เพชร มโนปวิตร เรื่อง
ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ
เริ่มต้น 1 มกราคม 2563 ที่จะถึงนี้ร้านค้าปลีกหลายแห่ง รวมทั้งร้านสะดวกซื้อที่มีสาขานับหมื่นแห่งทั่วประเทศอย่าง 7-Eleven จะเลิกแจกถุงพลาสติกให้กับลูกค้าตามโรดแมปการแก้ปัญหาวิกฤตขยะพลาสติกแห่งชาติ นับเป็นก้าวสำคัญในการแก้ปัญหาขยะพลาสติกที่ได้รับความสนใจอย่างมากทั้งในระดับประเทศและระดับโลกตลอดสองปีที่ผ่านมา
เราเห็นความตื่นตัวมากขึ้นในฝั่งผู้บริโภค เริ่มเห็นมาตรการแก้ปัญหาจากรัฐบาล แต่เอาเข้าจริงๆ ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงในฝั่งผู้ผลิตเท่าไหร่ นอกจากการทำ CSR รณรงค์ให้ผู้บริโภคมีจิตสำนึก ทิ้งขยะให้ถูกที่ รู้จักแยกขยะ หรือเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนในระยะต่อไปภาครัฐต้องกำหนดมาตรการให้ผู้ผลิตสินค้าร่วมรับผิดชอบกับปัญหาที่เกิดขึ้นมากกว่านี้
พลาสติกถือกำเนิดขึ้นมาบนโลกนี้ราวๆ 70 ปีที่แล้ว และในแต่ละปี ปริมาณการผลิตก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องมาโดยตลอด กว่าครึ่งหนึ่งของพลาสติกที่เคยผลิตออกมาแล้วทั้งหมดกว่า 9 พันล้านตันเกิดขึ้นในช่วงไม่ถึง 20 ปีมานี้เอง ตอนนี้เรามีตัวเลขการผลิตพลาสติกออกมาใช้กันมากถึงปีละกว่า 450 ล้านตัน ในจำนวนนี้กว่า 1 ใน 3 เป็นบรรจุภัณฑ์แบบใช้แล้วทิ้งที่มีอายุการใช้งานไม่กี่นาทีหรือโดยเฉลี่ยไม่เกิน 1 เดือน
ปัญหาสำคัญที่ทุกคนลืมคิดคือ พลาสติกไม่ย่อยสลาย เมื่อมีการผลิตพลาสติกออกมามหาศาล จึงไม่น่าแปลกใจที่ขยะพลาสติกกลายเป็นวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของโลกยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะผลกระทบเชิงประจักษ์ที่ทำให้สัตว์ทะเลหายากอย่างเต่าทะเลและวาฬล้มตายรายวันจากการหลงกินขยะพลาสติกเป็นอาหาร ไม่นับพลาสติกที่สะสมอยู่ในสิ่งแวดล้อมทุกหนแห่งตั้งแต่ยอดเขาที่สูงที่สุดไปจนถึงก้นมหาสมุทร หรือแม้แต่ในอากาศ และปนเปื้อนอยู่ในห่วงโซ่อาหารและย้อนกลับสู่มนุษย์ ตอนนี้มีข้อมูลว่ามนุษย์ได้รับพลาสติกเข้าสู่ร่างกายโดยเฉลี่ยประมาณบัตรเครดิตหนึ่งใบทุกๆ สัปดาห์จากอาหารที่เรากิน น้ำที่เราดื่ม และอากาศที่เราหายใจ
แม้ผู้บริโภคจะเริ่มมีความตื่นตัวมากขึ้น แต่ปริมาณการผลิตยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลงแม้แต่น้อย เชื่อไหมว่าที่ผ่านมาเราใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งโลกถึง 8%ในกระบวนการผลิตพลาสติก และคาดว่าจะใช้เพิ่มขึ้นถึง 20% ภายในปี 2050 มีการคำนวณว่าการผลิตพลาสติกอีก 30 ปีข้างหน้าจะทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมากถึง 56 กิกะตัน (5.6 หมื่นล้านตัน) หรือราว 10-13% ของปริมาณคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ที่เราจะปล่อยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศได้ (carbon budget) การใช้พลาสติกอย่างไม่คุ้มค่าคือการสนับสนุนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างสิ้นเปลือง ซึ่งเป็นการเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลก ปัญหาขยะพลาสติกจึงเกี่ยวข้องโดยตรงกับวิกฤตโลกร้อนในปัจจุบัน และที่น่าแปลกใจคือหลักการผู้สร้างมลภาวะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการจ่ายค่าจัดการ (polluter pays principle) กลับไม่ได้ถูกนำมาใช้ในกรณีของพลาสติก
