fbpx
Ethical Investing: ลงทุนอย่าง ‘ยั่งยืน’ เพื่ออนาคตโลกที่ ‘ยืนยาว’

Ethical Investing: ลงทุนอย่าง ‘ยั่งยืน’ เพื่ออนาคตโลกที่ ‘ยืนยาว’

ก้าวเข้ามาสู่โลกของคนวัยทำงาน หันหน้าไปทางไหนก็เจอแต่ญาติสนิทมิตรสหายบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘อย่าลืมเก็บเงินเพื่ออนาคต!’

 

แน่นอนว่าในบทเรียนวิชาการลงทุน 101 การออมเงินในบัญชีเงินฝากเพ่ือรอรับดอกเบี้ยแค่ 2% ต่อปีดูจะเป็นตัวเลือกที่เชยไปแล้วในการให้เงินทำงาน เพราะออมให้ตายยังไงก็คงสู้กับอัตราเงินเฟ้อที่จะมาถึงในอนาคตช่วงวัยเกษียณของเราไม่ได้ เมื่อเป็นอย่างนี้ เครื่องมือในการลงทุนเก็บหอมรอมริบให้เงินเพิ่มมูลค่าคงหนีไม่พ้นการลงทุนในแบบต่างๆ อาจจะแค่ลงเงินในกองทุนรวม

หรือถ้าใจกล้าหน่อย ก็กระโดดลงสนามตลาดหุ้นได้เลย

สำหรับการลงทุนที่ว่า (โดยเฉพาะกับกองทุนหุ้นหรือตลาดหุ้น) ปัจจัยในการเลือกลงเงินให้กับธุรกิจต่างๆ ของหลายคนคงหนีไม่พ้นตัวแปรสำคัญนั่นก็คือ ‘ผลประกอบการ’ ที่จะต้องทำกำไรให้ได้สูงที่สุด และเมื่อลองเหลียวดูธุรกิจกำไรสูงๆ หลายบริษัท ก็หนีไม่พ้นกลุ่มพลังงาน น้ำมัน เคมีภัณฑ์ หรือกลุ่มบริษัทที่อาจทำกำไรจากการลดต้นทุนจนไปเบียดเบียนแรงงาน กดขี่จนไร้มนุษย์ธรรม และบางส่วนหากไปขุดดีๆ อาจไปเจอประวัติการทำธุรกิจแบบสีเทาๆ หม่นๆ เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดเหนือคู่แข่ง

แต่นักลงทุนหลายคนก็ยังเลือกลงเงินกับธุรกิจเหล่านี้ เพราะเมื่องบออกมากำไรงาม มูลค่าหุ้นสีเขียวบนหน้าจอมันช่างสร้างความสุขได้ดีเสียเหลือเกิน

ในต่างประเทศที่กระแสของการทำธุรกิจที่ยั่งยืน รวมถึงการเป็นผู้บริโภคที่ใส่ใจกับสังคมกำลังมาแรง ธุรกิจไหนใส่ใจต่อสภาพแวดล้อม ประกอบธุรกิจให้เกิดผลกระทบต่อโลก ต่อแรงงานให้น้อยที่สุด รวมไปถึงบริหารงานภายในอย่างโปร่งใส ก็พิสูจน์อย่างช้าๆ ว่าสร้างกำไรได้ไม่แพ้กัน

นี่จึงเป็นที่มาให้เกิดกระแสของการลงทุนแบบใหม่ตามมาติดๆ ในชื่อว่า Ethical Investing

 

อธิบายอย่างง่ายที่สุด Ethical Investing หรือการลงทุนอย่างมีจริยธรรม ก็คือการจัดพอร์ทการลงทุนโดยเลือกลงเงินกับบริษัทที่ทำธุรกิจที่ยั่งยืนและมีจริยธรรม นั่นหมายความว่าจากที่ต้องเลือกแค่ธุรกิจโดยดูตัวเลขจากเอกสารผลประกอบการ อีกปัจจัยหนึ่งที่ต้องคำนึงคือข้อมูลด้าน ESG หรือปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) ผลกระทบกับสังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) ไปด้วยพร้อมๆ กัน

