fbpx

กรอบการทำงานที่เป็นธรรม (Fair Work): แนวคิดใหม่ในการกำกับดูแลแรงงานในแพลตฟอร์ม

นอกจากกระแสเทคโนโลยีป่วนโลกจะทำให้เกิดความกังวลใจของมนุษย์แรงงานว่าจะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ ทำให้ต้องเร่งปรับตัวด้วยการยกระดับและพัฒนาทักษะใหม่เพื่อจะได้มีงานทำและมีรายได้ยังชีพต่อไป เทคโนโลยียังทำให้เกิดงานประเภทใหม่ๆ และหนึ่งในงานรูปแบบใหม่ที่เด่นชัดที่สุด คือ การให้บริการแพลตฟอร์มสั่งอาหารออนไลน์ ซึ่งได้ขยายตัวขึ้นอย่างมากในช่วงของการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นโอกาสให้แรงงานที่ถูกเลิกจ้างได้เข้ามาประกอบอาชีพไรเดอร์ หรือคนขับรถส่งอาหารเป็นจำนวนมาก 

ท่ามกลางการแข่งขันดุเดือดเพื่อแย่งชิงตลาดของแพลตฟอร์มให้บริการสั่งอาหารออนไลน์ ความตึงเครียดของไรเดอร์ได้ปรากฏขึ้นเมื่อค่ารอบถูกปรับลดลง ในขณะที่ไรเดอร์ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการส่งอาหารทั้งหมด รวมถึงความเสี่ยงบนท้องถนนด้วยตัวเอง เมื่อค่ารอบลดลง ไรเดอร์ต้องเผชิญกับความกดดันในการทำงานที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งในแง่ของการทำงานแข่งกับเวลาในแต่ละรอบ และชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานขึ้นเพื่อรักษาระดับรายได้ในแต่ละวัน ปรากฏการณ์นี้ก่อให้เกิดการตั้งคำถามในเรื่องของการแบ่งปันผลประโยชน์ และการรับผิดชอบความเสี่ยงระหว่างแพลตฟอร์มกับไรเดอร์ ซึ่งยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าจะคลี่คลายไปทางใด 

ปัญหาระหว่างแพลตฟอร์มกับไรเดอร์คือกรณีรูปธรรมที่สะท้อนให้เห็นความตึงเครียดที่เกิดขึ้นใน ‘เศรษฐกิจแพลตฟอร์ม’ ซึ่งสร้างความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ระหว่างแรงงานกับแพลตฟอร์มในแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ความท้าทายสำคัญในประเด็นนี้คือ การออกแบบการกำกับดูแลใหม่ที่สร้างสมดุลระหว่างผลประโยชน์ของไรเดอร์ แพลตฟอร์ม ผู้บริโภค และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ได้

 เศรษฐกิจแพลตฟอร์มกับความล้มเหลวของตลาดแรงงานไทย

ปฏิเสธไม่ได้ว่าตลาดแรงงานไทยล้มเหลวในการจัดสรรงานที่ดีมีคุณภาพให้กับคนไทยส่วนใหญ่ ทั้งในเรื่องค่าตอบแทนและสิทธิสวัสดิการ ที่ผ่านมาแรงงานไทยแก้ปัญหาการเข้าไม่ถึงงานดีมีคุณภาพด้วยการทำงานล่วงเวลา ทำงานหลายอาชีพ และก่อหนี้ (หากจำเป็น) เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตได้ เศรษฐกิจแพลตฟอร์มได้เข้ามามีบทบาทช่วยให้แรงงานมีทางเลือกในการประกอบอาชีพ และช่วยให้แรงงานมีชั่วโมงการทำงานและรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นจากเดิม

ผลจากการสำรวจการทำงานบนแพลตฟอร์มของไรเดอร์ ของโครงการขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายต่อคุณภาพชีวิตของคนทำงานแพลตฟอร์ม ที่ทำการสำรวจไรเดอร์จำนวน 916 คน ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และ 6 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี อยุธยา เชียงใหม่ ขอนแก่น นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2564 แสดงให้เห็นว่า อาชีพไรเดอร์มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตในระดับที่สูง โดยไรเดอร์ร้อยละ 87 ให้ความสำคัญในระดับ 7-9 (9=สำคัญสูงที่สุด) นอกจากนี้ แม้จะปรากฏความขัดแย้งระหว่างไรเดอร์และบริษัทแพลตฟอร์มให้เห็นตามข่าวต่างๆ ในระยะเวลาที่ผ่านมา แต่ไรเดอร์ร้อยละ 79 ก็มีความพึงพอใจกับการทำงานบนแพลตฟอร์มในระดับ 7-9 (9=พึงพอใจสูงสุด) 

