านก็จะสูญเสียเลขานุการและผู้อุปัฏฐาก

ล่วงมาถึงต้นทศวรรษ 2480 พระครูธรรมบาลได้รับแต่งตั้งเป็น ‘พระครูไกรสรวิลาส’ (แฟง ป.6) ช่วงนั้น พระภิกษุหนุ่มแสดง ‘วิทยุธรรมเทศนา เวรสันติกถา’ เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ.2481 เทศน์กัณฑ์นี้ได้รับเกียรตินิยมและรางวัลเป็นอันมาก อีกงานยิ่งใหญ่ที่พระภิกษุแฟงได้ไปร่วมแสดงพระธรรมเทศนาคือ งานปลงศพละสังขารของ ‘พระครูวิหารกิจจานุการ’ (ปาน โสนนฺโท หรือปาน สุทธาวงษ์) ซึ่งชาวบ้านเรียกขานติดปากว่า ‘หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค’ ที่พระนครศรีอยุธยา (ท่านมรณภาพเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ.2481) ทาง ‘พระธรรมไตรโลกาจารย์’ (ช้อย ฐานทตฺโต) รองเจ้าคณะมณฑลและคณะกรรมการจัดงานศพหลวงพ่อปานได้นิมนต์ สมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) ในฐานะเจ้าคณะมณฑลให้มาแสดงพระธรรมเทศนา แต่ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ มีหนังสือแจ้งว่าท่านไปไม่ได้ จึงให้พระครูไกรสรวิลาสไปเทศน์แทนในนามเจ้าคณะมณฑล 

การเดินทางไปเทศนาที่วัดบางนมโค แม้จะสร้างชื่อเสียงให้กับพระภิกษุแฟง แต่ทำให้มีผู้ครหาและมองเขม่นทำนองท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ไม่ไว้วางใจใครอื่นไปกว่าพระหนุ่มที่เป็นเลขานุการส่วนตัว ทั้งๆ ที่น่าจะมอบหมายให้พระธรรมไตรโลกาจารย์ หรือ พระศรีสุธรรมมุนี (อาจ อาสภมหาเถร ต่อมาภายหลังจะเป็นพระพิมลธรรม และถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์​จนถูกถอดสมณศักดิ์) เป็นผู้เทศนาแทนก็ได้ หากทั้งพระธรรมไตรโลกาจารย์ และพระศรีสุธรรมมุนี ล้วนเป็นพระอาจารย์ของ พระครูไกรสรวิลาส จึงมิได้ขุ่นเคืองรังเกียจเดียดฉันท์อะไรต่อศิษย์ของพวกตน พระธรรมไตรโลกาจารย์ถึงกับกล่าวว่า “แฟง บางครั้งแกไม่ต้องกังวลอะไรแบบผู้อื่นหรอก แกถูกดุถูกว่าเหน็ดเหนื่อยมากจากเจ้าคุณสมเด็จฯ กันอโหสิ”

การเป็นพระหนุ่มนักเทศน์ที่ระบือลือเลื่องในปี พ.ศ.2481 ใครกันเล่าจะคาดคะเน พอล่วงเข้าปีถัดมา พระภิกษุแฟงจะตัดสินใจแน่วแน่ว่าอยากสึก ไม่อยากครองเพศสมณะอีกต่อไป พระครูวินัยธรพิมพ์ น้องชายผู้เลือกครองจีวรตลอดชีพ เปิดเผยเรื่องนี้ว่า