ในต่างประเทศโดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาและหลายประเทศในฝั่งยุโรป การเติบโตของการลงทุนแบบนี้สูงขึ้นอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ด้วยกระแสจากนักลงทุนและผู้บริโภควัยใสกลุ่มมิลเลนเนียล (คนที่เกิดในช่วงปี 80s ถึง 90s) ที่ใส่ใจกับปัญหาทางสังคมและการเปลี่ยนแปลงของโลกมากขึ้น ทำให้ผลสำรวจของบริษัทให้บริการทางการเงิน Morgan Stanley เมื่อปี 2015 ได้ตัวเลขออกมาว่ากว่า 84% ของนักลงทุนรุ่นใหม่สนใจในการลงทุนแบบนี้ เทียบกับความสนใจของกลุ่มอายุอื่นๆ ที่รวมกันแล้วอยู่ที่ 70%

หรือถ้ามาดูในตัวเลขเม็ดเงินในกองทุนต่างๆ ของประเทศอังกฤษที่ลงทุนแบบ Ethical Investing จาก 6,000 ล้านปอนด์เมื่อปี 2006 สิบปีผ่านไป ตัวเลขในปี 2016 ก็เพิ่มขึ้นมาเป็น 15,000 ล้านปอนด์ทีเดียวเชียว!

และเมื่อขึ้นชื่อว่า ‘การลงทุน’ ผลลัพธ์ที่หลายคนคาดหวังก็คือผลตอบแทนที่ควรจะงอกเงย – ความเข้าใจผิดของการลงทุนแบบ Ethical Investing คือ ธุรกิจที่เลือกลงทุนด้วยปัจจัยสามประการที่ว่าอาจจะไม่ได้ให้ผลตอบแทนที่ดีเท่ากับธุรกิจแบบทั่วไป แต่ในการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างการลงทุนทั้งสองแบบ ผลตอบแทนที่ได้แทบจะไม่ต่างกัน และในบางช่วงเวลา Ethical Investing ก็ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าด้วย

หากลองดูกราฟด้านล่างที่เปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้น (เป็นเปอร์เซ็นต์) ของกลุ่มบริษัทที่อยู่ในดัชนี MSCI World โดยวัดตามพัฒนาการของปริมาณการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ จะเห็นว่ากลุ่มที่ 1 ที่ลดปริมาณการปล่อยได้เยอะที่สุด ก็สะท้อนผลลัพธ์ออกมาในราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้น ในทางตรงกันข้าม กลุ่มท้ายๆ เปอร์เซ็นต์การเปลี่ยนแปลงกลับลดลงเรื่อยๆ

 

กราฟแสดงอัตราการเติบโตของหุ้นเปรียบเทียบตามปริมาณการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ / ที่มา:  Financial Times

 

นั่นหมายความว่าถ้าเราเลือกลงทุน (หรือเลือกกองทุน) ที่คิดถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมในสไตล์ Ethical Investing ก็หมายถึงผลตอบแทนที่อาจสูงขึ้นเมื่อเทียบกับการลงทุนในธุรกิจที่ไม่ใส่ใจกับโลกนั่นเอง!

 

แล้วตัวอย่างของกองทุนรวมแบบเฉพาะทาง ที่ออกผลิตภัณฑ์กองทุนเพื่อนักลงทุนผู้ใส่ใจกับโลกและสังคมมีที่ไหนบ้าง

ออสเตรเลียคือประเทศที่เทรนด์การลงทุนแบบนี้มาแรงแซงทางโค้ง ด้วยปริมาณเงินที่รวมกันเกือบถึงครึ่งหนึ่งของเงินในกองทุนรวมทั้งหมด (633.2 พันล้านดอลล่าร์ออสเตรเลีย – ข้อมูลในปี 2015) หนึ่งในบริษัทกองทุนรายใหญ่ที่เชี่ยวชาญและเจาะจงในการลงทุนแบบ Ethical Investing คือ Australian Ethical Investment

ตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อปี 1986 บริษัทกองทุนแห่งนี้ทำงานและเลือกลงทุนในบริษัทที่เข้ากับหลักการตั้งแต่ก่อตั้ง คือจะไม่ลงทุนในบริษัทยาสูบ เหมืองแร่ ถ่านหิน และอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงปัจจัยด้านสิทธิมนุษย์และสัตว์ แต่จะเลือกลงทุนในบริษัทด้านนวัตกรรมสีเขียว พลังงานสะอาด บริษัทการแพทย์ที่คิดค้นนวัตกรรมเพื่อโลก และธุรกิจแบบอื่นๆ ที่ดีและยั่งยืน

ในขณะเดียวกัน Australian Ethical Investment ก็เลือกที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงให้ธุรกิจเก่าๆ เริ่มเปลี่ยนตัวเอง ด้วยการออกผลิตภัณฑ์กองทุน Advocacy Fund ซึ่งใช้เงินส่วนหนึ่งเข้าไปลงทุนในธุรกิจที่ยัง ‘ดีไม่พอ’ หรือเมื่อบริษัทที่เคยลงทุนเริ่มทำตัวเปลี่ยนไปก็ไม่ได้ถึงกับขายทิ้งทันที

เพื่อที่จะได้ยังเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้น และเข้าไปรณรงค์ พูดคุยกับทีมบริหาร และหาทางออกที่ดีขึ้นเพื่อสังคมไปพร้อมๆ กัน

ในประเทศไทย ตัวเลือกการลงทุนในแบบ Ethical Investing สำหรับกองทุนรวมและหุ้นรายตัว (ที่ได้รับคัดเลือกให้ผ่านเกณฑ์สากล)​ ยังมีไม่มากนัก หนึ่งในนั้นคือ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการของรัฐ หรือ กบข. กองทุนเดียวของไทยที่ได้ไปลงนามในหลักการ Principles for Responsible Investment หรือ PRI ซึ่งเป็นความพยายามขององค์การสหประชาชาติเมื่อปี 2005 ที่รวมเอาสถาบันการเงินการลงทุนมาลงนามในข้อตกลงส่งเสริมการลงทุนอย่างมีจริยธรรมและยั่งยืน

(แก้ไขเพิ่มเติม: ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา บริษัทจัดการลงทุนในประเทศไทยได้รวมตัวกันจัดตั้ง กองทุนธรรมาภิบาล หรือ CG Funds ที่ใช้หลักการลงทุนคล้ายกับหลายๆ ประเทศ โดยคัดเลือกบริษัทที่ผ่านเกณฑ์ตามหลักการ ESG รวมถึงเลือกลงทุนในกลุ่มธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และแบ่งเงินที่ได้จากค่าธรรมเนียมการซื้อขายส่วนหนึ่งให้กับหน่วยงานส่งเสริมการต่อต้านคอร์รัปชั่น โดยเริ่มเปิดซื้อขายหน่วยลงทุนแล้วตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ในบริษัทจัดการหลักทรัพย์ที่เข้าร่วมโครงการ)

 

จนกว่าจะถึงวันที่เหล่านักลงทุนชาวไทยจะมีทางเลือกในการลงทุนที่ยั่งยืนให้มากกว่านี้ หรือมีกองทุนที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อลงทุนอย่างยั่งยืนโดยเฉพาะมากกว่านี้ สิ่งที่ควรเริ่มท่องจำให้ขึ้นใจก่อนหาข้อมูลเลือกหุ้นเข้าพอร์ทครั้งหน้า คงเป็นประโยคที่ว่า

การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนโปรดลดความเสี่ยงเพื่อโลกและสังคมก่อนการลงทุน!

 

อ่านเพิ่มเติม

The ethical investment ของ Financial Times

ข่าวเรื่อง Ethical investment gathering momentum โดย Nicki Bourlioufas จาก morningstar

บทความเรื่อง Ethical investments still on trend โดย Ima Jackson-Obot จาก ftadviser

Guide to ethical investing จาก smartinvestor

Principles for Responsible Investment จาก unpri

เว็บไซต์ australianethical

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save