อีกทั้ง แม้จะมีข้อกังวลในเรื่องของความเสี่ยงอันตราย การรับรองและการคุ้มครองสิทธิในด้านการทำงาน ความมั่นคงในอาชีพ และการพัฒนาตัวเอง แต่วิกฤตเศรษฐกิจที่เป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้แรงงานไทยหันมาประกอบอาชีพไรเดอร์อย่างเต็มตัวหรือยึดเป็นอาชีพหลักเป็นจำนวนมาก (ในทำนองเดียวกันไรเดอร์ที่ประกอบอาชีพนี้เป็นอาชีพเสริมก็มีจำนวนมากขึ้นเช่นกัน)

หากนำกรอบคิดหรือกติกาเดิมมาใช้ในการจัดประเภทแรงงานของไรเดอร์ระหว่างแรงงาน 2 ประเภท คือ แรงงานในระบบ และแรงงานนอกระบบ พบว่า ไรเดอร์มีลักษณะของการทำงานก้ำกึ่งระหว่างแรงงานในระบบ ซึ่งหมายถึง ลูกจ้างที่มีนายจ้างคอยกำกับดูแลภายใต้กฎหมายคุ้มครองแรงงานและหลักประกันทางสังคมจากการทำงาน และแรงงานนอกระบบ ซึ่งหมายถึง ผู้ที่ทำงานส่วนตัวหรือลูกจ้างที่ไม่มีประกันสังคมหรือสวัสดิการพนักงานของรัฐ ได้แก่ เกษตรกร และผู้ประกอบอาชีพอิสระ เช่น พ่อค้า แม่ค้า พนักงานบริการในร้านอาหาร ในขณะที่โมเดลธุรกิจของบริษัทแพลตฟอร์มที่ไม่สามารถกำหนดรูปแบบความสัมพันธ์และประเภทของแรงงานให้กับไรเดอร์ได้อย่างชัดเจน ได้กลายมาเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ทั่วโลก โดยที่กรอบคิดเดิมไม่สามารถแก้ไขประเด็นปัญหานี้ได้ และจำเป็นที่จะต้องค้นหาแนวปฏิบัติใหม่สำหรับแรงงานอิสระกลุ่มนี้ที่สามารถสร้างหลักประกันได้ว่าเศรษฐกิจแพลตฟอร์มจะสามารถสร้างประโยชน์ที่ยั่งยืนให้กับพวกเขาและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มอื่นๆ ในสังคม

 ไรเดอร์มีสถานะไม่ชัดเจน และความอิสระของอาชีพเป็นเรื่องสำคัญ
สำหรับไรเดอร์

หากจัดไรเดอร์ให้มีสถานะเป็นแรงงานนอกระบบดังที่บริษัทแพลตฟอร์มกล่าวอ้างเช่นเดียวกับคนทำงานประเภทฟรีแลนซ์ ไรเดอร์ต้องพึ่งพิงตัวเองในการทำงาน เพราะไม่อยู่ภายใต้ระบบประกันสังคมและกฎหมายคุ้มครองแรงงาน แต่หากจัดไรเดอร์ให้มีสถานะเป็นลูกจ้างและบริษัทแพลตฟอร์มมีสถานะเป็นนายจ้าง อาจไม่เอื้อให้เกิดธุรกิจรูปแบบใหม่ และไม่สามารถแบกรับต้นทุนการจ้างแรงงานในรูปแบบเดิมได้ ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในการเสียโอกาสในการได้รับบริการรูปแบบใหม่ ในขณะที่ไรเดอร์ก็เสียโอกาสในการประกอบอาชีพและการหารายได้เพิ่ม โดยเฉพาะไรเดอร์ในรูปแบบพาร์ตไทม์ที่มีอยู่จำนวนไม่น้อยก็จะไม่สามารถประกอบอาชีพเสริมได้

นอกจากนี้ ไรเดอร์จะสูญเสียความเป็นอิสระและความยืดหยุ่นในการทำงาน ซึ่งหมายถึงเวลาและชั่วโมงการทำงานที่มีความยืดหยุ่นและเลือกได้ตามความพอใจ ข้อมูลจากการสำรวจของโครงการฯ ยังพบว่า เหตุผลที่ไรเดอร์ประกอบอาชีพนี้คือ ‘ความมีอิสระในการทำงานและเป็นนายตัวเอง’ ซึ่งเป็นเหตุผลอันดับที่ 2 รองจากเหตุผลที่อาชีพนี้ ‘สร้างรายได้และให้ค่าตอบแทนสูงกว่าอาชีพอื่น’

