fbpx
มองสหภาพยุโรป, WHO และ WTO ผ่านวิกฤต COVID-19 กับ พีเทอร์ ไมตรี อึ๊งภากรณ์

มองสหภาพยุโรป, WHO และ WTO ผ่านวิกฤต COVID-19 กับ พีเทอร์ ไมตรี อึ๊งภากรณ์

ปกป้อง จันวิทย์ สัมภาษณ์

ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล เรียบเรียง

 

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า สหภาพยุโรปกลายเป็นหนึ่งในสมรภูมิใหญ่ของการระบาดของไวรัส COVID-19

ท่ามกลางข้อวิพากษ์วิจารณ์และความคิดเห็นหลากหลายต่อการจัดการวิกฤตของทั้งสหภาพยุโรปเองและประเทศสมาชิก ห้วงเวลาที่ท้าทายเช่นนี้จะพิสูจน์ว่า องค์การเหนือรัฐ (supranational organization) อย่างสหภาพยุโรปนั้นได้เดินทางมาถึงจุดจบแล้ว หรือจะปรับตัวได้ พร้อมเดินหน้าไปต่ออย่างแข็งแกร่งขึ้น รวมทั้งยังพิสูจน์ความเข้มแข็งของระเบียบโลกเสรีนิยมที่มีการค้าเสรี และองค์การระหว่างประเทศเป็นเสาหลักสำคัญ

101 ต่อสายตรงถึงสวิตเซอร์แลนด์ ชวน “พีเทอร์ ไมตรี อึ๊งภากรณ์” ผู้มีประสบการณ์ทำงานอยู่ที่องค์การการค้าโลก (WTO) มานานเกือบ 20 ปี และผู้เขียนคอลัมน์ Letter from Europe ของ The101.world สำรวจและวิเคราะห์สถานการณ์ COVID-19 ในสหภาพยุโรปและสวิตเซอร์แลนด์ รวมถึงบทบาทขององค์การระหว่างประเทศอย่างองค์การอนามัยโลก (WHO) และ WTO ในรายการ 101 One-on-One Ep. 125: “สหภาพยุโรปในสมรภูมิ COVID-19”

 

 

สถานการณ์ COVID-19 ในสวิตเซอร์แลนด์

 

มาตรการรับมือกับ COVID-19 ในสวิตเซอร์แลนด์ เป็นมาตรการผสมระหว่างอำนาจท้องถิ่นกับอำนาจส่วนกลาง ระบบกระจายอำนาจของสวิสเป็นการแบ่งหน้าที่ระหว่างรัฐบาลกลาง กับรัฐต่างๆ หรือที่เรียกว่าแคนทอน (Canton) และระดับท้องถิ่นคือตำบลหรือหมู่บ้าน (ภาษาฝรั่งเศสเรียกว่า Commune ภาษาเยอรมันคือ Gemeinden) ไม่ได้เป็นการมอบอำนาจจากรัฐบาลกลางให้ทำแทนอย่างที่ใช้ในหลายประเทศ

เมื่อไวรัสเริ่มระบาด แคนทอนต่างๆ เริ่มเคลื่อนไหวออกมาตรการก่อนที่รัฐบาลกลางจะประกาศสถานการณ์ผิดปกติ (extraordinary situation) ในวันที่ 16 มีนาคม 2020 เพื่อให้สามารถสั่งใช้มาตรการได้ทั่วประเทศ กระนั้นก็ตาม บางแคนทอนก็ใช้มาตรการที่เข้มข้นกว่าที่รัฐบาลกลางประกาศ โดยเฉพาะรัฐทีชีโน (Ticino) ที่อยู่ทางใต้ของสวิตเซอร์แลนด์ ติดกับภาคเหนือของอิตาลีที่มีการระบาดอย่างหนัก ในช่วงแรกมาตรการของทีชีโนไม่เข้มงวดเท่ากับอิตาลีเพราะจะต้องอาศัยแรงงานที่เข้ามาทำงานจากอิตาลีวันต่อวัน แต่ต่อมาก็ตัดสินใจสั่งปิดโรงงานเพื่อป้องกันการระบาดซึ่งหนักกว่ามาตรการของรัฐบาลกลางที่กรุงเบิร์น ท้ายที่สุดรัฐบาลกลางก็ยอมให้รัฐทีชีโนสั่งปิดโรงงาน

เมื่อเปรียบเทียบกับอังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์เคลื่อนไหวและออกมาตรการค่อนข้างเร็ว ตรวจคนไข้เร็ว และอัตราการตรวจหาผู้ป่วยสูงกว่าอิตาลี จึงสามารถควบคุมโรคได้ในระดับหนึ่ง ในขณะที่อังกฤษเคลื่อนไหวช้ากว่าเพราะประมาท ไม่คิดว่าโรคจะระบาดรุนแรง ยอมปล่อยให้มีการจัดแข่งม้าที่คนมารวมตัวกันมหาศาล ทำให้ควบคุมสถานการณ์ได้ช้ากว่าสวิตเซอร์แลนด์ โดยจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตต่อจำนวนประชากรพุ่งสูงกว่า

เมื่อควบคุมโรคได้เร็วกว่า เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2020 สวิตเซอร์แลนด์จึงประกาศมาตรการผ่อนคลายสถานการณ์ล่วงหน้า โดยในเบื้องแรกแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน คือ 1. กิจการหลายอย่าง เช่น ร้านตัดผม ร้านแพทย์ ร้านขายดอกไม้กับต้นไม้ เริ่มเปิดทำการได้ในวันที่ 27 เมษายน 2. เริ่มเปิดโรงเรียนภาคบังคับในวันที่ 11 พฤษภาคม 3. เริ่มเปิดร้านค้าทั่วไป สถาบันการศึกษาอื่นๆ ในวันที่ 8 มิถุนายน มาตรการเหล่านี้จะทบทวนเป็นระยะๆ ถ้าสถานการณ์ไม่คลี่คลายลงตามที่คาดหวัง  และอาจมีมาตรการขั้นที่ 4, 5 ตามมา เพราะเขากลัวว่าจะมีโอกาสเกิดการระบาดระลอกที่ 2

ส่วนเรื่องธรรมชาติทางการเมืองของสวิตเซอร์แลนด์ที่ส่งผลต่อการรับมือกับวิกฤต COVID-19 มีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเซาธ์แฮมป์ตันเขียนวิเคราะห์การเมืองสวิตเซอร์แลนด์เปรียบเทียบกับอังกฤษ ว่าการเมืองสวิตเซอร์แลนด์นั้นเอื้ออำนวยให้เกิดความราบรื่น เพราะการเมืองสวิสใช้การประนีประนอมเพื่อหาข้อตกลง ไม่ว่าจะเป็นการประนีประนอมในระดับคณะรัฐมนตรีที่รวมพรรคการเมืองตั้งแต่อุดมการณ์ซ้ายสุดไปยังขวาสุด หรือการประนีประนอมระหว่างรัฐบาลกลาง แคนทอน และส่วนอื่นๆ ในขณะที่อังกฤษ แม้ว่าทุกฝ่ายอยากจะร่วมมือเพื่อให้ผ่านวิกฤตไปได้ แต่โดยธรรมชาติทางการเมือง ก็หนีไม่พ้นการโต้เถียงและกล่าวหากันระหว่างพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน หรือแม้กระทั่งภายในพรรคเดียวกัน

 

สหภาพยุโรปท่ามกลาง COVID-19

 

