fbpx
สกุลเงิน Libra ของ Facebook กับศึกชิงผู้นำโลกระหว่างจีน-สหรัฐฯ

สกุลเงิน Libra ของ Facebook กับศึกชิงผู้นำโลกระหว่างจีน-สหรัฐฯ

อาร์ม ตั้งนิรันดร เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

หลังจากที่ Facebook ประกาศแผนการใหญ่ว่าจะสร้างเงินสกุลดิจิทัลชื่อ “Libra” ขึ้นมา แรงสั่นสะเทือนก็แพร่ไปทั่วโลก เกิดเป็นกระแสอย่างกว้างขวางว่า Libra จะปฏิวัติระบบการเงิน การธนาคาร วงการเทคโนโลยี และการใช้ชีวิตของผู้คนในยุคดิจิทัลอย่างพลิกโฉม

แต่ประเด็นที่น่าสนใจ และยังไม่ค่อยมีใครพูดถึงก็คือ Libra จะส่งผลต่อเกมการชิงความเป็นผู้นำโลกระหว่างจีน-สหรัฐฯ ที่ตอนนี้กำลังสู้กันอย่างเผ็ดร้อนผ่านสงครามการค้า ลามมาถึงสงครามเทคโนโลยี จากการที่สหรัฐฯ ออกมาสกัดยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีจีนอย่างหัวเว่ย (HUAWEI) จนหลายคนคาดการณ์ว่าการแข่งขันระหว่างจีนและสหรัฐฯ มีโอกาสขยายวงกว้างเป็นการช่วงชิงความเป็นผู้นำในทุกมิติ นำโลกเข้าสู่ยุคสงครามเย็น 2.0 ที่อาจหนาวสะท้านกว่าสงครามเย็นระหว่างสหรัฐฯ กับโซเวียตในอดีตหลายเท่าตัว

เนื่องจากการสร้างเงินสกุล Libra ยังเป็นเพียงแนวคิดที่ Facebook โยนหินถามทาง พร้อมเปิดรับฟังความเห็นและเสียงสะท้อน จึงยังขาดรายละเอียดที่ชัดเจน และคำถามสำคัญที่ยังไม่มีคำตอบแน่ชัด ก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่าง Libra กับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ จะเป็นอย่างไร?

ในวาระการประชุมคณะกรรมาธิการของสภาคองเกรสเพื่อสอบถามผู้แทน Facebook เกี่ยวกับแผนการการออกเงินสกุล Libra นายอัล กรีน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากรัฐเท็กซัส ได้ตั้งข้อชวนคิดว่า ในการแข่งขันชิงความเป็นผู้นำโลกในปัจจุบัน สหรัฐฯ ได้เปรียบเพราะเงินสกุลดอลลาร์ถือเป็นเงินสกุลหลักของโลกที่ทุกคนให้การยอมรับและเชื่อถือ จึงจำเป็นต้องมีการประเมินว่า การออกเงินสกุล Libra ของ Facebook จะกระทบกับสถานะของเงินดอลลาร์ในเวทีโลกอย่างไร?

ปรากฏว่า นี่เป็นประเด็นเดียวกับที่นายหวางซิน หัวหน้าฝ่ายวิจัยของธนาคารกลางแห่งประเทศจีน ออกมาตั้งคำถามดังๆ ว่า เงินสกุล Libra จะส่งผลให้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ มีอิทธิพลยิ่งขึ้นไปอีกในระดับโลก ทำให้สามารถรักษาสถานะเงินสกุลหลักของโลกต่อไปได้อย่างมั่นคง จนท้ายที่สุดก็ดับฝันระยะยาวของจีนที่ต้องการผลักดันให้เงินสกุลหยวนของตนมีสถานะทัดเทียมหรือขึ้นแท่นแทนที่ดอลลาร์ ในวันที่เศรษฐกิจจีนแซงหน้าสหรัฐฯ

จีนมักพูดถึงความแข็งแกร่งของเงินหยวนว่าเป็นสกุลเงินที่มีฐานผู้ใช้มหาศาล เพียงเฉพาะภายในประเทศจีนก็มีประชากรมากกว่า 1 พันล้านคนแล้ว แต่อย่าลืมนะครับว่า Facebook มีผู้ใช้งาน 2.2 พันล้านคน มากกว่าประชากรจีนเกือบเท่าตัว ถ้า Facebook ออกเงินสกุล Libra ได้สำเร็จ Libra ก็จะเป็นเงินสกุลที่มีฐานผู้ใช้ทั่วโลกเป็นจำนวนมากที่สุดทันที

