fbpx
Exercise Addiction : อะไรคือ ‘เสพติดการออกกำลังกาย’

Exercise Addiction : อะไรคือ ‘เสพติดการออกกำลังกาย’

โตมร ศุขปรีชา เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

ใครๆ ก็บอกว่าให้เราลุกขึ้นมาออกกำลังกาย

การได้ออกกำลังกายเป็นเรื่องดี ไม่ว่าจะวิ่ง เดิน ปั่นจักรยาน เล่นกีฬา หรือแม้กระทั่งทำงานบ้าน

แต่เชื่อไหมครับ ว่าในโลกที่แสนจะซับซ้อนของปัจจุบัน ผู้คนจำนวนหนึ่งกำลังเริ่ม ‘ออกกำลังกายมากเกินไป’ และเลยไกลไปกระทั่งเกิดอาการที่เรียกกันว่า ‘เสพติดการออกกำลังกาย’ หรือ Exercise Addiction กันแล้ว

ในบทความของ Lucy Fry เธอยอมรับว่าตัวเองมีอาการ ‘เสพติดการออกกำลังกาย’ ที่ว่า ทำให้เธอต้องออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน ซึ่งก็ฟังดูเป็นเรื่องที่ดี แต่ปรากฏว่าการออกกำลังกายนั้นกลายมา ‘ครอบงำ’ และ ‘ควบคุม’ ชีวิตของเธอ จนเธอทำอย่างอื่นได้น้อยลง และส่งผลเสียต่อทั้งความสัมพันธ์และหน้าที่การงานต่างๆ

ที่จริงการเสพติดการออกกำลังกายไม่ได้เป็นเรื่องใหม่มาก เพราะนับตั้งแต่เกิด Fitness Boom เป็นคลื่นแห่งการออกกำลังกายลูกแรกในยุค 1970s (โดยเฉพาะในแคลิฟอร์เนีย) ก็เริ่มพบว่าคนจำนวนหนึ่งมีอาการเสพติดการออกกำลังกายกันแล้ว โดยอาการที่ว่ามีอาทิ หมกมุ่นอยู่กับการออกกำลังกาย ออกกำลังกายไม่หยุดหย่อน แม้ว่าจะก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บกับร่างกาย แต่ก็ไม่หยุดเล่นหยุดซ้อม

ที่ร้ายกาจไปกว่านั้นก็คือ ถึงแม้ตัวเองจะอยากหยุดก็หยุดไม่ได้ เพราะเกิดแรงเร้าเรียกร้องภายในทำให้อยากลุกไปออกกำลังกายตลอดเวลา โดยรู้ทั้งรู้ว่าตอนนี้กล้ามเนื้อกำลังฉีกขาดอยู่ หรือว่าต้องไปทำกิจธุระบางอย่าง โดยเฉพาะการทำงาน ทว่าก็พร้อมโดดงานไปออกกำลังกายเสมอ เรียกว่าเกิด compulsive engagement หรือคล้ายถูก ‘บังคับ’ ให้ต้องออกกำลังกาย

พอเป็นเช่นนี้ สุดท้ายคนที่เสพติดการออกกำลังกายก็ต้อง ‘แอบ’ ไปออกกำลังกาย คือต้องออกกำลังกายแบบลับๆ ไม่ให้ใครรู้ ซึ่งตรงนี้แหละครับที่ทำให้รู้แน่ชัดว่าคนคนนั้นกำลังเข้าสู่ภาวะเสพติดแล้ว

คำถามก็คือ แล้วอะไรทำให้คนเราเสพติดการออกกำลังกายได้?

คำตอบไม่ง่ายเลย มีสมมติฐานในเรื่องนี้มากมาย สมมติฐานอย่างหนึ่งเป็นเรื่องทางกาย นั่นคือการออกกำลังกายทำให้ร่างกายของเราหลั่งสารเคมีในสมองที่ทำให้เกิดความสุข ได้แก่เอ็นดอร์ฟินและโดปามีน ซึ่งทั้งคู่เป็นสารสื่อประสาทที่จะหลั่งออกมาในหลายโอกาส เช่น มีเซ็กซ์ มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคนที่ตัวเองรัก เวลาออกกำลังกาย หรือไม่ก็เสพยาเสพติดบางอย่างที่ไปส่งผลให้ร่างกายหลั่งสารสื่อประสาทเหล่านี้ออกมา แล้วทำให้เราเกิดความรู้สึกเป็นสุข ซึ่งคนที่ออกกำลังกายเสร็จใหม่ๆ ก็จะรู้สึกกระปรี้กระเปร่ากันทุกคนไป และทำให้เกิดคำแนะนำในผู้มีภาวะซึมเศร้าว่าควรออกกำลังกายควบคุมกันไปด้วยกับการปรึกษาแพทย์ เพราะช่วยปรับสมดุลของสารเคมีในสมองได้