แต่ละประเทศในยุโรป (ทั้งที่อยู่ในสหภาพยุโรป และที่ไม่ใช่สมาชิก เช่น สวิตเซอร์แลนด์ อังกฤษ นอร์เวย์และไอซ์แลนด์) มีแนวทางรับมือกับ COVID-19 ไม่แตกต่างกันมาก อาจจะต่างกันที่ขีดความสามารถและรายละเอียดของแผน ตัวอย่างประเทศที่รับมือได้ดีที่สุดคือ เยอรมนี จุดที่เยอรมนีทำได้ดีกว่าประเทศอื่นมีอยู่ 3 ข้อ คือ 1. ลงมือจัดการเร็ว 2. ตรวจหาเชื้ออย่างกว้างขวาง 3. โครงสร้างพื้นฐานระบบสาธารณสุขพร้อมรับผู้ป่วย มีจำนวนห้องไอซียู ห้องฉุกเฉิน เตียงผู้ป่วยเพียงพอ อีกประเทศหนึ่งที่รับมือได้ดีคือ ไอซ์แลนด์ แต่อาจรับมือได้ค่อนข้างง่าย เพราะมีประชากรไม่มาก หาผู้ติดเชื้อได้เร็ว นอกจากนี้ ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่าประเทศที่จัดการกับวิกฤตได้ดี ส่วนมากมีผู้นำประเทศเป็นผู้หญิง ซึ่งเหตุผลนี้ก็เข้ากับกรณีเยอรมนีและไอซ์แลนด์เช่นกัน

ส่วนประเทศที่รับมือได้ไม่ค่อยดีเท่าไรนัก ได้แก่ อิตาลี โดยเฉพาะทางภาคเหนืออย่างมิลาน เวนิส และแถบลอมบาร์ดีทางเหนือของประเทศ กับสเปน เนื่องจากเคลื่อนไหวช้า และอาจลงมือตรวจไม่เพียงพอ ฝรั่งเศสก็ถือว่าลงมือช้าจนผู้นำออกมาขอโทษและยอมรับว่าวางนโยบายผิดพลาดไป

ส่วนทิศทางสถานการณ์ที่สแกนดิเนเวียเป็นไปอย่างกลางๆ อย่างนอร์เวย์ ประเทศมีพื้นที่กว้างขวาง และคนไม่ได้อาศัยอยู่หนาแน่นแบบในเมืองหลวงใหญ่อย่างลอนดอนหรือปารีส ส่วนสวีเดนที่เลือกมาตรการต่างออกไป คือไม่สั่งปิดเมืองเพราะไม่ต้องการขัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนนั้น อัตราการตายต่อประชากรหนึ่งล้านคนสูงกว่าสวิตเซอร์แลนด์และอเมริกาเล็กน้อย แต่ยังต่ำกว่าอังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี สเปนอยู่มาก อย่างไรก็ตาม ระยะหลังก็เริ่มมีคนออกมาตั้งคำถามต่อมาตรการไม่ปิดเมืองของสวีเดนแล้วว่าได้ผลจริงหรือไม่

พูดยากมากว่าสหภาพยุโรปทำหน้าที่อย่างที่สมควรจะทำแล้วหรือไม่ เพราะแต่ละประเทศสมาชิกมีความคาดหวังต่อสหภาพยุโรปแตกต่างกันไป ประเทศที่เดือดร้อนจากการระบาดอย่างรุนแรงอย่างอิตาลีก็คาดหวังว่าจะได้รับความช่วยเหลือจากสหภาพยุโรปและประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป โดยเฉพาะประเทศทางยุโรปเหนือที่มีฐานะเศรษฐกิจดีอย่างเยอรมนีหรือเนเธอร์แลนด์ ในเรื่องความช่วยเหลือทางสาธารณสุข ต้องยอมรับว่าระบบสาธารณสุขของเยอรมนีรับมือได้ยอดเยี่ยมมากจนสามารถช่วยเหลือและรองรับผู้ป่วยนอกประเทศจากฝรั่งเศสและอิตาลีได้ แต่เรื่องความช่วยเหลือทางการเงินก็มีการต่อรองกันไปมา ภาพการต่อรองเป็นไปในลักษณะเดียวกับช่วงวิกฤตหนี้สาธารณะของกรีซ คือ ประเทศทางยุโรปเหนือบอกว่าปล่อยเงินช่วยเหลือให้ไม่ได้ แต่ท้ายที่สุดก็ต้องช่วย

