fbpx
วาทกรรมกำหนด 'ความจริง' ประวัติศาสตร์ เหตุสลายชุมนุม เม.ย.- พ.ค. 2553

วาทกรรมกำหนด ‘ความจริง’ ประวัติศาสตร์ : ความทรงจำที่ถูกแช่แข็งจากเหตุสลายชุมนุม เม.ย. – พ.ค. ปี 53

นับเป็นเวลาหนึ่งทศวรรษของเหตุการณ์การสลายชุมนุมที่ยังไม่ถูกสะสางให้เห็นความยุติธรรม ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากความจริงบางอย่างที่ยังถูกซุกซ่อน แช่แข็งไว้ไม่ให้ใครเข้าถึงได้ บางส่วนอาจจะถูกเปิดเผยแล้วแต่ก็ผ่านกระบวนการสร้าง ‘ความจริง’ ที่ทำให้แต่ละคนจดจำและมีทัศนคติต่อเรื่องนี้ต่างกัน

101 ชวนทบทวนวาทกรรมที่กำหนดความจริงของประวัติศาสตร์นี้ เพื่อให้เข้าใจถึงเหตุผลว่า ทำไมเราจึงต้องรำลึกและพูดถึงเหตุการณ์นี้ไม่ให้เงียบหายไปจากสังคมไทย นำไปสู่คำถามที่สังคมต้องร่วมกันตอบว่า “เราควรจะจดจำเหตุการณ์นี้อย่างไร?”

 

เผาบ้านเผาเมือง

เพลิงคำพูด เผาความจริง

 

 

‘เผาบ้านเผาเมือง’ คำที่ถูกใช้สร้างความชอบธรรมให้การสลายการชุมนุม

รายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่ตั้งขึ้นสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ระบุถึงฉากเผาเซ็นทรัลเวิลด์ไว้ว่า “ผู้ชุมนุมประมาณ 20 คน พร้อมหนังสติ๊ก ระเบิดขวด และระเบิดปิงปอง เริ่มจุดไฟเผาและโยนถังแก๊สเข้าไปประมาณ 10 ถัง จากนั้นเกิดเสียงดังคล้ายระเบิดหลายครั้งเมื่อเวลาประมาณ 15.00 น.” 

ภาพจำนี้ถูกหยิบไปเชื่อมโยงกับคำปราศรัยของแกนนำนปช. ที่ว่า “เผาไปเลยพี่น้อง ผมรับผิดชอบเอง” ที่เคยพูดบนเวทีที่จันทบุรีก่อนการสลายการชุมนุมราว 4 เดือน แต่ถูกหยิบจับมาเล่าใหม่ให้สังคมเข้าใจว่าเป็นคำพูดในการชุมนุมใหญ่นปช. ที่กรุงเทพฯ

คดีเผาห้างเซ็นทรัลเวิลด์ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง สายชล แพบัว และพินิจ จันทร์ณรงค์ ซึ่งเป็นผู้ชุมนุมเสื้อแดงที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อการ โดยให้เหตุผลว่าพยานโจทก์ยังไม่พอฟังว่าจำเลยกระทำผิดจริง เนื่องจากหลักฐานไม่ชัดเจน ไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟังว่าเหตุเพลิงไหม้เป็นผลมาจากการลุกฮือต่อต้านรัฐบาลและเป็นการก่อการร้ายเพื่อหวังผลทางการเมือง ระบุไว้ ณ วันที่ 4 ก.ย. 57

สายชลถูกจำคุกไป 1,022 วัน พินิจถูกจำคุก 1,041 วัน

30 เม.ย. 62 ศาลฎีกาพิพากษาให้ 6 บริษัทประกัน จ่ายเงินประกันค่าเสียหายให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ และโจทก์ร่วม เป็นเงินกว่า 100 ล้านบาท หลังถูกวางเพลิงวันสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง 19 พ.ค. 53 โดยระบุว่าแกนนำนปช.สั่งยุติการชุมนุมก่อนเกิดเหตุเพลิงไหม้ ผู้ก่อเหตุเป็นกลุ่มบุคคลปิดบังใบหน้า ทำในลักษณะมีเจตนาก่อเหตุร้ายแล้วหลบหนีไปทันที โดยไม่มีประชาชนอื่นใดร่วมกระทำการ