การเสพติดการออกกำลังกายก็เหมือนนิยามคำว่า ‘เสพติด’ อื่นๆ นั่นแหละครับ นั่นคือพอเสพติดแล้ว การได้รับยา (หรือการออกกำลังกาย) ในปริมาณเท่าเดิมจะไม่ทำให้เกิดความพึงพอใจเท่าเดิมเสมอไป แต่ต้องเพิ่มปริมาณยา (หรือการออกกำลังกาย) ไปเรื่อยๆ (ซึ่งในกรณีนี้ก็คือการเพิ่มการหลั่งของสารสื่อประสาทในสมองนั่นเอง) ทำให้เกิดการเสพติดแบบหยุดไม่ได้

คำอธิบายเรื่องทางกายภาพนี้ฟังดูง่ายและน่าเชื่อถือ แต่ที่จริงแล้วการเสพติดการออกกำลังกายยังอาจเกิดจากสิ่งอื่นๆ เช่นสภาวะทางสังคมได้อีกด้วย ในบทความนี้ ผู้หญิงคนหนึ่งชื่อแคธเธอรีน ชรีเบอร์ (Katherine Schreiber) บอกกับ ABC News ว่า เธอเริ่มออกกำลังกายก็เพื่อต่อสู้กับประเด็นเรื่อง ‘ภาพลักษณ์ทางร่างกาย’ หรือ body image นั่นคือเธอจะรู้สึกอยู่เสมอว่าตัวเองไม่ได้มีรูปร่างที่ดีพอ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เธอลุกขึ้นมาออกกำลังกายแล้วรู้สึกว่าร่างกายกระชับ เหมือนเธอสามารถ ‘ควบคุม’ ร่างกายของตัวเองได้ ทำให้เธอพึงพอใจ ความรู้สึกนี้ค่อยๆ แรงกล้ามากขึ้น สุดท้ายจากที่เคยออกกำลังกายในยิมสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ปัจจุบันเธอออกกำลังกายวันละ 3 ครั้ง ซึ่งอาจจะมากเกินไป

คำถามถัดมาก็คือ แล้วในปัจจุบันมีคนที่มีอาการเสพติดการออกกำลังกายมากน้อยแค่ไหน นี่เป็นอีกคำถามที่ตอบได้ยากมาก เนื่องจากในทางการแพทย์ยังไม่ได้พิจารณาว่าอาการเสพติดการออกกำลังกายยังเป็นเรื่องผิดปกติหรือเป็น Disorder ดังนั้นมาตรฐานที่จะใช้วัดว่าใครมีอาการนี้หรือไม่ในแต่ละที่จึงแตกต่างกันออกไป

แต่ในงานชิ้นนี้ประเมินเอาไว้ว่า คนที่มีอาการเสพติดการออกกำลังกายมีอยู่ราว 0.4% ของประชากร สอดคล้องกับอีกการสำรวจหนึ่งในคน 6,000 คน ในเดนมาร์ก ฮังการี สเปน สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ตีพิมพ์ในวารสาร Sports Medicine Open ประมาณเอาไว้ว่า ในประชากรทั้งหมด คนที่มีอาการนี้น่าจะอยู่ที่ราว 0.3-0.5% ส่วนในหมู่คนที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอ (ซึ่งเป็นเรื่องดีอยู่แล้วนะครับ) น่าจะมีคนที่มีอาการนี้อยู่ราว 1.9-3.2%

โดยคนที่มีความเสี่ยงจะมีอาการเสพติดการออกกำลังกายนั้น มักจะเป็นคนที่มีความอ่อนแอทางใจบางอย่างอยู่แล้ว เช่น เป็นคนที่มีปัญหาเรื่อง ‘ภาพลักษณ์ทางกาย’ (แบบเดียวกับแคธเธอรีน ชรีเบอร์) หรือว่ามี self-esteem ต่ำ เป็นคนที่ขาดความมั่นใจ รวมถึงมีโอกาสที่จะเสพติดอะไรอื่นๆ มากอยู่แล้ว

