fbpx
การเมืองเรื่องลูก : นโยบายแบบไหนที่ทำให้คนพร้อมสร้างครอบครัว?

การเมืองเรื่องลูก : นโยบายแบบไหนที่ทำให้คนพร้อมสร้างครอบครัว?

วจนา วรรลยางกูร เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

การตัดสินใจจะมีลูกสักคนไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่มีลูกน้อยและช้าลงเพราะต้องการความมั่นคงทางอาชีพการงาน ต้องการให้ลูกเติบโตมาในสังคมที่สามารถแสวงหาคุณภาพชีวิตที่ดีและโอกาสพัฒนาชีวิตได้โดยไม่ถูกกีดกันด้วยฐานะทางเศรษฐกิจ ไปจนถึงปัญหาเศรษฐกิจที่เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจมีลูก

ปัญหาหลากมิติต่างเชื่อมโยงกันกลายเป็นเหตุผลต่อการเกิดขึ้นของชีวิตหนึ่ง ไม่มีใครอยากให้ลูกตัวเองเกิดมาในสภาพแวดล้อมที่แย่ และเมื่อเขาเกิดขึ้นมาแล้วก็ควรได้รับการเลี้ยงดูอย่างเหมาะสม โดยที่พ่อแม่ไม่ต้องเสียสละความก้าวหน้าในอาชีพการงาน เมื่อบทบาทความเป็นพ่อแม่และคนทำงานสามารถเกิดขึ้นควบคู่กันได้

การผลักดันเชิงนโยบายของภาครัฐก็มีส่วนสำคัญที่จะทำให้คนตัดสินใจมีลูกได้ง่ายขึ้น เช่น นโยบายเกี่ยวกับแม่และเด็กโดยตรง อย่างการขยายวันลาคลอดโดยได้รับค่าจ้าง การให้พ่อลางานมาช่วยเลี้ยงลูกได้ การมีเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด การมีศูนย์เลี้ยงเด็กในสถานประกอบการ หรือปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ที่จะทำให้พ่อแม่มั่นใจมากขึ้นได้ว่าลูกของเขาจะเติบโตมามีคุณภาพชีวิตที่ดี ด้วยสวัสดิการรัฐต่างๆ ทั้งการศึกษา คมนาคม การประกอบอาชีพ การเลี้ยงดูคนชรา

ช่วงก่อนการเลือกตั้งทุกพรรคการเมืองได้แข่งขันกันนำเสนอนโยบายซื้อใจประชาชน มอบคำสัญญาว่าจะทำให้คุณภาพชีวิตประชาชนดีขึ้น แต่สิ่งสำคัญกว่าคำสัญญาคือการลงมือทำให้สำเร็จ เมื่อถึงเวลาที่รัฐบาลจากการเลือกตั้งพร้อมทำงานตามนโยบายที่ให้ไว้ ประชาชนก็มีหน้าที่ติดตามตรวจสอบว่าผู้แทนราษฎรและพรรคการเมืองที่มีบทบาทเชิงนโยบายได้ทำตามที่เคยให้สัญญาไว้จริงหรือไม่

 

พลังประชารัฐ : สภาพที่ทำงานเหมาะสม เสริมแม่ทำงานได้ต่อเนื่อง

 

ภาพจากแฟนเพจเฟซบุ๊ก อุ๋ม ธณิกานต์ พรรคพลังประชารัฐ เขตบางซื่อ-ดุสิต

 

พรรคพลังประชารัฐมีนโยบายเกี่ยวกับแม่และเด็กที่เปิดตัวในช่วงเลือกตั้ง คือ ‘มารดาประชารัฐ’ ให้เงินสนับสนุนช่วงตั้งครรภ์เดือนละ 3,000 บาท ช่วยค่าทำคลอด 10,000 บาท ให้ค่าเลี้ยงดูบุตรเดือนละ 2,000 บาท จนอายุครบ 6 ปี รวมเงินทั้งสิ้น 181,000 บาทต่อเด็ก 1 คน

ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส.กทม. และ ประธานคณะกรรมการนโยบายสตรีและกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐบอกว่านโยบายของพรรคที่เกี่ยวกับสตรีกำลังพูดคุยกับผู้นำสตรีหลายภาคส่วนว่าควรจะพัฒนาไปอย่างไร สิ่งสำคัญคือการรับฟังเสียงจากภาคประชาชนและทำให้ภาครัฐได้ยินเสียงเรียกร้องเหล่านี้ชัดเจนขึ้น เพื่อที่จะทำนโยบายได้ตรงจุด

ธณิกานต์ตั้งใจจะเข้ามาเป็นตัวกลางที่จะช่วยประสานระหว่างผู้นำสตรีที่เป็นคนขับเคลื่อนทางสังคมกับภาครัฐ โดยประเด็นสตรีจะเกี่ยวข้องกับหลากหลายด้าน เช่นเรื่องพาณิชย์จะทำยังไงให้ผู้หญิงหาเลี้ยงตัวเองได้ มีกิจการและมีความรู้มากขึ้น เป็นแรงงานที่มีคุณภาพจนถึงวัยเกษียณ

“ก่อนจะออกเป็นนโยบายต้องมีการพูดคุยหลายภาคส่วน และมีข้อเท็จจริงเชิงสถิติ ที่ผ่านมาเป็นการเรียกร้องโดยอารมณ์ เรียกร้องในสิ่งที่คิดว่าน่าจะได้เลยไม่ใช่สิ่งที่ยั่งยืน ตอนนี้เรากำลังเอาข้อมูลมากางดูกันเลยว่าข้อเท็จจริงปัจจุบันตามสถิติเป็นอย่างไร ทำไมต้องนำงบประมาณของรัฐไปใช้กับนโยบายส่วนนี้”

ธณิกานต์มองว่าสาเหตุที่คนมีลูกน้อยลงเพราะเป็นเทรนด์ของคนรุ่นใหม่ที่จะแต่งงานช้าลง มีครอบครัวขนาดเล็กลง คนเกิดใหม่น้อย ประเทศไทยจึงเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

“ถ้าเราเป็นรัฐบาลคงไม่กระตุ้นให้เขาสร้างประชากรมากขึ้น เพราะการตัดสินใจมีลูกเป็นทางเลือกที่แต่ละคนมีเหตุผลส่วนตัวแตกต่างกัน แต่รัฐจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกให้ครบถ้วน ทั้งการศึกษา การคมนาคมขนส่ง เดินทางไร้รอยต่อ เอาเทคโนโลยีมาทำให้คนเข้าถึงการศึกษาได้มากขึ้น”

ธณิกานต์เห็นด้วยต่อข้อเสนอของหลายฝ่ายว่าสถานประกอบการควรสร้างสวัสดิการเพื่อเอื้อต่อคนมีลูกและการสร้างครอบครัว เช่นการสร้างศูนย์เลี้ยงเด็กในสถานประกอบการ โดยต้องมีโครงการนำร่องก่อนเพราะหากจะออกกฎหมายบังคับให้ทำเลยจะเป็นการผลักค่าใช้จ่ายไปสู่เอกชน

“ปัจจุบันศูนย์เลี้ยงเด็กสำหรับเด็กแรกเกิดถึง 3 ปีจะไม่ค่อยมี ส่วนใหญ่จะรับเด็ก 3 ปีขึ้นไป ถ้าเรามีศูนย์เลี้ยงเด็กตั้งแต่แรกเกิดจะทำให้แม่กลับมาทำงานได้ทันที ไม่ต้องกังวลว่าทำอย่างไรจึงจะเลี้ยงลูกเล็กด้วยนมแม่ได้ ถ้าสถานประกอบการให้ความร่วมมือหรือหน่วยงานรัฐมีศูนย์เลี้ยงเด็กสำหรับพนักงานที่มีบุตรจะเป็นสิ่งที่ดีต่อเด็ก เพราะบทบาทของผู้หญิงไม่ใช่เพียงแค่เลี้ยงดูลูกหรือพ่อแม่อีกแล้ว แต่เราเข้ามาสู่การทำงานด้วย ถ้าสถานที่ทำงานมีชั่วโมงทำงานที่เอื้อให้เขาแวะไปให้นมบุตรได้ ทำให้เขารู้สึกว่าศูนย์เลี้ยงเด็กปลอดภัยสำหรับลูกของเขาก็จะทำให้เขาทำงานได้ต่อเนื่อง”

