fbpx
ออกกำลังกายไม่จำกัดอายุ

ออกกำลังกายไม่จำกัดอายุ

วรากรณ์ สามโกเศศ เรื่อง

 

ถ้าผู้ใดในวัย 50 ปีขึ้นไปรู้สึกเสียใจที่ไม่ได้ออกกำลังกายตอนหนุ่มสาว จนกังวลว่าสุขภาพหัวใจจะไม่ดี และไม่มีโอกาสปลอดจากโรคหัวใจเหมือนคนในวัยเดียวกันที่ออกกำลังกาย กรุณาอ่านข่าวดีจากข้อเขียนนี้ที่นำข้อมูลจากงานวิชาการมาเล่าสู่กันฟัง

เป็นที่ทราบกันดีว่า กลุ่มคนที่มีสุขภาพหัวใจแข็งแรง จะออกกำลังกายตั้งแต่ตอนเริ่มชีวิตอย่างสม่ำเสมอ เหมาะสมที่สุดก็คืออย่างน้อยอาทิตย์ละ 4 ครั้ง ครั้งละประมาณ 30 นาที อย่างไรก็ดีมีผู้สงสัยว่า ถ้าผู้คนที่มิได้กระทำเช่นนี้ในหลายปีที่ผ่านมา และปัจจุบันอยู่ในวัย 50 ขึ้นไปแล้ว จะสายเกินไปหรือไม่

คำตอบจากงานวิจัยก็คือยังไม่สายเกินไป คนเหล่านี้ยังสามารถ remodel หรือปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานของหัวใจ และทำให้มัน ‘หนุ่มสาว’ ยิ่งขึ้นได้ด้วยการเริ่มออกกำลังกายเสียตั้งแต่บัดนี้ และทำบ่อยๆ อย่างเพียงพอ

ในทางการแพทย์ทราบกันดีว่า เมื่อถึงวัย 50 กลางๆ หรือปลายๆ บางส่วนของกล้ามเนื้อหัวใจของเราเริ่มจะฝ่อ (atrophy) และอ่อนแอลงตามธรรมชาติ หลอดเลือดทั้งหลายที่นำเลือดสู่หัวใจและส่วนต่างๆ ของร่างกายเริ่มจะแข็งตัวขึ้น อย่างไรก็ดี Dr.Benjamin Levine ศาสตราจารย์ทางการแพทย์และผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจแห่ง University of Texas Southwestern Medical Center ไม่เชื่อว่าปรากฏการณ์นี้จะหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นเขาและทีมจึงศึกษาอย่างกว้างขวาง และตีพิมพ์ผลงานชุดแรกใน Journal of the American College of Cardiology ในปี 2014

Professor Levine เชื่อว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นจริงเฉพาะกับคนที่ใช้ชีวิตแบบเนือยนิ่ง (sedentary) กล่าวคือ ชอบชีวิตเฉื่อยชา นั่งๆ นอนๆ มากกว่ามีชีวิตเคลื่อนไหวกระฉับกระเฉง เขาศึกษาชีวิตของหญิงชายที่สูงอายุจำนวน 102 คน ซึ่งอยู่ในโครงการศึกษาเรื่องสุขภาพหัวใจที่ทำวิจัยมาต่อเนื่อง โดยได้รับข้อมูลอย่างละเอียดเกี่ยวกับกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายของคนเหล่านี้ตลอดเวลาอย่างน้อย 20 ปีที่ผ่านมา จากนั้นก็จัดแบ่งออกเป็นกลุ่มๆ ตามประวัติศาสตร์ของการออกกำลังกาย

สิ่งที่พบคือกลุ่มที่มีชีวิตแบบเนือยนิ่ง มีลักษณะหัวใจเสื่อมลงตามธรรมชาติดังคาด กล่าวคือบางส่วนของกล้ามเนื้อหัวใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหัวใจห้องฝั่งซ้ายด้านล่าง (left ventricles) หดตัวลงและมีความเข้มแข็งน้อยกว่าคนที่อายุน้อยกว่า สำหรับกลุ่มที่ออกกำลังบ้างก็มีลักษณะการเปลี่ยนแปลงที่คล้ายคลึงกัน

