fbpx
15 ปีแห่งความหลัง : Facebook ยังเติบโตต่อไปได้อีกไหม?

15 ปีแห่งความหลัง : Facebook ยังเติบโตต่อไปได้อีกไหม?

โสภณ ศุภมั่งมี เรื่อง

พัชรพร หุ่นเจริญวงศ์ ภาพประกอบ

 

วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2004 เว็บไซต์เล็กๆ ที่มีแบนเนอร์สีน้ำเงินอ่อน ปรากฏตัวขึ้นบนโลกอินเตอร์เน็ต ตอนนั้นผมเองยังเป็นนักศึกษาที่อเมริกา ได้ยินข่าวเกี่ยวกับเว็บไซต์แห่งนี้จากเพื่อนชื่อ TheFacebook.com (ซึ่งเอาตามจริง ตอนนั้นผมคิดว่าชื่อนั้นช่างเห่ยสิ้นดี) แล้วพอสมัครเข้าไปใช้งานก็ไม่ได้ต่างอะไรจากพวกโซเชียลมีเดียอย่าง MySpace, Friendster หรือ Hi5 สักเท่าไหร่

แต่สิ่งที่ทำให้ Facebook ได้รับความสนใจจากกลุ่มเด็กมหาวิทยาลัยในตอนนั้นคือมันเป็นคอมมูนิตี้ของเด็กอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน เพื่อนชวนเพื่อนเป็นปาร์ตี้เล็กๆ จากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่ง ยังไม่มีการเปิดรับให้ผู้ใช้งานทั่วไป โดยสิ่งที่ทุกคนรู้ตอนนั้นคือเว็บไซต์นี้เริ่มจากในหอพักมหาวิทยาลัย Harvard จากชายที่ชื่อว่า Mark Zuckerberg

ไอเดียพื้นฐานของเว็บไซต์คือการใช้ประโยชน์จากความต้องการจากจิตใต้สำนึกของเราที่อยากรู้อยากเห็น และต้องการได้รับความสนใจจากผู้อื่น ในตอนนั้นแทบไม่มีใครคาดคิดเลยว่า 15 ปีต่อมา มันจะกลายเป็นบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ที่ขับเคลื่อนความคิด ไอเดีย นวัตกรรม ข่าวสาร ความสัมพันธ์ของประเทศ ไปจนกระทั่งการเมือง

ในปี 2008  Rubert Murdoch เจ้าพ่อแห่งวงการมีเดียที่เป็นเจ้าของโซเชียลมีเดียคู่แข่งคนสำคัญ (ในเวลานั้น) อย่าง MySpace บอกว่า Facebook เป็นแค่ของวูบวาบที่มาแค่ไม่นานแล้วก็จะจากไป เป็น “flavour of the month” เท่านั้น

แต่ Facebook กลับได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากแค่ในกลุ่มเด็กมหาวิทยาลัยก็ขยายไปถึงเด็กมัธยมปลาย คนทำงานและคนทั่วไป ไม่นานนักพวกเขาก็สามารถซื้อบริษัทคู่แข่งอย่าง Instagram และ WhatsApp ได้สำเร็จ คนอเมริกันกว่า 2 ใน 3 ใช้ Facebook เป็นโซเชียลมีเดียหลักในชีวิตประจำวัน ในช่วงที่พีคที่สุดเฉลี่ยต่อคนใช้เวลากว่าหนึ่งชั่วโมงต่อวันบนแพลตฟอร์มแห่งนี้

มีไม่กี่บริษัทในประวัติศาสตร์ที่สามารถสร้างแรงผลักได้มากเท่าพวกเขา จนสามารถเรียกได้ว่ามียุคก่อนและหลังการเกิดขึ้นของ Facebook เลยก็ว่าได้ เพราะมันเปลี่ยนแปลงทั้งพฤติกรรมการสื่อสารกับเพื่อน ครอบครัว คนใกล้ตัว รวมไปถึงคนรัก พาคนที่ห่างหายกันไปหลายสิบปีกลับมาเป็นเพื่อนติดต่อกันได้อีกครั้ง มีอิทธิพลต่อมุมมองในเหตุการณ์ใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้นและปรับเปลี่ยนคำว่า ‘เพื่อน’ ไปตลอดกาล

