fbpx
สหภาพยุโรปแบบไหน? มุมมอง 4 แบบ

สหภาพยุโรปแบบไหน? มุมมอง 4 แบบ

จิตติภัทร พูนขำ เรื่อง

 

ในช่วงที่ผ่านมา ประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งในการเมืองระหว่างประเทศคือ Brexit หรือการออกจากสหภาพยุโรป (EU) ของสหราชอาณาจักร ซึ่งมีหลายฝ่ายออกมาวิพากษ์วิจารณ์ผลการลงประชามติครั้งดังกล่าว แต่เราก็ยังไม่เห็นว่าจะมีใครหรือหน่วยงานใดที่จะออกมาล้มผลการลงประชามติดังกล่าวเลย

ผมคิดว่ามีประเด็นสำคัญที่เราน่าจะลองตั้งข้อสังเกตและตั้งคำถาม แต่ไม่ใช่คำถามในเชิงกฏหมาย (กระบวนการ Brexit จะเป็นเช่นไรต่อจากนี้ตามธรรมนูญหรือกติกาต่างๆ ของ EU) คำถามในเชิงผลกระทบ (Brexit ส่งผลกระทบต่อสหภาพยุโรป และต่อสหราชอาณาจักรเองอย่างไร) คำถามในเชิงการออกแบบสถาบัน (สหภาพยุโรปจะปรับการออกแบบสถาบันหรือไม่ และอย่างไร) หรือแม้กระทั่งคำถามในเชิงปทัสถาน (รัฐสมาชิกควรออกจากสหภาพยุโรปหรือไม่ หรือสหภาพยุโรปควรจะเป็นอย่างไร) ซึ่งคำถามเหล่านี้มีผู้ถาม-ตอบไว้บ้างแล้วพอสมควร (และบางเรื่องอาจจะมากจนเกินไป)

ไม่ว่าจะเป็นคำถามแบบไหน (อาจจะเว้นแต่คำถามเชิงปทัสถาน) เราต่างมักจะสมมติหรือทึกทักเอาว่า ยุโรป/EU นั้นเป็นหน่วยทางการเมืองหรือการรวมกลุ่มภูมิภาคที่ “ดี” ซึ่งรัฐสมาชิก เช่น สหราชอาณาจักร หรือรัฐใดๆ ก็ตาม ไม่พึงเลือกเดินออกมาจากสหภาพยุโรป

ข้อสมมติดังกล่าวทำให้เราไม่ได้หยุดพินิจและตั้งคำถามสำคัญว่า อะไรคือยุโรป/EU หรือยุโรปแบบไหนที่เรากำลังพูดถึงกันแน่

ทั้งนี้ EU กับยุโรป ไม่ใช่สิ่งเดียวกันเสมอไป คำถามในเชิงอัตลักษณ์ของทั้ง “ยุโรป” และ “EU” เป็นข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นมายาวนานและไม่มีที่สิ้นสุด ในบทความนี้จะจำกัดการถกเถียงเฉพาะแค่ “EU” เท่านั้น

อีกประเด็นหนึ่งคือ “ยุโรปในอุดมคติ” กับ “ยุโรปตามสภาพจริง” นั้นมีความแตกต่างกัน หลายครั้งเรามักปะปนทั้งสองอย่างเข้าด้วยกันจนไม่เห็นยุโรปตามสภาพจริง ซึ่งอาจจะไม่ได้สวยงามตามประสาเสรีนิยมหรือสากลนิยมนัก ประเด็นหลังนี้ขอเก็บไว้ขยายความในโอกาสต่อไป

ผมคิดว่าคำถามว่า “สหภาพยุโรปแบบไหน” นั้นมีความสำคัญต่อท่าทีทางการเมืองของเราที่จะมีต่อสหภาพยุโรปอย่างมีนัยสำคัญ

ในที่นี้ ขอลองเสนอมุมมองต่อการบูรณาการของสหภาพยุโรป หรือการจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจภายในสหภาพยุโรป อย่างน้อย 4 แบบด้วยกัน ดังต่อไปนี้

 

มุมมองแบบที่ 1 : EU เป็นใหญ่ 

 