นอกจากนี้ โครงการฯ ยังพบอีกด้วยว่า ไรเดอร์กว่าร้อยละ 89 ไม่ต้องการเลิกทำงานไรเดอร์และกลับไปทำงานประจำ และร้อยละ 50 ของไรเดอร์ชอบรูปแบบ ‘การทำงานที่เป็นงานอิสระ เลือกงานที่ทำได้ รายได้ไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับสัดส่วนรายได้จากการทำงาน แพลตฟอร์มไม่คุ้มครองอุบัติเหตุและสุขภาพ’ มากที่สุด เมื่อเทียบกับรูปแบบการทำงานอีก 2 รูปแบบคือ ‘งานอิสระ เลือกงานไม่ได้ มีรายได้สูง แพลตฟอร์มไม่คุ้มครองอุบัติเหตุและสุขภาพ’ และ ‘งานไม่อิสระ เลือกงานไม่ได้ ถูกกำหนดชั่วโมงทำงานขั้นต่ำ มีเงินออมยามเกษียณและได้รับความคุ้มครองอุบัติเหตุและสุขภาพ’ นอกจากนี้ ไรเดอร์ยังให้คะแนนความพึงพอใจจากการทำงานในด้านความมีอิสระสูงที่สุดเมื่อเทียบกับลักษณะงานด้านอื่นๆ ด้วยคะแนนเฉลี่ย 7.91 จาก 10 คะแนน

กรอบการทำงานที่เป็นธรรม

ด้วยลักษณะของการประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มที่แตกต่างจากธุรกิจอื่นที่มีอยู่เดิมทำให้รูปแบบการทำงานที่แบ่งความสัมพันธ์การทำงานออกเป็น ‘ลูกจ้างและแรงงานอิสระ’ ไม่สามารถตอบโจทย์ธุรกิจสมัยใหม่ได้ เราจึงจำเป็นต้องหาวิธีใหม่ในการคิดเกี่ยวกับคนทำงานบนแพลตฟอร์ม เพื่อให้มั่นใจว่าเศรษฐกิจแพลตฟอร์มจะเป็นประโยชน์ต่อไรเดอร์และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

โดยเราอาจใช้ ‘กรอบความคิดการทำงานที่เป็นธรรม (Fair work)’ ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) แทนกรอบคิดเดิมที่จำแนกแรงงานออกเป็น 2 ประเภทในการตอบโจทย์ความเป็นธรรม โดยการทำงานที่เป็นธรรม ประกอบด้วย 5 ประการ ได้แก่ ค่าตอบแทนที่เป็นธรรม สภาพการทำงานที่เป็นธรรม สัญญาที่เป็นธรรม การบริหารจัดการที่เป็นธรรม และระบบตัวแทนที่เป็นธรรม 

เมื่อพิจารณาในเรื่องค่าตอบแทน ผลการสำรวจของโครงการฯ ชี้ให้เห็นว่าเป็นประเด็นที่ไรเดอร์เรียกร้องมากที่สุด ในขณะเดียวกันก็พบว่า สาเหตุอันดับหนึ่งที่ไรเดอร์เลือกประกอบอาชีพนี้ คือ เป็นแหล่งรายได้หลักและรายได้ดีกว่าอาชีพอื่น ไรเดอร์ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 76 ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล และร้อยละ 71 ใน 6 จังหวัดที่ทำการศึกษา ผู้ประกอบอาชีพไรเดอร์เป็นงานหลักมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนอยู่ในช่วง 15,001-30,000 บาท หากค่าใช้จ่ายในการประกอบอาชีพของไรเดอร์เฉลี่ยต่อเดือนเท่ากับ 6,000 บาท รายได้สุทธิของไรเดอร์จะเท่ากับ 9,000-24,000 บาทต่อเดือน นอกจากนี้ ข้อมูลจากการสำรวจยังพบว่า ไรเดอร์ให้คะแนนความพึงพอใจในรายได้เป็นอันดับที่ 2 รองจากอิสระในการทำงาน โดยมีคะแนนเฉลี่ย 7.45 จาก 10 คะแนน อย่างไรก็ดี สิ่งที่ไรเดอร์ต้องการมากที่สุด ได้แก่ การเพิ่มค่าตอบแทนต่อรอบหรือการประกันรายได้ขั้นต่ำ หรือจำนวนงานต่อวันซึ่งเป็นประเด็นที่จะต้องพิจารณาความเหมาะสมร่วมกัน ซึ่งการเพิ่มขึ้นของค่าตอบแทนมีแนวโน้มจะส่งผลทำให้ราคาที่ผู้บริโภคจ่ายเพิ่มสูงขึ้น และอาจลดการใช้บริการแพลตฟอร์มซึ่งจะส่งผลต่อรายได้ของบริษัทแพลตฟอร์มและไรเดอร์ได้

