fbpx
ทำไมคนเชื่อเฟกนิวส์?

ทำไมคนเชื่อเฟกนิวส์?

นำชัย ชีววิวรรธน์ เรื่อง

ธนภรณ์ สร้อยภู่ระย้า ภาพประกอบ

ยุคนี้คนใช้ชีวิตใน ‘โซเชียลมีเดีย’ มากขึ้นเรื่อยๆ จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าข่าวสร้าง ข่าวปล่อย หรือข่าวปลอมทั้งหลายที่เรียกรวมๆ ว่า ‘เฟกนิวส์’ (fake news) จึงส่งผ่านโลกเสมือน อันแสนจะน่าอัศจรรย์ใจได้เร็วและมากยิ่งกว่าไฟลามทุ่งเสียอีก

ที่ว่ามานี่ไม่ใช่เรื่องคิดเอาเองนะครับ มีงานวิจัยของทีมที่เอ็มไอทีที่ตีพิมพ์ใน ค.ศ. 2018 ระบุว่า การศึกษาโพสต์ในทวิตเตอร์ระหว่าง ค.ศ. 2006–2017 ทำให้ทราบว่า ข่าวลือที่ไม่ใช่เรื่องจริง 126,000 โพสต์ แพร่กระจายไปในวงกว้างถึงผู้คนราว 3 ล้านคน และรีทวีตไปรวมมากกว่า 4.5 ล้านครั้งเสียอีก องค์กรเอ็นจีโอชื่อ Avaaz อ้างข้อมูลจากเฟซบุ๊กว่า เฟกนิวส์เกี่ยวกับการเมืองใน ค.ศ. 2019 แชร์ไปดูกันมากกว่า 150 ล้านครั้ง

เฉลี่ยแล้วเทียบโพสต์ต่อโพสต์ ข่าวลวงพวกนี้แพร่หลายไปในวงกว้างมากว่าข่าวจริงเสียอีก!

ความน่าทึ่งยังไม่หมดแต่เท่านั้น งานวิจัยชิ้นเดียวกันยังระบุด้วยว่า 1% บนสุดของเฟกนิวส์ยอดนิยมพวกนี้แพร่กระจายได้ในวงกว้างตั้งแต่ 1,000 ถึง 100,000 คนต่อหนึ่งข่าว (แล้วแต่ข่าว)

แต่ข้อสรุปที่น่าทึ่งที่สุดซึ่งช่วยยืนยันความเชื่อที่มีมานมนานว่าเป็นเรื่องจริงก็คือ ความเร็วของการแพร่กระจายข่าวปลอมพวกนี้รวดเร็วกว่าเรื่องจริงมาก….ข่าวลือจึงไปได้ทั้งไวและไกล

คำถามสำคัญในวงวิชาการก็คือ ทำไมผู้คนจึงเชื่อเฟกนิวส์พวกนี้? ทำไมคนเราจึงถูกหลอกในเรื่องที่บางครั้งก็ดูไม่น่าเชื่อมากๆ?

เฟกนิวส์เล่นกลกับจิตใจ

มีคำอธิบายมากมายที่นักวิชาการคิดขึ้นมาและพยายามหาทางพิสูจน์ว่าถูกต้องหรือไม่ สมมติฐานยอดนิยมที่ฟังดูสมเหตุสมผลและอ้างอิงกันมากก็คือ เฟกนิวส์ใช้จุดอ่อนทางจิตวิทยาที่มีประจำตัวเราทุกคนมาเล่นงานเราเอง เพราะทุกคนมีสิ่งที่เรียกว่า การรับรู้อย่างมีอคติ (cognitive bias) อยู่

คนปกติมักจะให้น้ำหนักกับสิ่งที่คนในครอบครัว เพื่อนๆ หรือคนที่เราชื่นชม ชื่นชอบ เช่น ดารา นักร้อง เซเลบฯ ในดวงใจ ฯลฯ เชื่อถือ เมื่อคนเหล่านี้แชร์โพสต์หรือเรื่องราวมาให้เราเห็นในทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก หรือไลน์ หรือแม้แต่ปรากฏในโฆษณาทางโทรทัศน์ เราก็จะหลงเชื่ออย่างง่ายดาย

เราจึงมีแนวโน้มจะกระโดดสู่ข้อสรุปว่า “น่าจะเป็นเรื่องจริง” อย่างง่ายๆ เลยทีเดียว

ยิ่งไปกว่านั้น จะ ‘ด่วนสรุป’ มากขึ้นไปอีก หากเรื่องดังกล่าวไปกันได้กับความคิดเห็นหรือความเชื่อที่เรามีอยู่แล้ว เช่น หากเราเชื่อว่าประธานาธิบดีทรัมป์ (หรือผู้นำบางคน) ชอบพูดอะไรที่ดูไม่เข้าท่าหรือไม่ฉลาด หากมีใครแชร์คำพูดประหลาดๆ เหลือเชื่อที่ระบุว่า ทรัมป์หรือผู้นำคนนั้นเป็นคนพูดไว้

