fbpx

Exit from the EU?: กระแสออกจากสหภาพยุโรปหายไปไหน

แล้วเบร็กซิตก็เปลี่ยนโฉมการเมืองยุโรปไปอย่างไม่มีวันหวนกลับคืน  

ย้อนเวลากลับไปในช่วงปี 2016 คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า หนึ่งในวิกฤตที่ถาโถมใส่สหภาพยุโรปคือกระแสคลื่นแห่งการต่อต้านสหภาพยุโรป (Euroscepticism) – มวลอารมณ์แห่งความไม่พอใจต่อระเบียบการเมืองแบบ ‘เหนือรัฐ’ ของสหภาพยุโรป โหมกระหน่ำโดยสารพัดพรรคการเมืองฝ่ายขวาสุดโต่งทั่วทวีป ที่ขณะนั้นกำลังรื่นรมย์กับวิกฤตศรัทธาต่อเสรีนิยมและเฉลิมฉลองอาการประชาธิปไตยโลกเอียงขวา จนผงาดกลายเป็นพลังการเมืองที่ต้องจับตามองในสนามการเมืองยุโรปหลายประเทศ

คงไม่มีใครลืมเบร็กซิต (Brexit) ได้ลง เพราะนั่นคือครั้งแรกที่ความรู้สึกไม่พอใจต่อสหภาพยุโรปถูกแปรไปเป็นคะแนนเสียงลงประชามติที่ตัดสินชะตาของสหราชอาณาจักรว่าจะ ‘ออก’ (leave) จากสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการ แทนที่จะเลือก ‘อยู่ต่อ’ (remain) (แม้ว่าคะแนนโหวตจะเฉียดฉิวกันแค่กว่า 2% เท่านั้น!) จะเรียกว่าเป็นปรากฏการณ์ช็อกโลกก็คงไม่ผิดนัก

แต่ที่เสียงดังกระหึ่มและสร้างความสะพรึงไม่แพ้กันคือสารพัดกระแส -exit ในอีกหลายประเทศแทบทั่วยุโรป ไม่ว่าจะเป็น ‘เฟร็กซิต’ (Frexit) ในฝรั่งเศส หนุนโดยมารีน เลอเพน เจ้าของฉายา ‘มาดามเฟร็กซิต’ ผู้นำพรรค Front National (ภายหลังเปลี่ยนชื่อพรรคเป็น Rassemblement National) ที่ได้รับความนิยมจนคว้าโอกาสเข้าไปชิงชัยกับอิมมานูเอล มาครงในการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบที่ 2 เมื่อปี 2017 อย่างที่พรรคไม่เคยทำได้, ‘เน็กซิต’ (Nexit) ในเนเธอร์แลนด์ นำโดยเคร์ต วิลเดิร์สจากพรรค Freedom Party (PVV), ‘อิตาลีฟ’ (Italeave) ในอีตาลี นำโดยมัตเตโอ ซัลวีนี จากพรรค Northern League (LN), กระแส ‘สวีกซิต’ (Swexit) ในสวีเดน, ‘โปลซิต’ (Polexit) ในโปแลนด์ หรือแม้กระทั่งในเยอรมนีที่การเมืองเอียงขวา-ปฏิเสธแนวทางเสรีนิยมประชาธิปไตยของสหภาพยุโรปเคยเป็นเสมือนกล่องแพนโดรา กระแส ‘ดีซิต’ (Dexit) ก็ยังถูกผลักดันโดยพรรค Alternative for Germany (AfD)

เมื่อผลประชามติออกมาว่าสหราชอาณาจักรจะออกจากสหภาพยุโรป เหล่าผู้นำพรรคฝ่ายขวาประชานิยมต่างออกมาแสดงความยินดีกับสหราชอาณาจักร เลอเพนได้กล่าวไว้ว่า “สหราชอาณาจักรเจอกุญแจออกจากคุกแล้ว” หรือวิลเดิร์สก็ยินดีกับสหราชอาณาจักรที่ “ได้รับเอกราชอย่างแท้จริงเสียที” หลายพรรคการเมืองสัญญาไว้ดิบดีว่า หากตนได้เป็นรัฐบาลจะประกาศทำประชามติ พาประเทศออกจากสหภาพยุโรปตามรอยสหราชอาณาจักรไป

ณ ช่วงเวลานั้น คาดเดากันว่าอาจเกิดปรากฏการณ์เก็บกระเป๋าพากันเดินทางออกจากสหภาพยุโรปอย่างรุนแรงระดับโดมิโนล้มเสียด้วยซ้ำ แต่เมื่อเวลาผ่านไปกว่า 4 ปี โดมิโนที่ชื่อว่าเบร็กซิตไม่ได้ล้มทับโดมิโนตัวอื่นๆ ที่เหลืออยู่แต่ประการใด ในทางกลับกัน เสียงแห่งความไม่พอใจกลับเงียบงันลงในระดับที่เรียกได้ว่ากระแส -exit แทบไม่ปรากฏให้เห็นในหน้าข่าวเลย – หากไม่นับว่าล่าสุดมีข่าวการประท้วง ‘ต่อต้าน’ Polexit ในโปแลนด์

แล้วกระแสออกจากสหภาพยุโรปหายไปไหน? พรรคฝ่ายขวาสุดโต่งเหล่านี้ต้องการพาประเทศออกจากสหภาพยุโรปจริงหรือไม่ หรือเพียงแค่ต้องมนตร์เบร็กซิตละเมอฝันไปชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น?