ความขัดแย้งระหว่างสหภาพยุโรปกับประเทศสมาชิกไม่ได้มาจากรัฐบาลประเทศสมาชิก แต่มาจากคนที่วิพากษ์วิจารณ์สหภาพยุโรปว่าไม่มีน้ำยาลงไปจัดการวิกฤต อย่างไรก็ตาม ก็มีคนบอกว่าการมองเช่นนี้ผิด เพราะสหภาพยุโรปได้รับอำนาจจากประเทศสมาชิกในบางเรื่องเท่านั้น เช่นเรื่องการค้า แต่เรื่องสาธารณสุข อำนาจอยู่ที่ประเทศสมาชิก สหภาพยุโรปเป็นเพียงศูนย์รวมความร่วมมือบางอย่างเท่านั้น อย่างเช่นการแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่านสถาบันสาธารณสุขส่วนกลาง หรือมีขั้นตอนการจัดซื้อเครื่องช่วยหายใจร่วมกันเพราะราคาจะถูกกว่าหากซื้อในปริมาณมาก แต่เรื่องการปิดเขตแดน ปิดเมือง มาตรการรับมือกับคนไข้ มาตรการคลี่คลายจากการปิดเมืองนั้นเป็นเรื่องของแต่ละประเทศสมาชิก

ปัญหาของวิกฤตครั้งนี้ คือไม่มีการแบ่งงานกันอย่างชัดเจนระหว่างระดับสหภาพยุโรปและประเทศสมาชิก บางคนคาดการณ์ว่า ครั้งนี้สหภาพยุโรปอาจมาถึงจุดจบแล้วเพราะสหภาพยุโรปตอบสนองต่อวิกฤตได้ไม่ค่อยดี แต่บางคนบอกว่าครั้งนี้เป็นโอกาสที่จะเรียนรู้และปรับปรุงการร่วมมือกันในระดับสหภาพ

ความคาดหวังที่คนมีต่อสหภาพยุโรปจากวิกฤตครั้งนี้ คือ การแบ่งอำนาจหน้าที่ในเรื่องสาธารณสุขระหว่างสหภาพยุโรปและประเทศสมาชิกที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น แต่ในเรื่องความช่วยเหลือทางการเงินที่อิตาลีกำลังเดือดร้อนอยู่นั้น มีประเด็นทับซ้อนอยู่ระหว่างปัญหาจากวิกฤต COVID-19 และปัญหาจากการใช้งบประมาณที่มีอยู่มาแต่เดิม แต่ละคนก็มีข้อเสนอต่อสหภาพยุโรปว่าจะต้องปรับปรุงต่อไปอย่างไรในอนาคต แต่ก็ยังไม่มีข้อสรุปหรือแผนที่เป็นรูปธรรมออกมา ดังนั้น การปรับปรุงสหภาพยุโรปก็ยังเป็นประเด็นที่ต้องคุยกันต่อไปในอนาคต

 

ความท้าทายของสหภาพยุโรปในโลกหลัง COVID-19

 

ในทางการเมือง วิกฤต COVID-19 นำมาซึ่งความตึงเครียด (tension) ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในสหภาพยุโรปเท่านั้น แต่เกิดขึ้นในระดับโลกหรือระดับภูมิภาคอื่นด้วย

ความตึงเครียดดังกล่าวมาจากความขัดแย้งของทางเลือกระหว่างการแก้ไขปัญหาผ่านความร่วมมือระหว่างประเทศกับการแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองของแต่ละประเทศ ปัญหาไวรัสระบาดนั้น เป็นทั้งปัญหาระดับประเทศและปัญหาระหว่างประเทศ แต่ในขณะเดียวกัน ประเทศที่เผชิญปัญหาหนักกลับมุ่งมองปัญหาในประเทศอย่างเดียว ไม่มองการร่วมกันแก้ปัญหาในระดับระหว่างประเทศเท่าไร

คาดการณ์ได้ยากว่าผลต่อสหภาพยุโรปจะเป็นอย่างไรต่อไป แต่ผลน่าจะออกมาในลักษณะว่า ความขัดแย้งสองทางที่กล่าวมาจะดึงสหภาพยุโรปไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง อย่างไรก็ดี เราน่าจะมีความหวังว่าคนจะเห็นความจำเป็นของความร่วมมือระหว่างประเทศมากขึ้น