สำหรับความเป็นธรรมในเรื่องสภาพการทำงาน  ผลการสำรวจของโครงการฯ พบว่า คะแนนความพึงพอใจด้านสวัสดิการของไรเดอร์ต่ำที่สุดในระดับ 4.76 จาก 9 คะแนน สิ่งที่ไรเดอร์เรียกร้อง ได้แก่ เงินชดเชยจากการขาดรายได้ ประกันสุขภาพ และการประกันรายได้ขั้นต่ำ ซึ่งจากการสัมภาษณ์บริษัทแพลตฟอร์มส่วนใหญ่ได้ทำประกันอุบัติเหตุให้กับไรเดอร์ บางแพลตฟอร์มกำลังศึกษาแนวทางการทำประกันการสูญเสียรายได้จากการเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากการทำงาน บางแพลตฟอร์มได้มีการนำระบบเทเลเมติกส์ (Telemetics – อุปกรณ์ที่มี GPS และบันทึกพฤติกรรมการขับขี่) เพื่อตรวจสอบความเหนื่อยล้าของไรเดอร์ซึ่งถือเป็นมาตรการเชิงรุกเพื่อป้องกันส่งเสริมสุขภาพและความปลอดภัยของไรเดอร์

นอกจากนี้ ยังมีการพิจารณาจัดตั้งกองทุนสวัสดิการที่มีองค์กรกลางที่เป็นอิสระเป็นผู้จัดการกองทุนและบริษัทแพลตฟอร์มสมทบจ่ายตามสัดส่วนการทำงานของไรเดอร์ เพื่อจัดสวัสดิการเงินทดแทนการขาดรายได้ ประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ และเงินบำเหน็จบำนาญ เพื่อให้เกิดความรับผิดชอบของบริษัทแพลตฟอร์มต่อการทำงานของไรเดอร์ ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระงบประมาณแผ่นดินลงได้ ซึ่งจากการสำรวจของโครงการฯ พบว่า ไรเดอร์พร้อมที่จะจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน ในขณะที่ผลจากการสัมภาษณ์ พบว่า บริษัทแพลตฟอร์มก็มีความพร้อมที่จะจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเช่นเดียวกัน

สำหรับสัญญาที่เป็นธรรมนั้นได้มีร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลต้องแจ้งทราบ พ.ศ. … ซึ่งสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มุ่งเน้นการควบคุมดูแลผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลให้บริการที่มีมาตรฐาน โปร่งใส และเป็นธรรม โดยเฉพาะแพลตฟอร์มต่างประเทศที่ต้องอยู่ภายใต้หลักกฎหมายและต้องระบุตัวตนได้ว่าเป็นใคร สิ่งที่ควรต้องทำต่อคือ ผลักดันแนวทางการบังคับใช้ข้อตกลงในสัญญาที่เป็นธรรมระหว่างไรเดอร์และบริษัทแพลตฟอร์ม ต้องมีกระบวนการทำความเข้าใจกับไรเดอร์ก่อนทำสัญญาและก่อนเปลี่ยนแปลงสัญญา หากมีการเปลี่ยนแปลงข้อสัญญา ไรเดอร์ควรได้รับแจ้งเตือนภายในช่วงเวลาที่เหมาะสมก่อนที่ข้อสัญญาใหม่จะมีผลบังคับ มีการกำหนดความถี่ของการเปลี่ยนแปลงสัญญาและจำนวนวันของการแจ้งล่วงหน้าก่อนเปลี่ยนแปลงสัญญา และระยะเวลาและลักษณะการทำงานที่ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงทางสุขภาพ ไม่เร่งรีบเกินไป และหนักจนเสียสุขภาพ

