fbpx

‘วิสามัญมรณะ’: การตายในชีวิตประจำวันของสามัญชนด้วยน้ำมือรัฐ

มีผู้คนในสังคมไทยที่ต้องสูญเสียชีวิตไปโดยมีอำนาจรัฐเข้ามาเกี่ยวข้องซึ่งเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องและปรากฏให้เห็นในหลายรูปแบบ หากไม่นับรวมความรุนแรงที่รัฐกระทำต่อประชาชนในลักษณะที่เป็นกลุ่มก้อน, ปรากฏอย่างชัดเจน, สัมพันธ์กับปมประเด็น ‘การเมือง’ อย่างใกล้ชิด ดังที่ปรากฏในเหตุการณ์สำคัญหลายครั้ง นับตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลา 16, 6 ตุลา 19, พฤษภาคมวิปโยค 2535, พฤษภาคมอำมหิต 2553 แล้ว ยังมีความรุนแรงจากการกระทำของรัฐอีกประเภทที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่มาอย่างต่อเนื่อง เช่น การฆ่าผู้ต้องสงสัยในระหว่างการเข้าจับกุมของตำรวจ, การหายตัวของบุคคลที่มีจุดยืนตรงข้ามกับอำนาจรัฐ เป็นต้น

ที่ผ่านมา มีการศึกษาเกี่ยวกับการใช้อำนาจของรัฐและความรุนแรงต่อประชาชนในเหตุการณ์ ‘ฆาตกรรมหมู่’ อันสืบเนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองขนาดใหญ่เกิดขึ้นเป็นจำนวนไม่น้อย การทำความเข้าใจต่อความรุนแรงในลักษณะดังกล่าวเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างไม่อาจปฏิเสธ 

อย่างไรก็ตาม การทำความเข้าใจต่อความรุนแรงที่มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องซึ่งเกิดขึ้นกับบุคคลหรือกลุ่มย่อย, ด้วยเหตุผลในแง่มุมอื่นที่ไม่ได้จำกัดไว้เฉพาะความขัดแย้งทางการเมือง ทั้งที่ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนหรือเป็นการกระทำในแบบหลบเร้น ก็นับเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องมีการทำความเข้าใจไปพร้อมกัน การตายในลักษณะเช่นนี้เป็นสิ่งที่สามารถพบเห็นได้บ่อยครั้งผ่านสื่อมวลชนหรือรายงานข่าวที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน อาจกล่าวได้ว่ากรณีดังกล่าวนี้เป็นความรุนแรงในชีวิตประจำวันของผู้คนโดยรัฐอีกชนิดหนึ่ง 

หากพิจารณาถึงความรุนแรงของรัฐในแบบที่ก่อให้เกิดความตายขึ้น โดยไม่นับรวมการฆาตกรรมแบบกลุ่มขนาดใหญ่ ก็อาจจำแนกความรุนแรงดังกล่าวได้อีกหลากหลายรูปแบบ ดังนี้

แบบที่หนึ่ง เป็นความรุนแรงของรัฐซึ่งเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปและถูกเรียกว่า ‘วิสามัญฆาตกรรม’ (extrajudicial killing หรือ extrajudicial execution) อันหมายถึงการเสียชีวิตของบุคคลซึ่งเจ้าหน้าที่ให้เหตุผลว่าเป็นผลมาจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือการตายของบุคคลที่อยู่ภายใต้การควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น การยิงผู้ต้องสงสัยเสียชีวิตในระหว่างการเข้าจับกุม หรือกรณีผู้ต้องหาตายระหว่างการควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นต้น