เพราะว่าต้องมนตร์เบร็กซิตไปชั่วขณะหนึ่งนั่นแหละ และตอนนี้เบร็กซิตก็กำลังค่อยๆ เสื่อมมนตร์ลงแล้ว

ในบรรดาประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป สหภาพยุโรปคือหนึ่งในประเด็นการเมืองที่แต่ละพรรคการเมืองหยิบยกขึ้นมาขับเคี่ยวกันในสนามการเมือง ในบรรดาพรรคการเมืองหลากหลายอุดมการณ์ พรรคฝ่ายขวาประชานิยมขึ้นชื่อว่าเป็นเจ้าของวาระการต่อต้านสหภาพยุโรป[1] ที่ทรงพลัง พรรคเหล่านี้วิพากษ์วิจารณ์ ต่อต้าน หรือบางพรรค (เคย) ถึงขั้นปฏิเสธสหภาพยุโรป เพราะมองว่าสหภาพยุโรปคือทรราชเทคโนแครต/ชนชั้นนำผู้ลิดรอนอำนาจอธิปไตยบางส่วนจากประชาชนคนธรรมดาไปตัดสินใจในสิ่งที่พวกเขาไม่มีสิทธิได้เลือก

ที่ชัดเจนที่สุดคือการดำเนินนโยบายเปิดพรมแดนรับผู้ลี้ภัยจากตะวันออกกลางและนโยบายยูโรโซน ยิ่งการเปิดพรมแดนรับ ‘ความเป็นอื่น’ เข้ามา พรรคฝ่ายขวาประชานิยมที่หวงแหน ‘ความเป็นชาติ’ ต่อต้านความเป็นอื่นอย่างสุดใจ (ในที่นี้คือความเป็นอิสลาม) ย่อมยอมไม่ได้ เพราะฉะนั้น ประชามติคือหนทางหนึ่งที่จะพิสูจน์ได้ว่าพรรคฝ่ายขวาประชานิยมจะทวงคืนอำนาจอธิปไตยคืนจากสหภาพยุโรปในนามของประชาชนและรักษาไม่ให้ความเป็นชาติถูกกลืนกิน

เบร็กซิตอาจเคยเป็นแรงบันดาลใจ แต่เมื่อสหราชอาณาจักรเริ่มดำเนินกระบวนการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป การประชุมชวนปวดหัวนับครั้งไม่ถ้วนทั้งที่เวสต์มินสเตอร์และบรัสเซลส์ไร้ข้อสรุปที่ลงตัว เดดไลน์การเจรจาถูกเลื่อนจากกำหนดเดิมครั้งแล้วครั้งเล่า พายุความวุ่นวายทางการเมืองโหมกระหน่ำจนเทเรซา เมย์จำต้องประกาศลาออกจากตำแหน่ง แน่นอนว่าฝันหวานก็ค่อยๆ เปลี่ยนกลายเป็นฝันร้ายที่ไม่มีใครอยากให้เป็นจริง – แม้กระทั่งพรรคฝ่ายขวาประชานิยมที่ประกาศว่าจะพาประเทศออกจากสหภาพยุโรป

Stijn van Kessel นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองยุโรปจากมหาวิทยาลัยควีนส์ แมรี ลอนดอนวิเคราะห์ว่า สาเหตุที่บรรดาพรรคขวาประชานิยมหลายพรรคต่างพร้อมใจกันละทิ้งวาระ -exit หลังปรากฏการณ์เบร็กซิตนั้น ส่วนหนึ่งเพราะทิศทางลมความเห็นสาธารณะในประเทศสมาชิกยังพัดไปทางที่ว่าเห็นด้วยกับการอยู่ต่อในสหภาพยุโรป และอาจเรียกว่าอยู่ในระดับที่สูงกว่า 70% ด้วยซ้ำในภาพรวม ในขณะที่ในประเทศที่ขึ้นชื่อว่ากระแสต่อต้านสหภาพยุโรปค่อนข้างเข้มแข็งอย่างฝรั่งเศส มีสาธารณชนเพียงแค่ 31% เท่านั้นที่สนับสนุนให้ฝรั่งเศสตามรอยสหราชอาณาจักรไป

ส่วนอีกสาเหตุหนึ่งที่ van Kessel วิเคราะห์ไว้คือ สหภาพยุโรปไม่ใช่ประเด็นการเมืองที่สาธารณชนมองว่าจับต้องได้ และใช้ในการเล่นเกมการเมืองเพื่อเรียกเสียงสนันสนุนพรรคได้ไม่ค่อยดีเท่าไหร่นักเมื่อเทียบกับวาระชาตินิยม ปฏิเสธความหลากหลายทางวัฒนธรรม หรือต่อต้านนโยบายการเปิดพรมแดนรับผู้อพยพ ทราบกันดีว่าวาระเหล่านี้คือวาระเรือธงของพรรคขวาประชานิยมที่ตีคู่กันไปกับการวิพากษ์สหภาพยุโรป แต่แน่นอนว่าวาระที่เรียกคะแนนโหวตได้ดีกว่าคือการต่อต้านความเป็นอื่น