การวนกลับมาของวันเกิดเป็นช่วงเวลาที่ดีเพื่อย้อนดูว่าที่ผ่านมามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ไม่ใช่แค่เฉพาะกับบุคคลธรรมดาทั่วไป แต่สำหรับบริษัทใหญ่ๆ อย่าง Facebook ที่มีเรื่องราวเกิดขึ้นตลอด 15 ปีที่ผ่านมา เพราะพวกเขาได้ปรับเปลี่ยนสังคมที่เราอยู่อย่างน้อยในสามด้านใหญ่ๆ

อย่างแรก พวกเขาทำให้เรารู้สึกกลับไปเป็นหนุ่มสาวอีกครั้งหนึ่ง เริ่มต้นจากเป็นการฆ่าเวลาของเด็กมหาวิทยาลัยและมัธยมปลายในช่วงแรก จนกลายเป็นเหมือนยาเสพติดในรูปแบบดิจิทัล รวมไปถึง Instagram ที่พวกเขาซื้อไปด้วย Facebook ส่งเสริมสิ่งที่เรียกว่า ‘me-conomy’ ที่ผู้ใช้งานแชร์ความรู้สึก รูปถ่าย คอมเมนต์ และแทบทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงไว้บนโลกออนไลน์ ถึงขนาดที่หลายคนตำหนิพวกเขาว่าทำให้ความรู้สึกหลงตัวเองแพร่กระจายไปทั่ว บ้างก็บอกว่าทำให้รู้สึกระวนกระวาย เกิดความเครียด ขาดความมั่นใจ มีอาการซึมเศร้า แถมยังทำให้ผู้ใช้งานสมาธิสั้นอีกต่างหาก มีงานวิจัยหลายชิ้นบ่งบอกว่าผู้ที่ใช้งาน Facebook เป็นเวลานานมักจะรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ ไม่พอใจในชีวิตตัวเอง มองว่าคนอื่นได้แต่สิ่งดีๆ และมองว่าชีวิตไม่เคยยุติธรรม

ผลกระทบระยะยาวที่ตามมาต่อความนึกคิดและจิตใจของผู้ใช้งานรุ่นใหม่ๆ ยังไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เพราะยังไม่มีข้อมูลมากพอ แต่สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนคือ Facebook ได้เปลี่ยนแปลงการปฏิสัมพันธ์ของเราทุกคนไปแล้ว ด้วยความรู้สึกปลอดภัยที่อยู่ข้างหลังหน้าจอแล้วอยากพิมพ์อะไรก็ได้ กลายเป็นว่า ‘social bullying’ เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นทุกวัน มากกว่าครึ่งของเด็กวัยรุ่นที่ใช้งานโซเชียลมีเดียบอกว่าพวกเขาเคยโดนกลั่นแกล้งและก่อกวนทางออนไลน์โดยนักเลงคีย์บอร์ด และถึงแม้ว่า Facebook จะทำให้เครือข่ายของเพื่อนออนไลน์กว้างมากขึ้นเรื่อยๆ แต่กลับทำให้ความสัมพันธ์แบบออฟไลน์แคบลงไปเรื่อยๆ

จากงานวิจัยขององค์กร Common Sense Media บ่งบอกว่าในปี 2012 เด็กวัยรุ่นอายุระหว่าง 13-17 ปี ครึ่งหนึ่งชอบการสื่อสารแบบเห็นตัวคุยกันมากกว่าออนไลน์ แต่ในตอนนี้สัดส่วนนั้นลดลงเหลือแค่ 32% และประมาณ 35% นั้นชอบการสื่อสารด้วยข้อความมากกว่า

อย่างที่สองคือ Facebook เปลี่ยนทัศนคติที่เรามีต่อความเป็นส่วนตัวไปแล้ว โซเชียลเน็ตเวิร์คเติบโตได้จากความเชื่อถือของผู้ใช้งาน เป็นปรากฎการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน หลังจากที่ Facebook เปิดตัวขึ้นมา ผู้คนก็เริ่มรู้สึกปลอดภัยที่จะแชร์รายละเอียดของชีวิตตัวเองให้คนอื่นได้เห็น เบอร์โทรศัพท์ ความสัมพันธ์ สิ่งที่ชอบ ไม่ชอบ พรรคการเมืองที่ตนเองสนับสนุน ศาสนา เพศสภาพ ที่อยู่อาศัย หนังสือที่อ่าน เพลงที่ฟัง ฯลฯ เพราะเรารู้สึกปลอดภัย เราเป็นผู้ถือกุญแจและสามารถเลือกว่าใครบ้างสามารถเห็นข้อมูลเหล่านี้ได้ โดยเราก็รู้ว่า Facebook เก็บข้อมูลเหล่านี้เพื่อนำมาใช้ในการยิงโฆษณาให้กับตัวเอง… แต่ก็ไม่ได้ต่อต้านอะไรมากมายนัก

