fbpx
ฤดูหนาวเฉือนหัวใจ Ethan Frome

ฤดูหนาวเฉือนหัวใจ Ethan Frome

‘นรา’ เรื่อง

 

ผมรู้จักชื่อของอีดิธ วอร์ตันครั้งแรก ผ่านหนังเรื่อง The Age of Innocence (1993) ผลงานกำกับของมาร์ติน สกอร์เซซี ซึ่งดัดแปลงจากนิยายของเธอ

แม้จะเป็นการรู้จักทางอ้อมผ่านสื่ออื่น แต่มี 2 สิ่งที่ผมประทับใจมาก (และคาดว่าน่าจะมาจากตัวนิยาย) อย่างแรกเป็นแง่มุมทางเนื้อหาเกี่ยวกับตัวละครที่ต้องปกปิดซ่อนเร้นความปรารถนาต้องห้ามของตน ใช้ชีวิตคล้อยตามอยู่ใน ‘กรอบ’ (อันได้แก่ จริตมารยาท ค่านิยม และศีลธรรม ในสังคมผู้ดีนิวยอร์กช่วงปลายศตวรรษที่ 19) หรือพูดอีกแบบคือ สภาพแวดล้อมมีอิทธิพลครอบงำนิวแลนด์ อาร์เชอร์ ตัวเอกของเรื่อง จนไม่อาจ ‘เป็นตัวของตัวเอง’ และเขาก็อ่อนแอ ขลาดกลัวเกินกว่าจะต่อต้านขัดขืน จนกระทั่งพบบทสรุปลงเอยด้วยความเจ็บปวดร้าวลึกไปชั่วชีวิต

ความประทับใจต่อมา คือ อารมณ์โรแมนติกและความสะเทือนใจแบบไม่โจ่งแจ้งบีบคั้น ค่อยๆ กัดกร่อนซึมลึกผ่านรายละเอียดปลีกย่อยมากมายที่ตัวละครแสดงออกแบบกระมิดกระเมี้ยน กล้าๆ กลัวๆ จนได้ผลลัพธ์เป็นความโศกซึ้งตรึงใจไม่รู้ลืม

จุดเด่น 2 ประการนี้ ทำให้ผมชอบงานเขียนของอีดิธ วอร์ตันไปล่วงหน้าตั้งแต่ยังไม่ทันได้อ่าน

จนเมื่อมีโอกาสได้อ่านนิยายขนาดสั้นเรื่อง Ethan Frome (ฉบับแปลภาษาไทยใช้ชื่อตรงกันว่า ‘อีธาน โฟรม’) ความโดดเด่นของงานเขียนชิ้นนี้ก็ยิ่งทำให้ผมหลงรักอีดิธ วอร์ตันมากขึ้น

Ethan Frome ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร Scribner ฉบับเดือนสิงหาคมถึงตุลาคมปีค.ศ.1911 และพิมพ์รวมเล่มออกมาในปีเดียวกัน

อีดิธ วอร์ตันเขียน Ethan Frome โดยใช้โครงสร้างการเล่าเรื่องแบบที่มีศัพท์วรรณกรรมเรียกขานว่า frame story หรือ frame narrative (ราชบัณฑิตยสถานบัญญัติศัพท์ภาษาไทยว่า กรอบเรื่อง)

อธิบายอย่างย่นย่อก็คือ เป็นโครงสร้างที่มี ‘ช่วงอารัมภบท’ และ ‘ช่วงสรุป’ ห้อมล้อมส่วนที่เป็น ‘เนื้อเรื่องและใจความหลัก’ จนเกิดลักษณะคล้ายๆ กับกรอบรูป

ช่วงเกริ่นและสรุปในโครงสร้างแบบ frame story นั้น ผมเข้าใจเอาจากที่ได้อ่านพบใน Ethan Frome รวมทั้งตัวอย่างอื่นเท่าที่พอจะนึกออกและจดจำได้ (คือเรื่อง ชั่วฟ้าดินสลาย ของ เรียมเอง) น่าจะมีความแตกต่างกับเนื้อเรื่องหลัก จนเกิดการแบ่งแยกออกจากกันเป็นคนละส่วนอย่างชัดเจน (แต่ก็มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันอยู่)

