fbpx
'ความล้มเหลว' วิชาภาคบังคับยุค 4.0

‘ความล้มเหลว’ วิชาภาคบังคับยุค 4.0

สันติธาร เสถียรไทย เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

ท่ามกลางกระแสสังคมที่คนล้วนอวดความสำเร็จซ่อนความล้มเหลว มีนักจิตวิทยาท่านหนึ่งในสวีเดนชื่อ ดร.ซามูเอล เวสต์ ได้สวนทางโดยสิ้นเชิงด้วยการสร้าง ‘พิพิธภัณฑ์แห่งความล้มเหลว’ (Museum of failed innovation) ที่รวบรวมความล้มเหลวของบริษัทยักษ์ใหญ่ทั่วโลกกว่า 70 ประเภท ไม่ว่าจะเป็น ลาซานญ่าแช่แข็งจาก Colgate ซอสมะเขือเทศสีเขียวจาก Heinz เกมมหาเศรษฐีเวอร์ชั่นนาย Donald Trump แผ่น DVD ของ Blockbuster อุปกรณ์ลูกครึ่งระหว่างเครื่องเล่นเกมกับโทรศัพท์มือถือของ Nokia

ทำไมเขาถึงได้เอา ‘ตราบาป’ ที่คนอยากลืมเหล่านี้มาวางโชว์?

เพราะเขามองว่าการเฟล (Fail) ไม่ใช่ตราบาป แต่เป็นหลักฐานของความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) การที่กล้าจะทดลองสิ่งใหม่ๆ นอกกรอบ เป็นสิ่งเตือนใจถึงความเสี่ยงในการทำธุรกิจ และมีบทเรียนต่างๆ ว่าทำไมสิ่งประดิษฐ์เหล่านั้นถึงได้ล้มเหลว ดร.ซามูเอลบอกว่า พิพิธภัณฑ์นี้ถูกสร้างขึ้นมาจากความเหนื่อยหน่ายที่อ่านเจอแต่เรื่องความสำเร็จของคน ทำให้ตั้งคำถามขึ้นมาว่าคนเราสามารถเรียนรู้อะไรต่างๆ จากความล้มเหลวได้มากมายกว่าความสำเร็จเสียอีก แต่ทำไมกลับไม่ค่อยมีคนให้ความสนใจเรื่องพวกนี้

แนวคิดของ ดร.ซามูเอล ที่พยายามลบตราบาปจากความล้มเหลว และลดการยึดติดกับ ‘ภาพความสำเร็จ’ นั้นน่าสนใจมากสำหรับยุค 4.0 ที่อนาคตเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว และคาดเดาได้ยาก ทั้งยุทธศาสตร์องค์กร โมเดลธุรกิจ นโยบายชาติ การแก้ปัญหาในทุกระดับยุคนี้มักไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว แต่ต้องผ่านการ ‘ทดลอง’ สิ่งใหม่ เก็บข้อมูล ประเมินผล เรียนรู้และพัฒนา เพื่อก้าวไปสู่การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้ทันโลก

หากแต่การทดลองย่อมมีทั้งสำเร็จและล้มเหลว มีสิ่งที่ทำถูกและผิดพลาด การมีทัศนคติที่สามารถลดความกลัวต่อความล้มเหลวได้จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาคน องค์กร และประเทศ

 

การ ‘เสพติดภาพความสำเร็จ’

 

แต่สิ่งที่เห็นอยู่ทุกวันนี้กลับตรงกันข้าม เราอยู่ในยุคที่คนมีภาพประสบความสำเร็จมักมี ‘แสงสว่างในตัวเอง’ พูดอะไรคนก็ฟัง มีเวที มีไมโครโฟนติดตัวตลอด มีไอเดียอะไรก็เด่นเพียงเพราะคนพูดเป็นใคร ในทางกลับกัน ความล้มเหลวถูกมองเป็นสิ่งน่าอับอาย ต้องซุกซ่อน ธุรกิจล่มก็อย่าให้คนรู้ เข้ามหาวิทยาลัยและบริษัทที่ต้องการไม่ได้ก็ต้องเงียบไว้ เพราะหากไม่ระวังอาจเป็นตราบาปติดตัว ทำให้เสียความน่าเชื่อถือในสังคม ทำให้เริ่มต้นใหม่ทำกิจการอะไรยากขึ้น