“พยานหลักฐานของจำเลย ไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟังว่าเหตุเพลิงไหม้ตามฟ้องเป็นผลมาจากการก่อความไม่สงบของประชาชนที่ลุกฮือต่อต้านรัฐบาล และเป็นการก่อการร้ายเพื่อหวังผลทางการเมืองตามข้อต่อสู้ของจำเลย”

 

ผังล้มเจ้า

แผนผังสร้างความร้าวฉานแบ่งสังคมเป็นฝักฝ่าย

 

 

แผนผังสร้างความสั่นคลอนและตีตราคนในสังคมที่สุดท้ายหาที่มาที่ไปไม่ได้

เมื่อ 26 เม.ย. 53 พ.อ.สรรเสิรญ แก้วกำเนิด โฆษก ศอฉ. แจกเอกสารแผนผังรวบรวมเครือข่ายบุคคลที่มีความคิดและพฤติกรรมล้มล้างสถาบันเบื้องสูง เชื่อมโยงว่า มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และนักโทษผู้หลบหนีคำพิพากษาจำคุก 2 ปี เป็นแกนกลางรวมถึงพาดพิงบุคคลในวงกว้าง ทั้งนักการเมือง นักธุรกิจ นักวิชาการ เว็บไซต์ และแกนนำคนเสื้อแดง จนเกิดแรงสั่นสะเทือนต่อสังคมอย่างมาก

สุดท้ายเมื่อ 22 มี.ค. 54 โฆษก ศอฉ. ยอมรับต่อศาลว่าไม่มีหลักฐานว่าบุคคลในผังเป็นผู้เกี่ยวข้องกับขบวนการล้มล้างสถาบัน โดยกล่าวไว้ว่า

“เอกสารที่ไปแจกนั้นมิได้หมายความว่า ผู้ที่มีชื่อในเอกสารเป็นผู้เกี่ยวข้องในฐานะอยู่ในขบวนการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่เป็นความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ในลักษณะต่างๆ ซึ่งให้สังคมพิจารณาและวินิจฉัยเอาเอง…ซึ่งมิได้แถลงเลยว่า บุคคลทั้งปวงเหล่านั้นมีความสัมพันธ์ในฐานะที่เป็นผู้อยู่ในขบวนการ และมิได้ให้หมายความเช่นนั้น

“แต่หลังจากนั้น มีสื่อมวลชนนำเรื่องราวต่างๆ เหล่านี้ไปขยายผล ขยายความ ซึ่งอาจจะส่งผลต่อผู้ที่เกี่ยวข้องในแผนผังดังกล่าว ทำให้ได้รับความเสียหายจากมุมมองของสังคม เพราะเป็นเรื่องที่สังคมจะต้องตัดสิน ส่วนผู้ที่ได้รับความเสียหายที่เกิดขึ้นจะฟ้องร้องกับผู้ที่นำไปขยายความในทางที่ผิดจากเจตนารมณ์ของ ศอฉ.ก็สุดแล้วแต่บุคคลเหล่านั้นจะพิจารณา”

 

6 ศพวัดปทุมฯ เขตอภัยทาน

พื้นที่ปลอดภัยที่กลายเป็นลานสังหาร

 

 