การวิสามัญฆาตกรรมในสังคมไทยหลายครั้งมักเกี่ยวพันอย่างใกล้ชิดกับนโยบายหรือการกำหนดทิศทางของรัฐบาล หรือในงานศึกษาความรุนแรงของรัฐได้เรียกว่า ‘การฆ่าโดยมีเป้าหมาย’ (targeted killing) เช่น ในยุคที่รัฐบาลประกาศสงครามกับยาบ้าก็จะพบว่ามีการวิสามัญฆาตกรรมกับกลุ่มผู้ที่ถูกกล่าวอ้างว่าเกี่ยวพันกับยาเสพติดเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก กรณีการวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องสงสัยว่าเป็น ‘ผู้ก่อความไม่สงบ’ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ก็มีความสัมพันธ์อย่างยิ่งต่อแนวทางการจัดการความขัดแย้งในพื้นที่ของรัฐบาล พึงต้องตระหนักว่าการกำหนดเป้าหมายที่นำมาสู่การปลิดชีวิตผู้คนนั้นมิได้เป็นการชี้เป้าในเชิงปัจเจก แต่เป็นผลมาจากนโยบายของรัฐซึ่งกำหนดว่ามีการกระทำในรูปลักษณะใดที่ถูกจัดว่าเป็น ‘ภัย’ ในระดับรุนแรง การจัดประเภทดังกล่าวเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่รัฐไม่ว่าตำรวจหรือทหารสามารถใช้ความรุนแรงต่อประชาชนได้โดยปราศจากการตรวจสอบอย่างจริงจัง

แบบที่สอง ฆาตกรรมอีกประเภทหนึ่งที่สัมพันธ์กับการใช้อำนาจรัฐอย่างมากแต่อาจไม่มีพยานหลักฐานมายืนยันได้แน่ชัด อาจเรียกว่า ‘การสังหารนอกกฎหมาย’ เช่น การลอบสังหารบุคคลสำคัญ, การอุ้มหายผู้ที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับอำนาจรัฐ แต่การฆาตกรรมในลักษณะนี้อาจเป็นสิ่งที่อยู่พ้นไปจากบรรทัดฐานที่จะกล่าวอ้างในทางสาธารณะได้อย่างชัดเจน จึงทำให้ต้องมีความพยายามในการ ‘จัดฉาก’ หรือกลบเกลื่อนร่องรอยให้มากที่สุด รวมทั้งปฏิเสธการมีส่วนเกี่ยวข้องกับหน่วยงานของรัฐ 

เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าฆาตกรรมเช่นนี้ยากจะเกิดขึ้น หากหน่วยงานรัฐไม่ให้ความร่วมมือและมีส่วนเกี่ยวข้อง รวมทั้งมิใช่เป็นการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐในธรรมดาๆ โดยลำพัง หากเป็นอำนาจรัฐในระดับสูงที่สามารถประสานให้กลไกรัฐทั้งหมดทำงานหรือหยุดทำงานได้อย่างพร้อมเพรียง ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่าฆาตกรรมนอกระบบมักจะเกิดอย่างบ่อยครั้งภายใต้ห้วงเวลาที่การเมืองตกอยู่ภายใต้ระบอบอำนาจนิยม  

แบบที่สาม นอกจากการตายของผู้คนในลักษณะดังกล่าว ก็ยังปรากฏการเสียชีวิตในลักษณะอื่นซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องซึ่งเป็นกรณีของ ‘ฆาตกรรมเชิงโครงสร้างอำนาจภายใน’ อันเป็นการเสียชีวิตของผู้คนที่สัมพันธ์กับกลไกในอำนาจรัฐอย่างชัดเจน เช่น การเสียชีวิตของทหารชั้นผู้น้อยหรือทหารเกณฑ์ในค่ายทหาร, การเสียชีวิตของนักเรียนนายร้อยในระหว่างการฝึกซ้อม เป็นต้น 

การเสียชีวิตประเภทนี้อาจไม่ได้เป็นการ ‘ฆาตกรรม’ ซึ่งถูกกำกับโดยนโยบายของรัฐบาล หรือนโยบายอันเป็นทางการของหน่วยงานความมั่นคง บุคคลที่มีส่วนต่อการฆาตกรรมก็อาจเป็นเจ้าหน้าที่ในระดับทั่วไปได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นผู้มีอำนาจระดับสูง เมื่อเกิดการฆาตกรรมในลักษณะนี้ขึ้นก็มักจะมีการชี้แจงว่าเป็นการกระทำที่มีสาเหตุมาจากส่วนตัว หรือเกิดขึ้นเพราะเป็นความบกพร่องเฉพาะบุคคลโดยที่ไม่ได้เป็นนโยบายหรือความต้องการของหน่วยงานนั้นๆ 