ผู้เรียงจำได้ว่า มหาแฟงได้นำบาตรน้ำมนต์ เข้าไปขอลาสึกต่อเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ถึง 3 ครั้ง ในครั้งแรก เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ไม่ยอมสึกให้ ถูกดุ ถูกว่าและอบรมสั่งสอนอยู่นาน จนมหาแฟงใจอ่อนและกลับออกมา เอาน้ำมนต์ที่เตรียมไปเททิ้ง อยู่มาอีกหลังจากนั้นประมาณ 1 เดือนเศษ นำบาตรน้ำมนต์เข้าไปขอลาสึกอีกเป็นครั้งที่สอง ท่านก็ไม่ยอมสึกให้อีก อยู่มาอีกประมาณเดือนเศษ มหาแฟงก็ตัดสินใจนำบาตรน้ำมนต์เข้าไปขอลาสึกอีก ครั้งที่ 3 นี้ ท่านไม่คัดค้าน รับบาตรน้ำมนต์ แล้วก็สึกให้ตอนเช้าเวลา 5.30 น. เศษ ในขณะที่เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ปลดเอาสังฆาฏิ ผ้าพาดออกแล้ว เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ก็เดินเข้าตำหนักไป ผู้เรียงยืนคอยอยู่ข้างล่างถือถาดเสื้อผ้า ได้ยินเสียงพระอันดับสวดชยันโตจบแล้ว ก็กลับไปจนหมด นานแล้วไม่ลงมาผลัดผ้า เห็นนานผิดสังเกตจึงเดินขึ้นบันไดไปมองดู เห็นมหาแฟงนั่งพับเพียบ ร้องไห้สะอึกสะอื้นอยู่ ณ ที่ตรงนั้น นานประมาณ 1 ชั่วโมงเศษ ผู้เรียงยืนดูพลอยต้องร้องไห้ตามไปด้วย เพราะตั้งแต่ผู้เรียงได้เข้ามาอยู่กับโยมพี่มหาแฟง ตั้งแต่ พ.ศ.2476 ถึงวันนี้รวม 7 ปี เห็นโยมพี่มีใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใสในเพศสมณะ และประชาชนๆ ทั่วไปแต่อย่างเดียว ไม่เคยเห็นร้องไห้เศร้าโศรกเสียใจเช่นนี้มาก่อนเลย มหาแฟงคงจะนึกเสียดายในเพศพรหมจรรย์ และคิดห่วงอาลัยที่จะต้องจากเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ผู้มีพระคุณ ไปสู่ในทางโลกใหม่ หมดโอกาส ขาดกัน ไม่มีวันจะได้กลับมารับใช้อยู่ใกล้ชิด สนองพระคุณได้อีกต่อไป จึงได้นั่งคิดและร้องไห้อยู่เช่นนั้นนานพอควร

ครั้นลาสิกขาออกจากร่มกาสาวพัสตร์มาครองวิถีฆราวาส เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2482 นายแฟง ได้สมัครเข้าเรียนมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พร้อมเข้ารับราชการในกระทรวงการคลัง ต่อมาลาออกไปเข้ารับราชการอีกครั้งในกรมการศาสนา มินานก็ย้ายมาเป็นผู้ช่วยผู้จัดการโรงพิมพ์การศาสนา

ถึงจะมิได้เป็นภิกษุแล้ว แต่ใครๆ ก็ยังเรียกขานอดีตพระครูหนุ่มนักเทศน์เสียเคลือบริมฝีปากว่า ‘มหาแฟง’ และถึงจะเป็นมหา แต่ในเมื่อมิได้ห่มผ้าเหลืองจะเป็นชายโสดเดียวดายก็คงเปล่าเปลี่ยวทรวงใน มหาแฟงจึงตัดสินใจมีเมียโดยสมรสกับ ‘นางสาวเครือพันธุ์ เที่ยงวาที’ อยู่กินร่วมกันจนมีบุตรธิดารวม 6 คน ได้แก่ นายชัยสิทธิ์ นายธงชัย นายอภิชิต นายวิญญู นางสาวพรสวรรค์ และเด็กหญิงนิภาภรณ์

สงครามโลกครั้งที่ 2 อุบัติขึ้นในเมืองไทยเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2484 ทอดห้วงเวลาจวบสิ้นสุดลงเมื่อกลางปี พ.ศ.2488 ช่วงระหว่างนี้ ‘ไม่ได้ปรากฏการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไปเลย’ หลังจากมีการเลือกตั้งเมื่อ 12 พฤศจิกายน พ.ศ.2481 กระทั่งมามีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไปอีกหนเมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ.2489 แต่ตามชีวประวัติของมหาแฟง ที่เรียบเรียงโดยพระครูวินัยธรพิมพ์ กลับระบุว่า เขาลาออกจากราชการมาสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกสุดที่จังหวัดสมุทรสงครามบ้านเกิด แพ้คะแนนผู้ที่ได้รับเลือกตั้งคือ ‘หลวงสุทธิถรนฤสาร’ (สุทธิ์ ศุกกระศร) เพียง 2-3 คะแนน

