fbpx
ถ้าไม่ได้อยู่พร้อมหน้าแบบพ่อแม่ลูกล่ะ เราจะยังเรียกว่าครอบครัวอยู่ไหม

ถ้าไม่ได้อยู่พร้อมหน้าแบบพ่อแม่ลูกล่ะ เราจะยังเรียกว่าครอบครัวอยู่ไหม

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย, ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

ข้อใดต่อไปนี้หมายถึงครอบครัว

ก. คนที่มีสายเลือดเดียวกัน

ข. คนที่ใช้ครัวร่วมกัน

ค. คนที่อยู่ใต้ชายคาเดียวกัน

ง. คนที่คอยดูแลกันเมื่อยามลำบากป่วยไข้

 

หากเจอข้อสอบแบบนี้ สิ่งแรกที่เรามองหาอาจเป็นข้อ จ. ถูกทุกข้อ แต่เสียดายที่โลกความจริงไม่มีอะไรถูกทุกข้อเหมือนในข้อสอบ และที่จริง การถามความหมายของคำที่ซับซ้อนเช่นครอบครัวด้วยการให้กากบาทเลือกข้อที่ถูกที่สุด คงเป็นเรื่องมักง่ายเกินไป

ถ้าคนที่มีสายเลือดเดียวกัน แต่ไม่ได้อยู่ใต้ชายคาเดียวกัน และไม่ได้คอยดูแลกันเมื่อยามลำบากเลย พวกเขายังนับเป็นครอบครัวเดียวกันไหม

ถ้าคนที่ไม่มีความเกี่ยวข้องทางเครือญาติใดๆ แต่ใช้ครัวเดียวกัน กินข้าวหม้อเดียวกัน และคอยพาไปโรงพยาบาลเมื่อยามป่วยไข้ พวกเขาถือเป็นครอบครัวเดียวกันไหม

ฯลฯ

เรื่องราวเหล่านี้ย่อมต้องการอรรถาธิบาย — คำอธิบายที่มองมนุษย์ด้วยสายตาที่เป็นจริง มากกว่าการจัดคนลงกล่อง ทั้งที่มนุษย์ไม่อาจอยู่ในกล่องได้โดยไม่อึดอัด

เรื่องราวในบรรทัดข้างล่างนี้ เล่าเรื่องของมนุษย์ที่หลากหลาย และครอบครัวที่มีรูปแบบของพวกเขา – ครอบครัวที่ออกแบบเอง

 

1 คน 4 หมา 8 แมว

 

 

ถ้าเราเริ่มต้นอย่างนี้

คนหนึ่งคน อาศัยอยู่ในบ้านดิน แต่ไม่ค่อยเหงา เพราะมีแมวมาพันแข้งขาอยู่ 8 ตัว และมีหมาส่งเสียงเห่าเป็นระยะอีก 4 ตัว เราจะเรียกว่าเป็นครอบครัวสมบูรณ์ได้ไหม

จำปี-สายน้ำ นันติ ในวัยหลัก 4 บอกเราว่าเธอมีความสุขดีกับสัตว์เลี้ยงที่นับว่าเป็น ‘ลูกๆ’

แม่แมว ทูโทน น้องน้อย ตาคม เสือดำ ฯลฯ คือชื่อของพวกเขา มีที่มาของชีวิตต่างกันไป จำปีค่อยๆ รับมาเลี้ยงทีละตัว รู้ตัวอีกทีก็มีแมวและหมาเต็มบ้าน

“เหมือนคนมีลูกน่ะ ต้องทำ ไม่มีใครมาบังคับให้เราทำ เราปล่อยเขาไม่ได้ ถ้าเขาไม่อยู่กับเรา เขาก็ต้องไปอยู่กับคนอื่น ซึ่งมาอยู่กับเราก็อาจจะดีกว่า เราพาฉีดยาทำหมัน ถ้าปล่อยให้เขาไปเร่ร่อน เดี๋ยวเขาไปเกิดลูกเกิดหลานก็เป็นปัญหาอีก ที่เราได้เจอเขาก็น่าจะเหมือนชะตาต้องกัน แล้วเรามีศักยภาพพอจะรับได้อยู่ ก็รับมา แต่คิดว่าตอนนี้น่าจะเต็มแม็กแล้วละ”

อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก คือบ้านของจำปี เธอซื้อที่และปลูกบ้านที่นี่เมื่อ 6 ปีที่แล้ว หลังจากทำงานเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยแถบชายแดนมากว่า 10 ปี พอมาเจอที่ผืนนี้ในหมู่บ้าน ในจังหวะชีวิตลงตัว “เหมือนจักรวาลส่งมาให้” จำปีจึงตัดสินใจตั้งหลักแหล่งที่นี่ แทนที่จะเป็นบ้านเกิดที่พะเยา

เธอแบ่งเวลาชีวิตเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งอยู่ที่บ้านกับหมาแมว “แทบไม่ออกจากบ้าน” เธอว่า และอีกส่วนคือการลงพื้นที่ไปทำงานกับผู้ลี้ภัย บางครั้งไม่ได้อยู่บ้านเป็นอาทิตย์ จึงจำเป็นต้องให้คนรู้จักมาช่วยให้อาหารหมาและแมว แม้จะเป็นห่วงลูกๆ แต่จำปีก็มองว่าเป็นชีวิตที่จัดการได้ และแทบไม่ได้คิดถึงการมีคู่ครองเท่าใดนัก