การบริหารจัดการที่เป็นธรรมต้องมีกระบวนการอันชอบธรรมเกี่ยวกับการตัดสินหรือมีบทลงโทษทางวินัยของไรเดอร์ ไม่ว่าจะเป็น การปิดแอปพลิเคชันชั่วคราว การยกเลิกบัญชีผู้ใช้ หักค่าตอบแทน และเปิดโอกาสให้ไรเดอร์มีสิทธิอุทธรณ์คำตัดสิน พร้อมทั้งต้องชี้แจงเหตุผลในการตัดสินลงโทษ รวมถึงระบบอัลกอริทึ่มในการจับคู่งานกับไรเดอร์ที่เป็นธรรม จึงควรพิจารณาตั้งศูนย์ตรวจสอบข้อเรียกร้องของไรเดอร์เพื่อเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ย ซึ่งต้องอาศัยการเปิดเผยข้อมูลของแพลตฟอร์มเท่าที่จำเป็นต้องใช้ในการตรวจสอบ

และสุดท้ายระบบตัวแทนที่เป็นธรรม ซึ่งอาจอยู่ในรูปแบบของการการรวมกลุ่ม สรรหาตัวแทนของไรเดอร์ และกระบวนการเจรจาต่อรองในเรื่องสภาพการทำงานที่ต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐและแพลตฟอร์ม ไรเดอร์ต้องตระหนักรู้ถึงสิทธิและประโยชน์ในการรวมกลุ่ม ซึ่งจากผลการสำรวจไรเดอร์มีความสนใจในการรวมกลุ่มเป็นสหภาพแรงงานเพื่อเจรจาต่อรองกับแพลตฟอร์มในระดับ 5-9 สูงถึงร้อยละ 69 (1 = ไม่สนใจ 9=สนใจมากที่สุด) 

อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันบางแพลตฟอร์มมีช่องทางการสื่อสารและรับฟังความคิดเห็นของไรเดอร์ การแจ้งปัญหาให้บริษัทได้รับทราบ การแจ้งข้อมูลข่าวสารผ่านทางเฟซบุ๊กรายสัปดาห์ กิจกรรมสานสัมพันธ์ ได้แก่ การรับประทานอาหารร่วมกัน การแข่งขันกีฬา และการประชุมเพื่อพูดถึงการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นและรับฟังความเห็น ตลอดจนการจัดพบปะเพื่อให้ตัวแทนไรเดอร์ได้แสดงข้อกังวลใจและข้อเสนอแนะ ซึ่งหากกลไกที่มีอยู่นี้สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพก็จะช่วยสนับสนุนให้เกิดระบบตัวแทนที่เป็นธรรมได้เช่นกัน และนอกเหนือจากความเป็นธรรม 5 ประการที่กล่าวมา บางแพลตฟอร์มจัดให้มีโครงการฝึกทักษะอาชีพให้กับไรเดอร์ที่ต้องการออกจากอาชีพไปสู่การทำงานที่เน้นความรู้มากขึ้นอีกด้วย

การเจรจาทางสังคมสู่แนวทางในอนาคต

จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นว่ากรอบคิดและแนวปฏิบัติที่มีอยู่อาจไม่เพียงพอต่อโลกใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี เราต้องแสวงหาวิถีความเป็นธรรมใหม่ให้กับอาชีพใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น ดังจะเห็นในกรณีบริการแพลตฟอร์มส่งอาหารว่าการเป็นลูกจ้างในระบบอาจไม่ใช่คำตอบเดียวที่จะนำไปสู่ประโยชน์สูงสุดของคนทำงาน แต่เราสามารถใช้กรอบความเป็นธรรม ทั้งในเรื่องค่าตอบแทน สภาพการทำงาน สัญญา การบริการจัดการ และระบบตัวแทน ซึ่งความเป็นธรรมเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้จากการเจรจาทางสังคม (Social dialogue) ซึ่งหมายถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูล การปรึกษาหารือ และการสานประโยชน์ที่จะนำไปสู่ข้อยุติที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยอมรับ

MOST READ

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

Social Issues

21 Nov 2018

เมื่อโรคซึมเศร้าทำให้อยากจากไป

เรื่องราวการรับมือกับความคิด ‘อยากตาย’ ผ่านประสบการณ์ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คนเคียงข้าง และบทความจากจิตแพทย์

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

21 Nov 2018

Social Issues

22 Oct 2018

มิตรภาพยืนยาว แค้นคิดสั้น

จากชาวแก๊งค์สู่คู่อาฆาต ก่อนความแค้นมลายหายกลายเป็นมิตรภาพ คนหนุ่มเลือดร้อนผ่านอดีตระทมมาแบบไหน ‘บ้านกาญจนาฯ’ เปลี่ยนประตูที่เข้าใกล้ความตายให้เป็นประตูสู่ชีวิตที่ดีกว่าได้อย่างไร

ธิติ มีแต้ม

22 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save