มุมมองแบบแรกนี้ให้ความสำคัญกับบทบาทและการตัดสินใจขององค์กรเหนือรัฐในระดับสหภาพยุโรป เช่น คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญหรือเราอาจจะเรียกว่า “ยูโรแครต” ที่มีความรู้ความชำนาญในสาขาต่างๆ เช่น ยูโรแครตทางการเงินในธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank) ที่กำกับการรับมือกับวิกฤตการณ์เงินยูโรโซน เป็นต้น ปัจจุบัน Jean-Claude Juncker อดีตนายกรัฐมนตรีของลักเซมเบิร์กซึ่งเป็นผู้นิยมสหภาพยุโรป เป็นประธานคณะกรรมาธิการยุโรป

องค์กรเหนือรัฐเหล่านี้มีบทบาทในการส่งเสริมความร่วมมือในระดับภูมิภาคและบริหารจัดการในเชิงเทคนิคต่างๆ มุมมองแบบ EU เป็นใหญ่นี้มุ่งเน้นการโอนย้ายความรับผิดชอบเชิงนโยบายจากรัฐสมาชิกไปสู่องค์กรเหนือรัฐ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม การศึกษา ผู้อพยพ ประมง เกษตรกรรม เป็นต้น รวมทั้งกิจการที่รัฐชาติเคยหวงแหน (ที่บางท่านอาจจะเรียกว่า “การเมืองระดับบน”) เช่น การคลัง การต่างประเทศ หรือแม้กระทั่งความมั่นคงและกลาโหม

ในการเมืองระดับบนนี้ เราเห็นการออกแบบนโยบายร่วมทางด้านการต่างประเทศและความมั่นคง (Common Foreign and Security Policy: CFSP) และนโยบายร่วมทางด้านความมั่นคงและกลาโหม (Common Security and Defense Policy: CSDP) รวมทั้งการตั้งตำแหน่งผู้แทนระดับสูงของ EU ด้านการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคง (High Representative of the Union for Foreign Affairs and Security Policy หรือ HR/VP) ทำหน้าที่เหมือนรัฐมนตรีต่างประเทศของ EU และเป็นรองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปโดยตำแหน่งด้วย ปัจจุบันมี Federica Mogherini อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของอิตาลี เป็น HR/VP

มุมมองนี้เชื่อว่า ความร่วมมือในสาขาหนึ่ง (เช่น ถ่านหินและเหล็ก) ย่อมแผ่กระจายไปสู่ความร่วมมือในสาขาอื่นๆ (เช่น ความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและการเงิน) ผ่านการส่งเสริมนโยบายร่วมกันและการออกแบบสถาบันใหม่ในระดับเหนือรัฐ จนกลายเป็นการบูรณาการในเชิงกว้างและเชิงลึกได้ในที่สุด เราอาจจะเรียกว่าเป็นผลกระทบจากการแผ่กระจายทางด้านการหน้าที่ (functional spillover)

นอกจากนี้ มุมมองนี้ยังเชื่อว่ามีการแผ่กระจายทางการเมืองอีกด้วย กล่าวคือ การโอนย้ายความรับผิดชอบจากรัฐชาติไปสู่องค์กรเหนือรัฐเพิ่มมากขึ้น และเมื่อองค์กรเหนือรัฐสามารถทำหน้าที่ต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว เราอาจจะเห็นการโอนย้ายความภักดีที่เดิมเคยมีต่อรัฐไปสู่องค์กรเหนือรัฐอย่าง EU หรือความรู้สึกร่วมกันในความเป็นยุโรป บางคนคงจะนึกถึงกลไกอย่างเช่น รัฐสภายุโรป เป็นต้น

มุมมองแบบนี้อาจจะเรียกว่า Supranational EU หรือ Neo-functional EU ก็คงได้

 

มุมมองแบบที่ 2 : รัฐเป็นใหญ่

 

มุมมองแบบรัฐเป็นใหญ่โต้แย้งกับมุมมองแบบแรก โดยเสนอว่ารัฐสมาชิกยังมีบทบาทสำคัญมากที่สุด กล่าวคือ การบูรณาการของสหภาพยุโรปนั้นยังไม่ได้พัฒนาก้าวข้ามไปสู่องค์กรเหนือรัฐ แต่ยังคงเป็นความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ(บาล) (intergovernmental relations) กล่าวคือ ในการตัดสินใจสำคัญขั้นสุดท้ายแล้ว รัฐสมาชิกยังเป็นผู้ถือสิทธิเด็ดขาด