“เราเลยจุดนั้นมาแล้ว ตอนนี้ไม่ได้คิดอะไรมาก สบายมาก เราเป็นคนขี้รำคาญ ขนาดครอบครัวเรามาอยู่ด้วยนานๆ ก็ยังมีทะเลาะกัน แต่ละคนมีความคาดหวังไม่เหมือนกันในการมีชีวิตอยู่ในบ้าน แล้วเราก็ไม่อยากให้ใครมาขัดขวางชีวิตเรา เราอยากทำแบบนี้ นี่บ้านของเรา แต่พอมีคนอื่นที่จะต้องมาแชร์ชีวิตกัน ก็คิดว่าคงลำบาก เราไม่รู้หรอกว่าจะอยู่ด้วยกันได้รึเปล่า”

“ส่วนเรื่องลูก เราอาจเคยคิดอยากมี แต่ตอนนี้คงตัดไป เพราะว่าเราเป็นมังสวิรัติ ถามว่าเกี่ยวยังไง คนอาจจะคิดว่าเกี่ยวกับเรื่องการกินใช่ไหม แต่จริงๆ แล้วเป็นเรื่องวิถีชีวิตและวิธีคิด เรามองว่ามนุษย์บริโภคหลายอย่าง และมีมนุษย์เยอะแล้วบนโลกนี้ เท่าที่มีอยู่ก็โอเคแล้ว เราไม่อยากไปเพิ่มอีก” จำปีตั้งอกตั้งใจเล่าเหตุผลด้วยรอยยิ้ม ก่อนจะทิ้งท้ายประโยคว่า

“แต่นั่นก็อาจเป็นเพราะเรายังไม่เจอใครก็ได้ มีคนเคยบอกว่า ถ้าคุณมีใคร คุณก็อยากจะมีลูกเป็นของตัวเอง แต่เรายังไม่ถึงจุดนั้น ณ ตอนนี้เราคิดแบบนี้”

หลายครั้งที่ค่านิยมสังคมคอยบอกเราว่า การแต่งงานมีลูกคือชีวิตที่มั่นคง เพราะนั่นหมายถึงเราจะมีคนคอยดูแลทั้งในตอนนี้และตอนแก่ชรา แต่จำปีมองคำว่าความมั่นคงต่างออกไป

“เราคิดว่าตอนอายุ 50 จะเกษียณตัวเองได้ด้วย เราวางแผนการเงินไว้ระดับหนึ่ง อายุประมาณ 50 จะได้เงินนั้นกลับมา ถ้าเราไม่ตายก่อน และเรามีบ้านแล้ว ไม่ต้องกังวลเรื่องค่าเช่าบ้าน ตอนนั้นจะเลิกทำงานหรือทำงานอยู่ก็ยังไม่รู้หรอก รู้แต่ว่ายังอยู่ที่แม่สอด ช่วยคนที่นี่แหละ

“เรามองว่าชีวิตตอนนี้มั่นคงมาก เหมือนกินดอกผลของสิ่งที่ทำมา เราไม่ต้องพยายามมาก ไม่ต้องไขว่คว้าทุรนทุราย เรารู้สึกว่ามาถูกทางแล้ว ทางนี้คือทางที่ชอบแล้ว ทำสิ่งที่ทำอยู่ให้ดีที่สุด ถ้าเรารู้จักตัวเราดี แล้วมันจะเป็นความมั่นคงของชีวิต”

ที่ผ่านมา จำปีแทบไม่ค่อยได้ใช้สวัสดิการรัฐในการรักษาพยาบาล นอกจากไปฉีดยาเพราะโดนแมวข่วน แต่ในอนาคตนั้นไม่แน่ จำปีวางแผนเรื่องสุขภาพของตัวเองไว้หลายชั้น ทั้งทำประกันสุขภาพคู่กับการออมของเอกชน และหวังพึ่งสวัสดิการของรัฐอีกชั้นหนึ่ง รวมทั้งเงินเก็บส่วนตัวอีกจำนวนหนึ่ง ก็คิดว่าน่าจะพอในการใช้ชีวิตคนเดียว

เมื่อมองไปยังอนาคต ในเชิงนโยบาย จำปีเห็นว่าอีกหนึ่งความจำเป็นในการดูแลผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวในครัวเรือน คือการมีคนคอยติดตาม มีการเยี่ยมบ้านในชุมชน

“เราคิดว่านโยบายที่จะช่วยดูแลผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุได้ คือการเยี่ยมบ้าน ทุกวันนี้เราก็มี อสม. ที่คอยเยี่ยมบ้าน เราเคยเห็นยายเป็นเบาหวาน แต่ไม่ต้องไปโรงพยาบาล ไปเช็คที่สถานีอนามัยได้ แล้วมีพยาบาลมาติดตามอาการ วิธีคิดนี้ดีนะ สมมติเราป่วย แล้วรัฐมีข้อมูลของเราว่า คนนี้ป่วยโรคนี้ ต้องไปตรวจ กินยา หรือต้องออกกำลังกาย ซึ่งอาจจะใช้กลไกระดับชุมชนได้ ให้มาช่วยดู ช่วยเตือนว่าปฏิบัติตามรึเปล่า”

“หรือสำหรับคนที่อยู่คนเดียว ถือว่าเป็นผู้เปราะบาง ก็อาจจะต้องมีคนมาเยี่ยม จู่ๆ ช็อค ล้มหัวฟาดในห้องน้ำ ไม่มีใครรู้หรอก ต้องมีระบบคอยแจ้ง คอยโทรมาถามให้รู้ว่ายังอยู่ดี ทุกวันนี้พ่อแม่เราเป็นคนคอยโทรมาถามว่าชีวิตยังอยู่ดีมั้ย ยิ่งโดยเฉพาะช่วงที่ไม่ได้ออกไปทำงาน เราไม่ออกจากบ้าน ไม่มีใครรู้เลยมีชีวิตอยู่รึเปล่า”

