fbpx

อนาคตร่วม: วิสัยทัศน์สหภาพยุโรป อาเซียน และไทยต่อ ‘อินโด-แปซิฟิก’

เป็นเวลากว่า 2 ปี นับตั้งแต่คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปลงมติรับรองยุทธศาสตร์ของสหภาพยุโรปเพื่อความร่วมมือในอินโด-แปซิฟิก และมีการเผยแพร่เอกสารยุทธศาสตร์เพื่อความร่วมมือในอินโด-แปซิฟิกของสหภาพยุโรป (EU Strategy for Cooperation in the Indo-Pacific) อย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกันยายน ปี 2021 อันเป็นตราประทับเจตนารมณ์อันมุ่งมั่นของสหภาพยุโรปในการเข้ามามีปฏิสัมพันธ์และเสริมสร้างบทบาทต่อภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก เพื่อบรรลุเป้าหมายแห่งการสร้างสันติสุข ความมั่งคั่ง และการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภูมิภาค

อย่างไรก็ตาม ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่เปรียบเสมือนจุดศูนย์ถ่วงทางเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์ของโลก กลับเผชิญความท้าทายจากรอบทิศทาง ทั้งจากการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจ โรคระบาด วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อีกทั้งได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกในวันนี้จึงต่างกับอินโด-แปซิฟิกในปี 2021 ของสหภาพยุโรปเป็นอย่างมาก

101 ชวนทบทวนถึงวิสัยทัศน์และประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์ของสหภาพยุโรปสำหรับความร่วมมือในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ตลอดจนผลลัพธ์ต่อไทยและอาเซียน ในยุคสมัยที่อินโด-แปซิฟิกคืออนาคตร่วมของนานาประเทศทั่วโลก โดยเก็บความจากงานเสวนาหัวข้อ ‘A Shared Future: The EU’s Vision for the Indo-Pacific’

งานเสวนาครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 3 ของซีรีส์งานเสวนาที่จัดขึ้นโดยสถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ (Institute of Security and International Studies – ISIS) และคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย (Delegation of the European Union to Thailand) โดย เดวิด เดลี (David Daly) เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยกล่าวว่า “ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก สะท้อนให้เห็นว่า สหภาพยุโรปให้ความสนใจและความสำคัญต่อภูมิภาคแห่งนี้ ยุทธศาสตร์ดังกล่าวหลอมรวมความร่วมมือและส่งเสริมภารกิจหลายด้านที่เรากำลังทำอยู่ เพื่อบรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ซึ่งตั้งอยู่บนความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน” 

เดวิด เดลี (David Daly) เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย | ภาพจาก สถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ

อนาคตร่วมของสหภาพยุโรปและอินโด-แปซิฟิก

ริชาร์ด ทิบเบลส์ (Richard Tibbels) ผู้แทนพิเศษด้านอินโด-แปซิฟิกแห่งสหภาพยุโรป (EU Special Envoy for the Indo-Pacific) กล่าวในวาระการเยือน 3 ประเทศสมาชิกอาเซียน ได้แก่ ไทย อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ถึงความสำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก โดยชี้ถึงความเชื่อมโยงของกิจการในอินโด-แปซิฟิกที่มีส่วนกำหนดอนาคตของยุโรปในสองมิติ ดังต่อไปนี้

ประการแรก ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกถือเป็นภูมิภาคที่สำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก เช่นเดียวกับที่ความมั่งคั่งของสหภาพยุโรปอิงอยู่กับการเจริญเติบโตของภูมิภาคนี้ ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจอันแนบแน่นระหว่างสหภาพยุโรปและภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกเป็นผลสืบเนื่องจากอาณาบริเวณของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่ครอบคลุมจุดยุทธศาสตร์ทางการค้าโลก โดย 1 ใน 3 ของการขนส่งสินค้าทางเรือต้องขนส่งผ่านเส้นทางในทะเลจีนใต้ นอกจากนี้ ร้อยละ 40 ของการส่งออกสินค้าของสหภาพยุโรปต้องขนส่งผ่านช่องแคบไต้หวัน อีกทั้งมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) ของสหภาพยุโรปยังอยู่ในอันดับต้นๆ ในหลายประเทศของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