ที่น่าแปลกใจคือ กลุ่มที่ออกกำลังกายอย่างน้อย 4 ครั้งต่ออาทิตย์เป็นเวลาต่อเนื่องกันหลายปี รวมทั้งกลุ่มนักกีฬา พบว่าหัวใจห้องฝั่งซ้ายด้านล่างมีรูปร่างและการทำงานเหมือนคนหนุ่มสาวที่มีอายุน้อยกว่าหลายทศวรรษ

เท่านี้ยังไม่พอ เขาและทีมงานยังศึกษาเส้นเลือดหัวใจซึ่งเสื่อมลง โดยมีความแข็งตัวมากขึ้นตามวัย ซึ่งไม่ต่างไปจากกล้ามเนื้อหัวใจ ผลงานศึกษาเหล่านี้เขาตีพิมพ์เมื่อกลางปี 2018 ใน The Journal of Physiology โดยตรวจจากกลุ่มตัวอย่าง 100 คนในวัย 70 เป็นส่วนใหญ่ โดยเก็บข้อมูลเรื่องการเคลื่อนไหวร่างกายและการออกกำลังกายในช่วง 20 ปี ที่ผ่านมาอย่างละเอียด

ผลที่พบก็คล้ายกับครั้งแรก คือกลุ่มเนือยนิ่ง กับกลุ่มที่ออกกำลังกาย มีสุขภาพหัวใจที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน โดยผลที่ออกมาจะดีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่ามีชีวิตที่เคลื่อนไหวหรือกระฉับกระเฉงมากน้อยเพียงใดในช่วงที่เป็นผู้ใหญ่ โดยทั่วไปเส้นเลือดหัวใจของกลุ่มเนือยนิ่งกับพวกออกกำลังกายบ้าง จะแข็งตัวกว่าคนวัยหนุ่มสาว

สำหรับกลุ่มออกกำลังกายจริงจังเป็นระยะเวลายาวนาน ตลอดจนนักกีฬา เส้นเลือดหัวใจมีความอ่อนตัวและทำงานได้ดีกว่าโดยเปรียบเทียบกับกลุ่มอื่นๆ

คำตอบเหล่านี้ยังไม่จุใจ เพราะไม่ตอบว่าสำหรับกลุ่มคนวัย 50 กลางและปลาย ที่ไม่ได้ออกกำลังกายมาเป็นเรื่องเป็นราว แต่เริ่มจะออกกำลังกายในช่วงวัยนี้ จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสุขภาพหัวใจหรือไม่

ในวารสาร Circulation เดือนเมษายน 2018 บทความของ Dr.Levine และทีมงาน พยายามหาคำตอบนี้ โดยทดลองกับกลุ่มคนวัยกลางคนทั้งหญิงชายที่ใช้ชีวิตเนือยนิ่ง แบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกให้ออกกำลังกายอย่างเป็นระบบและสม่ำเสมอ ในขณะที่อีกกลุ่มเพียงแค่ยืดเส้น ออกกำลังกายเบาๆ

กลุ่มแรกใช้วิธีเดินหรือวิ่งเหยาะอย่างน้อย 30 นาที ประกอบกับการออกกำลังกายหนักช่วงสั้นๆ อย่างน้อยอาทิตย์ละ 1 ครั้ง กระทำตลอดระยะเวลา 2 ปี ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ออกกำลังกายหนักแล้ว หัวใจห้องฝั่งซ้ายด้านล่างมีความแข็งแรงขึ้นกว่าตอนเริ่มต้นศึกษา และมีสุขภาพหัวใจดีขึ้น โดยผลทั้งหมดดีกว่าอีกกลุ่มที่ออกกำลังเล็กน้อย

ผลศึกษาเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า หัวใจของเราสามารถ ‘retain plasticity’ กล่าวคือยังรักษาความสามารถในการจัดให้เข้ารูปแบบได้ แม้จะอยู่ในวัยกลางคนแล้วก็ตาม หมายความว่าแม้คนที่อยู่ในวัย 50 จะเริ่มออกกำลังกายตอนนี้ ก็นับว่ายังไม่สายเกินไป แต่จะต้องเป็นการออกกำลังกายอย่างน้อย 4 ครั้งต่ออาทิตย์ และต่อเนื่องไปเป็นปี