เมื่อมองกลับมาที่ตัวเอง จำปีวางแผนไว้ว่า ถ้าถึงวันที่เดินเหินไม่สะดวก และทำอะไรด้วยตัวเองไม่ได้แล้วจริงๆ ก็อาจจ้างคนมาดูแล ส่วนเรื่องทรัพย์สมบัติและร่างกายก็วางแผนไว้แล้วเบื้องต้น

“เราไม่มีลูก ก็ไม่ต้องห่วงอนาคตว่าต้องเก็บเงินเพื่อลูก เราเก็บเงินเพื่อแมว ก็ให้มีคนมาดูแลต่อ ถ้าหาได้นะ ส่วนร่างกายเราก็บริจาคไปแล้ว ไม่รู้จะใช้ส่วนไหนได้บ้าง ขอแค่มีคนเอาศพเราไปที่โรงพยาบาล ก็พอแล้ว เราไม่ห่วงอะไรแล้ว

“ส่วนเรื่องที่ดิน ถ้าตายแล้ว คงไม่ได้คิดอะไร ถ้าพี่สาวยังอยู่ก็ให้เขาจัดการ แต่สมมติเราอายุยืนมาก วางแผนได้ ก็อาจจะหาคนดีแต่ยากจน หรือคนที่ดูแลเราตอนแก่มารับไป ให้บ้านพร้อมที่ดินนะ แต่ต้องดูแลแมวด้วย ตอนนี้ยังไม่รู้หรอก ยังไม่ถึงเวลาที่จะวางแผนขนาดนั้น”

ในช่วงท้ายๆ ของบทสนทนา แม้จะพูดกันถึงวาระสุดท้ายของชีวิต แต่น้ำเสียงของเธอยังแจ่มใส แมวตัวหนึ่งเดินมานั่งบนตักของจำปีในห้วงนาทีนั้น

 

สาวประเภทสองกับการเป็น ‘คู่ชีวิต’ และ ‘แม่’

 

 

แอนนา วรินทร วัตรสังข์ หรือที่หลายคนรู้จักในนาม ‘แอนนาทีวีพูล’ เป็นสาวประเภทสองอดีตผู้สื่อข่าวบันเทิง ที่ผันตัวมาประกอบธุรกิจความงาม และทำรายการผ่านเฟซบุ๊กเพจของตัวเอง จนมีวลีเด็ด ‘#พูดได้ไหมพี่จี้’ ฮิตเป็นกระแสไปทั่วโซเชียลมีเดีย

หลายคนอาจจำเธอได้จากวาจาอันฉะฉาน และความสนุกสนานเฉพาะตัว แต่นั่นไม่สามารถอธิบายตัวแอนนาได้ทั้งหมด เพราะอีกด้าน เธอยังเป็น ‘คู่ชีวิต’ ของชายคนหนึ่ง และเป็น ‘แม่’ ของเด็กชายอายุ 3 ขวบด้วย

ปัจจุบัน ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่รับรองการสมรสของคู่รักเพศเดียวกัน แต่ชีวิตรักที่แอนนาประคับประคองมาตลอด 8 ปี ทำให้เธอไม่ลังเลที่จะเรียกคู่ชีวิตว่า ‘สามี’ ตลอดการสนทนา

แอนนาเล่าว่า เมื่อตัดสินใจใช้ชีวิตร่วมกัน เธอต้องใช้เวลาทำความเข้าใจกับครอบครัวฝั่งสามี เพื่อแสดงให้เห็นว่ารูปแบบความสัมพันธ์นี้ไม่แปลกใหม่ไปกว่าคนสองคนที่รัก ผูกพัน และช่วยเหลือเกื้อกูลกัน อย่างไร้มายาคติที่ผูกกับเพศ

“ตอนแรกพ่อแม่สามีก็งงๆ ที่มีลูกสะใภ้เป็นสาวประเภทสอง แต่เขาก็ยอมเปิดใจเรียนรู้ ลองดูว่าเราเป็นคนแบบไหน ในภายหลังเขายอมรับเรามาก พาไปแนะนำให้เพื่อนเขารู้จัก เวลามีใครมาที่บ้านก็จะแนะนำว่าเราเป็นลูกสะใภ้อย่างเปิดเผย

“เราได้การยอมรับจากการทำให้เห็นว่าเราพร้อมใช้ชีวิตคู่กับลูกของเขา ก่อนหน้านี้สามีทำงานเป็นครูสอนแบดมินตัน เราก็ปรึกษากันว่าให้เขาออกจากงานเพราะเงินไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในครอบครัว เราวางแผนด้วยกัน บ้านเราไม่มีใครเป็นช้างเท้าหน้า ช้างเท้าหลัง พอครอบครัวสามีมาเห็นเขาก็รู้สึกโอเคที่ชีวิตเราทั้งสองคนก้าวหน้า”

“เราว่าการแบ่งบทบาทว่าคนไหนผัวเมีย และต้องทำอะไรบ้าง มันไม่จำเป็น ถ้ามองดูชีวิตคนจริงๆ จะเห็นว่าสังคมมาไกลเกินกว่าที่จะระบุเพศและบทบาทตามเพศนั้นๆ แล้ว ความรักไม่จำกัดว่าคุณเป็นเพศไหน สังคมและกฎหมายจึงไม่จำเป็นต้องแบ่งเพศในการแต่งงาน อย่างกะเทยกับทอมคบกัน ก็ถือเป็นคู่รักต่างเพศ แบบนี้กฎหมายจะว่ายังไง”

แม้ในเส้นทางการใช้ชีวิตร่วมกัน เธอจะสร้างครอบครัวอย่างราบรื่น แต่แอนนาก็เคยเจอกับประสบการณ์ที่สะท้อนว่าสังคมไม่เปิดพื้นที่ ไม่รับรองสิทธิให้ครอบครัวแบบของเธอเช่นกัน กล่อง ‘ครอบครัว’ ที่จำกัดนั้นยิ่งคับแคบและบีบคั้น เมื่อเป็นเรื่องความเป็นความตาย

