fbpx
‘โชคดีเกิดเป็นคนไทย น่ะประชาธิปไตย ล่ะขอให้ยกมือขึ้น’ ไม่มีอะไรไม่การเมือง

‘โชคดีเกิดเป็นคนไทย น่ะประชาธิปไตย ล่ะขอให้ยกมือขึ้น’ ไม่มีอะไรไม่การเมือง

บ่ายแก่ของวันที่ 28 มีนาคม คนกลุ่มหนึ่งสวมชุดไทยไถสเก็ตบอร์ดรอบเกาะรัตนโกสินทร์ พร้อมการดูแลและอำนวยความสะดวกเป็นอย่างดี ห่างออกไปอีกไม่กี่ร้อยเมตร ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน คนอีกกลุ่มถูกเจ้าหน้าที่รัฐรุกไล่จากเต็นต์ที่พัก หลายคนถูกอุ้มขึ้นไปยัดเบียดอัดกันบนรถ ไก่เป็นๆ ถูกยัดใส่กระสอบ ไม่นับแมวอีกตัวที่กลายเป็นหนึ่งในผู้ต้องหาฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉิน

และนั่นเป็นช่วงเวลาไม่นาน ก่อนหน้าที่ โจอี้ บอย แร็ปเปอร์ที่ร่วมแต่งชุดไทยไถสเก็ตบอร์ดในกลุ่มแรก จะออกมาให้สัมภาษณ์ด้วยท่าทีสุภาพและเป็นมิตรว่า “อยากจะขอความเห็นใจเรื่องไม่เอากีฬาที่พวกเราเล่นกันไปคิดในมุมการเมืองจริงๆ”

ทำไมการไถสเก็ตบอร์ดจึงไม่เป็นการเมือง มันมีอะไรที่ทำให้กิจกรรมของคนที่สวมชุดไทยร่วมสมัยไถกระดานกลางรอบเกาะรัตนโกสินทร์ลอยอยู่เหนือเรื่องราวอื่นๆ วางตัวเป็นกิจกรรมผ่องแผ้วของคนที่รักสุขภาพ เป็นกิจกรรมบริสุทธิ์และไร้เดียงสา ไม่ปนเปื้อนสิ่งแปลกปลอมอย่าง ‘การเมือง’

คำถามคือ แล้วมันปราศจากการเมืองจริงไหม การเมืองของกิจกรรม ‘รัตนโกSurf’ เริ่มขึ้นตั้งแต่การเจรจาขอภาครัฐปิดถนนเพื่อจัดกิจกรรมแล้วใช่หรือเปล่า ยังไม่ต้องไปพูดถึงว่าการไถสเก็ตบอร์ดครั้งนี้ มีตัวแทนจากพรรคการเมืองจากฝั่งรัฐบาลและกลุ่มขวาจัดเข้าร่วมอยู่ด้วย หรือกระทั่งตัวกิจกรรมเองก็ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงวัฒนธรรม

และมันจะยังไม่การเมืองอยู่อีกไหม ถ้าเราจะบอกว่า ในวันเดียวกัน เวลาเดียวกัน ณ สถานที่ซึ่งห่างออกไปไม่กี่กิโลเมตร เรื่องราวของประชาชนที่ต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของตัวเอง ถูกเรื่องราวจาก ‘ฝั่งรัฐ’ ในนามของ ‘กิจกรรมเพื่อสุขภาพ’ ช่วงชิงพื้นที่ในการเล่าเรื่อง ใช้ชุดไทยเป็นสัญลักษณ์ในการแสดงออกถึงความรักชาติ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกลมเกลียวสมานฉันท์ เป็นความรักชาติแบบสะอาดสะอ้าน กับสังคมอีกด้านหนึ่งที่มีคนตะเบ็งเสียงร้องเพื่อจะบอกว่าพวกเขากำลังถูกรัฐยึดพื้นที่ทำกิน ยึดสิทธิเสรีภาพ กระทั่งยึดเอาชีวิตใครคนใดคนหนึ่งหายไปต่อหน้าต่อตา 

กระทั่งสเก็ตบอร์ดที่ไถกันหน้าชื่นตาบานนั้น กาลครั้งหนึ่งก็เคยถูกใช้เป็นเครื่องมือแสดงออกทางการเมือง เมื่อครั้งที่ ‘คณะราษเก็ต’ ยกสเก็ตบอร์ดของตัวเองมาไถกันกลางม็อบเพื่อเรียกร้องฟุตปาธและถนนที่ดี หรือพื้นที่สาธารณะในการทำกิจกรรมสันทนาการ