การมองความสัมพันธ์ระหว่างรัฐนั้นให้ความสำคัญกับการต่อรองทางการเมืองระหว่างกัน (international bargaining) ของรัฐสมาชิกของ EU ซึ่งต่างมีผลประโยชน์และการจัดลำดับความสำคัญของผลประโยชน์หรือ preferences ที่อาจจะสอดคล้องต้องกันหรือแตกต่างกันออกไปได้

ยกตัวอย่างเช่น ฝรั่งเศสและโปแลนด์ซึ่งมีภาคเกษตรกรรมขนาดใหญ่ ย่อมมีนโยบายที่จะปกป้องภาคเกษตรกรรมของตนเองและส่งเสริมนโยบายเกษตรกรรมร่วม (Common Agricultural Policy: CAP) มากกว่ารัฐอื่นๆ ที่มีภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่อย่างเช่น เยอรมนี

หรือในกรณีการเจรจาของ EU กับสหราชอาณาจักรหลัง Brexit เราจะเห็นท่าทีของแต่ละประเทศสมาชิกของ EU ที่แตกต่างกันออกไป ได้แก่ บางรัฐอย่างเช่นเยอรมนีพยายามที่จะหลีกเลี่ยง hard Brexit ในขณะที่ฝรั่งเศสหรือเบลเยียมดูมีแนวโน้มที่จะมีข้อตกลง Brexit ที่รวดเร็วและลงโทษอังกฤษมากกว่า ส่วนบางประเทศอย่างเช่น เนเธอร์แลนด์ปรารถนาที่จะเจรจาข้อตกลงการค้ากับอังกฤษโดยเร็วที่สุด หรือในกรณีโปแลนด์ที่มีพลเมืองของตนอยู่ในอังกฤษจำนวนมากที่สุด ก็กังวลในเรื่องสิทธิของพลเมืองชาวโปลในอังกฤษเป็นพิเศษ เป็นต้น

นโยบายและกระบวนการบูรณาการของสหภาพยุโรปจึงเป็นผลลัพธ์ของการเจรจาต่อรองหรือการประนีประนอมระหว่างรัฐต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายทางการเงิน เกษตรกรรม ประมง การตรวจคนเข้าเมือง เป็นต้น ไม่ต้องพูดถึงนโยบายระดับสูงบางอย่าง ซึ่งยังอยู่ในมือของรัฐสมาชิกเป็นสำคัญ เช่น การต่างประเทศ ความมั่นคง กองทัพ การคลัง การเก็บภาษีอากร เป็นต้น แม้ว่าจะมีการยกระดับประเด็นเหล่านี้ในกรอบการตัดสินใจและการเจรจาของ EU แต่ผู้ที่ยังมีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจขั้นสุดท้ายยังเป็นรัฐสมาชิกนั่นเอง

นอกจากนี้ อำนาจในการต่อรองของรัฐขนาดใหญ่ย่อมมีเสียงมากกว่ารัฐขนาดกลางหรือขนาดเล็ก เช่น บทบาทและอำนาจนำของเยอรมนีภายใต้นายกรัฐมนตรี “หญิงเหล็ก” อย่าง Angela Merkel ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจยูโรโซนหรือวิกฤต PIIGS ในรอบที่ผ่าน Ulrich Beck ถึงกับเรียกสหภาพยุโรปว่าเป็น German Europe

หรือในกระบวนการตัดสินใจของยุโรปในด้านนโยบายต่างประเทศหรือวิกฤตการณ์ระหว่างประเทศสำคัญๆ เช่น ลิเบีย ซีเรีย ยูเครน เป็นต้น เราจะเห็นการตัดสินใจของรัฐสมาชิกเป็นสำคัญในการประชุมร่วมกันในคณะมนตรีของยุโรป (European Council) หรือการประชุมสุดยอดระหว่างผู้นำยุโรป และอาศัยเสียงข้างมากที่มีผลผูกพันในการตัดสินใจเชิงนโยบายและการเมือง

เราเรียกมุมมองแบบนี้ว่าเป็น Intergovernmental EU ซึ่งได้รับอิทธิพลทางความคิดจากงานของ Liberal Intergovernmentalism ได้แก่งานของ Andrew Moravcsik คำนี้ท่านอาจารย์ขจิต จิตตเสวี แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แปลว่าเป็น “รัฐบาลสัมพันธนิยม”

 

มุมมองแบบที่ 3 : ทุนเป็นใหญ่

 

