fbpx
สูญพันธุ์แล้วไง

สูญพันธุ์แล้วไง

Art work designed by Wiz

กรณีการล่าสัตว์ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร นับเป็นปรากฏการณ์ข่าวอนุรักษ์ธรรมชาติสำคัญครั้งหนึ่งในรอบหลายปี แต่หนึ่งในคำถามที่เกิดขึ้นในมุมกลับก็คือสูญพันธุ์แล้วไง มันก็แค่ลูกเสือดำที่ยังไม่ทันจะโตเต็มวัย มันก็แค่เก้งธรรมดาๆ ไก่ฟ้าหลังเทาที่พอถอนขนออกก็ทำกับข้าวได้เหมือนไก่ป่า แล้วไง สัตว์พวกนี้สูญพันธุ์แล้วไง

 

ประเทศไทยจะจ่อมจม โลกนี้จะล่มสลายกระนั้นหรือ ชาร์ลส์ ดาร์วิน นักชีววิทยาผู้ยิ่งใหญ่ยังบอกเองว่าการสูญพันธุ์เป็นเรื่องธรรมชาติ การสูญพันธุ์ช่วยเสริมให้เกิดวิวัฒนาการ เพราะทำให้มีช่องว่างสำหรับสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ๆ ได้วิวัฒน์พัฒนาสายพันธุ์

จากประวัติศาสตร์อันยาวนานของโลกเราพบว่าการสูญพันธุ์เกิดขึ้นตลอดเวลา ก็แล้วอย่างนั้นทำไมถึงต้องมานั่งห่วงเรื่องการสูญพันธุ์กันในยุคนี้ ยุคที่มนุษยชาติถูกตราหน้าว่าเป็นสาเหตุหลักของการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น

หนึ่ง ก็เพราะว่าป่าทุ่งใหญ่ที่นายพรานไฮโซและพวกเข้าเป็นล่า เป็นปราการด่านสุดท้ายในการต่อสู้กับเรื่องการสูญพันธุ์ เป็นป่าอนุรักษ์ระดับโลกที่แม้แต่เด็กอมมือยังตอบได้ว่ามันเป็นเรื่องไม่ถูก ไม่ควร และผิดกฎหมาย

สอง สัตว์อย่างเช่นเสือดำคือหนึ่งใน keystone species หรือชนิดพันธุ์ที่ช่วยควบคุมสมดุลของระบบนิเวศ ความเป็นสัตว์ผู้ล่าสูงสุดในระบบนิเวศช่วยควบคุมประชากรสัตว์กินพืช คัดสรรสายพันธุ์เหยื่อให้มีความแข็งแกร่ง และสร้างความเข้มแข็งให้กับสายใยธรรมชาติ ผ่านการถ่ายทอดพลังงาน และความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างกับสัตว์ผู้ล่าและเหยื่อชนิดอื่นๆ ที่ส่งผลต่อการดำรงอยู่ของป่าทั้งป่า

สาม อาจเป็นเรื่องซับซ้อนที่นายพรานไฮโซหลงยุคคงไม่มีวันเข้าใจ ว่าเรากำลังอยู่ในยุคแห่งการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ ที่หากไม่ช่วยกันแก้ไข มนุษย์เองก็กำลังเดินทางไปสู่จุดจบเช่นกัน

นักบรรพชีวินวิทยา (Paleontologist) ผู้ศึกษาเรื่องราวความเป็นมาของโลกยุคก่อนประวัติศาสตร์ผ่านฟอสซิลของสัตว์ดึกดำบรรพ์ พบว่าในอดีตอัตราการสูญพันธุ์โดยเฉลี่ยนั้น พอๆ กับอัตราการกำเนิดสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ (Speciation) ช่วงเวลาที่สัตว์ชนิดหนึ่งสูญพันธุ์ จึงเท่าๆ กับเวลาที่สัตว์อีกชนิดหนึ่งวิวัฒน์สายพันธุ์ใหม่ขึ้นมา แม้จะไม่สามารถคำนวณอัตราเหล่านี้ได้อย่างแม่นยำนัก เพราะเรายังขาดชุดฟอสซิลที่สมบูรณ์ของทุกยุคสมัย แต่อย่างน้อย เดวิด จา-บลอนสกี้ (David Jabronski) นักบรรพชีวินวิทยา ผู้เชี่ยวชาญด้านการสูญพันธุ์ของสัตว์โบราณระดับโลก ก็ได้ใช้หลักฐานที่ดีที่สุดที่มีอยู่ทำการประมาณแล้วว่าอัตราการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติในอดีตนั้นน่าจะอยู่ที่ 2-3 ชนิดในรอบหนึ่งล้านปี