ดังกรณีนักเรียนเตรียมทหารซึ่งเสียชีวิตจากการ ‘ซ่อม’ ของนักเรียนรุ่นพี่เมื่อ พ.ศ. 2560 ก็เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงการปฏิเสธถึงความเกี่ยวข้องของอำนาจรัฐ แม้อาจไม่ได้ถูกกำหนดด้วยนโยบายรัฐจนกลายเป็นเป้าหมายแห่งความรุนแรง แต่การฆาตกรรมเหล่านี้เป็นผลมาจากโครงสร้างอำนาจที่ดำรงอยู่ภายในองค์กรนั้น โดยผู้ถูกกระทำต้องตกอยู่ในสถานะของอีกฝ่ายหนึ่งแบบไม่อาจต่อรองได้ ดังเช่นระหว่างนายทหาร/ทหารชั้นผู้น้อย, ผู้บังคับบัญชา/ผู้ใต้บังคับบัญชา, หรือรุ่นพี่/รุ่นน้อง ซึ่งล้วนแต่เป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้ความรุนแรงในแบบที่ถึงแก่ชีวิตสามารถเกิดขึ้นได้ 

กล่าวได้ว่าความรุนแรงทั้งสามรูปแบบข้างต้นเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ภายในสังคมไทย แม้อาจไม่ปรากฏเด่นชัดดังกรณีการใช้ความรุนแรงทางการเมืองขนาดใหญ่ แต่ก็เป็นความรุนแรงชนิดถึงแก่ความตายที่ใกล้ชิดกับชีวิตของผู้คนทั่วไปในสังคมแห่งนี้ และมีผลกระทบอย่างสำคัญต่อความมั่นคงและความปลอดภัยในชีวิตประจำวันของประชาชนเป็นอย่างมาก ซึ่งจะใช้คำเรียกรวมปรากฏการณ์นี้ว่า ‘วิสามัญมรณะ’ เพื่อแสดงให้เห็นถึงลักษณะเฉพาะและความแตกต่างจากการเสียชีวิตประเภทอื่น เฉพาะอย่างยิ่งกับการตายที่เรียกว่า ‘วิสามัญฆาตกรรม’ อันมีความหมายจำกัดไว้เพียงการตายของบุคคลที่อยู่ภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่รัฐ

สำหรับ ‘วิสามัญมรณะ’ (extraordinary deaths) จะเน้นให้มีความหมายครอบคลุมถึงการเสียชีวิตของบุคคลโดยที่เจ้าหน้าที่รัฐเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ในฐานะต่างๆ ไม่ใช่เพียงการเสียชีวิตอันเนื่องมาจากเหตุวิสามัญฆาตกรรมเพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายรวมถึงโดยผู้บังคับบัญชา ผู้ร่วมสถาบันการศึกษา หรืออื่นๆ

และไม่ว่าจะเป็นวิสามัญมรณะในลักษณะใดก็ตาม คำถามสำคัญก็คือบุคคลที่ตกอยู่ในฐานะผู้สูญเสียจะได้รับการเยียวยาจากระบบกฎหมายหรือไม่ รวมทั้งบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุให้เกิดขึ้นได้รับการตรวจสอบและรวมไปถึงการลงโทษหรือไม่ 

คำถามนี้สืบเนื่องมาจากการพิจารณาถึงผลที่ติดตามมาจากเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งดูราวกับว่าความตายในลักษณะดังกล่าวแทบจะไม่ได้ทำให้เกิดความรับผิดขึ้นกับบุคคลหรือหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น การวิสามัญฆาตกรรม โจ ด่านช้างและพวก 6 คน เมื่อ พ.ศ. 2539 ทางตำรวจอ้างว่าพวกเขาได้ต่อสู้ในระหว่างที่นำตัวกลับไปค้นหาหลักฐานเพิ่ม แม้ทางตำรวจสามารถควบคุมตัวและใส่กุญแจมือผู้ต้องหาไว้ได้เรียบร้อย ทั้งหมดถูกยิงเสียชีวิตในที่เกิดเหตุโดยไม่ปรากฏชัดเจนว่าภายหลังจากนั้นมามีเจ้าหน้าที่รัฐคนใดต้องรับผิดชอบ ที่ชัดเจนคือผู้บังคับบัญชาระดับสูงในปฏิบัติการนี้ได้รับการเลื่อนตำแหน่งมาอย่างต่อเนื่องจวบจนเกษียณอายุราชการ

