อรอนงค์ ทิพย์พิมล เรื่อง
กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ
กองทัพอินโดนีเซีย และบทบาท dwifungsi
กองทัพอินโดนีเซีย (Angkatan Bersenjata Republik Indonesia [Republic of Indonesia Armed Forces]) มีชื่อทางการว่า กองกำลังติดอาวุธแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย หรือที่เรียกโดยย่อว่า ‘อับ-รี (ABRI)’ ประกอบไปด้วย 3 เหล่าทัพ ได้แก่ กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ รวมถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเท่ากับว่า ตำรวจอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของกองทัพด้วย
ถ้าย้อนไปในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองอินโดนีเซีย บทบาทสำคัญของกองทัพคือการต่อสู้เพื่อเอกราชของชาติ และถูกยกย่องในฐานะวีรบุรุษกู้ชาติ บทบาทเช่นนี้ดำรงอยู่จนกระทั่งอินโดนีเซียก่อร่างสร้างชาติหลังเป็นเอกราชโดยสมบูรณ์ และแม้จะมีคำเรียกบทบาทของกองทัพอินโดนีเซียว่า dwifungsi หรือ ‘บทบาทหน้าที่สองอย่าง’ แต่หากจะว่ากันตามจริงแล้ว กองทัพอินโดนีเซียมีบทบาทหน้าที่มากกว่าสองด้าน
ด้านแรก คือด้านสังคมและการเมือง ซึ่งกองทัพมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่เฉพาะในด้านนี้ ในยุคระเบียบใหม่ของซูฮาร์โต กองทัพมีที่นั่งในสภาผู้แทนประชาชน 75 ที่นั่งจากทั้งหมด 500 ที่นั่ง และมีที่นั่งในสภาท้องถิ่นและส่วนภูมิภาคอีก 2,800 ที่นั่ง มีนายทหารดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหรือตำแหน่งสำคัญทางการเมือง นอกจากนี้ กองทัพยังเข้าไปมีบทบาทในกลุ่ม Golkar ซึ่งในยุคระเบียบใหม่ กลุ่มนี้มีสถานะเป็นเพียงกลุ่มทางการเมือง แต่กลับเล่นบทบาทเสมือนเป็นพรรคการเมืองของรัฐบาล
ด้านที่สอง คือด้านเศรษฐกิจ โดยกองทัพได้เข้าไปมีส่วนร่วมตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1950 เพื่อหารายได้เข้าหน่วยกรมกองของตน เนื่องจากงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรไม่เพียงพอ อีกทั้งทหารยังได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับธุรกิจผิดกฎหมายหลายอย่าง เช่น ลักลอบขนสินค้าเถื่อน เก็บค่าคุ้มครอง ซึ่งธุรกิจเหล่านี้เป็นรายได้ของทหารโดยเฉพาะในเกาะรอบนอก (เกาะอื่นๆ ที่ไม่ใช่เกาะชวา) และยังเข้าไปพัวพันกับการผูกขาดบังคับซื้อพืชผลของประชาชนในราคาต่ำกว่าราคาตลาดเพื่อป้อนให้บริษัทที่ทหารหนุนหลังอยู่ [1]
ต่อมา หลังปี 1965 ทหารเริ่มทำธุรกิจอย่างเป็นทางการ โดยกองทัพมีสหกรณ์ของเหล่าทัพต่างๆ เพื่อลงทุนทางด้านธุรกิจ มีการตั้งคณะกรรมการกลางสหกรณ์ของตัวเอง และตั้งกลุ่มธุรกิจที่ประกอบด้วยนายทหารนอกราชการและนายทหารประจำการ เช่น ธุรกิจของนายทหารและครอบครัวในกองพล Diponegoro ตั้งกลุ่ม Yayasan Kartika Jaya Group เพื่อดูแลธุรกิจของกลุ่มตน หรือกลุ่มทหารที่คุมกระทรวงกลาโหม ตั้ง Tri Usaha Bhakdi Group เป็นต้น
นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจของทหารที่มีอิทธิพลทางการเมืองยังเข้าไปลงทุนร่วมกับต่างชาติและบริษัทของนักธุรกิจชาวอินโดนีเซียเชื้อสายจีน ขณะที่ทางฝั่งรัฐวิสาหกิจ ผู้นำทหารก็คุมอำนาจในการบริหารรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง เช่น ดูแลสายการบินแห่งชาติ (การูด้าอินโดนีเซีย) ตั้งแต่ปี 1968-1984 และทหารยังเป็นคณะกรรมการพัฒนาการแห่งชาติและคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนแห่งชาติ (BKPM) ตั้งแต่ปี 1968-1998 ด้วย
จะเห็นว่า กองทัพมีบทบาทในด้านเศรษฐกิจอย่างมาก จนนำไปสู่การตั้งคำถามของประชาชนถึงความไม่โปร่งใสและการคอร์รัปชันทางนโยบายของรัฐบาลและกองทัพ
ด้านที่สาม คือด้านการรักษาความมั่นคงภายในประเทศ โดยกองทัพมีหน้าที่ในการรักษาความสงบและความขัดแย้งภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งในด้านศาสนาหรือกลุ่มชาติพันธุ์ การปราบปรามกลุ่มกบฏต่างๆ และการก่อการจลาจล กองทัพอินโดนีเซียมีทั้งหมด 10 ภูมิภาค แต่ละกองทัพภูมิภาคจะแบ่งเป็นระดับย่อยลงไปจนถึงระดับหมู่บ้าน ด้วยโครงสร้างเช่นนี้เอง กองทัพจึงสามารถสร้างอิทธิพลต่อการเมืองได้ในทุกระดับ รวมถึงการควบคุม ‘ทหารบ้าน’ หรือองค์กรกึ่งทหาร
นอกจากนี้ กองทัพยังมีบทบาทตามหน้าที่หลักจริงๆ คือการปกป้องรักษาดินแดน เพราะด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์ของอินโดนีเซียที่เป็นประเทศหมู่เกาะ ซึ่งมีพื้นที่มากกว่าสองล้านตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยเกาะมากกว่า 13,000 เกาะ ทำให้อินโดนีเซียมีปัญหาข้อพิพาทเรื่องเขตแดนกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ ซึ่งยังเป็นปัญหาคาราคาซังจนถึงปัจจุบัน และยังมีปัญหาการก่อการร้ายข้ามแดนหรือการก่ออาชญากรรมข้ามแดนด้วย ดังนั้น หน้าที่ด้านการป้องกันประเทศของกองทัพจึงนับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง และควรเป็นหน้าที่หลักด้านเดียวของกองทัพมากกว่า
จะเห็นว่า ทหารอินโดนีเซียมีบทบาทและหน้าที่นอกเหนือจากหน้าที่ปกติของกองทัพอย่างมาก ยิ่งไปกว่านั้น กองทัพยังมีบทบาทในการปราบปรามประชาชนที่ลุกขึ้นมาต่อต้านรัฐบาล โดยเฉพาะในยุคระเบียบใหม่ และมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ที่มีกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดน เช่น อาเจะห์ ติมอร์ตะวันออก และปาปัวตะวันตก รวมถึงการข่มขู่ คุกคาม ลักพาตัว และลอบสังหารผู้นำนักศึกษา นักกิจกรรม นักเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลและกองทัพ ทั้งหมดนี้นำไปสู่การที่กองทัพถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยนักเคลื่อนไหวทางด้านสิทธิมนุษยชนและปัญญาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์
การปฏิรูปกองทัพอินโดนีเซีย