ประการที่สอง เสถียรภาพในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกมีอิทธิพลต่อการกำหนดอนาคตของระเบียบระหว่างประเทศ ท่ามกลางการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจที่ทวีความเข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะเมื่อพื้นที่ที่เป็นจุดปะทะสำคัญ (hotspot) ในการเมืองโลกล้วนตั้งอยู่ในอินโด-แปซิฟิก ครอบคลุมทะเลจีนใต้ ช่องแคบไต้หวัน จนถึงคาบสมุทรเกาหลี

ริชาร์ด ทิบเบลส์ (Richard Tibbels) ผู้แทนพิเศษด้านอินโด-แปซิฟิกแห่งสหภาพยุโรป | ภาพจาก สถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ

เพราะฉะนั้น ยุทธศาสตร์ต่ออินโด-แปซิฟิกของสหภาพยุโรปจึงตั้งอยู่บนฐานคิดที่ว่า ยุโรปไม่สามารถแยกความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจออกจากความมั่นคงได้ อีกทั้งแนวคิดดังกล่าวเป็นรากฐานในการวางแผนการดำเนินยุทธศาสตร์อื่นๆ ของสหภาพยุโรปให้ส่งเสริมเป้าหมายของยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ดังที่ปรากฏอยู่ในโครงการประตูสู่โลก (Global Gateway) ของสหภาพยุโรปและแผนปฏิบัติการเข็มทิศยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงและการป้องกันประเทศ (A Strategic Compass for Security and Defence for the European Union)

เพื่อให้เห็นภาพความสำคัญของเสถียรภาพในอินโด-แปซิฟิกต่อโลกและสหภาพยุโรป ทิบเบลส์ ยกคำกล่าวของโจเซฟ บอร์เรลล์ (Josep Borrell) ผู้แทนระดับสูงด้านนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงของสหภาพยุโรปที่เคยกล่าวไว้ว่า “ไม่มีความห่างไกลในโลกโลกาภิวัตน์” เห็นได้จากสงครามในยูเครนที่กระทำโดยรัสเซีย อันเป็นการละเมิดกฎบัตรสหประชาชาติและระเบียบระหว่างประเทศ สงครามนี้จึงไม่ใช่แค่สงครามของยุโรป แต่เป็นสงครามที่สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทุกประเทศทั่วโลกที่ยึดถืออำนาจอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน เช่นนั้น ภัยคุกคามต่อเสถียรภาพในอินโด-แปซิฟิกจึงเป็นความกังวลโดยตรงต่อยุโรป

พันธมิตรและการมีส่วนร่วม: หัวใจของยุทธศาสตร์สหภาพยุโรปในอินโด-แปซิฟิก

แม้สหภาพยุโรปมุ่งหมายว่าจะเพิ่มบทบาทของตนในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก อย่างไรก็ตาม ทิบเบลส์ เน้นย้ำว่าสหภาพยุโรปไม่ต้องการเพิ่มความตึงเครียดให้กับการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างมหาอำนาจที่ร้อนระอุอยู่แล้วในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก หากแต่สหภาพยุโรปต้องการสร้างความมั่นใจแก่ประเทศพันธมิตรว่าสหภาพยุโรปเป็นพันธมิตรที่เชื่อถือและพึ่งพาได้ โดยสหภาพยุโรปจะใช้กลไกที่มีอยู่แล้วพัฒนาความร่วมมือกับชาติพันธมิตรให้เกิดผลประโยชน์ที่มากขึ้น