สิ่งที่ทำหน้าที่แบ่งแยกใน Ethan Frome และ ชั่วฟ้าดินสลาย ที่ตรงกัน คือ การใช้มุมมองของผู้เล่าเรื่องที่แตกต่าง และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคนละช่วงเวลา

ในช่วงเกริ่นและสรุปของ Ethan Frome เล่าผ่านมุมมองของตัวละคร ‘ผม’ (ซึ่งไม่ได้มีการระบุชื่อให้ผู้อ่านทราบ) เป็นวิศวกรที่เดินทางมาทำงานในโรงไฟฟ้า ณ ชุมทางคอร์เบอรี่ และพำนักอาศัยชั่วคราวที่สตาร์คฟิลด์- เมืองสมมติที่ใช้เป็นฉากหลังของนิยายเรื่องนี้

บทเกริ่นทำหน้าที่หลายประการ ตั้งแต่บรรยายรายละเอียดของฉากหลังคือ สตาร์คฟิลด์ รัฐแมสซาชูเซตส์ ซึ่งเต็มไปด้วยบรรยากาศหม่นทึมเงียบเหงาชวนหดหู่ ปราศจากสีสัน ตัดขาดจากแถบถิ่นอื่นในช่วงฤดูหนาวที่ปกคลุมไปด้วยหิมะ (ในนิยายเรื่องนี้ ฤดูหนาวเป็นปัจจัยเงื่อนไขสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนอย่างใหญ่หลวง), สร้างปมชวนสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตของตัวเอกอีธาน โฟรม ชายวัย 52 ปี ซึ่งมีรูปลักษณ์โดดเด่นสะดุดตา ทั้งจากบุคลิกและความพิกลพิการ จนมีสภาพที่ทำให้ ‘ผม’ ผู้เล่าเรื่องถึงกับพรรณนาว่า “ชายคนนั้นหรือจะอยู่ถึงร้อยปี เขาดูราวกับตายแล้วและตกนรกอยู่ตอนนี้!”, ความสนใจใคร่รู้ของ ‘ผม’ ผู้พยายามปะติดปะต่อเรื่องราวของอีธาน โฟรมจากหลายๆ ปากคำของผู้คนในสตาร์คฟิลด์ (ซึ่งดูเหมือนไม่เต็มใจและไม่อยากเล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้น บ้างก็จดจำและรู้เรื่องราวกระท่อนกระแท่นแหว่งวิ่นเกี่ยวกับ ‘อุบัติเหตุครั้งนั้น’) รวมทั้งปูพื้นให้รายละเอียดสารพัดสารพัน ซึ่งจะมีความสำคัญในลำดับต่อๆ มา (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บทสนทนาตอนหนึ่งที่ว่า “เขาคงอยู่ในฤดูหนาวที่สตาร์คฟิลด์มาหลายปีดีดัก” ซึ่งถือได้ว่าเป็น keyword สำคัญ)

ทั้งบทเกริ่นและสรุปเป็นมุมมองจากบุคคลภายนอก ซึ่งตั้งข้อสังเกต สงสัย และพยายามค้นหาความจริงต่อเรื่องราวชีวิตของอีธาน โฟรม

ขณะที่ตัวเรื่องหลัก เล่าผ่านมุมมองของบุคคลที่สาม (พูดอีกแบบคือ ไม่ระบุชัดว่าใครทำหน้าที่เล่าเรื่อง และยอมรับกันโดยปริยายว่า เป็นการเล่าผ่านผู้เขียนคือ อีดิธ วอร์ตัน) อย่างไรก็ตาม ผู้เล่าก็เกาะติดตัวละครอีธาน โฟรมอย่างใกล้ชิด ล่วงรู้ถึงความรู้สึกนึกคิดเบื้องลึกและความในใจของตัวละคร จนเกือบๆ จะกลายเป็น ‘คำให้การของอีธาน โฟรม’ และทำให้เกิดข้อแตกต่างคลับคล้ายว่าจะเป็น ‘มุมมองภายในของตัวละคร’

นอกจากความแตกต่างด้านมุมมองระยะไกล-ระยะใกล้แล้ว ตัวเรื่องหลักยังนำพาผู้อ่านย้อนถอยจากปัจจุบัน (ในบทเกริ่นและสรุป) กลับไปสู่เหตุการณ์ในอดีตเมื่อ 24 ปีก่อนหน้านั้น