เธอยอมรับว่าการผลักดันนโยบายของภาครัฐไม่ใช่เรื่องที่จะตัดสินใจได้จากคนเดียว ต้องผ่านการพูดคุยจนเข้าใจกันว่าทำไมจึงมีความจำเป็นที่จะต้องทุ่มงบประมาณกับเรื่องนี้

“พรรคพลังประชารัฐมีโครงการเรื่องมารดาประชารัฐ ภาครัฐให้การสนับสนุนเพื่อให้แม่ที่ตั้งครรภ์ไม่ต้องกังวลต่อค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการเลี้ยงดูเด็กหนึ่งคน เพราะนี่คืออนาคตของประเทศ ซึ่งมีการแย้งว่าทำไมต้องใช้งบไปกับส่วนนี้ เป็นสิ่งที่เราต้องสู้กันด้วยข้อมูลต่อไป”

ส่วนเรื่องการขยายวันลาคลอดเป็น 180 วัน ธณิกานต์มองว่าเป็นไปได้ แต่ข้อเสนอเรื่องให้พ่อลาเลี้ยงบุตรได้นั้นต้องดูข้อมูลประกอบว่าเพียงพอต่อการเรียกร้องเรื่องนี้ไหม เพราะพรรคเป็นเพียงตัวกลางให้แรงงานกับผู้ประกอบการตกลงกันได้

“ถ้าภาครัฐออกข้อกำหนดมาบังคับใช้เลยแล้วผู้ประกอบการไม่พอใจล่ะ เราจึงต้องมีข้อมูลไปนำเสนอ เช่น ถ้าลูกได้รับการเลี้ยงดูจากพ่อแม่ในช่วง 6 ปีแรกจะเป็นอย่างไร ทำไมต้องหยุด 180 วัน ทำไมพ่อต้องหยุดด้วย แล้วจะมั่นใจได้อย่างไรว่าพ่อไม่ได้หยุดไปเที่ยวแต่เอาเวลาไปใช้กับลูกและครอบครัวจริงๆ เงินชดเชยวันลาคลอดที่เพิ่มขึ้นมาภาคเอกชนก็ไม่อยากแบกรับภาระ จะมีข้อโต้แย้งตามมา ส่วนนี้จึงยังไม่ได้สรุป”

ธณิกานต์ยืนยันว่าต่อให้ไม่ได้เป็นพรรครัฐบาลก็จะทำงานเพื่อผลักดันประเด็นสตรีต่อไป เพราะเชื่อว่าสามารถช่วยผลักดันประเด็นเหล่านี้ได้ไม่ว่าจะทำงานอยู่ส่วนไหนก็ตาม แต่ในฐานะ ส.ส. จะสามารถเสนอนโยบายให้ออกมาเป็นกฎหมายได้ ซึ่งหากออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องสำเร็จแล้วก็อยู่ที่การนำไปใช้ของกระทรวงต่างๆ ต่อไป

 

เพื่อไทย : ก้าวแรกของครอบครัวเริ่มที่ความเข้าใจ

 

ภาพจากแฟนเพจเฟซบุ๊ก ลดาวัลลิ์ / ladawan wongsriwong

 

สำหรับการสร้างครอบครัวในมุมมองของพรรคเพื่อไทยนั้น สิ่งสำคัญคือการให้ความรู้เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการมีครอบครัว

ลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ โฆษกพรรคเพื่อไทยและอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม บอกว่าทางพรรคมีนโยบาย ‘โรงเรียนพ่อแม่’ เป็นหลักสูตรให้ความรู้ทั้งในสถานศึกษาและนอกสถานศึกษาเพื่อทำให้คนเห็นความสำคัญของการมีครอบครัวที่ดีตั้งแต่เด็ก