มุมมองแบบทุนเป็นใหญ่นั้นวิพากษ์การบูรณาการสหภาพยุโรป โดยได้รับอิทธิพลจากงานวิชาการเศรษฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศแนวนีโอมาร์กซิสต์หรือทฤษฎีวิพากษ์ ในมุมมองแบบที่สามนี้ EU รับเอานโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ ซึ่งส่งเสริมการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ (liberalization) ทั้งทางด้านการค้า การลงทุนและการเงิน, การลดกฎเกณฑ์ (deregulation) เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มทุน โดยเฉพาะทุนขนาดใหญ่, การส่งเสริมความสามารถในการแข่งขัน (competitiveness) และการบังคับใช้นโยบายรัดเข็มขัด (austerity program) ซึ่งยิ่งผลักดันให้รัฐสมาชิกที่เผชิญกับวิกฤตการเงินต้องดำเนินนโยบายตามลัทธิเสรีนิยมใหม่อย่างเข้มข้น

มุมมองแบบนี้ให้ความสำคัญกับรัฐเสรีนิยมใหม่ และตัวแสดงข้ามชาติ เช่น บรรษัทข้ามชาติ รวมทั้งคณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งต่างส่งเสริมและสนับสนุนลัทธิเสรีนิยมใหม่ในระดับ EU

มุมมองนี้มองว่า การบูรณาการของ EU ตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมา ไม่ว่าจะเป็นการสร้างตลาดร่วมหรือตลาดเดียว (single market) การก่อตั้งสหภาพเศรษฐกิจและการเงิน (Economic and Monetary Union: EMU) โดยการก่อตั้งค่าเงินสกุลยูโรและธนาคารกลางยุโรป (ECB) รวมทั้งยุทธศาสตร์ลิสบอนที่ส่งเสริมวาระความสามารถในการแข่งขันนั้นต่างเกิดมาจากการผลักดันของนโยบายเสรีนิยมใหม่ทั้งสิ้น โดยผ่านความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างรัฐ/ชนชั้นนำที่ส่งเสริมเสรีนิยมใหม่ คณะกรรมาธิการยุโรป และตัวแสดงข้ามชาติอย่างบรรษัทข้ามชาติ ซึ่งทำงานล็อบบี้การกำหนดนโยบายของคณะกรรมาธิการยุโรปอย่างแข็งขัน เช่น กลุ่มล็อบบี้ ERT (European Roundtable of Industrialists) หรือ AMUE (Association for Monetary Union of Europe) เป็นต้น

มุมมองนี้ยังอธิบายการก่อตัวของวิกฤตเศรษฐกิจยูโรโซนและวิกฤต PIIGS ว่าเกิดมาจาก Neoliberal EU นั่นเอง ซึ่งกระบวนการปรับโครงสร้างแบบเสรีนิยมใหม่นั้นเอื้อให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจภายในยุโรป และก่อให้เกิดการถ่างออกของช่องว่างความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจระหว่างรัฐทางเหนือ (เช่น เยอรมนี) กับรัฐทางใต้ของยุโรป (เช่น กลุ่ม PIIGS) นอกจากนั้น นโยบายรัดเข็มขัดของสหภาพยุโรปและธนาคารกลางยุโรปยิ่งซ้ำเติมวิกฤตเศรษฐกิจ เพิ่มช่องว่างของความไม่เท่าเทียมกัน รวมทั้งยิ่งเปลี่ยนรูปรัฐสมาชิกและ EU ให้เป็นเสรีนิยมใหม่เข้มข้นมากขึ้น

นักวิชาการบางคน เช่น Martin Feldstein ได้ชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวในการออกแบบเชิงสถาบันของค่าเงินยูโรมาตั้งแต่ต้น กล่าวคือ เป็นการออกแบบการบูรณาการทางการเงินที่ไม่มีการจัดตั้งสหภาพการคลังร่วมกัน นอกจากนั้นยังไม่มีการออกแบบทางออกให้แก่วิกฤตการเงิน นั่นคือ การไม่มี bail-out หรือการให้เงินช่วยเหลือในยามที่รัฐในยูโรโซนเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจ

กรีซเป็นตัวอย่างชั้นยอดว่าเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ประเทศก็จะติดหล่ม กล่าวคือ ไม่สามารถลดค่าเงินได้ และไม่มี bail-out จากสหภาพยุโรป เพราะไม่มีกติกากำหนดเอาไว้ แม้ว่าจะมีการตัดสินใจให้เงินกู้ในเวลาต่อมา แต่ก็ตามมาด้วยชุดนโยบายการรัดเข็มขัดแบบเสรีนิยมใหม่ อาจกล่าวได้ว่าการออกแบบเชิงสถาบันการเงินดังกล่าวได้ขุดหลุมสร้างกับดักไว้สำหรับวิกฤตการณ์การเงินในอนาคต