จุดนี้ทำให้ผมขมวดคิ้วกังขา เพราะเท่าที่เคยอ่านเรื่องราวว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในจังหวัดสมุทรสงครามมานั้น ส.ส. คนแรกสุดผู้ได้รับเลือกเมื่อ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2476 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งแบบทางอ้อม (ประชาชนต้องเลือกตั้งผู้แทนตำบลก่อน จากนั้นผู้แทนตำบลที่ได้รับเลือกจะไปเลือก ส.ส.) คือ ‘รองอำมาตย์ตรี สุวรรณ มหัคฆะกาญจน’ ส่วน ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ.2480 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งแบบทางตรง (ประชาชนเลือก ส.ส. ได้เองเลย) คือ พระราชญาติรักษา (ประกอบ บุนนาค) และพอในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ.2481 พระราชญาติรักษาก็ครองตำแหน่งอีกสมัย ล่วงมาถึงการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ.2489 ผู้ได้รับเลือกเป็น ส.ส. คือ นายกฤษณ์ บัวสรวง

ความพิเศษของสมุทรสงครามอยู่ตรงที่ในช่วง 7 ปีกว่าซึ่งไม่มีการเลือกตั้งทั่วไปในเมืองไทย ผมกลับค้นพบข้อมูลเล็กๆ อันไม่ค่อยเป็นที่ทราบกันว่า ช่วงกลางเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2485 ได้ปรากฏ ส.ส. ขึ้นคนหนึ่งชื่อ ‘นายเสวตร์ สุกระสร’ ดำรงตำแหน่งไปจนถึงกลางเดือนตุลาคม พ.ศ.2488 ผมคิดว่า นายเสวตร์คนนี้แหละคือคู่แข่งในการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ครั้งแรกสุดของมหาแฟง แต่ที่พระครูวินัยธรพิมพ์บันทึกไว้ว่าเป็น ‘หลวงสุทธิถรนฤสาร (สุทธิ์ ศุกกระศร)’ น่าจะจดจำชื่อคลาดเคลื่อนหรือเปล่า ส่วนเหตุที่ว่าทำไมต้องมีการเลือกตั้ง ส.ส.จังหวัดสมุทรสงครามขึ้นมาเป็นกรณีพิเศษเพื่อแทนที่พระราชญาติรักษา  คำตอบคือ พระราชญาติรักษาได้ตกเป็นจำเลยในคดีทางการเมืองในฐานะกบฏต่อต้านรัฐบาลที่เรียกกันว่า ‘กบฏพระยาทรงสุรเดช’ เมื่อช่วงต้นปี พ.ศ.2482 ต้องขึ้นศาลพิเศษและถูกพิพากษาคดี เลยต้องพ้นจากตำแหน่ง ส.ส.ไป

การที่มหาแฟงแพ้คะแนนนายเสวตร์เพียงเล็กน้อย ยิ่งทำให้อดีตพระครูนักเทศน์รู้สึกฮึกเหิม หมายมั่นจะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้จงได้ และตั้งปณิธานว่าถ้ายังมีชีวิตอยู่จะลงสมัครรับเลือกตั้งทุกครั้ง พอถึงการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ.2489 มหาแฟงก็ลงสมัคร ส.ส. ที่จังหวัดสมุทรสงครามอีกหน แต่พ่ายแพ้ให้กับ นายกฤษณ์ บัวสรวง 

นายเสวต สุกระสร
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรสงคราม พ.ศ.2485-2488
นายกฤษณ์ บัวสรวง
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรสงคราม พ.ศ.2489