เราจึงอยู่ในสังคมที่ ‘เสพติดภาพความสำเร็จ’ ที่ต้องฉายภาพความสำเร็จตลอดเวลา ไม่ว่าจะในใบประวัติทำงาน ในสื่อและโซเชี่ยล พร้อมกับซ่อนความล้มเหลวไว้ในที่มืดที่คนไม่เห็น

 

อุปสรรคต่อการพัฒนา

 

สิ่งที่น่ากังวลคือ ทัศนคติเช่นนี้ในสังคมอาจกลายเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาองค์กรหรือแม้แต่ประเทศได้

ข้อแรก การกลัวต่อความล้มเหลวอาจทำให้คนไม่กล้าทดลองไอเดียใหม่ๆ และไม่กล้าเปิดใจรับการเปลี่ยนแปลง โดยคนยิ่งมีการศึกษาสูง ยิ่งมีประสบการณ์ อาจกลับยิ่งมีโอกาสติดกับดักนี้ เพราะยิ่งยึดติดกับภาพความสำเร็จของตนที่สะสมมา โดยไม่กล้าออกนอกกรอบที่ตนเองคุ้นเคย (comfort zone)

นี่คือเหตุผลหนึ่งที่สิงคโปร์พยายามอย่างมากที่จะลดความสำคัญของการสอบและเกรด ในการตัดสินความสำเร็จของนักเรียนภายใต้นโยบาย ‘Thinking Schools, Learning Nation’ เช่น ยกเลิกการสอบกลางภาค ของประถม 1-5 และ มัธยม 1-3 ยกเลิกการจัดอันดับผลการสอบในใบแจ้งคะแนน เป็นต้น โดยรัฐบาลสิงคโปร์ยอมรับว่า ความกดดันที่ต้องทำเกรดสูงๆ ที่เยาวชนสิงคโปร์ต้องเผชิญตลอดมา อาจทำให้เกิดความกลัวต่อการทำผิดพลาดที่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างนวัตกรรมและเรียนรู้

ข้อสอง การที่คนและองค์กรซ่อนความล้มเหลว ยังทำให้เราเสียโอกาสการเรียนรู้ที่สำคัญ เพราะหลายครั้งความล้มเหลวเกิดขึ้นจากการตัดสินใจและกระทำของคน เป็นสิ่งที่ป้องกันได้ในโลกที่ ‘สูตรสำเร็จ’ อาจเปลี่ยนแปลงได้ง่าย ไม่ตายตัว การเรียนรู้ ‘สูตรล้มเหลว’ ที่ควรหลีกเลี่ยงอาจมีความสำคัญไม่แพ้กัน ดั่งคำสอนไทยแต่เดิมว่า ‘ผิดเป็นครู’

 

ปกปิดความล้มเหลว

 

ข้อสาม คนอาจปกปิดความล้มเหลวของตนเองเพื่อเก็บภาพความสำเร็จต่อไป ดูตัวอย่างกรณีสะเทือนโลกเกิดขึ้นในวงการสตาร์ทอัพท ในกรณีของ อลิซาเบธ โฮล์มส์ (Elizabeth Holmes) ผู้ก่อตั้งบริษัท ‘Theranos’

สิบกว่าปีที่แล้ว น้อยคนจะไม่รู้จักอลิซาเบธในฐานะเจ้าแม่สตาร์ตอัพชื่อก้องโลก ที่ประกาศว่าสามารถสร้างเทคโนโลยีที่ตรวจเลือดได้ ไม่ต้องใช้เข็มเจาะแบบปกติ ไม่ต้องไปโรงพยาบาล และค่าใช้จ่ายถูกลง