เมื่อเขตอภัยทานกลายเป็นเขตใช้กระสุนจริง

ศอฉ. ประกาศให้วัดปทุมวนารามเป็น ‘เขตอภัยทาน’ ตามที่กลุ่มองค์กรสันติวิธีนำโดยโคทม อารียา ผอ.ศูนย์ศึกษาและสันติวิธี ม.มหิดล เรียกร้อง เพื่อให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย โดยเฉพาะผู้ชุมนุมที่เป็นเด็ก ผู้หญิง และผู้สูงอายุ หากผู้ชุมนุมหรือทหารเข้ามาก็ขอให้ปลดอาวุธ โดยมีการขึ้นป้ายไว้อย่างชัดเจน แต่แล้วพื้นที่นี้กลับกลายเป็นลานสังหาร เมื่อเสียงปืนจากรางรถไฟฟ้าดังขึ้นโดยพุ่งเป้าไปที่เขตอภัยทาน

กรณี 6 ศพ วัดปทุมวนาราม มีการไต่สวนสาเหตุการตายจาก ‘ศาลอาญากรุงเทพใต้’ แล้ว ระบุว่าเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 53 ศาลพิเคราะห์จากพยานหลักฐานของผู้ร้องและญาติผู้เสียชีวิตทั้ง 6 แล้ว เชื่อว่าถึงแก่ความตายจากการถูกยิงด้วยกระสุนปืนความเร็วสูง ขนาด .223 หรือ 5.56 มม. จากเจ้าพนักงานทหาร สังกัดกองพันจู่โจม กรมรบพิเศษที่ 3 ค่ายเอราวัณ ที่ประจำการอยู่บนรถไฟฟ้าบีทีเอส และถนนพระรามที่ 1 ตามคำสั่งของ ศอฉ.

ศาลยังระบุผลการตรวจคราบเขม่าดินปืนบนมือผู้ตายซึ่งไม่ปรากฏ จึงเชื่อได้ว่า ผู้ตายทั้ง 6 อาทิ นางสาวกมนเกด อัคฮาด อาสาพยาบาล ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธปืน ไม่เชื่อว่ามีการยึดอาวุธได้ภายในวัด อีกทั้งไม่มีชายฉกรรจ์ชุดดำ เนื่องจากไม่ปรากฏภาพถ่าย หรือพยานที่ชัดเจน

แต่ล่าสุดปรากฏว่าอัยการศาลทหารมีคำสั่งไม่ฟ้องเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับกรณี 6 ศพ โดยอ้างว่า ไม่มีพยานหลักฐาน ไม่มีพยานแวดล้อม และพยานบุคคล

 

ขอคืนพื้นที่ – กระชับพื้นที่

ปฏิบัติการจากเบาไปถึงหนัก ระดับใช้กระสุนจริงยิง ‘หัว’

 

 

บทเรียนความสำเร็จของยุทธศาสตร์ทหารในการปราบปรามประชาชน

จากคำสั่งขอคืนพื้นที่-กระชับพื้นที่ และประกาศเขตใช้กระสุนจริงของ ศอฉ. ในรัฐบาลสมัยอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 99 ศพ และบาดเจ็บมากกว่า 2,000 คน

ในความสูญเสียที่เกิดขึ้นทั้งหมด รายงานความจริงเพื่อความยุติธรรม : ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม กรณี เม.ย.-พ.ค.53 (ศปช.) ระบุว่า มีเด็กอายุ 12 ที่อายุน้อยที่สุดเป็นผู้เสียชีวิต, สื่อมวลชนเสียชีวิต 2 ราย เป็นชาวญี่ปุ่นและอิตาลี, ประชาชน 1,763 ถูกจับกุมระหว่างการชุมนุมและถูกดำเนินคดี, 3.7 พันล้านบาท คืองบประมาณที่รัฐบาลใช้ไปในการปราบปราม

รัฐบาลใช้กำลังพลทหารถึง 67,000 นาย และตำรวจ 25,000 นาย, ใช้กระสุนไปทั้งสิ้น 117,923 นัด, เป็นกระสุนซุ่มยิง 2,120 นัด, ผู้เสียชีวิตกว่า 87.2% มีสาเหตุมาจากการโดนยิง โดยมีผู้เสียชีวิตจากการโดนยิงที่ศีรษะ 32 ศพ, มี 6 ศพที่ถูกยิงในเขตอภัยทาน วัดปทุมวนาราม

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save