“อุปสรรคหนึ่งที่เจอคือตอนที่สามีเป็นไส้ติ่งแตก เราพาเขาไปโรงพยาบาล อาการตอนนั้นฉุกเฉิน ต้องผ่าตัด แต่คุณหมอไม่ยอมผ่าจนกว่าจะมีญาติมาเซ็นรับรอง เราพยายามบอกว่าเราเป็นแฟนที่ใช้ชีวิตร่วมกัน เขาก็บอกว่าไม่ได้ ต้องมีความสัมพันธ์ทางสายเลือดเท่านั้น เรื่องนี้ทำให้เราเห็นว่ามันกระทบถึงชีวิต”

ข้อจำกัดต่างๆ ไม่ได้ขวางแอนนาจากการสร้างครอบครัว สามปีก่อนเธอตัดสินใจรับเด็กคนหนึ่งมาเลี้ยง โดยที่ก่อนหน้านั้นแอนนาไม่เคยจินตนาการจริงจังถึงการมีลูก รู้เพียงว่าชอบเด็กมาแต่ไหนแต่ไร และฐานะความมั่นคงขณะนั้นอยู่ในระดับที่สามารถรับผิดชอบชีวิตผู้อื่นได้แล้ว แอนนาจึงกลายมาเป็นแม่ของ ‘น้องแอร์พอร์ต’ เด็กชายวัย 3 ขวบอย่างทุกวันนี้

“เราเลี้ยงน้องแอร์พอร์ตมาตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ ท้องประมาณ 4 เดือนกว่าก็ให้แม่เขามาอยู่ที่บ้านเลย ตอนรับเลี้ยงไม่ได้คิดอะไรมากไปกว่าอยากให้เด็กคนนึงมีอนาคต เพราะแม่ของเขาไม่สะดวกที่จะมีลูกและเลี้ยงดู เราคิดว่าถ้ามีโอกาส มีความพร้อม ก็อยากรับเขามาเลี้ยงให้มีชีวิตที่ดี

“น้องแอร์พอร์ตไม่ได้เป็นภาระอะไรกับชีวิตเรา การรับเขามาเหมือนเป็นความโชคดี น้องเป็นเด็กน่ารัก ไม่เคยสร้างปัญหาอะไรให้ ไม่เคยทำให้หนักใจเลย มีแต่ทำให้เชื่อว่า เราคิดถูกแล้วที่มีลูก”

หลังจากน้องแอร์พอร์ตเข้ามาเป็นสมาชิกในครอบครัว แอนนาและสามีก็ยังคงปะทะเข้ากับคำว่า ‘ครอบครัว’ แบบที่ไม่สอดรับกับชีวิตของพวกเขา ประสบการณ์การเข้ารับบริการในโรงพยาบาลได้ย้ำเตือนถึงข้อจำกัดของคำว่าครอบครัวอีกครั้ง

“มีครั้งนึงลูกชัก เราก็พาไปหาหมอที่โรงพยาบาล สามีจอดรถให้เรารีบพาลูกลงไปก่อน จะได้รักษาให้เร็วที่สุด แม้เราจะเป็นแม่เขาจริง แต่ไม่ใช่แม่ทางสายเลือด พยาบาลจึงบอกให้รอผู้ปกครองที่มีสิทธิทางกฎหมายจริงๆ มา เราก็ต้องรอสามีที่จดทะเบียนเป็นพ่อบุญธรรม ต้องรออีกแล้ว แต่เรื่องความเป็นความตายมันรอไม่ได้

“เมื่อชีวิตเจอข้อจำกัดแบบนี้ พวกเราต้องวางแผนมากกว่าคนทั่วไป เพราะบางอย่างไม่มีกฎหมายมาซัพพอร์ต เราต้องคิดเยอะขึ้น เช่น ถ้าเราตายจะต้องทำพินัยกรรมยังไงให้ลูกได้รับสิ่งที่ควรจะได้ หรือตอนทำประกันชีวิต บริษัทประกันก็ระบุเงื่อนไขไม่ตรงกัน บางบริษัทบอกว่าสามารถยกผลประโยชน์ให้แฟนที่เป็นคู่ชีวิตได้ แต่บางบริษัทที่เราอยากทำประกันด้วยจริงๆ กลับไม่อนุญาต”

การลงรูปครอบครัวและแชร์เรื่องราวลงในโซเชียลมีเดีย เป็นเรื่องที่ใครๆ ก็ทำกันในยุคนี้ แต่ไม่ใช่ใครๆ ที่ต้องเจอกับคำวิจารณ์ หลายครั้งที่แอนนาแชร์รูปเธอกับลูก และเขียนถึงประสบการณ์การเลี้ยงน้องแอร์พอร์ตด้วยความรัก คนจำนวนมากชื่นชมและเข้าใจครอบครัวของเธอ แต่บางส่วนกลับมองข้ามความรักความผูกพันเหล่านั้นไป เพียงเพราะเธอไม่ได้มีเพศกำเนิดเป็นหญิง

“ในระดับสังคม เรารู้นะว่าจะให้คนทั้งโลกมาเข้าใจเรา มันเป็นไปไม่ได้ แต่บางครั้งเวลาเราออกมาแสดงความคิดเห็นเรื่องครอบครัว หรือลงรูปลูกในเพจ จะมีคนเข้ามาแซะ พูดประมาณว่า ‘จริงๆ การมีแม่เป็นผู้หญิงน่าจะดีกว่า’ กลายเป็นว่าเขาไม่ได้มองภาพที่เราดูแลลูกเลย แต่เขาไปมองเจาะจงเรื่องเพศ เอาเพศมาตัดสินว่าผู้หญิงเป็นแม่น่าจะดีกว่า เราเสียความรู้สึก สำหรับเราความสัมพันธ์แม่ลูกไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเกิดมาเป็นเพศอะไร แต่อยู่ที่ข้างในจิตใจ การเลี้ยงดู และการให้ความรักมากกว่า”