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Southern California บอกว่า คนที่มีอาการเสพติดการออกกำลังกายนั้น มีอยู่ 15% ที่เสพติดสิ่งอื่นๆ ด้วย ตั้งแต่บุหรี่ แอลกอฮอล์ หรือแม้กระทั่งยาเสพติดที่ผิดกฎหมาย ซึ่งฟังดูเป็นเรื่องย้อนแย้งมาก เนื่องจากคนที่ออกกำลังกายส่วนใหญ่เพื่อให้สุขภาพแข็งแรงมักจะไม่แตะต้องสิ่งเหล่านี้

นอกจากสิ่งเหล่านี้แล้ว พบว่าคนที่เสพติดการออกกำลังกายราว 25% ยังเสพติดพฤติกรรมอื่นๆ ด้วยเช่น เสพติดเซ็กซ์ หรือเสพติดการช้อปปิ้ง เป็นต้น แสดงให้เห็นว่าตัวการออกกำลังกายเองอาจไม่ใช่ต้นเหตุทั้งหมด แต่สาเหตุอาจเกิดขึ้นได้หลายอย่างผสมกันอย่างซับซ้อน ทั้งปัจจัยทางใจของตัวคนคนนั้นเอง ปัจจัยแวดล้อมทางสังคม รวมไปถึงปัจจัยทางชีวภาพหรือร่างกายของคนคนนั้นด้วย

ที่น่าเป็นห่วงมากยิ่งขึ้นอีกขั้นหนึ่งก็คือ ในคนที่เสพติดการออกกำลังกายเพราะเริ่มต้นจากปัญหาเรื่องรูปร่างหรือ body image พบว่าคนจำนวนหนึ่งมีความผิดปกติทางการกินร่วมด้วย ซึ่งก็มีได้หลายแบบ โดยความผิดปกติทางการกินแบบหนึ่งที่พบได้มากขึ้นเรื่อยๆ คือ ออร์โธเร็กเซีย (Orthoexia) หรือบางทีก็เรียกว่า อะนอเร็กเซีย แอธลีทิกา (Anorexia athletica) ซึ่งคือการหมกมุ่นหรือเลือกกินเฉพาะ ‘อาหารสุขภาพ’ หรือไม่ก็อาหารบางประเภทเท่านั้น ที่พบได้บ่อยก็คือคนที่กินแต่โปรตีนบาร์อย่างเดียวเป็นปีๆ หรือกินเฉพาะไข่ต้ม อกไก่ ฯลฯ ด้วยเชื่อว่านั่นจะทำให้ร่างกายดูดี แข็งแรง และดูเป็นนักกีฬาขึ้นมา คนที่มีอาการออร์โธเร็กเซียมักจะรู้สึกว่าตัวเองแยกขาดจากคนอื่น (นั่นเพราะการกินเป็นเรื่องทางวัฒนธรรมสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้คนรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อน เมื่อกินไม่เหมือนคนอื่นก็ขาดปฏิสัมพันธ์ทางสังคมไปหนึ่งอย่าง) โดยการแยกขาดในที่นี้อาจหมายถึงคนเหล่านี้รู้สึกว่าตัวเอง ‘เหนือกว่า’ คนที่กินอาหารแบบอื่นๆ ได้ด้วย แต่ปัญหาก็คือ หากขาดการวางแผนโภชนาการที่ดี สุดท้ายการกินอาหารประเภทเดียวนานๆ ก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้หลายด้าน

นอกจากนี้ยังมีอาการผิดปกติทางการกินอื่นๆ ร่วมด้วยได้อีก เช่น Exercise bulimia คือถ้าหากว่าเผลอไปกินอะไรเข้าไปเยอะหน่อย ก็อาจตอบสนองด้วยการกลับมาออกกำลังกายอย่างหนักหน่วงยาวนาน ด้วยคิดว่าจะเผาผลาญพลังงานที่กินเข้าไปให้หมด ซึ่งก็กลายเป็นวงจรป้อนกลับ ไปกระตุ้นการบังคับให้ออกกำลังกายเพิ่มมากขึ้น