ต่อมามีการจัดให้เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ.2489 คราวนี้ มหาแฟงไม่ลงสมัคร ส.ส. ที่จังหวัดสมุทรสงครามแล้ว แต่มาสมัครในเขตจังหวัดพระนครแทน ‘ป. อินทรปาลิต’ นักเขียนเจ้าของผลงานหัสนิยายชุด ‘สามเกลอ พล นิกร กิมหงวน’ ได้ให้ตัวละครเอ่ยถึง มหาแฟงในการเลือกตั้งครั้งนี้ผ่านตอน ‘สาวใช้คนใหม่’ ดังบรรยายฉากว่า

“เย็นวันนั้น คือเย็นวันที่ 4 สิงหาคม

ที่เรือนต้นไม้ของหน้าตึกใหญ่แห่งบ้าน ´พัชราภรณ์´ ดร. ดิเรกกับกิมหงวนกำลังนั่งสนทนากันอย่างเงียบๆถึงเรื่องการเลือกตั้งในวันพรุ่งนี้”

เสี่ยกิมหงวนกับ ดร.ดิเรก กำลังดวดเหล้าแม่โขงกัน จึงตั้งใจจะเลือกพรรคแม่โขง พอดีกับที่รถยนต์ของพลและนิกรแล่นกลับเข้ามาในบ้าน หลังจากไปร่วมงานพระราชทานเพลิงศพเพื่อนคนหนึ่ง ณ วัดไตรมิตร ทั้งสี่คนจึงมาหยุดคุยกันตรงเรือนต้นไม้ ดร.ดิเรกหยอกกระเซ้าพลว่า

“รู้น่า แกคงจะเลือกมหาแฟง เพราะแกงกินได้”

นายพัชราภรณ์กลืนน้ำลายเอื๊อก

“ใครบอกวะ?”

“เปล่า กันเดาเอา”

“มหาแฟงอยู่คนละเขตโว้ย”

มหาแฟงคงจะมีสีสันไม่เบาในการลงสมัครรับเลือกตั้งแต่ละครั้ง ขนาดนักประพันธ์ยอดนิยมแห่งยุคอย่าง ป.อินทรปาลิต ยังอดพาดพิงถึงมิได้

ตลอดทศวรรษ 2490 เมื่อมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกิดขึ้น มหาแฟงจะลงสมัครรับเลือกตั้งเสมอๆ โดยลงสมัครในเขตจังหวัดพระนคร แม้ตอนหลังจะเริ่มมีพรรคการเมืองให้สังกัดแล้ว แต่เขาไม่ยอมสังกัดพรรคใด สมัครแบบอิสระและใช้เงินส่วนตัวในการหาเสียง จนกลายเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงไปทั่วในฐานะผู้ชื่นชอบการลงสมัคร ส.ส. เฉกเช่นในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2495 มหาแฟงประสบความพ่ายแพ้ แต่มิวายสงสัยว่าทีม 6 แรงแข็งขันที่คว้าชัยชนะ ซึ่งสมาชิกเป็นคนของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามน่าจะโกงเลือกตั้ง เขาจึงไปฟ้องร้องต่อศาลให้ผลการเลือกตั้งในกรุงเทพฯ เป็นโมฆะ นิตยสารข่าวรายสัปดาห์ สยามสมัย ประจำวันจันทร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2495 รายงานว่า

ในระหว่างที่มีข่าวจากต่างจังหวัดว่าได้มีการฟ้องร้องเกี่ยวกับการเลือกตั้งหลายราย ในพระนครไม่น้อยหน้าต่างจังหวัด เบื้องแรกลือกันว่าทีม 6 แรงแข็งขันของพระนคร (ประพัฒน์ วรรธนสาร, ขุนปลดปรปักษ์, เพทาย อมาตยกุล, โชติ คุณเกษม, ฉัตร์ ศรียานนท์ และ จิตเสน ไชยาคำ) เกิดแตกแยกกันขึ้น

ข่าวแตกแยก คนไม่สู้สนใจเท่าใดนัก แต่เมื่อมหาแฟง สุขสาร ผู้สมัคร์เบอร์ 12 ยื่นคำ ร้องต่อศาลค้านการเลือกตั้งในพระนครว่าเปนโมฆะ เพราะปรากฏว่าผู้ที่ตายแล้วยังมีสิทธิ์เลือก ตั้งอยู่ ศาลรับฟ้องไว้แล้วตั้งแต่วันที่ 14 และนัดไต่สวนในวันที่ 31 มีนาคม 6 แรงแข็งขันจะอยู่ หรือจะไป อดใจเอาไว้ทราบในวันตัดสิน