เราก็จะเชื่อง่ายเป็นพิเศษและรีบแชร์ต่ออย่างรวดเร็ว โดยฉุกใจคิดน้อยมากว่าอาจจะไม่จริงก็ได้

นอกจากจะเล่นกลกับความคิดอ่านและความเห็นของเราแล้ว เฟกนิวส์ยังเล่นกับอารมณ์ของเราอีกด้วย มักพบกันว่าข่าวปลอมที่กระตุ้นอารมณ์อย่างรุนแรง ไม่ว่าจะทำให้ประหลาดใจ ตื่นกลัว เกลียดชัง ขยะแขยง ดูถูกดูหมิ่น ฯลฯ จะชวนให้เชื่อได้ง่ายเป็นอย่างยิ่ง

คนจำนวนมากเลย ‘ตอบสนอง’ ด้วยการส่งต่อข้อมูลเหล่านั้นให้ผู้อื่นต่อไป กลายเป็นวงจรอุบาทว์ไม่รู้จบ

เรื่องมันซับซ้อนและเราก็ไม่รู้หรือขี้เกียจ

เดิมนั้นผู้อ่านจะรู้ว่า สื่อต้นตอข่าวที่ตัวเองรับข่าวสารมา ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ นิตยสาร รายการวิทยุ รายการโทรทัศน์ไหน มีระดับความน่าเชื่อถือมากเพียงใด เวลาอ่านนิตยสารซุบซิบดาราก็พอจะรู้ว่า จะไปเชื่อถืออะไรมากนักคงเป็นเรื่องยาก ผู้ผลิตเนื้อหาแต่ละรายก็รับรู้ว่าจะต้องมีความรับผิดชอบ ไม่ว่าจะจากสำนึกในจรรยาบรรณหรือความกังวลต่อกฎหมายก็ตาม

ข่าวปลอมจึงเป็นผลงานของคนจำนวนน้อยที่มุ่งร้ายด้วยจุดประสงค์หรือผลประโยชน์บางอย่าง

แต่เมื่อมาถึงยุคที่เราได้ข่าวสารจากโซเชียลมีเดียบนอินเทอร์เน็ตเป็นหลัก (จากการสำรวจของ Pew Research คนอเมริกัน 60% ทุกวันนี้ได้รับข่าวสารผ่านทางโซเชียลมีเดียวเป็นหลัก ของไทยยังไม่เห็นข้อมูลนะครับ) ขอบเขตความชัดเจนตรงนี้ก็พร่ามัวลงมาก ใครก็เป็นคนสร้างเนื้อหาและเผยแพร่ได้

แม้แต่รายการโทรทัศน์ที่ควรจะต้องระมัดระวังและรับผิดชอบมากๆ ก็ยังเอาเรื่องที่ใครก็ไม่รู้โพสต์ลงเฟซบุ๊คมาอ่านออกอากาศกันอย่างหน้าตาเฉย ราวกับอยากจะช่วยรับประกันว่า ข่าวพวกนั้นเชื่อถือได้

เรื่องจริง เรื่องปลอม จึงปะปนกันมั่วซั่วไปหมด การใช้แหล่งข่าวหรือแหล่งที่มาในการการันตีเนื้อหา เริ่มขาดความน่าเชื่อถือมากขึ้นเรื่อยๆ

อันที่จริงลองถามตัวเองกันดูก็ได้ว่า เวลาอ่านแล้วเราเคยสงสัยและลงมือเช็คความถูกต้องของข้อมูลสักกี่ครั้งหรือกี่เปอร์เซ็นต์กัน สำหรับหลายๆ คนแล้ว เรื่องบางเรื่องก็ซับซ้อนเกินเข้าใจได้ง่ายๆ และกับอีกหลายๆ คน ก็ไม่รู้ว่าจะตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลได้อย่างไร

ในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยแทบทั้งหมด ไม่เคยสอนวิธีการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล คนส่วนใหญ่จึงไม่รู้วิธีการตรวจสอบ หรือต่อให้รู้ก็ยุ่งหรือขี้เกียจเกินกว่าจะลงมือตรวจสอบ…อยู่นั่นเอง

การเสริมแรงทางสังคม

การมองว่าคนเราเป็นแค่เครื่องประมวลผลข้อมูลแบบคอมพิวเตอร์นั้นน่าจะไม่ถูกต้อง อิทธิพลทางสังคมน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่บ้างไม่มากก็น้อย

