Eyedropper Fill เป็นศิลปินสื่อผสมยุคใหม่ เจ้าของผลงานภาพยนตร์ มิวสิควิดีโอ งานออกแบบแสง และศิลปะจัดวาง พวกเขาเป็นเหล่านักสร้างสรรค์ที่มีความคิดเฉียบคมและไอเดียสุดล้ำจนน่าจับตามองที่สุดในเวลานี้
ผลงานสารคดีของ Eyedropper Fill เต็มไปด้วยสายตาชวนสงสัย ทำตัวคล้ายเพื่อนที่เข้าใจพร้อมแลกเปลี่ยนเรื่องราวระหว่างพื้นที่หนึ่งสู่อีกพื้นที่หนึ่งให้เสียงที่ไม่เคยได้ยินถูกรับฟัง เรื่องราวที่เคยมองข้ามถูกรับรู้ และปัญหาที่ไม่เคยเข้าใจถูกหยิบมาเล่าอย่างคลี่คลาย
101 ชวน Eyedropper Fill มาละเลียดวิธีคิด สนทนาถึงเบื้องหลังการทำสารคดี ‘ณ’ – บ้านของเขา เรื่องของเราทุกคน สารคดีที่เปิดหูเปิดตา พาพวกเขาตะลุยเข้าไปในดินแดนสนธยาที่ไม่เคยย่างกราย แต่เมื่อกลับออกมา วิธีคิดของเขาก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
ตอนที่ 101 ชวนทำสารคดีด้วยกัน ทำไมถึงสนใจร่วมงาน
เราสนใจวิธีการที่ 101 เลือกศิลปินมาร่วมกันทำสารคดี ‘ณ’ แต่ละคนมาจากหลากหลายอาชีพ มุมมองและวิธีคิดของแต่ละคนไม่เหมือนกันเลย ทั้งช่างภาพ คนทำละครเวที นักเขียน มัลติมีเดียดีไซเนอร์ ทุกคนล้วนไม่ได้ทำงานสารคดีและปัญหาสังคมเป็นหลัก สารคดีชุดนี้จึงเป็นการเปิดพื้นที่ให้เกิดการตีความปัญหาสังคมจากมุมมองที่หลากหลายและแตกต่างออกไปจากรายการสารคดีที่เราเคยดูกันในทีวีอย่างแน่นอน
จากทักษะและความถนัดที่ต่างกันของแต่ละศิลปิน ภายใต้โจทย์เดียวกันคือ ‘สารคดี + ศิลปะ’ เราคิดว่าคนดูจะได้เห็นรายการสารคดีที่มีรูปแบบไม่ตายตัวและมีความเป็นไปได้หลากหลายมากๆ เราอยากเห็นว่าศิลปินแต่ละคนจะเล่าเรื่องผ่านเครื่องมือที่ตัวเองถนัดอย่างไร เราจินตนาการไม่ออกเลยว่า เมื่อสารคดีถูกเล่าด้วยละครเวทีจะออกมาเป็นอย่างไร หรือเมื่อนักเขียนเปลี่ยนมาเล่าเรื่องด้วยสารคดีจะออกมาเป็นแบบไหน ทั้งนี้มันก็กลายเป็นความท้าทายของกลุ่มเราเองด้วย ว่าเราจะจับสารคดี ศิลปะ และงานมัลติมีเดียดีไซน์แบบที่เราทำมารวมกันให้ลงตัวได้อย่างไร ที่สำคัญกว่านั้น เราจะใช้เครื่องมือที่เรามีทำงานกับปัญหาสังคมเหล่านั้นอย่างไรให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและเห็นผลที่สุด
ในการทำสารคดีชุดนี้มีอะไรกระทบกระแทกจิตใจ หรือให้แรงบันดาลใจแบบที่ไม่คาดฝันมาก่อน
ในฐานะนักออกแบบ การต้องสื่อสารกับคนในวงกว้างทำให้เราสนใจประเด็นทางสังคมเป็นทุนเดิมผ่านการอ่านหนังสือหรือบทความในอินเทอร์เน็ต ก่อนหน้าที่เราจะลงพื้นที่ชุมชนแรก – ชุมชนพระราม 6 เราค้นคว้าข้อมูลทั้งหมดที่ถูกบันทึกไว้ทั้งในรูปแบบของข่าวและบทความ เราคิดว่าข้อมูลที่สะสมมาจะทำให้เราเข้าใจโครงสร้างของปัญหาได้ละเอียดในระดับหนึ่ง