สำหรับแอนนา แม้ในปัจจุบันจะดูเหมือนคนในสังคนเกินครึ่งยอมรับความแตกต่างหลากหลาย แต่การยอมรับในเชิงโยบาย กลับไม่มีสิทธิใดๆ มารองรับชีวิตครอบครัวของเธอเลย

“การยอมรับที่แท้จริงต้องมีกฎหมาย หรือมีสิทธิมารองรับด้วย ไม่ใช่ยอมรับเพียงในนาม แต่สิทธิต่างๆ ที่ควรจะได้กลับไม่ได้ เราอยากให้มี พ.ร.บ. คู่ชีวิต หรือกฎหมายสมรสเพศเดียวกัน เพราะถ้าไม่มี ก็เหมือนสังคมจำกัดสิทธิให้ชายหญิงเท่านั้นที่แต่งงานกันได้ ในขณะที่เรื่องอื่นๆ เช่น เวลาเก็บภาษี ไม่เคยจำกัดเลยว่าต้องเป็นชายหรือหญิงถึงจะเสียภาษีได้ แต่ทำไมเวลาจะให้สิทธิกับเราต้องมาระบุ

“เรารู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรม ขณะที่หลายประเทศทั่วโลกยอมรับและพัฒนาไปถึงขั้นที่ว่าแต่งงานได้โดยไม่ต้องระบุเพศ เราก็ยังไม่รู้ว่าอีกกี่สิบปีถึงจะได้รับสิทธินี้ เขาบอกว่า พ.ร.บ. คู่ชีวิต กำลังดำเนินการ กำลังพิจารณา พิจารณามาเกือบ 5 ปีแล้ว คำว่า ‘กำลัง’ มันไม่ไปไหน

“การยอมรับของคนในสังคมไปไกลก็จริง คนยอมรับที่สาวประเภทสองจะมีลูก ชื่นชมสาวประเภทสองที่ใช้ชีวิตกับแฟนเป็นครอบครัว แต่กฎหมายไม่ไปด้วยกันเลย”

 

ตรงกลางของครอบครัวแหว่งกลาง

 

 

ลูกคนที่ 2 ของเบส เพิ่งอายุได้ 4 เดือน ยังไม่ทันจะเรียกแม่ได้เต็มคำ เด็กชายก็ถูกส่งกลับไปอยู่บ้านกับยายที่หนองบัวลำภู

“เลี้ยงตรงนี้ไม่ไหวหรอก ให้ยายเลี้ยงดีกว่า เราต้องทำงาน ไม่มีเวลาดูลูก” เธอขยายความให้เห็นภาพด้วยภาษาอีสานว่า “เฮ็ดงานแล่นหน้าแล่นหลัง มันบ่ได้”

หลังจากจบ ม.6 เบสมีลูกคนแรกกับแฟนหนุ่ม กำเงิน 3,000 บาท เข้ามาทำงานที่โรงงานทำถุงเท้าในกรุงเทพฯ อยู่กันไม่นานก็แยกทางกัน

“เข้ามากรุงเทพฯ ตอนแรก ลำบากมาก คิดดูว่าเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ทำงานคนเดียว ต้องส่งเงินกลับบ้านให้ลูกกับแม่ ตอนมีแฟนคนแรก เรายังเด็ก แต่งงานแล้วก็มีลูกเลย คลอดลูกได้ประมาณ 2-3 ปี ก็เลิกรากัน ต่างคนต่างอยู่ แล้วเราก็ย้ายมาทำงานเป็นแม่บ้าน เลยมาเจอแฟนคนปัจจุบันเป็นยามที่นี่ อยู่ด้วยกันมา 4-5 ปีแล้ว เพิ่งจะมามีลูก”

ณ ตอนนี้ เบสต้องทำงานหาเลี้ยงทั้งแม่ ลูกชาย 2 คน วัย 9 ขวบ กับวัย 1 ขวบ รวมถึงน้องชายที่ยังอยู่ในวัยเรียน เงินเดือนแทบจะหมดไปกับค่านมลูก “ลูกกินนมแม่แค่ 15 วัน ไม่มีน้ำนมให้ลูกกิน น้ำนมไม่ค่อยมี” เธอว่า

“ตอนนี้ค่านมลูก ตกเดือนละ 6,000 บาท แม่เราก็แก่แล้ว ไปซื้อเองไม่ไหว สิ้นเดือนมาเราก็ต้องส่งนมกับผ้าอ้อมเด็กไปให้ทุกเดือน แล้วก็โอนเงินไปต่างหาก น้องชายเราก็ช่วยดูแล โชคดีเขาเป็นคนไม่ดื้อ ไม่ได้ไปเที่ยวที่ไหน กลับบ้านมาช่วยแม่ซักผ้าล้างถ้วย ดูหลาน”

“เวลาทำงานกลับมาเหนื่อยๆ ก็อยากจะกอดลูก แต่ก็อยู่ไกล วิดีโอคอลหาทุกวัน วันละ 4-5 รอบ คิดฮอดกะอดเอา”

ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ลูกของเธอป่วยจนต้องเข้าโรงพยาบาล แต่ด้วยสถานการณ์โควิด ทำให้เธอไม่สามารถขยับตัวไปหาลูกได้อย่างใจคิด