มหาแฟงอาจเป็นขวัญใจสำหรับคนไทยผู้ติดตามข่าวสารการเลือกตั้ง เพราะลงสมัคร ส.ส. ถึง 13 ครั้งอย่างไม่ย่อท้อและไม่ยอมถอดใจง่ายๆ เขาลงสมัครที่สมุทรสงคราม 2 ครั้ง และในจังหวัดพระนคร 11 ครั้ง รวมทั้งสิ้น 13 ครั้ง แต่มิเคยได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสักหน ครั้งสุดท้ายที่ลงสมัครคือในการเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปเมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ.2518 คราวนี้จะสมัครแบบอิสระมิได้ จึงไปเข้าสังกัดพรรคราษฎรที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2517 เป็นพรรคของ ไถง สุวรรณทัต ผู้ได้รับฉายา ‘ส.ส. ขาด้วน’ หรือ ‘นักการเมืองสามขา’ เพราะเคยถูกปาระเบิดใส่ตอนยืนปราศรัยหาเสียงในช่วงทศวรรษ 2490 จนต้องสูญเสียขาไปข้างหนึ่ง ผลก็คือมหาแฟงไม่ได้รับเลือกให้เป็น ส.ส. อีกตามเคย

ช่วงที่พยายามจะเป็น ส.ส. ให้ได้ แต่ไม่ได้เป็นสักทีนั้น มหาแฟงก็สวมบทบาทเป็นเจ้าพิธีแบบพุทธพราหมณ์ไปพลางๆ เมื่อวัดไหนในประเทศไทยจะกระทำพิธีพุทธาภิเษก จะปลุกเสกวัตถุมงคลเครื่องรางของขลังสารพัดรูปแบบ หรือจะมีพิธีวางศิลาฤกษ์โบสถ์วิหารและอาคารอื่นๆ แล้ว เจ้าอาวาสวัดต่างๆ หรือฆราวาสที่เคยรู้จักมักคุ้นกับมหาแฟง ย่อมติดต่อขอเชิญให้เขาไปกระทำพิธีเหล่านั้น บ่อยครั้งที่มหาแฟงเป็นผู้สังเวยเซ่นบวงสรวงอัญเชิญเทวดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้มาร่วมพิธี และบ่อยหนที่ร่วมกับพระเกจิอาจารย์ท่านอื่นๆ นั่งบริกรรมคาถาปลุกเสกวัตถุมงคลต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น การทำพิธีบวงสรวงงานปิดทองลูกนิมิตที่จะอัญเชิญไปยังประเทศมาเลเซีย ณ ลานอโศก วัดมหาธาตุฯ การพรมน้ำมนต์ไล่ภูติผีในพิธีสวดภาณยักษ์ที่วัดด่านสำโรง สมุทรปราการ การทำพิธีวางศิลาฤกษ์พระอุโบสถ ที่วัดตะปอนใหญ่ จังหวัดจันทบุรี การทำพิธีพุทธาภิเษกครั้งใหญ่ที่วัดพระธาตุพนม จังหวัดนครพนม การทำพิธีพุทธาภิเษกที่วัดพนัญเชิง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และการทำพิธีวางศิลาฤกษ์โรงงานญี่ปุ่น เป็นต้น 

