fbpx
เมื่อผลการค้นหาจาก Facebook มีอคติทางเพศ - ไม่ใช่ความผิดพลาดของวิศวกรแต่เป็นบางอย่างที่มาจากผู้ใช้งาน

เมื่อผลการค้นหาจาก Facebook มีอคติทางเพศ – ไม่ใช่ความผิดพลาดของวิศวกรแต่เป็นบางอย่างที่มาจากผู้ใช้งาน

โสภณ ศุภมั่งมี เรื่อง

Shin Egkantrong ภาพประกอบ

 

Facebook Search เป็นฟีเจอร์หนึ่งที่ถูกใช้อยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะการหาร้านค้า ร้านอาหาร หน้าเพจต่างๆ บนเฟซบุ๊ก แต่ที่จริงแล้วความสามารถของมันมีมากกว่านั้น คุณสามารถค้นหาภาพของตัวเองจากปีก่อน หรือวีิดีโอที่คุณเพิ่งดูไปเร็วๆ นี้ ไปจนกระทั่งรูปภาพ วีดีโอของเพื่อนในเครือข่ายด้วย

ช่วงก่อนวาเลนไทน์ไม่นาน นักวิจัยเกี่ยวกับความปลอดภัยสัญชาติเบลเยียมชื่อ Inti De Ceukelaire ได้ค้นพบอะไรบางอย่างที่ทำให้แปลกใจบนเฟซบุ๊ก เจ้าตัว ‘Search’ นั้นให้ความสำคัญกับภาพผู้ชายและผู้หญิงแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ถ้าลองค้นคำว่า ‘photos of my female friends’ (รูปภาพของเพื่อนผู้หญิง) ก็จะได้ภาพจำนวนมากกลับมา แต่พอหาคำว่า ‘photos of my male friends’ (รูปภาพของเพื่อนผู้ชาย) กลับไม่ได้อะไรเลย หนำซ้ำเฟซบุ๊กยังคิดไปอีกว่า ‘male’ นั้นเป็นการพิมพ์ผิดพลาดจากคำว่า ‘female’

ทวีตของเขากลายเป็นข่าวดังไปทั่วอินเทอร์เน็ต มีหลายคนที่พยายามจะพิสูจน์สิ่งที่เกิดขึ้น (ผมก็เป็นหนึ่งในนั้น) และก็เป็นแบบนั้นจริงๆ เรื่องหนักไปกว่าเดิมเมื่อเจ้าฟีเจอร์ autocomplete predictions (ที่คอยเสนอว่าคำต่อไปน่าจะเป็นอะไร) พิมพ์ต่อให้เสร็จสรรพต่อท้ายประโยค ‘photos of my female friends’ ด้วยคำว่า ‘in bikinis’ (ในชุดว่ายน้ำ) หรือ ‘at the beach’ (ที่ทะเล) จนกลายเป็นประเด็น sexist ขึ้นมาทันที

ด้วยเนื้อข่าวเองก็ดูน่าขยะแขยงในตัวอยู่แล้ว แถมเฟซบุ๊กก็ชื่อเสียงไม่ค่อยดีในช่วงหลังเกี่ยวกับเรื่องความเป็นส่วนตัว แต่ความจริงที่ต้องทราบอย่างหนึ่งคือ สิ่งที่เราเห็น ไม่ได้เกิดจากความผิดพลาดของวิศวกรที่มีอคติทางเพศ เพราะตัว search ถูกควบคุมด้วยอัลกอริธึมที่ให้ความสำคัญกับคำค้นหาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดต่างหาก อัลกอริธึมเป็นเหมือนกระจกที่สะท้อนความบิดเบี้ยวและไม่เท่าเทียมกันของสังคม ในกรณีนี้ก็หมายความว่าผู้ใช้งานส่วนใหญ่ค้นหาภาพผู้หญิงในชุดว่ายน้ำมากกว่าภาพของผู้ชาย และอัลกอริธึมก็แค่แสดงสิ่งนี้ออกมาให้เราเห็น

ก่อนที่จะเลยเถิดไปมากกว่านี้ ต้องอธิบายก่อนว่าสิ่งที่เราค้นหากับผลลัพธ์ที่ได้นั้น ‘ไม่จำเป็น’ ต้องเหมือนกันซะทีเดียว พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ถึงแม้ว่า search predictions ใส่คำว่า ‘in bikinis’ เข้าไป เฟซบุ๊กก็ไม่จำเป็นต้องฝึกอัลกอริธึมของตัวเองให้เก็บข้อมูลรูปของคุณที่ใส่ชุดว่ายน้ำ (ไม่ใช่ทำไม่ได้นะ ทำได้อยู่แล้ว เพราะเวลาคัดเอาภาพไม่เหมาะสมออกก็ใช้เทคนิคคล้ายกัน เพียงแต่ว่าพวกเขาไม่จำเป็นต้องทำ) เพราะฉะนั้นเมื่อค้นหาคำว่า ‘photos of my female friends in bikinis’ ก็จะได้รูปเพื่อนผู้หญิงมา แต่ก็ไม่ได้ใส่ชุดว่ายน้ำวาบหวิวอะไรแบบนั้น โฆษกของบริษัทกล่าวว่า

“Facebook Search predictions แสดงให้เห็นว่าผู้ใช้งานกำลังค้นหาอะไรบนเฟซบุ๊ก แต่ไม่จำเป็นต้องกลายมาเป็นผลลัพธ์ เราเข้าใจว่าสิ่งเหล่านี้แม้ไม่ได้ผิดกฎ Community Standards ของเรา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ใช้งานอยากจะเห็น เพราะฉะนั้นเราก็ต้องพัฒนาอยู่ตลอดเพื่อให้ predictions นั้นเป็นประโยชน์ต่อทุกคน”