“อยากไปหา แต่ก็ติดมาตรการควบคุมโรค ทำอะไรไม่ได้” เธอว่า

ในช่วงที่ติดอยู่กรุงเทพฯ เบสก็ยังมาทำงานทุกวัน เพราะออฟฟิศในตึกที่ทำงานอยู่เริ่มงดไม่ให้คนมาทำงานแล้ว เบสจึงเข้ามาดูแลความสะอาดภายในตึกเป็นกิจวัตร หลายครั้งที่เงินเดือนไม่พอใช้ เพราะต้องเลี้ยงทั้งแม่ น้องชาย และลูก ทั้งหนี้สินจำนวนหนึ่ง ทำให้เบสต้องหางานเสริม ทั้งรับทำความสะอาดที่บ้านคน เอาปลาส้มจากหนองบัวลำภูมาขาย ขายของออนไลน์ ฯลฯ แล้วแต่จะมีโอกาส

เบสบอกว่า ถ้าจะคาดหวังนโยบายสักอย่างจากรัฐ เธอก็อยากให้มีเงินกู้เพื่อเลี้ยงลูก โดยเฉพาะคนมีลูกเล็ก เช่น ช่วยค่านม ค่าผ้าอ้อม

“ที่ผ่านมาถ้าเรายิ่งทำตัวทุกข์ ก็ยิ่งทุกข์ เลยไม่ได้ทำตัวซีเรียสอะไร ถ้าวันไหนเหนื่อยก็พักผ่อน เงินเดือนออก ก็มีชวนแฟนไปเที่ยว ผ่อนคลายตัวเองบ้าง แม่ก็บอกว่า ‘สูสำบายเนาะ เอาลูกมาถิ่มไว้’ (สบายนะพวกแก เอาลูกมาทิ้งไว้) แต่เขาไม่รู้หรอกว่า เราก็ทุกข์ นานๆ ไปเที่ยวที เพื่อคลายเครียดเราเอง ไม่ได้เที่ยวสำมะเลเทเมาขนาดนั้น”

ถึงแม่ของเบสจะพูดแบบนั้น แต่ก็ใช่ว่าจะไม่อยากเลี้ยงหลาน เบสเล่าให้ฟังว่า แม่เคยเปรยว่าอยากมีหลานสาวอีกคนหนึ่ง

“พอเราถามว่า ไม่เหนื่อยเลี้ยงเหรอ แกบอกว่า ไม่เหนื่อย มีความสุข”

แต่เดิมบ้านของเบสเคยทำไร่อ้อย แต่ไม่ประสบความสำเร็จจึงเลิกทำไป ตอนนี้จึงมีรายได้บางส่วนจากการให้คนมาเช่าที่ทำไร่ทำนา แม้จะไม่มากมายอะไร แต่ก็ช่วยหนุนเสริมกันได้

“ให้เรากลับไปทำไร่ทำนาก็คงจะไม่ไหวหรอก เพราะเราไม่เคยทำ จบ ม.6 แล้วก็เข้ามาทำงานโรงงานในเมืองเลย” เบสเล่าถึงชีวิตให้ฟัง เธอคาดหวังว่าจะทำงานหาเงินให้ได้มากที่สุด เพื่อเลี้ยงดูลูกให้เติบโตไปได้

“เวลาสอนลูก ก็จะบอกว่า เป็นยังไงก็ได้ แต่ต้องช่วยพ่อแม่ทุกอย่าง มีอะไรก็ต้องช่วยเหลือกัน พ่อแม่ไม่มีอะไรจะให้มากมาย ให้ได้เท่านี้ ต้องไปโรงเรียน ทำการบ้านส่ง ขอให้ดูแลตัวเองได้ ไม่ต้องเดือดร้อนพ่อแม่ แค่นั้นก็พอแล้ว”

ครอบครัวของเบสเชื่อมกันด้วยโทรศัพท์ วิดีโอคอล และผ้าอ้อมที่ส่งไปรษณีย์ไปให้ทุกเดือน ในวันที่ลูกโตขึ้นทุกวัน และแม่โรยราลงทุกวัน เบสเองก็พยายามอย่างถึงที่สุดเพื่อจะประคับประคองชีวิตเหล่านี้ไว้

 

ครอบครัวสุดท้ายในบ้านพักคนชรา

 

 

ในพื้นที่กว่า 200 ไร่ ด้านหลังเป็นป่า ด้านหน้าเป็นถนน คือที่ตั้งของสถานสงเคราะห์คนชรามหาสารคาม ที่อยู่มาตั้งแต่ปี 2529 ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา มีผู้สูงอายุเวียนมาอาศัยอยู่และจากไปด้วยข้อกำหนดของชีวิตหลายร้อยหลายพันคน

สถานสงเคราะห์คนชราแห่งนี้ จัดอยู่ในประเภทสามัญ คือไม่เก็บค่าใช้จ่ายใดๆ รับผู้ป่วยใน 11 จังหวัดของภาคอีสานที่ประสบความเดือดร้อน ยากจน ไร้ที่พึ่งพิง รับได้มากที่สุดพร้อมกันครั้งละ 100 คน

ตอนนี้มีผู้สูงอายุประมาณ 60 ชีวิตอาศัยอยู่ในเรือนนอน 4 หลัง แยกตามชายหญิงและศักยภาพในการช่วยเหลือตัวเอง ด้วยพื้นที่กว้างขวาง ทำให้ผู้สูงอายุมีพื้นที่ในการเดินเล่นและทำกิจกรรมโดยไม่อึดอัด

อัมพร พลเสน พยาบาลหัวหน้าฝ่ายสถานสงเคราะห์เล่าให้ฟังว่า ส่วนใหญ่ผู้สูงอายุที่เข้ามาอยู่ที่นี่มีฐานะยากจน ไม่มีคนเลี้ยงดู และบางคนก็ไม่มีที่อยู่อาศัย