นั่นหมายความว่า กว่านกสักชนิดสองชนิด หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสักตัวสองตัว หรือปลาสักสองสามสายพันธุ์จะถึงคราวต้องสูญพันธุ์นั้น ใช้เวลาประมาณหนึ่ง – ล้าน – ปี ด้วยอัตราดังกล่าว ขบวนการวิวัฒนาการที่ก่อให้เกิดสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ ย่อมสามารถทำหน้าที่ทดแทนสายพันธุ์ที่สูญหายไปได้

เมื่อเสียไปแล้วได้คืนมา ความหลากหลายทางชีวภาพโดยรวมจึงไม่ลดลง ไม่เสื่อมสลาย อันเป็นสูตรธรรมดาๆ ของคำว่า “ยั่งยืน”

แต่นักบรรพชีวินวิทยาอีกเช่นกันที่ค้นพบว่า ในช่วงยามของประวัติศาสตร์โลกนั้น โลกสีน้ำเงินใบนี้ก็ไม่ได้ดำรงอยู่อย่างราบเรื่อยสันติสุขตลอดเวลา หากแต่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้นเป็นระยะๆ ซึ่งได้ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ที่นักวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันเรียกกันว่า “การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่” (Mass extinction) หลายคนอาจคุ้นเคยกันดีกับการสูญพันธุ์ในยุคครีตาเชียส (Cretaceous) ซึ่งเป็นยุคสิ้นสุดของไดโนเสาร์ การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่หมายถึงช่วงเวลาที่อัตราการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วผิดปกติ เร็วกว่าอัตราของการเกิดชนิดพันธุ์ใหม่ๆ หลายร้อยหลายพันเท่า ความหลากชนิดของสิ่งมีชีวิตโดยรวมจึงลดลงอย่างมาก เผ่าพันธุ์ที่สาบสูญหายไปโดยขาดการทดแทนย่อมทำให้สายใยชีวิตในช่วงเวลาดังกล่าวเสียสมดุล และต้องใช้เวลานับล้านปีกว่าที่ระบบนิเวศของโลกจะได้รับการเยียวยาสู่ภาวะอุดมสมบูรณ์เหมือนเดิม

ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าอะไรคือสาเหตุของการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่เหล่านั้น มีการตั้งสมมติฐานกันหลายลักษณะ บ้างว่าเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศของโลก ที่ทำให้ถิ่นที่อยู่อาศัยหลายแบบค่อยๆ เปลี่ยนรูป จนทำให้สิ่งมีชีวิตที่อาศัยในระบบนิเวศนั้นๆ สูญพันธุ์ไป

หลายคนเชื่อมั่นว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลัน เช่น การที่มีลูกอุกาบาตขนาดใหญ่พุ่งชนโลก หรือการที่โลกโคจรเข้าสู่พายุฝนดาวตกครั้งใหญ่ซึ่งเกิดขึ้นทุกๆ 26 ล้านปี ข้อสันนิษฐานเหล่านี้ล้วนเป็นทฤษฎีที่มีเหตุและผลรองรับ และเป็นไปได้ทั้งสิ้น แต่ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม เรามีข้อมูลที่น่าเชื่อถือแล้วว่าการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ในอดีตนั้นได้เกิดขึ้นทั้งหมด 5 ครั้งตั้งแต่โลกได้ก่อกำเนิดมาเมื่อประมาณ 4,500 ล้านปีก่อน