ในปี 2019 โคลาโคล่าบริษัทเดียวใช้ขวดพลาสติกมากถึง 8.8 หมื่นล้านขวด หรือใช้พลาสติกในบรรจุภัณฑ์ทั้งหมดราว 3 ล้านตัน จึงไม่น่าแปลกใจว่าปีนี้ โคลาโคล่า ได้รับการขนานนามให้เป็นผู้สร้างขยะพลาสติกรายใหญ่ที่สุดของโลกเป็นปีที่สองติดต่อกัน อันเป็นผลจากการเก็บขยะตามชายหาดโดยอาสาสมัครกว่า 7 หมื่นคนของเครือข่าย Break Free from Plastic ใน 51 ประเทศทั่วโลกในวันที่ 21 กันยายน หรือวันทำความสะอาดโลก (World Clean Up Day) ที่ผ่านมา ซึ่งสามารถรวบรวมขยะได้เป็นถุงพลาสติก 59,000 ใบ ซองพลาสติกต่างๆ 53,000 ชิ้น และขวดพลาสติก 29,000 ขวด เกือบครึ่ง (43%) ของขยะที่มีการเก็บได้สามารถระบุที่มาและชื่อผู้ผลิตได้อย่างชัดเจน จึงมีการรวมรวมเป็นผลตรวจสอบแบรนด์จากขยะพลาสติก หรือที่เรียกว่า Brand Audit ผลปรากฏว่ามีขยะจากบริษัทโคลาโคล่า มากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง ตามมาด้วยเนสท์เล่ อันดับสอง และ เป๊บซี่โค อันอับสาม ในสหรัฐอเมริกา เนสท์เล่ นำมาเป็นอันดับหนึ่ง ตามมาด้วย โซโลคัพ และอันดับสามคือสตาร์บัคส์
ในส่วนของประเทศไทยเอง กรีนพีซ ประเทศไทย ได้เปิดเผยผลจากจำนวนขยะที่สามารถระบุที่มาได้ 5 อันดับแรก ได้แก่
1.เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP, 7-Eleven)
2.โอสถสภา (เครื่องดื่ม, ผลิตภัณฑ์ความงาม, ลูกอม)
3.กลุ่มธุรกิจ TCP (เครื่องดื่ม, ขนมขบเคี้ยว)
4.เสริมสุข (เครื่องดื่มและน้ำดื่ม)
5.สิงห์คอร์เปอเรชั่น (เครื่องดื่มและน้ำดื่ม)
แน่นอนว่าไม่มีบริษัทไหนอยากได้ชื่อว่าเป็นตัวการสร้างขยะออกสู่สิ่งแวดล้อมมากที่สุด ซึ่งหลายคนโทษว่าก็เป็นเพราะพฤติกรรมการใช้ของผู้บริโภค และระบบจัดการขยะของภาครัฐที่ไม่มีประสิทธิภาพเอง จะโทษบริษัทได้อย่างไร ความจริงก็คือ บริษัทต่างๆ คือต้นทางหลักในการนำบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งเหล่านี้มาใช้ บริษัทยิ่งมีขนาดใหญ่ก็ยิ่งใช้มาก จึงไม่แปลกที่บริษัทขนาดใหญ่ย่อมมีโอกาสตกเป็นจำเลยได้ไม่ยาก
Brand Audit จากการเก็บขยะช่วยสะท้อนถึงปัญหาว่าพลาสติกจากผู้ผลิตรายไหนรั่วไหลออกสู่สิ่งแวดล้อมมากที่สุด หรือ เรียกง่ายๆ ว่าเป็น ‘ผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการในการสร้างมลภาวะและขยะทะเล’
อย่างที่ผู้ทำการรวบรวมข้อมูลได้ออกตัวว่า การจัดอันดับครั้งนี้ไม่ใช่การกล่าวโทษหรือตอกย้ำว่าแบรนด์ผู้ผลิตเป็นผู้ร้าย แต่นี่คือจุดเริ่มต้นที่บริษัทจะร่วมกับผู้บริโภคในการแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด คือพยายามลดขยะพลาสติกที่มีโอกาสรั่วไหลออกสู่สิ่งแวดล้อมได้ง่ายให้มากที่สุด