ในสมุดปกขาวของ Facebook อธิบายว่า Libra ถูกออกแบบมาให้เป็นค่าเงินที่มีเสถียรภาพ (Stable Coin) โดยจะถูกกำกับดูแลโดยหน่วยงานอิสระ “Libra Association” ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกถึง 28 หน่วยงานยักษ์ใหญ่ในหลายกลุ่มธุรกิจ (รวม Facebook ด้วย) อาทิ องค์กรการชำระเงิน บริษัทเทคโนโลยี และองค์กรไม่แสวงหากำไรที่สำคัญต่างๆ

Facebook ยังระบุว่า จะหนุนหลังมูลค่า Libra ด้วยเงินสำรอง ซึ่งเป็นตะกร้าของสินทรัพย์ในสกุลเงินต่างๆ ที่มีความเสี่ยงต่ำ เป็นระบบคล้ายๆ ค่าเงิน Fixed Exchange Rate ที่ผูกกับค่าเงินสกุลหลักต่างๆ ของโลก โดยไม่ผูกกับค่าเงินสกุลเดียว อย่างไรก็ตาม Facebook ไม่ได้แจกแจงรายละเอียดว่า จะผูกกับค่าเงินสกุลใดบ้าง และผูกกับค่าเงินแต่ละสกุลเป็นสัดส่วนเท่าไร

คำถามที่ถามกันอย่างแพร่หลายในวงการการเงินและภาคนโยบายของจีนก็คือ ในที่สุดแล้ว Libra จะได้รับการหนุนหลังด้วยเงินสกุลดอลลาร์เป็นสัดส่วนเท่าไรในตะกร้าของสินทรัพย์ และคำถามจี้จุดตายก็คือ Facebook ซึ่งไม่ได้มีการทำกิจการในประเทศจีน จะเลือกหนุนหลัง Libra ด้วยเงินสกุลหยวนของจีนด้วยหรือไม่ (และถ้าไม่ ซึ่งมีความเป็นไปได้สูง จะกระทบอย่างไรกับสถานะของหยวนในเวทีการเงินระหว่างประเทศ)

นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า ท้ายที่สุดแล้ว การที่ Libra จะคลอดออกมาได้จริงนั้น อยู่ที่รัฐบาลกลางสหรัฐฯ จะยอมอนุญาตหรือไม่ ถ้าไม่ก็แท้งตั้งแต่ก่อนคลอด เพราะฉะนั้น หากมองจากมุมของการล็อบบี้และเจรจากับรัฐบาลสหรัฐฯ ทาง Facebook จำเป็นจะต้องโน้มน้าวรัฐบาลสหรัฐฯ ให้ได้ว่า เงินสกุล Libra จะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและต่อการรักษาสถานะของสหรัฐฯ (และธุรกิจสหรัฐฯ) ในเวทีโลก ด้วยเหตุนี้ นักวิเคราะห์จากจีนหลายคนจึงเห็นว่า เงินสกุล Libra หากเกิดขึ้นได้จริง น่าจะมีส่วนช่วยเสริมสถานะของดอลลาร์สหรัฐฯ มากกว่าที่จะทำลายสถานะดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในแวดวงเทคโนโลยี ก็มีหลายคนที่มองว่า หาก Facebook สามารถสร้างเงินสกุล Libra ได้สำเร็จตามแผนที่ประกาศออกมาในปัจจุบัน ย่อมส่งผลให้เกิดการปฏิวัติระบบการเงิน การธนาคารโลก จนถึงกับพลิกโฉมระบบเศรษฐกิจโลกได้เลยทีเดียว เพราะจะเป็นระบบที่ลดบทบาทของธนาคารกลาง และในที่สุดย่อมจะลดบทบาทของเงินสกุลทางการของรัฐ รวมทั้งดอลลาร์สหรัฐฯ ด้วย หลายคนมองว่า หากเป็นไปในทิศทางนั้น ทางการจีนเองก็อาจจะไม่ต้องการเช่นกัน เพราะจีนก็ถือพันธบัตรในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อยู่เป็นมูลค่ามหาศาล พูดง่ายๆ คือ จีนเองมีจุดยืนในเรื่องนี้กำกึ่งอยู่เหมือนกัน ในด้านหนึ่ง ก็ไม่ต้องการให้ดอลลาร์สหรัฐฯ ทรงอิทธิพลไปมากกว่านี้ แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็ไม่ต้องการให้ดอลลาร์สหรัฐฯ กลับกลายเป็นกระดาษไร้ค่าเช่นเดียวกัน