จุดเริ่มต้นของการปฏิรูปกองทัพเกิดขึ้นในปี 1997 (พ.ศ.2540) ซึ่งเป็นปีที่เกิดวิกฤต ‘ต้มยำกุ้ง’ ที่มีจุดเริ่มต้นในประเทศไทย และส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังประเทศอื่นๆ ในเอเชีย อินโดนีเซียก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ โดยต้องเจอกับวิกฤตค่าเงินและเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ปัญหาดังกล่าวลุกลามบานปลายจนกลายเป็นวิกฤตทางการเมืองครั้งใหญ่ นำไปสู่การจลาจลกลางกรุงจาการ์ตา มีนักศึกษาและประชาชนออกมาประท้วงการบริหารประเทศของซูฮาร์โต และหนึ่งในข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ประท้วงคือ การปฏิรูปและยกเลิกบทบาท dwifungsi ของกองทัพ
อย่างไรก็ดี แม้จะมีกระแสสังคมกดดันอย่างหนัก แต่องคาพยพที่ทำให้การปฏิรูปกองทัพอินโดนีเซียประสบความสำเร็จเกิดจากการปฏิรูปจากภายในองค์กรเอง โดยหลังการลาออกของซูฮาร์โต นายทหารคนแรกๆ ที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการปฏิรูปกองทัพคือ พลตรี อากุส วีราฮาดีกูซูมะห์ (Agus Wirahadikusumah) ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับการปฏิรูปกองทัพ โดยเสนอการกำจัดการคอร์รัปชันในกองทัพ ระบบการเลื่อนตำแหน่งที่โปร่งใส การปรับโครงสร้างทางองค์กร และลดบทบาททางการเมืองของกองทัพ ข้อเสนอดังกล่าวสร้างศัตรูให้เขาจำนวนมาก ส่วนในกองทัพเอง ก็มีทั้งผู้ที่สนับสนุน (ซึ่งส่วนมากเป็นนายทหารชั้นผู้น้อย) และผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดปฏิรูปดังกล่าว ต่อมา ในสมัยของประธานาธิบดีอับดุลระห์มัน วาฮิด ปี 2000 อากุส วีราฮาดีกูซูมะห์ ได้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการยุทธศาสตร์กองทัพบก
ผู้นำทางการเมือง และความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำทางการเมืองกับผู้นำกองทัพเป็นอีกปัจจัยสำคัญต่อการปฏิรูป สมัยรัฐบาลของประธานาธิบดีอับดุลระห์มัน วาฮิด (1999-2001) มีความพยายามอย่างมากที่จะปฏิรูปกองทัพ ซึ่งถือเป็นการวางรากฐานสำหรับการปฏิรูป แต่การปฏิรูปมาสะดุดในสมัยรัฐบาลของประธานาธิบดีเมกาวตี ซูการ์โนปุตรี (2001-2004) ซึ่งเป็นช่วงที่ทหารกลับมามีความแข็งแกร่ง เนื่องจากมีสถานการณ์การก่อการร้ายและปัญหาขบวนการแบ่งแยกดินแดนปะทุขึ้นมา ประกอบกับการที่รัฐบาลพลเรือนไม่สามารถควบคุมกองทัพได้เต็มที่ ต่อมา ในสมัยประธานาธิบดีซูซีโล บัมบัง ยูโดโยโน (2004-2014) ที่พยายามปรับให้กองทัพเป็น ‘ทหารอาชีพ’ มากขึ้น เป็นยุคที่การปฏิรูปกองทัพประสบความสำเร็จและเป็นรูปเป็นร่างที่สุด เนื่องจากซูซีโล บัมบัง ยูโดโยโน เป็นอดีตนายทหารมาก่อน ผู้นำทหารจึงมีความเกรงใจ
ลำดับขั้นตอนของการปฏิรูปภายในกองทัพปี 1998-2009 [2]
ลำดับ | ปี | การเปลี่ยนแปลง |
1 | 1998 | การกำหนดท่าทีและมุมมองทางการเมืองของ ABRI เกี่ยวกับกระบวนทัศน์ใหม่ของบทบาท ABRI ในศตวรรษที่ 21 |