การให้ความรู้ในสถานศึกษาต้องมีหลักสูตรการเรียนตั้งแต่เด็ก โดยเฉพาะช่วงเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น ให้ได้เรียนรู้ทักษะการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง เห็นความสำคัญของบทบาทพ่อและแม่ อันจะนำไปสู่ความพร้อมก่อนจะสร้างครอบครัว เช่นจะต้องมีการศึกษาและอาชีพการงาน ขณะที่ใครต้องการเรียนต่ออาชีวศึกษาที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานทำให้เข้าสู่การทำงานได้เร็ว ทางพรรคเพื่อไทยก็มีนโยบายให้ทุนการศึกษาเพื่อเรียนฟรี

“ในสถานศึกษา เราจะมีโครงการรณรงค์เพื่อลดปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรทั้งหญิงและชาย และลดปัญหาแม่วัยใสไปพร้อมกัน ขณะเดียวกันเด็กต้องเห็นความสำคัญเรื่องการใช้ชีวิตคู่ว่าต้องเตรียมพร้อมอย่างไร เลือกคู่ครองอย่างไร ก่อนมีลูกต้องตรวจเลือดทั้งหญิงชาย เป็นข้อมูลตัดสินใจถ้าคู่รักไม่มีความพร้อมหรือมีโรคประจำตัวที่อาจถ่ายทอดไปยังลูกได้ เพื่อป้องกันเด็กเกิดมามีความบกพร่องทางร่างกายและสติปัญญา ซึ่งลดความพิการในอนาคตได้

“จากนั้นต้องทำให้คนหนุ่มสาวตระหนักเรื่องความรุนแรงในครอบครัวทั้งทางร่างกายและวาจา ซึ่งเป็นสาเหตุใหญ่ของการหย่าร้าง เพราะสิ่งที่เราห่วงมากคือเด็กกำพร้าที่ครอบครัวหย่าร้าง เหล่านี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ซึ่งครอบครัวจะอบอุ่นเข้มแข็งได้ถ้าเรารณรงค์เรื่องพวกนี้ไปพร้อมกัน”

อีกด้านหนึ่งคือการให้ความรู้ผ่านหลักสูตรของ กศน. และคนหนุ่มสาวที่ไม่ได้เข้าสู่การศึกษา เช่น การรณรงค์ตามบริษัทหรือโรงงานต่างๆ ให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานและภาคเกษตรกร โดยให้ความรู้เรื่องความรับผิดชอบหลังมีครอบครัว การเลี้ยงดูบุตรให้เป็นทรัพยากรบุคคลที่มีค่าของสังคม

ลดาวัลลิ์ บอกว่าโครงการเหล่านี้ต้องช่วยกันดำเนินการหลายกระทรวง ทั้งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงแรงงาน หรือกระทั่งกระทรวงกลาโหมที่ต้องให้ความรู้กับทหารเกณฑ์ที่ยังไม่มีครอบครัวด้วย โดยต้องวางแผนทำงานอย่างบูรณาการทั้งระยะสั้นและระยะยาว

เมื่อคนมีลูกน้อยลงและสังคมผู้สูงอายุจะเข้ามาแทนที่ สิ่งสำคัญคือสิ่งจูงใจให้คนตัดสินใจมีลูก พรรคเพื่อไทยจึงมีนโยบายจูงใจให้คู่หนุ่มสาวแต่งงานและมีลูกดังนี้

– เมื่อแม่ตั้งครรภ์ต้องมีเงินอุดหนุนเดือนละ 1,000-1,200 บาท ไปจนถึงเด็กอายุ 7 ขวบ เพื่อให้มีเงินใช้จ่ายสำหรับบุตร หากเศรษฐกิจดีก็สามารถเพิ่มเงินอุดหนุนได้อีก