ในทางเศรษฐกิจ ณ ตอนนี้สหภาพยุโรปต้องจัดการปัญหาอยู่ 2 เรื่อง คือ หนึ่ง จะนำเงินจากส่วนไหน (เช่น จากธนาคารกลางสหภาพยุโรป) มาช่วยเหลืออิตาลี และสอง เรื่องการตั้งงบประมาณ ซึ่งตั้งงบครั้งละ 3 ปี

ส่วนเรื่องการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการออกนโยบายทางเศรษฐกิจเพื่อรองรับหลังสถานการณ์คลี่คลายนั้น ยังเร็วเกินไปและยากที่จะคาดการณ์ เพราะตอนนี้ไม่มีใครรู้ว่าแน่ชัดว่าเศรษฐกิจของประเทศตัวเองจะเป็นอย่างไรหลังวิกฤต การรวมแนวคิดในระดับสหภาพยุโรปจึงยังเป็นเรื่องที่ลำบาก แต่สิ่งที่เรารู้อย่างหนึ่งคือ หลายประเทศในสหภาพยุโรปทุ่มเงินช่วยเหลือในลักษณะที่ขัดกับวินัยการคลังยามสถานการณ์ปกติ เพราะฉะนั้นหลังจากสถานการณ์คลี่คลาย ทุกประเทศจะต้องเผชิญกับปัญหาว่าจะจัดการนโยบายการคลังอย่างไร

ความท้าทายทางเศรษฐกิจที่สหภาพยุโรปจะต้องเผชิญ คือ จะต้องหานโยบายเศรษฐกิจที่ทั้งสหภาพยุโรปจะไปต่อร่วมกันได้ เศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ในสหภาพยุโรปมีความแตกต่างกันโดยพื้นฐานก็จริง แต่ก็มีความใกล้ชิดกันมากเพราะสหภาพยุโรปเป็นตลาดเดียว (single market) ที่ไม่มีอุปสรรคทางการค้าและบริการ ทุนและแรงงานสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี

ความท้าทายอีกอย่างหนึ่งคือ เรื่องการใช้นโยบายการเงินร่วม แต่ไม่มีนโยบายการคลังร่วมกันในสหภาพยุโรป ตรงจุดนี้นำไปสู่ปัญหา เพราะแต่ละประเทศมีวินัยการคลังต่างกัน บางประเทศอาจใช้นโยบายขาดดุลงบประมาณเยอะ ในขณะที่อีกประเทศหนึ่งมีวินัยการคลัง จึงทำให้มีปัญหาเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเงิน สหภาพยุโรปต้องจัดการกับปัญหาตรงจุดนี้ต่อไป อย่างไรก็ตาม การกลับไปใช้สกุลเงินเดิมของประเทศที่อยู่ในสกุลยูโรเป็นเรื่องที่ทำได้ แม้ว่าการมีสกุลเงินร่วมกันแล้วจะทำให้ประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโรแยกตัวออกไปยากก็ตาม แต่หากแยกออกไปแล้ว จะทำให้ตลาดร่วมสหภาพยุโรปไม่เป็นตลาดร่วม 100% อีกต่อไป

สิ่งท้าทายอีกข้อหนึ่งที่สหภาพยุโรปจะต้องเผชิญคือ การประสานนโยบายทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปต่อประเทศสมาชิก นโยบายของแต่ละประเทศสมาชิกต่อประเทศสมาชิกด้วยกันเอง และนโยบายของประเทศสมาชิกต่อสหภาพยุโรป ว่าจะประสานกันได้ดีแค่ไหน เพราะการใช้นโยบายการเงินของสหภาพยุโรปมีความซับซ้อน นโยบายมีหลายชั้น ทั้งจากธนาคารกลางสหภาพยุโรปและจากธนาคารแห่งชาติของแต่ละประเทศเอง แต่ขาดนโยบายการคลังร่วมในระดับสหภาพยุโรปแม้จะพยายามอยู่ในกรอบวินัยทางการคลังเหมือนกันก็ตาม