แต่ทัศนคติและความคิดเห็นเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวเหล่านี้ก็ค่อยๆ เปลี่ยนไป แต่คราวนี้ย้อนกลับไปทำร้าย Facebook เอง เพราะหลังจากมีข่าวเรื่องการเก็บข้อมูลและเผยแพร่ให้กับบริษัทอื่น ถ้าใครยังจำได้ถึงเหตุการณ์ Cambridge Analytica เมื่อปีที่แล้วจะรู้ดีว่ามันทำให้เราตาสว่างมากขึ้นแค่ไหน

ข้อมูลเหล่านี้ในหลายๆ ครั้งเป็นข้อมูลที่ละเอียดอ่อน บางคนไม่ได้อยากให้คนอื่นรู้ว่านับถือศาสนาอะไร อาจจะด้วยห่วงความปลอดภัยของตนเองและครอบครัว หรือแม้แต่เพศสภาพเอง บางคนก็ไม่ได้รู้สึกสบายใจที่จะแชร์ให้โลกได้รู้ เพราะฉะนั้นการที่ Facebook เก็บข้อมูลเหล่านี้แล้วยิงโฆษณาที่เจาะจง จึงเป็นเรื่องที่สังคมส่วนใหญ่ยอมรับไม่ได้ จากแบบสอบถามที่ถูกทำขึ้นโดย Pew Research Centre คนอเมริกันมากกว่าครึ่งไม่สะดวกใจที่ Facebook ทำแบบนี้ ซึ่งก็สะท้อนกลับมาสู่ชื่อเสียงของบริษัทที่ถูกตั้งคำถามมากมายในช่วงหลัง

อย่างที่สาม Facebook ก่อให้เกิดผลกระทบทางการเมืองที่มีผลในระยะยาว ต้องยอมรับกันแล้วว่าตอนนี้ Facebook เป็นแพลตฟอร์มสำหรับเกมการเมืองไปเสียแล้ว  การสร้างฐานผู้สนับสนุน หาเสียง เผยแพร่ข่าวเพื่อเพิ่มความนิยมให้กับตัวเองและจู่โจมฝ่ายตรงข้าม ทั้งข่าวจริงข่าวปลอม ซึ่งถ้าย้อนกลับไปในช่วงสิบปีที่ผ่านมาเราจะเห็นได้ว่ามีนักการเมืองหลายคนที่ได้เข้ารับตำแหน่งและมีอิทธิพลต่อสังคมเพราะพวกเขาใช้สื่อบน Facebook ให้เกิดประโยชน์ ทั้ง Barack Obama และ Donald Trump ชนะการเลือกตั้งได้ก็ต้องขอบคุณแพลตฟอร์มแห่งนี้ ไม่ว่าจะหาเสียงและระดมเงินสนับสนุน หรือใช้กลยุทธ์อื่นอย่างการซื้อโฆษณาและเผยแพร่ข่าวปลอมก็ตามที

อิทธิพลของ ‘ข่าวปลอม’ และ ‘ฟองสบู่ตัวกรอง’ (filter bubble – ปรากฏการณ์ที่ผู้ใช้งานติดอยู่ในกรอบความเชื่อของตัวเองเพราะระบบจะคอยย้ำให้เราเห็นและเชื่อในสิ่งนั้น) ทำให้ผู้ใช้งานส่วนใหญ่หลงเชื่อไปกับสิ่งที่ไม่ถูกต้อง  Facebook เองก็มีส่วนรู้เห็นกับสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะไม่ได้มีการป้องกันที่ดี ปล่อยให้คอนเทนต์ที่ไม่ได้ถูกตรวจสอบ ข้อมูลผิดๆ นำมาซึ่งความเข้าใจผิดแตกแยก ถึงขั้นสร้างความเสียหายให้กับชีวิตผู้คน