สิ่งสำคัญที่บริษัทชั้นนำจำเป็นต้องนำมาใช้ในการออกแบบบรรจุภัณฑ์และร่วมแก้ปัญหาขยะที่เกิดจากสินค้าของตัวเองคือ หลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility – EPR) ซึ่งโธมัส ลินด์ควิสท์ (Thomas Lindhqvist) แห่งมหาวิทยาลัยลุนด์ ประเทศสวีเดนเป็นคนเสนอแนวคิดนี้ครั้งแรกในรายงานต่อกระทรวงสิ่งแวดล้อมของสวีเดนเมื่อปี 1990 โดยสรุปก็คือหลักการที่ทำให้ผู้ผลิตต้องมีความรับผิดชอบในการจัดการสินค้าของตัวเองหลังสินค้านั้นๆ หมดอายุการใช้งานแล้ว เพื่อแก้ปัญหาการจัดการของเสียและการนำวัสดุที่ยังใช้ได้กลับมารีไซเคิล โดยเขาหวังว่าหากนำหลักการดังกล่าวมากำหนดเป็นนโยบาย ผู้ผลิตจะต้องคิดให้มากขึ้นในการออกแบบผลิตภัณฑ์เพราะต้องร่วมรับผิดชอบจัดการในภายหลัง
ต่อมาเขาได้พยายามให้คำจำกัดความของ EPR อย่างเป็นทางการว่า “หลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (EPR) เป็นยุทธศาสตร์ในการปกป้องสิ่งแวดล้อมเพื่อลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมโดยรวมที่เกิดขึ้นจากผลิตภัณฑ์ โดยทำให้ผู้ผลิตสินค้าต้องรับผิดชอบตลอดวงจรชีวิตของสินค้านั้นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับคืน การรีไซเคิล และการกำจัดซากผลิตภัณฑ์ หลักการ EPR สามารถนำไปใช้ได้ผ่านเครื่องมือทางการบริหาร เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ หรือเครื่องมือทางสารสนเทศ แล้วแต่ความเหมาะสม”
EPR ถูกนำมาใช้เป็นนโยบายครั้งแรกในประเทศเยอรมนีเมื่อปี 1992 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ว่าด้วยการจัดการขยะประเภทบรรจุภัณฑ์ ก่อนจะขยายไปหลายประเทศในสแกนดิเนเวียและยุโรป การศึกษาเมื่อเร็วๆ นี้พบว่าปัจจุบันมีนโยบายที่นำหลักการ EPR ไปใช้ถึงเกือบ 400 ฉบับ โดย 3 ใน 4 เกิดขึ้นเกิดขึ้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่หลักการ EPR จะถูกนำมาใช้ก็เมื่อมีการออกกฎหมายรองรับเพื่อบังคับให้ผู้ผลิตต้องปฏิบัติตาม โดยราวหนึ่งในสามเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็ก รองลงมาคือบรรจุภัณฑ์ (17%) ยางรถยนต์ (17%) รถยนต์และแบตเตอรี่ (12%) และอื่นๆ อาทิ ฟูกที่นอน พรม ซึ่งล้วนเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่ยากต่อการกำจัด
รูปแบบที่พบบ่อยที่สุดหรือเกือบ 3 ใน 4 ของ EPR ก็คือการรับคืน (Take back) หลังหมดอายุการใช้งาน เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ยางรถยนต์ ฟูกที่นอน ส่วนที่เหลือคือระบบการจ่ายค่ากำจัดล่วงหน้า (Advance disposal fees – ADF) และการเก็บค่ามัดจำ (deposit/refund) โดยเฉพาะสำหรับบรรจุภัณฑ์ทั่วไป ส่วนใหญ่จะมีการจัดเก็บโดยองค์กรที่จัดตั้งขึ้นมาเป็นการเฉพาะ