– อุดหนุนการศึกษาให้เด็กได้เรียนฟรีจริง

– โครงการกองทุนสตาร์ทอัพ สำหรับเด็กจบใหม่เริ่มต้นประกอบธุรกิจ เป็นกองทุนให้กู้ยืมที่ให้ระยะเวลาผ่อนนานและดอกเบี้ยน้อย เพื่อให้คนตั้งตัวได้ ทำให้ดำรงครอบครัวและชีวิตคู่อย่างเป็นสุข และต้องปรับแก้กฎหมายเพื่อลดค่าใช้จ่ายและเอื้อต่อการจดทะเบียนก่อตั้งธุรกิจขนาดเล็ก

– ฝึกอบรมผู้ใช้แรงงานเพื่อยกระดับฝีมือแรงงานและต่อยอดไปเป็นแรงงานฝีมือในต่างประเทศ มีรายได้และอาชีพที่มั่นคงช่วยเสริมให้ดูแลครอบครัวได้อย่างเข้มแข็ง

– ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตามภาวะเศรษฐกิจ ผ่านการเจรจาระหว่างนายจ้าง ลูกจ้าง และภาคราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

นอกจากนี้สวัสดิการต่างๆ ที่ครบวงจรทุกมิติจะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงในชีวิต สิ่งหนึ่งที่ลดาวัลลิ์มองว่าเป็นเรื่องสำคัญคือต้องรณรงค์ให้มีการออม ผลักดันให้คนเข้าสู่กองทุนต่างๆ เช่น กองทุนประกันสังคม กองทุนเงินทดแทน เพื่อให้คนมีสวัสดิการที่ดีเมื่อออกจากงานหรือพิการ

“เหตุที่คนรุ่นใหม่ตัดสินใจมีลูกน้อยลงน่าจะเป็นเพราะเรื่องเศรษฐกิจเป็นหลัก เขาไม่พร้อม ค่าใช้จ่ายเยอะ ค่ารถเมล์ก็ขึ้นอีก แต่พรรคเพื่อไทยมั่นใจว่าถ้าเราเป็นรัฐบาลจะฟื้นเศรษฐกิจได้ใน 6 เดือนแรก เพราะเราเคยทำมาแล้ว ทุกครั้งที่เราเป็นรัฐบาลเศรษฐกิจดีตลอด

“ที่ผ่านมาการแก้ปัญหาสังคมทำได้ไม่ค่อยสมบูรณ์ เพราะรัฐบาลอยู่ไม่นานก็ต้องยุบสภา เกิดการยึดอำนาจ เปลี่ยนรัฐมนตรีบ่อย นโยบายไม่ต่อเนื่อง นี่คือจุดอ่อนที่เราต้องช่วยกันกระทุ้งให้นโยบายต่อเนื่องทุกรัฐบาล ไม่ให้ชะงักแล้วต้องนับหนึ่งใหม่เรื่อยๆ เพราะจะกระทบถึงประชากรกลุ่มอ่อนแอและสถาบันครอบครัว ส่งผลให้สังคมแย่ตามไปด้วย” ลดาวัลลิ์กล่าว

 

ประชาธิปัตย์ : เพิ่มวันลาคลอด รัฐจ่ายชดเชยเพิ่มให้แม่

 

ภาพจากแฟนเพจเฟซบุ๊ก ดร.รัชดา ธนาดิเรก – พรรคประชาธิปัตย์ เขตบางพลัด-บางกอกน้อย

 

สำหรับพรรคประชาธิปัตย์มีนโยบายเกี่ยวกับแม่และเด็กที่ชัดเจนซึ่งเป็นประเด็นที่ชูขึ้นมาอย่างโดดเด่นตั้งแต่ช่วงหาเสียง

รัชดา ธนาดิเรก กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ บอกว่า การส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่มีครอบครัวต้องอยู่บนพื้นฐานของความพร้อม ให้คนเข้าใจบทบาทภาระหน้าที่ของพ่อแม่ บทบาทชายหญิงในสังคม ความรับผิดชอบต่อสังคม และเรื่องเพศศึกษาที่ต้องเริ่มตั้งแต่หลักสูตรการเรียนในชั้นประถม

