fbpx
Faces Places : เพราะใบหน้าคือดวงตาของหัวใจ

Faces Places : เพราะใบหน้าคือดวงตาของหัวใจ

ตลอดช่วงชีวิตของการเป็นผู้กำกับหญิงชาวเบลเยี่ยม (แต่ใช้เกือบทั้งชีวิตที่ฝรั่งเศส) หนึ่งในขบวนการ French New Wave, อานเญส วาร์ดา ถ่ายทอดความคิดของตัวเองลงไปบนภาพถ่ายและภาพเคลื่อนไหวผ่าน ‘ใบหน้า’ ของผู้คน

ใบหน้าของนักแสดง ใบหน้าของตัวแบบ และใบหน้าของสังคมในช่วงเวลาที่เธอเผ้ามอง ถ่ายทอดออกมาให้ดวงตาบนใบหน้าของคนอีกนับล้านได้รับชม เพื่อได้รู้สึกอะไรบางอย่างไปกับผลงานที่บ่งบอกความเป็นตัวเธอ

 

วันเวลาที่ผ่านไป จากผู้กำกับสาวกลายเป็นหญิงชราวัยใกล้เข้าเลขเก้า ถึงเครื่องแต่งกายและสีผมของเธอจะทำให้ดูเป็นสาวกว่าอายุจริง (หรืออีกแง่หนึ่ง คือเป็นคุณยายที่ ‘เปรี้ยว’ เสียเหลือเกิน) แต่เมื่อระบบของร่างกายไม่อาจย้อมสีให้หยุดความเสื่อมสภาพลงได้ สายตาของอานเญสจึงเริ่มพร่ามัว มองใบหน้าไม่ชัดเหมือนเลนส์กล้องถ่ายภาพที่เธอใช้ จนเธอกลัวว่า ‘ใบหน้า’ ของผู้คนที่เธอเคยใช้เป็นตัวกลางถ่ายทอดความคิดจะสูญหายไปตามกาลเวลา

นั่นจึงเป็นที่มาให้เธอเริ่มออกเดินทางเพื่อเก็บบันทึกใบหน้าของคนธรรมดาๆ ไว้เป็นความทรงจำในไซส์มหึมาพอที่ดวงตาของเธอจะพอมองเห็น แต่มากไปกว่านั้น คือเรื่องราวของเจ้าของใบหน้าที่เธออยากเก็บมันไว้

แม้ในเวลาที่ตาทั้งสองอาจทำหน้าที่ของมันไม่ได้เหมือนเคย

 

 

ถึง Faces Places จะเป็นภาพยนตร์ฝรั่งเศส แถมยังเป็นผลงานกำกับของคุณยายอานเญส ผู้เป็นเพื่อนร่วมรุ่นของผู้กำกับรุ่นเดียวกันอย่าง ฌอง ลุค โกดาร์ด (ซึ่งสารภาพอย่างไม่ต้องอายกันว่าเราดูหนังของเขาไม่รู้เรื่อง [เช่นเรื่อง Goodbye to Language]) จนเดาไปเองว่าคงดูไม่รู้เรื่องอีกเหมือนเคย

แต่กลับกัน นี่คือภาพยนตร์สารคดีกึ่งฟิคชั่นแนว Road Movie ที่ชวนอิ่มอกอิ่มใจไปกับเรื่องราวของผู้คน ‘ธรรมดาๆ’ และ execution การเล่าเรื่องของหนัง ที่อานเญสกับเพื่อนร่วมทางอายุน้อยกว่าครึ่งอย่าง JR ช่างภาพหนุ่มผู้สวมแว่นตาดำเป็นเอกลักษณ์ร่วมกันสร้างขึ้นจนกลายเป็นหนังแบบ ไปเรื่อยๆ แต่ทั้งน่ารักและอบอุ่นหัวใจไม่แพ้ผลงานของสตูดิโอยักษ์ใหญ่แม้แต่น้อย

อานเญสและเจอาร์เดินทางไปยังชนบทของประเทศฝรั่งเศส บันทึกภาพใบหน้าของคนธรรมดาที่นั่น ปรินท์มันออกมาในกระดาษขนาดยักษ์ ก่อนจะแปะไปบนผนังอันรกร้างในเมืองนั้นๆ คือวิธีการบันทึกความทรงจำที่ทั้งคู่สร้างขึ้น เราได้เห็นภาพของสาวเสิร์ฟในร้านอาหารแปะเท่าตึกสามชั้น เจ้าของนาข้าวกับภาพตัวเองแปะอยู่บนยุ้งฉางขนาดยักษ์ และภรรยาของพนักงานการท่าเรือผู้เป็นกำลังใจให้กับสามีกับการต่อสู้เพื่อสิทธิของสหภาพแรงงานแปะอยู่บนตู้คอนเทนเนอร์ ก่อนที่พวกเธอจะขึ้นไปนั่งอยู่บนนั้นและโบยบินอย่างเสรี