“บางคนก็สมัครใจมาอยู่ด้วยตัวเอง แต่ก็มีส่วนหนึ่งที่ชุมชนนำส่งมา เพราะผู้สูงอายุรายนั้นไม่มีญาติเลย บางคนเป็นลูกจ้าง พออายุมาก ไม่สามารถอยู่กับนายจ้างได้ก็ต้องมาอยู่ที่นี่ หรือบางคนก็มีลูกมานำส่ง เพราะลูกไม่สามารถดูแลได้ด้วยฐานะยากจน บางคนทำงานไม่เป็นหลักแหล่ง เลยต้องนำพ่อแม่มาฝากไว้ที่นี่ หรือทอดทิ้งเลยก็มี”

ตลอดการทำงานที่นี่กว่า 11 ปี อัมพรเล่าว่า ใน 1 ปี มีผู้สูงอายุเข้ามาใหม่ปีละประมาณ 10 คน ในความเป็นจริง ผู้สูงอายุที่ถูกทอดทิ้งในพื้นที่ 11 จังหวัด อาจจะไม่น้อยขนาดนั้น แต่ก็เป็นความจริงอีกนั่นแหละ ที่ไม่ใช่ทุกคนจะเข้าถึงโอกาสเหล่านี้

สำหรับผู้สูงอายุที่ย้ายที่อยู่มาสถานสงเคราะห์ บางคนตื่นขึ้นมาตั้งแต่ตี 1 ตี 2 ที่นั่นเรียกว่าเป็นการตื่นเช้า คนที่ยังแข็งแรงอยู่มักจะตื่นตี 5 อาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าด้วยตัวเอง ลุกไปเดินออกกำลังกาย และกินข้าวเช้าตอน 8 โมง ถ้าว่างกว่านั้น ก็ลุกกวาดใบไม้ ทำความสะอาดส่วนที่ตัวเองอยู่ ส่วนคนที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ จะมีพี่เลี้ยงคอยดูแลตั้งแต่ตื่นจนเข้านอน

“เวลาว่างๆ ก็นั่งกับเพื่อนตามต้นไม้ คุยเรื่องอดีตกัน” คุณยายทรง อายุ 77 ปี เล่าถึงช่วงเวลาว่างในสถานสงเคราะห์ แม้ยายทรงต้องนั่งรถเข็น แต่น้ำเสียงยังสดชื่นแจ่มใส

“ที่นี่เพื่อนเยอะแยะ สบายดี” คุณยายว่า

ยายทรงอยู่ที่สถานสงเคราะห์มา 14 ปีแล้ว ตั้งแต่ลูกแยกไปมีครอบครัว แต่เดิมคุณยายทำไร่ทำนาที่มุกดาหารสมัยยังสาว ก่อนที่บั้นปลายชีวิตจะย้ายที่อยู่ใหม่ และเจอครอบครัวใหม่ที่นี่

“เรากินข้าวหม้อเดียวกัน รักกันเหมือนพี่น้อง ใครป่วย ใครเครียด ก็ดูแลกัน”

และถ้าใครคนหนึ่งจะเป็นผู้ดูแลคนอื่น คุณยายทรงก็น่าจะเป็นคนนั้น เพราะถ้าเกิดอะไรฉุกเฉินยามดึก ยายทรงจะจำเบอร์โทรเรือนนอนที่มีพี่เลี้ยงประจำอยู่ได้ คอยจัดการให้ทุกอย่างเรียบร้อย แม้จะเดินไม่ได้และอายุย่าง 80 แต่คุณยายก็พร้อมลุยเป็นทัพหน้า

แต่ก็ใช่ว่าคนกินข้าวหม้อเดียวกันจะไม่ทะเลาะกัน หลายครั้งที่ผู้สูงอายุผิดใจกัน หยิบของผิดบ้าง พูดจาไม่เข้าหูกันบ้าง งอนกันบ้าง กลายเป็นมีปากเสียง จนเจ้าหน้าที่ต้องเข้าไปห้ามศึก

คุณตาสวัสดิ์ อายุ 75 ปี ที่เพิ่งเข้ามาอยู่ในสถานสงเคราะห์ได้ 2 ปี บอกว่าถ้าทะเลาะกันก็ต้องยอมหลีก เพราะไม่อยากมีปัญหา คุณตาหาทางเลี่ยงด้วยการไปสวดมนต์นั่งสมาธิในช่วงบ่าย

“ผมนั่งสวดคนเดียว ส่วนมากไม่มีใครสวดกันหรอก สวดแล้วทำให้จิตใจของเราสงบได้” คุณตาว่า

คุณตาสวัสดิ์พื้นเพเป็นคนเพชรบุรี เคยมีลูกกับภรรยา แต่ลูกเสียชีวิตตั้งแต่อยู่ในครรภ์ หลังจากนั้นจึงไม่มีลูกอีกเลย สาเหตุที่เดินทางมาภาคอีสาน เพราะตามหลานสาวที่มาทำงานที่นี่

“อยู่ไปอยู่มาเกรงใจเขา เลยมาอยู่ที่นี่” คุณตาเล่าเหตุผลที่ต้องเข้ามาอยู่ในสถานสงเคราะห์ “อยู่ที่นี่ก็ดีนะครับ อาหารการกิน ที่หลับที่นอนดี แต่ก็ธรรมดานะครับ เหมือนคำพังเพยที่เขาว่า ลิ้นกับฟันอยู่ด้วยกัน ก็ต้องกัดกันบ้าง เรื่องปกติ” คุณตาพูดถึงความสัมพันธ์ที่อยู่กับเพื่อนๆ