ไล่ตั้งแต่การสูญพันธุ์ในยุคครีตาเชียส เมื่อ 65 ล้านปีก่อน ที่ทำให้ไดโนเสาร์ทั้งหมดสูญพันธุ์ไป จนถึงการสูญพันธุ์ในยุคเพอร์เมียน (Permian) เมื่อ 250 ล้านปีก่อน ที่ลดจำนวนสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังในทะเลลงกว่าครึ่งหนึ่ง ส่วนการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่อีก 3 ครั้ง เกิดขึ้นในช่วงท้ายยุคออโดวิเชียน (Ordovician) ราว 450 ล้านปีก่อน ตอนปลายยุคเดโวเนียน (Devonian) 370 ล้านปีก่อน และช่วงท้ายของยุคไทรแอสสิก ประมาณ 215 ล้านปีก่อน นอกจากการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ข้างต้นแล้ว ในช่วงครึ่งหลังของสมัยไพลสโตซีน (Pleistocene epoch) หรือแค่ไม่กี่หมื่นปีที่ผ่านมา ก็ได้เกิดการสูญพันธุ์ของสัตว์ขนาดใหญ่ยักษ์ (Megafauna) จำนวนมาก การสูญพันธุ์ของสัตว์ใหญ่ในช่วงหลังสุดนี้เองที่มนุษย์เริ่มเข้ามีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่มนุษย์เริ่มรวมตัวกันเป็นชนเผ่า และใช้อาวุธออกล่าสัตว์ การสูญพันธุ์ครั้งหลังสุดนี้ผลกระทบค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ห้าครั้งแรก และพวกที่ได้รับผลกระทบครั้งหลังนี้ส่วนใหญ่ค่อนข้างจำกัดอยู่เฉพาะในกลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

การกำหนดว่าช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่งนั้นเกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ หรือ Mass extinction หรือไม่ เดวิด จา-บลอนสกี้ ได้ตั้งกรอบอธิบายโดยยึดเอาอัตราการสูญพันธุ์ของพืชและสัตว์กลุ่มต่างๆ ที่สูงขึ้นเกินสองเท่าของระดับปกติ ถ้าบรรทัดฐานของจา-บลอนสกี้ใช้ได้จริง นั่นก็หมายความว่า ปัจจุบันเรากำลังเผชิญหน้ากับการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งที่ 6 ในประวัติศาสตร์ของชีวิตบนโลกแล้ว

Mass extinction ครั้งล่าสุดนี้เริ่มต้นขึ้นโดยมนุษย์เมื่อหลายพันปีมาแล้วในยุคนิโอลิธิค (Neolithic) ซึ่งเป็นยุคที่มนุษย์เพิ่งเริ่มรู้จักนำหินมาเป็นเครื่องมือ และเริ่มออกเดินทางด้วยเรือแคนูขุดข้ามมหาสมุทรไปยังหมู่เกาะอันห่างไกลเช่นมาดากัสการ์ นิวซีแลนด์ นิวคาลิโดเนีย และฮาวาย

สัตว์ป่าส่วนใหญ่ที่อาศัยบนเกาะเหล่านี้ผ่านการวิวัฒนาการมายาวนานจนกลายเป็นพันธุ์เฉพาะถิ่น สัตว์หลายชนิดโดยเฉพาะนกขนาดใหญ่บินไม่ได้เพราะไม่เคยเผชิญหน้ากับการถูกล่ามาก่อน สัตว์พวกนี้จึงเป็นกลุ่มแรกๆ ที่สูญพันธุ์ไปอย่างรวดเร็วหลังการมาถึงของมนุษย์ เพราะสามารถล่าได้ง่าย และมีขนาดใหญ่เหมาะสำหรับใช้เป็นอาหาร ที่นิวซีแลนด์ นกมัว (Moa- ญาติใกล้ชิดของนกอีมู และนกกระจอกเทศ) ซึ่งเป็นนกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกบางชนิดสูงถึง 3 เมตร นกมัวทั้ง 11 ชนิดของนิวซีแลนด์บินไม่ได้ แม้จะมีการประมาณว่าน่าจะมีประชากรนกมัวเหลืออยู่ถึง 70,000 ตัวตอนที่มนุษย์เดินทางมาถึงนิวซีแลนด์ แต่ปรากฏว่านกมัวถูกล่าจนสูญพันธุ์ภายในเวลาไม่กี่ปีเท่านั้น การสำรวจในภายหลังมีการขุดพบกองกระดูกของนกมัวกว่า 9,000 ตัวที่บ้านของชนพื้นเมืองหลังหนึ่ง อันแสดงให้เห็นถึงความรุนแรงของการล่าที่เกิดขึ้นในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี

การสูญพันธุ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นแทบจะทุกแห่งหนที่มนุษย์บากบั่นไปถึง ความสามารถในการล่าของมนุษย์ในยุคแรกเปรียบเสมือนคลื่นการสูญพันธุ์ระลอกแรกที่เริ่มส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตอื่น และในเวลาไม่กี่ร้อยปีต่อมาผลกระทบดังกล่าวก็ถูกซ้ำ ด้วยการมาถึงของมนุษย์ยุคใหม่ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยี และอุปกรณ์การล่าอันทันสมัย จากแคนูขุด สู่เรือบรรทุกขนาดใหญ่ จากขวานหินเปลี่ยนเป็นเลื่อยยนต์ จากลูกดอกมาเป็นปืนผาและยาพิษ มีการศึกษาการสูญพันธุ์ของสัตว์ในช่วง 400 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีสัตว์และพืชสูญพันธุ์ไปแล้วกว่า 600 ชนิด เฉพาะนกกลุ่มเดียวก็มีชนิดที่สูญพันธุ์ไปแล้วกว่า 116 ชนิด และอีกกว่า 1,000 ชนิดตกอยู่ในภาวะถูกคุกคาม