ในระดับภูมิภาค สหภาพยุโรปจะทำงานอย่างใกล้ชิดกับอาเซียน โดยเฉพาะในการพัฒนาความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมและความเชื่อมโยง ตามที่ได้มีข้อตกลงและเจตนารมณ์ช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหภาพยุโรประดับผู้นำสมัยพิเศษเมื่อเดือนธันวาคม 2022 ที่ผ่านมา ความสำเร็จในการประชุมดังกล่าวยังช่วยยืนยันความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างสหภาพยุโรปและอาเซียน

ด้านความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีกับไทย สหภาพยุโรปจะบูรณาการความร่วมมือ 7 ด้านตามยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกให้สอดคล้องกับความร่วมมือตามร่างกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านระหว่างสหภาพยุโรปและประเทศไทย (EU-Thailand Partnership and Cooperation Agreement: PCA) ที่เพิ่งลงนามไปเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ดังต่อไปนี้

ในด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนและทั่วถึง (sustainable and inclusive prosperity) สหภาพยุโรปมีความคาดหวังว่าจะสามารถเปิดการเจรจาเขตการค้าเสรี (Free Trade Area: FTA) ร่วมกับไทยให้สำเร็จได้ โดยมีสัญญาณเชิงบวกจากการหารือที่ผ่านมา สหภาพยุโรปคาดว่า FTA จะช่วยส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่าง 2 ฝ่าย อีกทั้งยังสามารถยกระดับมาตรฐานการค้าของไทยให้ทัดเทียมกับสากล

ส่วนด้านการเปลี่ยนผ่านสีเขียว (green transition) สหภาพยุโรปมองว่าแผนปฏิบัติการด้านสิ่งแวดล้อมของไทยและสหภาพยุโรปเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งไทยและสหภาพยุโรปต่างเป็นภาคีให้สัตยาบันในความตกลงปารีส (Paris Agreement) อีกทั้งมีมติเห็นชอบต่อแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศภายหลังปี 2020 (Nationally Determined Contribution: NDC) ไทยจึงมีศักยภาพที่จะเป็นพันธมิตรสำคัญของสหภาพยุโรปในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ด้านการบริหารจัดการกิจการทางทะเล (ocean governance) สหภาพยุโรปและไทยต่างให้ความสนใจในการแก้ไขปัญหาการประมงผิดกฎหมาย ซึ่งในส่วนที่สหภาพยุโรปต้องการผลักดันเพิ่มเติมคือการติดตามและร่วมมือกันในการปฏิบัติตามสนธิสัญญาทะเลหลวง (High Seas Treaty) ที่ได้รับการลงนามเมื่อวันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายในการจัดการพื้นที่คุ้มครองทางทะเล เพื่อปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพและมิติด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ

นอกจากนี้ ในด้านการเปลี่ยนผ่านดิจิทัล สหภาพยุโรปได้สร้างความร่วมมือด้านการกำกับดูแลด้านเทคโนโลยีดิจิทัล (digital governance) ผ่านโครงการวิจัยที่สอดคล้องกับแผนของอาเซียน ในด้านการเชื่อมต่อ สหภาพยุโรปจะบูรณาการโครงการประตูสู่โลกให้เข้ากับแนวพื้นที่เศรษฐกิจ ที่ครอบคลุมตั้งแต่เวียดนาม ลาว จนถึงไทย ส่วนด้านความมั่นคง สหภาพยุโรปจะให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางทะเลเป็นหลัก และยังมีโครงการอื่นๆ ที่จะดำเนินร่วมกัน