แต่ทันทีที่เราลงพื้นที่ไปพูดคุยและใกล้ชิดกับชาวชุมชน เมื่อเราได้เห็นบ้าน เห็นชีวิต และได้ฟังสิ่งที่พวกเขาบอกเล่า เราพบว่าสิ่งที่ทำให้เข้าใจปัญหามากที่สุดกลับไม่ใช่หนังสือ แต่คือเรื่องราวจากปากของผู้ประสบปัญหาต่างหาก คำว่า ‘อยู่อย่างยากลำบาก’ ที่เคยอ่านจากข่าว พอมาสัมผัสจริงๆ มันมากกว่าที่เราจินตนาการไว้หลายเท่า ข้อมูลจาก ‘คน’ ผู้เป็นหน่วยย่อยที่สุดทำให้เราเห็นความละเอียดอ่อนและมิติซับซ้อนของปัญหา และเห็นโครงสร้างของมันชัดเจนขึ้น เราเริ่มเข้าใจว่าทำไมพวกเขาจำเป็นต้องย้ายเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ทำไมพวกเขาไม่ลงหลักปักฐานทำงานในบ้านเกิด และอะไรบีบบังคับให้พวกเขาหมดทางเลือกในชีวิตเช่นนี้
เราเชื่อว่าคนดูก็คงไม่ต่างจากเรา เราจึงไม่เริ่มเปิดประเด็นด้วยปัญหาในระดับโครงสร้าง เพราะนั่นจะทำให้คนดูจะยิ่งรู้สึกว่ามันไกลตัวและไม่เกี่ยวอะไรกับเขามากขึ้นไปอีก เราเลือกจะเล่าเรื่องนี้จากคนสู่คน ให้คนดูค่อยๆ ซึมซับเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับคนที่อยู่ร่วมสังคมเดียวกับคุณ ในพื้นที่ที่ใกล้ตัวคุณมากแต่อาจไม่เคยสนใจ ให้คนดูปะติดปะต่อปัญหาจากระดับจุลภาคแล้วค่อยๆ โยงไปเห็นภาพใหญ่ของปัญหาระดับมหภาคในที่สุด
เราพยายามนำเสนอ ‘ณ’ ทั้งสามตอนด้วยรูปแบบที่ทำให้คนดูรู้สึกว่ากำลังฟังเรื่องใกล้ตัว จากคนที่เพิ่งเดินสวนกันบนฟุตบาธเมื่อวาน จากพื้นที่ที่เพิ่งขับรถผ่านแต่ไม่เคยสนใจ เมื่อคุณรู้สึกว่ามันใกล้ตัว คุณจะตระหนักว่าตัวเองก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาเช่นกัน เราหวังว่ามันจะนำไปสู่คำถามว่าแต่ละคนจะมีส่วนในการแก้ปัญหาเหล่านี้ร่วมกันยังไง
มีวิธีการอย่างไรในการหยิบประเด็นแต่ละพื้นที่มาทำงานสื่อสาร
รายการ ‘ณ’ ทั้งสามตอนที่ Eyedropper Fill สร้างสรรค์จะเป็นการรวมพลังกันของเครื่องมือสามอย่าง – สารคดี ศิลปะ และมัลติมีเดีย
ด้วยจุดประสงค์เดียวกันคือเพื่อที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีให้แก่ชุมชนและสังคม
สิ่งที่เราต้องการมากที่สุดเป็นอันดับแรกคือข้อมูลที่อยู่ภายในตัวคน การลงพื้นที่แต่ละครั้งเราจึงเลือกบันทึกเสียงสัมภาษณ์ของคนในพื้นที่ให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ แม้ว่าเสียงที่ปรากฎในรายการแต่ละตอนจะใช้เพียงหนึ่งส่วนสี่จากที่บันทึกไว้ แต่เราก็เชื่อว่าข้อมูลที่เราได้ฟังไปทั้งหมดจะช่วยให้เราเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่นั้นๆ ได้อย่างละเอียดถี่ถ้วน
นอกจากคำพูดเรายังสนใจเรื่องราวที่อยู่ในระดับลึกไปกว่านั้น นั่นคือ ‘พื้นที่ในจิตใจ’ ที่เต็มไปด้วยความทุกข์ที่เคยผ่าน ความสุขในปัจจุบัน หรือความฝันในอนาคตของพวกเขา เนื่องจากการสัมภาษณ์อาจไม่สามารถแสดงความรู้สึกเหล่านี้ออกมาได้ และในขณะเดียวกันการขุดคุ้ยด้วยคำถามยังอาจจะไปสร้างรอยแผลทิ้งไว้ให้เจ้าของเรื่องราว เราจึงนำศิลปะเข้ามาเป็นส่วนเติมเต็มกระบวนการ เราใช้ศิลปะในบทบาทของ ‘พื้นที่’ – พื้นที่ให้ชาวบ้านถ่ายทอดความรู้สึกภายใน เยียวยาบาดแผลที่เคยเกิดขึ้น และตระหนักถึงพลังและความหวังที่มีอยู่ในตัวเอง