อีกประเภทหนึ่งก็คือเกิดความหมกมุ่นกับบางส่วนของร่างกายที่เห็นว่าไม่สมบูรณ์แบบ (body dysmorphic disorder) ทำให้เลือกออกกำลังกายเฉพาะส่วนนั้นๆ อย่างหนัก เพื่อปรับปรุงให้สมบูรณ์แบบ แต่หากทำมากเกินไปก็อาจส่งผลร้ายได้เช่นกัน

ในบทความนี้ มีเกณฑ์อยู่ 7 ข้อ ที่ใช้พิจารณาว่าใครมีข้อบ่งชี้ว่ามีอาการเสพติดการออกกำลังกายหรือเปล่า เช่น มีความอดทน (tolerance) ต่อสิ่งต่างๆ รอบข้างน้อยลงเมื่อไม่ได้ออกกำลังกายจนถึงระดับที่เป็นปัญหาไหม มีอาการ ‘ถอน’ (withdrawal) เวลาที่ไม่ได้ออกกำลังกาย คือรู้สึกเหมือนจะลงแดงหรือเปล่า ไล่ไปถึงการใช้เวลา หรือพิจารณาความขัดแย้งกับคนรอบข้างที่ไม่ได้เป็น ‘พวกออกกำลังกาย’ หรือเปล่า ซึ่งก็สามารถพอใช้ประเมินได้ว่า แต่ละคนมีแนวโน้มเสพติดการออกกำลังกายมากน้อยแค่ไหน

แต่กระนั้นก็ต้องบอกคุณเอาไว้ด้วยว่า อย่าเพิ่งไปจริงจังกับมันมากเกินไปนัก

ที่จริงแล้วการประเมินเรื่องนี้เป็นเรื่องยากมาก ถ้าคุณไปพบแพทย์แล้วบอกว่าจะมาตรวจว่าตัวเองเสพติดการออกกกำลังกายหรือเปล่า แพทย์จำนวนมากจะบอกว่าออกกำลังกายมากๆ นั้นดีแล้ว (ซึ่งถ้าหากเราขาดการออกกำลังกายอยู่ก็ถือว่าเป็นเรื่องดีจริงๆ) แต่ในสังคมที่ซับซ้อนมากขึ้น พบว่าแนวโน้มของการเสพติดการออกกำลังกายหรือออกกำลังกายล้นเกินเริ่มมีมากขึ้น บางคนวิเคราะห์ว่า มาจากแรงกดดันจากโซเชียลมีเดีย (ดูเหมือนโซเชียลมีเดียจะกลายเป็นผู้ร้ายได้ในแทบทุกเรื่อง) เพราะหลายคนเห็นเพื่อนๆ คนนั้นคนนี้ออกกำลังกายหนักๆ กัน เช่น ไปวิ่งมาราธอน (หรือไกลกว่านั้น) แล้วเลยแรงกระตุ้นเชิงสังคม ที่อาจส่งผลลึกลงไปถึงพฤติกรรมได้

อย่างไรก็ตาม โปรดอย่าลืมว่า คนที่เสพติดการออกกำลังกายนั้นมีอยู่แค่ราว 0.4% ของประชากรทั้งหมด คือยังไม่ถึง 1% เลย แต่คนที่ยังออกกำลังกายไม่พอ น่าจะมีมากมายมหาศาลกว่านั้นเยอะ (และอาจรวมถึงตัวเราเองด้วย) ดังนั้นจึงอย่าเพิ่งไปกลัวว่าตัวเองออกกำลังกายมากเกินไปหรือเสพติดการออกกำลังกายเลย เอาแค่ให้ลุกขึ้นมาออกกำลังกายได้สัปดาห์ละ 3-4 ครั้งยังอาจทำไม่ได้ด้วยซ้ำ

โลกชอบเหวี่ยงเราไปมาจนสุดขั้วเสมอ ดังนั้น สิ่งที่ดีที่สุดก็คือการดึงตัวเองออกมาจากตัวเอง แล้วมองย้อนกลับไปให้เห็น ว่าเรากำลังใช้ชีวิตอยู่ใน ‘สมดุล’ มากน้อยแค่ไหน

นี่คือเรื่องที่พูดง่าย แต่ทำได้ยากที่สุดโดยแท้

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save