2 | 1998 | จัดระเบียบองค์กรเจ้าหน้าที่ทั่วไปของ ABRI และเจ้าหน้าที่สังคมการเมือง หัวหน้าทีมสังคมการเมืองเปลี่ยนเป็นหัวหน้าทีมดินแดนของ ABRI |
3 | 1998 | ยุบหน่วยงาน Syawan ABRI, Kamtibmas ABRI, และ Babinkar ABRI (หน่วยงานเหล่านี้คือหน่วยงานของกองทัพที่ดูแลรับผิดชอบการดำรงตำแหน่ง ซึ่งไม่ใช่ตำแหน่งทางการทหารของนายทหาร) |
4 | 1998 | ยุบหน่วยงาน Wansospolpus และ Wansospolda (หน่วยงานที่ดูแลด้านสังคมการเมืองทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค) |
5 | 1999 | การกำหนดท่าทีและมุมมองทางการเมืองของ ABRI เกี่ยวกับกระบวนทัศน์ใหม่ของบทบาทด้านสังคมการเมืองของ ABRI ในการลดบทบาททางการเมืองของกองทัพ |
6 | 1999 | กำหนดกระบวนทัศน์ใหม่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของ ABRI/TNI กับ Keluarga Besar ABRI/TNI (องค์กรร่มใหญ่ของกองทัพที่ทำหน้าที่ประสานประโยชน์ของเหล่าทัพต่างๆ) และการตัดความสัมพันธ์ทางองค์กรกับพรรค Golkar และรักษาระยะห่างกับทุกพรรคการเมือง |
7 | 1999 | การจัดระเบียบกำลังพลที่อยู่นอกโครงสร้างของกระทรวงกลาโหมและความมั่นคง |
8 | 1999 | ยกเลิกการทำงานของ ABRI ผ่านความเห็นของผู้ที่เกษียณอายุราชการแล้ว |
9 | 1999 | การแยกหน่วยงานตำรวจออกจาก ABRI โดยตำรวจจะไม่ขึ้นกับ ABRI อีกต่อไป |
10 | 1999 | การกำหนดชื่อหน่วยงาน สัญลักษณ์ และตราราชการ จากการเรียกว่า ABRI เป็น TNI (Indonesian National Military) |
11 | 1999 | การลดจำนวนสัดส่วนตัวแทนจาก ABRI ในสภา DPR (สภาผู้แทนประชาชน) และ DPRD I/II(สภาผู้แทนประชาชนส่วนภูมิภาค) (ในสภา DPR ลดจาก 75 คนเป็น 38 คน และในสภา DPRD I/II เหลือ 10% จากจำนวนที่นั่งทั้งหมด) |
12 | 1999 | การประกาศเป็นกลางของ TNI ในการเลือกตั้งปี 1999 |
13 | 1999 | การเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ด้านสังคมการเมืองเป็นเจ้าหน้าที่ด้านสื่อสารสังคมในปี 2001 |
14 | 1999 | การยกเลิก Sospoldam, Babinkardam, Sospolrem, และ Sospoldim (หน่วยงานที่ดูแลด้านสังคมการเมืองและความมั่นคงของกองทัพ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค) อันเป็นผลสืบเนื่องจากการลดบทบาทหน้าที่ด้านสังคมการเมืองของ ABRI |
15 | 2000-2001 | แก้ไขหลักการของกองทัพอากาศ (17 ตุลาคม 2000), กองทัพบก (15 ธันวาคม 2001) และ กองทัพเรือ (23 กุมภาพันธ์ 2001) |
16 | 2000 | การยกเลิกองค์กรรองผู้บังคับบัญชา TNI |
17 | 2000 | ABRI เลิกยุ่งกับการเมืองภาคปฏิบัติ และจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองภาคปฏิบัติอีก |
18 | 2000 | การยกเลิก Bakorstanas และ Bakorstanasda (หน่วยงานกองทัพประสานงานด้านยุทธศาสตร์แห่งชาติส่วนกลางและส่วนภูมิภาค) |
19 | 2001 | การวางท่าทีเป็นกลางของ TNI ในฐานะเครื่องมือของรัฐในการประชุมสภาวิสามัญปี 2001 |
20 | 2001 | การยกเลิกแบบเรียนด้านสังคมการเมืองของ ABRI ออกจากหลักสูตรการศึกษาของ TNI และเพิ่มแบบเรียนด้านกฎหมาย สิทธิมนุษยชน และสิ่งแวดล้อม |