เราร่วมมือกับ ปัท – ปรัชญพร วรนันท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะบำบัดเพื่อออกแบบกระบวนการศิลปะให้สอดคล้องและเหมาะสมกับปัญหาในแต่ละชุมชน โดยมีส่วนประกอบของมัลติมีเดียที่เราถนัด ซึ่งในกระบวนการของ ‘ณ’ พวกเราเรียนรู้ที่จะลดทอนและปรับรูปแบบของเทคโนโลยีที่ใช้ให้มีความพอดีและตอบโจทย์กับคนในพื้นที่จริงๆ เรียกได้ว่าทุกอย่างถูกออกแบบโดยคิดถึงชาวบ้านมากที่สุด เพราะหลายครั้งเราพบว่าคนทำสื่อเป็นเพียงผู้รับ เมื่อได้ข้อมูลที่ต้องการก็จากไปโดยไม่ได้คิดถึงเจ้าของเรื่องราวว่าเขาจะรู้สึกอย่างไร เราจึงให้ความสำคัญกับตรงนี้เป็นพิเศษ
ผลลัพธ์ที่ออกมาก็คือหลังจบกระบวนการชาวบ้านทุกคนประทับใจมาก คุณยายคนหนึ่งที่โนนสมบูรณ์บอกกับเราว่า ‘ถ้าไม่มีรายการพวกหนูเข้ามาถ่ายก็คงไม่มีโอกาสได้รู้สึกหรือคิดอะไรแบบนี้’ เราได้ยินเท่านี้ก็รู้ทันทีว่าจุดประสงค์ที่ตั้งไว้ สำเร็จไปขั้นหนึ่งแล้ว
การสร้างสรรค์ ‘ณ’ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรในตัวเราบ้าง
ด้วยบทบาทของนักออกแบบและคนทำสื่อ เราเชื่อว่าการสื่อสารสามารถสร้างให้เกิดความเปลี่ยนแปลง เราจึงคุ้นชินกับการเป็นผู้พูดมาเสมอ
แต่ในกระบวนการทำงาน ‘ณ’ กว่าครึ่งปีที่ผ่านมา เราได้เรียนรู้การเป็นผู้ฟัง การฟังเสียงของคนที่ไม่เหมือนกับเรา ทั้งพื้นที่ วิถีชีวิต และวิธีคิด ทำให้เราเห็นความแตกต่าง เข้าใจความหลากหลายที่ประกอบขึ้นเป็นสังคมนี้ เราเชื่อว่าในสังคมที่ขาดแคลนพื้นที่รับฟังความแตกต่างอย่างสังคมไทย ‘การฟัง’ คือสิ่งสำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นได้
……………………….
เชิญร่วม workshop ความคิดสร้างสรรค์ แลกเปลี่ยนเรียนรู้การใช้ศิลปะบอกเล่าปัญหาสังคมกับนักสร้างสรรค์หลากหลายแขนง
Eyedropper Fill ศิลปินสื่อผสมแห่งยุค
B-Floor กลุ่มละครเข้มข้นลึกซึ้ง
ชาติฉกาจ ไวกวี ช่างภาพยียวนกวนเท่
นิ้วกลม+โตมร ศุขปรีชา ครีเอทีฟและมือเขียนบทแห่งทีม 101
ในงานเปิดตัวสารคดี “ณ” – บ้านของเขา เรื่องของเราทุกคน บ่ายอาทิตย์ที่ 9 เมษายนนี้ เวลา 12.30-17.10 น. ที่ NOW Studio สยามสแควร์ ซอย 7
ลงทะเบียนฟรีได้ ที่นี่
และติดตามสารคดี ‘ณ’ – บ้านของเขา เรื่องของเราทุกคน ได้ทาง The101.world และช่อง NOW 26 ทุกบ่ายโมงครึ่งวันอาทิตย์ เริ่ม 23 เมษายนนี้
ร่วมสร้างสรรค์โดย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พอช.) สหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) และเครือข่ายที่ดินแนวใหม่ ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองแห่งชาติ (คทช.)