แม้ EPR จะมีรายละเอียดค่อนข้างเยอะ และยังมีจุดอ่อนอยู่บ้างโดยเฉพาะปัญหาการรับคืนมากำจัดด้วยวิธีเผา ซึ่งเป็นวิธีที่ถูกที่สุดสำหรับผู้ผลิต แต่อาจไม่ได้มีประสิทธิภาพที่สุด เมื่อเทียบกับการรีไซเคิล หรือแยกวัสดุที่ยังใช้ได้กลับมาใช้ใหม่แบบอื่นๆ ยังไม่นับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากเตาเผาขยะ อย่างไรก็ตามในภาพรวมระบบ EPR ทำให้ขยะถูกนำมาจัดการอย่างถูกต้องมากขึ้น ในยุโรปซึ่งมีการนำ EPR มาใช้อย่างแพร่หลายมีตัวเลขว่าขยะจากบรรจุภัณฑ์ราว 65% และขยะอิเล็กทรอนิกส์ 35% ถูกนำมารีไซเคิลอย่างถูกวิธี ซึ่งนับว่าเป็นสัดส่วนที่สูงมากเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลก
หนึ่งในตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดของ EPR ที่มีประสิทธิภาพมากๆ ก็คือระบบการคิดค่ามัดจำ ลองนึกถึงระบบมัดจำขวดสมัย 30-40 ปีที่แล้ว จะซื้อโค้กสักขวดก็ต้องจ่ายมัดจำ สมัยก่อนเป็นขวดแก้วกินเสร็จก็ต้องรวบรวมเอาขวดมาคืนเพื่อจะได้เงินมัดจำ วิธีนี้ทำให้ผู้ผลิตสามารถนำบรรจุภัณฑ์ที่ใช้เสร็จแล้วกลับเข้าสู่ระบบได้เกือบร้อยเปอร์เซนต์
หลักการดังกล่าวยังคงใช้ได้ผลเกือบทุกที่ แม้จะเปลี่ยนมาเป็นขวดพลาสติกแล้วก็ตาม ในเยอรมนีที่มีระบบคิดค่ามัดจำขวดมีอัตราการรีไซเคิลขวดพลาสติกอยู่ที่ 99% เทียบกับอังกฤษที่ยังไม่มีกฎหมายมีอัตราการรีไซเคิลขวดพลาสติกอยู่ที่ 43% ในสหรัฐอเมริกา รัฐที่มีกฎหมายบังคับให้คิดค่ามัดจำขวด (Bottle Bill) มีอัตราการรีไซเคิลขวดสูงถึง 60-90% ในขณะที่รัฐที่ไม่มีค่ามัดจำขวดมีอัตราการรีไซเคิลเฉลี่ยเพียง 24% รัฐที่มีกฎหมายค่ามัดจำขวดยังสามารถประหยัดค่าเก็บและจัดการขยะมูลฝอยได้ปีละหลายร้อยล้านบาท แต่เชื่อไหมว่ามีเพียง 10 รัฐเท่านั้นที่มีกฎหมาย Bottle Bill โดยฮาวายเป็นรัฐสุดท้ายที่ผ่านกฎหมายนี้สำเร็จเมื่อ 17 ปีที่แล้ว เหตุผลสำคัญก็เพราะถูกล็อบบี้อย่างหนักจากอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม โดยเฉพาะบริษัทโคลาโคล่า ผู้ได้ชื่อว่าสร้างขยะพลาสติกรายใหญ่ที่สุดในโลก ใน 41 รัฐที่ไม่มีกฎหมายค่ามัดจำขวด บริษัทเครื่องดื่มไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลยหลังจากที่ขายสินค้าตัวเองไปแล้ว
EPR เป็นแนวคิดที่ทำให้ผู้ผลิตต้องคำนึงถึงต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมตลอดวงจรชีวิตของสินค้า หมายความว่า ความรับผิดชอบไม่ได้จบแค่การขายสินค้าเท่านั้น แต่ต้องคิดด้วยว่าเมื่อใช้เสร็จแล้วจะมีทางนำสินค้ากลับมาจัดการได้อย่างไร ความรับผิดชอบของผู้ผลิตที่ต้องเพิ่มขึ้นนี้เองที่ทำให้บริษัทต่างๆ พากันหลีกเลี่ยง ยกเว้นเสียแต่จะถูกบังคับด้วยกฎหมาย เช่นกรณีตัวอย่างกฎหมายค่ามัดจำขวดในสหรัฐอเมริกา มีเพียงส่วนน้อยที่ทำโดยสมัครใจ
ถึงเวลาแล้วที่บริษัทผู้ผลิตสินค้าต่างๆ ต้องมีส่วนช่วยแก้ปัญหาขยะพลาสติกอย่างจริงจังกว่านี้ โดยนำหลักการ EPR ไปใช้ในการออกแบบและจัดการผลิตภัณฑ์ตลอดวงจรชีวิต ไม่ใช่เพียงทำกิจกรรม CSR ฟอกเขียวไปเรื่อยๆ และโยนภาระกลับมาให้ผู้บริโภค เพราะจิตสำนึกเพียงอย่างเดียวไม่มีทางแก้วิกฤตขยะพลาสติกที่กำลังเกิดขึ้นได้