มหาแฟง ขณะเป็นเจ้าพิธีกรพุทธพราหมณ์

มหาแฟง ยังได้รับฉายา ‘โฆษกลิ้นทอง’ เพราะสามารถพูดเจรจาเชิญชวนให้ญาติโยมสาธุชนทั้งหลายมาร่วมทำบุญทำทานช่วยเหลือวัดวาอารามต่างๆ เช่น เมื่อวัดจันทร์เจริญสุขใกล้ๆ ถิ่นภูมิลำเนาจะหล่อพระประธานองค์ใหญ่โดยจัดงานทั้งสิ้น 3 วัน โฆษกคนอื่นพูดเชิญชวนมาแล้ว 2 วัน ยังไม่ค่อยมีใครมาทำบุญ เผอิญมหาแฟงไปเยี่ยมเยียน ‘พระครูใบฎีกาสาย’ เจ้าอาวาส จึงช่วยเป็นโฆษกพูด ปรากฏมีคนมาร่วมทำบุญกันจำนวนมาก หรือที่วัดเขาสมุก อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่ง พระครูวินัยธรพิมพ์ ผู้เป็นน้องชาย เป็นเจ้าอาวาสอยู่ เมื่อทราบว่ายังไม่มีพระอุโบสถ มหาแฟงก็ช่วยพูดเชิญชวนญาติโยมให้ร่วมกฐินสามัคคี จนมีเงินทุนสร้างพระอุโบสถเป็นจตุรมุขสองชั้น ยาวเก้าห้อง ครึ่งไม้ครึ่งตึก มีกำแพงแก้วล้อมรอบพระอุโบสถ

มหาแฟง ยังคิดที่จะทำให้พัทธสีมาแปดทิศมีความแปลกใหม่ไม่เหมือนวัดไหน จึงหล่อองค์พระที่ศักดิ์สิทธิ์ติดใบพัทธสีมา ได้แก่หลวงพ่อพระแก้วมรกต หลวงพ่อวัดบ้านแหลม หลวงพ่อโสธร หลวงพ่อบางพลี หลวงพ่อเขาตะเครา หลวงพ่อวัดไร่ขิง หลวงพ่อพระพุทธสิหิงค์ และหลวงพ่อนาคในวิหารน้อยโพธิลังกา วัดมหาธาตุฯ ความคิดเช่นนี้ มหาแฟง ให้เหตุผลว่าตอนที่นาคเข้าวันทาสีมา ก็ให้กราบพระเสียโดยตรงเลย ดีกว่าให้กราบใบสีมาที่เป็นหินและปูน เมื่อสมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อยู่ ญาโณทยมหาเถร) แห่งวัดสระเกศเสด็จมาทำพิธีพุทธาภิเษกที่วัดเขาสมุก ก็ทรงชมเชยความคิดของ มหาแฟง

ราวเดือนเมษายน พ.ศ.2518  มหาแฟงล้มป่วยด้วยอาการความดันโลหิตกำเริบสูง อ่อนเพลียไม่มีแรง ใจสั่นเจียนจะเป็นลม พอพระครูวินัยธรพิมพ์ มาเยี่ยมไข้และสัพยอกว่าอีก 4 ปีข้างหน้าก็สมัครผู้แทนได้อีก บางทีคราวนี้อาจจะได้เป็น ส.ส. เสียที มหาแฟงก็หัวเราะชอบใจพร้อมบอกว่า ปีหน้าอาจมีการเลือกตั้งกันใหม่อีก ถ้าปีนี้ยังไม่ตาย ปีหน้าคงลงสมัครผู้แทนอีกหน ล่วงเข้าเดือนกรกฎาคม อาการป่วยของมหาแฟงเพียบหนักจนปัสสาวะรดเปียกที่นอน พูดไม่ได้ ทางครอบครัวจึงนำตัวส่งโรงพยาบาลวชิระสามเสน หมอวินิจฉัยว่าเส้นโลหิตฝอยในสมองแตก มือเท้าตายไปแถบหนึ่ง เลยขยับตัวเคลื่อนไหวไม่ได้ กระทั่งคืนวันเสาร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ.2518 มหาแฟงก็หมดสิ้นลมหายใจที่โรงพยาบาลนั้นเอง

มหาแฟง หรือนายแฟง สุขสาร ในวัยชรา

ในปี พ.ศ.2519 มีการยุบสภานับตั้งแต่เดือนมกราคม และจะจัดให้เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นในวันที่ 4 เมษายน มหาแฟงคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าไม่ผิด แต่เขาอำลาโลกใบนี้ไปเสียแล้ว

พระราชอารมณ์ขันของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ว่า “ถ้าฉันไปเลือกตั้ง ฉันจะเลือกนายแฟง สุขสาร” คงสะท้อนให้เห็นถึงกรณีที่ มหาแฟงขยันลงสมัครรับเลือกตั้งหลายครั้งเหลือเกิน แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จได้เป็น ส.ส. เลย พระองค์จึงตรัสในเชิงล้อทำนองว่าน่าจะลองเลือกนายแฟงคนนี้บ้าง