Normative Power Europe: สหภาพยุโรปในทัศนะไทยและอาเซียน

กษิร ชีพเป็นสุข รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ และอาจารย์จากภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ไทยและอาเซียนมองบทบาทสหภาพยุโรปในฐานะมหาอำนาจที่มีอิทธิพลต่อการกำหนดบรรทัดฐาน (Normative Power Europe: NPE) ซึ่งมีความสามารถในการทำให้รัฐที่มีปฏิสัมพันธ์ด้วยหันมาให้ความสำคัญกับปทัสถาน เช่น คุณค่าประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน หลักนิติธรรม และความเท่าเทียมทางเพศ การปรับใช้จุดแข็งนี้ในการดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก จะส่งเสริมบทบาทสหภาพยุโรปในภูมิภาคในระยะยาว

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือกรณีที่สหภาพยุโรปให้ใบเหลืองเพื่อควบคุมสินค้าประมงไทยไม่ให้เข้าสู่ยุโรป เนื่องจากตอนนั้นประเด็นการทำประมงผิดกฎหมายในไทยยังขาดการรับมือ (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing: IUU Fishing) ซึ่งภายหลังไทยได้แก้ไขปัญหาดังกล่าวจนสามารถปลดใบเหลืองได้ และยังบริหารจัดการอุตสาหกรรมประมงให้ได้มาตรฐานอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นว่าสหภาพยุโรปเปลี่ยนให้ไทยที่ไม่ได้สนใจประเด็นดังกล่าวหันมาให้ความสำคัญและกำกับดูแลในระยะยาว

กษิร ชีพเป็นสุข ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย | ภาพจาก สถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ

กษิรชี้ว่าการเป็น normative power ของยุโรปจะช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพยุโรปและพันธมิตรในอินโด-แปซิฟิกยั่งยืน เนื่องจากพันธมิตรสามารถเชื่อใจได้ว่าสหภาพยุโรปจะไม่ใช้อำนาจทางการทหารในการจัดการปัญหาในภูมิภาค เพราะสหภาพยุโรปยึดมั่นในระเบียบระหว่างประเทศซึ่งตั้งอยู่บนฐานของกฎกติกาที่ทุกฝ่ายยอมรับ (rule-based international order)

การดำเนินนโยบายแบบ normative power ของสหภาพยุโรปต่ออินโด-แปซิฟิกยังปรากฏให้เห็นในความสัมพันธ์ระดับทวิภาคี ผ่านกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้าน (PCA) ที่สหภาพยุโรปลงนามร่วม 6 ฉบับกับประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งมีการสร้างความร่วมมือระหว่างกันบนหลักการที่เคารพหลักสากล และบรรทัดฐานระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ กษิรยังชี้ให้เห็นถึงความยืดหยุ่นของสหภาพยุโรปในการปรับเนื้อหาความร่วมมือตามบริบทเฉพาะของแต่ละประเทศ โดยได้ยกตัวอย่างความแตกต่างในรายละเอียดของเนื้อหาใน PCA ฉบับของไทยและเวียดนาม ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนตามบริบทของแต่ละประเทศเพื่อให้เหมาะสมที่สุด และนำไปสู่การรับปทัสถานจากสหภาพยุโรป ทั้งหมดนี้สะท้อนว่า สหภาพยุโรปมีวิสัยทัศน์ในการดำเนินนโยบายบนฐานความเข้าใจในบริบทเฉพาะของชาติพันธมิตร อันจะนำไปสู่ความร่วมมือที่ยั่งยืน

หนุนเสริมและเติมเต็ม: ความสอดคล้องทางยุทธศาสตร์ของสหภาพยุโรป อาเซียน และไทยในอินโด-แปซิฟิก

เมื่อพิจารณายุทธศาสตร์เพื่อความร่วมมือในอินโด-แปซิฟิกของสหภาพยุโรปและเอกสารมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (ASEAN Outlook on the Indo-Pacific: AOIP) กษิรชี้ให้เห็นว่าเป้าหมายด้านความร่วมมือของสหภาพยุโรปและอาเซียน มีความสอดคล้องและสามารถบูรณาการร่วมกันได้ โดยได้เทียบเคียงให้เห็นผ่านความร่วมมือ 7 ด้านตามที่ระบุไว้ในยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหภาพยุโรปกับ 4 สาขาความร่วมมือตามยุทธศาสตร์ของอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิกที่ปรากฏอยู่ในเอกสารมุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก ซึ่งได้แก่ ความร่วมมือทางทะเล การเชื่อมโยง เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจและด้านต่างๆ