21 | 2002 | กำหนดนิยามและจัดองค์กรกองทัพส่วนภูมิภาคใหม่ |
22 | 2004 | การประกาศเป็นกลางของ TNI ในการเลือกตั้งปี 2004 |
23 | 2004 | การถอนตัวและยุติบทบาทของนายทหาร TNI ที่ดำรงตำแหน่งทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการในหน่วยงานของรัฐและไม่ใช่ของรัฐที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับหน้าที่ของ TNI |
24 | 2004 | ยกเลิกสัดส่วนของ TNI-POLRI (ทหารและตำรวจ) ในสภา DPR และ DPRD ในปี 2004 โดยกำหนดให้เร็วกว่าเดิมที่ตั้งไว้ว่าจนถึงปี 2009 |
25 | 2004 | การพิจารณาคดีของทหาร ซึ่งเคยอยู่ภายใต้องค์กรกฎหมาย TNI ให้อยู่ภายใต้ศาลสูง (พลเรือน) |
26 | 2004 | มีการออกกฎหมายฉบับที่ 34 ปี 2004 เกี่ยวกับ TNI |
27 | 2005 | การยกเลิกเจ้าหน้าที่ด้านการสื่อสารการเมืองในปี 2005 (1 มิถุนายน 2005) |
28 | 2005 | ความเป็นกลางของ TNI ในการเลือกตั้งท้องถิ่น |
29 | 2006 | การยกเลิกธุรกิจของทหาร โดยต้องทำให้แล้วเสร็จภายในปี 2009 |
30 | 2006 | การกำหนดว่าเจ้าหน้าที่กองทัพต้องเกษียณก่อนจึงจะสามารถลงเลือกตั้งท้องถิ่นได้ |
31 | 2007 | การให้สัตยาบันในหลักการของ TNI |
32 | 2009 | มีการออกกฎหมายให้รัฐบาลเข้าควบคุมธุรกิจของทหาร |
ทั้ง 32 ข้อข้างต้นเป็นการเปลี่ยนแปลงหน่วยงานทหารที่ครอบคลุมทั้งด้านโครงสร้าง วัฒนธรรม และหลักการ ด้านที่สำคัญคือการถอนตัวออกจากการเมือง การตัดสายสัมพันธ์ระหว่างทหารกับพรรคการเมือง (โดยเฉพาะพรรค Golkar) การแยกสำนักงานตำรวจออกจากกองทัพ การที่รัฐเข้าควบคุมธุรกิจของทหาร และการจัดวางความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับรัฐบาลพลเรือน
หนึ่งในตัวแสดงที่สำคัญคือ ผู้ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ซึ่งนับตั้งแต่สิ้นสุดยุคระเบียบใหม่ ผู้ที่มาดำรงตำแหน่งนี้สลับไปมาระหว่างทหารกับพลเรือนมาโดยตลอด โดยรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมที่เป็นพลเรือนคนแรกคือ จูโวโน ซูดาร์โซโน (1999-2000 และ 2004-2009) เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการเข้าควบคุมธุรกิจทหารโดยรัฐบาล แต่กระนั้น หลังการปฏิรูปธุรกิจทหาร กองทัพก็ยังมีมูลนิธิถึง 23 มูลนิธิ สหกรณ์มากกว่า 1,000 แห่ง และมีบริษัท 55 บริษัท ซึ่งเป็นที่สงสัยกันว่า ธุรกิจเหล่านี้เป็นธุรกิจในพื้นที่สีเทา พัวพันกับการก่ออาชญากรรม การละเมิดสิทธิมนุษยชน และการคอร์รัปชัน และการตั้งมูลนิธิของหน่วยงานต่างๆ ของกองทัพก็เพื่อที่จะใช้ชื่อ ‘มูลนิธิ’ บังหน้าในการดำเนินธุรกิจและการฟอกเงินเท่านั้น
ขณะที่สมัยปัจจุบันที่ประธานาธิบดีโจโก วีโดโด ดำรงตำแหน่ง ผู้ที่เป็นรัฐมนตรีกลาโหมคือ ปราโบโว ซูเบียนโต (Prabowo Subianto) นายทหารคนสำคัญที่เคยลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีกับโจโก วีโดโดมาแล้วสองสมัย เป็นอดีตบุตรเขยของประธานาธิบดีซูฮาร์โต และยังมีคดีพัวพันกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลายกรณี
ผลจากการปฏิรูปกองทัพ
การเปลี่ยนผ่านจากระบอบอำนาจนิยมสู่ประชาธิปไตยในอินโดนีเซียไม่ได้ราบรื่นและสำเร็จได้อย่างรวดเร็วหมดจด แต่ประสบกับปัญหาบางประการ ได้แก่ (1) การไร้กรอบแนวทางการปฏิบัติที่เป็นประชาธิปไตยของกองทัพ (2) ความไร้ความสามารถของผู้นำทางการเมืองที่จะควบคุมกองทัพ (3) ระบบราชการ โดยเฉพาะในกระทรวงกลาโหมที่ยังคงถูกครอบงำโดยทหาร (4) การดำรงอยู่ของ ‘ทหารบ้าน’ ที่เข้ามาเล่นบทบาทที่กองทัพเคยเล่นมาก่อนหน้ายุคปฏิรูป ในเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองต่างๆ และ (5) งบประมาณของกองทัพที่ไม่เพียงพอ
แม้ว่าจะมีปัญหาดังที่กล่าวมา แต่กระบวนการปฏิรูปกองทัพและการเปลี่ยนผ่านยังยึดโยงกับหลักการประชาธิปไตย โดยกองทัพเปลี่ยนบทบาทตัวเอง จากองค์กรที่เคยเป็นหนึ่งในผู้เล่นหลักทางการเมือง กลายมาเป็นสถาบันทหารภายใต้สังคมประชาธิปไตย นอกจากนี้ กองทัพยังแสดงให้เห็นว่า สามารถปรับตัวได้ดีกับประชาธิปไตย แต่ก็ไม่ได้กลายเป็นชายขอบของอำนาจทางการเมือง เพราะกองทัพยังคงเป็นสถาบันที่มีความสำคัญทางการเมืองอยู่
ปัจจุบัน แม้กองทัพบางส่วนยังอยากจะกลับไปมีส่วนร่วมทางการเมืองเฉกเช่นในยุคระเบียบใหม่ หรือการที่ทหารบางส่วนถวิลหา dwifungsi แบบในอดีต แต่การมีกฎหมายและข้อบังคับต่างๆ ที่ควบคุมการดำเนินการของกองทัพอันเป็นผลสำเร็จของยุคปฏิรูป ทำให้ทหารไม่สามารถเข้ามาเล่นในทางการเมืองแบบเปิดหน้าได้เต็มที่ และการเลือกตั้งทั่วไปตั้งแต่ปี 1999 จนถึงปัจจุบันก็เป็นเครื่องชี้วัดที่สำคัญประการหนึ่งว่า วิถีทางประชาธิปไตยภายใต้การปกครองโดยรัฐบาลพลเรือนสามารถควบคุมกองทัพให้อยู่ในร่องในรอยได้
อีกหนึ่งความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมคือ ตั้งแต่ยุคปฏิรูปเป็นต้นมา แม้งบประมาณของกองทัพจะเพิ่มขึ้นทุกปี แต่งบประมาณที่ทางกองทัพเสนอขอไป กับงบประมาณที่ได้รับการอนุมัติจริงยังคิดเป็นจำนวนที่ห่างกันชัดเจน โดยงบประมาณของกองทัพต่ำกว่า 1% ของ GDP ประเทศ
จะเห็นว่า การปฏิรูปกองทัพของอินโดนีเซียดำเนินแบบค่อยเป็นค่อยไป เป็นขั้นเป็นตอน และกระทำอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญอย่างยิ่งคือ การที่คนทั้งสังคมเห็นร่วมกันว่า บทบาทหน้าที่ที่เคยเป็นของกองทัพไม่ใช่เรื่องปกติ ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง และจำเป็นต้องปฏิรูปกองทัพให้สอดคล้องและอยู่ในครรลองของประเทศที่เป็นประชาธิปไตย
[1] Richard Robinson, Indonesia: The Rise of Capital (Jakarta and Kuala Lumpur: Equinox Publishing, 2009), 250-251.
[2] Ahmad Yani Basuki, “Reformasi TNI: Pola, Profesionalitas, dan Refungsionalisasi Militer dalam Masyarakat,” Jurnal Sosiologi MASYARAKAT, Vol. 19, No. 2, Juli 2014, pp. 141-42.