หลังปรากฏการณ์เบร็กซิตพลิกกลายเป็นหายนะ จะเห็นว่าเหล่าพรรคฝ่ายขวาประชานิยมค่อยๆ เปลี่ยนท่าที พับภารกิจ -exit ออกจากสหภาพยุโรปเก็บใส่กระเป๋าไป บางพรรคเลือกที่จะอุบเงียบ แล้วเลี่ยงไปโจมตีประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวพันกับสหภาพยุโรป อย่างเลอเพนก็ได้ทิ้งฉายามาดามเฟร็กซิตไป แล้วเลี่ยงไปโจมตีสกุลเงินยูโรแทนในช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบที่ 2 และที่หนักกว่านั้น ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสที่กำลังจะถึงในปี 2022 ทั้งเฟร็กซิต ทั้งสกุลเงินยูโรกลับหายลับไปจากแคมเปญพรรค

ส่วนวิลเดิร์สแม้จะยังยืนยันว่าจะผลักดันให้เกิดเน็กซิตให้ได้ในปี 2017 แต่ย่างเข้าปี 2021 ในการเลือกตั้งที่เพิ่งผ่านพ้นไป วิลเดิร์สกลับเลิกโจมตีบรัสเซลส์แล้วหันไปดันวาระต่อต้านกระบวนการ Islamization ที่ตามมาจากการหลั่งไหลของผู้อพยพแทน หรือพรรค AfD แม้จะไม่ได้เผาสะพานออกจากสหภาพยุโรปทิ้งไปเสียทีเดียว แต่ก็ตั้งเงื่อนไขประวิงเวลารอไปจนกว่าจะถึงปี 2024

บางพรรคก็ใช้วิธีสู้ไปกราบไป อย่างซัลวีนี เจ้าพ่อ Eurosceptic แห่งพรรค LN ในอิตาลี พรรค Law and Justice ในโปแลนด์ หรือวิกเตอร์ ออร์บาน แห่งพรรค Fidesz ในฮังการีก็ทั้งวิพากษ์ไป ทะเลาะกับสหภาพยุโรปไป แต่ก็รับประโยชน์จากการอยู่ในสหภาพยุโรปพร้อมๆ กัน

จะออกหรือไม่ออกจากสหภาพยุโรป – นี่ไม่ใช่ประเด็นถกเถียงหลักในสหภาพยุโรปอีกต่อไป

(แม้ว่าอาจจะถูกงัดมาเป็นไม้ตายในการต่อรองทางการเมืองอีกเมื่อไหร่ก็ได้ในอนาคต)

แน่นอนว่าความไม่พอใจต่อสหภาพยุโรปของพรรคฝ่ายขวาประชานิยมไม่ได้หมดลง แต่ในเมื่อการออกจากสหภาพยุโรปไม่ใช่คำตอบอีกต่อไป โจทย์ใหม่ที่ผุดขึ้นมามีอยู่ว่า ‘จะเปลี่ยนสหภาพยุโรปจากภายในได้อย่างไร!’

สิ่งที่พรรคฝ่ายขวาประชานิยมหลายพรรคเสนอขึ้นมาแทนคือการปฏิรูป – สหภาพยุโรปต้องคืนอำนาจอธิปไตยที่หยิบยืมมากลับสู่มือประเทศสมาชิกมากขึ้น และอำนาจในมือสหภาพยุโรปจะต้องไม่ล้นเกินไปกว่าประชาชนของเหล่าประเทศสมาชิก – เป้าหมายต่อไปคือการแก้ไขสนธิสัญญาสหภาพยุโรป!

เกมการเมืองว่าด้วยการบูรณาการสหภาพยุโรปฉากต่อไปกำลังเริ่มขึ้นแล้ว.

เชิงอรรถ


[1] แนวคิดต่อต้านสหภาพยุโรปปรากฏในพรรคฝ่ายซ้ายเช่นกัน เช่นพรรค Die Linke (The Left) ในเยอรมนี หรือพรรค SYRIZA ในกรีซ ไม่ใช่เพียงแค่ในหมู่พรรคประชานิยมฝ่ายขวาเท่านั้น แต่ตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 2010 เป็นต้นมา พรรคฝ่ายขวาประชานิยมคือพรรคที่เล่นบทบาทผลักดันวาระอย่างโดดเด่นและได้รับการตอบรับ โดยเฉพาะในยุโรปตะวันตก

อ้างอิง


No domino effect: Brexit is close to constituting a non-issue in European politics

Eager to leave? Populist radical right parties’ responses to the UK’s Brexit vote

SHOULD I STAY OR SHOULD I GO? WHY RIGHT-WING POPULISTS STOPPED WANTING TO LEAVE THE EU

Why leave the EU, when you can shape it instead?

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save