สหภาพยุโรป โดยเฉพาะประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโร ‘เหมือน’ จะมี ‘กฎเหล็ก’ เรื่องวินัยทางการเงินการคลังหลังจากวิกฤตหนี้สาธารณะเกิดขึ้นในกรีซ อิตาลี และสเปนในปี 2008 และเมื่อวิกฤตเศรษฐกิจจากไวรัส COVID-19 บีบให้แต่ละประเทศต้องออกนโยบายการเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ อิตาลีและสเปนที่เผชิญปัญหาหนักจาก COVID-19 แต่มีพื้นฐานการคลังที่ไม่แข็งแรงเหมือนจะต้องเจอกับแรงกดดันจากทางเลือกเชิงนโยบายเช่นนี้ แต่กฎเหล็กนั้นไม่เชิงว่าเป็นกฎเหล็กเสียทีเดียว ที่จริงแล้วหัวใจอยู่ที่การเจรจาระหว่างประเทศสมาชิกว่าทำอะไรได้มากน้อยขนาดไหน

 

โฉมหน้าการค้าเสรีหลัง COVID-19

 

ทั้งหมดนี้เป็นการคาดการณ์จากสิ่งที่เรายังไม่รู้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะมีบทความออกมาเสนอว่า COVID-19 คือจุดจบของโลกาภิวัตน์ หรือเป็นโอกาสที่โลกาภิวัตน์จะเข้มแข็งมากขึ้น แต่ผมคิดว่าสถานการณ์น่าจะออกมากลางๆ โลกาภิวัตน์จะยังมีอยู่ แต่อาจเปลี่ยนแปลงบ้าง ที่เห็นได้จากประสบการณ์ส่วนตัวคือ เทคโนโลยีสื่อสารอย่าง Zoom อาจจะเข้ามาแทนที่ความจำเป็นของการทำงานที่ต้องอาศัยการเดินทาง แต่การแบ่งงานกันทำของประเทศต่างๆ ที่แบ่งกันผลิตสินค้าและบริการในระดับโลก หรือการ offshore ให้ประเทศอื่นผลิตแทนจะยังมีอยู่ แต่ก็อาจจะเปลี่ยนไปเช่นกัน บริษัทที่มี supply chain รับชิ้นส่วนที่ผลิตจากต่างประเทศเข้ามาประกอบต่ออาจจะต้องระวังมากขึ้นว่าอะไรที่ควรผลิตเอง หรืออะไรที่ยังให้ประเทศอื่นผลิตแล้วค่อยนำเข้ามาทีหลังได้

โลกไม่เคยมีการค้าเสรีโดยสมบูรณ์ และจะไม่มีวันมี มีแต่การค้าที่เสรียิ่งขึ้น คล่องตัวขึ้น มีอุปสรรคน้อยลง ดังนั้นการค้าเสรีจึงเป็นเรื่องของดีกรีว่าเสรีมากหรือน้อย

จากวิกฤต COVID-19 จะเห็นได้ชัดว่า ปัญหาและความท้าทายของการค้าเสรีคือเรื่อง supply chain เมื่อการรับวัตถุดิบการผลิตจากประเทศอื่นเข้ามาผลิตต่อถูกขัดขวาง

อีกสิ่งหนึ่งที่กลายเป็นประเด็น คือการห้ามส่งออกซึ่งไม่ค่อยจะเกิดขึ้นในสถานการณ์ปกติ แต่เมื่อเกิดวิกฤต หลายประเทศไม่ยอมส่งออกผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสาธารณสุข เช่น ยาหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ เพราะต่างคนต่างคิดว่าต้องเก็บไว้ใช้ในประเทศ เมื่อไม่ส่งออก จึงหาซื้อสินค้าในตลาดโลกได้ลำบาก นอกจากนี้ เราเริ่มเห็นการกักตุนสินค้าประเภทอาหาร แต่ก็เพิ่งมีประกาศจากประเทศสมาชิกของ WTO ที่ผลิตอาหาร 50 ประเทศจาก 164 ประเทศสมาชิกว่าจะพยายามไม่ห้ามการส่งออกอาหาร และไม่ขัดขวาง supply chains เพราะกลัวว่าไม่เช่นนั้นประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าอาหารหรือต้องพึ่ง supply chains จะลำบาก ดังนั้นประเทศต่างๆ ต้องเริ่มคิดแล้วว่า สมดุลระหว่างการกักตุนและการส่งออกอยู่ตรงจุดไหน ต้องมีความเป็นธรรม ต้องเปิดให้ซื้อขายกันได้