Predictions ถูกสร้างขึ้นมาจากส่วนประกอบหลายๆ อย่าง หนึ่งในนั้นคือความนิยมของคำค้นหาเหล่านี้ กลายเป็นว่านี่เป็นหน้าต่างให้เรามองเปิดเข้าไปสู่สิ่งที่ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กส่วนใหญ่กำลังค้นหา ซึ่งน่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว อย่างแรกเลยเมื่อใส่คำว่า ‘female friends’ เข้าไป สิ่งที่ตามมาคือคำว่า ‘who are single’ (คนที่โสด) ‘with benefits (เพื่อนนอน) และ ‘in bikinis’ หรือลองใส่คำว่า ‘dating’ ก็ตามมาด้วยคำว่า ‘Chiang Mai’ และ ‘around’ บางทีนี่อาจจะไม่ใช่เรื่องน่าตกใจอะไร เพราะหลังๆ มานี้คนใช้งานเฟซบุ๊กเพื่อหาคู่เพิ่มขึ้นจากแต่ก่อนเยอะมาก

ด้วยเหตุผลเดียวกัน Facebook Search predictions ก็เกิดจากเหตุการณ์สำคัญๆ ที่เป็นข่าวอยู่ในตอนนี้ อย่างเวลาพิมพ์คำว่า ‘โจ๋’ คำที่ต่อท้ายมาอย่างรวดเร็วคือ ‘วัดสิงห์’ ซึ่งกำลังเป็นข่าวดังกันอยู่ในเวลานี้

Predictions เองก็ถูกตบแต่งมาให้เหมาะกับผู้ใช้งานแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน ดูจากเพจที่ไปกดติดตาม กลุ่มสมาชิก พื้นที่ที่อยู่ เครือข่ายสังคม โพสต์ที่เราไปกดไลก์ กดแชร์ เพราะฉะนั้นการค้นหาบนเฟซบุ๊กจะเป็นของ ‘ตัวเอง’ มากกว่ากูเกิล ซึ่งก็เข้าใจได้ เพราะจุดประสงค์การใช้งานแตกต่างกัน สมมติง่ายๆ ถ้าเรามีเพื่อนชื่อ ‘Jeff’ แล้วค้นหาบนเฟซบุ๊ก สิ่งที่เราจะได้คือเพื่อนของเราที่ชื่อ ‘Jeff’ ไม่ใช่ ‘Jeff Bezos’ ผู้ก่อตั้งเว็บอเมซอน เหมือนอย่างที่ค้นหาบนกูเกิล

ผลลัพธ์จากการค้นหาก็มีพื้นฐานมาจากสังคมและเครือข่ายที่เราอยู่อีกเหมือนกัน เอาตัวอย่าง ‘Jeff’ ด้านบน สิ่งที่เราจะได้คือเพื่อนของเราหรือคนที่เป็นเพื่อนของเพื่อนของเรา ซึ่งอาจจะเพิ่งไปเจอมาเมื่อกลางวัน การค้นหาเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราต้องการให้เกิดขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างจะเป็นแบบนั้น ย้อนกลับไปที่กรณีด้านบน ‘photos of my male friends’ สิ่งที่ Inti De Ceukelaire ไม่ได้อะไรกลับมาเลย แต่เมื่อผมลอง สิ่งที่ได้กลับเป็นภาพหมาแมว ภาพตลกๆ จากเพื่อนหรือใครก็ไม่รู้ และไม่มีภาพของเพื่อนผู้ชายคนไหนเลย โดยทางประเด็นนี้โฆษกของเฟซบุ๊กได้ชี้แจงว่าเป็นข้อบกพร่องของเฟซบุ๊กเองและกำลังหาทางแก้ไขอยู่ตอนนี้

เข้าใจได้ว่าปัญหาตรงนี้ถูกมองข้ามมาตลอด ไม่มีใครให้ความสำคัญ (จนกลายเป็นข่าว) คำค้นหา ‘photos of my male friends’ ไม่ได้เป็นที่นิยม และมองในมุมกลับกันถ้าเราเป็นบริษัท สิ่งที่ต้องทำคือใช้ทรัพยากรมนุษย์ให้มีประสิทธิภาพที่สุด และนั่นคือการให้ความสำคัญกับคำค้นหาที่ได้รับความนิยมให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด บริษัทอื่นๆ ก็ทำแบบเดียวกัน มันเป็นบักส์ที่อยู่ในระบบ เพียงแต่จะได้รับการแก้ไขเมื่อไหร่เท่านั้นแหละ

แน่นอนว่า ฟีเจอร์ Search ของเฟซบุ๊กไม่ได้ถูกออกแบบมาให้มีอคติทางเพศ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่ต้องรับผิดถ้ามันเกิดขึ้น อัลกอริธึมที่คอยควบคุมถือเป็นความลับที่ไม่มีใครล่วงรู้ และคงจะหาเหตุผลแบบฟันธงได้ยากว่าทำไม predictions บางอันถึงขึ้นมาได้ มีหลายสำนักข่าวที่บอกว่ายิ่งเฟซบุ๊กพยายามจะปิดบังหรือไม่โปร่งใสเท่าไหร่ ยิ่งทำให้คนรู้สึกกระวนกระวายใจมากขึ้นเท่านั้น เพราะสิ่งที่เราทำได้คือการคาดเดาเหตุผลไปต่างๆ นานา ไม่รู้ว่าสิ่งนี้ทำไมถึงเกิดขึ้นบนแพลตฟอล์มที่ตนเองใช้งานอยู่ เหตุการณ์ครั้งนี้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกและไม่น่าเป็นครั้งสุดท้าย

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save