แต่ถ้ามีสิ่งหนึ่งที่ต้องให้เครดิตกับพวกเขา คือการเป็นสื่อกลางในการสื่อสารและเชื่อมต่อกับสังคม อย่างเหตุการณ์ Black Lives Matter หรือ #MeToo ก็เป็นสิ่งที่แพร่กระจายและทำให้กลายเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสำคัญทันที (อย่างตอนนี้ก็มี #SaveHakeem) ซึ่งสิ่งเหล่านี้เริ่มต้นจากโพสต์และถูกแชร์ออกไปอย่างรวดเร็ว กลายเป็นการเคลื่อนไหวทางสังคม และทำให้ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะแสดงความคิดเห็นของตนเองได้อย่างอิสระ แพลตฟอร์มแห่งนี้ทำให้คนธรรมดามีพื้นที่ในการแสดงออก มีสิทธิ์ มีเสียง มีอิสรภาพ ซึ่งในมุมนี้โดยรวมก็ถือว่ายังเป็นเรื่องที่ดีต่อสังคมโดยทั่วไป

แล้วต่อจากนี้อีก 15 ปี Facebook จะยังมีอิทธิพลแบบนี้อยู่ไหม? เป็นคำถามที่ตอบยาก เพราะเราเคยคาดการณ์ผิดมาครั้งหนึ่งแล้วกับ Facebook ในตอนแรก แทบไม่มีใครคาดคิดว่าพวกเขาจะมาถึงจุดนี้ (เชื่อว่าเด็กหนุ่ม Mark ก็คงเหมือนกัน) แต่ถ้ามองตามความเป็นจริงด้วยเหตุผลและสิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนี้ คำตอบที่หลายๆ คนน่าจะเห็นตรงกันคืออิทธิพลของ Facebook หรือโซเซียลมีเดียต่อชีวิตหรือสังคมเราจะไม่ได้มากขนาดนั้นอีกต่อไป

ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีเลย แต่ที่ผ่านมาน่าจะพีคขึ้นไปถึงจุดสูงสุด และตอนนี้กำลังไต่ละดับลดลงมาเรื่อยๆ เพราะเราเริ่มเข้าใจมันมากขึ้น เริ่มรู้แล้วว่าแพลตฟอร์มเหล่านี้คืออะไร มีอันตราย ข้อดีข้อเสียเป็นยังไง ซึ่งก็เหมือนทุกเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ ตั้งแต่หนังสือไปจนถึงโทรเลข สิ่งเหล่านี้ล้วนถูกใช้ไปในทางที่ดีและไม่ดี คนที่ต่อต้านก็จะคอยโปรยสิ่งแย่ๆให้กับประเด็นของ Facebook บอกว่าเป็นสิ่งเสพติด อันตรายและเป็นภัยต่อสังคม รวมไปถึงสั่นคลอนความเป็นประชาธิปไตยและมีอำนาจเหนือทุกสิ่งที่เราเสพ จนตอนนี้มีนักการเมืองหลายคนออกมาพูดถึงประเด็นที่ว่าจะมีกฎหมายบังคับใช้เกี่ยวกับเรื่องนี้โดยเฉพาะ

ช่วงไตรมาสที่ผ่านมา Facebook ยังมีกำไรที่สวยงามและน่าพอใจ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ใช้งานในอนาคตจะใช้เวลานานขึ้นอีกเรื่อยๆ บนแพลตฟอร์มแห่งนี้ เพราะจากสถิติแล้วตอนนี้ระยะเวลาที่คนใช้งานแพลตฟอร์มหลักนั้นค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ เพราะหลายคนก็เริ่มแสดงความคิดเห็นไปในทางเดียวกันว่าไม่ได้ ‘สนุก’ เหมือนแต่ก่อนแล้ว ในทางกลับกัน Instagram กลับได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น มีคนใช้งานเป็นระยะเวลานานขึ้นในแต่ละวัน แต่ก็ไม่พอที่จะทดแทนส่วนที่หายไปของตัว Facebook เองได้

ผ่านมา 15 ปี Facebook พูดได้เต็มปากว่าพวกเขาเติบโตอย่างเต็มตัว ไม่ใช่บริษัทเล็กๆ อีกต่อไป ต้องเริ่มรับผิดชอบต่อสังคมและหันมาให้ความสำคัญกับผู้ใช้งานอย่างจริงจังได้แล้ว เพราะตอนนี้เรามาถึงจุดที่เริ่มตั้งคำถามว่าโซเชียลมีเดียเหล่านี้มีประโยชน์และจำเป็นต่อเราจริงๆ รึเปล่า? จากคำตอบที่ได้ยินมาดูเหมือนว่าจำนวนคนที่ตอบว่า “ไม่” จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ซะด้วย

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save