“เมื่อเขาเติบโตขึ้นมาเป็นคนทำงานในวันนี้จะมีปัญหาเรื่องไม่มีความมั่นคงในอาชีพและไม่มีเวลาเลี้ยงลูก พรรคประชาธิปัตย์เสนอให้ขยายวันลาคลอดจาก 3 เดือนเป็น 6 เดือน คือ 180 วันตามมาตรฐานที่ ยูเอ็นวูแมน สนับสนุน แต่สิ่งที่แตกต่างจากพรรคอื่นคือเราเข้าใจดีว่าถ้าประกาศเพิ่มวันลาคลอดขึ้นมาจะเป็นภาระของผู้ประกอบการและอาจทำให้เขาปฏิเสธรับผู้หญิงเข้าทำงานหรือให้ออกจากงานเมื่อรู้ว่าท้อง ประชาธิปัตย์เห็นว่าเงินชดเชยช่วงลาคลอดที่เพิ่มขึ้นมารัฐต้องเป็นผู้จ่ายเงินให้แม่มีรายได้ตามค่าแรงขั้นต่ำ ถือว่าเป็นหน้าที่ของภาครัฐกับเอกชนต้องช่วยกันเพื่อเราจะได้มีเด็กที่เติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพ”

นโยบายอีกเรื่องที่โดดเด่นของพรรคคือ ‘เกิดปั๊บรับสิทธิ์เงินแสน’ รัฐจ่ายเงินอุดหนุนการเลี้ยงดูบุตร ตั้งแต่ 0-8 ปี โดยเดือนแรกจ่ายให้ 5,000 บาท จากนั้นเดือนละ 1,000 บาทจนถึงอายุ 8 ปี

เมื่อแม่พร้อมกลับไปทำงานแล้ว นโยบายที่จะช่วยเลี้ยงดูเด็กเล็กต่อคือ ‘ศูนย์เด็กเล็กดีมีคุณภาพถ้วนหน้า’ เพื่อให้แม่ทำงานมีรายได้ที่มั่นคงโดยไม่ต้องกังวล รวมถึงมุมนมในสถานประกอบการที่ทางพรรคเคยผลักดันในสมัยอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี

“เรื่องศูนย์เด็กเล็กกับมุมนมในสถานประกอบการสามารถใช้มาตรการทางภาษีช่วยจูงใจให้ผู้ประกอบการสนใจได้ แต่อีกสิ่งที่สำคัญคือจิตสำนึก จะทำยังไงให้ผู้ประกอบการเห็นความสำคัญว่าประเทศกำลังจะเป็นสังคมผู้สูงอายุแล้ว ถ้าเราไม่สนับสนุนให้คนมีครอบครัวที่ดีและเข้มแข็งแล้วบ้านเมืองจะอยู่ยังไง จึงต้องมีมาตรการจูงใจให้ผู้ประกอบการมีความตระหนักและอยากมีส่วนร่วมที่จะผลักดันสิ่งดีๆ และสามารถให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีบทบาทเรื่องศูนย์เด็กเล็กได้มากกว่านี้” รัชดากล่าว

นอกจากนี้สิ่งสำคัญคือการทำให้คนมีอาชีพการทำงานที่มั่นคง ซึ่งประชาธิปัตย์มีนโยบายประกันรายได้ผู้ใช้แรงงานไม่ต่ำกว่า 120,000 บาทต่อปี เพื่อให้คนรู้สึกพร้อมมีครอบครัวมากขึ้น

“การมีนโยบายรัฐมาสนับสนุนอาจจูงใจให้คนรุ่นใหม่อยากมีลูกได้ไม่มากพอ มาตรการรัฐอาจเป็นการแบ่งเบาภาระมากกว่าการจูงใจ แต่ถ้าภาระยังเยอะเท่าเดิม คุณภาพชีวิตยังไม่ดี สังคมมีความเหลื่อมล้ำ คนก็ยิ่งปฏิเสธที่จะมีลูก จะฝากครรภ์โรงพยาบาลไหน ลูกจะเรียนโรงเรียนไหน ค่าใช้จ่ายดูแลเด็กก็สูง เป็นปัญหาทั้งองคาพยพที่ต้องเริ่มจากเจตนารมณ์ทางการเมืองของคนที่จะเข้าไปบริหารประเทศ หากมีความมุ่งมั่นจริงก็สามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้