คณะนักวิจัยของมหาวิทยาลัยบราวน์ที่ตีพิมพ์งานวิจัยเรื่อง The Science of Fake News ลงในวารสาร Science ระบุว่า การที่เราเป็นสัตว์สังคมนั้น เราใช้กรอบแนวคิดเกี่ยวกับข้อมูลในโซเชียลมีเดียไม่ตรงไปตรงมานัก เพราะมันสะท้อนถึงอิทธิพลทางสังคมของคนอื่นๆ ที่อยู่รอบตัวเราด้วย

เราเห็นว่าคนรอบตัวคิดอย่างไร เชื่ออย่างไร เหมือนหรือแตกต่างจากเราอย่างไร เมื่อพวกเขาแชร์ข้อมูลข่าวสารให้เห็น จึงมีส่วนเสริมความเชื่อเหล่านี้ ผลลัพธ์จึงเป็นว่าความเชื่อเหล่านี้เป็น ‘ความเชื่อของกลุ่ม’ และด้วยเหตุนี้เอง

แม้จะเห็นอยู่ รู้สึกอยู่อย่างเต็มอกว่า ที่แชร์มานั้นผิด ก็เป็นเรื่องยากที่จะเอ่ยปากโต้แย้ง จนทำให้คนจำนวนมากปกป้องตัวเองด้วยการ ‘ยอมตามน้ำ’ สมองของคนเหล่านี้มีความสุขกับ ‘ทางลัด’ ในการวางตัวและดำรงความเชื่อ

นี่เองที่เป็นอันตรายอย่างยิ่งยวดของเฟกนิวส์

อีกเรื่องหนึ่งก็คือ งานวิจัยของเอ็มไอที (กล่าวถึงไปแล้วข้างต้น) ยังพิสูจน์ให้เห็นอีกด้วยว่า ความเชื่อที่ว่าโปรแกรมสำเร็จรูปหรือที่ในวงการเรียกว่า ‘โรบ็อต’ หรือ ‘บ็อต’ ที่ทำงานบนอินเทอร์เน็ต ไม่ได้ช่วยให้เฟกนิวส์แพร่กระจายอย่างกว้างขวาง ‘มากกว่า’ หากเทียบกับคนจริงๆ เพราะพวกมันแชร์ข่าวจริงและข่าวปลอมในสัดส่วนเท่าๆ กัน

ในทางตรงกันข้าม ผลการทดลองชี้ว่าคนเรานี่แหละครับ ตัวดีเลยในการแชร์เฟกนิวส์ โดยเฉพาะเรื่องที่แปลกใหม่ เพิ่งสร้างกันขึ้นมา และยังไม่รู้กันอย่างกว้างขวางว่าเป็นเฟกนิวส์

ยิ่งฉลาดยิ่งเป็นเหยื่อเฟกนิวส์

มีงานวิจัยหลายชิ้นที่แสดงให้เห็นว่า คนส่วนใหญ่ตอบสนองเรื่องราวในชีวิตด้วยสัญชาตญาณมากกว่าจะใช้ความคิดวิเคราะห์ โดยเฉพาะในเรื่องที่เราคิดว่าคุ้นเคยหรือรู้กันดีอยู่แล้ว

นี่เองเป็นช่องโหว่ใหญ่ให้เฟกนิวส์ทำงานได้สะดวกง่ายดายมากขึ้น

ไม่เชื่อลองตอบคำถามสองข้อนี้ดู คำถามข้อแรก “มีสัตว์จำนวนมากแค่ไหนที่โมเสสช่วยลงเรือดิอาร์ก ทำให้รอดน้ำท่วมใหญ่ไปได้” และคำถามข้อที่สอง “หากใช้เครื่องจักร 5 เครื่องผลิตสินค้าแบบหนึ่งได้ใน 5 นาที ถามว่าหากมีเครื่องจักร 100 เครื่อง ถามว่าจะผลิตสินค้าดังกล่าวได้ในกี่นาที?”