เราได้เห็นการต่อต้าน EU แบบทุนเป็นใหญ่เกิดขึ้นในรูปแบบของการประท้วงต่อต้านนโยบายการรัดเข็มขัดในหลายบริเวณด้วยกัน โดยเฉพาะจากประชานิยมฝ่ายซ้าย เช่น ในกรีซหรือสเปน เป็นต้น

ตัวแบบที่ 3 นี้ แสดงให้เห็นว่า EU เป็นทุนนิยมแบบเสรีนิยมใหม่

 

มุมมองแบบที่ 4 : ประชาชนเป็นใหญ่

 

มุมมองแบบที่ 4 มองสหภาพยุโรปว่ายึดหลักปทัสถานทางศีลธรรม เปิดกว้าง เคารพยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางสังคมวัฒนธรรม รวมทั้งมีความเป็นสังคมโลก (Cosmopolitan) กล่าวคือ ส่งเสริมความเป็นพลเมืองโลกและหลักการต้อนรับขับสู้คนอื่นอย่างฉันมิตร (hospitality) เราอาจจะเรียกยุโรปแบบนี้ว่า Cosmopolitan EU

Robert Kagan เคยเสนอไว้ในช่วงสงครามอิรักว่า “อเมริกันมาจากดาวอังคาร ส่วนยุโรปนั้นมาจากดาวศุกร์” นั่นคือ ยุโรปแตกต่างจากสหรัฐฯ อย่างสิ้นเชิง สหรัฐฯ นิยมแนวคิดแบบฮอบส์ หรือ Hobbesian ซึ่งนิยมระเบียบโลกแบบอนาธิปไตยและสงคราม ส่วนยุโรปนั้นนิยมแนวคิดแบบคานท์ หรือ Kantian ซึ่งนิยมสันติภาพสถาพรและ Cosmopolitanism

เขากล่าวว่า “ยุโรปกำลังข้ามความสัมพันธ์เชิงอำนาจไปสู่โลกแห่งหลักนิติรัฐและการเจรจาความร่วมมือข้ามชาติ” ทั้งยัง “เป็นดินแดนแห่งสันติภาพที่ก้าวข้ามความขัดแย้งแห่งอดีต เพื่อบรรลุแนวคิดของ Immanuel Kant เรื่อง “สันติภาพสถาพร (perpetual peace)” อีกด้วย

มุมมองแบบที่ 4 จึงส่งเสริมและผลักดันคุณค่าและปทัสถานแบบยุคหลังเวสต์ฟาเลียที่ข้ามพ้นรัฐชาติ ไม่ว่าจะเป็นหลักการประชาธิปไตย หลักนิติรัฐ สิทธิมนุษยชน การส่งเสริมสันติภาพ การส่งเสริมสิทธิของเพศที่สามหรือเพศทางเลือก การเปิดกว้างและอดทนอดกลั้นต่อพหุวัฒนธรรม การต่อต้านการทรมาน การต่อต้านโทษประหารชีวิต เป็นต้น

ในด้านนโยบายต่างประเทศ เราเห็นนโยบายสำคัญได้แก่ การส่งเสริมปฏิบัติการสร้างและรักษาสันติภาพในบริเวณต่างๆ ของโลก การให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม หรือการส่งเสริมปฏิบัติการการแทรกแซงทางมนุษยธรรมในลิเบียในปี 2011 เป็นต้น นักวิชาการบางคนจึงเรียกสหภาพยุโรปแบบนี้ว่าเป็น “Normative Power” หรือเป็นมหาอำนาจทางด้านปทัสถาน

แต่ตัวแบบที่ 4 นี้ก็ถูกตั้งคำถามอยู่มากทีเดียวว่าเป็นการมองยุโรปตามสภาพความเป็นจริง หรือตามอุดมคติ ขอยกตัวอย่างกรณีผู้อพยพจากซีเรียเข้ามายังยุโรป หลายคนคงพอจำกันได้ถึงภาพศพของเด็กชายชาวซีเรียอย่าง Alan Kurdi นอนจมหาดทรายในตุรกีในช่วงต้นเดือนกันยายน 2015 ซึ่งสร้างความสะเทือนใจแก่ประชาชนยุโรปและทั่วโลก จนนำมาสู่กระแสการเปิดรับผู้อพยพในยุโรป และมองผู้อพยพในฐานะ “เพื่อนมนุษย์ร่วมโลก”