หัวใจเป็นกล้ามเนื้อ หากไม่มีการออกกำลังกาย กล้ามเนื้อก็ไม่แข็งแรง (ลองดูกรณีขาเข้าเฝือก ไม่นานก็จะลีบ เพราะกล้ามเนื้อขาไม่ได้ออกแรง) ความสามารถในการสูบฉีดเลือดก็ลดลง โดยเฉพาะหากหลอดเลือดแข็งตัว ไม่ยืดหยุ่น หัวใจก็จะยิ่งทำงานหนักมากขึ้นในการสูบฉีดเลือด

การออกกำลังกายจริงจังที่ทำให้หัวใจเต้นแรงและเร็วขึ้นจนรู้สึกเหนื่อย คือการออกกำลังกายที่ทำให้สุขภาพหัวใจดี

รองเท้ากีฬาที่มิได้ใช้นานๆ ไม่มีการยืดหด สภาพยางจะขาดความยืดหยุ่น พื้นรองเท้าก็จะแข็งตัวและแตกหักง่าย เช่นเดียวกับสายยางฉีดน้ำรดต้นไม้ ถ้าทิ้งไว้โดยมิได้ใช้นานๆ ก็จะแข็งตัวจนแตกร้าว ถ้าฉีดก็จะต้องใช้แรงดันน้ำสูงขึ้น

หัวใจเป็นปั้มน้ำที่มีประสิทธิภาพอย่างน่าอัศจรรย์ เต้นเฉลี่ยนาทีละ 72 ครั้ง สูบฉีดเลือดนาทีละ 5 ลิตร (เท่ากับขวดน้ำใหญ่) ดังนั้นในหนึ่งวันจึง ‘ปั้ม’ เลือดนับเป็นปริมาณ 7,200 ลิตร (ถังเก็บน้ำประจำบ้านมีความจุด 1,000 ลิตร) หรือวันละกว่า 7 ถังใหญ่ ปีหนึ่งปั้มเลือด 2.628 ล้านลิตร และถ้าเรามีชีวิตอยู่ถึง 70 ปี ก็หมายความว่าทั้งชีวิตมัน ‘ปั้ม’ เลือดเป็นปริมาณทั้งหมด 183.96 ล้านลิตร

เมื่อหัวใจต้องทำงานหนักขนาดนี้ เราจึงสมควรดูแลมันเป็นอย่างดี เพราะหากมันไม่เต้นเมื่อใด เราก็ต้องกลับบ้านเก่าเมื่อนั้น การดูแลที่เราสามารถทำได้ ก็คือการทำให้มันเป็นกล้ามเนื้อที่แข็งแรงอยู่เสมอ ซึ่งได้จากการออกกำลังกายอย่างจริงจังและสม่ำเสมอเท่านั้น

งานศึกษานี้ให้ความสนใจเฉพาะเรื่องการออกกำลังกายและสุขภาพหัวใจ แต่อันที่จริงแล้วการออกกำลังกายยังมีผลดีต่อระบบทำงานอื่นๆ ของร่างกายด้วย ไม่ว่าจะอยู่ในวัยใดก็ตาม

การเริ่มการออกกำลังกายอย่างจริงจังเมื่ออายุมากเท่าใดก็ตาม มีผลดีต่อสุขภาพเสมอ ตราบที่อยู่ในระดับที่เหมาะสม จริงจัง และสม่ำเสมอสอดคล้องกับอายุและสุขภาพโดยทั่วไป ไม่มีอะไรที่สายเกินไป เพียงขอให้ไม่ใช้ชีวิตอย่างเนือยนิ่

ระวังให้ดี ไอ้ ‘ฆาตกรชื่อเก้าอี้’ มันจ้องจะเล่นงานเราอยู่ตลอดเวลา

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

17 Jul 2020

ร่วมรากแต่ขัดแย้ง ความบาดหมางระหว่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย

อรอนงค์ ทิพย์พิมล เขียนถึงความขัดแย้งระหว่างประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย ที่ทั้งสองประเทศมีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมร่วมกันหลายอย่าง จนนำไปสู่ความขัดแย้งในการช่วงชิงความเป็นเจ้าของภาษาและวัฒนธรรมมลายู

อรอนงค์ ทิพย์พิมล

17 Jul 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save