เธอถูกขนานนามให้เป็น ‘สตีฟ จ็อบส์’ แห่งวงการแพทย์ ที่ Time ยกให้เป็น 1 ใน 100 บุคคลทรงอิทธิพลที่สุดของโลก ประจำปี 2015 และ Forbes ยกตำแหน่งมหาเศรษฐีอายุน้อยที่สุดในอเมริกาให้ขณะอายุ 31 ปี โดยมีสินทรัพย์กว่า 9,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ในวันนี้เธอยัง ‘ดัง’ อยู่ แต่ดังในฐานะ ‘ผู้หลอกลวงโลก’ ระดับประวัติศาสตร์ ที่กำลังถูกดำเนินคดีในสหรัฐ Wall Street Journal เอามาเขียนเป็นหนังสือ ‘Bad Blood’ และฮอลลีวู้ดกำลังเอามาทำเป็นหนัง

เหตุเพราะมีการค้นพบว่าอลิซาเบธและสามี ได้มีการปลอมแปลงผลการตรวจเลือด หลอกลวงนักลงทุนและแม้แต่รัฐบาลซ้ำแล้วซ้ำเล่า เมื่อตนรู้ว่าเทคโนโลยีการเจาะเลือดที Theranos สร้างขึ้นนั้นไม่สามารถตรวจเลือดได้อย่างแม่นยำตามที่สัญญากับโลกไว้

ที่น่าเศร้ามากคือหนังสือ Bad Blood ได้เล่าว่า ช่วงหลังเธอได้แต่ใช้เงินทุนมหาศาลและเวลาไปกับการปกปิด ‘ความล้มเหลว’ และสร้างภาพให้ตัวเองเป็นฮีโร่ แทนที่จะลงทุนวิจัยหาทางแก้ปัญหาเทคโนโลยีของตน ซึ่งแม้ไม่สามารถทำเท่าที่อ้างได้ ก็อาจช่วยสร้างสรรค์เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ดีกว่าเดิมได้

แน่นอนว่าการปกปิดความล้มเหลว ไม่ได้เกิดแค่ในวงการใดวงการหนึ่ง แต่เกิดขึ้นได้ทุกที่ รวมทั้งในโลกของนโยบายภาครัฐที่วัดผลลัพธ์ได้ยาก ทำให้บ่อยครั้งเราอาจไม่รู้เลยว่าแต่ละนโยบายและโครงการมีประสิทธิผลแค่ไหน คุ้มค่าต่อต้นทุนไหม

 

วิชาภาคบังคับแห่งอนาคต

 

หลายคนอาจได้ยินข้อคิดจากคนที่ประสบความสำเร็จว่า “จงอย่ากลัวความล้มเหลว” แต่เราเข้าใจวิทยาศาสตร์ของความกลัวต่อความล้มเหลวของคนสักแค่ไหน?

ความกลัวต่อความล้มเหลวเป็นแค่มุมมองของคนที่ปรับได้ทันทีเมื่อเข้าใจ เป็นเหมือน ‘ทักษะ’ อย่างหนึ่งที่ต้องฝึก ต้องสะสมภายใต้สภาพแวดล้อมและระบบนิเวศที่ถูกต้อง

กรอบความคิดของพ่อแม่ที่กำหนดให้นิยามความสำเร็จและล้มเหลวกับลูกแบบแคบๆ ระบบการศึกษาที่เน้นแต่สอบและวัดผล ไม่ให้คุณค่าการทดลองเรียนรู้ พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ที่ทำงานที่เน้นแต่ผลงานระยะสั้นมากกว่าการสร้างคนด้วยการให้โอกาสและความไว้วางใจ ล้วนอาจมีผลต่อทัศนคติของคนต่อความล้มเหลวทั้งสิ้น

เมื่อโลก 4.0 ที่เต็มไปด้วย disruption มาถึง ได้เวลาหรือยังที่เราจะ ‘บรรจุ’ การเรียนรู้จากความล้มเหลว เป็นวิชาบังคับที่ทุกคนต้องเรียน ก่อนที่ความกลัวความล้มเหลวจะทำให้เราหาความสำเร็จไม่เจอตลอดกาล

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save