และหากคุณโจอี้บอยหรือใครก็ตามที่ไถสเก็ตบอร์ดนั้นจะสังเกตสักนิด คงฉุกคิดขึ้นมาบางแวบว่าพื้นที่สาธารณะของบ้านเราช่างน้อยเหลือเกิน เราอาจต้องไปไถสเก็ตบอร์ดกันตามลานจอดรถหรือห้างสรรพสินค้า และถ้าเคยคิดตั้งคำถามสักครั้งว่าทำไมพื้นที่ของประชาชนทั่วไปถึงต้องมาถูกเจียดโดยนายทุนและชนชั้นบน คุณก็คงพบว่ามันก็แสนจะการเมืองอีกเหมือนกัน คำพูดที่ว่า “ขออย่าเอาไปคิดในมุมการเมือง” จึงเป็นคำพูดที่สงวนไว้กับคนที่มีอภิสิทธิ์มากพอในสังคม

และท่ามกลางความน่าหดหู่ของเหตุการณ์วันนั้น โปรดอย่าลืมว่าโจอี้บอยเป็นแร็ปเปอร์ เป็นคนทำเพลงฮิปฮอป ดนตรีที่มีรากมาจากการระเบิดความอัดอั้นของการถูกรัฐกดทับของผู้คนในอเมริกา เรื่อเรืองขึ้นมาในทศวรรษ 1970 ย่านสลัมในนิวยอร์กที่เด็กผิวดำและผู้อพยพอยู่อาศัย (และโปรดอย่าลืมอีกเช่นกันว่าในวันและเวลาเดียวกัน เอ้ – กุลจิรา คงทอง อดีตผู้เข้าแข่งขันรายการ The Voice ที่โจอี้บอยเป็นกรรมการ ก็ถูกจับภายหลังหมู่บ้านทะลุฟ้าถูกสลาย) เขาคือคนที่ครั้งหนึ่งเคยให้สัมภาษณ์ว่า “(ฮิปฮอป) เป็นไลฟ์สไตล์” ซึ่งก็เป็นไปได้ ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร โดยเฉพาะถ้าเราวัดจากบทเพลงที่ผ่านๆ มาของเขา ซึ่งส่วนใหญ่หากไม่วนเวียนอยู่กับชีวิตรัก ความเป็นวัยรุ่น ก็จะพูดวนเวียนอยู่กับงานปาร์ตี้หรือความบันเทิงครื้นเครงต่างๆ

อย่างไรก็ดี ก็โปรดอย่าลืมอีกเช่นกันว่าโจอี้บอยเคยออกอัลบั้ม Sorry I’m Happy ในปี 2547 กับซิงเกิลที่ฮิตกันไปทั้งบ้านทั้งเมืองเวลานั้นอย่าง ‘ยกมือขึ้น’ ที่ถล่มทุกผับบาร์พร้อมคลื่นของผู้คนที่ชูมือกันจนสุดแขน 

“โชคดีเกิดเป็นคนไทย น่ะประชาธิปไตย ล่ะขอให้ยกมือขึ้น” / “รักกษัตริย์ รักชาติศาสนา พอเพลงชาติมา ก็ขอให้ยืนขึ้น”

อาจเป็นเนื้อเพลงที่ฟังดูหัวอ่อน ปราศจากท่าทีต่อต้านจากรัฐในความหมายของสถาบันที่ครอบงำประชาชนมาตั้งแต่เกิด ซึ่งเอาเข้าจริงก็เข้าใจได้อีกเหมือนกัน พูดอย่างหยาบที่สุดคือ ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมดนตรีในไทยแทบไม่เคยถูกเรียกร้องให้ ‘ขบถ’ ต่อรัฐหรือสถาบันใดๆ แม้กระทั่งเพลงฮิปฮอปยังมีท่าทีกล่อมเกลาคนฟังให้เชื่องอยู่กับสถาบันใหญ่ที่ดูดกินประชาชนในทุกมิติและไม่เคยเรียกร้องให้เกิดการตั้งคำถามใดๆ ทั้งสิ้น

แต่ก็อีกนั่นแหละ ใช่ว่าเพลง ‘ยกมือขึ้น’ จะไม่มีท่าทีขบถเอาเสียเลย เพราะยังมีท่อน “เดี๋ยวเอดส์เดี๋ยวซาร์เดี๋ยวไก่ แล้วเราจะทำยังไง ล่ะขอให้ยกมือขึ้น” พูดถึงโรคซาร์สที่ระบาดในปี 2547 ช่วงการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ ทักษิณ ชินวัตร สองปีก่อนหน้าจะเจอเกมล้มกระดานครั้งใหญ่

หรือแม้แต่ท่อนที่ร้องว่า “เลือกตั้งคนดีเข้าไปหลับ แถมยังอดเที่ยวผับ ขอให้ยกมือขึ้น” 