มหาแฟง คือบุคคลหนึ่งในโฉมหน้าประวัติศาสตร์ไทยที่ผมรู้สึกพิสมัยต่อชีวประวัติของเขา พอแว่วยินข่าวที่รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชาประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ.2566 และกำลังจะจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน ผมจึงถือเอาโอกาสนี้ทดลองนำเสนอเรื่องราวของชายผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. มากถึง 13 ครั้ง แต่ไม่ได้รับเลือกเลย เพื่อแบ่งปันความเพลิดเพลินไปยังคุณผู้อ่านทั้งหลายในสภาวะที่อากาศร้อนอบอ้าวและสภาพการเมืองร้อนรุ่ม


เอกสารอ้างอิง

กรมโฆษณาการ. คำพิพากษาศาลพิเศษ พุทธศักราช 2482 เรื่องกบฏ. พระนคร: โรงพิมพ์พาณิช

          ศุภผล, 2482

กฤษณา ไวสำรวจ, รองศาสตราจารย์ ดร..นักการเมืองถิ่นจังหวัดสมุทรสงคราม. กรุงเทพฯ :

          สำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า, 2555.

โกษากรวิจารณ (บุญศรี ประภาศิริ), พระยา. รายงานการสร้างพระไตรปิฎกสยามรัฐ พุทธศักราช

2473. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์พาณิชสรรพอุดม, 2473

ไกรสรวิลาส (แฟง  สุขสาร ป.6),พระครู. วิทยุธรรมเทศนา เวรสันติกถา. ธรรมบรรณาการในการ

          ฌาปนกิจศพ คุณแม่เพิ่ม สุขสาร และ นายบัว  สุขสาร ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม พระนคร วัน

          เสาร์ที่ 30 เมษายน 2503. พระนคร: โรงพิมพ์อาศรมอักษร, 2503

เทพ สุนทรศารทูล. ฅนอายุยืน. กรุงเทพฯ: พระนารายณ์, 2539

ธนิต อยู่โพธิ์. ตำนานสมณศักดิ์ พระวันรัต และ สมเด็จพระราชาคณะผู้ทรงสมณศักดิ์ สมเด็จ

          พระวันรัตในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : ศิวพร, 2516

ธนิต อยู่โพธิ์. ประวัติ สมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารีมหาเถระ ป.9). ศิษยานุศิษย์พิมพ์เป็นอนุสรณ์

          เนื่องในงานครบรอบ 100 ปี ของ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารีมหาเถระ ป.๙)

          วันที่ 30-31 มกราคม และ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2525. กรุงเทพฯ : ม.ป.พ., 2525

ประวัติหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค. พิมพ์เป็นบรรณาการในการพระราชทานเพลิงศพ หลวงอรรถ

          ไกวัลวที ม.ว.ม., ป.ช. ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 2 เมษายน

          พ.ศ. 2516. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์สนิทพันธ์การพิมพ์, 2516

ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์. รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (2475-2517). กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด

          ช.ชุมนุมช่าง, 2517.

พีระพงศ์ ดามาพงศ์. (พล.ต.ท.). ท่องอดีตกับสามเกลอ เล่ม 6.  กรุงเทพฯ : บริษัท สามเจริญ

          พาณิชย์จำกัด, 2552

วีระ เลิศสมพร (รวมรวมและเรียบเรียง). ชื่อ ฉายา และสมญานามทางการเมืองไทย พ.ศ. 2475-

          2545 เล่ม 1.  เชียงใหม่ : พงษ์สวัสดิ์การพิมพ์, 2546.

สยามสมัย. ปีที่ 5 ฉบับที่ 254 (24 มีนาคม 2495)

อนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นายแฟง (มหาแฟง) สุขสาร ณ เมรุวัดหัวลำโพง สามย่าน วันอังคารที่

          30 มีนาคม 2519. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์รวมการพิมพ์, 2519

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save