มุมมองสำคัญที่อาเซียนและสหภาพยุโรปมีร่วมกันต่อภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกคือ การสร้างความร่วมมือโดยเน้นการมีส่วนร่วมของทุกชาติและธำรงไว้ซึ่งระเบียบที่ตั้งอยู่บนกฎหมายระหว่างประเทศ บทบาทและยุทธศาสตร์ของสหภาพยุโรปในภูมิภาคจะช่วยหนุนเสริมความเชื่อมั่นและความไว้วางใจในหมู่ประเทศอินโด-แปซิฟิก ด้วยการยึดมั่นในหลักการดังกล่าวและการเคารพในหลักการ ‘ความเป็นแกนกลางของอาเซียน’ (ASEAN centrality) ทำให้ชาติพันธมิตรในภูมิภาคมั่นใจได้ว่าสหภาพยุโรปจะไม่สร้างกลุ่มความร่วมมือแบบจำกัดวง ที่กีดกันชาติใดชาติหนึ่งออกไป และเปิดกว้างในการร่วมมือกับจีนในประเด็นที่เป็นความกังวลร่วมกัน เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม กษิรมองว่าสหภาพยุโรปจะยังคงผลักดันคุณค่าและบรรทัดฐานระหว่างประเทศ ควบคู่ไปกับการแสดงความไม่เห็นด้วยกับปฏิบัติการของจีนในทะเลจีนใต้และประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนในจีน

ทิบเบลส์เสริมในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับจีนว่า สหภาพยุโรปให้ความสำคัญกับการรักษาไว้ซึ่งช่องทางการติดต่อสื่อสารกับจีนและยึดมั่นในการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน เพราะปัญหาในศตวรรษที่ 21 ไม่ได้จำกัดอยู่ที่มุมใดมุมหนึ่งของโลก สหภาพยุโรปยินดีจะร่วมมือกับจีนเพื่อตอบสนองต่อปัญหาเหล่านี้ ความแตกต่างกันของบรรทัดฐานในบางประการไม่ได้เป็นอุปสรรคกีดกันการร่วมมือ ขณะเดียวกันสหภาพยุโรปก็ต้องการเสริมบทบาทของภูมิภาคให้เข้มแข็ง เพื่อให้ประเทศในภูมิภาคมีอิสระในการตัดสินใจด้านนโยบายต่างประเทศ นอกจากนี้ สหภาพยุโรปหวังอย่างยิ่งที่จะเห็นความคืบหน้าในระเบียบการปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (Code of Conduct in the South China Sea)

กษิรยังกล่าวถึงความร่วมมือในมิติต่างๆ ที่จะช่วยยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพยุโรปและประเทศในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกให้แน่นแฟ้นและบรรลุผลอย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น ได้แก่

ในด้านความร่วมมือในการบริหารจัดการทางทะเล ซึ่งสหภาพยุโรปมีบทบาทที่โดดเด่นในการผลักดัน IUU

ส่วนในด้านความมั่นคง ความสนใจของสหภาพยุโรปในการเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน (ASEAN Defence Ministers’ Meeting: ADMM) ในฐานะผู้สังเกตการณ์จะช่วยยกระดับความใกล้ชิดในการเป็นพันธมิตรด้านความมั่นคงและการป้องกันประเทศยิ่งขึ้น รวมทั้งเป้าหมายการควบคุมอาวุธยังเป็นด้านที่สามารถพัฒนาร่วมกันต่อไปได้อีก