ถัดต่อจากนี้ไป เป็นเค้าโครงคร่าวๆ ของ Ethan Frome ซึ่งผมไม่ได้เล่าตรงตามในนิยาย

อีธาน โฟรมในวัยหนุ่ม เปี่ยมไปด้วยความหวัง ร่ำเรียนมหาวิทยาลัย และฝันอยากเป็นวิศวกร แต่แล้วความป่วยไข้ของพ่อ ก็ทำให้เขาต้องเลิกเรียนกลางคัน กลับมาดูแลไร่และกิจการโรงเลื่อย (ซึ่งตัวเขาเองไม่ได้มีความถนัดสันทัด และปราศจากใจรักชอบทางนี้) หลังจากพ่อเสียชีวิต แม่ก็พลอยล้มเจ็บอีกคน จนญาติห่างๆ ชื่อซีโนเบียหรือซีน่า ต้องเดินทางมาช่วยดูแลผู้ป่วย จนกระทั่งแม่เสียชีวิต

ในนิยายเล่าอย่างกระชับฉับไวถึงเหตุการณ์ช่วงนี้ไว้ว่า “…และเมื่อแม่ล้มป่วย ความเงียบเหงารอบตัวเขาค่อย ๆ ทวีขึ้นทุกปี หลังจากเกิดอุบัติเหตุกับพ่อ เขาต้องแบกภาระในไร่และโรงเลื่อยตามลำพัง” และ “…เฉพาะช่วงที่อาการป่วยของแม่ย่างเข้าสู่ระยะสุดท้าย และซีโนเบีย เพียซ ญาติของเขาที่อาศัยอยู่หุบเขาถัดไปมาช่วยดูแล” และ “…เมื่องานศพผ่านพ้น เขาเห็นนางเตรียมตัวกลับ จึงหวั่นใจอย่างไร้เหตุผลต่อการถูกทิ้งอยู่ที่ไร่คนเดียว และก่อนที่เขาจะรู้ตัวก็ขอให้นางอยู่ที่นั่นด้วยกันแล้ว นับแต่นั้นมาเขาคิดเสมอว่าถ้าแม่ตายช่วงฤดูใบไม้ผลิแทนที่จะเป็นฤดูหนาว เรื่องเช่นนี้คงไม่เกิดขึ้น…”

อีธาน โฟรมแต่งงานกับซีน่า ทนกล้ำกลืนใช้ชีวิตคู่ไร้สุขร่วมกันมานานถึงเจ็ดปี แรกเริ่มทั้งคู่วางแผนขายกิจการแล้วโยกย้ายไปพำนักอาศัยถิ่นอื่น แต่สภาพกันดารห่างไกลก็ทำให้ยากที่จะมีใครมาซื้อหารับช่วง นานวันเข้าสองสามีภรรยาจึงต้อง ‘ถูกจองจำ’ อยู่ที่สตาร์คฟิลด์ กระทั่งเคยชินกับสภาพจำเจน่าเบื่อที่กัดกินทั้งภายในของแต่ละคน และความสัมพันธ์ที่มีต่อกัน (ซึ่งชวนให้เคลือบแคลงสงสัยว่า ต่างฝ่ายต่างปราศจากความรักต่อกันมาตั้งแต่แรกเริ่ม)

ซีน่ากลายเป็นคน ‘อมโรค’ หมกมุ่นอยู่กับความเจ็บไข้ได้ป่วยของตัวเอง และมีทีท่าว่าจะ ‘ตีตนไปก่อนไข้’ เจ็บป่วยมากกว่าความเป็นจริง จากจินตนาการส่วนตัว ขี้บ่น ขณะที่อีธานก็รับมือด้วยการ ‘เอาหูทวนลม’ ใจลอยไปสู่เรื่องอื่น จนกลายเป็นการ ‘ไม่รับฟัง’

พูดโดยรวมคือ ชีวิตคู่สามีภรรยา ไร้สุข เต็มไปด้วยความทุกข์ทน ซังกะตาย เย็นชาต่อกัน และดำเนินไปอย่างซ้ำซากจำเจมาเนิ่นนาน

นานจนต่างฝ่ายต่างชาชินกับสิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นอยู่ จนกระทั่งหญิงสาวชื่อแมตตี้ ซิลเวอร์ ปรากฎตัวมาพำนักอาศัยอยู่กับครอบครัวโฟรม