พอล เออร์ลิช (Paul Ehrlich) ปรมาจารย์ทางด้านชีววิทยาเชิงอนุรักษ์แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ชี้ว่า อัตราการสูญพันธุ์ที่เกิดขึ้นกับกลุ่มของนกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในปัจจุบันนั้น สูงกว่าอัตราตามธรรมชาติถึง 100 เท่า ในขณะที่ เอ็ดเวิร์ด วิลสัน (Edward Wilson) นักชีววิทยาเชิงอนุรักษ์คนแรกที่ใช้คำว่า Biodiversity หรือ ความหลากหลายทางชีวภาพ ยืนยันว่าผลการศึกษาในกลุ่มสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังในป่าฝนเขตร้อน ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มเดียวกัน ทั้งยังมีอัตราการสูญพันธุ์ที่รุนแรงกว่าภาวะปกติถึง 1,000 เท่า ด้วยข้อมูลดังกล่าวทำให้เห็นว่าการสูญเสียชนิดพันธุ์ครั้งล่าสุดจากฝีมือมนุษย์ น่าจะรุนแรงกว่า Mass extinction ทุกครั้งที่ผ่านมา และถ้าแนวโน้มยังคงดำเนินต่อไปเช่นนี้ หายนะครั้งนี้อาจส่งผลรุนแรงกว่าที่ใครๆ จะคาดคิด

ครั้งหนึ่งสจ๊วต พิมม์ ศาสตาจารย์ด้านชีววิทยาเชิงอนุรักษ์แห่งมหาวิทยาลัยน๊อกวิลล์ เมืองเทนเนสซี ได้มีโอกาสไปบรรยายต่อสภานิติบัญญัติแห่งสหรัฐอเมริกา เพื่อให้เข้าใจถึงวิกฤตการณ์การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตในปัจจุบัน

พิมม์ลุกขึ้นกล่าวต่อที่ประชุมที่เต็มไปด้วยเจ้าหน้าที่และข้าราชการระดับสูงตอนหนึ่งว่า “…. อีกไม่เกิน 50 ปี หรือ บางคนอาจจะแค่ 10 ปี ทุกคนที่อยู่ในห้องนี้ก็คงจะต้องตายลง… มันเป็นความจริง เป็นความจริงที่น่าเศร้า แต่มันไม่ใช่โศกนาฏกรรม… ”

เขามองไปรอบๆ สภาและชี้ไปยังทุกคนพร้อมกับกล่าวว่า “แต่ถ้าพวกเราทุกคนในห้องนี้ตายลงทั้งหมดวันนี้ นั่นสิเรียกว่า โศกนาฏกรรม มันคือหายนะ”

การขนปืนเข้าป่าไปยิงสัตว์เพื่อความบันเทิง ในที่นี้คงไม่ต่างอะไรจากผู้ก่อการร้ายที่ลากเอาปืนกลเข้าไปถล่มเด็กๆ ในสนามเด็กเล่น

ไม่มีใครควรต้องมาตายก่อนเวลาอันควร และไม่มีใครมีสิทธิเอาชีวิตคนอื่นไปเพียงเพื่อความสนุก คึกคะนอง

 

แน่นอนว่าการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตบนโลกไม่ใช่เรื่องผิดปกติ แต่ด้วยอัตราการสูญพันธุ์ที่รุนแรงเช่นในปัจจุบัน เรากำลังผลักให้เพื่อนร่วมโลกนับร้อยนับพันชีวิตต้องเผชิญกับโศกนาฏกรรมทุกวัน

เรากำลังทำให้ระบบนิเวศธรรมชาติที่คอยค้ำจุนความอยู่รอดของทุกชีวิตค่อยๆ พังทลายลงไป และนั่นก็ไม่ได้หมายความอะไรมากไปกว่า การเดินทางไปสู่จุดจบของเผ่าพันธุ์มนุษย์ด้วยเช่นกัน

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save