ด้านการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียวและสร้างพันธมิตรด้านสิ่งแวดล้อม สหภาพยุโรปมีศักยภาพที่จะเสริมความร่วมมือ ทั้งผ่านยุทธศาสตร์ที่บรรจุอยู่ใน AOIP และโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Bio-Circular-Green Economy: BCG) ที่ไทยมุ่งผลักดัน

ยิ่งไปกว่านั้น กษิรยังชี้ให้เห็นว่าสหภาพยุโรปและอาเซียนสามารถผสานความร่วมมือในด้านการเชื่อมต่อและการบริหารจัดการเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าด้วยกันได้ นอกเหนือจากการลงนามในข้อตกลงว่าด้วยการขนส่งทางอากาศระหว่างอาเซียน-สหภาพยุโรป (ASEAN-EU Comprehensive Air Transport Agreement) เมื่อปลายปี 2022 ที่สอดรับกับแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน 2025 (Master Plan on ASEAN Connectivity 2025: MPAC) และโครงการความร่วมมือด้านการวิจัยและเสริมสร้างนวัตกรรมแล้ว สหภาพยุโรปสามารถเสริมพลังให้อาเซียนและไทยในการตอบสนองต่อปัญหาอาชญากรรมดิจิทัล เช่น ปัญหาคอลเซ็นเตอร์  ซึ่งทางออกที่ยั่งยืนนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชนเท่าทันและเข้าใจการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล

นอกจากนี้ ในด้านความมั่นคงของมนุษย์ กษิรมองว่าสหภาพยุโรปมีบทบาทสำคัญในการผลักดันประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน แม้จะถูกบรรจุไว้ใน PCA แล้วก็ตาม แต่ก็ยังเผชิญกับความท้าทายในการนำไปปฏิบัติ ปัจจุบันไทยยังมีปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน อาทิ โทษประหารชีวิต การบังคับบุคคลให้สูญหาย และการกักขังที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย สหภาพยุโรปสามารถเป็นผู้นำในประเด็นเหล่านี้ได้ด้วยการเปิดเวทีพูดคุย เป้าหมายที่สำคัญอีกประการสำหรับสหภาพยุโรปต่อไทยคือการผลักดันให้รัฐบาลไทยให้สัตยาบันต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court: ICC)

ในการเปลี่ยนยุทธศาสตร์บนหน้ากระดาษให้เกิดผลลัพธ์อันเป็นรูปธรรม กษิรกล่าวว่าสหภาพยุโรปต้องมีการวัดและประเมินผลยุทธศาสตร์ในระยะสั้นและระยะยาว ปัจจัยที่ไม่ควรมองข้ามคือการสื่อสารกับประชาชน ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม เพราะการเดินไปสู่เป้าหมายต้องอาศัยความเข้าใจของสังคมด้วย

ทิบเบลส์ปิดท้ายว่า สหภาพยุโรปเองต้องการจะเป็นมากกว่า normative power ต้องการมีบทบาทที่เพิ่มมากขึ้น เกี่ยวพันกับอินโด-แปซิฟิกอย่างแน่นแฟ้น และบรรลุเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรม

“สงครามรัสเซีย-ยูเครนหลอมรวมให้ยุโรปในวันนี้มีเอกภาพและผนึกกันเหนียวแน่นยิ่งกว่าเดิม สะท้อนให้เห็นว่าสหภาพยุโรปมีศักยภาพที่จะเป็นผู้นำที่แข็งแกร่งในภูมิภาคได้ท่ามกลางความท้าทายทางภูมิรัฐศาสตร์” ทิบเบลส์ทิ้งท้าย

ริชาร์ด ทิบเบลส์ – กษิร ชีพเป็นสุข – พงศ์พิสุทธิ์ บุษบารัตน์ | ภาพจาก สถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่างคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย (Delegation of the European Union to Thailand) และ The101.world โดยเนื้อหาที่ปรากฏเป็นการทำงานอย่างอิสระของกองบรรณาธิการ 101 และไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสหภาพยุโรป

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save