กรณีของ ชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมชาติพันธ์ ถูกทหารยิงเสียชีวิตคาด่านตรวจเมื่อ พ.ศ. 2560 ด้วยข้ออ้างว่าขัดขืนการจับกุม ทางผู้บังคับบัญชาระดับสูงในพื้นที่ให้สัมภาษณ์ภายหลังจากได้ดูกล้องวงจรปิดแล้วว่าถ้าเป็นตนเองก็คงต้องกระทำในลักษณะเดียวกัน แต่เมื่อทนายของฝ่ายผู้เสียชีวิตร้องขอภาพจากกล้องวงจรปิดก็ได้รับการปฏิเสธจากทางหน่วยงานว่าไม่มีภาพดังกล่าวในกล้องวงจรปิดแต่อย่างใด

ไม่ใช่เฉพาะกับกรณีผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นอาชญากรเช่น โจ ด่านช้าง หรือเหตุการณ์ที่เกิดกับชัยภูมิ ป่าแส กรณีนักเรียนเตรียมทหารที่เป็นครอบครัวของชนชั้นกลาง เมื่อญาติพี่น้องต้องการต่อสู้เพื่อให้เกิดการรับผิดชอบก็กลับต้องประสบความยากลำบากไม่ใช่น้อย การนำศพไปตรวจโดยไม่ให้ผู้มีอำนาจรับรู้ซึ่งได้กลายเป็นหลักฐานสำคัญต่อการพิสูจน์ถึงสาเหตุการตาย ก็ยังไม่ปรากฏบทสรุปเกิดขึ้นแม้กรณีนี้ผ่านไปเป็นเวลามากกว่า 4 ปี

มักเป็นที่เข้าใจว่าในห้วงเวลาปัจจุบัน ระบบกฎหมายและอำนาจรัฐได้ให้ความคุ้มครองต่อสิทธิในชีวิตของผู้คนได้อย่างมั่นคงพอสมควรโดยไม่อนุญาตให้มีการใช้อำนาจกำจัดผู้คนแบบ ‘ป่าเถื่อน’ มีการพัฒนากระบวนการยุติธรรมเกิดขึ้นอย่างมากในหลายทศวรรษที่ผ่านมา มีการก่อตั้งหน่วยงานและกลไกเพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนขึ้นจำนวนมากเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, ผู้ตรวจการแผ่นดิน, สำนักงานช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายของศาลและอัยการ, สภาทนายความ, กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และอีกหลากหลายหน่วยงาน 

แต่ดูราวกับว่าองค์กรเหล่านี้ก็อาจจำกัดบทบาทไว้เฉพาะกับความรุนแรงในระหว่างประชาชนด้วยกันเอง หากเมื่อใดที่เป็นความขัดแย้งโดยที่ฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ที่มีอำนาจรัฐ ระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมก็ดูราวกับจะพลิกผันออกไปจากสถานการณ์ในห้วงยามปกติ โดยเฉพาะในกรณีที่เป็นการใช้ความรุนแรงชนิดที่เป็นผลให้ผู้คนต้องถึงแก่ชีวิต

จากความพยายามเก็บรวบรวมข้อมูลในเบื้องต้น ไม่พบว่ามีหน่วยงานของรัฐทำหน้าที่เก็บรวบรวมข้อมูลไว้อย่างเป็นระบบ แม้ว่าจะเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้โดยตรง จึงทำให้การระบุถึงขนาดและความรุนแรงของปัญหาในเชิงภาพรวมมีอุปสรรค อย่างไรก็ตาม หากสำรวจเหตุการณ์วิสามัญมรณะที่กลายเป็นข่าวผ่านออกสู่สาธารณะก็จะพบว่ามีตัวเลขเป็นจำนวนไม่น้อย เฉพาะกรณีของทหารเกณฑ์ นายทหาร และนักเรียนเตรียมทหาร รายงานของสำนักข่าวประชาไท ระบุว่านับตั้งแต่ พ.ศ. 2550 ถึง พ.ศ. 2561 พบว่า “เท่าที่เป็นข่าวและสามารถเขียนข่าวได้” นั้น มีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 14 ศพ โดย 8 ศพมีพยานหลักฐานเด่นชัดว่าถูกซ้อมทรมาน[1]