นักวิเคราะห์จากจีนบางกลุ่มมองลึกขึ้นไปอีกขั้นว่า ถึงแม้ Libra จะมีผลทำให้อิทธิพลของดอลลาร์สหรัฐฯ ในเวทีโลกลดลงจริง แต่ Libra เองนั่นแหละจะกลับกลายมาเป็นเงินสกุลหลักตัวใหม่ของโลก คราวนี้จะเป็นเงินสกุลหลักที่ไร้พรมแดนของจริง ซึ่งมีฐานผู้ใช้ทันที 2.2 พันล้านคนทั่วโลก และนี่ก็จะเป็นเงินสกุลหลักที่ออกโดยธุรกิจของสหรัฐฯ และสุดท้าย ย่อมต้องถูกกำกับโดยกฎระเบียบและนโยบายของธนาคารกลางของสหรัฐฯ ด้วย ซึ่งสำหรับจีนแล้ว ก็จะถือเป็นการดับฝันการผลักดันหยวนให้เป็นสกุลเงินระดับโลกอยู่ดี รวมทั้งดับฝันของจีนที่จะมีบทบาทมากขึ้นในเวทีการเงินระหว่างประเทศด้วย

คงเพราะธนาคารกลางจีนมองออกว่า สกุลเงินดิจิทัลกำลังเป็นหมากสำคัญในเกมเศรษฐกิจระหว่างประเทศในอนาคต ธนาคารกลางของจีนจึงเริ่มทำวิจัยเรื่องเงินสกุลดิจิทัลตั้งแต่ปี ค.ศ. 2014 นับเป็นธนาคารกลางแห่งแรกของโลกที่มีการศึกษาเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ และมีการตั้งสถาบันวิจัยเฉพาะเรื่องนี้ขึ้นมาในปี ค.ศ. 2017 ธนาคารกลางจีนเป็นเจ้าของสิทธิบัตร 78 รายการในด้านสกุลเงินดิจิทัลและอีก 44 รายการที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีพื้นฐานของการสร้างเงินสกุลดิจิทัล

ปัจจุบัน เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปในแวดวงการเงินว่า จีนมีแผนที่จะสร้างและผลักดันเงินสกุลดิจิทัลของรัฐบาลจีนขึ้นมาเอง เพราะรัฐบาลจีนยังต้องการมีบทบาทสำคัญในการดำเนินนโยบายการเงินการคลังผ่านธนาคารกลาง จะเห็นได้ว่าเป็นแนวทางที่แตกต่างอย่างชัดเจนจากแนวคิด Libra ซึ่งเป็นเงินสกุลดิจิทัลของภาคเอกชนสหรัฐฯ

Eric Schmidt ซึ่งเคยเป็นเบอร์หนึ่งของ Google มาก่อน เคยทำนายไว้ว่าในอนาคตโลกจะแบ่งเป็น “สองอินเทอร์เน็ต” โดยเขาได้แสดงความเห็นเมื่อปลายปีที่แล้วว่า โลกอินเทอร์เน็ตของจีนพัฒนาไปไกลมาก และด้วยการปิดกั้นบริษัทต่างชาติ อาจเรียกได้ว่าอินเทอร์เน็ตในจีนเป็นอีกจักรวาลหนึ่ง คนจีนไม่ได้ใช้ Facebook, Twitter, Google และ Gmail เหมือนคนในโลกตะวันตก แต่จีนมีผลิตภัณฑ์เหล่านี้ของตัวเอง ซึ่งทำได้ดีและก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ในสมัยนี้ จึงไม่ใช่เพียงบริษัทเทคโนโลยีสหรัฐฯ ที่จะออกไปยึดครองโลก แต่บริษัทเทคโนโลยีจีนก็พร้อมจะออกไปสู้เพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดโลกเช่นกัน จนสุดท้ายจะแตกเป็นสองโลกอินเทอร์เน็ตที่แยกจากกันใน 10-15 ปี

สงครามการค้าและสงครามเทคโนโลยีระหว่างจีน-สหรัฐฯ ที่กำลังร้อนแรง และกำลังจะยกระดับเป็นสงครามเย็นยุคใหม่ ยิ่งกดดันให้โลกแตกเป็นสองแกน หากในอนาคต เราเข้าสู่ยุคที่โลกมีสองอินเตอร์เน็ตดังคำทำนายจริง ก็อาจเป็นไปได้ว่า ธุรกรรมในโลกออนไลน์ก็อาจมีสองสกุลเงินหลักแข่งขันกัน คือ Libra ของ Facebook จากค่ายสหรัฐฯ กับเงินสกุลหยวนดิจิทัลของรัฐบาลจีน

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save