แต่การมีสินค้าในตลาดกับกำลังซื้อที่เพียงพอก็ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน หากประเทศจนต้องการสินค้าเหล่านี้ซึ่งมีเพียงพอในตลาด แต่ไม่มีกำลังซื้อ การมีสินค้าในตลาดก็ไม่ได้ทำให้เข้าถึงสินค้าได้ ดังนั้นต้องไม่ดูแต่เพียงว่ามีสินค้าในตลาดหรือไม่ แต่ต้องดูเรื่องราคาและกำลังซื้อด้วย

 

ความท้าทายของ WTO และ WHO หลัง COVID-19

 

การปรับตัวของ WTO เพื่อรับมือความท้าทายที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะจากการขึ้นมามีอำนาจของผู้นำที่ต่อต้านการค้าเสรีอย่างทรัมป์ หรือการทำสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐนั้น อยู่ที่ว่าประเทศสมาชิกขององค์การ 164 ประเทศจะตกลงแก้ไขปัญหาอย่างไร ปัจจุบันก็มีความพยายามเสนอความคิดและแก้ไขกันอยู่ อย่างเช่น ข้อเสนอแก้ไขกระบวนการระงับข้อพิพาท (Dispute Settlement Body: DSB) ซึ่งปัญหาติดอยู่ที่ขั้นตอนการอุทธรณ์ เพราะสหรัฐฯ ขัดขวางไม่ให้ตั้งผู้พิพากษาใหม่ ทำให้กระบวนการตัดสินดำเนินต่อไปไม่ได้ ประเทศสมาชิกอื่นจึงแก้ด้วยการย้อนกลับไปดูว่า ข้อตกลงเปิดให้สามารถใช้วิธีการอื่นได้หรือไม่ ก็ได้ทางออกที่เรียกว่า arbitration แทนชั่วคราว ดังนั้น จึงมีทั้งข้อเสนอที่พยายามจะปรับปรุงองค์การและมาตรการเฉพาะกาลเพื่อเลี่ยงปัญหาให้ทำงานต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้กระบวนปรับปรุง WTO ต้องหยุดชะงักลงเพราะวิกฤต COVID-19 และนโยบาย social distancing ของสวิตเซอร์แลนด์ที่ห้ามรวมตัวเกิน 5 คน ทำให้ตัวแทนจากประเทศสมาชิกไม่สามารถประชุมร่วมกันได้ แม้ว่าประเทศสมาชิกจะเห็นพ้องกันว่าจะใช้เทคโนโลยี video conference ในการประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการค้า แต่งานประเภทอื่น อย่างเช่นการเจรจาหรือการระงับกรณีพิพาท อาจไม่พร้อมที่จะใช้วิธีนี้ ดังนั้นจึงต้องมีการหารือกันว่าจะทำอย่างไรต่อไป

ส่วนองค์การอนามัยโลก (WHO) ในตอนนี้ต้องเผชิญต่อข้อวิพากษ์วิจารณ์ในการทำงานอย่างมาก แต่อย่างกรณีที่ทรัมป์วิจารณ์นั้น ตัดไปได้เลยว่าเป็นข้อวิจารณ์ที่เป็นธรรมหรือมีเหตุผล WHO กลายเป็นแพะรับบาปของทรัมป์ เพราะทรัมป์ไม่ยอมให้คำวิจารณ์ตกมาถึงตัวเองทั้งๆ ที่การวิจารณ์นั้นมาจากการที่ผลของนโยบายออกมาไม่ค่อยดีเท่าไร จึงต้องเบี่ยงประเด็นไปโทษ WHO  ในขณะเดียวกันการที่ทรัมป์ขู่จะระงับการจ่ายเงินให้ WHO เป็นเรื่องที่อันตรายอย่างยิ่ง เพราะในสถานการณ์อย่างนี้ เราต้องการองค์กรที่จะประสานความร่วมมือทางสาธารณสุขระดับโลกมากขึ้น ไม่ใช่สับให้เล็กลง นอกจากนี้ WHO ยังทำงานเกี่ยวกับโรคต่างๆ มากมายนับไม่ถ้วน เช่น โปลิโอ มาเลเรีย เป็นต้น ไม่ได้ทำเรื่อง COVID19 อย่างเดียว