แมตตี้เป็นญาติห่างๆ ของซีน่า ประสบเคราะห์จากการที่พ่อแม่ล้มหายตายจาก และถูกเลี้ยงดูมาอย่างชาวเมืองที่ได้รับการทะนุถนอม ทำให้ยากจะดำรงชีพทำงานทำการด้วยตนเอง

สภาพไร้ญาติขาดมิตรของแมตตี้ ประจวบเหมาะกับความจำเป็นจำใจต้องดูแลเกื้อกูลกันในฐานะญาติของซีน่า (และอาการตีโพยตีพายของเธอเกี่ยวกับความป่วยไข้ ร่ำร้องให้อีธานหาคนมาช่วยทำงานบ้าน เพราะนางอ่อนแอเกินกว่าจะตรากตรำทำเองไหว)

ซีน่าจึงรับแมตตี้มาอยู่ร่วมชายคา ทำงานบ้านโดยไม่ได้รับค่าจ้าง

ในเรื่องเล่าหลักของนิยาย แมตตี้ใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวโฟรมมาแล้วหนึ่งปี “…การมีสาวน้อยผู้เปี่ยมความหวังมาร่วมชายคาเป็นดั่งการจุดไฟในเตาผิงเย็นชืด หญิงสาวเป็นมากกว่าคนงานใช้สอยผู้มีชีวิตชีวาที่เขาเคยคิด เธออยากรู้อยากเห็น เขาสามารถพาเธอไปดูสิ่งต่างๆ แล้วบอกเล่าเรื่องราว ลิ้มรสความสุขจากการที่เขาและเธอพูดคุยโต้ตอบสอดคล้องไปในทางเดียวกันและเข้าใจซึ่งกันได้ดี” (หน้า 25)

เรื่องราวถัดจากนั้นก็คือ ความรักต้องห้ามระหว่างอีธานกับแมตตี้ ซึ่งนำพาไปสู่บทสรุปรันทดสลดเศร้า

ความโดดเด่นอันดับแรกของ Ethan Frome คือ การดำเนินเรื่องที่กระชับรัดกุมและครบเครื่อง ให้รายละเอียดต่างๆ เท่าที่จำเป็นแต่ครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นสีสันบรรยากาศทิวทัศน์ของฉากหลัง เหตุการณ์เรื่องราวที่ตรึงความสนใจใคร่รู้ของผู้อ่านไว้ได้ตลอดเวลา การแจกแจงอธิบายเหตุและผลต่อการกระทำต่างๆ ของตัวละครอย่างหนาแน่น จนทำให้นิยายรักสะเทือนอารมณ์เรื่องนี้ เปี่ยมไปด้วยความสมจริง ไปไกลและลุ่มลึกเกินกว่าเรื่องรักโศกประโลมโลกดาดๆ

งานเขียนของอีดิธ วอร์ตัน จัดอยู่ในสกุลช่างธรรมชาตินิยม (Naturalism) ซึ่งมีลักษณะกว้างๆ เน้นไปที่ความสมจริงเช่นเดียวกับงานเขียนแนวสัจนิยม (Realism) แต่แตกต่างเพิ่มเติมตรงที่ ธรรมชาตินิยมมุ่งเน้นไปยังอิทธิพลของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวมนุษย์ในฐานะพลังที่กดทับและกำหนดชีวิต ทั้งที่อยู่ในรูปแบบกายภาพ เช่น สถานที่ ตลอดจนรูปแบบที่จับต้องไม่ได้อย่างเช่นกฎเกณฑ์ ศีลธรรม และขนบธรรมเนียม (ย่อหน้านี้ผมสรุปความหยิบยกมาจากบทความในท้ายเล่มโดย ไอริสา ชั้นศิริ)

Ethan Frome ใช้พล็อตรักโศกต้องห้าม สะท้อนเนื้อหาที่ผู้อ่านสามารถครุ่นคิดตีความไปได้หลากหลายประเด็น ที่เด่นชัดและมีน้ำหนักมากสุดคือ ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ในนิยายเรื่องนี้ประกอบไปด้วยบ้านเมือง ภูมิประเทศ ดินฟ้าอากาศ ฤดูกาล สภาพสังคม ค่านิยมตามยุคสมัย และศีลธรรม) เป็นอุปสรรคกีดขวางต่อการเติมเต็มความปรารถนา