คำตอบข้อแรกคือ ไม่มีเลย! เพราะคนที่ช่วยสัตว์ไม่ให้จมน้ำท่วมใหญ่ตายคือ โนอาห์ ไม่ใช่โมเสส นักวิจัยพบว่ามีนักศึกษาราว 12% ที่ตอบข้อนี้ผิด ส่วนคำตอบข้อที่สองคือ 5 นาที แต่คนจำนวนมาก แม้แต่คนที่ได้ชื่อว่าฉลาด ก็มักจะตอบว่า 100 นาที อันเป็นการตอบแบบใช้สัญชาตญาณมากกว่าจะคิดวิเคราะห์

ดังนั้น แม้คนฉลาดก็ไม่พ้นจะเป็นเหยื่อของเฟกนิวส์ไปได้ คนที่จะรอดได้ดีกว่าต้องเป็นพวกมีความคิดวิเคราะห์เป็นลักษณะประจำตัว แต่แย่กว่านั้นก็คือ มีงานวิจัยที่ชี้ว่าคนที่เชื่อว่าตัวเองฉลาด กลับเป็นพวกที่ไม่ติดตามหรือเรียนรู้ว่า เฟกนิวส์ใดที่พิสูจน์แล้วว่าไม่จริง แล้วก็ยังเชื่อผิดๆ ต่อไปอีกไม่เลิก

เรียกว่าความหลงว่าตัวเองฉลาดเป็นม่านบังตา…ก็คงได้

ในงานวิจัยดังกล่าวยังชี้ให้เห็นเล่ห์กลบางอย่าง เช่น หากจะหลอกเรื่องการแพทย์ เช่น ยาผีบอก หากใช้รูปประกอบเป็นรูปเอกซเรย์หรือภาพสแกนคอมพิวเตอร์ ก็จะทำให้มีผู้หลงเชื่อมากขึ้นและง่ายขึ้นด้วย

แต่ที่ผมคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่เราควรจะตระหนักได้แก่ พลังสำคัญของเฟกนิวส์คือ พลังการทำซ้ำ ยิ่งเราได้ยินได้ฟังเรื่องดังกล่าวซ้ำๆ มากเท่าใด เราก็มีโอกาสจะเชื่อง่ายขึ้นว่ามันเป็นเรื่องจริง คนที่อธิบายเรื่องนี้ดีที่สุดได้แก่ ฮิตเลอร์ ดังคำพูดที่ (มัก) อ้างกันว่าเขาเป็นคนกล่าว….

“โกหกคำโต พูดง่ายๆ ซ้ำๆ สุดท้ายผู้คนก็จะเชื่อเอง”

แก้ลำเฟกนิวส์

มีการทดลองของนักวิจัยในแคนาดาที่สรุปว่า หากไม่เร่งรีบจนเกินไป ใช้เวลาคิดมากขึ้น จะแชร์ข่าวลวงน้อยลง โดยเฉพาะข่าวการเมืองที่ไปกันได้กับมุมมองทางการเมืองของตัวเอง อาการการเมืองขึ้นสมองนี่ เป็นเหมือนๆ กันทั้งฝ่ายอนุรักษนิยมและพวกเสรีนิยมนะครับ ไม่มีใครดีกว่าใคร

มีงานวิจัยลงใน PNAS ค.ศ. 2019 ว่าสามารถใช้ ‘crowdsourcing’ หรือพลังความรู้ของฝูงชนแก้ปัญหานี้ได้ เรื่องน่าประหลาดใจที่ค้นพบในงานวิจัยนี้คือ แม้แต่คนทั่วไปที่เชื่อกันว่าไม่สามารถแยกแยะเฟกนิวส์ได้ดี แต่หากช่วยๆ กันแล้ว ก็กลับมีประสิทธิภาพมากทีเดียวในการจับผิดเฟกนิวส์

เรื่องนี้สอดคล้องกับแนวนโยบายของเว็บโซเชียลมีเดียวรายใหญ่อย่างเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ที่ใช้การติดแท็กคำกล่าวอ้างที่ถูกต้องเพียงบางส่วนหรือแม้แต่จะผิดเลยทั้งหมด และกำลังเป็นคู่กรณีกับประธานาธิบดีทรัมป์ที่เผยแพร่ข้อมูลความเชื่อผิดๆ มั่วๆ อยู่ตลอดเวลา เช่น กินยารักษามาลาเรียป้องกันโควิดได้ หรือตัวเลขคนอเมริกันติดเชื้อมากเพราะตรวจเยอะ ซึ่งไม่จริงทั้งสองเรื่อง

สุดท้ายแล้ว คงต้องอยู่ที่ความตระหนักในความไม่แน่นอนและเชื่อถือได้ยากของข้อมูล และต้องพินิจพิจารณาทั้งตัวเนื้อหา แหล่งที่มา รวมไปถึงอคติในใจของเราเอง จึงจะพอบอกได้เป็นเบื้องต้นว่า เรากำลังตกเป็นเหยื่อของเฟกนิวส์หรือเปล่า

ช้าลงอีกนิด ละเอียดขึ้นอีกหน่อย วิเคราะห์วิจารณ์เพิ่ม รวมทั้งไม่เอาอคติทางการเมืองมาประกอบการตัดสินใจ แล้วเราจะไม่เป็นเหยื่อของผู้ปล่อยข่าวลวงครับ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save