ลองคิดดูว่า หากผู้ผลิตและร้านค้าเลิกแจกพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งฟรีๆ ไม่ว่าจะถุงพลาสติก หลอด ช้อนส้อม ซองเครื่องปรุง โฟม แล้วหันไปใช้วัสดุทางเลือก หรืออำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภคหันมาพกพาอุปกรณ์ส่วนตัว จะช่วยลดขยะที่ไม่จำเป็นไปได้มากขนาดไหน
ลองคิดดูว่า หากผู้ผลิตมีการคิดค่ามัดจำบรรจุภัณฑ์ทุกประเภท เหมือนกับที่ครั้งหนึ่งเราต้องจ่ายค่ามัดจำขวดแก้ว ทำให้เราต้องนำขวดไปคืนที่ร้านทุกครั้งเพื่อจะได้ค่ามัดจำคืน พลาสติกจำนวนมากจะถูกนำเข้าสู่ระบบรีไซเคิลแทนที่จะกลายเป็นขยะที่บ่อฝังกลบหรือหลุดรอดลงสู่แม่น้ำลำคลอง ออกสู่ทะเลและมหาสมุทร
ลองคิดดูว่า หากผู้ผลิต เลือกปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์เป็นแบบที่สามารถนำมาใช้ใหม่ได้ (reuse) และส่งเสริมให้ผู้บริโภคหันมาซื้อสินค้าแบบเติม (refill) เลือกวัสดุที่สามารถนำกลับมาแปรรูป (recycle) ได้ 100% จะช่วยลดการสร้างขยะได้ขนาดไหน
ถึงเวลาแล้วที่บริษัทผู้ผลิตสินค้าซึ่งเป็นต้นทางของปัญหามลภาวะและพลาสติกทั้งมวล ต้องลุกขึ้นมาปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์กับพลาสติกเช่นกัน เปลี่ยนจากความสัมพันธ์ชั่วคราว ใช้แล้วทิ้ง มาเป็นความสัมพันธ์จริงจัง ใช้แล้วใช้อีก ใช้อย่างรู้คุณค่า ใช้แล้วต้องเก็บมารีไซเคิล ถ้าผลิตสินค้าแบบไหนออกมาก็ต้องมีระบบรองรับเพื่อจัดการขยะที่เกิดขึ้นด้วย เช่นขวดพลาสติก ขวด PET แบบสีๆ ฉลาก PVC แก้วน้ำพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง หลอดน้ำแข็งหวานเย็น ไฟแช็คพลาสติก แปรงสีฟันพลาสติก รองเท้าแตะ ฯลฯ ถ้าไม่สามารถจัดเก็บ รวบรวมได้ ก็ไม่ควรผลิตขึ้นมาตั้งแต่แรก หรือพิจารณาวัสดุอื่นที่มีความคุ้มค่ามากกว่า
ถ้าบ้านไฟไหม้ เราต้องดับไฟก่อน ถ้าน้ำจากก๊อกไหลท่วมบ้าน เราก็ต้องปิดก๊อกก่อน การแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อน เราไม่มีทางอื่นนอกจากลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ เปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียน การแก้ปัญหาขยะพลาสติกก็เช่นกัน
เราต้องตั้งเป้าลดปริมาณการผลิตพลาสติกลงอย่างมาก เลิกใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งที่ไม่จำเป็น เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการขยะ และมุ่งหน้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อให้เหลือขยะที่เป็นภาระต่อโลกให้น้อยที่สุด
อ้างอิง
ผลการตรวจสอบแบรนด์(Brand Audit) จากขยะพลาสติกในประเทศไทย ปี 2562
Coca-Cola is world’s biggest plastics polluter – again
CP and Coca-Cola among worst offenders for plastic pollution in Thailand based on Greenpeace report
Extended producer responsibility
EPR: The good, the bad and the ugly
Stakeholder Views on Extended Producer Responsibility and the Circular Economy