ในเวลาต่อมา กระแสนี้ถูกกลบด้วยการก่อการร้ายในปารีสในเดือนพฤศจิกายน 2015 และในที่อื่นๆ เช่น สหราชอาณาจักรในช่วงปีที่ผ่านมา แม้กระทั่งท่าทีแบบ Cosmopolitan EU ของ Angela Merkel เองก็ต้องถูกลดทอนลงด้วยกระแสชาตินิยมภายในเยอรมนี ซึ่งเธอจำเป็นต้องมีท่าทีแข็งกร้าวมากขึ้นในช่วงรณรงค์หาเสียงเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย โดยรวม กระแสชาตินิยมพุ่งสูงในหลายประเทศทั่วยุโรป ดังจะเห็นได้จากผลการเลือกตั้งรัฐสภาเยอรมันที่เพิ่งผ่านไป พรรคการเมืองชาตินิยมฝ่ายขวาอย่าง AfD (Alternative for Germany) ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 3

เรายังเห็นสหภาพยุโรปหวนกลับไปใช้นโยบายที่ให้ผู้อพยพอยู่ภายนอกพรมแดนของยุโรป ทั้งในแง่ของการตั้งค่ายผู้อพยพนอกยุโรป หรือการส่งผู้อพยพไปยังประเทศโลกที่สาม เช่น ตุรกี โดย EU สนับสนุนเงินช่วยเหลือทางมนุษยธรรม แทนที่จะให้ผู้อพยพเข้ามาอยู่ภายในพรมแดนของ EU

ยุโรปแบบที่ 4 นี้ก็ถูกตั้งคำถามอยู่มากทีเดียวว่า โดยสรุปแล้วสหภาพยุโรปส่งเสริมความมั่นคงของมนุษย์หรือความมั่นคงของรัฐมากกว่ากัน ซึ่งก็อาจจะกลับไปสู่ตัวแบบที่ 2 ซึ่งมองสหภาพยุโรปเป็น Intergovernmental EU มากกว่าหรือไม่? กระนั้น ตัวแบบ Cosmopolitan EU ก็ยังถูกมองเป็น “ความหวัง” หรือ “ความเป็นไปได้อีกแบบ” ของการเมืองยุโรปและการเมืองโลกด้วย

 

บทความนี้ไม่ได้เสนอว่าสหภาพยุโรปเป็นไปตามมุมมองใดมุมมองหนึ่งเสียทีเดียว ทั้งนี้เพราะมุมมองทั้ง 4 แบบเป็นเพียง “ตัวแบบ” หรือ “ideal type” ที่ผู้ศึกษาทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและยุโรปศึกษามักใช้อธิบายกระบวนการบูรณาการยุโรป ในทางปฏิบัติ EU อาจจะเป็นส่วนผสมของทั้ง 4 ตัวแบบ (หรือมากกว่านั้น) ซึ่งก็สะท้อนความย้อนแย้งภายในของ EU เองด้วย

การพิจารณา EU ผ่านมุมมอง 4 แบบช่วยให้เราตั้งคำถามและตั้งหลักได้ว่า สหภาพยุโรปแบบไหนที่เรากำลังนึกถึง และสหภาพยุโรปมีกระบวนการยุโรปภิวัตน์อย่างไร ซึ่งอาจช่วยให้เข้าใจว่า ทำไมรัฐ (ทั้งรัฐสมาชิก เช่น สหราชอาณาจักร หรือรัฐที่ยังไม่เป็นสมาชิก เช่น ตุรกี) หรือผู้คนจึงเลือกตัดสินใจเข้าหาหรือถอยห่างจากสหภาพยุโรป แทนที่จะทึกทักเอาว่ายุโรปเป็น “แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์” เสมอไป

การศึกษาค้นคว้าและตั้งคำถามกับ EU มากขึ้นอาจช่วยให้เราเข้าใจและอธิบายสหภาพยุโรปได้ดีขึ้นกว่าเดิมก็เป็นได้ เพราะหลายครั้งเป็นเราเองที่ติดกับดักอยู่ในตัวแบบของ EU บางแบบ จนมองไม่เห็น EU แบบอื่นๆ อย่างน่าเสียดาย

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save