ผู้จัดการสถานสงเคราะห์เล่าให้ฟังว่า ช่วงไหนที่ผู้สูงอายุทะเลาะกัน ก็มักจะมีคนมาฟ้องว่าใครเป็นอย่างไร วิธีแก้คือการนำกิจกรรมกลุ่มเข้าไปทำในกลุ่มนั้น

“บางทีทำกิจกรรมผ่อนคลายที่ตึกหรือโรงอาหาร ตอนพาทำกิจกรรมก็ดูรักใคร่กันดี กอดกัน ร้องเพลงด้วยกัน แต่พอผ่านมา 4-5 วัน ก็ทะเลาะกันใหม่อีก ส่วนมากคือเรื่องหยิบของกัน บางทีผู้สูงอายุก็หลงลืม คิดว่าเป็นของตัวเอง ก็หยิบไปดื้อๆ แต่เขาไม่ได้ทะเลาะกันรุนแรงนะ เหมือนกลับไปสู่วัยเด็ก ไม่ถูกใจกัน ทะเลาะกัน ก็แล้วกันไป”

นอกจากเรื่องชีวิตประจำวันและการผิดใจกันเล็กๆ น้อยๆ แล้ว ในวัยเปราะบางเช่นนี้ การเจ็บป่วยเป็นเรื่องเกิดขึ้นบ่อยพอๆ กับกินข้าว หากเจ็บป่วยเล็กน้อย พยาบาลที่สถานสงเคราะห์จะดูแลเอง แต่ถ้าถึงขั้นเข้าโรงพยาบาลก็มีรถนำส่งโดยพี่เลี้ยงกับพนักงานขับรถ ในส่วนของค่าใช้จ่าย ใช้บัตรประกันสุขภาพของผู้สูงอายุ

“ถ้าผู้สูงอายุบางคนมีอาการป่วย ต้องนำส่งโรงพยาบาล ถ้าเขายังมีญาติ เราก็ต้องแจ้งญาติว่าตอนนี้คุณตาคุณยายเข้าโรงพยาบาล มีอาการหนัก เราก็ถามว่า ในกรณีผู้สูงอายุหยุดหายใจ จะให้ใส่ท่อช่วยหายใจไหม ถ้าหัวใจหยุดเต้น จะให้ปั๊มหัวใจไหม แต่ถ้าไม่มีญาติเราก็ดูเป็นรายไป ถ้าบางคนอายุเยอะ มีโรคส่วนตัวมาก เราก็จะคุยกับหมอเลยว่าไม่ใส่ท่อช่วยหายใจ ไม่ปั๊มหัวใจ เราเซ็นให้เลย” อัมพรเล่า

ความป่วยไข้ ก็เหมือนงานเลี้ยงที่มีวันนัดกันใหม่ แต่ความตาย เหมือนงานเลี้ยงที่เลิกราตลอดกาล เราอาจพบกันใหม่ได้แค่ในความทรงจำ

ส่วนมากผู้สูงอายุที่ต่างคนต่างมา มักจะมีช่วงเวลาได้อยู่ด้วยกันประมาณ 10 ปี ก่อนที่ต้องจากกันเพราะความตาย ใน 1 ปีมีคนที่เวลาพรากชีวิตไปประมาณ 10 คน

หากใครมีญาติ ก็ยังมีคนรับไปฌาปนกิจ แต่บางชีวิตที่ไม่มีญาติ ไม่ต้องคิดถึงการจองศาลา หรือตั้งเจ้าภาพสวดอภิธรรม การจากลาครั้งสุดท้ายเรียบง่ายกว่านั้น

“สำหรับศพที่ไม่มีญาติ เราไปรับศพมาตอนสาย ตอนบ่ายเราเอาศพไปไว้ที่เมรุตรงวัดท้ายสถานสงเคราะห์ นิมนต์พระมาสวดหน้าไฟ แล้วฌาปนกิจเลย เก็บอัฐิไว้ทำพิธีวันรุ่งขึ้น หลังจากนั้นเราจะมีพิธีอุทิศส่วนกุศลให้เป็นประจำทุกเดือนเมษายน”

ท่ามกลางความตายที่มาเยือนหลายครั้ง มีครั้งหนึ่งที่ยังติดอยู่ในความทรงจำของอัมพรอย่างดี และเรื่องเล่าใดก็ไม่ทรงพลังเท่าถ้อยความที่ออกจากปากผู้พบเจอด้วยตัวเอง

“มีคุณยายคนหนึ่ง สุขภาพแข็งแรงดีช่วงที่เข้ามาตอนแรก แกชอบเย็บปักถักร้อย ฝีมือดี ถักที่รองแก้วขายให้คนที่เข้ามาทำบุญในสถานสงเคราะห์ มีรายได้เป็นของตัวเอง เวลาสถานสงเคราะห์มีทำบุญ แกก็จะเอาเงินส่วนตัวมาทำบุญด้วย ช่วยเตรียมผักในครัว ซื้อศาลาบริจาคให้สถานสงเคราะห์ แกผูกพันกับสถานสงเคราะห์มาก

“ก่อนหน้านี้คุณยายมีครอบครัว ลูกกับสามีตายไปก่อน ซึ่งก่อนเข้ามาแกบริจาคร่างกายไว้ ก่อนที่คุณยายจะเสียประมาณ 2-3 ปี แกมีโรคประจำตัวเป็นความดัน เบาหวาน แล้ววันที่แกเสีย เราก็โทรแจ้งโรงพยาบาล แต่เขาบอกว่ากรณีนี้ต้องมีคนมอบศพ ซึ่งเจ้าหน้าที่เซ็นแทนไม่ได้ ต้องเป็นญาติพี่น้องเซ็นมอบเท่านั้น สุดท้ายเลยไม่ได้บริจาคร่างกายตามที่แกประสงค์ เพราะแกไม่มีญาติ เราก็ทำฌาปนกิจให้”

 


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save