พูดอีกแบบคือ ความขัดแย้งสำคัญไม่ได้เกิดขึ้นภายในใจของตัวละคร (อีธานมีความรู้สึกที่ชัดเจนมั่นคงต่อแมตตี้) แต่เป็นความไม่ลงรอยกันระหว่างความปรารถนาของเขากับข้อจำกัดที่สังคมรอบข้างกำหนดขึ้น จนกำกับควบคุมมโนธรรมของเขา และกีดขวางยับยั้งไม่ให้กระทำตามใจต้องการได้โดยสะดวก

เมื่ออุปสรรครายล้อมต่างๆ นานา ล้วนนำพาไปสู่ทางตันในทุกๆ ด้าน อีธานกับแมตตี้ก็เลือกเส้นทางสุดท้าย คือการยอมจำนน ละทิ้งการต่อสู้ทุกสิ่งทุกประการ เพื่อให้รอดพ้นออกจากการกักขังและชีวิตที่ติดชะงัก ด้วยการหลบหนีในอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งน่าเศร้าสะเทือนอารมณ์

นอกจากประเด็นดังกล่าวแล้ว นิยายเรื่องนี้ยังแฝงไว้ด้วยแง่มุมอื่น ๆ (ซึ่งหนุนเสริมประเด็นใจความหลักได้อย่างดีเยี่ยม) ไม่ว่าจะเป็นความเงียบงันจากความซบเซาเหงาหงอยของสถานที่อย่างสตาร์คฟิลด์ และความเงียบจากการเก็บงำอมพะนำความในใจของบรรดาตัวละครหลักทั้งหมด รวมเลยไปถึงบรรยากาศอันเงียบสงัดในหลายๆ ช่วงเวลา, ความโดดเดี่ยวแปลกแยกของอีธาน แมตตี้ และซีน่า ด้วยสาเหตุปัจจัยผิดแผกแตกต่างกัน จนทุกคนตกอยู่ในสภาพเหงาเปลี่ยวลงลึกถึงขีดสุด และจมปลักอยู่กับความทุกข์ทรมาน, ภาพลวงตา (หรืออาจจะเรียกได้ว่า จินตนาการและความคิดฝันของตัวละคร) เพื่อหลบหนีชั่วครั้งชั่วคราวให้หลุดพ้นจากสภาพความเป็นอยู่ที่ไม่พึงปรารถนา

สิ่งหนึ่งที่ผมชอบมากใน Ethan Frome ก็คือ ตัวนิยายเต็มไปด้วยมิติความลึก มีรายละเอียดสารพัดสารเพให้หยิบยกมาตีความได้มากมายเต็มไปหมด (ตั้งแต่หิมะ ต้นไม้ ผีเสื้อ อาคารบ้านเรือน แสงแดดและเงาที่ตกกระทบ ฯลฯ) ขณะเดียวกันก็นำเสนออย่างมีชั้นเชิงแนบเนียนกลมกลืนไปกับเนื้อหาเรื่องราวและอารมณ์ตามท้องเรื่อง รวมถึงมีความสลับซับซ้อนที่อยู่ในระดับพอเหมาะพอดี ไม่ยากเกินไปในการทำความเข้าใจ และไม่เบาโหวงจนไร้แก่นสาร

และที่ยอดเยี่ยมกว่านั้น คือการเล่าทุกสิ่งทุกอย่างแบบแจกแจงตีแผ่สู่ผู้อ่าน โดยปราศจากท่าทีตัดสินหรือชี้นำสิ่งหนึ่งสิ่งใด

ประการข้างต้นนั้น เห็นได้ชัดสุดผ่านตัวละครซีน่า ระหว่างการติดตามเรื่องราว ผม (และน่าจะรวมถึงผู้อ่านอื่นๆ) รู้สึกอยู่ตลอดว่า ซีน่าแลดูเป็น ‘นางร้าย’ ในแบบที่เราท่านคุ้นเคย (จากการเล่าเรื่องผ่านมุมมองที่เกือบๆ จะผ่านสายตาของอีธาน โฟรม ซึ่งเกลียดและหวั่นเกรงภรรยาของตน)