ในมิติขององค์การระหว่างประเทศ WHO ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเล่นการเมืองมากเกินไป แต่เราต้องไม่ลืมว่าองค์การระหว่างประเทศไม่ว่าจะเป็นองค์การสหประชาชาติ (UN), WTO และ WHO ต่างตั้งขึ้นโดยประเทศต่างๆ โดยประเทศเหล่านั้นคุมการทำงานขององค์การระหว่างประเทศด้วยการเมือง ประเด็นนี้เป็นข้อจำกัดที่แยกไม่ออกจากการดำรงอยู่ขององค์การระหว่างประเทศ ดังนั้นเราต้องเข้าใจว่าการที่ WHO ไม่วิจารณ์จีนจึงเป็นเรื่องธรรมดา อย่างการที่ไม่ยอมรับไต้หวัน ก็ต้องเข้าใจว่าจีนเป็นสมาชิก WHO กดดันจีนได้ยาก ประเทศสมาชิกด้วยกันต้องเป็นฝ่ายกดดันจีน  แต่ที่ผ่านมาทำไม่สำเร็จ

ที่สำคัญคืองานเชิงเทคนิคขององค์การระหว่างประเทศที่เป็นทบวงชำนาญการพิเศษเช่นนี้ เราต้องยอมรับว่าคุณภาพดีและมีคุณค่ามาก อาจจะมีผิดบ้าง แต่โดยทั่วไปข้อมูลใช้ได้ดี นอกจากนี้ เขายังมีข้อได้เปรียบอีก คือมีข้อมูลจากทั่วโลก แม้ว่าเขาไม่มีอำนาจที่จะบังคับให้ประเทศสมาชิกทำตามคำสั่งได้ แต่สามารถให้ข้อมูลและคำแนะนำได้ แต่ละประเทศสมาชิกก็มีสิทธิพิจารณาเองว่าจะทำตามหรือไม่ทำตาม

หลังจากวิกฤต COVID-19 ความท้าทายของไทยและโลกมีอยู่ 2 ประเด็น คือ หนึ่ง เราต้องทำความเข้าใจและเชื่อความรู้เชิงวิชาการ เชื่อผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการมากขึ้น และสอง ความร่วมมือระหว่างประเทศต้องเพิ่มมากขึ้นในทุกประเด็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อม หรือเศรษฐกิจที่เป็นความท้าทายใหม่ในอนาคต แต่ละประเทศจะต่างคนต่างทำไม่ได้ ไม่เช่นนั้นจะไปไม่รอด

องค์การระหว่างประเทศหลังยุค COVID-19 จะยังมีน้ำยาอยู่ แต่จะมีมากน้อยขนาดไหน ขึ้นอยู่ว่าแต่ละประเทศใช้องค์การระหว่างประเทศมากน้อยขนาดไหนด้วยเช่นกัน หากพูดถึงกรณี WTO ความท้าทายใหญ่นั้นอยู่ที่การเจรจา เพราะการเจรจาการค้าไม่ได้เป็นประเด็นเฉพาะเรื่องการค้าอย่างเดียว แต่เกี่ยวพันกับประเด็นอื่นด้วยเช่นกัน เช่นประเด็นการค้าไปเกี่ยวพันกับประเด็นสิ่งแวดล้อม อย่างตอนนี้ก็มีโจทย์ว่าจะยกเลิกการอุดหนุนการประมง เพราะทำให้จำนวนปลาในทะเลลดลง เพราะฉะนั้นการที่องค์การระหว่างประเทศไม่สามารถออกข้อตกลงได้ หรือในกรณี WTO ไม่สามารถออกกติกาการค้าที่เอื้ออำนวยต่อสิ่งแวดล้อมได้นั้นไม่ใช่ความผิดขององค์การระหว่างประเทศ แต่เป็นเพราะประเทศในประชาคมโลกไม่สามารถหาข้อตกลงได้

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save