งานของเจอาร์อาจจะดูเป็นงานศิลปะแนวสตรีทที่ดูโอ่อ่าน่ามาเซลฟี่ แต่สิ่งที่เคลือบอยู่คือเรืองราวของคนธรรมดาๆ ที่อานเญสนำมาใบหน้าเหล่านั้นมาร้อยเรียงเป็นเรื่องราวในภาพยนตร์ของเธอ

 

ภาพสาวเสิร์ฟคนนั้นกลายเป็นจุดถ่ายภาพของคนที่มาเที่ยวจนเธอรู้สึกอึดอัด

เจ้าของนาข้าวผู้ทำงานอย่างโดดเดี่ยวกับรถแทรคเตอร์คู่ใจแต่ก็ไม่เป็นไรเพราะเขามีครอบครัวรออยู่

คนจรจัดที่ใช้ชีวิตด้วยเงินบำนาญขั้นต่ำสุด แต่บ้านของเขาอาจเป็นสวรรค์ของคนชั้นกลางหลายคน

 

และอีกหลายใบหนาของคนธรรมดาที่มีเรื่องเล่าอย่างที่เรานึกไม่ถึง (แม้แต่ใบหน้าของแพะที่มีสตอรี่ของตัวเอง) รวมถึงใบหน้าบนภาพถ่ายส่วนตัวของอานเญสที่เธอไม่อยากให้หายไป ถูกเพื่อนร่วมทางขยายขนาดจนเธอมองเห็นได้ แม้จะคงอยู่ในช่วงเวลาไม่นาน

นี่อาจเป็นหนังสารคดีที่เล่าเรื่องส่วนตัวของอานเญส แต่ในอีกแง่หนึ่ง ความปรารถนาที่คนสายตาพร่าเลือนอย่างเธออยากเห็นใบหน้าใหม่ๆ แบบชัดๆ กลับทำให้เราในฐานะผู้ชมได้มองเห็นมุมมองในอีกแง่ระหว่างการใช้ชีวิต

เราสวนทางกับใบหน้าของคนธรรมดาๆ ที่มีเรื่องราวเบื้องหลังน่าสนใจมากแค่ไหน

เราใช้ชีวิตอยู่กับตัวเอง ไม่ใส่ใจกับคุณค่า เหยียดหยามใบหน้าอีกเป็นร้อยเป็นพันที่เดินผ่านมากแค่ไหน

หรือไม่ต้องไปอื่นไกล, เราใส่ใจกับใบหน้าของคนที่ใส่ใจกับเรามากแค่ไหน

ในวันที่สายตายังคงใช้การได้ดี หน้าที่ของการจดจำใบหน้าอันเป็นเอกลักษณ์และเรื่องราวที่งดงามควรเป็นของมันที่จะส่งภาพมายังสมองเพื่อจดจำ มากกว่าจะรอใช้กระจกในเลนส์กล้องถ่ายภาพเก็บมันไว้หรือเปล่า

ในช่วงท้ายของหนัง อานเญสเดินทางตามนัดหมายไปที่สวิตเซอร์แลนด์เพื่อเจอกับโกดาร์ด เพื่อนเก่าของเธอ แต่สิ่งที่หญิงชราได้พบกลับเป็นการเล่นตลกกับความรู้สึก พร้อมบ้านที่ว่างเปล่ากับประโยคแปลกๆ และโกดาร์ดที่หายตัวไปไม่มาตามนัด ทั้งที่เพื่อนเก่าเดินทางมาหา

เธอร้องไห้ด้วยความโกรธและเศร้า อาจเป็นเพราะความผิดหวัง และคำพูดประโยคนั้น แต่เหนือสิ่งอื่นใด สำหรับคนใกล้ชิดที่สนิทกัน อะไรจะดีมากไปกว่าการได้เห็นใบหน้าอันแสนงดงามของพวกเขาในวันที่จากกันไปนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเวลาที่สายตาเริ่มจะเลือนลาง

อันที่จริง อานเญสอาจของให้ชายหนุ่มร่วมทางแปะรูปของเพื่อนสนิทใหญ่ๆ ไว้ที่ฝาบ้านเขาก็ได้

 

แต่เมื่อใบหน้าของมนุษย์คือสิ่งสวยงามและหลากหลาย สิ่งที่ควรจะเป็นคือการเรียนรู้ พบเจอกับชีวิตและลมหายใจของใบหน้านั้นๆ เพื่อบันทึกมันก่อนที่เราจะจากโลกใบนี้ไป ไว้เป็นเป็นไฟล์ความละเอียดใหญ่ยักษ์ฉบับล่าสุด ในฮาร์ดดิสก์ไม่จำกัดพื้นที่ที่เรียกว่าความทรงจำ

มิใช่หรือ?

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022