“ถ้าประชาธิปัตย์ไม่ได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาล เรามีความตั้งใจอยู่แล้วว่าจะสนับสนุนนโยบายที่ดีและสอดคล้องกับทิศทางของพรรค แต่หากอยู่ในบทบาทฝ่ายค้านก็จะมีพื้นที่ติดตามตรวจสอบและแสดงออกได้เต็มที่ว่านโยบายที่เอาไปปฏิบัตินั้นดีหรือไม่ ขาดประสิทธิภาพหรือทุจริตตรงไหน เท่าที่เห็นเรื่องมาตรการทางสังคมของหลายๆ พรรคก็ไม่ได้ขัดกันในเชิงหลักการ เพียงแต่มีเรื่องการใช้เงินที่มองว่ามุ่งนำเสนอนโยบายเพื่อหาเสียงมากกว่าที่จะคิดถึงความคุ้มค่าและผลกระทบ เช่น การเกทับกันแจกเงินผู้สูงอายุหรือเงินอุดหนุนเลี้ยงเด็ก อย่างนี้เราคงไม่สามารถเห็นด้วยในตัวเลขได้ แต่หลักการเราไม่ค้านอยู่แล้ว” รัชดากล่าว

 

อนาคตใหม่ : สร้างรัฐสวัสดิการ เสริมชีวิตมั่นคง

 

ภาพจากแฟนเพจเฟซบุ๊ก Wanvipa Maison-วรรณวิภา ไม้สน-มด

 

นโยบายของพรรคอนาคตใหม่เน้นให้ความสำคัญที่รัฐสวัสดิการเพื่อให้คนมีความมั่นคงในชีวิตและพร้อมที่จะสร้างครอบครัว

วรรณวิภา ไม้สน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ และเลขาธิการสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ มองว่าการมีบุตรต้องอยู่บนพื้นฐานของความพร้อม ก่อนอื่นจึงต้องแก้ไขนโยบายเกี่ยวกับการมีบุตรไม่พร้อม ทำให้การทำแท้งไม่เป็นคดีอาญา เพื่อคนไม่ต้องดิ้นรนไปทำแท้งเถื่อน ส่วนคนที่พร้อมมีครอบครัว วรรณวิภามองว่าการดูแลจากภาครัฐหรือรัฐสวัสดิการจะช่วยเสริมสร้างความพร้อมในการมีครอบครัวได้ ซึ่งพรรคมีนโยบายการสร้างรัฐสวัสดิการเพื่อดูแลประชาชนทุกคนโดยไม่ต้องพิสูจน์ว่าเป็นคนจน

“ปัจจุบันคนไม่อยากมีลูกเพราะปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาอื่นๆ การจะตัดสินใจมีลูกต้องกังวลถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 50,000 บาทต่อปีเป็นอย่างต่ำสำหรับการเลี้ยงดูเด็กเล็ก สิ่งที่จะทำให้คนตัดสินใจมีลูกคือความมั่นคงในชีวิตของเขา จะเห็นได้ว่าทุกวันนี้หากยังต้องทำงานในระบบที่ 10 ปีขึ้นเงินเดือนหนึ่งครั้ง เศรษฐกิจตกต่ำ ข้าวของก็แพง การวางแผนมีบุตรก็จะยากมาก เพราะคนทำงานต้องดูแลลูกและพ่อแม่ ตอนนี้ผู้สูงอายุกว่า 80 เปอร์เซ็นต์รอลูกส่งเงินมาให้ เด็กจบใหม่จากมหาวิทยาลัยก็ตกงานมาก ถ้าไม่มีความมั่นคงในการทำงานและยังไม่มีรัฐสวัสดิการรองรับ ชีวิตแบบนี้ทำให้คนพร้อมจะมีบุตรได้ยาก”