จากรวบรวมข้อมูลของเหตุการณ์ที่ถูกจัดว่าเป็นวิสามัญมรณะที่ปรากฏต่อสื่อมวลชน พบว่า พ.ศ. 2561 มีจำนวน 30 กรณี ผู้เสียชีวิตจำนวน 35 ราย และ พ.ศ. 2562 มีจำนวน 35 กรณี มีผู้เสียชีวิต 47 ราย[2] โดยส่วนใหญ่ในแต่ละเหตุการณ์จะมีผู้ตายจำนวน 1 คน และบางเหตุการณ์อาจมีผู้ตายมากกว่า 1 คน ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในการจับกุมกลุ่มบุคคลที่ถูกตั้งข้อสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติด และมีอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถระบุตัวตนของผู้เสียชีวิตได้ คาดหมายว่าอาจจะเป็นบุคคลที่ไม่ได้เป็นผู้มีสัญชาติไทย 

ข้อมูลดังกล่าวนี้ย่อมมิใช่สถานการณ์ของเหตุวิสามัญมรณะที่เกิดขึ้นจริง เพราะอาจมีหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแต่มิได้ถูกนำเสนอเป็นข่าวต่อสาธารณะ, หรืออาจนำเสนอต่อสื่อสาธารณะในระดับท้องถิ่นที่ไม่สามารถค้นหาได้ ดังนั้น ข้อมูลที่นำเสนอในที่นี้จึงควรถูกพิจารณาในฐานะที่เป็นจำนวนขั้นต่ำหรือ ‘ยอดของภูเขาน้ำแข็ง’ โดยที่ไม่อาจบ่งบอกได้อย่างชัดเจนว่าฐานของภูเขาน้ำแข็งจะกว้างใหญ่เพียงใด  

ปรากฏการณ์ในลักษณะเช่นนี้ถือเป็นความรุนแรงของรัฐชนิดหนึ่งและเป็นความรุนแรงในระดับถึงแก่ความตาย อันถือเป็นการกระทำที่ต้องถูกควบคุมและตรวจสอบอย่างเข้มงวด เพราะรัฐสมัยใหม่ถือกำเนิดขึ้นเพื่อให้ความคุ้มครองต่อสิทธิเสรีภาพของผู้คนที่เป็นสมาชิก การล่วงละเมิดเฉพาะอย่างยิ่งต่อสิทธิในชีวิตของประชาชนนับเป็นการกระทำที่มีความร้ายแรงอย่างยิ่ง ระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพจึงมีความสำคัญต่อการปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้สามารถเกิดขึ้นได้ในความเป็นจริง 

จากที่กล่าวมาคงจะช่วยชี้ให้เห็นได้ถึงความเป็นไปได้ในการปกป้องคุ้มครองชีวิตของผู้คนโดยรัฐเองว่าดำรงอยู่ในระดับใด และรวมถึงอาจช่วยทำให้คำตอบต่อกรณีความรุนแรงชนิดอื่นๆ ที่ดำรงอยู่มาอย่างต่อเนื่องในสังคมไทยมีความชัดเจนมากขึ้น 

References
1 รวมความไม่ควรตายของทหารหนุ่มรอบ 11 ปี เมื่อทหารแก่ไม่เคยตาย (สืบค้น 1 พฤษภาคม 2565)
2 เป็นการรวบรวมข้อมูลผ่านสื่อมวลชนที่ให้ความสำคัญและพื้นที่กับข่าวการตายของประชาชน เช่น ไทยรัฐ มติชน ประชาไท workpoint TODAY เป็นต้น

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save