ใช่แล้ว โจอี้บอย (หรืออาจจะรวมทั้งผู้คนในแวดวงดนตรียุคก่อน) ไม่ใช่ว่าแยกขาดจากการเมืองมาโดยตลอด ไม่ได้ “อย่าคิดในมุมการเมือง” พวกเขาแค่พูดถึงการเมืองเฉพาะเวลาที่ตัวเองรู้สึกว่าทำไม เฉพาะเวลาที่ตัวเองรู้สึกว่ากำลังเจรจากับรัฐที่พวกเขาสื่อสารได้ในระนาบเดียวกัน และอาจจะเป็นเหตุผลอีกเหมือนกันว่าทำไมภายใต้การปกครองของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา คนในอุตสาหกรรมดนตรีที่ผูกโยงกับทุนใหญ่และศิลปินในเครือเดียวกันคนอื่นๆ จึงแทบไม่เคยออกมาตั้งคำถามต่อความสามารถของนายประยุทธ์

เรายังไม่ต้องพูดถึงเพลงที่แต่งออกมา ‘แดกดัน’ โรคระบาดอย่างโควิดก็ได้ แต่ที่ผ่านมามีสักเพลงไหมที่มีท่าทีแบบ ‘เลือกตั้งคนดีเข้าไปหลับ’ สมัยที่เห็นนายปรีชาขาดประชุม สนช. 394 วันจาก 400 วัน หรือมีสักครั้งไหมที่พูดถึงอาการนั่งหลับของนายประวิตร 

ด้วยเหตุนี้จึงไม่ใช่ว่าที่ผ่านมา คนอย่างโจอี้บอย – ไม่ว่าจะในอุตสาหกรรมดนตรีหรือคนที่ถือครองอภิสิทธิ์เช่นเดียวกันกับเขา – จะไม่เคยพาตัวเองเข้ามาข้องแวะหรือแย็บหมัดใส่การเมือง แต่เขาจะทำก็เมื่อรู้สึกว่าทำได้ อย่างที่เราเคยเห็นปรากฏการณ์ศิลปินในอุตสาหกรรมบันเทิงไทยหลายต่อหลายคนทยอยออกมา ‘เกี่ยวข้อง’ กับการเมืองกันครั้งใหญ่ด้วยการกวักมือเรียกรัฐประหารในปี 2557 ก่อนจะเงียบหายไปโดยไม่มีท่าทีปรารถนาอยากข้องแวะกับสิ่งที่เรียกว่าการเมืองอีกเลย (หรือถ้าจะมีบ้างก็แค่เอ่ยปากแซวนายกฯ แล้วรีบขอโทษขอโพย หรือไม่ก็เล่นมุก ‘ไม่หารนะ’ เพื่อกลบเกลื่อนให้มันกลายเป็นเรื่องขำขันไปวันๆ)

การเลือกได้ว่าอยากจะเข้าไปเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับการเมืองตอนไหนก็ได้นั้นถือเป็นอภิสิทธิ์ และยิ่งเป็นอภิสิทธิ์เหนือชั้นไปอีกขั้นเมื่อคุณออกปากพูดขอได้ว่า “อย่าคิดในมุมการเมือง” ทั้งที่กิจกรรมที่จัดนั้นมีนักการเมืองจากฝั่งรัฐเข้าร่วม และอภิสิทธิ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากไม่ได้มีฐานมาจากความเหลื่อมล้ำมหาศาลในสังคม ไกลออกไปไม่กี่เส้นถนนกั้น มีคนกลุ่มหนึ่งที่ชุมนุมอย่างสันติถูกจับขึ้นโรงพัก ชีวิตถูกบดขยี้ซ้ำแล้วซ้ำอีกเพราะไม่มีอภิสิทธิ์ใดๆ ที่จะเมินเฉยและเอาตัวเองออกห่างจากการเมือง

เพราะเราไม่มีอภิสิทธิ์นั้น ไม่มีอภิสิทธิ์ในการจะหลับตาและบอกว่าเราไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับการเมือง เพราะถ้าทำอย่างนั้น พรุ่งนี้เราอาจจะตกงาน พรุ่งนี้เราอาจจะตื่นมาเจอกับค่าอาหารและค่าน้ำมันที่แพงขึ้น เจอกับข่าวที่ว่าทั่วโลกเขาทยอยฉีดวัคซีนกันกว่าครึ่งแล้วแต่เรายังแทบไม่ได้เริ่มฉีด เจอกับเรื่องที่ว่าบ้านที่อยู่กินมาแต่เกิดถูกรัฐริบคืนเสมือนมองไม่เห็นผู้คนอยู่ในดินแดนนั้น หรือเจอกับความตายและการพลัดพรากที่เราไม่อาจเรียกร้องอะไรกลับมาได้อีก

ประโยคที่ว่า “อย่าคิดในมุมการเมือง” จึงหลุดหล่นออกมาจำเพาะจากคนที่มีสิทธิ์ในการใช้ชีวิตอย่างนั้นได้ และสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร หากไม่ใช่เพราะช่องว่างความเหลื่อมล้ำอันร้ายกาจในสังคมเรา ซึ่งมันก็เป็นการเมืองอยู่ดี หรือไม่ใช่

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save