แต่แล้วใน ‘ช่วงสรุป’ ของนิยาย ก็ให้ภาพและพฤติกรรมของเธอในอีกด้านที่เปลี่ยนไปจากเดิม โดยไม่มีการสรุปชี้ชัดว่า ซีน่ากระทำสิ่งต่างๆ ลงไปเพราะเหตุใด จนสามารถตีความ (รวมทั้งคาดเดา) หาเหตุผลได้ทั้งในแง่บวกและแง่ลบ

ยิ่งเมื่อนำบทสรุปทิ้งท้ายไปพิจารณาประกอบกับการบรรยายรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ ตลอดทั้งเรื่อง ภาพของซีน่าก็ระคนปนกันระหว่างการเป็น ‘นางตัวร้าย’ ที่น่ารังเกียจ ควบคู่ไปกับเป็นตัวละครผู้โดดเดี่ยวอมทุกข์อมโรคที่น่าสงสารเห็นใจ (หรืออย่างน้อยที่สุด ถ้ายังเกลียดตัวละครนี้ไม่เลิกรา เธอก็น่าเวทนายิ่งกว่าใครๆ ในเรื่อง)

ความยอดเยี่ยมประการสุดท้าย ซึ่งผมคิดว่าดีงามไม่แพ้แง่มุมเนื้อหาสาระ คือการสร้างอารมณ์สะเทือนใจ Ethan Frome เล่าถึงเหตุการณ์เรื่องราวที่สุดแสนจะหม่นเศร้า ด้วยวิธีลีลาตรงกันข้าม ไม่ได้เร้าอารมณ์ชนิดโหมกระหน่ำบีบคั้น (จนผมเคยอ่านเจอรีวิวบางชิ้นในโซเชียลมีเดียพูดทำนองว่า เป็นการเล่าเรื่องเศร้าที่ไม่รู้สึกอะไรเลย)

อารมณ์สะเทือนใจใน Ethan Frome เป็นไปในลักษณะเดียวกับที่ผมเคยผ่านตาในหนัง The Age of Innocence มันปรากฏให้เห็นควบคู่ไปกับความพยายามซ่อนงำปกปิดของตัวละคร สะท้อนผ่านรายละเอียดปลีกย่อยอัน ‘น้อยนิด’ ที่ต้องจับสังเกตกันสักหน่อยจึงจะพบเจอ

ตรงนี้สามารถพูดได้ว่า มีรายละเอียดยิบย่อยที่บาดลึกและทำร้ายจิตใจอยู่เยอะแยะมากมายแทบทุกหน้าในนิยายขนาดกะทัดรัดเรื่องนี้

ตัวอย่างเช่น “…เขาไม่เข้าใจว่าทำไมถึงสุขใจมากอย่างไม่มีเหตุผล ในเมื่อไม่มีอะไรเปลี่ยนไปในชีวิตเขาและเธอ เขาไม่ได้สัมผัสแม้แต่ปลายเล็บหรือมองเธอให้เต็มตา แต่การอยู่ร่วมกันตอนค่ำ ช่วยให้เขาจินตนาการออกว่า ชีวิตที่มีเธอเคียงข้างเป็นอย่างไร” หรือ “…เธอพูดถูกที่ว่า วิธีนี้ดีกว่าการพลัดพราก” หรือ “…ทั้งหมดมีแค่นั้น แต่ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ล้วนเกิดขึ้นแบบกะปริบกะปรอย ซึ่งดูจะวาบขึ้นมากับความสุขราวกับพวกเขาตะเพิดผีเสื้อในป่าหน้าหนาว…”

วิธีการเร้าอารมณ์แต่น้อยเช่นนี้ อาจได้ผลลัพธ์ทั้งไม่มีอะไรในกอไผ่ และสวยเศร้าสุดจะพรรณนา สำหรับผมอ่านเจอตรงไหนที่ใด ร่ำๆ ว่าหัวใจจะสลายเลยทีเดียว

เทียบเคียงง่ายๆ เพื่อให้พอจะเห็นภาพนึกออก มันเป็นอารมณ์ความรู้สึกใกล้เคียงกับเมื่อตอนที่ดูหนังเรื่อง In the Mood for Love ของหว่องกาไว

วิธีการ บรรยากาศ ระดับความหนักเบาของเรื่องราว ไม่เหมือนกันหรอกนะครับ แต่ประเด็นทางเนื้อหาและอารมณ์ ใกล้เคียงแบบนับญาติกันได้สบายๆ

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save