พรรคอนาคตใหม่จึงต้องการผลักดันรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าให้เป็นสิทธิของประชาชน ไม่ใช่การทำในรูปแบบ ‘สงเคราะห์’ เพื่อให้ประชาชนมีความเสมอภาคและมีความเป็นคนเท่าเทียมกัน โดยมีสวัสดิการตั้งแต่เด็ก ตั้งครรภ์ เจ็บป่วย ชรา โดยมีนโยบายที่เกี่ยวข้องดังนี้

– เพิ่มวันลาคลอดเป็น 180 วัน เพื่อแม่จะได้มีเวลาอยู่กับบุตร

– สนับสนุนเงินเลี้ยงดูบุตรตั้งแต่ 0-6 ปี เดือนละ 1,200 บาท

– ให้เด็กได้เรียนฟรีจริง ไม่เก็บเงินเพิ่มกับผู้ปกครอง

– มีเงินสนับสนุนเยาวชน อายุ 18-22 ปี จำนวน 2,000 บาทต่อเดือน เพื่อบรรเทาปัญหาการกู้ยืมเงินเรียน

– เพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุเป็นเดือนละ 1,800 บาท

– เพิ่มงบรายหัวบัตรทองเป็น 4,000 บาท

วรรณวิภากล่าวว่า นโยบายชุดนี้เกิดขึ้นมาเพราะเห็นว่าคนวัยทำงานต้องรับภาระเลี้ยงดูทั้งลูกและพ่อแม่ที่กำลังแก่ รัฐสวัสดิการจะเป็นการสนับสนุนพื้นฐานให้คนวางแผนชีวิตได้ดีขึ้นและมั่นคงขึ้นหากจะมีบุตรคนต่อไป นอกจากนี้ยังมีนโยบายอีกชุดที่เกี่ยวข้องกับแรงงานโดยตรงที่จะช่วยเสริมความมั่นคงและสวัสดิการที่ดีขึ้นของคนทำงานได้

– ค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ ปรับทุกปีอย่างน้อยเพิ่มตามอัตราเงินเฟ้อ

– ขยายสิทธิประกันสังคมแรงงานนอกระบบให้เทียบเท่าแรงงานในระบบ

– ขยายสิทธิวันลาพักร้อน โดยได้ค่าจ้างตามกฎหมายแรงงาน

– ลดชั่วโมงการทำงาน หากจะต้องทำงานล่วงเวลาต้องให้ค่าล่วงเวลาเพิ่ม

วรรณวิภา มองว่านโยบายต่างๆ ข้างต้นนี้เป็นสิทธิที่ประชาชนควรได้รับโดยไม่แบ่งแยกคนรวย-คนจน หรือสิทธิของข้าราชการ-ประกันสังคม เพื่อเป็นพื้นฐานให้ประชาชนสร้างความมั่นคงในชีวิตได้และลดความกังวลในการวางแผนมีบุตร เมื่อรัฐมีการช่วยดูแลสวัสดิการของคนในแต่ละช่วงวัย ซึ่งหากพรรคอนาคตใหม่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลก็จะมีหลายนโยบายที่สามารถทำได้เลย เช่น การรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ที่ให้สิทธิในการรวมตัวและคุ้มครองการรวมตัวของแรงงาน ซึ่งไม่ได้เสียค่าใช้จ่ายอะไร และในระยะเวลา 3-4 ปีจะสามารถทำได้ครบทุกนโยบาย หรือหากไม่ได้เป็นรัฐบาลก็พร้อมที่จะผลักดันนโยบายเหล่านี้ต่อ โดยรวบรวมเสียงส.ส.ยื่นแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

 

นโยบายของแต่ละพรรคอาจแตกต่างกันด้านตัวเลขหรือมุมมองของนโยบายที่มีแบบกว้างและแบบลึก แต่จุดมุ่งหมายเดียวกันคือเพื่อสนับสนุนให้คนตัดสินใจมีลูกได้ง่ายขึ้น ควบคู่ไปกับการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน สิ่งที่ต้องจับตาคือก้าวต่อไปจากนี้ ผู้ที่รวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จจะดำเนินนโยบายตามที่ประกาศไว้หรือไม่ และพรรคฝ่ายค้านจะทำงานเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลักหรือไม่

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save